ถอดความหมายงานดีไซน์แสงในโปรเจกต์ฟื้นชีวิต วังกรมพระสมมตอมรพันธุ์
- UNFOLDING BANGKOK ตอน LIVING OLD BUILDING พามาเยือนสถานที่ประวัติศาสตร์แห่งสุดท้ายของโปรเจ็กต์นั่นก็คือ วังกรมพระสมมตอมรพันธุ์ ในคอนเซ็ปต์ The Renaissance of Place กาลเปลี่ยนผ่านของวังลับ
- UNFOLDING BANGKOK ตอน Living Old Building พาไปเปิด วังกรมพระสมมตอมรพันธุ์ จัดขึ้นระหว่างวันที่ 25 มีนาคม – 2 เมษายน 2566
เริ่มต้นขึ้นแล้วสำหรับโปรเจ็กต์เปิดพื้นที่ลับๆ ในกรุงเทพฯ UNFOLDING BANGKOK ตอน LIVING OLD BUILDING ซึ่งพามาเยือนสถานที่ประวัติศาสตร์แห่งสุดท้ายของโปรเจ็กต์นั่นก็คือ วังกรมพระสมมตอมรพันธุ์ (พระ–สม-มด-อะ-มอน-ระ-พัน) งานนี้ไม่ได้ทำเพียงการเปิดประตูวังเล่าประวัติศาสตร์วังลับแห่งสุดท้ายที่ซ่อนอยู่หลังตึกแถวชิโนโปรตุกิสของถนนบำรุงเมือง แต่ความน่าสนใจของงานนี้คือการจัดแสงเชิงสถาปัตยกรรม Architectural and Environmental Lighting ซึ่งไม่ใช่การจัดไฟเพื่อถ่ายรูปให้สวยแล้วจบ!
แต่เป็นการจัดไฟแสงสีเพื่อบอกเล่าประวัติศาสตร์ของอาคาร ชุมชน รวมทั้งขับเน้นให้เห็นโครงสร้างทางสถาปัตยกรรมที่สำคัญของตึก เช่น ช่องหน้าต่าง เพดานซุ้มโค้ง หรือบันไดวน ดังนั้นผู้เข้าชมอาจจะต้องเข้าใจคอนเซ็ปต์ก่อนสักนิดว่าการจัดแสงสีแบบนี้ไม่ใช่สำหรับถ่ายรูปขึ้น IG แต่เป็นแสงสีที่ชวนเราเข้าไปเจาะลึกประวัติศาสตร์ของสถานที่นั้นๆ ซึ่งคอนเซ็ปต์รวมของการออกแบบแสงสีและทุกกิจกรรมในครั้งนี้คือ Elapse – the Renaissance of Place กาลเปลี่ยนผ่านของวังลับ เชื่อมโยงช่วงเวลาที่ วังกรมพระสมมตอมรพันธุ์ ถูกสร้างขึ้นกับไทม์ไลน์ประวัติศาสตร์โลกในยุคฟื้นฟูศิลปะวิทยาการของประเทศมหาอำนาจตะวันตกหรือก็คือยุคเรเนซองส์
จุดเริ่มต้นของงานแสงสีถูกจุดสว่างตั้งแต่เวลา 18.00 น. จาก “อุโมงค์ทวิภพ” หรือ Atemporal Passage เป็นตรอกทางเข้าวังเล็กๆ ที่ซ่อนอยู่บริเวณตึกแถวเก่าแก่ของถนนบำรุงเมืองที่ปัจจุบันกลายเป็นร้านค้าขายเครื่องสังฆทานและพระพุทธรูปที่ใหญ่สุดในพระนคร ส่วนนี้ออกแบบโดย Theerawat Klangjareonchai และ Technical support : Esic Lab นำเรื่องราวประวัติศาสตร์ชุมชนที่เกี่ยวเนื่องกับพระพุทธศาสนามาออกแบบเป็นแสงสี โดยสีทองได้มาจากขั้นตอนการเททองก่อนจะหลอมเป็นพระพุทธรูป ศิลปินได้นำขั้นตอนในการผลิตพระพุทธรูปทั้งภาพและเสียงมาตีความใหม่ในรูปแบบดิจิทัลอาร์ตที่ถ้าตั้งใจดูก็อาจจะเห็นพระพุทธรูปซ่อนอยู่
จากอุโมงค์เดินตามแสงสีน้ำเงินไปไม่ไกลก็จะเจอ วังกรมพระสมมตอมรพันธุ์ ที่หลังจากถูกปิดเป็นอาคารร้างมานาน ครั้งนี้ก็ได้เวลาที่จะเปิดหน้าต่างทุกบานออกอีกครั้ง พร้อมทั้งการฉาบแสงสีขาวด้านนอกให้เหมือนกับวันที่วังแห่งนี้เพิ่งสร้างเสร็จ งาน Architectural Lighting ฟื้นคืนชีวิตวังกรมพระสมมตอมรพันธุ์ส่วนนี้ออกแบบโดย LIGHT IS and friends ซึ่งทางศิลปินได้ย้ำถึงหัวใจของงานออกแบบว่า “ออกแบบให้มันกลับมามีชีวิตอีกครั้ง ดูใหม่เหมือนวันที่สร้างเสร็จ”
สำหรับด้านนอกอาคารทั้งหมดส่องด้วยแสงสีขาว cool white เป็นแสงขาวกึ่งอุ่นสะอาดตาเพื่อให้อาคารดูใหม่เหมือนวันที่สร้างเสร็จ ส่วนภายในอาคารใช้แสงสี warm white 2700-2200K ซึ่งเป็นอุณหภูมิแสงที่ใช้ในยุคสมัยรัชกาลที่ 4-5 จริงๆ เพื่อให้ดูเหมือนว่าด้านในมีผู้อยู่อาศัย มีชีวิตเหมือนดั่งเมื่อ 100 กว่าปีผ่านมา
อย่างที่บอกว่าการออกแบบแสงครั้งนี้เล่าทั้งประวัติศาสตร์และสถาปัตยกรรม ศิลปินจึงเลือกจัดวางแสงที่เน้นส่วนสำคัญของวัง โดยเฉพาะการส่องเน้นลักษณะลวดลายของช่องแสงเหนือหน้าต่าง คิ้ว และบัวอาคารอันเป็นจุดเด่นของวังกรมพระสมมตอมรพันธุ์หลังนี้ และที่จะขาดไม่ได้คือแสงตรงบันไดวนด้านหลัง ที่เล่าสังคมไทยในยุคนั้นผ่านการสร้างอาคารได้อย่างแนบเนียน เพราะบันไดส่วนนี้เป็นการออกแบบเพื่อแยกการใช้งานขึ้นลงบันไดของนายและบ่าว โดยนายจะใช้บันไดกลางบ้าน ส่วนบ่าวก็จะใช้บนไดวนเล็กๆ ที่ซ่อนอยู่ด้านหลัง
“ด้านหลังบันไดหลักจะมีบันไดเวียนทำจากไม้ ที่เก๋มากคือมันเป็นบันไดเซอร์วิสที่แยกการใช้งานขึ้นลงบันไดระหว่างนายและบ่าว บ่าวจะต้องขึ้นไปทำความสะอาด เก็บกวาดห้องต่างๆ จากบันไดวนด้านหลัง เขาจะไม่เห็นกันเลย เรารู้สึกว่าดีเทลไม้ดัดโค้งตรงราวบันไดวนคือเท่มาก ก็เลยอยากจะเน้นแสงตรงนี้ด้วย อยากให้ทุกคนได้ชะเง้อไปดูบันไดเวียนที่ห้องสุดท้ายด้านหลัง ไปดูความเท่ของราวบันไดไม้กัน อีกส่วนที่น่าสนใจคือชั้นสองของอาคารซึ่งมีทางเดินระเบียงเป็นตัว L เรียงรายด้วยช่องหน้าต่างและประตูซึ่งต่างจากอาคารไทยในอดีตที่ระเบียงต้องอยู่นอกบ้าน เราเลยให้แสงช่วยส่องเน้นช่องหน้าต่างที่มีความลึก ให้เห็นว่าความลึกนี้มีเพื่อช่วยรับน้ำหนักอาคารทั้งหลัง เพราะอาคารนี้เป็นอาคารที่ไม่มีเสา แสงจะทำให้เห็นความหนาของกำแพงของช่องหน้าต่าง และถ้าสังเกตให้ดีจะเห็นว่ากำแพงของช่องหน้าต่างที่ชั้นล่างจะหนากว่าช่องหน้าต่างที่ชั้นบน” วิดา เขมะจิตพันธุ์ หนึ่งในทีมออกแบบแสง LIGHT IS and friends ขยายความการออกแบบแสงที่เล่าเรื่องทั้งประวัติศาสตร์และสถาปัตยกรรม
นอกจากการออกแบบแสงแล้วในงานยังมีการจัดแสดงผลงานศิลปะเคลื่อนไหว (Illustration / Time Lapse Video) Timelapse of History โดย Harid Thampacha เล่าถึงพัฒนาการของวังกรมพระสมมตอมรพันธุ์และชุมชนโดยรอบรวมทั้งเมืองพระนครในยุคนั้น ทำให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดินและอาคารของบริบทโดยรอบไปอย่างน่าสนใจ อีกชิ้นงานคือ การจัดแสดงประวัติความเป็นมาของสถานที่ ออกแบบโดย Urban Ally ที่เป็นแม่งานหลักของโปรเจ็กต์เปิดวังลับครั้งนี้ ตัวนิทรรศการประกอบไปด้วยประวัติกรมพระสมมตอมรพันธุ์ วาทกรรมที่เปลี่ยนแปลง จาก “บ้านหลวง” มาสู่ “วัง” พาไปรู้จักกลุ่มวังสำราญราษฎร์ ละแวกบ้านยุคใหม่ (modern village) สู่การเปลี่ยนผ่านวังหนึ่งเดียวที่เหลืออยู่บนถนนบำรุงเมืองจนกลายมาเป็นโรงเรียนของเหล่า “ลิงป่า” รวมทั้งภาพของชุมชนวังกับความทรงจำเดิมที่มีภาพซ้อนทับกับวิถีชุมชนจีวรพระและเครื่องสังฆทาน
อีกจุดที่เราอยากให้ทุกคนได้นั่งชมคือ สารคดี The Renaissance of Place การรวบรวมข้อมูลและถ่ายทำสารคดี เพื่อสืบค้นความเป็นมาของ วังกรมพระสมมตอมรพันธุ์ ตลอดจนการตีความถึงกาลเปลี่ยนผ่านทางศิลปะและการเปลี่ยนแปลงรูปร่างหน้าที่ของย่านเมืองจากในอดีตจนถึงปัจจุบัน โดยเล่าเรื่องราวผ่านการพูดคุยกับบุคคลต่าง ๆ ตั้งแต่ประเด็นกลิ่นอายตะวันตกในแบบสยาม (Siam Renaissance) วิถีชีวิต และธรรมเนียมการสร้างวัง นห้วงเวลาที่อิทธิพลตะวันตกได้อบอวลสร้างสีสันไปทั่วพระนคร ไปจนถึงการเปลี่ยนผ่าน วังกลายเป็นโรงเรียนในช่วงสงครามมหาเอเชียบูรพา จวนจบการปิดวังเป็นที่ทิ้งร้าง และการรอการเปลี่ยนแปลงครั้งใหม่ที่จะกำหนดอนาคตของวังลับหนึ่งเดียวบนถนนบำรุงเมืองแห่งนี้
Fact File
UNFOLDING BANGKOK ตอน Living Old Building พาไปเปิด วังกรมพระสมมตอมรพันธุ์ ระหว่างวันที่ 25 มีนาคม – 2 เมษายน 2566 ลงทะเบียนร่วมงานและติดตามทุกกิจกรรมได้ที่ www.facebook.com/UrbanAlly.SU