Changi Chapel and Museum เปลี่ยนเรือนจำชางงีเป็นพิพิธภัณฑ์ ย้ำความเลวร้ายของสงคราม
Lite

Changi Chapel and Museum เปลี่ยนเรือนจำชางงีเป็นพิพิธภัณฑ์ ย้ำความเลวร้ายของสงคราม

Focus
  • พิพิธภัณฑ์และโบสถ์ชางงี (Changi Chapel and Museum) หรือ CCM ในประเทศสิงคโปร์ จัดตั้งขึ้นในบริเวณสถานที่ที่เคยเป็นเรือนจำชางงีเพื่อเป็นอนุสรณ์สถานเตือนใจถึงความเลวร้ายของสงครามในช่วงที่สิงคโปร์ถูกยึดครองโดยจักรวรรดิญี่ปุ่นเป็นเวลากว่า 3 ปีครึ่ง (ค.ศ.1942-1945) ในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2
  • เรือนจำชางงีใช้คุมขังเชลยสงครามฝ่ายสัมพันธมิตรและนักโทษพลเรือนหลายหมื่นคน และพิพิธภัณฑ์จัดแสดงรายการสิ่งของจำนวน 114 รายการซึ่งส่วนใหญ่ได้รับบริจาคและให้ยืมจากครอบครัวของผู้ที่เคยถูกคุมขัง

หลังปิดปรับปรุงครั้งใหญ่เมื่อ พ.ศ.2561 พิพิธภัณฑ์และโบสถ์ชางงี หรือ Changi Chapel and Museum (หรือเรียกย่อๆ ว่า CCM) ในประเทศสิงคโปร์ได้กลับมาเปิดให้บริการอีกครั้งเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ.2564 เพื่อเป็นอนุสรณ์สถานเตือนใจถึงความเลวร้ายของสงครามในช่วงที่สิงคโปร์ถูกยึดครองโดยจักรวรรดิญี่ปุ่นเป็นเวลากว่า 3 ปีครึ่ง (ค.ศ.1942-1945) ในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2

Changi Chapel and Museum
โบสถ์ชางงีจำลองมาจากโบสถ์ที่ผู้ต้องขังสร้างขึ้นในบริเวณเรือนจำ

สถานที่ตั้งของ CCM คือ เรือนจำชางงี สถานที่ที่ใช้คุมขังเชลยสงครามฝ่ายสัมพันธมิตรและนักโทษพลเรือนหลายหมื่นคน อาคาร ห้องจัดแสดงและระบบสาธารณูปโภคของพิพิธภัณฑ์และโบสถ์ได้รับการปรับปรุงและเพิ่มรายการสิ่งของสำหรับจัดแสดง ปัจจุบันมีรายการสิ่งของจำนวน 114 รายการซึ่งส่วนใหญ่ได้รับบริจาคและให้ยืมจากครอบครัวของผู้ที่เคยถูกคุมขังในเรือนจำแห่งนี้และจัดแสดงใน 8 ห้องนิทรรศการเพื่อบอกเล่าชีวิตประจำวันของผู้ต้องขัง ความยากลำบากที่พวกเขาต้องเผชิญกว่าจะได้รับอิสรภาพ

พิพิธภัณฑ์และโบสถ์ชางงี
ไดอารีจำนวน 400 หน้า

พิพิธภัณฑ์โฉมใหม่นำเสนอสิ่งของจำนวน 82 รายการที่ไม่เคยจัดแสดงที่ใดมาก่อน เช่น ไดอารีจำนวน 400 หน้าที่นักโทษชื่อ Arthur Westrop เขียนถึงภรรยาผู้ซึ่งต้องอพยพไปแอฟริกาในช่วงสงคราม และกล้องถ่ายรูป Kodak Baby Brownie ที่นายทหารออสเตรเลีย John Ritchie Johnston แอบซ่อนไว้ใต้พื้นกระดานในห้องขัง

พิพิธภัณฑ์และโบสถ์ชางงี
กล้องถ่ายรูป Kodak Baby Brownie

ส่วนสิ่งของจัดแสดงเดิมที่เป็นไฮไลต์ประกอบด้วย เครื่องส่งรหัสมอร์สที่ซ่อนไว้ในกลักไม้ขีดไฟ ฆ้องที่ใช้ตีเพื่อเรียกรวมพลนักโทษ กำแพง 5 ชิ้นที่จำลองมาจากกำแพงในเรือนจำซึ่งนายทหารอังกฤษ Stanley Warren วาดรูปเกี่ยวกับพระคัมภีร์ไบเบิล ชุดมีดโกนหนวด นาฬิกาที่ใช้ช่วยในการเดินเรือในมหาสมุทร รวมไปถึงการจำลองห้องขังขนาดเล็กที่เรียกว่า Changi Gaol Cell ที่ผู้ถูกคุมขังต้องอยู่กันอย่างเบียดเสียด

เครื่องส่งรหัสมอร์สที่ซ่อนไว้ในกลักไม้ขีดไฟ

ส่วนโบสถ์ชางงีนั้นได้จำลองมาจากโบสถ์ที่เหล่าผู้ต้องขังสร้างขึ้นในบริเวณเรือนจำเพื่อเป็นศูนย์กลางแห่งจิตวิญญาณและความหวัง ในการปรับปรุงครั้งใหม่นี้ได้สร้างหลังคาไม้เพิ่มเติมบริเวณที่นั่งเพื่อเพิ่มความร่มรื่น

“พิพิธภัณฑ์และโบสถ์ชางงี หรือ Changi Chapel and Museum แสดงให้เห็นถึงชะตากรรมที่น่าสะเทือนใจของเชลยสงครามและนักโทษพลเรือนที่ถูกคุมขังซึ่งพวกเขาต้องมีชีวิตอยู่อย่างยากลำบาก เมื่อพิพิธภัณฑ์แห่งชาติสิงคโปร์ได้เข้ามาบริหารและปรับปรุง พิพิธภัณฑ์และโบสถ์ชางงี เรายังคงมุ่งเน้นนำเสนอประวัติศาสตร์บทนี้ด้วยการจัดแสดงใหม่และผสมผสานเทคโนโลยีมัลติมีเดียเพื่อให้คนรุ่นหลังได้ตระหนักถึงความเลวร้ายของสงคราม แต่ในขณะเดียวกันก็เผยให้เห็นถึงจิตใจที่เข้มแข็งและความหวังของเหล่าผู้ถูกคุมขังในช่วงเวลาที่สุดแสนลำเค็ญ” Chung May Khuen ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์แห่งชาติสิงคโปร์ กล่าว

Changi Chapel and Museum
ห้องขังจำลอง Changi Gaol Cell

พิพิธภัณฑ์และโบสถ์ชางงี เล่าเรื่องราวตั้งแต่ช่วงศตวรรษที่ 19 ซึ่งบริเวณพื้นที่แห่งนี้ยังรายล้อมไปด้วยผืนป่าชายเลน จนกระทั่งในช่วงทศวรรษที่ 1920 สถานที่สงบสุขนี้ได้เปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิงเมื่อกองกำลังของเครือจักรภพอังกฤษได้ใช้เป็นพื้นที่จัดตั้งกองทหารและฝึกซ้อมรบ

สิงคโปร์ซึ่งถือเป็นจุดยุทธศาสตร์และฐานที่มั่นหลักของกองทัพอังกฤษในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ถูกกองกำลังจักรวรรดิญี่ปุ่นรุกรานตั้งแต่เดือนธันวาคม ค.ศ. 1941 โดยยกพลขึ้นบกทางทิศเหนือในขณะที่ทางอังกฤษหลงกลเนื่องจากคาดว่าจะมาจากทางทิศใต้ และในวันที่ 8 กุมภาพันธ์ ค.ศ.1942 สิงคโปร์ถูกโจมตีทางอากาศจากเครื่องบินทิ้งระเบิดของญี่ปุ่นเป็นครั้งแรกและการรบกินเวลาราวหนึ่งสัปดาห์ก่อนที่ทางกองทัพอังกฤษต้องยอมจำนนในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ ค.ศ.1942 ส่งผลให้ทหารในบังคับบัญชาของอังกฤษราว 80,000 นายซึ่งรวมถึงทหารจากประเทศออสเตรเลียและประเทศอินเดียตกเป็นเชลยสงครามของญี่ปุ่นในทันที

วินสตัน เชอร์ชิล นายกรัฐมนตรีแห่งสหราชอาณาจักรในขณะนั้นกล่าวถึงความพ่ายแพ้ในเหตุการณ์นี้ว่าเป็น “หายนะที่เลวร้ายที่สุดและเป็นการพ่ายแพ้ครั้งใหญ่สุดของสหราชอาณาจักร”

Changi Chapel and Museum
กำแพงซึ่งจำลองมาจากกำแพงในเรือนจำที่มีภาพวาดเกี่ยวกับพระคัมภีร์ไบเบิล

เกาะสิงคโปร์ซึ่งครั้งหนึ่งเคยได้รับสมญานามว่า “ป้อมปราการที่ไม่อาจตีฝ่าเข้าไปได้” ได้รับการเปลี่ยนชื่อเสียใหม่เป็น โชนันโตะ (Syonan-to)หรือ “แสงแห่งเกาะใต้” ในภาษาญี่ปุ่นและเป็นชัยชนะของญี่ปุ่นภายหลังการโจมตีอ่าวเพิร์ลฮาร์เบอร์ สหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม ค.ศ.1941 ซึ่งเป็นชนวนทำให้สหรัฐอเมริกาประกาศเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่2

พิพิธภัณฑ์และโบสถ์ชางงี
ห้องจัดแสดง

ภายหลังการพ่ายแพ้ เหล่าทหารฝ่ายสัมพันธมิตรและนักโทษพลเรือนราว 48,000 คนถูกส่งไปคุมขังที่เรือนจำชางงี นักโทษบางส่วนถูกส่งตัวไปคุมขังต่อที่แมนจูเรีย ญี่ปุ่น และเกาะฟอร์โมซา (ปัจจุบันคือไต้หวัน) และทหารเชลยศึกอีกจำนวนมากถูกส่งตัวมาที่ประเทศไทยเพื่อเป็นแรงงานก่อสร้างเส้นทางรถไฟสายมรณะซึ่งทางกองทัพญี่ปุ่นใช้เป็นเส้นทางยุทธศาสตร์ผ่านไปยังประเทศเมียนมา

จำนวนผู้ต้องขังที่เข้าออกเรือนจำชางงีคาดว่ามีจำนวนกว่า 90,000 คน ในช่วงเวลา 3 ปีครึ่งจนกระทั่งญี่ปุ่นประกาศยอมแพ้สงครามเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม ค.ศ.1945

อ้างอิง

Fact File


Author

เกษศิรินทร์ ผลธรรมปาลิต
Feature Editor ประจำ Sarakadee Lite อดีต บรรณาธิการข่าวไลฟ์สไตล์ Nation ผู้นิยมคลุกวงในแวดวงศิลปวัฒนธรรมจนได้ขุดเรื่องซีฟๆ มาเล่าสู่กันฟังเสมอ