มอง ความแตกต่างหลากหลายทางเพศ สีผิว เชื้อชาติ ความคิด ที่ถูกซ่อนไว้ใน นิทาน
- นิทานฝั่งอเมริกาเรื่อง Julian is a Mermaid โดย Jessica Love สอดแทรกเรื่องความแตกต่างทางเพศผ่านเรื่องของเด็กผู้ชายคนหนึ่งซึ่งใฝ่ฝันอยากเป็นนางเงือก
- One Gorilla ทิ้งตอนจบไว้แค่ในหน้าสุดท้ายด้วยประโยคสั้นๆ ว่า บรรดาสัตว์ตระกูลลิงทั้งหลายเหล่านี้ล้วนเป็นครอบครัวเดียวกัน และก็เป็นครอบครัวของฉัน และครอบครัวของเธอ
ความเข้าใจใน ความหลากหลายทางเพศ รวมทั้งการยอมรับความแตกต่างไม่ว่าจะเป็นความคิดเห็น สีผิว เชื้อชาติ กำลังเป็นประเด็นร้อนแรงที่คนทั่วโลกในศตวรรษนี้ต่างพูดถึงและออกมารณรงค์ให้สังคมอยู่ร่วมกันบนความต่าง แน่นอนว่าการมองเห็นสิ่งที่ต่างจากตัวเราให้เป็นเรื่องปกตินั้นไม่ใช่เรื่องง่าย มีความซับซ้อน มีความขัดแย้ง และต้องใช้การฝึกฝนอยู่ไม่น้อยกว่าที่เราจะยอมรับความแตกต่างไม่ว่าจะเป็นความต่างทางกายภาพ กรอบแนวคิด หรือแนวความเชื่อที่แตกต่างจากเรา แต่ก็ไม่ใช่ว่าการเห็นความแตกต่างเป็นเรื่องปกติจะสร้างไม่ได้ โดยเฉพาะหากเราได้เริ่มฝึกฝนการเห็นต่างให้เป็นเรื่องปกติตั้งแต่วัยเยาว์
Sarakadee Lite ได้มีโอกาสพูดคุยกับ อุษา ศรีนวล นักจัดการความรู้อาวุโส ฝ่ายกิจกรรมการเรียนรู้ สถาบันอุทยานการเรียนรู้ (TK Park) ผู้คลุกคลีกับ นิทาน สำหรับเด็กมาเป็นสิบปี ซึ่งได้ให้มุมมองไว้อย่างน่าสนใจว่า ความจริงแล้วการยอมรับความแตกต่างหลากหลายสามารถสร้างและสะสมให้ค่อยๆ เกิดขึ้นได้ตั้งแต่วัยเยาว์ และเครื่องมือหนึ่งที่จะบอกเล่าเรื่องความแตกต่างหลากหลายได้อย่างดีเยี่ยมก็คือ นิทาน
“ถ้าพูดถึงความหลากหลายในโลกนี้ นิทาน พูดถึงไว้เยอะมาก ทั้งความหลากหลายทางด้านกายภาพ สิ่งของ หรือแม้แต่ความแตกต่างในเรื่องเพศ ความคิดเห็นที่แตกต่าง แต่นิทานจะไม่พูดตรงๆ ว่าเพศคืออะไร ความแตกต่างคืออะไร ทำไมคนเราต้องแตกต่างกัน แต่คีย์ที่นิทานนำมาสื่อสารคือ สรรพสิ่งในโลกล้วนมีความแตกต่างหลากหลาย ทุกสิ่งมีคุณค่าในตัวของมันเอง เพราะฉะนั้นความแตกต่างหลากหลายใน นิทาน จึงมักถูกพูดถึงพร้อมกับการรู้จักคุณค่าแห่งตน ซึ่งไม่จำเป็นต้องมีบทสรุป ไม่จำเป็นต้องมีคำพูด และที่สำคัญคือเรื่องความแตกต่างหลากหลายสามารถสอนผ่านนิทานได้ตั้งแต่เด็กเล็ก ตั้งแต่เด็กๆ ยังอ่านหนังสือไม่ได้ก็สามารถสอนเรื่องความแตกต่างได้”
อุษา ยกตัวอย่างนิทานของนักเขียนระดับตำนานอย่าง Anthony Browne เรื่อง One Gorilla: A Counting Book ซึ่งหากเปิดอ่านผ่านๆ ก็ไม่ต่างจากนิทานภาพสอนนับเลข 1 ถึง 10 ที่มีภาพสัตว์กลุ่มไพรเมท (Primate) หรือลิงสายพันธุ์ต่างๆ เน้นภาพวาดสีสันสวยงาม สะดุดตาชวนให้เด็กๆ ตั้งใจนับเลขตามว่าในแต่ละหน้ามีลิงกี่ตัว
เริ่มจากกอลิล่าหนึ่งตัว อุรังอุตังแม่ลูกสองตัวที่ไม่เหมือนกัน ลิงชิมแปนซีพี่น้องที่มีสีดำเหมือนกันแต่ก็หน้าตาไม่เหมือนกันเสียทีเดียว หรืออย่างลิงบาบูนที่ดูเผินๆ คล้ายกันทุกตัว ทว่าแต่ละตัวก็จะมีจุดเด่นที่แตกต่างกัน ซึ่งแม้ในนิทานเล่มนี้ไม่บทสนทนา ทว่าด้วยภาพที่สวยงามชัดเจนก็เพียงพอแล้วในการสื่อสารความหมายเรื่องความแตกต่างกับเด็กๆ
“เด็กเขาจะอ่านภาพออก และอ่านได้ดีกว่าผู้ใหญ่ แล้วนิทานที่ดีต้องไม่บอกอะไรมาก เราจะให้ภาพทำหน้าที่สื่อสารให้เต็มที่กับเด็ก ซึ่งเราเชื่อว่าเด็กๆ สามารถรับรู้ได้จากภาพประกอบที่ดีมากๆ เช่นนี้ เรียกว่าให้ภาพคุยกับเด็กเอง อย่าง One Gorilla เรื่องนี้ภาพที่สวยดึงดูดทำให้เด็กอยากเปิดซ้ำๆ ใช้เวลาดูในแต่ละภาพนานๆ แม้แต่เด็กหนึ่งขวบก็สามารถเริ่มศึกษาความแตกต่างหลากหลายที่มีอยู่ในโลกผ่านนิทานภาพเล่มนี้ได้ One Gorilla ทิ้งตอนจบไว้แค่ในหน้าสุดท้ายด้วยประโยคสั้นๆ ว่า บรรดาสัตว์ตระกูลลิงทั้งหลายเหล่านี้ล้วนเป็นครอบครัวเดียวกัน และก็เป็นครอบครัวของฉัน และครอบครัวของเธอด้วยนะ นี่แหละคือคำที่หนังสืออยากจะสื่อว่า แม้ลิงแต่ละสายพันธุ์จะแตกต่างกัน และลิงแตกต่างจากคน แต่สุดท้ายเราก็คือครอบครัวเดียวกันบนโลกใบนี้”
นอกจากหนังสือนิทานในฝั่งยุโรป หรืออเมริกาที่มักสอดแทรกเรื่องความแตกต่างหลากหลายจนเป็นสิ่งที่พบเจอได้บ่อยครั้งแล้ว ทางฟากเอเชียก็เห็นจะมีนิทานของญี่ปุ่นที่มักแทรกทัศนคติเรื่องความแตกต่างไว้ เช่นเรื่อง ก้นที่เราภาคภูมิใจ (おしりじまん) นิทานภาพที่พาเด็กๆ ไปรู้จักสัตว์ประเภทต่างๆ ผ่าน ก้น ซึ่งเป็นอวัยวะที่แทบจะไม่มีใครพูดถึง แถมยังเป็นเรื่องที่เด็กผู้หญิงหลายคนเคยโดนล้อในโรงเรียนด้วยซ้ำ แต่ในนิทานเล่มนี้กลับมีภาพปกเป็นก้นสัตว์ชนิดหนึ่งที่ยังไม่เฉลยว่าเป็นสัตว์ชนิดไหน
จากนั้นเมื่อเปิดหน้าถัดๆ ไปก็จะเจอทั้งก้นเล็ก ก้นใหญ่ และก้นใหญ่มาก รวมทั้งก้นลายขาวดำ ก้นลายจุด ซึ่งอุษามองว่านิทานเล่มนี้เป็นเล่มที่ค่อนข้างต่างจากหนังสือนิทานภาพเพื่อความเข้าใจในความแตกต่างที่เคยมีมาของญี่ปุ่น เพราะเท่าที่เห็นญี่ปุ่นนิยมเล่าผ่านภาพธรรมชาติ อย่างการพาเที่ยวสวนและนำภาพผัก ผลไม้ชนิดเดียวกันที่มีความแตกต่างกันทางภายภาพมาให้เด็กๆ ได้เรียนรู้ แต่ ก้นที่เราภาคภูมิใจ ไม่ได้มีแค่ความแตกต่าง ทว่ายังหยิบจับอวัยวะที่คนเอเชียไม่ค่อยพูดถึงอย่างก้นมาเปลี่ยนเป็นความภาคภูมิใจอีกด้วย
ตัวอย่างนิทานภาพอีกเล่มที่เล่าถึงคุณค่าในความแตกต่างได้อย่างชัดเจนคือ The Little Pea ของนักเขียนนิทานชาวฝรั่งเศส Éric Battut เล่าถึงเมล็ดถั่วเมล็ดหนึ่งที่ต้องการแตกต่างจากเมล็ดถั่วสีเขียวพี่น้องในฝักเดียวกัน เมล็ดถั่วจึงออกเดินทาง ระหว่างนั้นเจอนกยูงก็ชมว่าหางนกยูงสวย จึงเด็ดหางนกยูงมาตกแต่งตัวเอง เมื่อเจอเสือก็อยากแข็งแรงแบบเสือ เลยเพนท์ตัวเองให้มีลาย พอมาเจอช้างก็ชอบงวงช้าง เมล็ดถั่วจึงเอาใบไม้มาตัดเป็นงวง และกลายเป็นถั่วที่ทรงพลัง
เมื่อเมล็ดถั่วรู้สึกพอใจกับตัวเองแล้วจึงกลับบ้าน ปรากฏว่าถั่วที่เหลือเห็นเข้าจึงหัวเราะ แต่ Little Pea กลับชอบที่จะเป็นแบบนี้ แม้จะดูตลก แต่เขาก็คิดว่าสุดท้ายเขาก็เหมือนกับถั่วทั่วๆ ไปที่จะต้องเติบโต แตกยอด ออกผล เขาจึงตัดสินใจฝังตัวเองลงในดิน ผ่านร้อน ผ่านฝน ผ่านหนาวนานนับปี จนวันหนึ่งก็มีถั่วต้นหนึ่งงอกออกมา และเมล็ดถั่วที่เกิดใหม่จากต้นนี้ก็ไม่มีเมล็ดใดเป็นสีเขียวเหมือนกันเลย
“จากเรื่อง The Little Pea นอกจากจะบอกว่ามันเป็นเรื่องธรรมดาที่เราจะแตกต่าง มุมมองที่น่าสนใจคือการสอนให้เด็กรู้จักสร้างเอกลักษณ์ สร้างความโดดเด่นจากความแตกต่าง ซึ่งนี่จะนำมาสู่ทัศนคติการใช้ชีวิตในอนาคต”
สำหรับนิทานของไทยนั้น อุษา กล่าวว่ามีน้อยมากที่จับประเด็นเรื่องความแตกต่างหลากหลาย เท่าที่เห็นคือเรื่อง ไม่อยากเป็นควาย โดย ดร.สายสุรี จุติกุล เล่าถึงความภูมิใจในตัวตน เริ่มเรื่องด้วยความทุกข์ของควายตัวหนึ่งที่อยากเป็นมนุษย์ เพราะคิดว่าถ้ายังเป็นควายอยู่ไฉนเลยจะทำความเจริญแก่ตนได้ เมื่อควายไปเห็นกลุ่มคน เลยคิดว่าจะไปเป็นคนดีกว่า อยู่อย่างคน คิดอย่างคน กินอย่างคน ทำงานอย่างคน จะได้เจริญอย่างคน แต่แล้วเมื่อควายไปเป็นคนจริงๆ กลับทำได้ทุกอย่างเหมือนคนยกเว้นอย่างเดียวคือการหาความสุขให้ตน เพราะตั้งแต่เป็นคน ควายยังไม่เคยยิ้มออกมาได้เลย ซึ่งปมของเรื่องนี้ที่ขมวดไว้ก็ไม่หนีไปจากการมองหาคุณค่าในตัวเอง มองหาคุณค่าในความแตกต่าง
และเมื่อถามถึงประเด็นความหลากหลายทางเพศว่านิทานสามารถพูดประเด็นนี้ได้ไหม อุษากล่าวว่าในฝั่งตะวันตกมีนิทานที่เจาะจงประเด็นความหลากหลายทางเพศให้เห็น แต่ไม่จำเป็นต้องบอกว่าเพศคืออะไร
อุษายกตัวอย่างนิทานฝั่งอเมริกาเรื่อง Julian is a Mermaid โดย Jessica Love เล่าเรื่องของเด็กผู้ชายคนหนึ่งซึ่งใฝ่ฝันอยากเป็นนางเงือก และอยากแต่งตัวเป็นนางเงือกไปร่วมขบวนพาเหรด ในนิทานไม่ได้ระบุว่าเด็กผู้ชายคนนี้อยากจะเป็นนางเงือกอะไร หรือระบุว่าเด็กผู้ชายคนนี้ต้องการจะเปลี่ยนแปลงเพศสภาพของตัวเองอย่างไร แต่นิทานได้ย้ำถึงความสุขของเด็กผู้ชายที่กำลังจินตนาการว่าตัวเองมีผมยาว ได้ประดับประดาตัวเองเป็นนางเงือก มีหาง และได้เข้าร่วมขบวนพาเหรดที่เต็มไปด้วยเหล่านางเงือก แต่กระนั้นเด็กผู้ชายก็มีความกลัวที่จะบอกเรื่องความฝัน ความปรารถนาของเขาแก่คุณยาย ทว่าสุดท้ายคุณยายคนนี้นี่แหละที่พาเด็กชายไปแปลงกายเป็นนางเงือกแสนสวยอย่างที่เขาใฝ่ฝัน
แน่นอนว่า Julian is a Mermaid ได้รับรางวัลหลากหลายสาขา ซึ่งนอกจากความกล้าที่จะคิดต่าง สอดแทรกเรื่องความหลากหลายทางเพศแล้ว เรื่องนี้ยังฉุดให้เด็กหลุดจากความกลัว ไม่ว่าจะกรอบของเพศ หรือกรอบของความฝัน ที่แค่ได้เอาผ้าเช็ดตัวมาพันเป็นหางนางเงือกก็ทำให้เด็กคนหนึ่งมีความสุขได้แล้ว
“เรื่องการยอมรับในความแตกต่างหลากหลายไม่ว่าจะเรื่องเพศ เชื้อชาติ สีผิว หรือแม้แต่ความแตกต่างกันในแง่ความคิด ทัศนคติ เหล่านี้สามารถบอกเล่าได้ผ่านนิทาน และก็สามารถเริ่มได้ตั้งแต่หนึ่งขวบเป็นต้นไป แบบไม่ต้องมีตัวหนังสือก็ได้ เด็กอาจจะไม่รู้ว่าความหลากหลายทางเพศคืออะไร แต่นิทานสามารถทำให้เด็กๆ ค่อยๆ ซึมซับได้ว่าความแตกต่างคือเรื่องธรรมดา ถ้าเขาอ่านซ้ำๆ อยู่กับมันบ่อยๆ แม้เขาไม่เข้าใจ แต่เด็กๆ จะคุ้นเคยกับความแตกต่าง เขาอาจจะไม่เข้าใจถึงว่าเราต้องอยู่ร่วมกับคนที่แตกต่างจากเรา หรือเขาไม่จำเป็นต้องรู้ว่าเรื่องเพศมีความหลากหลาย แต่ให้เขาเข้าใจว่าในโลกนี้มีความแตกต่างหลากหลาย ของที่มันไม่เหมือนกับเราก็มีคุณค่าในตัวเองเช่นกัน นิทานกำลังทำหน้าที่ตรงนี้” อุษากล่าวทิ้งท้าย
ภาพเปิด : Julian is a Mermaid โดย Jessica Love