ครึ่งทศวรรษ EARLY YEARS PROJECT โปรเจ็กต์บ่มเพาะศิลปินและเมล็ดพันธุ์ศิลปะ
- โครงการ Early Years Project จัดขึ้นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2559 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อบ่มเพาะศิลปิน เปิดเวทีให้ศิลปินรุ่นใหม่ ศิลปินที่อาจจะยังไม่ได้โด่งดังได้มีเวทีแสดงความคิดสร้างสรรค์อย่างเต็มที่
- Early Years Project ได้เดินทางมาสู่ปีที่ 5 กับคอนเซ็ปต์ ‘เปลี่ยน’ (Fluidity of Change) นำเสนอผลงานสะท้อนการเคลื่อนไหวทางศิลปะ และสิ่งแวดล้อมที่ท้าทายต่อความเป็นอยู่ของมนุษย์หวังกระตุ้นให้ผู้ชมร่วมแสวงหาความสมดุลระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ
เดินทางมาถึงปีที่ 5 กันแล้วสำหรับ EARLY YEARS PROJECT หรือ EYP โครงการบ่มเพาะศิลปินและคัดสรรศิลปินเพื่อเข้าสู่โครงการพัฒนาด้านศิลปะ เปิดเวทีให้ศิลปินหน้าใหม่และผู้ที่สนใจงานศิลปินโดยเฉพาะในระยะแรกเริ่มได้เห็นเส้นทางเดินที่ชัดเจนของอาชีพผู้สร้างสรรค์งานศิลปะ
EARLY YEARS PROJECT จัดโดย หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ร่วมกับ บริษัท มิลล์คอน สตีล จำกัด (มหาชน) เพื่อสนับสนุนการสร้างสรรค์งานศิลปะที่จะจัดแสดงและพัฒนากระบวนการในระยะเวลาแสดงงานโดยแบ่งการพัฒนางานเป็นช่วงระยะ (Phase) และคัดเลือกศิลปินที่ได้รับการเลือกไปเป็นศิลปินพำนักในต่างประเทศเพื่อการพัฒนาและสนับสนุนการทำงานต่อเนื่องของศิลปินต่อไป
“น้อยเวทีที่จะเปิดโอกาสให้คนได้มาแสดงความสามารถจริงๆซึ่งสิ่งที่ทำให้โครงการนี้น่าสนใจ และมีความแตกต่างตั้งแต่แรก ก็คือการเปิดโอกาสให้ใครก็ได้ที่รักชอบงานศิลปะโดยไม่จำกัดอาชีพได้มีพื้นที่หรือเวทีที่ได้ลงมือทำจริง ๆ”
สิทธิชัย ลีสวัสดิ์ตระกูล ผู้ก่อตั้งและที่ปรึกษา บริษัท มิลล์คอน สตีล จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงความสำคัญในการสร้างเวทีให้กับศิลปินผ่าน EARLY YEARS PROJECTซึ่งครั้งที่ 5 มาในธีม “เปลี่ยน” มุ่งเน้นเนื้อหาเกี่ยวกับแนวคิดเกี่ยวกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม การรีไซเคิล อาทิ ตาบอดคลำช้าง โดย ธนนันท์ ใจสว่าง งานจัดวางโดยมีประติมากรรมช้างสร้างจากวัสดุรีไซเคิลตั้งตระหง่าน อิสระ ตื่นอยู่ เบิกบาน สงบเย็น โดย รัตนา สุจริต นำความคิดเรื่องสิ่งแวดล้อมมาประกอบเข้ากับงานจัดวางเป็นพืชในภาชนะแก้วกระจกใส ติดตั้งอุปกรณ์อิเล็คโทรนิคและหลอดไฟ โดยมีแนวคิดพื้นฐานของการสร้างงานมาจากแนวคิดด้านเกษตรกรรมและอุตสาหกรรม
นอกจากนี้ยังมีชิ้นงานอื่น ๆ ที่มีแนวคิดแตกต่างกันออกไปอย่างเช่น งานศิลปะวิจัย Social Weaving โดย อวิกา สมัครสมาน ที่นำเครื่องออกกำลังกายสาธารณะมาเปลี่ยนเป็นอุปกรณ์ทอผ้า และนำมาจัดวางโดยให้ผู้ได้มีส่วนร่วมและมีปฏิสัมพันธ์กับชิ้นงาน
ส่วนงาน ฉันไม่ปรากฏ ฉันจึงมีอยู่ โดย สรีนา สัตถาผล นั้นน่าสนใจด้วยการตั้งคำถามกับการมีอยู่ของศิลปินกับการสร้างสรรค์งานศิลปะ และความหมายของงานศิลปะ โดยมีงานจัดวางและการแสดงสดเป็นสื่อทางศิลปะของชิ้นงานนี้ ในนิทรรศการยังงานอื่น ๆ ที่น่าสนใจรวมทั้งหมด 8 ชุด จาก 8 ศิลปิน
ประพล คำจิ่ม และ ศุภชัย อารีรุ่งเรือง กรรมการของโครงการได้เล่าถึงกระบวนการทำงานและแนวคิดของ EARLY YEARS PROJECTว่าเป็นโครงการบ่มเพาะศิลปินที่แม้จะมีธีมกำหนดแนวคิดในการสร้างสรรค์งานไว้แต่แรกเริ่ม ทว่าก็มีอย่างหลวมๆ พร้อมที่จะขยับและเปิดให้ศิลปินสร้างสรรค์ผลงานและสามารถปรับขยับไอเดียได้เต็มที่ เพื่อให้ศิลปินได้พัฒนาความคิดของชิ้นงานมา โดยการบ่มเพาะไอดเดียนี้ศิลปินจะพัฒนาร่วมกันกับผู้ที่มีประสบการณ์ด้านศิลปะที่มาเป็นเหมือนโค้ชคอยแนะนำ ให้ความคิดเห็น และบรรยายเกี่ยวกับการทำงานศิลปะ เรียกได้ว่า EARLY YEARS PROJECTเป็นห้องเรียนศิลปะขนาดย่อมที่ปูทางของคนที่อาจจะยังไม่รู้จักวงการศิลปะว่าควรจะเข้ามาและเดินหน้าต่อไปอย่างไร และมีทางเดินไหนบ้างที่เปิดรับคำว่า “ศิลปินอาชีพ”
ด้าน ไมเคิล เชาวนาศัย กรรมการผู้อยู่ในวงการศิลปะไทยมานานได้ให้ข้อสรุปอย่างหนึ่งว่า ศิลปินส่วนใหญ่มักมีงานอื่นทำกันทั้งนั้น คำว่า ”ศิลปินอาชีพ” จึงยังคงเป็นเรื่องยากในไทย แม้ในไทยเองเริ่มมีผู้สะสมงานศิลปะ (Art Collector) แล้วแต่ก็ยังไม่มาก และผู้สะสมส่วนหนึ่งก็สะสมงานพุทธศิลป์ไม่ได้สะสมงานศิลปะร่วมสมัย งานศิลปะร่วมสมัยจึงยังไม่ได้แจ้งเกิดอย่างเต็มตัว ทางออกของศิลปินที่ทำงานศิลปะร่วมสมัยที่มีอยู่ในตอนนี้จึงเป็นในรูปแบบให้ศิลปินเขียนโครงการศิลปะต่างๆ และขอรับเงินสนับสนุนจากหน่วยงานศิลปะต่าง ๆ ทั้งในประเทศและนอกประเทศเพื่อที่จะได้รับการสนับสนุนการสร้างงานศิลปะต่อไป
ศุภชัย ซึ่งเป็นอาจารย์ด้านศิลปะได้เสริมถึงการที่จะมีนักสะสมงานศิลปะอันเป็นส่วนหนึ่งของนิเวศวงการศิลปะว่า การสร้างนักสะสมอาจเริ่มจากของเล็ก ๆ น้อย ๆ อย่าง โปสการ์ด โปสเตอร์ เทปคลาสเซท ที่อาจจะไม่ต้องมีราคาสูงมาก หรือเป็นงานศิลปะชิ้นใหญ่ แต่จะเป็นการสร้างนักสะสมงานศิลปะให้เกิดขึ้นได้
อีกส่วนที่น่าขบคิดคือของการทำงานศิลปะในยุคสมัยใหม่นี้ คือการสร้างงานของศิลปินที่เติบโตบนโลกอินเตอร์เน็ต นั่นทำให้โลกของผู้สร้างสรรค์งานเปิดกว้าง ศิลปินทุกคนได้เห็นข้อมูลทั้งโลกพร้อมๆ กัน ทุกคนมีโอกาสรู้อะไรเหมือนๆ กัน ดังนั้นคำถามสำคัญต่อไปคือความเฉพาะตัวหรือแนวคิดที่มาจากตัวตนของตัวเองซึ่งนี้จะเป็นโจทย์ใหญ่ต่อไปของศิลปินรุ่นนี้ และก็เป็นสิ่งสำคัญที่EARLY YEARS PROJECTได้บ่มเพาะให้ศิลปินมาตั้งแต่EARLY YEARS PROJECT #1 ถึง EARLY YEARS PROJECT #5
Fact File
- EARLY YEARS PROJECT#5 by MILLCON: 20/20 ‘เปลี่ยน’ (Fluidity of Change) จัดแสดงในวันที่ 05 มีนาคม 2563 – 20 กันยายน 2563 ชั้น 9 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร