เดินย่านชุมชน แวะชมงานศิลปะกับ 15 ประติมากรรม Chula Arts Park
- Chula Arts Park หรือ สวนศิลป์จุฬา โปรเจคต์จัดแสดงงานประติมากรรมถาวร 15 ชิ้นทั่วพื้นที่ชุมชนสามย่าน-สวนหลวง โดยมองเห็นว่าศิลปะสามารถเป็นกลไกสำคัญในการดึงดูดผู้คน ชุมชนและศิลปะให้เข้าใกล้กันได้ เพื่อต่อยอดไปสู่ย่านสร้างสรรค์และการกระตุ้นเศรษฐกิจในชุมชน
- ผลงานประติมากรรมที่จัดแสดงสร้างสรรค์ขึ้นโดย 15 คณาจารย์ในเครือข่ายสภาคณบดีศิลปะและการออกแบบแห่งประเทศไทย
- ผลงานทั้ง 15 ชิ้น สามารถเข้าชมได้ทั้งช่วงเวลากลางวันและกลางคืน โดยแสงสีที่ประดับในตอนกลางคืนมาจากพลังงานแสงอาทิตย์ที่มาแผงโซลาเซลล์ซึ่งติดตั้งอยู่กับผลงาน
เปิดตัวอย่างเป็นทางการแล้วสำหรับ Chula Arts Park หรือ สวนศิลป์จุฬา โปรเจกต์ที่เริ่มต้นด้วย 2 คำหลักนั่นคือคำว่า ศิลปะ และ ชุมชน การพาสองสิ่งนี้มาเจอกันโดยมีจุดมุ่งหมายคือการพัฒนาพื้นที่ชุมชน สามย่าน-สวนหลวง เพื่อต่อยอดสู่ย่านสร้างสรรค์ กระตุ้นการท่องเที่ยวที่เงียบเหงาลงไปให้มีชีวิตชีวาขึ้นมาอีกครั้งจึงเริ่มต้นด้วยการใช้ศิลปะและการออกแบบเข้ามาเติมเต็มพื้นที่กับการติดตั้ง 15 ผลงานประติมากรรม ซึ่งสร้างสรรค์ขึ้นโดย 15 คณาจารย์ในเครือข่ายสภาคณบดีศิลปะและการออกแบบแห่งประเทศไทย
“จริง ๆ แล้วจุฬาฯ อยู่กับชุมชนมานาน และชุมชนก็อยู่กับจุฬาฯ มานาน วันนี้เราต้องยอมรับว่าเรื่องของโลกทางด้านเทคโนโลยีมีส่วนเข้ามาดิสรัปต์ทั้งด้านการใช้ชีวิตและงานทางด้านการศึกษา ศิลปะก็เช่นเดียวกัน ส่วนหนึ่งที่เรามองคืองานศิลปะที่เข้าใกล้ชุมชน เพื่อเป็นการสร้างคุณค่าให้งานศิลปะและชุมชนด้วย วันนี้เลยเป็นโอกาสที่เราได้นำงานศิลปะโดยเฉพาะงานศิลปะดิจิทัลเข้ามาเริ่มต้นให้ชุมชนตรงนี้ ส่วนหนึ่งเราคิดว่าเป็นกลไกสำคัญในการกระตุ้นเศรษฐกิจ ดึงดูดให้คนมาใช้ชีวิตร่วมกัน และทำให้คนในชุมชนมาใกล้ชิดกันมากขึ้น” ศาสตราจารย์ ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงโครงการ
สำหรับการจัดแสดงผลงานทั้ง 15 ชิ้น จะแบ่งเป็น 3 พื้นที่หลักคือ ชุมชนสามย่านบริเวณศาลเจ้าพ่อเสือ อุทยาน 100 ปี จุฬาฯ และบริเวณสวนหลวงสแควร์ โดยผลงานทั้ง 15 ชิ้นสร้างสรรค์โดยได้รับแรงบันดาลใจมาจากวิถีชีวิตของชุมชนในพื้นที่นั้น ๆ อาทิ สะพานอ่อน โดย อาจารย์ ดร.พิชัย ตุรงคินานนท์ จากภาควิชาทัศนศิลป์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่นำความสนใจใน “แยกสะพานอ่อน” ย่านเก่าที่เคยเป็นจุดเชื่อมต่อของย่านรองเมือง สวนหลวง และสามย่านในอดีต มาสร้างสรรค์ประติกรรมในรูปแบบของสะพานที่เป็นเหมือนจุดเชื่อมต่อของอดีตและปัจจุบัน ซึ่งโดยรอบประดับด้วยแผนที่ชุมชนบริเวณแยกสะพานอ่อนแบบดั้งเดิมในอดีตก่อนจะผ่านการเปลี่ยนแปลงมาสู่ปัจจุบัน
ส่วนผลงาน ภาพสะท้อนของกระรอกน้อย โดย รองศาสตราจารย์ ดร.ทักษิณา พิพิธกุล จากคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ที่ได้นำความสัมพันธ์ของกระรอกและต้นจามจุรีบริเวณจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และสวนอุทยาน 100 ปีมานำเสนอผ่านประติมากรรมรูปกระรอกในท่าทางเซลฟี่ เพื่อสื่อสารภาพแทนของธรรมชาติท่ามกลางพื้นที่เมืองที่มีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี
ทั้ง 15 ผลงานสามารถเดินชมได้ทั้งในช่วงเวลากลางวันและกลางคืน ซึ่งแสงสีที่ประดับขึ้นในช่วงกลางคืนนั้นมาจากพลังงานแสงอาทิตย์จากแผงโซลาร์เซลล์ที่ติดตั้งอยู่กับผลงาน และในอนาคตทางจุฬาฯ กำลังมีแผนติดตั้งเซนเซอร์ PM 2.5 เพื่อวัดค่าฝุ่นในบริเวณที่จัดแสดงต่อไป โดยนอกจากในสถานที่จริงแล้ว ผู้ที่สนใจยังสามารถเข้าชมประติมากรรมทั้ง 15 ชิ้น ในรูปแบบออนไลน์ได้ผ่านChula Arts Park Virtual Guide ในแบบรูปภาพและโมเดล 3 มิติพร้อมที่มาและแนวคิดเบื้องหลังผลงานแต่ละชิ้น ทั้งในเว็บไซต์และแอปพลิเคชันChula Arts Park ได้จากทุกที่ทุกเวลา
Fact File
- ชมทั้ง 15 ประติมากรรมผ่าน Virtual Guide ได้ทาง https://chulaartpark.art/
- รายละเอียดเพิ่มเติม Facebook : Chula Arts Park – สวนศิลป์จุฬา