ย้อนรอยเรดาร์ Duga “นกหัวขวานแห่งโซเวียต” มรดกตกทอดอันน่าทึ่งจากสงครามเย็น
Lite

ย้อนรอยเรดาร์ Duga “นกหัวขวานแห่งโซเวียต” มรดกตกทอดอันน่าทึ่งจากสงครามเย็น

Focus
  • โรงไฟฟ้านิวเคลียร์เชียร์โนบีลเป็นชื่อแรกในใจของใครหลายคนเมื่อนึกถึงมรดกตกทอดจากสหภาพโซเวียต แต่ยังมีอีกสิ่งที่อยู่เยื้องไปไม่ไกลคือเรดาร์ที่มีชื่อว่า “Duga”
  • เรดาร์ คือ เทคโนโลยีการใช้คลื่นวิทยุเพื่อค้นหาหรือตรวจจับเป้าหมายโดยอาศัยการส่งสัญญาณและรับข้อมูลที่สะท้อนกลับมาจากวัตถุโดยตรง ส่วนข้อมูลที่ได้กลับมานั้นสามารถไปใช้เพื่อคำนวณหาระยะทางองศาและความเร็วของวัตถุ

เสียงครืดคราดของโครงเหล็กขนาดใหญ่เสียดสีไปกับสายลมที่แหวกผ่านป่าสนเขียวขจีอันกว้างขวางตัดกับเสียงคลิกเบา ๆ ของไกเกอร์มูลเลอร์ เคาน์เตอร์ (Geiger-Muller Counter) ที่ใช้วัดปริมาณกัมมันตรังสีจากบริเวณโดยรอบซึ่งอยู่ในมือของนักท่องเที่ยวและไกด์เกือบทุกคน พวกเขาเหล่านี้บุกป่าฝ่าดงเข้ามาในเขตกักกันพิเศษรอบโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เชอร์โนบิล (Chernobyl Nuclear Power Plant) เพื่อทัศนาหายนะที่ทิ้งร่องรอยมาตั้งแต่ ค.ศ. 1986 อีกหมุดหมายที่อาจไม่ได้โด่งดังเท่าโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ แต่ทรงพลังอย่างมากในยุคสงครามเย็นก็คือ สถานีเรดาร์ Duga – 1 (ส่วนรับสัญญาณ) ที่อยู่ห่างจากศูนย์กลางของเขตเมืองเชอร์โนบิลไปทางตะวันตกเพียงไม่กี่กิโลเมตร

ที่สถานีเรดาร์นี้โครงเหล็กของเสาอากาศที่ประกอบกันเป็น เรดาร์ Duga-1 ยังคงตั้งตระหง่านเย้ยฟ้าดินมาหลายสิบปี ถึงแม้ว่าโครงสร้างหลักจะผุพังไปพอสมควร แต่ภาพลักษณ์ภายนอกของมันยังคงไม่ต่างไปจากครั้งแรกที่ถูกเปิดใช้งานสักเท่าไรที่เปลี่ยนไปก็เพียงคราบสนิมที่เกาะไปทั่ว และปริมาณของพืชพรรณนานาชนิดที่ขึ้นไปทั่วบริเวณ ซึ่งนั่นก็ผสานเข้ากับไอหมอกและกลิ่นของความรกร้างและปราศจากมนุษย์ของบริเวณนี้ได้เป็นอย่างดี

Duga
อาณาเขตของสหภาพโซเวียตนั้นกว้างขวางมาก

ท่ามกลางเสียงพูดคุยและเสียงชัตเตอร์จากกล้องดิจิทัลของกลุ่มนักท่องเที่ยว ประวัติศาสตร์ของความขัดแย้งไปจนถึงเป้าหมายด้านการทหารยังคงฝังรากลึกอยู่ภายในสถาปัตยกรรมและโครงสร้างของ Duga-1 ในแทบจะทุกอณูโดยเฉพาะในวันที่สถานีเรดาร์ลับสุดยอดแห่งนี้ได้กลายมาเป็นศูนย์กลางของแหล่งท่องเที่ยวที่ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าถึงได้

ย้อนประวัติการถือกำเนิดของ เรดาร์

เรดาร์ หรือ Radar (Radio Detection and Ranging) คือเทคโนโลยีการใช้คลื่นวิทยุเพื่อค้นหาหรือตรวจจับเป้าหมายโดยอาศัยการส่งสัญญาณและรับข้อมูลที่สะท้อนกลับมาจากวัตถุโดยตรง ส่วนข้อมูลที่ได้กลับมานั้นสามารถนำไปใช้เพื่อคำนวณหาระยะทางองศาและความเร็วของวัตถุได้ ซึ่งนี่ทำให้เรดาร์ถูกจัดเป็นหนึ่งในกลุ่มของเทคโนโลยีประเภท Active Remote Sensing จากการส่งคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าไปยังเป้าหมายนั่นเอง

Duga
แผนภาพการทำงานโดยคร่าวของเรดาร์ ทางด้านขวาคือเป้าหมายที่สะท้อนสัญญาณคลื่นวิทยุกลับไปยังสถานีรับส่งทางด้านซ้าย

จุดเปลี่ยนที่ทำให้เทคโนโลยีที่เรียก เรดาร์ ได้รับความนิยมและเป็นที่สนใจมากขึ้นคือการใช้งานทางทหารในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ในช่วงต้นสงครามปัญหาในการตรวจจับฝ่ายศัตรูให้ได้อย่างรวดเร็วเป็นยุทธศาสตร์ที่แต่ละประเทศให้ความสำคัญมาก การใช้สายตามองหาเครื่องบินไปจนถึงเรือดำน้ำไม่ใช่ยุทธวิธีที่เหมาะสมอีกต่อไปเนื่องจากต่างฝ่ายต่างก็ต้องการจะถล่มอีกฝั่งโดยไม่ทันตั้งตัวให้ได้ การเข้ามาของเรดาร์จึงเป็นเสมือนดวงตาที่ล้ำยุคกว่ามาก ไม่ว่าจะเป็นในด้านระยะทางการตรวจจับหรือความสามารถในการส่องทะลุสิ่งกีดขวางอย่างก้อนเมฆก็ตาม

เทคโนโลยีเรดาร์ในช่วงแรกมีความละเอียดที่ต่ำและถูกแทรกแซงสัญญาณได้ง่าย แต่ด้วยความสำคัญอันเป็นที่ประจักษ์ย่อมทำให้การวิจัยและพัฒนาได้รับการสนับสนุน (ในทางลับ ๆ) อย่างเต็มที่ โดยเฉพาะมหาอำนาจอย่างสหราชอาณาจักรและนาซีเยอรมนี ที่ขึ้นชื่อในเรื่องการคิดค้นเทคโนโลยีใหม่ ๆ อยู่แล้วในตอนนั้น

เมื่อ เรดาร์ เริ่มเสถียรขึ้น โจทย์ที่ถูกแก้จึงต้องยากขึ้นตามมา การตรวจจับเรือรบที่แล่นช้าหรือเครื่องบินที่พุ่งฉิวใต้ท้องฟ้าสีครามนับว่าเป็นเรื่องเด็ก ๆ ไปเลยเมื่อต้องเทียบกับการสู้รบยามวิกาลโดยเครื่องบินขับไล่ที่ต้องลอยลำอยู่เหนือดินแดนศัตรูท่ามกลางดงปืนต่อต้านอากาศยานนับร้อย ทั้งหมดนี้ทำให้แนวคิดที่ว่า “เรดาร์จะช่วยให้มองเห็นสิ่งที่ตามิอาจเห็นได้” กลายมาเป็นหลักการที่ฝูงเครื่องบินรบกลางคืน (Night Fighter) ทั้งหลายต้องปรับตัวมาใช้กันอย่างจริงจังเพื่อให้ได้เปรียบเหนือฝ่ายศัตรูความพยายามในการวิจัยและพัฒนาเรดาร์ทำให้เกิดเป็นเครื่องบินรบรุ่นพิเศษอย่าง P-61 Black Widow (แม่ม่ายดำ) ผลิตโดยบริษัท Northrop นับว่าเป็นเครื่องบินรบลำแรกของสหรัฐอเมริกาที่ถูกออกแบบมาเพื่อใช้เรดาร์ (ซึ่งถูกย่อขนาดลงมาได้แล้ว) โดยเฉพาะ ซึ่งในยุคนั้นถือว่ามีประสิทธิภาพในการสู้รบสูงมาก

Duga
บริเวณสีขาวที่กินพื้นที่เกือบทั้งหัวเครื่องบินคือเรดาร์รุ่น SCR-720 ที่ถูกออกแบบมาเพื่อใช้งานในอากาศยานโดยเฉพาะ ขนาดของมันนับว่าใหญ่มาก ทำให้เครื่องบินรบรุ่น P-61 ต้องขยายขนาดมากกว่าปกติ

พอถึงช่วงปลายสงคราม เทคโนโลยีเรดาร์กลายเป็นมาตรฐานทางการทหารไปเป็นที่เรียบร้อย ไม่ว่าจะเป็นสถานีเรดาร์ขนาดใหญ่ภาคพื้นดิน ไปจนถึงเรดาร์ขนาดกลางบนเรือเรดาร์ขนาดเล็กบนเเครื่องบินหรือยานพาหนะและในรูปแบบอื่น ๆ เท่าที่จะสร้างสรรค์กันขึ้นมาได้ ซึ่งทั้งหมดล้วนถูกสร้างขึ้นจากองค์ความรู้ในสงครามครั้งนี้อย่างเต็มที่ ส่งผลให้ทั้งคุณภาพกำลังและความสามารถของเรดาร์มีประสิทธิภาพก้าวหน้าขึ้นอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน

จุดเปลี่ยนสำคัญอีกรอบหนึ่งของเรดาร์คือช่วงที่สงครามเย็นกำลังดุเดือดเพียงไม่กี่สิบปีหลังจากนั้น โดยเหตุผลหลักคือการเข้ามาของขีปนาวุธพิสัยต่าง ๆ ไปจนถึงเจ้าพ่อตัวจริงอย่างขีปนาวุธข้ามทวีป (Inter Continental Ballistic Missile) ทั้งหมดนี้ได้กลายมาเป็นวิธีการหลักในการส่งอาวุธนิวเคลียร์ไปยังเป้าหมายด้วยความเร็วและความแม่นยำที่เครื่องบินทิ้งระเบิดไม่สามารถเทียบได้ กลายเป็นเหตุผลหลักที่ทำให้เรดาร์ซึ่งถูกพัฒนามาเพื่อตามล่าหาอากาศยานต้องถูกบังคับให้อัปเกรดกันอีกครั้ง แต่ในคราวนี้จำเป็นต้องตรวจจับจรวดหรือหัวรบขนาดเล็กที่พุ่งแหวกอากาศมาด้วยความเร็วเหนือเสียงแทน พูดได้เต็มปากเลยครับว่าเป็นยุคของการพัฒนาเรดาร์ที่มีโจทย์หินเอาเรื่องทีเดียว

Duga
เครื่องบินทิ้งระเบิดถูกแทนที่โดยขีปนาวุธที่ทั้งเร็วกว่าแม่นยำกว่า และไม่ต้องห่วงเรื่องการถูกยิงตกโดยระบบต่อต้านอากาศยาน

ประเทศมหาอำนาจ 2 ขั้วหลักในสงครามเย็นอย่างสหรัฐอเมริกาและสหภาพโซเวียตต่างงัดเอาทุกนวัตกรรมที่มีมาพัฒนา “สุดยอดเรดาร์” ที่จะใช้ตรวจจับและเตือนภัยจากอาวุธนิวเคลียร์ของฝ่ายตรงข้ามให้ได้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพราะยิ่งตรวจจับขีปนาวุธหรืออากาศยานของศัตรูได้เร็วเท่าไรเวลาอันแสนจะมีค่าในการเตรียมระบบป้องกันและตอบสนองต่อภัยคุกคามเหล่านี้ก็จะเพิ่มขึ้นด้วย ทำให้ไม่นานหลังจากนั้นสถานีรับส่งสัญญาณและฐานเรดาร์ก็ค่อย ๆ ผุดเพิ่มขึ้นมาเป็นดอกเห็ด และ เรดาร์Duga ก็กลายมาเป็นส่วนหนึ่งในเขี้ยวเล็บใหม่ของสหภาพโซเวียตไปในรูปของระบบเรดาร์เตือนภัยล่วงหน้า (Early-Warning Radar) อีกทีหนึ่ง

สหภาพโซเวียตกับการซุ่มพัฒนาเรดาร์ชนิดพิเศษ

ประมาณช่วง ค.ศ. 1960 ทางกองทัพและหน่วยงานความมั่นคงของสหภาพโซเวียตได้พยายามซุ่มพัฒนาเรดาร์ชนิดพิเศษที่จะมาทำงานร่วมกับระบบต่อต้านขีปนาวุธที่ค่อย ๆ ถูกติดตั้งในตอนนั้น ประเด็นปัญหาที่แก้ไม่ตกเลยคือเรดาร์ส่วนใหญ่ที่ถูกสร้างไว้เป็นประเภททำงานในระยะสายตามองเห็น (Line-of-Sight) ทำให้มีข้อจำกัดด้านระยะทางในการตรวจจับ เรดาร์ประเภทนี้เหมาะที่จะใช้สำหรับวิเคราะห์ข้อมูลอย่างรวดเร็ว เพื่อทำการสกัดกั้นเป้าหมายในระยะใกล้เท่านั้น และถ้าจะบังคับให้ครอบคลุมพื้นที่มหาศาลของสหภาพโซเวียตให้ได้แล้วละก็ ทางเลือกเดียวคือการบังคับสร้างสถานีเรดาร์เหล่านี้เพิ่มขึ้นอีก หรือไม่ก็ย้ายสถานีไปให้ใกล้พรมแดนมากขึ้น เป็นการเพิ่มความเสี่ยงและเปลืองทรัพยากรที่มีจำกัดอยู่แล้วของโซเวียต

Duga
Early-Warning Radar (EWR) ถูกใช้เพื่อทำการเตือนภัยล่วงหน้าและส่งข้อมูลไปยังระบบสกัดกั้นที่เหมาะสมต่อไปได้ เช่น Anti-Ballistic Missile หรือ ระบบต่อต้านขีปนาวุธ

ที่สำคัญยิ่งกว่านั้นคือเรดาร์ทั่วไปไม่สามารถใช้ตรวจจับการยิงขีปนาวุธที่เคลื่อนตัวขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศในช่วงต้น ๆ ได้ (ด้วยข้อจำกัดที่กล่าวไป) หมายความว่ากว่าจะรู้ตัว ขีปนาวุธนิวเคลียร์ก็ลอยลำเข้ามาประชิดขอบประตูบ้านแล้วแทนที่จะสามารถตรวจจับได้ตั้งแต่ต้นอย่างที่สหรัฐอเมริกาพยายามที่จะทำผ่านระบบสถานีเรดาร์ร่วมหลากหลายขนาดและประเภทในยุคนั้นเช่น Distant Early Warning Line (DEW Line) ที่ถูกสร้างไว้แถวภาคเหนือของประเทศแคนาดาโดยความร่วมมือกับสหรัฐอเมริกาเพื่อตรวจจับเครื่องบินทิ้งระเบิดหรือการบุกรุกของศัตรูโดยตรง (และอาจจะตรวจจับขีปนาวุธได้ด้วย) ก่อนที่ภัยอันตรายนี้จะเข้าถึงประเทศตนเอง และแม้สหภาพโซเวียตอาจจะใช้วิธีการเอาฐานเรดาร์ไปตั้งเพิ่มในประเทศกลุ่ม Eastern Bloc ที่มีพรมแดนติดกับสหภาพยุโรปและพันธมิตร NATO ได้ แต่ก็ยังเสียเปรียบอยู่ดีเมื่อเทียบกันตรง ๆ กับอาณาเขตทางการทหารของประเทศฝั่งตะวันตก โดยเฉพาะกับศัตรูหมายเลข 1 อย่างสหรัฐอเมริกาที่ดูเหมือนจะมีเกราะป้องกันล้อมไว้หลายชั้น ไร้ซึ่งศัตรูที่มีแสนยานุภาพด้านนิวเคลียร์สูง ๆ ซึ่งอาจจะมาประชิดพรมแดนได้แบบที่โซเวียตต้องเผชิญอยู่ (ไม่นับคิวบานะครับ)

Duga
เรดาร์ทั่วไปถูกจำกัดระยะทางในการตรวจจับด้วยความโค้งของผิวโลกซึ่งมองเห็นได้ในลักษณะของเส้นขอบฟ้า หรือในระยะที่สามารถลากเส้นตรงจากสถานีไปยังเป้าหมายได้ (ระยะสายตา หรือ Line of Sight: LOS)

สถานการณ์ที่ไม่สู้ดีของระบบป้องกันภัยผ่านดาวเทียมของโซเวียตยิ่งบีบบังคับให้ความพยายามในการคิดค้นหาทางเลือกใหม่ ๆ ที่จะทำลายข้อจำกัดเหล่านี้ยิ่งทวีคูณขึ้นไปอีก โชคยังดีที่คำตอบนั้นก็มาถึงในที่สุดผ่านเทคโนโลยีที่เรียกว่า “Over-the-Horizon Radar:OTH” ซึ่งแปลได้ว่า “เรดาร์เหนือเส้นขอบฟ้า”เรดาร์ประเภทนี้มีความสามารถในการตรวจจับเป้าหมายในระยะที่ไกลมาก ประมาณหลักร้อยหรือพันกิโลเมตรขึ้นไป ซึ่งพ้นแนวเส้นขอบฟ้าจากความโค้งของพื้นผิวโลกออกไปอีก

สำหรับวิธีการที่เรดาร์ประเภทนี้ใช้เพื่อให้ได้มาซึ่งความสามารถพิเศษที่ว่านั้นมี 2 รูปแบบหลัก ๆ ด้วยกันครับ อย่างแรกเลยคือการใช้สัญญาณที่มีความถี่สูงและความยาวคลื่นสั้นมาก ๆ เพื่อให้สะท้อนหรือหักเหกลับลงมาจากชั้นบรรยากาศในระดับไอโอโนสเฟียร์ที่เต็มไปด้วยไอออนของโมเลกุลต่าง ๆ เสมือนเรายิงเลเซอร์ไปสะท้อนกระจกตามธรรมชาติให้พุ่งต่อไปยังเป้าหมาย ส่วนวิธีที่ 2 นั้นแทบจะกลับกันเลยเพราะเป็นการนำเอาสัญญาณความถี่ต่ำและความยาวคลื่นสูงมาใช้เพื่อให้เกิดการเลี้ยวเบนไปตามพื้นผิวโลกจนนำไปสู่ระยะทางในการตรวจจับที่เพิ่มขึ้นนั่นเอง

Duga
เรดาร์ OTH สามารถตรวจจับเป้าหมายได้ไกลมากขึ้นด้วยการสะท้อนคลื่นวิทยุความถี่สูงกับชั้นบรรยากาศ หรือใช้คลื่นวิทยุความถี่ต่ำที่เคลื่อนตัวเลี้ยวเบนไปกับพื้นผิวโลกได้

การเข้ามาของเรดาร์ประเภท OTH นี้นับว่าเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในการปะทะด้านเทคโนโลยีระหว่างช่วงสงครามเย็นเลยครับ และเป็นตัวแปรสำคัญที่ผลักให้สหภาพโซเวียตก้าวขึ้นมาทัดทานกับสหรัฐอเมริกาในวงการเรดาร์และการป้องกันขีปนาวุธได้ในที่สุด

เปิดตัวอภิมหา “เรดาร์Duga”

ย้อนกลับมาทำความเข้าใจกันก่อนครับว่า คำว่า “Duga” เป็นชื่อเรียกสถานีเรดาร์ 3 ฐานหลักในกลุ่มเดียวกัน ซึ่งทั้งหมดจะมีโครงสร้างหลักของเสาอากาศในการรับหรือส่งสัญญาณเป็นแผงขนาดใหญ่ที่สูงจากพื้นดินขึ้นไปถึง 150 เมตร และกว้างได้ถึง 700 เมตร เสมือนเป็นกำแพงหรือม่านเหล็กทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้าที่ถูกทาบไว้กับกรงลวดเสาอากาศทรงกระบอกที่ยื่นออกมาตลอดทั้งส่วนหน้าของโครงเรดาร์ (ทั้งนี้อาจจะมีความแตกต่างในลักษณะภายนอกและระบบการทำงานบางส่วนเช่นกัน) โดยแต่ละฐานประกอบไปด้วยสถานีรับและส่งสัญญาณทั้งหมด 1 คู่ที่ทำงานในช่วงคลื่นวิทยุความถี่สูง (วิทยุคลื่นสั้น)

เรดาร์
ขนาดของโครงสร้างเสาอากาศขนาดใหญ่ (15 เสาย่อย) ที่อยู่ในสถานีรับสัญญาณ Duga-1 เปรียบเทียบกับความสูงของเทพีเสรีภาพ และความยาวของเครื่องบินโดยสารรุ่น Boeing 747-400

ฐานDuga แห่งแรกนั้นไม่มีรหัสตัวเลข เนื่องจากเป้าหมายหลักคือการทดสอบระบบต่าง ๆ และสหภาพโซเวียตเองก็ไม่ค่อยชอบตั้งชื่อทางการให้การทดลองใหม่ ๆ อยู่แล้ว เผื่อมีอะไรผิดพลาดตัวฐานนั้นตั้งอยู่นอกเมืองนิโคลาเยฟ (Mykolaiv) ในประเทศยูเครนปัจจุบัน ไม่ห่างจากชายฝั่งของทะเลดำมากนัก ตัวสถานีเรดาร์มีกำลังส่งต่ำและถูกเล็งไปด้านตะวันออกของประเทศในระหว่างทำการทดสอบ

ตัวฐานทำผลงานได้ดีทีเดียว เพราะสามารถตรวจจับการปล่อยจรวดจากฐานไบโคนูร์ คอสโมโดรม (Baikonur Cosmodrome)ที่อยู่ห่างไปถึง 2,500 กิโลเมตรได้ ทำให้ไม่นานหลังจากนั้นระบบต้นแบบตัวใหม่ที่มีประสิทธิภาพสูงขึ้นก็ถูกก่อสร้างตามมาในบริเวณเดิม เพิ่มระยะทางในการตรวจจับไปได้ไกลถึงบริเวณตะวันออกไกลหรือมหาสมุทรแปซิฟิกที่ห่างประมาณ 9,000 กิโลเมตรได้ด้วย หรืออย่างน้อยก็มีรายงานว่าเรดาร์ตรวจจับขีปนาวุธที่ยิงจากเรือดำน้ำเหนือหมู่เกาะโนวายาเซมลยา(Novaya Zemlya)ทางตอนเหนือของประเทศได้

ความสำเร็จของฐานDuga ทำให้ Duga-1 อันโด่งดังถูกสร้างตามมาติด ๆ ในปี ค.ศ. 1972 ระหว่างบริเวณเมืองเชอร์โนบิล (Chernobyl) กับ เชียร์นีฮิฟ (Chernihiv) ทางตอนเหนือของประเทศยูเครนปัจจุบัน ข้อแตกต่างสำคัญคือ Duga-1 มีกำลังส่งที่เพิ่มสูงมากขึ้นถึง 10 MW และระยะห่างระหว่างสถานีรับส่งที่เพิ่มขึ้นถึง 60 กิโลเมตรอีกทั้ง Duga-1 ยังถูกเล็งไปในด้านตะวันตกอย่างที่ควรจะเป็นและคาดว่าเริ่มปฏิบัติการได้อย่างจริงจังในช่วงเวลาเพียงประมาณ 4 ปีหลังจากเริ่มการก่อสร้าง

ส่วนฐาน Duga-2 เป็นฐานเรดาร์สุดท้ายที่ถูกจัดสร้างขึ้น โดยตัวฐานตั้งอยู่ในบริเวณเมืองคอมโซมอลสค์ ออน อามูร์ (Komsomolsk-on-Amur) ในเขตดินแดนฮาบารอฟสค์ (Khabarovsk Krai) แถบไซบีเรียทางฝั่งตะวันออกสุดของประเทศเพื่อเสริมแนวป้องกันให้ครบทั้งสองด้าน

ลักษณะโดยทั่วไปของ Duga-2 นั้นไม่ต่างจาก Duga-1 มากนักครับ และความสามารถในการทำงานก็ใกล้เคียงกันพอสมควร (ด้วยกำลังส่งมหาศาลที่ 10 MW นั่นเอง)

เรดาร์
ตำแหน่งชองฐานเรดาร์ Duga ทั้งหมดภายในสหภาพโซเวียต

เรดาร์ (ไม่ค่อย) ลับ กับฉายาที่ยากจะหาใครเทียบ

“ยินดีต้อนรับเข้าสู่รายการข่าว… ล่าสุด… ขณะที่เป็นเวลา… กึกกึกกึกกึกกึกกึกกึกกึก… เราจะนำเสนอ… ครืด… กึกกึกกึกกึกกึกกึก”

นี่คือตัวอย่างประโยคและผลงานที่คาดไม่ถึงของDuga ต่อระบบสื่อสารผ่านคลื่นวิทยุและโทรทัศน์ได้เป็นอย่างดี

ใช่แล้วครับ เจ้าระบบDuga ทั้งหมดนั้นสร้างคลื่นรบกวนไปพร้อม ๆ กับการทำงานของมัน เพราะกำลังส่งที่สูงกว่าปกตินั่นเอง ทำให้เกิดเสียงดังกึก ๆ แทรกเข้ามาในช่องคลื่นวิทยุของสถานีอื่น ๆ ได้

นี่จึงทำให้ภายหลังจากการเปิดใช้งานอย่างเป็นทางการของฐานเรดาร์Duga ทั้งหมดในช่วงประมาณปี ค.ศ. 1976 สถานีวิทยุคลื่นสั้นที่ใช้งานกันอยู่ในย่านความถี่สูงก็ต้องประสบกับคลื่นรบกวนปริศนาที่เข้ามาแทรกแซงช่วงสัญญาณที่ใช้กันทั่วไป โดยผลกระทบนั้นรุนแรงมากในกลุ่มสถานีที่อยู่ใกล้หรือภายในสหภาพโซเวียต (หรือตัวฐานเรดาร์Duga ฐานใดฐานหนึ่ง) เอาเข้าจริงแทบทั้งโลกสามารถที่จะถูกรบกวนสัญญาณจาก Dugaได้แบบเต็ม ๆ ยิ่งกับช่วงคลื่นความถี่ 27 MHz แล้วยิ่งไม่รอดเลยครับ หลายครั้งการรบกวนนั้นรุนแรงมากจนไม่สามารถจะใช้งานสัญญาณในช่วงนั้นได้เลยด้วยซ้ำ เพราะกำลังส่งของ Dugaสูงเกินไป

เรดาร์
เปรียบเทียบกำลังส่งในรูปของพลังงานที่ใช้ของการกระจายสัญญาณทั่วไป (ซ้าย) และฐานเรดาร์Duga (ขวา) / แถบสีขาวบาง ๆ ด้านซ้ายในบริเวณฐานที่ลูกศรชี้อยู่คือกำลังส่ง 10 KW

กลุ่มนักวิทยุมือสมัครเล่นเป็นเสมือนด่านหน้าที่ต้องเจอกับภัยคุกคามในการแย่งชิงสัญญาณจากสถานีวิทยุที่ไม่ทราบฝ่ายหรือตำแหน่งนี้ ทำให้ในไม่นานชื่อ นกหัวขวานแห่งโซเวียต หรือ นกหัวขวานรัสเซีย ได้กลายมาเป็นนามเรียกขานที่ใช้ระบุถึงเจ้าคลื่นวิทยุและสถานีเจ้าปัญหานี้ โดยอ้างอิงทั้งจากเสียงรบกวนอันเป็นเอกลักษณ์ที่เหมือนการเคาะต้นไม้รัว ๆ ของนกหัวขวาน และการที่คลื่นนั้นถูกทำการตรวจหาตำแหน่งย้อนกลับไปยังสหภาพโซเวียตได้ด้วยกระบวนการตรวจสอบสามเส้าหรือ Triangulation (มีการตรวจเจอคลื่นรบกวนในลักษณะเดียวกันมาตั้งแต่ ค.ศ. 1963 ซึ่งไม่แน่ว่าอาจจะเป็นของฐานDuga แรก หรือต้นแบบที่เกี่ยวข้องกัน)

ข้อมูลเบื้องต้นทั้งหมดโดยกลุ่มนักวิทยุมือสมัครเล่นนี้ได้รับการรับรองผ่านหน่วยงานความมั่นคงของประเทศฝั่งตะวันตก โดยเฉพาะ NATO ที่รู้ถึงการมีอยู่ของโครงการนี้อยู่แล้ว แต่กลับเปิดเผยข้อมูลด้านความมั่นคงไม่ได้โดยตรงเนื่องจากความกลัวที่ว่าทางการของสหภาพโซเวียตจะเคลื่อนไหวและยิ่งปกปิดข้อมูลมากขึ้นอีก

จากซ้าย : ตราสัญลักษณ์ของนักวิทยุมือสมัครเล่น, ตราประจำกองทัพแห่งสหภาพโซเวียต

NATO ยังมีการตั้งชื่อรหัสระบุไว้ให้เรดาร์ Dugaด้วยว่า STEEL YARD (สนามเหล็ก) หรือ STEEL WORK (งานโลหะ) เพราะในเวลานั้นยังไม่มีใครรู้ถึงชื่อจริง ๆ ที่สหภาพโซเวียตตั้งให้ฐานเรดาร์เหล่านี้

แต่เพียงไม่กี่ปีความไม่รู้ถึงธรรมชาติที่แท้จริงของเรดาร์ Dugaก็ค่อย ๆ ก่อตัวไปเป็นความกลัวในแวดวงสาธารณะ ทำให้เกิดทฤษฎีสมคบคิดประหลาด ๆ มากมายที่ไล่มาตั้งแต่การที่ Dugaเป็นโครงการลับสุดยอดของสหภาพโซเวียตในการพยายามเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศบ้างก็ว่าเป็นการทดลองด้านจิตวิทยาในการควบคุมจิตใจไปจนถึงระบบสื่อสารพิเศษสำหรับเรือดำน้ำหรือเครื่องมือรบกวนระบบสื่อสารไร้สายของประเทศฝั่งตะวันตกโดยเฉพาะ

แต่ในที่สุดข้อเท็จจริงที่ว่าสัญญาณของนกหัวขวานแห่งโซเวียตนี้คงไม่พ้นไปจากเรดาร์ประเภท OTH ก็ทำลายทฤษฎีเหล่านี้ทิ้งได้จนหมดครับ ไม่ต้องมองไปไหนไกลเพราะอ้างอิงได้จากทีมนักวิทยุมือสมัครเล่นเจ้าเก่าของเราไปจนถึงผู้เชี่ยวชาญและองค์กรที่เกี่ยวข้องอย่างหน่วยงานด้านการสื่อสารของสหรัฐอเมริกาเช่น คณะกรรมการกลางกำกับดูแลกิจการสื่อสาร (Federal Communications Commission : FCC) (นี่ยังไม่นับข้อมูลจาก “ภายใน” สหภาพโซเวียตที่รั่วไหลออกมาเพราะถูกเจ้านกหัวขวานเล่นงานไม่ต่างกันนะครับ)

เรดาร์
ลักษณะเด่นของเสียงเคาะความถี่ 10 Hz ที่เกิดจากคลื่นรบกวนของเรดาร์ Duga

ทั้งหมดนี้เป็นสาเหตุที่ทำให้ในระหว่างที่คลื่นรบกวนนั้นทวีความรุนแรงมากขึ้น ข้อมูลพื้นฐานเกี่ยวกับ Dugaก็ไม่ค่อยจะลับอีกต่อไป ทำให้เราได้ข้อเท็จจริงเพิ่มมาอีกเกี่ยวกับระบบของDuga เช่น


1. Dugaต้องเป็นเรดาร์ที่มีกำลังส่งสูงเท่านั้น อ้างอิงจากเอกลักษณ์ในแต่ละช่วงคลื่นที่มีโครงสร้างข้อมูลเป็นเลขฐานสองแบบ 31-บิต ในลักษณะลำดับสุ่มเทียม (Pseudo-Random) (แต่ละบิตมีความยาวประมาณ 100 μs ทำให้เกิดช่วงคลื่น 3.1 ms ที่ใช้กับระบบ 100 μs Chirped Pulse Amplification System ได้) คาดว่าเรดาร์มีค่า Resolution อยู่ที่ 15 กิโลเมตร โดยคลื่นที่ส่งออกมาไม่มีข้อมูลที่แปรความหมายได้เลย

2. ตัวสถานีส่งสัญญาณต้องอยู่ในสหภาพโซเวียต และมีมากกว่า 1 สถานี

3. สถานีแรกถูกเล็งมาทางตะวันตก (Duga-1) และสถานีที่ 2 (Duga-2) ถูกเล็งไปทางตะวันออกเพื่อให้คลุมจุดบอดของสถานีแรก ทั้งหมดพุ่งเป้าไปที่สหรัฐอเมริกาอย่างมีนัยสำคัญ

4. ค่า Pulse Repetition Interval (PRI) อยู่ที่ 90 ms ย่านความถี่ของสัญญาณอยู่ที่ 7-19 MHz และความกว้างแถบความถี่ที่ 0.02-0.8 MHz ทั้งหมดนี้ทำให้เกิดเสียงกึก ๆ ที่ความถี่ (Repetition Frequencies) 10 Hz (ในบางครั้งความถี่ที่ได้ยินจะอยู่ที่ช่วง 16 และ 20 Hz)

5. ระยะเวลาในการส่งสัญญาณออกมาแต่ละครั้งอยู่ที่ประมาณ 7 นาที

ความน่ารำคาญและผลกระทบของระบบDuga ทำให้มีความพยายามในการส่งคำร้องเรียนนับพันรายการไปยังสหภาพโซเวียตที่แน่นอนว่าอุบอิบข้อมูลทุกอย่างไว้มิดชิดและไม่คิดจะแก้ปัญหานี้อยู่แล้ว แม้แต่ตอนที่เกิดอุบัติเหตุทางนิวเคลียร์ครั้งใหญ่ที่สุดในโลกที่เชียร์โนบีลในปี ค.ศ. 1986 ทางโซเวียตก็ไม่แม้แต่จะเอ่ยถึงฐานเรดาร์ Duga-1 ที่ถูกมองเห็นได้จากแถวโรงไฟฟ้า แถมยังกุเรื่องขึ้นมาปิดบังความจริงของระบบDugaไว้อีกหลายตลบ

โครงการDuga เริ่มต้นในช่วงยุคที่เลโอนิด เบรจเนฟ (Leonid Brezhnev) เป็นผู้นำของสหภาพโซเวียต

เมื่อสถานการณ์เป็นเช่นนี้แล้ว กลุ่มนักวิทยุมือสมัครเล่นและองค์กรที่เกี่ยวข้องบางส่วนจึงพยายามที่จะล้างแค้นเจ้าเรดาร์Duga โดยการก่อตั้ง “The Russian Woodpecker Hunting Club” หรือ “ชมรมล่านกหัวขวานรัสเซีย” ขึ้นมาเพื่อแจมสัญญาณกลับให้เรดาร์นี้ใช้ไม่ได้ ผ่านวิธีการที่ง่ายสุด ๆ ซึ่งก็คือการส่งสัญญาณในช่วงอัตราจังหวะเดียวกันกลับไปยังสถานีต้นทางในรูปของ Synchronized Unmodulated Continuous Wave Signals (SUCWS) เสมือนใช้คลื่นรบกวนชนิดเดียวกันมาสู้กับคลื่นต้นเหตุอีกทีหนึ่ง เมื่อสัญญาณทั้งสองเจอกันก็จะทำลายความสามารถของเรดาร์Duga ในการตรวจจับคลื่นสะท้อน (Echo) ของตนเองจากวัตถุเป้าหมาย ทำให้ไม่สามารถปฏิบัติการได้ตามปกติ ปัญหาเดียวเลยคือทางชมรมต้องใช้สถานีส่งสัญญาณที่มีกำลังสูงมาก ๆ ในระดับที่เทียบกับDuga ได้ ไม่ก็ต้องรวมสมาชิกจากสถานีย่อย ๆ ในปริมาณที่มากเอาเรื่องเลยก็ว่าได้วิธีการที่สมเหตุสมผลขึ้นมาหน่อยคือการยอมแพ้แล้วเปลี่ยนไปใช้ช่วงสัญญาณความถี่อื่น หรือไม่ก็ใช้ตัวบล็อกความถี่ในแผงวงจรเพื่อสกัดเสียงรบกวนจาก Dugaทิ้งไปเลย

Duga
แผนภาพแสดงการทำงานของชมรมล่านกหัวขวานรัสเซียอย่างคร่าว ๆ

ท้ายที่สุดแล้วความพยายามในการยื้อยุดฉุดกระชากระหว่างมหาอำนาจทั้งสองฝ่ายในช่วงสงครามเย็นนี้ก็ยังคงดำเนินต่อไป แต่ผลกระทบที่เรดาร์Duga ได้สร้างเอาไว้ในฐานะเครื่องมือทางทหารชิ้นหนึ่งนั้นก็นับว่ามากมายจนยากจะหาสิ่งไหนเทียบเลยทีเดีย

จุดจบของนกหัวขวานแห่งสหภาพโซเวียต

หลังจากที่ทั้งโลกต้องทนกับเรดาร์Duga กันมากว่าสิบปี สัญญาณของเรดาร์Duga ก็ค่อย ๆ เลือนหาย กระทั่งอันตรธานไปจนหมดในปี ค.ศ. 1989 นับว่าสิ้นสุดยุคมืดที่นกหัวขวานแห่งโซเวียตตัวนี้ได้เข้ามาสยายปีกคลุมโลกแห่งการสื่อสารเอาไว้ และหลังจากนั้นเพียง 2 ปี สหภาพโซเวียตก็เดินทางมาถึงจุดจบด้วยเช่นกัน

Duga
*เส้นเวลาแสดงประวัติศาสตร์ของโครงการDuga ตั้งแต่ต้นจนจบ

สาเหตุของการปิดระบบDuga นั้นยังคงคลุมเครือ เพราะข้อมูลถูกปกปิดมาโดยตลอด หรือถึงจะถูกเผยแพร่หลังการล่มสลายของสหภาพโซเวียตก็เป็นเพียงข้อมูลที่ประชาคมโลกรับรู้กันอยู่แล้วเท่าที่คาดเดากันได้นั้นสาเหตุหลัก ๆ ของการยุติการใช้งานน่าจะมาจากการถูกแทนที่ของระบบเตือนภัยล่วงหน้าด้วยดาวเทียมที่มีประสิทธิภาพสูงขึ้นจนเปลี่ยนจากปัญหาที่Duga ถูกสร้างมาแก้ไปเป็นแนวทางที่ปัดDuga ตกเวทีไปแทน เช่นระบบเครือข่ายดาวเทียมทางทหาร US-KS ของโซเวียตที่ถูกเปิดใช้งานในช่วง ค.ศ. 1980 นั้นมีความสามารถในการตรวจจับการยิงขีปนาวุธที่รวดเร็วและทันสมัยกว่าระบบเรดาร์มาก แถมไร้ซึ่งข้อจำกัดด้านการใช้งานของเรดาร์ประเภท OTH (เช่นคุณภาพสัญญาณที่แย่ลงได้หากอากาศไม่เป็นใจ หรือคุณลักษณะของชั้นบรรยากาศที่ใช้ในการสะท้อนสัญญาณหรือความเสี่ยงจากการถูกกวนสัญญาณกลับ)

จุดจบของแต่ละฐานเรดาร์Duga นั้นก็แตกต่างกันไปครับ ที่ชัดเจนคือทั้งหมดถูกปลดระวางอย่างเป็นทางการไปแล้ว และคงไม่ถูกนำกลับมาใช้งานอีก

ข้อเสียของเรดาร์ยังคงมีให้เห็น เช่น ประสิทธิภาพที่ลดลงด้วยปัจจัยภายนอกทั้งหลาย หรือการตกเป็นเป้านิ่งให้ถูกโจมตีในกรณีของฐานเรดาร์ภาคพื้นดิน ไม่เพียงแค่นั้น เรดาร์ยังมีโอกาสถูกแจมสัญญาณกลับได้ด้วย

ฐานDuga แห่งแรก (ที่ไม่มีตัวเลขระบุ) น่าจะเป็นฐานแรกที่ปิดตัวลง และถูกรื้อถอนออกในปี ค.ศ. 2006

ส่วนฐาน Duga-1 อันโด่งดังยังคงอยู่ในสภาพที่เกือบสมบูรณ์เพราะหลายเหตุผล หนึ่งในนั้นคือการที่สถานีรับส่งดันอยู่ใกล้กับเขตหวงห้ามเชียร์โนบีล ทำให้ในปัจจุบันทางการยูเครนไม่ได้มีเหตุผลใด ๆ ในการทำอะไรเพิ่มเติมกับซากอารยธรรมนี้ (ที่สำคัญคือรัสเซียเองก็คงไม่มีสิทธิ์เข้ามายุ่มย่ามในพื้นที่แน่นอน) แต่ตัวสถานีรับสัญญาณนั้นถูกเปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าไปสำรวจได้ตั้งแต่ช่วงปี ค.ศ. 2013 หากมีการขอเอกสารรับรองผ่านทางคณะผู้นำเที่ยวได้เรียบร้อยตามกฎหมายกำหนดซึ่งนี่เป็นเหตุผลที่ทำให้มีรูปภาพและสื่อต่าง ๆ เกี่ยวกับระบบDugaเพิ่มขึ้นไม่นานหลังจากนั้น

เรดาร์
สถานีรับสัญญาณของฐานเรดาร์ Duga-1 จากระยะไกล
(ภาพ : Ingmar Runge)

โดยในบรรดานักท่องเที่ยวที่เข้าไปเยี่ยมชม ส่วนหนึ่งประกอบไปด้วยนักวิทยุมือสมัครเล่นที่ถือโอกาสเอาอุปกรณ์ของตัวเองไปต่อเข้ากับเสาอากาศในโครงสร้างเรดาร์เพื่อลองใช้งานเสียเลย ครบวงจรกันเรียบร้อยเลยสิครับงานนี้

เรดาร์
จากซ้าย : ภาพถ่ายกรงเสาอากาศขนาดเล็ก (Cylindrical/Conical Cages) ด้านหน้าของโครงสร้างจากบริเวณด้านล่าง, ตัวกรงคือส่วนที่ทำงานโดยมีสายป้อนกระแสไฟฟ้าลงมาจากฐานยื่นด้านบนขวาและทางด้านซ้ายล่างจะมีสายลวดสะท้อนสัญญาณที่วิ่งขนานไปทางด้านหลังของตัวโครง
(ภาพ : Alexander Blecherและ Necator)

สำหรับฐาน Duga-2 ที่เป็นน้องสุดท้องในโครงการถูกปิดตัวลงในระยะเวลาไล่เลี่ยกัน โดยอุปกรณ์และโครงสร้างหลักได้ถูกรื้อถอนออกไปไม่นานหลังจากนั้น คล้ายกับกรณีของฐาน Dugaทำให้เหลือเพียงแค่ Duga-1 ที่เป็นเสมือนหมุดหมายสุดท้ายของโครงการ Dugaและเทคโนโลยีทั้งหมดในฐานะมรดกตกทอดจากสหภาพโซเวียตที่ยังคงสัมผัสได้ในทุกวันนี้

อย่างไรก็ตาม ในเชิงวัฒนธรรมเรดาร์ Dugaนั้นกลับกระจายไปไกลกว่าสัญญาณรบกวนของมันเสียอีก เพราะด้วยรูปทรงที่เป็นเอกลักษณ์ของโครงสร้างและสถาปัตยกรรมดิบ ๆ สไตล์โซเวียตล้วนส่งผลให้สื่อร่วมสมัยในปัจจุบันนำเอาภาพลักษณ์ของ Dugaไปใช้กันอย่างล้นหลามจนกลายเป็นไอคอนของสงครามเย็นไปแล้ว โดยเฉพาะในสื่อประเภทเกม First PersonShooter (FPS) อย่าง Call of Duty,PlayerUnknown’s Battlegrounds (PUBG)และ S.T.A.L.K.E.R. ไปจนถึงสารคดีและภาพยนตร์อีกหลายเรื่องที่เราจะพบเห็นเรดาร์ลักษณะเดียวกับ Dugaได้ชัดเจน

เรดาร์
โครงสร้างหน้าตาคุ้นเคยในเกม Call of Duty:Warzone นี้เรดาร์ที่ตั้งอยู่ในเมืองสมมตินาม เวอร์แดนสก์ (Verdansk)
(ภาพ : COD:WZ)

จุดจบของ Dugaไม่ได้หมายความว่าเรดาร์ OTH ทั้งหมดจะล้มหายตายจากตามไปด้วย แต่กลับเป็นการส่งไม้ต่อให้ฐานเรดาร์ใหม่ ๆ ที่เข้ามาแทนที่ทั้งในฝั่งตะวันตก เช่นโครงการ UK/US Cobra Mist, ROTHR- Relocatable Over-the-Horizon Radar, Jindalee Operational Radar Network ของประเทศออสเตรเลียและในประเทศรัสเซียที่กลับมาโบกสะบัดธง 3 สีอีกครั้งหนึ่งด้วยโครงการ Container-29B6

บทส่งท้าย

ในปัจจุบันเรดาร์ได้กลายมาเป็นเทคโนโลยีที่ใช้งานกันตามปกติในด้านพลเรือนอย่างแพร่หลายจนผู้คนส่วนใหญ่คุ้นชินกับเรดาร์ที่หมุนติ้วตามสนามบินหรือเรดาร์ดอปเปลอร์ในโดมกลม ๆ ที่ถูกใช้งานในด้านอุตุนิยมวิทยากันไปแล้ว แต่ในขณะเดียวกันภาพลักษณ์ทางทหารของเรดาร์ยังคงอยู่ไม่เปลี่ยนแปลง ถึงแม้ว่าโดยรวมแล้วอาจจะแตกต่างไปจากเดิมบ้างในรูปแบบของลักษณะการทำงาน เช่นการเข้ามาของระบบ Airborne Early Warning and Control (AEW&C) ที่แปลงเครื่องบินเป็นฐานเรดาร์ลอยฟ้าขนาดย่อมได้แต่ความสำคัญต่อความมั่นคงระหว่างประเทศของระบบเรดาร์ในด้านการป้องกันขีปนาวุธและตรวจจับศัตรูก็ยังคงแข็งแกร่งท่ามกลางสถานการณ์การเมืองระหว่างประเทศที่ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป (รัสเซียกับจีนกลายมาเป็นขั้วมหาอำนาจใหม่ที่ต่อกรกับสหรัฐอเมริกาและพันธมิตรตะวันตกเจ้าเก่าได้อย่างสูสี)

ผมมองว่าเรดาร์เป็นนวัตกรรมสำคัญหนึ่งที่ต้องถูกบีบบังคับให้คงอยู่ระหว่างสถานะของเครื่องมือที่นำมาซึ่งความปลอดภัยกับผลประโยชน์ในหลากหลายสาขาให้แก่มนุษยชาติและยังคงต้องเป็นมาตรฐานทางด้านการทหารอย่างมิอาจปฏิเสธได้อยู่ดี เพราะตราบเท่าที่มนุษยชาติยังคงเขม่นกันเองไปเรื่อย ๆ …สถานะที่ว่านี้ย่อมจะคงอยู่ตามกันไปติด ๆ

เรื่องเล่าของ “Duga” นั้นแสดงถึงผลกระทบของเทคโนโลยีเรดาร์ต่อแทบจะทุกวงการได้เป็นอย่างดี พวกเราอาจจะมองว่าสิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องสนุก ๆ ในหน้าประวัติศาสตร์ก็คงได้ แต่หากเราย้อนกลับไปอยู่ในห้วงเวลาแห่งความเป็นไปได้ของสงครามนิวเคลียร์ที่นกหัวขวานแห่งโซเวียตตัวนี้แผดเสียงร้องก้องกังวานไปครึ่งค่อนโลกแล้วละก็ สถานการณ์โดยรวมคงจะน่าวิตกอยู่เหมือนกัน

Duga

Fact File

  • Duga” (Дуга́) เป็นภาษารัสเซียแปลว่า “เส้นโค้ง” หรือ “เส้นงอแบบรุ้ง” ซึ่งอาจจะดูไม่ค่อยเข้ากับหน้าตาของเรดาร์หลักที่เป็นแผ่นสี่เหลี่ยมแบนราบสักเท่าไรแต่นี่อาจจะหมายถึงการเคลื่อนที่ของคลื่นวิทยุที่ไปสะท้อนกับชั้นบรรยากาศหรือลักษณะความโค้งของคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าก็ได้ ผมคิดว่าสหภาพโซเวียตเองคงจะมีชื่อนามเรียกขานหรือรหัสเฉพาะในการระบุถึงสถานีเรดาร์พวกนี้ แต่คำว่า “Duga” กลายมาเป็นชื่อรวมของเรดาร์กลุ่มนี้ไปในที่สุดด้วยความสั้นและกระชับของมันผนวกกับเป็นชื่อหลักที่ใช้ในเอกสารและข้อมูลที่ถูกเปิดเผยภายหลังการล่มสลายของสหภาพโซเวียต

ออกแบบภาพประกอบเรื่องทั้งหมด : ฌาณัฐย์ สิทธิปรีดานันท์

*หมายเหตุ : เส้นเวลาแสดงประวัติศาสตร์ของโครงการ “Duga” เริ่มจากการพัฒนาโครงการในปี ค.ศ. 1960 วิกฤติมิซไซล์ในคิวบาเมื่อปี ค.ศ. 1962 การตรวจพบคลื่นรบกวนจาก Dugaครั้งแรกในปี ค.ศ. 1963 การก่อสร้างฐานเรดาร์ Duga-1 ในปี ค.ศ. 1974 เริ่มใช้งานระบบDuga อย่างเป็นทางการในปี ค.ศ. 1976 ภัยพิบัติเชียร์โนบีลในปี ค.ศ. 1986 สิ้นสุดการทำงานของระบบDuga ในปี ค.ศ. 1989 การล่มสลายของสหภาพโซเวียตในปี ค.ศ. 1991 การรื้อถอนฐานDuga แห่งแรกในปี ค.ศ. 2006 การเปิดฐาน Duga-1 ให้นักท่องเที่ยวเข้าชมในปี ค.ศ. 2013 และปีที่บทความนี้ถูกเขียนขึ้น

อ้างอิง




Author

ฌาณัฐย์ สิทธิปรีดานันท์
นักคิดนักเขียน ผู้กำกับ นักวิจัยมือสมัครเล่น และศิลปินอิสระ ผู้ชื่นชอบวิทยาศาสตร์กับศิลปะเป็นชีวิตจิตใจ เอนจอยกับการไปโผล่ท่ามกลางธรรมชาติและมีความสุขมาก (จริง ๆ นะ) ในการเป็น workaholic มีโอกาสได้ลงผลงานที่ A Day Bulletin, GM Magazine, และ The Momentum