ประวัติศาสตร์ เทศกาลดิวาลี เทศกาลแห่งแสงไฟของชาวอินเดีย
- ดิวาลี, ดีปาวลี, ทิวาลี หรือ ทีปาวลี มาจากภาษาสันสกฤตคำว่า “ทีปวาลี” (Deepavali หรือ Dipavali) แปลว่า “แถวของตะเกียง”
- ประวัติความเป็นมาของเทศกาลนี้จึงแตกต่างกันไปตามแต่ละตำนานความเชื่อ แต่ที่ได้รับความนิยมมากที่สุดคือการรำลึกถึง ศึกใหญ่ที่พระรามทรงมีชัยเหนือทศกัณฐ์
เทศกาลดิวาลี ถือได้ว่าเป็นเทศกาลสำคัญของคนอินเดียไม่ว่าจะนับถือศาสนาฮินดู ศาสนาซิกข์ หรือศาสนาเชน โดยคำว่า ดิวาลี , ดีปาวลี, ทิวาลี หรือ ทีปาวลี มาจากภาษาสันสกฤตคำว่า “ทีปวาลี” (Deepavali หรือ Dipavali) แปลว่า “แถวของตะเกียง” เทศกาลดิวาลีจึงมีความหมายว่า “เทศกาลแห่งแสงไฟ” เป็นการเฉลิมฉลองเทศกาลด้วยแสงไฟและตะเกียงและเป็นวันที่นิยมบูชาพระแม่ลักษมี พระคเณศ และ ท้าวกุเวร
ด้วยความที่เทศกาลนี้เกี่ยวข้องกับหลายศาสนาความเชื่อ ประวัติความเป็นมาของเทศกาลนี้จึงแตกต่างกันไปตามแต่ละตำนานความเชื่อ แต่ที่ได้รับความนิยมมากที่สุดคือการรำลึกถึง ศึกใหญ่ที่พระรามทรงมีชัยเหนือทศกัณฐ์ และการเฉลิมฉลองด้วยแสงไฟนี้ก็ยังปรากฏในมหากาพย์รามายณะในพิธีฉลองชัยชนะและต้อนรับการกลับมาของพระราม นางสีดา และพระลักษมณะหลังชนะศึก โดยชาวเมืองอโยธยาได้จัดงานเฉลิมฉลองด้วยไฟครั้งใหญ่ ชัยชนะแห่งพระรามนี้เปรียบเสมือนแสงสว่างที่ชนะความมืด หรือก็คือธรรมะชนะอธรรมนั่นเอง
ที่อินเดียเทศกาลดิวาลีดั้งเดิมจะเฉลิมฉลองใหญ่กันถึง 5 วัน ในเดือนกรรติกา (ประมาณเดือนตุลาคมหรือพฤศจิกายน) โดยในวันแรกซึ่งเรียก วันธนเตรส (Dhan Taras) ตรงกับวันแรม 13 ค่ำ จะเป็นวันจัดเตรียมทำความสะอาด ซ่อมแซมบ้านเรือน วันนี้จะมีการบูชาเทพธันวันตริ เทพเจ้าแห่งอายุรเวทและแพทย์ศาสตร์ หนึ่งในอวตารของพระวิษณุ ในอินเดียยังมีการประกาศให้วันนี้เป็น วันอายุรเวทแห่งชาติ อีกด้วย
อีกวันสำคัญคือวันที่ 3 ตรงกับวันทีปวาลี (Dipawali) หรือ วันลักษมีบูชา (Lakshmi Puja) และ วันกาลีบูชา (Kali Puja) จะตรงกับวันแรม 15 ค่ำ เป็นวันเฉลิมฉลองใหญ่ ผู้คนจะสวมเสื้อผ้าชุดใหม่ มีการละเล่นกันอย่างสนุกสนาน มีการมอบของขวัญและยังเป็นวันแห่งการเยี่ยมเยียนญาติพี่น้อง มีการจุดตะเกียงและให้สว่างทั่วทั้งบริเวณบ้าน บ้างก็จุดพลุขับไล่สิ่งชั่วร้าย หากใครที่บูชาพระแม่ลักษมีก็นิยมตกแต่งบ้านด้วยรังโกลี (Rangoli) สัญลักษณ์ของการต้อนรับขับสู้ผู้มาเยือน เพื่อต้อนรับพระลักษมี เทวีแห่งความมั่งคั่ง ส่วนผู้ที่บูชาพระแม่กาลีจะบูชาในช่วงกลางคืนโดยการนั่งภาวนาตั้งแต่ยามค่ำจนรุ่งสาง
ปัจจุบันเทศกาลดิวาลีมีการย่นระยะเวลาและการกระทำพิธีบูชาดิวาลีนั้นจะทำ การบูชาเทพและเทวีหลายองค์ด้วยกัน แต่ที่นิยมคือ พระแม่ลักษมี เทวีผู้ประทานโชคลาภ ทรัพย์สมบัติ และความอุดมสมบูรณ์, พระคเณศ เทพแห่งความสำเร็จและผู้ขจัดอุปสรรค และท้าวกุเวร เทพแห่งความร่ำรวย
อ้างอิง : บทความ เทศกาลดิวาลี โดย พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พิมาย นครราชสีมา