บอด หนังสือที่จะพาด่ำดิ่งไปพร้อมสภาวะตาสว่างในโมงยามที่มืดมิด
- เล่มเด่นของ “ฌูเซ่ ซารามากู” (José Saramago) นักเขียนชาวโปรตุเกสเจ้าของรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรมประจำปี ค.ศ.1998 ที่มีเอกลักษณ์ทางการเล่าเรื่องอย่างเรียบง่ายโดยมีเนื้อหาลุ่มลึก
- ฉบับนี้ถูกแปลจากภาษาโปรตุเกสเป็นภาษาไทยโดยตรง ผลงานการแปลของ “กอบชลี” สำนักพิมพ์ ไลบรารี่ เฮ้าส์
- บอด เล่าเรื่องราวพิศวงแฝงนัยทางการเมืองนี้ได้ถูกบอกเล่าอย่างตรงไปตรงมาพร้อมชั้นเชิงของภาษาที่ทำให้เรื่องราวเข้มข้นกลายเป็นความสนุกสนาน น่าติดตามพร้อมประเด็นชวนคิดตลอดทาง
บอด คือ วรรณกรรม สุดจินตนาการที่จะพาไปสำรวจประเด็นสังคม รัฐบาล และศีลธรรมอันค่อนข้างจะซับซ้อนผลงานของ “ฌูเซ่ ซารามากู” (José Saramago) นักเขียนชาวโปรตุเกสเจ้าของรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรมประจำปี ค.ศ.1998 ในครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่ บอด ถูกแปลจากภาษาโปรตุเกสเป็นภาษาไทยโดยตรงผลงานการแปลของ “กอบชลี” สำนักพิมพ์ ไลบรารี่ เฮ้าส์
ความลุ่มลึกที่แอบใกล้ชิดคนอ่าน
ฌูเซ่ ซารามากู มีสไตล์การเขียนเป็นเอกลักษณ์ลุ่มลึก แต่ก็แอบเล่าด้วยน้ำเสียงแบบภาษาพูดทำให้คนอ่านรู้สึกใกล้ชิดกับคนเขียนคล้ายกับกำลังนั่งฟังฌูเซ่ ซารามากูกำลังเล่าประสบการณ์ของเขาให้ฟัง
ใน บอด นั้น ฌูเซ่ ซารามากู ได้แต่งเรื่องพลิกมุมมองด้วยการจินตนาการว่าหากตาบอดเป็นโรคติดต่อกันได้ขึ้นมา รัฐบาลผู้ปกครองจะจัดการกับโรคระบาดนี้อย่างไรในเรื่องผู้ติดเชื้อต้องอยู่ภายในสถานกักกันภายใต้การควบคุมของทหาร และปรับสถานะจากประชาชนเป็นนักโทษที่โดนจำกัดเสรีภาพและสูญสิ้นคุณภาพชีวิตทั้งหมด เรื่องราวพิศวงแฝงนัยทางการเมืองนี้ได้ถูกบอกเล่าอย่างตรงไปตรงมา ชั้นเชิงอยู่ในภาษา โดยข้อสังเกตที่ทำให้ทึ่งในงานเขียนของซารามากูคือ แทบไม่ใช้เครื่องหมายใดๆ เช่นในประโยคสนทนาจะไม่มีการใช้เครื่องหมายคำพูด แต่จะเป็นการเขียนเล่าต่อเนื่องเหมือนนั่งฟังเรื่องเล่าปากต่อปากที่เข้มข้นสนุกสนานน่าติดตามพร้อมประเด็นชวนคิดตลอดทาง
เมื่อตาบอดแต่กลับไม่เห็นความมืด
หากระหว่างที่กำลังเร่งรีบในรถยนต์ที่กำลังติดไฟแดง สายตาที่จ้องมองไฟจราจรหวังว่าจะเปลี่ยนสีโดยเร็ว ในขณะนั้นกลับสว่างวาบขาวโพลนดุจคลื่นน้ำนมล้นทะลักสถานการณ์ชวนพิศวงและเป็นชนวนเหตุแห่งความโกลาหลครั้งใหญ่เริ่มขึ้นในวันธรรมดาวันหนึ่งเหมือนทุกวัน
เหตุการณ์ชวนระทึกนี้เป็นฉากเริ่มเรื่องบอดและเป็นการเกิดขึ้นครั้งแรกของโรคระบาดครั้งใหญ่นี้ในชื่อที่รัฐบาลเรียกว่า “โรคปีศาจขาว”
“โรคปีศาจขาว” เป็นสิ่งที่รัฐบาลเรียกผู้ป่วยโรคติดต่อที่มีอาการตาบอดสีขาวสว่างที่ไม่รู้ต้นสายปลายเหตุทั้งวิธีการรักษา พาหะการติดต่อ จนไม่สามารถควบคุมการติดต่อของโรคนี้ได้ทำให้รัฐบาลต้องหาพื้นที่กักกันเหล่าคนตาบอดสีขาวโดยใช้โรงพยาบาลบ้าที่ร้างมาเป็นสถานกักขังผู้ป่วยปริศนากลุ่มนี้เพื่อการป้องกันไม่ให้เชื้อลามไปติดคนภายนอก ซึ่งความอึดอัดของเรื่องไม่ใช่อาการของโรคปีศาจขาว แต่เป็นการที่คนอ่านได้เห็นการจัดการของรัฐบาล ทหาร ที่ชวนให้อึดอัน อึน และชวนให้สงสัย
“ความกลัว” หรือ “ความบอด”
บอดได้วิพากษ์หลากหลายประเด็นการทำงานของรัฐบาลผ่านสถานการณ์ต่างๆ ที่กำลังตึงเครียด อย่างมุมมองของการใช้ทหารเข้ามาทำหน้าที่กักกันผู้ป่วยซึ่งแน่ละว่าทหารก็ย่อมใช้วิธีของทหารในการจัดการ อย่างในตอนที่ผู้บาดเจ็บคลานเข้าไปจะขอการรักษาพยาบาลสิ่งที่ทหารจัดการคือยิงผู้บาดเจ็บคนนั้นให้ตายไป เรื่องนี้ไม่บอกว่าใครร้ายใครดีแต่เป็นการเปิดให้เห็นความกลัวของแต่ละฝ่ายที่โยงไปถึงการกระทำ ในสภาวะกระอักกระอ่วนนี้ทำให้คนอ่านในฐานะผู้ถ้ำมองได้เริ่มตั้งคำถามกับประเด็นด้านศีลธรรมต่างๆ ที่ดูจะขัดแย้งกับกฎรวมทั้งอำนาจของการมองเห็น บอดจึงเป็นอีกโลกที่ไม่เคยมืดบอด
ตัวตน “ฌูเซ่ ซารามากู”
ฌูเซ่ ซารามากู คือเด็กธรรมดาคนหนึ่งมีรองเท้าใส่คู่แรกตอนอายุ 14 ปีหลังจากนั้นเขาได้เติบโตและผลิตงานเขียนกว่า 40 ผลงานบุคคลที่ซารามากูยกย่องและมีอิทธิพลต่องานเขียนของเขา คือ คุณตา จากการที่ฟังเรื่องเล่าของคุณตาในวัยเด็กทำให้เขาได้สไตล์งานเขียนที่คล้ายเรื่องเล่าจากปาก
อีกเอกลักษณ์ของเขาคือการเล่าเรื่องให้เป็นสากล หยิบจับประเด็นมาร้อยได้ครบทั้งศาสนา การเมือง ประวัติศาสตร์ และสตรี ถ้าสังเกตให้ดี 4 องค์ประกอบนี้มักจะอยู่ในงานของ ฌูเซ่ ซารามากู เสมอ งานเขียนของซารามากูเองก็ส่งต่อแรงบัลดาลใจให้กับผู้สร้างสรรค์งานในยุคหลังมากมายตัวอย่างที่โด่งดังคือผลงานดัดแปลงจากวรรณกรรมเรื่อง “The Double” สู่งานภาพยนตร์ระทึกขวัญแสนซับซ้อน Enemy (2013) โดย Denis Villeneuve ผู้กำกับคนสำคัญของฮอลลีวูด