ยานฉางเอ๋อ 5 กับภารกิจเก็บตัวอย่าง ดินดวงจันทร์ เปิดข้อมูลชุดใหม่ของดวงจันทร์ที่ขาดหาย
Lite

ยานฉางเอ๋อ 5 กับภารกิจเก็บตัวอย่าง ดินดวงจันทร์ เปิดข้อมูลชุดใหม่ของดวงจันทร์ที่ขาดหาย

Focus
  • ชม ดินดวงจันทร์  (Lunar Soil Sample) ที่จัดแสดงครั้งแรกนอกประเทศจีน ในนิทรรศการ Empowering Thailand through FRONTIER RESEARCH presented by TCP Group ระหว่างวันที่ 22-28 กรกฎาคม 2567 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ กรุงเทพฯ
  • ภารกิจยานฉางเอ๋อ 5 ถือเป็นก้าวสำคัญของสาธารณรัฐประชาชนจีนในการสำรวจดวงจันทร์ เพราะการที่ยานฉางเอ๋อ 5 สามารถทำภารกิจเก็บหินและดินกลับมายังโลกได้ก็ทำให้จีนกลายเป็นประเทศที่ 3 ในประวัติศาสตร์

ครั้งแรกในไทยที่จะได้ชม ดินดวงจันทร์  (Lunar Soil Sample) ในนิทรรศการ Empowering Thailand through FRONTIER RESEARCH presented by TCP Group จัดโดย สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของงาน อว.แฟร์ : SCI-POWER FOR FUTURE THAILAND ระหว่างวันที่ 22-28 กรกฎาคม 2567 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ กรุงเทพฯ งานนี้ทีม สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ได้จับมือกับ องค์การบริหารอวกาศแห่งชาติจีน (CNSA) นำดินจากดวงจันทร์ที่เก็บได้จากภารกิจยานฉางเอ๋อ 5 มาจัดแสดงพร้อมนิทรรศการเกี่ยวกับดวงจันทร์ที่ถือว่าเป็นข้อมูลชุดใหม่จากการสำรวจโดยยานฉางเอ๋อ 5

 ดินดวงจันทร์
ดินดวงจันทร์ ที่นำมาจัดแสดงในไทย

ย้อนไปในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ เคยมีประเทศที่ไปเก็บตัวอย่างหินและดินดวงจันทร์กลับมาบนโลกเพียงแค่ 2 ประเทศ คือ สหรัฐอเมริกา และสหภาพโซเวียต ถือเป็นจุดเริ่มต้นการแข่งขันด้านอวกาศที่เกิดขึ้นในช่วงสงครามเย็นเพื่อแสดงศักยภาพทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ส่วนปัจจุบันนั้นเรื่องของอวกาศไม่ได้จำกัดแค่ประเทศมหาอำนาจ ทว่าประเทศต่าง ๆ ก็เริ่มเข้ามามีบทบาทในการสำรวจอวกาศกันมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นอินเดีย ญี่ปุ่น รัสเซีย เกาหลีใต้ และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ที่ต่างก็มีแผนการมุ่งหน้าไปดวงจันทร์ในอนาคตอันใกล้ รวมทั้งประเทศไทยเองก็ให้ความสนใจการสำรวจดวงจันทร์ โดยมีเป้าหมาย คือการสร้าง “ดาวเทียมสำรวจดวงจันทร์” ด้วยเทคโนโลยีฝีมือคนไทย

 ดินดวงจันทร์
ยานฉางเอ๋อ 5
ยานฉางเอ๋อ 5

สำหรับภารกิจ ยานฉางเอ๋อ 5 ถือเป็นก้าวสำคัญของสาธารณรัฐประชาชนจีนในการสำรวจดวงจันทร์ เพราะการที่ยานฉางเอ๋อ 5 สามารถทำภารกิจเก็บหินและดินกลับมายังโลกได้ก็ทำให้จีนกลายเป็นประเทศที่ 3 ในประวัติศาสตร์ที่สามารถไปเก็บตัวอย่าง ดินดวงจันทร์ กลับมายังโลกต่อจากสหรัฐอเมริกา และสหภาพโซเวียต โดยดินและหินที่เก็บนั้นมาจากตำแหน่งลงจอดในส่วน Oceanus Procellarum หรือ “มหาสมุทรแห่งพายุ” เป็นแอ่งลาวาเก่าแก่ขนาดใหญ่บนดวงจันทร์ และมีเนินชื่อว่า Mons Rümker อันเกิดขึ้นจากภูเขาไฟที่ปะทุขึ้นภายหลัง ทำให้หินและดินตัวอย่างที่ได้จากภารกิจนี้เป็นหินและดินที่มาจากยุคของดวงจันทร์ที่ขาดหายไปคือราว 2 พันล้านปี นี่จึงเป็นจิ๊กซอว์สำคัญที่จะช่วยให้ไขความลับช่วงสำคัญของดวงจันทร์ที่ขาดหายไป

 ดินดวงจันทร์
ขั้นตอนการเก็บดินและหินบนดวงจันทร์

ด้านปริมาณดินที่เก็บมาได้ราว 1.731 กิโลกรัม จากการศึกษาดินดวงจันทร์ชุดนี้ได้มีการค้นพบแร่ธาตุชนิดใหม่ซึ่ง นักวิทยาศาสตร์ตั้งชื่อให้ว่า “ฉางเอ๋อไซต์” จัดอยู่ในกลุ่มแร่ฟอสเฟตจำพวก merillite มีลักษณะเป็นคอลัมน์ใสไม่มีสี นอกจากนี้ยังมีการค้นพบหมู่ไฮดรอกซิลที่บ่งชี้ว่าภายใต้พื้นผิวอันแห้งแล้งของดวงจันทร์อาจจะมีน้ำแฝงอยู่ในปริมาณที่สูงถึง 120 ppm ต่อยอดสู่การตั้งสถานีวิจัยของมนุษย์บนดวงจันทร์ในอนาคตต่อไป

ยานฉางเอ๋อ 5
ตัวอย่างหินและดินดวงจันทร์ที่ส่งกลับมายังโลก

ทั้งนี้การเก็บ ดินดวงจันทร์ กลับมายังโลก ไม่ใช่เรื่องง่าย แม้มีเงินมหาศาลก็ไม่อาจทำได้ เพราะแม้ตอนนี้จะมีหลายประเทศที่สามารถส่งยานไปลงยังดวงจันทร์ไม่ว่าจะเป็นอินเดีย หรือ ญี่ปุ่น แต่มีเพียง 3 ประเทศเท่านั้นที่สามารถเก็บตัวอย่างหินและดินจากดวงจันทร์กลับมาได้  เพราะการเก็บตัวอย่างหินและดินบนดวงจันทร์ต้องผ่านขั้นตอนที่ไม่ง่าย เริ่มจากประเทศนั้นๆ ต้องมีความสามารถในการส่งจรวดขนาดใหญ่เข้าสู่วงโคจรซึ่งต้องใช้เชื้อเพลิงและเม็ดเงินมหาศาล นอกจากนี้ต้องมีศักยภาพเพียงพอที่สามารถทำการลงจอดบนดวงจันทร์ (soft landing) และก็ต้องมีเทคโนโลยีหรือเครื่องมือที่สามารถเก็บตัวอย่างหินและดินจากพื้นดวงจันทร์พร้อมส่งกลับขึ้นมาจากพื้นดวงจันทร์เทียบเข้ากับยาน orbiter ที่ลอยวนรออยู่รอบดวงจันทร์ได้

อีกทั้งก่อนส่งตัวอย่งกลับมายังโลกก็ต้องหาวิธีชะลอความเร็วอันมหาศาลที่ตกกลับสู่โลกเพื่อรักษาสภาพดินและหินได้สมบูรณ์ที่สุด ซึ่งภารกิจฉางเอ๋อ 5 ใช้วิธี “สะท้อน” ออกไปจากชั้นบรรยากาศชั้นบนของโลกรอบหนึ่ง ก่อนตกกลับมายังกลางทะเลทรายในประเทศจีน และเก็บตัวอย่างหินและดินดวงจันทร์โดยเฮลิคอปเตอร์มายังห้องทดลองบนโลก

ข้อมูล : สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ 

ภาพ : องค์การบริหารอวกาศแห่งชาติจีน (CNSA)


Author

กองบรรณาธิการ
กองบรรณาธิการ Sarakadee Lite