สยามพารากอน ชวนเปิดประสบการณ์ดิจิทัลอาร์ตกับศิลปินระดับโลก “มิเกล เชอวาลิเยร์” ที่ SCBX NEXT TECH
Lite

สยามพารากอน ชวนเปิดประสบการณ์ดิจิทัลอาร์ตกับศิลปินระดับโลก “มิเกล เชอวาลิเยร์” ที่ SCBX NEXT TECH

Focus
  • มิเกล เชอวาลิเยร์ (Miguel Chevalier) เป็นศิลปินระดับโลกผู้บุกเบิกและคลุกคลีกับงานดิจิทัลอาร์ตมากว่า 40 ปี ผลงานของเขาได้จัดแสดงทั่วโลกรวมทั้ง SCBX NEXT TECH เทคคอมมูนิตี้ ชั้น 4 สยามพารากอน
  • มิเกล เชอวาลิเยร์ ได้มาแชร์ประสบการณ์โลกดิจิทัลตั้งแต่ยุค 80 ผ่ารชนกิจกรรม “Digital Art Talk With Miguel Chevalier” ในวันที่ 20 กันยายน 2566

เมื่อความคิดสร้างสรรค์ไม่ได้จำกัดอยู่บนกระดาษหรือเฟรมวาดภาพอีกต่อไป ดิจิทัลอาร์ต จึงเป็นคำตอบที่จะมาปลดล็อกความคิดสร้างสรรค์เหล่านั้นให้สามารถเฉิดฉายได้บนทุกพื้นที่และทุกพื้นผิว เช่นเดียวกับพื้นที่ ชั้น 4 สยามพารากอน ที่ได้ปรับโฉมเป็นเทคคอมมูนิตี้แห่งโลกอนาคต SCBX NEXT TECH และตอนนี้ SCBX NEXT TECH ก็กำลังถูกแต่งแต้มด้วยโลกดิจิทัลอาร์ตจากศิลปินดิจิทัลระดับโลก มิเกล เชอวาลิเยร์ (Miguel Chevalier) ซึ่งนอกจากจะมาแชร์ประสบการณ์ในโลกดิจิทัลอาร์ตตั้งแต่ยุคบุกเบิกถึงปัจจุบัน และประสบการณ์ทำงานในโลกดิจิทัลกว่า 40 ปีในงาน “Digital Art Talk With Miguel Chevalier” เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2566 แล้ว มิเกลยังนำชิ้นงานไฮไลต์มาจัดแสดงให้ได้ชมยาวไปถึงสิ้นปี แต่ก่อนที่จะกระโดดเข้าสู่ประสบการณ์ดิจิทัลอาร์ตระดับโลก Sarakadee Lite ชวนไปรู้จัก มิเกล เชอวาลิเยร์ ศิลปินดิจิทัลอาร์ตที่มีผลงานระดับโลกและยืนหนึ่งในวงการดิจิทัลอาร์ตมายาวนานกว่า 40 ปี

SCBX NEXT TECH

ศิลปิน Digital Art ผู้มาก่อนกาล

“สมัยยุค 80 การใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์มาสร้างงานศิลปะอาจฟังดูเพ้อเจ้อ  แต่ตอนนี้คอมพิวเตอร์กลายมาเป็นเครื่องมือสร้างงานศิลปะของศิลปินได้

มิเกล เชอวาลิเยร์ กล่าวถึงจุดเริ่มต้นของเขาในการทำงานดิจิทัลอาร์ตที่ย้อนไปในยุค 80 เมื่อครั้งที่ภาพเคลื่อนไหวจากวิดีโอเกมถือเป็นความล้ำสมัยในการสร้างสรรค์ แต่การจะขยายโลกดิจิทัลมาสู่งานศิลปะกลับเป็นอะไรที่ดูเพ้อฝันและเป็นไปไม่ได้ แต่คำว่า “เป็นไปไม่ได้” ไม่ได้อยู่ในนิยามงานศิลปะสำหรับมิเกล

SCBX NEXT TECH

“ต้นยุคปี 80 ผมกับเพื่อนๆ สนใจงานศิลปะที่เป็นแนว Avant-garde ของตะวันตกซึ่งถือว่าค่อนข้างใหม่ ยุคนั้นดิจิทัลอาร์ตเริ่มเข้ามาแล้วแต่ยังถือว่าเป็นสาขาที่ใหม่มาก อีกทั้งคอมพิวเตอร์ยังเป็นของหายาก ไม่มีการเรียนการสอนเรื่องความรู้ในการใช้คอมพิวเตอร์มาก่อน คอมพิวเตอร์มีราคาแพงและมีไว้สำหรับการทดลองทางวิทยาศาสตร์เท่านั้น

ใครๆ ก็เห็นว่าการนำคอมพิวเตอร์มาใช้เป็นเครื่องมือในการสร้างสรรค์ศิลปะมันเต็มไปด้วยความเป็นไปไม่ได้ แต่สำหรับผมมันเป็นเหมือนการทดสอบแบบหนึ่งของความเป็นศิลปินว่าจะสามารถสร้างความเป็นไปได้ใหม่ๆ ได้หรือไม่ ผมเจอคอมพิวเตอร์ครั้งแรกเมื่อผมเรียนอยู่ในโรงเรียนด้านศิลปกรรมแห่งชาติของฝรั่งเศส ตอนนั้นคอมพิวเตอร์เป็นสิ่งใหม่มาก ผมค่อยๆ เรียนรู้ และพัฒนาความรู้ด้านดิจิทัลมาเรื่อยๆ จนถึงวันนี้ เป็นเวลากว่า 40 ปี”

มิเกลบอกว่า ด้วยความพยายามที่อยากทำงานสร้างภาพแบบดิจิทัลให้เป็นไปได้ ทำให้เขาต้องทำงานข้ามวันข้ามคืน มีการทดลองและพัฒนามาเรื่อยๆ แบบเรียนรู้ด้วยตัวเอง โดยที่มีงานศิลปะของศิลปินยุค 2D ภาพวาดด้วยมือเป็นไอเดีย ส่งต่อสู่โลกดิจิทัลซึ่งมิเกลบอกว่าหน้าที่ของเขาคือ ถ่ายทอด สืบสานความงามของ 2D ในมุมที่ต่างออกไป

ศิลปินรุ่นก่อนมีแปรง มีสี แต่ผมทำดิจิทัลอาร์ต มีซอฟต์แวร์และคอมพิวเตอร์ เป็นเครื่องมือในการสร้างสรรค์งานออกมา

SCBX NEXT TECH

ดิจิทัลอาร์ตที่ไม่ได้แปลว่า “ช่างเทคนิค”

ในยุคเริ่มแรกที่ มิเกล สร้างงานที่ใช้คอมพิวเตอร์เจเนอเรตภาพ และถูกมองจากวงการศิลปะว่าเป็น แค่ “ช่างเทคนิค” ไม่ใช่ “ศิลปิน” แต่เขาก็ไม่หยุดที่จะพัฒนางานอย่างต่อเนื่อง ขยายแรงบันดาลใจจากภาพ 2D มาสู่ศิลปะดิจิทัลที่ได้แรงบันดาลใจจากธรรมชาติ เช่น การเติบโตของต้นไม้ซึ่งกลายเป็นที่มาของคอลเลกชันดิจิทัลอาร์ตต้นไม้ ดอกไม้ ใบไม้ พืชพรรณไม้เสมือนต่างๆ ที่ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาสร้างสรรค์ โดยไฮไลต์ของแรงบันดาลใจจากธรรมชาติ ได้แก่ Fractal Flowers 2023 (Seeds and Garden) ปัจจุบันจัดแสดงที่กรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้ โดยใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์สร้างสรรค์ดอกไม้เสมือนพันธุ์ใหม่ที่ไม่มีบนโลกขึ้นมา อาศัยหลักการการเติบโตตามธรรมชาติทว่าให้ผลิบานในโลกดิจิทัล

ที่ผ่านมา มิเกล ยังได้สร้างปรากฏการณ์และความตื่นตาตื่นใจกับผลงานดิจิทัลอาร์ตระดับโลกมาแล้วมากมาย อาทิ  META-NATURE AI ในปี 2023 ที่ประเทศเกาหลีใต้, A L’INFINI ปี 2023 ประเทศฝรั่งเศส,Digi EXTRA-NATURAL 2023 ณ ประเทศเยอรมนี และ DIGITAL MOIRÉS 2022 ประเทศลักเซมเบิร์ก รวมถึง Magic Carpets ในงาน “Bangkok Illumination by MIGUEL CHEVALIER” เมื่อปี 2018 ณ ไอคอนสยาม

สำหรับมิเกลเขามองว่าเทคโนโลยีดิจิทัลและศิลปะดิจิทัลทำให้คนสามารถมีปฏิสัมพันธ์กับงานศิลปะได้ง่ายขึ้น ไม่ว่าจะเป็น projection mapping การสร้างภาพจากคอมพิวเตอร์ และฉายภาพผ่านวิดีโอโปรเจกเตอร์บนพื้นผนังหรือกำแพงตึกหรือกระทั่งพื้นถนน 

“อีกความท้าทายของดิจิทัลอาร์ต คือการทำให้งานศิลปะขยายออกจากนอกจอไปสู่พื้นที่สาธารณะ และการเก็บรักษางานดิจิทัลอาร์ตสู่อนาคตต่อไป” 

มิเกล เชอวาลิเยร์

สองงานดีไซน์สุดล้ำ ดูกี่ทีก็ไม่มีซ้ำ

แม้ทุกวันนี้เทคโนโลยีดิจิทัลอาร์ตจะพัฒนาไปไกลจากจุดเริ่มต้นในยุคบุกเบิกมาก ทว่า มิเกล ในฐานะศิลปินดิจิทัลอาร์ตยุคบุกเบิก เขากลับไม่เคยหยุดที่จะพัฒนางานและอัพเดทเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่จะนำมาปรับใช้กับประสบการณ์ดิจิทัล โดยหนึ่งสิ่งที่ยังคงท้าทายสำหรับการทำงานในทุกครั้งของมิเกล คือ พื้นผิว พื้นที่ในลักษณะต่างๆ ที่น่าตื่นตาตื่นใจ และพื้นผิว พื้นที่นั้นๆ ก็ได้กลายมาเป็นเฟรมภาพที่งานของเขาจัดแสดงอยู่ เช่นเดียวกับพื้นที่ของ SCBX NEXT TECH ที่เป็นการจัดแสดงงานบนกำแพงจอ LED และจอทรงกลมเป็นครั้งแรก

เสน่ห์อย่างหนึ่งในทุกงานของมิเกล คือ คอนเซปต์ที่สัมพันธ์กับสิ่งรอบข้าง สำหรับ 2 ชิ้นงานล่าสุดอย่าง Vortex และ Kinetic Waves ที่จัดแสดงอยู่บริเวณชั้น 4 ของสยามพารากอนมีคีย์หลักสื่อถึงความสว่างไสว  การเปลี่ยนแปลง และความลื่นไหลไม่รู้จบ คล้ายกับเทคโนโลยีและโลกดิจิทัล ที่บางสิ่งแม้มองไม่เห็นแต่ก็มีความเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา

ผลงาน Vortex

ผลงาน Vortex ที่ฉายอยู่บนจอ LED ทรงกลมขนาดใหญ่บนเพดาน มิเกลทำงานร่วมกับ คลอด มิเชลลี (Claude Michelli) นักวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์อยู่หลายปีในการคิดค้นและพัฒนาซอฟแวร์รูปแบบเฉพาะนี้ขึ้น ชิ้นงานนี้ให้ภาพที่มีความเป็นเส้นสายคล้ายกับการส่งผ่านของคลื่นในอากาศ ไม่ว่าจะเป็นไวไฟหรือคลื่นเสียงที่แวดล้อมอยู่รอบตัวเรา เขาเปรียบคอนเซปต์การดีไซน์ชิ้นงานนี้ด้วยการทำสิ่งที่เป็นนามธรรมให้สามารถมองเห็นได้อย่างรูปธรรม แต่ที่พิเศษคือการนำเสนอในรูปแบบ Generative Art ทำให้ไม่ว่ากี่ครั้งที่เราไปเยือน ภาพที่เห็นแทบจะไม่ซ้ำกันเลย

มิเกล เชอวาลิเยร์
ผลงาน Kinetic Waves

และที่สนุกคือหากทุกคนเดินไปยังโถงบันไดทางเชื่อมระหว่างชั้น 4 และชั้น 5 จะเจอกับผลงาน Kinetic Waves ที่อินเตอร์แอคทีฟกับผู้ชมกันตั้งแต่ทางเดิน ชิ้นนี้เขาเลือกใช้ศิลปะภาพลวงตา (Optical Art) โดยการนำรูปทรงเลขาคณิตมาสร้างภาพเสมือนและใส่เอฟเฟกต์ให้รู้สึกถึงความลึกและความนูน ยิ่งเมื่อผสมผสานกับศิลปกรรมแบบเคลื่อนไหวได้ (Kinetic Art) ทำให้เมื่อยิ่งเข้าใกล้ก็ยิ่งรู้สึกตื่นตาตื่นใจ และเราในฐานะผู้ชมก็ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งในการครีเอตให้ผลงานนี้มีรูปแบบที่ไม่ซ้ำผ่านการเคลื่อนไหว ราวกับร่างกายของเราเป็นแปรงสีที่สร้างการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นกับภาพ สำหรับ Kinetic Waves จะมีทั้งหมด 32 ภาพที่หมุนเวียนเปลี่ยนไปทุกๆ 2 นาที โดยทั้งสองงานนี้จะจัดแสดงไปยาวๆ ตลอดทั้งปี

SCBX NEXT TECH เทคคอมมิวนิตี พื้นที่ของคนยุคใหม่

มิเกล เชอวาลิเยร์

หากใครยังสงสัยว่าพื้นที่ SCBX NEXT TECH คืออะไร ที่นี่เป็นเทคคอมมิวนิตีที่เปิดกว้างสำหรับคนรุ่นใหม่ โดยเฉพาะคนที่สนใจเทคโนโลยี ภายในพื้นที่ชั้น 4 ของศูนย์การค้าสยามพารากอนจึงเต็มไปด้วย ฮับทางเทคโนโลยีในด้านต่างๆ ที่ไม่ว่าจะเป็นสายแกดเจ็ต สายเกม สายสุขภาพ การเงินหรือสายศิลปะก็สามารถมาจอยพื้นที่นี้ได้  

มิเกล เชอวาลิเยร์

ล่าสุด SCBX NEXT TECHเขาก็ประเดิมพื้นที่แห่งอนาคตด้วยกิจกรรม Digital Art Talk With Miguel Chevalier ชวน มิเกล เชอวาลิเยร์ มาพูดคุยเกี่ยวกับงาน Digital Arts ตั้งแต่จุดเริ่มต้นเส้นทางในยุค 80’s ที่สิ่งนี้ยังคงแปลกใหม่ จนถึงวันที่เขาพางานไปจัดแสดงมาแล้วทั่วโลก ซึ่งสิ่งสำคัญที่ศิลปินพูดถึงอยู่เสมอคืออิทธิพลที่มีต่อผลงาน นั่นทำให้มิเกลยังคงมองหาแรงบันดาลใจด้วยการออกไปเจอบรรยากาศใหม่ๆ เปิดกว้างและอัพเดตตัวเองไปพร้อมกับเทคโนโลยีอยู่เสมอ ซึ่งกิจกรรมทอล์คและผลงานครั้งนี้ก็เป็นสิ่งที่เขาหวังอยู่ด้วยเหมือนกันว่าจะสามารถสร้างแรงบันดาลใจให้คนรุ่นใหม่ในการต่อยอดศิลปะดิจิทัลให้แตกแขนงต่อไปได้อีก และแน่นอนว่านี่ไม่ใช่งานแรกงานเดียว แต่ SCBX NEXT TECHจะยังคงจับมือกับพาร์ตเนอร์ธุรกิจในด้านต่างๆ มาครีเอตกิจกรรมให้พื้นที่นี้เป็นเดสติเนชันสำหรับชาวเทคได้มาพัฒนาตัวเองสู่เวอร์ชัน Smarter , Better และ Richer ไปด้วยกัน

Fact File

สนุกกับงานของ มิเกล เชอวาลิเยร์ (Miguel Chevalier)  ได้ที่ SCBX NEXT TECH ชั้น 4 สยามพารากอน ตั้งแต่วันนี้ถึงสิ้นปี 2566


Author

สุกฤตา โชติรัตน์
มนุษย์ผู้ค้นพบพลังงานพิเศษจากประโยคในหนังสือ อาหารจานโปรดและเพลงที่ฟัง อยากเลี้ยงแมวและตั้งใจว่าจะออกไปมองท้องฟ้าบ่อยๆ
ทศพร กลิ่นหอม
นักเขียนสายบันเทิง สังคม ท่องเที่ยว และไลฟ์สไตล์ เคยประจำการอยู่ที่ เมเนจเจอร์ออนไลน์ นสพ.กรุงเทพธุรกิจ และรายการ ET Thailand ปัจจุบันรับจ้างทั่วไป

Photographer

วรวุฒิ วิชาธร
คลุกคลีอยู่ในวงการนิตยสารมากว่า 15 ปี ทั้งงานแฟชั่น ไลฟ์สไตล์ ศิลปวัฒนธรรม ท่องเที่ยว ปัจจุบันยังคงสนุกกับการสร้างสรรค์ผลงานถ่ายภาพในฐานะ "ช่างภาพอิสระ"