ปักหมุด 10 ไฮไลต์  Chiang Mai Design Week 2024 กะเทาะงานสร้างสรรค์ท้องถิ่นสู่สากล
Lite

ปักหมุด 10 ไฮไลต์ Chiang Mai Design Week 2024 กะเทาะงานสร้างสรรค์ท้องถิ่นสู่สากล

Focus
  • Chiang Mai Design Week 2024 มาในธีม SCALING LOCAL: Creativity, Technology, And Sustainability – For Reviving Recovery เน้นการกะเทาะแก่นของงานสร้างสรรค์ท้องถิ่นสู่การยะระดับในสากล
  • Chiang Mai Design Week 2024 จัดขึ้นบนพื้นที่หลักใน 2 ย่านสำคัญของตัวเมืองเชียงใหม่ เริ่มตั้งแต่ย่านเมืองเก่าเชียงใหม่ กลางเวียง และ ช้างม่อย – ท่าแพ

เดินทางมาถึงปีที่ 10 กันแล้วสำหรับ เทศกาลงานออกแบบเชียงใหม่ หรือ Chiang Mai Design Week 2024 ทศกาลที่เปิดเมืองเชียงใหม่ให้เป็นเวทีการสร้างสรรค์สำหรับศิลปิน ดีไซเนอร์ รวมไปถึงสล่าช่างฝีมือในท้องถิ่นภาคเหนือ ต่อยอดไอเดียจากท้องถิ่นสู่ระดับสากล โดย Chiang Mai Design Week 2024 มาในธีม SCALING LOCAL: Creativity, Technology, And Sustainability – For Reviving Recovery นำเรื่องงานดีไซน์ไปเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจภูมิภาค ขับเคลื่อนอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ท้องถิ่นในภาคเหนือให้สู่ความเป็นสากล และประกาศศักยภาพว่าภาคเหนือนั้นมีดีที่งานสร้างสรรค์ที่เป็นอัตลักษณ์ไม่เหมือนใคร

Chiang Mai Design Week

Chiang Mai Design Week 2024 จัดขึ้นบนพื้นที่หลักใน 2 ย่านสำคัญของตัวเมืองเชียงใหม่ เริ่มตั้งแต่ย่านเมืองเก่าเชียงใหม่ “กลางเวียง” (อนุสาวรีย์สามกษัตริย์ – ล่ามช้าง)’ และย่าน “ช้างม่อย – ท่าแพ”  ซึ่งเป็นที่ตั้งของศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบเชียงใหม่ พลัสด้วยหางดง และสันกำแพง  อัดแน่นกว่า 150 กิจกรรมด้านการสร้างสรรค์ตลอด 9 วันตั้งแต่วันที่ 7 – 15 ธันวาคม 2567 ส่วนใครที่ยังไม่แน่ใจว่าจะเริ่มเดินชมงานชิ้นไหนก่อน Sarakadee Lite ขอคัดสรรไฮไลต์นิทรรศการและกิจกรรมน่าสนใจใน Chiang Mai Design Week 2024 มาให้ได้ตามรอยกัน ถ้าพร้อมแล้วตีตั๋วขึ้นเชียงใหม่ได้เลย

Chiang Mai Design Week

Floral Wonders

Artist : Suto

Location : อนุสาวรีย์สามกษัตริย์

นิทรรศการที่เล่าถึงการเดินทางของดอกไม้กับการนำไปใช้งานในมิติต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเพื่อความสวยงาม ความเชื่อ การบูชา ดอกไม้กับวัฒนธรรม พิธีกรรม ไปจนถึงดอกไม้ในประกอบอาหาร รวมทั้งดอกไม้ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจท้องถิ่น และแม้ทุกวันนี้เราจะใช้ดอกไม้ในหลายกิจกรรม แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าขยะจากธุรกิจดอกไม้ก็มหาศาลเช่นกัน ดังนั้นคำถามหนึ่งที่ตามมาคือจะทำอย่างไรให้การใช้ดอกไม้สร้างความยั่งยืน  รวมทั้งสร้างความเป็นไปได้ใหม่ๆ ในอุตสาหกรรมดอกไม้ที่เป็นหนึ่งในธุรกิจหลักของทางภาคเหนือ

Chiang Mai Design Week

ready set old แก่ ดี มีสุข

Artist : กมลกานต์ โกศลกาญจน์

Location : สมาคมส่งเสริมวัฒนธรรมสตรีลานนาไทย

ready set old แก่ ดี มีสุข นิทรรศการที่จะชวนมาสำรวจและตั้งคำถามว่า เชียงใหม่สามารถขึ้นเป็นเมืองที่มีไลฟ์สไตล์บลูโซนสำหรับผู้สูงวัยลำดับที่ 7 ของโลกได้หรือไม่ และภูมิปัญญาท้องถิ่นแบบล้านนาดั้งเดิมจะสามารถปรับสู่การสร้างสภาพแวดล้อมของผู้สูงวัยที่แข็งแรงทั้งทางร่างกาย และจิตใจได้หรือไม่ และภูมิปัญญาเหล่านี้จะสามารถเพิ่มโอกาสให้เชียงใหม่เป็นเมืองที่พร้อมสำหรับการชราอย่างมีชีวิตที่ดี และมีความสุขได้จริงหรือ

Chiang Mai Design Week

Scaling Upcycling

Artist : ธีรชัย ศุภเมธีกูลวัฒน์

Location : TCDC เชียงใหม่

โลกของเรานั้นมีขยะเพิ่มขึ้นในทุกๆ วัน และขยะเหล่านี้ก็ส่งกระทบในทางลบกลับมามากขึ้นทุกที และในเมืองท่องเที่ยวเบอร์ต้นๆ ของไทยอย่างเชียงใหม่นั้น ขยะจากธุรกิจบริการไม่ว่าจะเป็นโรงแรม ร้านอาหาร คาเฟ่ ก็ดูจะเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว  นิทรรศการจึงได้ทดลองอัปไซเคิลขยะจากกลุ่มงานบริการในเชียงใหม่ ไม่ว่าจะเป็นใบเสร็จ หลอด แก้วกระดาษ แก้วพลาสติกที่ใช้แล้ว ลองตั้งโจทย์ว่าพวกมันสามารถนำมาเปลี่ยนเป็นอะไรได้บ้างที่จะไม่กลายเป็นขยะที่สูญเปล่าใช้เวลาหลายปีในการย่อยสลาย แต่กลายเป็นขยะที่สร้างมูลค่าเพิ่มได้

Chiang Mai Design Week 2024

คน ผึ้ง ป่า

Artist : Dots Design Studio

Location : TCDC เชียงใหม่

ผึ้ง คือสิ่งมีชีวิตเล็กๆ ที่ช่วยรักษาระบบนิเวศ และเป็นผู้อยู่เบื้องหลังความอุดมสมบูรณ์ของป่าผืนใหญ่ เพราะการกระพือปีกของผึ้งช่วยให้ดอกไม้กระจายและเข้าสู่วงจนของการผสมเกสร ทำให้ดอกไม้ หรือพืชสามารถแพร่พันธุ์ได้ อีกทั้งรังผึ้งยังสมารถทำหน้าที่เป็นกรมอุตุฯ พยากรณ์บอกได้ว่าปีนี้จะแห้งแล้ง หรือฝนชุ่มฉ่ำ

ซึ่งตัวนิทรรศการนี้ไม่ได้เล่าแค่คุณสมบัติของผึ้งในฐานะผู้พิทักษ์ธรรมชาติ แต่ยังแสดงให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่าง คน ผึ้ง และป่า พาไปทำความรู้จักกับผึ้ง และน้ำผึ้งหลากหลายชนิด โดยมีกลุ่มผู้ผลิตน้ำผึ้งจากชุมชนต่างๆ ในภาคเหนือ มาช่วยกันดูแลให้ระบบนิเวศของคน ผึ้ง และป่าเกิดความสมบูรณ์

Chiang Mai Design Week

AMATA THINGS

Artist : พงษ์ภาสกร กุลถิรธรรม

Location : ร้านทิกเกอร์ ซาวน์

ปี 2567 ชาวเชียงใหม่ได้เจอกับวิกฤติน้ำท่วม ทำให้บ้านเรือนมากมายได้รับความเสียหาย เหล่าผู้ประกอบการก็เช่นกัน น้ำที่ท่วมร้านทำให้สินค้าไม่สามารถขายต่อได้ มูลค่าของที่เสียไปมากมาย แต่คุณค่าของสิ่งๆนั้นยังคงอยู่ โปรเจ็กต็นี้ทางทิกเกอร์ ซาวน์ ร้านขายลำโพงเก่าแก่ของย่านช้างม่อย ได้นำของที่พังและเสียหาย ใช้ความคิดสร้างสรรค์มาตีความหมายใหม่ให้กลายเป็นงานศิลปะจัดวางร่วมกับเสียงในลำโพง ที่ประกอบไปด้วยดนตรี เสียงของผู้ประกอบการในย่านนี้ที่ได้รับความเสียหาย และข่าวน้ำท่วม

สล่า-สะลุ้ม

Artist : รวมศิลปิน

Location : หอศิลป์กลางเวียง

พาไปสำรวจประวัติศาสตร์ร่มกระดาษบ่อสร้าง ที่อยู่คู่เมืองเชียงใหม่มานานกว่า 100 ปี โดยร่มบ่อสร้างนอกจากจะเป็นของฝาก ของขวัญแล้ว ก็ยังนิยมใช้ตกแต่งตามสถานที่ต่างๆ บ่งบอกอัตลักษณ์เมืองเชียงใหม่ ซึ่งนิทรรศการนี้ชวนไปเปิดมุมมองของ “ร่มบ่อสร้าง” ที่ไม่ใช่แค่ของฝากในยุคก่อน แต่ยังสามารถปรับให้เป็นงานศิลปะร่วมสมัยได้ และให้นักท่องเที่ยวสามารถรับร่มดีไซน์ร่วมสมัยจาก 20 ศิลปินนพไปถ่ายรูประหว่างเดินเที่ยวภายในสถานที่สำคัญ ได้แก่ วัดพระสิงห์ อนุสาวรีย์สามกษัตริย์ และเจดีย์หลวง หรือหากใครอยากเดินชมลวดลายที่สวยงามของร่มก็สามารถไปได้ที่หอศิลป์กลางเวียง

Start from the Rice

Artist : รวมศิลปิน

Location : ร้านต็อกกิ อิซากายะ

นิทรรศการเล่าเรื่องข้าวจากหลากหลายศิลปินทั้งไทย ไต้หวัน ญี่ปุ่น ได้แก่ จิรวงศ์ วงษ์ตระหง่าน, ณัฐพล วรรณาภรณ์, Iwashita Pottery และ Chai Hsun-Ning กับโจทย์ที่ว่าเมื่อข้าวคืออาหารหลักและวัฒนธรรมร่วมของชาวเอเชีย การเรียนรู้วัฒนธรรมข้าวจึงเกิดขึ้น โดยทาง สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) หรือ CEA ได้ร่วมกับ Japan Foundation และ Taiwan Designers’ Web เชิญศิลปินเซรามิกจากญี่ปุ่นและไต้หวันมาใช้ชีวิต เรียนรู้เรื่องข้าว และพัฒนาผลงานร่วมกันในสตูดิโอท้องถิ่น 2 แห่งในเชียงใหม่ เป็นระยะถึง 1 เดือนเต็ม ผลลัพธ์ที่ออกมาจึงเป็นการสร้างงานเซรามิกที่ออกแบบเป็นภาชนะที่มีรูปทรงที่ต่างกันซึ่งเกี่ยวพันกับข้าว ไม่ว่าจะเป็น เซรามิกรูปใบตองแทนใบตองที่ใช้ห่อข้าว เซรามิกรูปทรงเมล็ดข้าว เป็นต้น และภาชนะเหล่านั้นก็ซ่อนเรื่องราววัฒนธรรมข้าวลงไป

ป่า เล่า เรื่อง

Artist :  อมรเทพ คัชชานนท์ /ภาตพงศ์ ลิขิตเกศตานนท์

Location : ตึกมัทนา

ไม่ว่าจะเป็นเศษไม้เก่า หรือซากไม้จากป่า ศิลปิน อมรเทพ คัชชานนท์ และภาตพงศ์ ลิขิตเกศตานนท์ ต่างก็เชื่อตรงกันว่า…ไม้ทุกชิ้นล้วนมีเรื่องราว พวกเขาจึงได้นำไม้มาสร้างสรรค์งานศิลปะที่เล่าเรื่องของป่า การสำรวจผืนป่า และการเปิดเผยความลึกซึ้งของธรรมชาติที่ซ่อนอยู่ในวัสดุที่เรียกว่า “ไม้”

ทอยหลวง

Artist : รวมศิลปิน

Location : ศูนย์สร้างสรรค์เพื่อการพัฒนาเมือง

สายจุ่มต้องไม่พลาดกับ ทอยหลวง ตอน Lanna Verseการรวมตัวกันของศิลปินในภาคเหนือเพื่อจัดแสดง และจำหน่าย อาร์ตทอยที่ใส่อัตลักษณ์วัฒนธรรมล้านนาลงไป เช่นการนำเรื่องความเชื่อสัตว์มงคลล้านนามารวมเข้ากับโคมที่เป็นสัญลักษณ์ของภาคเหนือ สร้างสรรค์เป็นคาแรคเตอร์อาร์ตทอยที่มีความป๊อปและก็ชัดเจนในความเอกลักษณ์ล้านนา

Jed – Lin Maze

Artist : วิชญ์ พิมพ์กาญจนพงศ์

Location: วัดเจ็ดลิน

เขาวงกตสร้างจากไม้ไผ่และผ้าที่มาจากการห่มพระธาตุดอยสุเทพเกิดจากความคิดสร้างสรรค์ของเจ้าอาวาสวัดเจ็ดลิน ซึ่งเป็นวัดเก่าแก่ในตัวเมืองเก่าเชียงใหม่ หลายคนอาจไม่รู้ว่าเขาวงกตเป็นประเพณีดั้งเดิมของภาคเหนือและภาคอีสาน ทั้งยังเป็นสิ่งปลูกสร้างที่อิงกับงานตั้งธรรมหลวง หรือ เทศน์มหาชาติ บุญผะเหวด โดยศิลปินได้ออกแบบงานให้ให้ช่างท้องถิ่นรวมทั้งชาวไทใหญ่เป็นผู้สร้างเขาวงกตที่แฝงความหมายของพุทธศาสนานี้

Fact File

  • งาน Chiang Mai Design Week 2024 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 7 – 15 ธันวาคม 2567 ดูรายละเอียดได้ที่ www.chiangmaidesignweek.com

Author

ธนัญชนก รัตนตั้งเจริญกุล
ชอบดูซีรีส์ หลงใหลในเพลงเก่าๆ อยากมีเวลาอ่านหนังสือ และใช้ชีวิตให้มากขึ้น ลองดูว่าชีวิตจะพาเราไปเจอกับอะไร