การขึ้นภาษีขนมปัง และ พลังสตรีสามัญ เบื้องหลังปฏิวัติฝรั่งเศส
Lite

การขึ้นภาษีขนมปัง และ พลังสตรีสามัญ เบื้องหลังปฏิวัติฝรั่งเศส

Focus
  • 14 กรกฎาคม วันชาติฝรั่งเศส และเป็นวันที่เกิดเหตุ ทลายคุกบาสติล (Storming of the Bastille) เมื่อประชาชนฝรั่งเศส ทั้งปัญญาชน พ่อค้า และพลเมือง ลุกฮือกันเดินขบวนประท้วงและตรงเข้าไปบุกทลายคุกบาสติลที่คุมขังนักโทษการเมือง
  • หนึ่งในเหตุสำคัญ เบื้องหลังปฏิวัติฝรั่งเศส คือ นโยบาย การขึ้นราคาขนมปัง และ ขึ้นภาษีเกลือ เพื่อเป็นแนวทางการแก้ปัญหาหนี้สินของราชอาณาจักร โดยที่ชนชั้นปกครองไม่สนใจการซ้ำเติมความทุกข์ยากแก่ประชาชน
  • 5 ตุลาคม ค.ศ.1789 เกิดเหตุการณ์  Women’s March on Versailles เมื่อเหล่าสตรีสามัญชนในปารีสรวมตัวกันเดินขบวนไปถึงพระราชวังแวร์ซายที่อยู่นอกเมือง ประท้วงการขึ้นราคาขนมปัง

ประวัติศาสตร์สอนให้รู้ว่าปากท้องของประชาชนตัวเล็กๆ ก็สามารถสั่นคลอนความมั่นคงของผู้นำและผู้กุมอำนาจของประเทศได้เช่นกัน เช่นเดียวกับประวัติศาสตร์ เบื้องหลังปฏิวัติฝรั่งเศส ที่มี ขนมปัง เป็นมูลเหตุสำคัญแห่งขบวนการเคลื่อนไหวของมวลชนโดยสตรีสามัญที่ดูเหมือนจะไม่มีบทบาทใดๆ ในทางการเมือง ทว่าท้ายที่สุดแล้ว ขนมปังที่อบโดยกลุ่มสตรีแม่บ้านสามัญชนธรรมดานี่แหละที่เป็นอีกแรงเคลื่อนสำคัญในการขับไล่พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 และคณะออกจากพระราชวังแวร์ซาย ซึ่งในขณะนั้นเป็นทั้งพระราชวังและทำเนียบการบริหารราชอาณาจักรฝรั่งเศส

เบื้องหลังปฏิวัติฝรั่งเศส
ประชาชนแย่งกันซื้ออาหาร ขนมปัง ในช่วงปฏิวัติฝรั่งเศส
ภาพ : Universal Images Group, Christophel Fine Arts

ย้อนไปในสมัยพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 มีการออกนโยบาย การขึ้นภาษีขนมปัง และ ขึ้นภาษีเกลือ เพื่อเป็นแนวทางการแก้ปัญหาหนี้สินของราชอาณาจักรฝรั่งเศส โดยที่ชนชั้นปกครองไม่สนใจว่านั่นคือการซ้ำเติมความทุกข์ยากให้แก่ประชาชนผู้ต้องมาแบกรับภาระค่าใช้จ่ายที่จำเป็นในชีวิตอย่าง ขนมปัง ทำให้ชีวิตที่อยู่ในวิถีปากกัดตีนถีบอยู่แล้ว ถูกถีบลงมาให้อยู่ในวิถีอดอยาก ไม่มีแม้แต่เงินจะซื้อขนมปัง อาหารหลักของสามัญชน โดยเฉพาะคนใช้แรงงานในฝรั่งเศส ขนมปังเป็นอาหารอิ่มท้องที่พวกเขาสามารถหาได้ ส่วนเนื้อสัตว์ น้ำมันมะกอก หรืออาหารอื่นๆ จะได้กินเฉพาะวาระโอกาสสำคัญ หรือตามงานฉลอง เพราะราคาแพงเกินกำลังซื้อของพวกเขา

ขนมปังฝรั่งเศสในยุคศตวรรษที่ 18 เป็นขนมปังก้อนกลมกรอบนอก เหนียวนุ่มด้านรวมทั้งแบบ บาแก็ต ที่เรารู้จักในปัจจุบัน โดยยุคปฏิวัติฝรั่งเศสขนมปังสไตล์นี้ถือเป็นอาหารราคาถูกที่มากคุณค่า เพราะแปรรูปจากธัญพืชหลักหลายชนิด มีทั้งข้าวโอ๊ต ข้าวไรย์ และข้าวสาลี ส่วนขนมปังจากแป้งสาลีแผ่นนุ่มสีขาวถือเป็นอาหารราคาแพงที่ต้องผ่านกระบวนการฟอกขาว และทำให้แผ่นขนมปังนิ่ม จัดเป็นอาหารสำหรับคนมีฐานะทางเศรษฐกิจสังคม หรือชนชั้นระดับขุนนางเจ้านายเท่านั้นที่มีโอกาสได้กินกันเป็นประจำ ทั้งนี้ผู้ชายฝรั่งเศสซึ่งเป็นผู้ใช้แรงงานทั่วไปกินขนมปังวันละ 2-4 ปอนด์เป็นอาหารหลัก

การขึ้นภาษีขนมปัง
พระเจ้าหลุยส์ที่ 16

ในศตวรรษที่ 18 พลเมืองในฝรั่งเศสถูกแบ่งเป็น 3 ฐานันดร และมีตัวแทนของแต่ละชนชั้นในสภาฐานันดร แต่ฐานันดรที่ 3 ซึ่งเป็นคนธรรมดาสามัญ พ่อค้า และประชาชนผู้ขายแรงงาน ที่ต้องเสียภาษี 98 เปอร์เซ็นต์ของภาษีที่เข้าท้องพระคลังทั้งหมด ไม่มีสิทธิ์ในการออกเสียงในระดับนโยบายบริหารประเทศ หรือการเปลี่ยนแปลงกฎหมายใดๆ โดยในยุคนั้นภาษีของชาวนา ชาวไร่ สามัญชนเป็นไปในรูปแบบของการปลูกธัญพืชและพืชผลทางการเกษตรไว้จ่ายเป็นภาษีเข้าท้องพระคลัง และเหลืออีกส่วนหนึ่งไว้สำหรับบริโภคในครอบครัวและเป็นเมล็ดพันธุ์เพาะปลูกในฤดูกาลหน้า

แต่ยิ่งมีการขูดรีดภาษี ผลผลิตที่พวกเขาเก็บไว้กินเองก็ยิ่งมีน้อยมากและถ้ายิ่งเข้าสู่ฤดูแล้งที่พืชผลเสียหาย การรีดภาษีก็ยิ่งเป็นการซ้ำเติมความอดอยากเข้าไปอีก ตรงข้ามกับขุนนางและราชวงศ์ที่ไม่ต้องเสียภาษีใดๆ ส่วนประชาชนทั่วไปซึ่งถือเป็นฐานันดรที่ 3 ในสังคมฝรั่งเศสยุคนั้นกลับต้องเสียภาษีมากกว่าครึ่งหนึ่งของรายได้ที่พวกเขาหามา

ในช่วง ค.ศ.1788 หนึ่งปีก่อนการปฏิวัติฝรั่งเศส ภาระค่าขนมปังของสามัญชนชั้นแรงงานโดยเฉพาะในปารีสเริ่มสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ประชาชนมีรายจ่ายในการซื้อขนมปังเป็นอาหารหลักที่ควรจะต้องถูกที่สุด แต่กลับมีราคาดีดสูงถึงครึ่งหนึ่งของค่าแรงรายวัน

หรืออย่างใน ค.ศ. 1788-1789 ตรงกับช่วงที่ผลผลิตธัญพืชซึ่งเป็นแหล่งวัตถุดิบแปรรูปเป็นขนมปังในฝรั่งเศสมีปริมาณลดลงอย่างต่อเนื่องมา 2 ปีซ้อน ส่งผลให้ราคาขนมปังซึ่งบวกด้วยภาษีแล้วพุ่งสูงขึ้นเป็นสัดส่วน 88 เปอร์เซ็นต์ของค่าแรงรายวัน และนั่นจึงเป็นที่มาของความไม่พอใจของราษฎรต่อปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำอย่างหนักและความอดอยากที่เกิดขึ้นทั่วประเทศ ประชาชนจึงออกมาประณามก่นด่าชนชั้นปกครองที่ซ้ำเติมความอดอยากของประชาชนฝรั่งเศสด้วยการขึ้นภาษีเกลือ รวมทั้ง การขึ้นภาษีขนมปัง

แม้ว่ามูลเหตุ เบื้องหลังปฏิวัติฝรั่งเศส นั้นจะสะสมจากหลายสิ่งเสียยิ่งกว่าแค่การขึ้นภาษีเกลือ และ การขึ้นภาษีขนมปัง ไม่ว่าจะเป็นการหารายได้เข้าท้องพระคลังเพื่อนำเงินมาใช้หนี้ของราชอาณาจักรที่มหาศาล อันเป็นผลพวงจากการลงทุนไปช่วยทำสงครามปลดแอกเพื่อเสรีภาพของอเมริกา ซึ่งอยู่ในช่วงสู้รบกับเจ้าอาณานิคมอังกฤษยาวนานถึง 7 ปี (ฝรั่งเศสคือมหามิตรอเมริกาในตอนนั้น) สำทับด้วยกระแสข่าวลือว่า ชนชั้นนำกำลังสมคบคิดวางแผนกักตุนผลิตผลเพื่อปล่อยให้ประชาชนอดอยาก เพื่อหวังลดจำนวนประชากร

ทว่าต้องไม่ลืมว่าเรื่องเกลือและขนมปังนั้นเป็นเรื่องปากท้องของคนทั้งประเทศ แม้จะเป็นแค่เรื่องเล็กๆ ในก้นครัว แต่ก็ได้กลายมาเป็นสารอาหารชั้นดีหนุนเสริมกระแสความชิงชังชนชั้นสูง ชนชั้นปกครอง รวมทั้งสถาบันกษัตริย์ ส่งให้ไฟปฏิวัติโหมกระพือแรงยิ่งขึ้น จนเรื่องราวเดินทางมาถึง 14 กรกฎาคม ค.ศ.1789 วันที่คุกบาสติลแตก

เบื้องหลังปฏิวัติฝรั่งเศส
เหตุการณ์คุกบาสติลแตก

ในวันนั้นขบวนประชาชนประท้วงบุกทลายคุกบาสติลสถานที่คุมขังนักโทษการเมือง ซึ่งรวมไว้ทั้งนักคิด นักเขียน ประชาชนผู้วิพากษ์วิจารณ์ชนชั้นปกครองในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ รวมทั้งผู้เรียกร้องการเปลี่ยนแปลงสู่ระบอบการปกครองแบบสาธารณรัฐ นั่นทำให้ 14 กรกฎาคม ค.ศ.1789 ถือเป็นจุดเริ่มต้นแห่งการปฏิวัติฝรั่งเศส และกลายเป็นวันชาติฝรั่งเศสจวบจนถึงปัจจุบัน

ไม่ใช่แค่ในใจกลางเมืองหลวง การที่ผลผลิตธัญพืชขาดแคลนตั้งแต่ปลายมีนาคม ค.ศ. 1789 เป็นต้นมา ยังส่งผลให้ชาวนาชาวไร่ในชนบทฝรั่งเศสสั่งสมความเคียดแค้นจนมีการลุกฮือขึ้นมาประท้วงในหัวเมืองต่างๆ ต่อเนื่องหลังจากเหตุการณ์วันคุกบาสติลแตก

อีกเหตุการณ์สำคัญ เบื้องหลังปฏิวัติฝรั่งเศส ที่ต้องจารึกคือเหตุการณ์วันที่ 5 ตุลาคม  ค.ศ.1789 ราวสามเดือนหลังคุกบาสติลถูกทลายได้เกิดเหตุการณ์ที่เรียกว่า  Women’s March on Versailles เมื่อเหล่าสตรีสามัญชนในปารีสซึ่งเป็นมวลชนสตรีจากร้านค้า ตลาด และแม่บ้านทั่วไปได้รวมตัวกันเดินขบวนจากปารีสไปยังพระราชวังแวร์ซายที่อยู่นอกเมือง เพื่อประท้วง การขึ้นภาษีขนมปัง เหตุการณ์นี้ถือเป็นหนึ่งในการเดินขบวนที่สำคัญ และถือเป็นครั้งแรกๆ ที่สตรีได้มีส่วนร่วมทางการเมืองและเป็นแรงสำคัญ เบื้องหลังปฏิวัติฝรั่งเศส

มูลเหตุหลักๆ ที่ทำให้เกิดพลังหญิงปารีสบุกแวร์ซาย คือ ความเดือดร้อนจากขนมปังขึ้นราคา โดยในช่วงนั้นมีกระแสข่าวลือที่ว่า ทางราชสำนักได้ตระเตรียมจัดงานเลี้ยงใหญ่โตหรูหราและกักตุนแป้งสาลีไว้มากมาย และวันที่ 1 ตุลาคม ค.ศ. 1789 ก็มีภาพงานเลี้ยงใหญ่โตในราชสำนักแวร์ซายเผยแพร่ออกมา เป็นภาพการเลี้ยงต้อนรับกองพลใหม่ตามธรรมเนียมปฏิบัติประจำปี แต่เมื่องานนี้ถูกจัดขึ้นในยุคขนมปังราคาแพง ประชาชนอดอยาก และกำลังสิ้นศรัทธาต่อชนชั้นปกครอง แต่ข่าวที่ปรากฏในหนังสือพิมพ์กลับสะท้อนภาพชีวิตอันหรูหรา แตกต่างกับภาพประชาชนสองข้างถนนที่กำลังอดอยาก นั่นจึงยิ่งเติมเชื้อเพลิงให้กองไฟปฏิวัติลุกโชน 

การขึ้นภาษีขนมปัง
พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ถูกพิพากษาข้อหาทรยศชาติและประชาชน และถูกประหารด้วยกิโยตินในเวลาต่อมา

เหตุการณ์ Women’s March on Versailles เริ่มขึ้นด้วยมวลชนสตรีจากร้านค้าและตลาดในปารีสรวมตัวกันที่ย่านตลาดได้เกือบหมื่นคน จากนั้นเดินเท้าจากกลางกรุงบุกเข้าไปถึงพระราชวังแวร์ซายสมทบกับเหล่ามวลชนปฏิวัติจากคณะสมัชชาแห่งชาติ โดยข้อเรียกร้อง ณ ตอนนั้นคือให้พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 และพระนางมารีอ็องตัวแน็ตออกจากพระราชวังไปอยู่กลางเมืองปารีส (แวร์ซาย เป็นเขตชานเมือง)

เหตุการณ์ยืดเยื้อไปถึง 6 ตุลาคม ค.ศ. 1789  จากแรงกดดันและการยืนหยัดของมวลชนทำให้ในที่สุดพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ก็ยอมแพ้  ราชาและราชินีฝรั่งเศสถูกคุมตัวออกจากแวร์ซายไปจองจำอยู่ภายในพระราชวังตุยเลอรี (Tuileries Palace) ที่กลางเมืองปารีส จนกระทั่งวาระสุดท้ายที่ถูกพิพากษาข้อหาทรยศชาติและประชาชน และเสียชีวิตบนแท่นประหารกิโยตินในเวลาต่อมา

การปฏิวัติฝรั่งเศสแม้จะเริ่มด้วยขนมปังซึ่งเป็นอาหารของชนชั้นกรรมาชีพ แต่ผลพวงของการปฏิวัติฝรั่งเศสในครั้งนั้นทำให้วงการอาหารของฝรั่งเศสเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง จากเดิมที่อาหารชั้นเลิศ วัตถุดิบราคาแพงมีให้กินแค่บนโต๊ะอาหารของชนชั้นสูง ส่วนผู้มีความชำนาญด้านอาหารเองก็สามารถทำงานปรุงหาอาหารได้แค่เพียงในบ้านขุนนาง ราชวงศ์ ก็กลายเป็นว่าการปฏิวัติฝรั่งเศสทำให้วัฒนธรรมอาหารที่สั่งสมมาเพียงในรั้ววังถูกเผยแพร่ออกสู่สามัญชน

หลังปฏิวัติสามัญชนคนธรรมดามีโอกาสได้ทำงานและฝึกฝีมือการเป็นเชฟอย่างเสรี ไม่ว่าจะเป็นนักอบขนมปัง นักแล่เนื้อ และช่างทำชีส ส่วนบรรดาผู้มีฝีมือละเมียดในการทำอาหารยุคที่ต้องเสิร์ฟเจ้านายชนชั้นสูงก็ได้กลายมาเป็นเจ้าของร้านและเป็นกำลังสำคัญของภัตตาคาร (Fine Dining) แบบฉบับฝรั่งเศส ทั้งยังได้ก่อร่างสร้างฐานวัฒนธรรมอาหารฝรั่งเศส และทำให้วงการภัตตาคารและอาหารระดับห้าดาวของปารีสรุ่งเรืองโดดเด่นในยุคต่อๆ มา พร้อมกันนั้นก็ยังนำวิถีการกินอาหารที่พิถีพิถันแบบไฟน์ไดนิงมาสู่สาธารณชน รวมถึงวัฒนธรรมการเสิร์ฟอาหารมื้อค่ำแบบส่วนตัวหรูหราที่ไม่จำกัดแค่เชื้อพระวงศ์หรือขุนนางเท่านั้น

อ้างอิง


Author

ทศพร กลิ่นหอม
นักเขียนสายบันเทิง สังคม ท่องเที่ยว และไลฟ์สไตล์ เคยประจำการอยู่ที่ เมเนจเจอร์ออนไลน์ นสพ.กรุงเทพธุรกิจ และรายการ ET Thailand ปัจจุบันรับจ้างทั่วไป