จากอัลบัม 5 ล้านตลับ เมดอินไทยแลนด์สู่งานดนตรีกลางแจ้งครั้งแรกที่ “ไทยทำ”
- คาราบาวชุดเมดอินไทยแลนด์นับว่าเป็นอีกหน้าประวัติศาสตร์วงการดนตรีไทย เพราะนอกจากจะมียอดขายถล่มทลายถึง 5 ล้านตลับ ยังทำให้เกิดคอนเสิร์ตกลางแจ้งครั้งแรกที่คนไทยจัดเอง ไม่ใช่คอนเสิร์ตที่แสดงตามงานวัด แต่เป็นการขายบัตรที่ผู้ชมมากถึง 6 หมื่นคน
- บลูยีนเก่าๆ รองเท้าผ้าใบยี่ห้อดังของไทย ชุดหม้อห้อม แจ็คเกตเขียวขี้ม้า ผ้าพันคอผ้าทอลายตาราง และหัวกระบือ คือไอเท็มฮิตที่จะขาดไม่ได้ในงานคอนเสิร์ตกลางแจ้งครั้งแรกโดยคนไทย
ก่อนจะมี คอนเสิร์ต หรืองานแสดงดนตรีรับลมหนาวหรือกลางสนามกีฬาใดๆ ในประเทศไทยอย่างที่เราหอบผ้าหอบถังปิกนิกกันไปตามทุ่งหญ้า ป่าเขา รีสอร์ต หรือริมทะเลอย่างที่นิยมกันในตอนนี้ สิ่งที่เรียกว่า “ดนตรีกลางแจ้ง” โดยฝีมือคนไทย ทั้งไทยจัดเองไทยเล่นเอง ได้ถือกำเนิดขึ้น ณ สนามแข่งจักรยานเวโลโดรม หัวหมาก เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2528 ในชื่อ “คอนเสิร์ตทำโดยคนไทย”
คอนเสิร์ตกลางแจ้งที่เล่นไม่จบ แต่กลายเป็นตำนาน
งาน “คอนเสิร์ตทำโดยคนไทย” นับว่าเป็นประวัติศาสตร์สำคัญของการดนตรี ด้วยการเป็นคอนเสิร์ตคนไทยจัดเอง วงไทยขึ้นแสดงเอง…ย้ำตรงนี้ว่าไม่ใช่ คอนเสิร์ต ที่แสดงตามงานวัด แต่เป็นการขายบัตรที่มีผู้ชมมหาศาลถึง 60,000 คน โดยมี ชนินทร์ โปสาภิวัฒน์ และ สมชาย ชีวสุทธานนท์ เป็นหัวเรือใหญ่ฝ่ายสร้างสรรค์ภายใต้ชื่อ “กลุ่มนินจารีเทิร์น”
วงดนตรีที่ได้ขึ้นแสดงเป็นวงแรกของดนตรีกลางแจ้งฝีมือคนไทยในวันนั้นจะเป็นวงใดไม่ได้นอกจาก “คาราบาว” ซึ่งในยุคนั้นถือได้ว่ากำลังโด่งดังสุดขีด โดยเฉพาะอัลบัมชุดที่ 5 เมดอินไทยแลนด์ จุดเริ่มต้นการประกาศตำนานวงดนตรีเพื่อชีวิตที่เข้าถึงใจคนไทย ตำนานอัลบัมยอดขายสูงสุดในไทยถึง 5 ล้านตลับ (ยุคนั้นยังเป็นเทปแคสเซตต์) และเป็นตำนาน คอนเสิร์ต ที่ต้องเลิกกลางคันจนเป็นที่กล่าวถึงของวัยรุ่นไทยยุคนั้น
นักเขียนนามปากกา “สีลม” เคยเล่าความสำเร็จของ คอนเสิร์ต ครั้งนั้นไว้ในนิตยสารสารคดี ฉบับเดือนมีนาคม 2528 ว่า “…ไม่มีใครสามารถคาดการณ์ล่วงหน้าได้ว่าในบ่ายวันเสาร์นั้น (9 กพ. 2528) ถนนทุกสายมุ่งสู่สนามกีฬาหัวหมาก บัตรสองหมื่นแปดพันใบ (28,000 ใบ) ขายหมดตั้งแต่ประตูไม่เปิด คนที่อยู่ในเหตุการณ์วันนั้นมีอยู่เกือบ 60,000 คน พวกเขามาจากทุกหัวระแหงของประเทศ นักศึกษา ปัญญาชน กรรมกร หมอนวด เด็กซิ่ง พวกเขามาชุมนุมกันอยู่ที่นั่นในวันนั้น ด้วยแรงดนตรีของกลุ่มนักดนตรีที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของยุคนี้…”
สำหรับวงคาราบาวที่ขึ้นแสดงสดครั้งนั้นมีทั้งหมดเจ็ดคน นำโดย แอ๊ด-ยืนยง โอภากุล มือกีตาร์ นักแต่งเพลงและนักร้องนำ ร่วมด้วย เล็ก-ปรีชา ชนะภัย กีตาร์และซอ เทียรี่ เมฆวัฒนา กีตาร์ ร้องนำ เขียว-กีรติ พรหมสาขา ณ สกลนคร คีย์บอร์ด เป้า-อำนาจ ลูกจันทร์ มือกลอง อ๊อด-อนุพงษ์ ประถมปัทมะ มือเบส และอาจารย์ธนิสร์ ศรีกลิ่นดี ที่มาเพิ่มเสียงขลุ่ย แซ็กโซโฟน https://medotcom.com
ทุกอย่างเหมือนจะไปได้สวย แต่ คอนเสิร์ต ก็มีอันหยุดกลางคันด้วยเหตุรุนแรงจากความห่ามของผู้ชม อุบัติเหตุอัฒจันทร์ถล่ม ผู้คนบาดเจ็บ ท้ายสุดคอนเสิร์ตทำโดยคนไทยก็ต้องเลิกก่อนเวลา รั้วเหล็กที่ถูกพังทลายยับเยินเพราะทานคลื่นมนุษย์ไม่ไหว ผู้ชมสองฟากฝั่งอัฒจันทร์ต่างโยนและปาสิ่งของเป็นระยะ จนมีผู้ได้รับบาดเจ็บ คนหามร่างหญิงสาวเข้ามาหลังเวที ใบหน้าเธออาบเลือดด้วยบาดแผลที่เกิดจากขวดที่ลอยลงมาจากอัฒจันทร์
แม้จะเล่นไม่จบงานตามกำหนดเดิมเพื่อยุติความรุนแรงในฝูงชนกว่า 6 หมื่น แต่ดนตรีกลางแจ้ง “ทำโดยคนไทย” ครั้งนั้นได้ถูกบันทึกเป็นประวัติศาสตร์ไปเรียบร้อยโรงเรียนคาราบาว ตอกย้ำความโด่งดังของวงดนตรีที่ยืนอยู่บนมาตรฐานดนตรีแบบสากล มีกีตาร์ เบส กลอง ตามแบบแผนเหมือนวงร็อกของต่างประเทศ แต่พื้นฐานดนตรียังคงเป็นแบบไทยๆ ในจังหวะสามช่าและดนตรีลูกทุ่ง เติมด้วยเนื้อเพลงที่พูดถึงชีวิตสามัญชน
จากครั้งนั้นก็ทำให้การทะเลาะวิวาทกลายเป็นเรื่องล้อเลียน เมื่อเอ่ยถึงคอนเสิร์ตคาราบาว ภาพจำจึงออกไปในแนวต้องมีคนตีกัน ต่อมาในวันที่ 19 มีนาคม 2554 ณ เวโลโดรม สนามกีฬาหัวหมาก คาราบาวได้กลับมาจัดคอนเสิร์ตกลางแจ้งอีกครั้งเพื่อสะสางประวัติศาสตร์ที่เคยเกิดขึ้นในชื่อ คอนเสิร์ต เวโลโดรม รีเทิร์นส์ หนนี้ไม่มีวัยรุ่นตีกัน คอนเสิร์ต เปิดด้วยเพลง “เมดอินไทยแลนด์” และปิดด้วยเพลง “บัวลอย” จบงานอย่างเรียบร้อยด้วยเพลง “ตามรอยพ่อ” (ข้อมูล youtube @Carabao Official)
แฟชั่นระดับไอคอนิกส์ที่มาพร้อมแฟนบาว
อิทธิพลจากเสื้อผ้าที่มีเอกลักษณ์ระดับไอคอนิกส์ของสมาชิกวง นำโดย นักร้องนำอย่าง แอ๊ด-คาราบาว
ในภาพนี้ ไม่ว่าจะเป็นหมวกสีเขียวติดโลโกดาวแดงแบบพรรคคอมมิวนิสต์ ผ้าพันคอทอลายตารางแบบท้องถิ่นนิยมแถบอินโดจีน กางเกงยีนและเสื้อยืดสวมทับด้วยเสื้อแจ็กเกตผ้าเดนิมหรือแคนวาสสีเขียวขี้ม้าแขนกุดแบบนักเดินป่า เพราะคาราบาวเกิดมาในยุคหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ เมื่อนักศึกษาประชาชนรวมตัวกันประท้วงล้มล้างเผด็จการ ทวงคืนประชาธิปไตย
ความเป็นไอดอลของวงคาราบาวจึงมาพร้อมเครื่องแบบที่เป็นสัญลักษณ์สื่อสารแนวคิดและสร้างภาพลักษณ์ติดตา แฟนเพลงที่มาปรากฏตัววันนั้น (9 ก.พ. 2528) จึงมาในเสื้อผ้าที่แสดงตัวเป็นชนเผ่าแฟนคาราบาว นอกจากบลูยีนที่ดูเก่าๆ ลุยๆ รองเท้าผ้าใบยี่ห้อดังของคนไทย เสื้อยืดที่ถือเป็นเสื้อของชนชั้นแรงงานและเมืองไทยเป็นแหล่งผลิตเมดอินไทยแลนด์สมชื่อ เสื้อผ้าเหล่านี้มันเป็นเรื่องราวสื่อสารความเป็นขบถ อิทธิพลที่วัยรุ่นไทยรับต่อมาจากยุคสงครามเวียดนาม
ปี 2528 กรุงเทพมหานครมีผู้ว่าราชการจากการเลือกตั้งครั้งล่าสุดคือ พลตรี จำลอง ศรีเมือง ผู้นิยมสวมใส่ชุดหม้อห้อม และทำให้เสื้อผ้าฝ้ายย้อมครามจากต้นหม้อห้อมในธรรมชาติกลายเป็นเทรนด์แห่งยุค สำหรับ คอนเสิร์ต สนันสนุนอัลบัม เมดอินไทยแลนด์ อัลบัมชุดที่ห้าของเขา เกิดกลางกรุงเทพฯ จึงเห็นคนชุดหม้อห้อมให้เห็นเป็นส่วนหนึ่งของแฟชั่นคอนเสิร์ตที่ฮิตยิ่งกว่าฮิต
วัฒนธรรมการชมคอนเสิร์ตไทยสไตล์
วัฒนธรรมการชมคอนเสิร์ตยุคนั้นยังไม่มีป้ายไฟ แต่คนไทยหัวใจคาราบาวต้องชูป้ายแบนเนอร์รูปหัวกระบือ โลโกของวง ตามความหมายของชื่อคาราบาว (Carabao) ซึ่งมาจากภาษาตากะล็อกของชาวฟิลิปปินส์ ดินแดนที่สมาชิกวงหลักอย่างน้าแอ๊ด-ยืนยง โอภากุล น้าเล็ก-ปรีชา ชนะภัย และ น้าเขียว-กีรติ พรหมสาขา ณ สกลนคร ไปศึกษาเล่าเรียน และรวมกันตั้งวงดนตรีนี้ขึ้นมา
โลโกสำคัญอีกอันหนึ่งที่ละลานตาทั่วงานคอนเสิร์ตครั้งนั้น คือ ยี่ห้อน้ำอัดลมเจ้าดังที่เป็นผู้สนับสนุนอย่างเป็นทางการ แปะโลโกโฆษณาในวัสดุต่างๆ สมัยนั้นเป็นปกเทปแคสเซตต์และจะอยู่เหนือเวทีทุกๆ งานที่วงดนตรีในความอุปถัมภ์ไปแสดง รวมถึงคาราบาว
งานนี้ทั้งศิลปินก็ได้ค่าตอบแทน และสินค้าก็ได้โฆษณา เครื่องจักสานไม้ไผ่แบบไทยทำยังติดโลโกแบรนด์นี้ด้วย เรียกได้ว่าวินวินแบบไทยนิยมที่ผสมแบรนด์แห่งยุคและวงดนตรีที่ปังที่สุดอย่างลงตัว
เดี่ยวกลางแจ้ง เบอร์ใหญ่ ยุคนี้ที่ “ราชมังคลากีฬาสถาน”
ยุคหลัง เมดอินไทยแลนด์ เวโลโดรมเล็กไป คอนเสิร์ต เบอร์ใหญ่จริงๆ เล่นกลางแจ้งต้องไป “ราชมังคลากีฬาสถาน” อาคารกีฬาใหม่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย อยู่ในบริเวณสนามกีฬาหัวหมาก ของการกีฬาแห่งประเทศไทยเช่นกัน ราชมังคลาฯ สร้างเสร็จปี 2541 จุผู้ชมแน่นๆ ได้ถึง 8 หมื่นคน รับจัดทั้งกีฬาและคอนเสิร์ต
– วงแรกที่ประเดิม คอนเสิร์ต ที่ราชมังคลาฯ คือ วงคาราบาว ชื่องาน “15 ปี อัลบัมเมดอินไทยแลนด์” ฉลองวาระ 15 ปี อัลบัม เมดอินไทยแลนด์ จัดเมื่อ 25 ธันวาคม 2542
– ต่อด้วย “ร่ำไรคอนเสิร์ต” ของ อัสนี-วสันต์ โชติกุล ร็อกลูกอีสานระดับตำนาน
ในวันที่ 7 พฤศจิกายน 2550
– บอดี้สแลม วงร็อกดังยุคปี 2550 จัดมาแล้วสองครั้งใหญ่มาก ครั้งแรก 27 พฤศจิกายน 2553 คอนเสิร์ตชื่อ บอดี้สแลมไลฟ์อินคราม หลังอัลบัมชุด คราม ปี 2552 พีกสุดๆ ต่อเนื่องจากอัลบัม Save My Life ปี 2550 ที่มีเพลง “ความเชื่อ” ฟีเจอริง แอ๊ด คาราบาว ครั้งล่าสุด 9–10 กุมภาพันธ์ 2562 คอนเสิร์ต เอ็มร้อยห้าสิบ พรีเซนต์ บอดี้สแลม เฟส วิชาตัวเบา ไลฟ์ อิน ราชมังคลากีฬาสถาน กับสถิติผู้ชมรวมสองรอบ 130,000 คน
ในช่วง 10 ปีหลังวงการเพลงเปลี่ยนไปมาก คอนเสิร์ต แบบรวมหมู่มวลศิลปินจัดเป็นเฟสติวัลมาแรงแซงงานคอนเสิร์ตเดี่ยว ซึ่งเป็นวัฒนธรรมการชมคอนเสิร์ตอีกรูปแบบที่น่าสนใจในแบบฉบับไทยสไตล์
ต้นเรื่อง : นิตยสารสารคดี ปีที่ 1 ฉบับที่ 2 เดือนมีนาคม 2528