โรงหนังไดร์ฟ-อิน จากโรงหนังเพื่อครอบครัว สู่ความโรแมนติกของหนุ่มสาวอเมริกัน
Lite

โรงหนังไดร์ฟ-อิน จากโรงหนังเพื่อครอบครัว สู่ความโรแมนติกของหนุ่มสาวอเมริกัน

Focus
  • 2-5 กรกฎาคม 2563 เอส เอฟ ร่วมกับ กสท โทรคมนาคม จัด CAT Drive-in Cinema โรงหนังไดร์ฟ-อิน การชมภาพยนตร์กลางแจ้งในรถส่วนตัว ด้วยระบบดิจิทัลครั้งแรกในไทย
  • โรงหนังไดร์ฟ-อิน เกิดขึ้นในประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 1933 ที่เมืองแคมเดน รัฐนิวเจอร์ซี สหรัฐอเมริกา ในชื่อ Automobile Movie Theatre
  • การรักษาระยะห่างเพราะการระบาดของโควิด-19 ทำให้โรงหนังไดร์ฟ-อิน กลับมาอีกครั้ง และล่าสุดไดร์ฟ-อิน ยังได้ถูกนำมาใช้กับการจัดงานเทศกาลดนตรี เต้นกันอย่างห่างๆ บนรถใครรถมันไปเป็นที่เรียบร้อย

โรงหนังไดร์ฟ-อิน (Drive-in) แห่งแรกในประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ เกิดขึ้นที่เมืองแคมเดน (Camden) รัฐนิวเจอร์ซี  สหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน ค.ศ.1933 โดยต้นเหตุของการออกแบบโรงหนังที่ต้องนั่งดูกลางแจ้งในรถยนต์ส่วนตัวมาจาก  ริชาร์ด ฮอลลิงชี้ด (Richard Hollingshead) ลูกชายบริษัทยานยนต์ชื่อ  Whiz Auto Products เขาและคุณแม่เป็นคอหนังตัวยงที่ชอบการเข้าไปดูหนังในโรงภาพยนตร์อย่างมาก แต่โรงภาพยนตร์ในยุคบุกเบิกนั้นไม่ได้เบาะนุ่ม ที่กว้าง นั่งสบายอย่างในปัจจุบัน

โรงหนังไดร์ฟ-อิน
หนุ่มสาวซิดนีย์ แต่งตัวไปซื้อบัตรดูหนังที่ Metro-Twin drive-in (ภาพ : The Museum of Applied Arts and Sciences )

คุณแม่ของริชาร์ดมักจะประสบปัญหาหนึ่งที่ถือเป็นเรื่องใหญ่มากต่ออรรถรสในการดูหนังนั่นก็คือ เก้าอี้นั่งที่หาความสบายไม่ได้ อีกทั้งบรรยากาศในโรงภาพยนตร์ยุคนั้นก็ช่างคับแคบ ชวนอึดอัด ไม่ถูกใจคุณแม่ของเขาสักเท่าไร  ริชาร์ดจึงพยายามหาทางออกที่น่าจะลงตัวด้วยการจัดฉายหนังกลางแปลงที่อยู่กลางแจ้ง แต่ต้องมีข้อแม้ว่าสามารถกันลมหนาว และหลบฝนได้อย่างทันท่วงที ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้คือ ที่นั่งในรถยนต์นั่นเอง กฎของโรงภาพยนร์แบบใหม่จึงมีเพียงแค่หาจุดที่ตั้งจอฉายหนังขนาดใหญ่ให้ได้ และเป็นลานกว้างให้จอดรถที่มาแทนเก่าอี้นั่งได้อย่างสะดวก และริชาร์ดก็ได้เปิดโรงหนังไดร์ฟอินแห่งแรกเมื่อเดือนมิถุนายน  ปี ค.ศ.1933  ในชื่อ Automobile Movie Theatre โดยมีสโลแกนในการชักชวนลูกค้าให้เข้ามาชมว่า “The whole family is welcome, regardless of how noisy the children are.” ยินดีต้อนรับทั้งครอบครัว เด็กเสียงดังแค่ไหนก็ไม่เป็นไร

โรงหนังไดร์ฟ-อิน
ความใหญ่โตของ Metro-Twin drive-in เมืองวิกตอเรีย (ภาพ : The Museum of Applied Arts and Sciences )

โรงหนังไดร์ฟ-อิน อดีตสถานที่เดทสุดฮิตของหนุ่มสาว

กิจการของ Automobile Movie Theatre ต้นตำรับอยู่ได้ไม่นานก็ขาดทุน และในช่วงปี 1940 ก็มี โรงหนังไดร์ฟ-อิน เกิดขึ้นในอเมริกาเพียง 20 แห่ง แต่เมื่อลิขสิทธิ์จัดตั้งโรงหนังไดร์ฟอินของ ริชาร์ด ฮอลลิงชี้ด หมดอายุในปี 1950 คอนเซ็ปต์การจอดรถดูหนังก็ไม่ได้ผูกกับเจ้าใดเจ้าหนึ่ง และกลายเป็นความเฟื่องฟูของหนังกลางแปลงตามมา ส่งผลให้มี โรงหนังไดร์ฟ-อิน เกิดขึ้นกว่า 4,000 แห่งทั่วอเมริกา

ความเป็นส่วนตัวของโรงหนังไดร์ฟ-อิน ทำให้วัฒนธรรมนี้กลายเป็นวัฒนธรรมของหนุ่มสาวช่วงทศวรรษ 1950 -1960 ยุคที่วัยรุ่นเริ่มขบถต่อวัฒนธรรมแบบรุ่นพ่อแม่ และตรงกับช่วงกำเนิดดนตรีร็อคแอนด์โรล กระแสหนุ่มสาวนักแสวงหาเสรีภาพในอเมริกาส่งผลโดยตรงทำให้โรงหนังแบบไดร์ฟ-อิน ได้รับความนิยมอย่างสูงมาก ลานจอดรถที่ฉายหนังกลางแปลงกลายเป็นแหล่งแฮงค์เอาท์ และเป็นสถานที่เดทยอดฮิตของหนุ่มสาว นอกจากนั้นโรงหนังไดร์ฟ-อินยังได้กลายเป็นกิจกรรมของครอบครัวในช่วงฤดูร้อนฟ้าโปร่ง ความฮ็อตฮิตของโรงหนังไดร์ฟอินยังได้ถูกเล่าไว้ในหนังไซ-ไฟวัยรุ่นย้อนยุคสุดฮิตเรื่อง Back To The Future ซึ่งออกฉายครั้งแรกในปี 1985 อีกด้วย

โรงหนังไดร์ฟ-อิน
ความรุ่งเรืองของโรงหนังไดร์ฟ-อิน ที่ออสเตรเลีย คงเหลือเพียงความทรงจำที่ The Museum of Applied Arts and Sciences

ยุคตกต่ำที่มาพร้อมกับวิดีโอ

ยุคตกต่ำของโรงหนังไดร์ฟ-อิน ตรงกับช่วง 1970  ทางสมาคมผู้ประกอบการโรงหนังไดร์ฟ-อิน เชื่อว่า ความนิยมต่อโรงหนังไดร์ฟ-อินเริ่มเสื่อมลงโดยมีสาเหตุหลักๆ มาจากการเกิดขึ้นของ หนังวิดีโอ โดยม้วนวิดีโอในระบบ VHS เริ่มต้นขึ้นในปี 1966  และถือว่าเป็นความแปลกใหม่ สร้างทางเลือกให้ผู้ชมสามารถดูหนังจากม้วนวิดีโอผ่านเครื่องเล่นจากจอทีวีที่บ้านอย่างไม่จำกัดช่วงเวลา ลูกค้าหนังแบบวิดีโอสามารถเลือกได้ว่าจะซื้อขาดมาครอบครอง หรือเช่าจากร้านเช่าวิดีโอในราคาที่ถูกกว่า

กระแสหนังไดร์ฟอินถูกตอกฝาโรงอีกครั้งด้วยกฏหมายใหม่ในอเมริกาที่ปรับเวลาเฉพาะฤดูร้อน (เมษายน-ตุลาคม) ให้แตกต่างจากเดิม ส่งผลกระทบโดยตรงต่อกำหนดเวลาเริ่มฉายภาพยนตร์กลางแปลงที่ต้องเริ่มตอนใกล้ 4 ทุ่ม เรียกว่ากว่าหนังจะจบก็ราวๆ เที่ยงคืน ซึ่งเป็นรอบที่ดึกเกินไปสำหรับกลุ่มครอบครัว รวมทั้งกลุ่มคนทำงานที่อยากจะมาดูหนังช่วงกลางสัปดาห์ ทำให้รายได้ของโรงหนังไดร์ฟ-อินน้อยลงกว่าเดิม แม้ในช่วงสุดสัปดาห์จะยังคงมีผู้ชมหนาแน่นก็ตาม (เพระไม่มีใครสามารถมาดูวันธรรมดาได้)

โรงหนังไดร์ฟ-อิน
The Chullora drive-in ซิดนีย์ (ภาพ : The Museum of Applied Arts and Sciences )

ขณะที่ช่วงปลายทศวรรษ 1970-80  โรงภาพยนตร์ในอาคารเริ่มปรับปรุงเทคโนโลยีเครื่องฉายและระบบเสียงที่ดีขึ้น ทำให้การชมภาพยนตร์มีความตื่นเต้นระทึกขวัญเพิ่มขึ้นด้วยระบบเสียงรอบทิศทาง อย่างระบบเสียงของ DOLBY และ ระบบ THX รวมทั้งการสร้างภาพจากคอมพิวเตอร์กราฟิก(CGI) เทคนิคพิเศษต่างๆ ทั้งภาพและเสียงถูกพัฒนาขึ้นมาสำหรับโรงภาพยนตร์มากขึ้น พร้อมกับเปิดตัวภาพยนตร์อย่าง JAWS , Star Wars และ E.T ซึ่งเป็นจุดกำเนิดของ ภาพยนตร์บล็อคบัสเตอร์ หรือหนังทำเงินถล่มทลาย วัดจากรายได้การขายตั๋วที่หน้าโรง (หรือเรียกว่า บ็อกซ์ออฟฟิศ -ที่มาของการจัดอันดับบ็อกซ์ออฟฟิศ) ซึ่งหนังเหล่านี้ต้องการโรงภาพยนตร์ที่มีเทคโนโลยีการฉายที่มีคุณภาพ ไม่เหมาะกับการดูแบบกลางแปลงเท่าไรนัก

โรงหนังไดร์ฟ-อิน
โรงหนังไดร์ฟ-อิน ยุคใหม่ที่เป็นที่นิยมในงานอีเวนต์ต่างๆ

Covid-19 และกระแส โรงหนังไดร์ฟ-อิน ที่กำลังกลับมา

ปัจจุบันทั้งหนังกลางแปลง และโรงหนังไดร์ฟ-อิน ล้วนกลายเป็นของหายาก จะได้ดูก็ต่อเมื่อเป็นกิจกรรมทางวัฒนธรรม รำลึกประวัติศาสตร์ ปัจจุบันในอเมริกาเองมีโรงหนังไดร์ฟ-อิน เปิดบริการอยู่เพียง 300 กว่าแห่ง  ลดจากยุครุ่งเรืองเมื่อ 60 ปีก่อนที่เคยมีทั่วอเมริกาถึง 4,000 แห่ง โดยตัวเลขล่าสุดที่ระบุใน www.driveinmovie.com บอกว่า ในปี 2020 มีโรงหนังไดร์ฟ-อิน ทั่วสหรัฐอเมริกาที่ยังคงเปิดบริการอยู่เพียง  315 แห่ง  ในแคนาดา มี 37 แห่ง ในอังกฤษราว 20 แห่ง ในออสเตรเลียมีเพียง 15 แห่ง ส่วนที่เกาหลีใต้นั้นซีรีส์โรแมนติกต่างๆ สร้างกระแสโรงหนังไดร์ฟ-อินให้กลับมาอยู่ในกระแสได้เป็นพักๆ เท่านั้น

ปัจจุบันการปรับตัวสู่สังคมที่ต้องเว้นระยะห่างกันทางกายภาพเพราะการระบาดของ Covid-19 ทำให้สถานที่ชุมนุม การรวมผู้คนจำนวนมากจำต้องถูกระยับ และตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาโรงภาพยนตร์ก็จำเป็นต้องปิดการให้บริการลงชั่วคราว และแม้ในตอนนี้โรงภาพยนตร์ในหลายประเทศรวมทั้งไทยจะกลับมาเปิดให้บริการอีกครั้ง แต่ก็มีการจำกัดจำนวนผู้เข้าชม ซึ่งกระทบโดยตรงต่อรายได้ต่อรอบฉาย

ภาพยุครุ่งเรืองของ Ocala drive-in ที่รัฐฟลอริดา

ทางออกหนึ่งของกิจการฉายภาพยนตร์ในหลายประเทศคือการกลับมาของโรงหนังไดร์ฟ-อิน และนั่นก็รวมถึง โรงหนัง-ไดร์ฟอินรุ่นบุกเบิกอย่างโรง Ocala drive-in ที่รัฐฟลอริดา ซึ่งเปิดกิจการตั้งแต่ปี ค,ศ. 1948 และกลับมาปรับปรุงสถานที่ให้ทันสมัยเปิดให้บริการอีกครั้งเมื่อปี 2011  โดยโปรแกรมที่เข้าฉายในเดือนมีนาคมที่ผ่านมามี Trolls World Tour  ภาพยนตร์แอนิเมชันที่กำหนดฉายในโรงปกติปี 2020 แต่ต้องงดไปด้วยพิษโควิด-19 ,  Back to the Future ภาพยนตร์สร้างเมื่อยุค 80 ที่เล่าเรื่องวัฒนธรรมหนุ่มสาวอเมริกันกับโรงหนังไดร์ฟ-อินยุค 50  และเรื่อง  Horror Nights แนวสยองขวัญ ที่เป็นแนวหนังยอดฮิตในยุคไดร์ฟ-อินรุ่งเรืองเมื่อ 60 ปีก่อน และล่าสุดในล่าสุดไดร์ฟ-อิน ได้ถูกนำมาใช้กับการจัดงานเทศกาลดนตรี เต้นกันอย่างห่างๆ บนรถใครรถมันไปเป็นที่เรียบร้อย

สำหรับไทยนั้นเราคุ้นกันแต่หนังกลางแปลงที่ตอนนี้ก็หาชมได้แบบเฉพาะกิจเท่านั้น ส่วนโรงหนังไดร์ฟ-อินแบบดิจิทัลนั้นกำลังจะเกิดขึ้นเมื่อ โรงภาพยนตร์ในเครือ เอส เอฟ ร่วมกับ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือ CAT จัด CAT Drive-in Cinema โรงหนังไดร์ฟ-อินระบบดิจิทัลครั้งแรกในไทย ประเดิมหนังเรื่อง “Trolls World Tour” ในวันที่ 2-5 กรกฎาคม 2563 นี้ ที่ คริสตัล ดีไซน์ เซ็นเตอร์ เลียบทางด่วนเอกมัย-รามอินทรา (CDC)

และเพื่อความสมจริงไม่ต่างจากการชมภาพยนตร์จึงได้มีการใช้เครื่องฉาย Laser Projector 4K ที่ให้ภาพคมชัด มาตรฐานเดียวกับโรงภาพยนตร์ พร้อมทั้งการรับฟังเสียงภาพยนตร์ผ่านเครื่องเสียงวิทยุในรถยนต์ ไม่ต้องกังวลว่ารถทุกคนจะจอดติดเครื่องจนเป็นต้นเหตุของมลภาวะ งานนี้เอสเอฟจัดเต็มด้วยการให้บริการระบบปรับอากาศแก่รถยนต์ทุกคันที่มาใช้บริการ โดยไม่จำเป็นต้องติดเครื่องยนต์ขณะชมภาพยนตร์ พร้อมายป๊อปคอร์นในตำนาน อาหาร และเครื่องดื่ม จัดเต็มจาก เอส เอฟ รายละเอียดเพิ่มเติมคลิก www.sfcinemacity.com

อ้างอิง


Author

ทศพร กลิ่นหอม
นักเขียนสายบันเทิง สังคม ท่องเที่ยว และไลฟ์สไตล์ เคยประจำการอยู่ที่ เมเนจเจอร์ออนไลน์ นสพ.กรุงเทพธุรกิจ และรายการ ET Thailand ปัจจุบันรับจ้างทั่วไป