เมื่อ วงดนตรีไทยรุ่นใหม่ ทดลองใส่เสียง พิณ ไว้ในบทเพลง
- เสียงจากเครื่องดนตรีพื้นบ้านอย่าง พิณ ที่เล่นได้ในสเกลตัวโน้ต 5 เสียง ไม่ได้ถูกจำกัดเป็นเพียงแต่เสียงในเพลงหมอลำเท่านั้น ตอนนี้เสียงพิณได้เข้ามาอยู่ในเพลงของวงดนตรียุคดิจิทัลที่สร้างเพลงใหม่ ๆ แบบไม่ไร้ราก
- คนรุ่นใหม่หันมาใช้พิณสร้างงานดนตรีพอปจนทำให้พิณกลายเป็นเหมือนเครื่องดนตรีสากลอื่น ๆ ที่นักฟังเพลงทั่วโลกเริ่มให้ความสนใจ
เสียงจากเครื่องดนตรีพื้นบ้านอย่าง พิณ ที่เล่นได้ในสเกลตัวโน้ต 5 เสียง ไม่ได้ถูกจำกัดเป็นเพียงแต่เสียงใน เพลงหมอลำ หรือ เพลงไทยดั้งเดิมเท่านั้น ตอนนี้เสียงพิณได้เข้ามาอยู่ในเพลงของ วงดนตรีไทยรุ่นใหม่ ยุคดิจิทัล ที่สร้างเพลงใหม่ ๆ แบบไม่ไร้ราก
แม้ พิณ จะเป็นเครื่องดนตรีอีสาน แต่วัฒนธรรมเพลงพิณไม่ได้เจาะจงเฉพาะผู้ฟังชาวอีสานเท่านั้น เพลงที่มีพิณเป็นเครื่องดนตรีประกอบมักถูกจัดให้เป็นเสียงแห่งความเป็น “ไทย” แบบหนึ่ง และที่มากกว่าความเป็นไทยคือเสียงของพิณยังได้เชื่อมโยงได้กับดนตรีพื้นบ้านในต่างแดนทั่วโลกที่มีจุดเชื่อมโยงกันอย่างแปลกประหลาดด้วยสเกลตัวโน้ต 5 เสียง (ปกติ สเกลหลักของดนตรีสากลจะมี 7 เสียง) เชื่อมโยงไปยังดนตรีแอฟริกัน ละติน และบลูส์ ดังนั้นเมื่อฟังดนตรีพื้นบ้านเหล่านี้แล้วเทียบกับเพลงหมอลำจะรู้สึกว่ามีความคล้ายคลึงกันและนอกจากเสียงที่คล้ายกันแล้ว เนื้อหาของเพลงพื้นบ้านไม่ว่าจะทวีปไหนก็มักมีเนื้อร้องถึงวิถีชีวิตและมีวิถีการเล่นแบบด้นสด (improvisation) ที่คล้ายกัน
อย่างที่ผมกล่าวไปว่าปัจจุบันการใช้พิณถูกขยายออกไปมาก ๆ ไม่ได้ถูกจำกัดแค่ดนตรีพื้นบ้าน หรือหมอลำเท่านั้น แต่ วงดนตรีไทยรุ่นใหม่ หันมาใช้พิณสร้างงานดนตรีพอปจนทำให้พิณกลายเป็นเหมือนเครื่องดนตรีสากลอื่น ๆ ที่นักฟังเพลงทั่วโลกเริ่มให้ความสนใจ สำหรับวงไทยที่เปิดตลาดแนวนี้วงแรกที่นึกถึง The Paradise Bangkok Molam International Band วงดนตรีบรรเลงที่มีส่วนผสมของดนตรีฟังก์ดิสโก้ และการเล่นพิณ วงนี้เป็นวงคนไทยที่โด่งดังในวงการดนตรีโลกมาก ได้ไปเล่นยังเทศกาลดนตรีมากมาย
สำหรับผม วงนี้เหมือนจุดประกายให้กับวงอื่น ๆ นำ พิณ มาใช้ได้อย่างไร้ขอบเขต และการขยายขอบเขตของเครื่องดนตรีก็เป็นสิ่งที่นักดนตรีสายทดลองชอบทำกัน เพราะนี่เป็นการท้าทายต่อสิ่งที่มองไม่เห็น เป็นอิสรภาพทางความคิดที่ไม่ถูกจำกัด เครื่องดนตรีกลายเป็นปากกาแบบหนึ่งที่จดบันทึกเรื่องราวของยุคสมัย รวมทั้งวิธีคิดและช่วงเวลาของสังคมและ 4 ศิลปินไทยต่อไปนี้ ก็คือหนึ่งในผู้ร่วมจดเรื่องราวประวัติศาสตร์การดนตรีที่เสียงพิณได้ก้าวข้ามจากดนตรีพื้นบ้านอีสานมาสู่ความร่วมสมัย
HED (เฮ็ด)
Facebook : HED
“เฮ็ด” แปลว่าลงมือทำในภาษาอีสาน วง H E D (เฮ็ด) เป็นวงดนตรี 3 ชิ้นที่ประกอบไปด้วยสมาชิก 3 คน คือ ต้น-ตระกูล แก้วหย่อง เล่นพิณ (และเครื่องดนตรีอีสานอื่น ๆ) มาร์ช-ฐิติวัฒน์ ตรีภพ เล่นเบส และอมรศักดิ์ คาร์ด ปราบภัย เล่นกลองและเครื่องเคาะทั้งหลาย
วง H E D (เฮ็ด) มีลักษณะเป็น Jam Band บางเพลงจึงได้กลิ่นอายหมอลำซิ่ง ส่วนเพลงที่ใช้พิณหนักๆ ในเพลงแนะนำ คือเพลง “PUSH” เล่นเป็นแนวฟังก์แจ๊สและเน้นการอิมโพรไวส์มีจังหวะที่สนุกสนาน เหมาะกับการไปดูเล่นสด เฮ็ดมักจะใช้ความเป็นดนตรีอีสานผสมกับดนตรีตะวันตก ด้วยจังหวะของกลองกับเบส เป็นความร่วมสมัยและเสียงพิณของวง ที่ใส่เสียงเอฟเฟกต์ให้ได้เสียงคล้ายกับเสียงของกีตาร์ไฟฟ้า ทำให้เสียงพิณของวง HED นั้นแตกต่างจากวงรุ่นพี่ (รุ่นลุง) อย่าง The Paradise Bangkok Molam International Band มาก ๆ ตอนนี้พวกเขาได้ออก EP มี 4 เพลงในชื่อ HED da BEAT แค่อ่านชื่อ EP ก็ม่วนมากแล้ว
Nisatiwa (นิศาทิวา)
Facebook : nisatiwa
หนึ่งในโปรเจกต์ของ ต้น-ต้นตระกูล แก้วหย่อง มือพิณวง HED (เฮ็ด) แต่การทำดนตรีภายใต้ชื่อวง Nisatiwa (นิศาทิวา) นั้นแตกต่างจาก HED ตรงที่เป็นเพลงบรรเลงไม่มีคำร้องเป็นแนว Lo-fi Beats มีความชิลเอาต์ฟังไม่ยาก มีส่วนผสมของดนตรีฮิปฮอป อิเล็กทรอนิกา และดนตรีเต้นรำแบบเฮาส์คอนเซ็ปต์ของวงนี้คือต้องการนำดนตรีไทยและดนตรีพื้นบ้านมานำเสนอในรูปแบบที่แตกต่างไปจากเดิมบางเพลงมี “ซอ” เข้าร่วมเล่นด้วย ถือว่าเป็นโปรเจกต์ที่น่าสนใจกับการผสมดนตรีอิเล็กทรอนิกส์กับดนตรีไทยเดิมได้ลงตัวเพลงแนะนำคือเพลง “หมอกควันสีจาง” และพวกเขาเพิ่งออกอัลบั้ม Love Letter เป็นอัลบั้มแรก ฟังเสนาะหูมากๆ
Noxnoi
Facebook : noxnoi
เป็นโปรเจกต์เล่นคนเดียวของ เบิร์ด-อดิศักดิ์ พวงอก มือกีตาร์วง Desktop Error ที่หันมาทำโปรเจกต์นี้เป็นงานเดี่ยว และเน้นการทดลองดนตรีแนวเวิลด์มิวสิก (world music) ด้วยใช้เครื่องดนตรีเอฟเฟกต์แบบลูปเข้ามา ด้วยความที่คุณเบิร์ดเล่นดนตรีได้หลายชนิด จึงมีการผสมผสานการเล่นเครื่องดนตรีชนิดต่าง ๆ เข้าด้วยกันและพิณก็ถูกใช้และช่วยให้เกิดสำเนียงดนตรีพื้นบ้านอย่างที่เราคุ้นเคย
Noxnoi จะเล่นอิมโพรไวส์ หรือด้นสดไปเรื่อย ๆ ในหนึ่งโชว์ จะไม่ได้เล่นเป็นเพลงฟอร์แมต 3-4 นาทีแบบเพลงพอปทั่วไป หรือจะเรียกว่าเป็นการทดลองทางดนตรีที่เกิดขึ้นในการเล่นสด เพราะบางทีผู้ฟังหรือผู้เล่นเองอาจไม่ทราบว่า การแสดงนี้จะจบลงเมื่อไรไม่ได้รู้กันก่อนว่าเพลงนี้จะจบลงท่อนนี้ คนฟังไม่ได้เตรียมตัวเหมือนกันทุกรอบอรรถรสของดนตรีแบบนี้จึงเหมาะกับการฟังยาว ๆ ยาวไป ๆ ปล่อยหัวว่าง ๆ ปล่อยให้ลูปทำงาน ให้เสียงดนตรีผ่านไปมาก็พอทั้งนี้ศิลปินดนตรีแบบ Noxnoi ในเมืองไทยยังมีไม่เยอะมาก ถือเป็นอีกแนวทางหนึ่งในการนำเสนอผลงานเพลง และการใช้พิณสร้างเสียงดนตรีที่ไม่ต้องเล่นถูกระเบียบดนตรีพื้นบ้านเสมอไป
Space War
Facebook : Space War
เป็นโปรเจกต์ดนตรีทดลองที่ผมมองว่ามีการใช้พิณที่แตกต่างที่สุดแล้วโดยดนตรีผสมทั้งดนตรี noise, post-rock, folk, ambient และใส่เสียงเอฟเฟกต์กีตาร์เข้าไปในพิณจนเราแทบจะลืมไปเลยว่านี่คือพิณ เครื่องดนตรีที่เราคุ้นเคย แนะนำให้ฟังจากบันทึกการแสดงสดแทร็กที่ชื่อ Experimental Edge ในงาน Urban Night Vibes Live at Jam เมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. 2562
สำหรับตัวเพลงของ Space War มีทั้งความรุนแรง สงบนิ่ง และเพลงส่วนใหญ่ของเขาก็เกิดจากการอิมโพรไวส์ และเมื่อต้นปีนี้เองทางวงปล่อยอัลบั้มชุด 0000 (ศูนย์ศูนย์ศูนย์ศูนย์) สังกัดค่าย Moontone Records หากมีโอกาสต้องลองฟังสักครั้ง แล้วจะได้อรรถรสเสียงพิณไปถึงดวงดาว
Fact File
- เพลงหมอลำ มีสำเนียงดนตรีและท่วงทำนองใกล้ ๆ กับเพลงละตินและเพลงบลูส์เพราะว่าเป็นเสียงดนตรีที่เกิดจากการเล่นดนตรีที่คล้ายกัน ในทางการศึกษาดนตรี เรียกเสียงแบบนี้ว่า เพนทาโทนิก สเกล (pentatonic scale) คือ โน้ต 5 เสียง ซึ่งต่างจากสเกลหลักของดนตรีสากลที่มี 7 เสียง
- เทียบ พิณ กับกีตาร์สำหรับคนที่เล่นกีตาร์แบบผมเท่าที่เคยจับพิณมาจะค้นพบว่ามีความคล้ายและต่างกันบางจุด แน่นอนว่าคงเป็นรูปร่างและวิธีการตั้งสาย ส่วนเทคนิคนั้นแตกต่างกันพิณจะใช้ Hammering on กับ Pulling off ซึ่งเป็นเทคนิคในการใช้นิ้วกดลงไปให้เกิดเสียงแทนการดีดด้วยมืออีกข้างหนึ่ง แต่ถ้าพิณแบบดั้งเดิมจะมีลายพิณที่เป็นเพลงที่ใช้เล่นกันเช่น ลายแมงภู่ตอมดอกลายแม่ฮ้างกล่อมลูก
- การเล่นสไตล์ Jam Band คือวงดนตรีที่เล่นแจมแบบไม่กำหนดตายตัวในวิธีเล่น เป็นการโต้ตอบทางเสียงเพลง ในช่วงโซโล่ของแต่ละคน ซึ่งใช้ในเพลงบรรเลงและมีการอิมโพรไวส์ โดยอาจจะกำหนดจังหวะหรือฮาร์โมนี (harmony) ไว้เป็นโครงสร้างระดับหนึ่ง
- จุลโหฬาร เป็นอีกวงที่มีการใช้พิณมาเป็นเครื่องดนตรีในวง ผสมกับดนตรีแบบพอปและรอก ซึ่งฟังแล้วมีความสนุกสนานมาก ๆ แต่ที่ไม่ได้นำไปรวมกลุ่มกับวงดนตรีที่กล่าวไปอาจเพราะวิธีการบรรเลงพิณยังคงใช้วิธีการแบบดั้งเดิม แต่ส่วนประกอบรอบๆ ต่างออกไป จุลโหฬาร เป็นอีกวงที่กำลังมีชื่อเสียงและเล่นสดได้ดีมากๆ