ตระเวนชิม สำรับสามัญประจำบ้าน 5 ร้านอาหารที่ส่งต่อสูตรลับประจำตระกูล
Lite

ตระเวนชิม สำรับสามัญประจำบ้าน 5 ร้านอาหารที่ส่งต่อสูตรลับประจำตระกูล

Focus
  • ในกรุงเทพฯมีหลายบ้านที่เปิดพื้นที่พักอาศัยบางส่วนเป็นร้านอาหารเพื่อนำเสนอเมนูเด็ดประจำตระกูลซึ่งถ่ายทอดกลเม็ดเคล็ดลับความอร่อยจากรุ่นสู่รุ่น ในขณะที่บางบ้านแบ่งปันเมนูโปรดของคนในครอบครัวผ่านบริการฟู้ดเดลิเวอรี
  • อาหารสามัญประจำบ้านเหล่านี้นอกจากจะบอกเล่าเรื่องราวของแต่ละตระกูลแล้ว ยังสะท้อนประวัติศาสตร์ของพื้นที่ สภาพแวดล้อมและสังคมของกรุงเทพฯในแต่ละยุคสมัยได้เป็นอย่างดี

อาหารของแต่ละบ้านต่างมีสูตรเด็ดเคล็ดลับในการใช้วัตถุดิบ กรรมวิธีการปรุงและรสมือเฉพาะตัวซึ่งถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่นเพื่อส่งต่อความรัก ความห่วงใยและความอบอุ่นของคนในครอบครัวผ่านมื้ออาหาร ในกรุงเทพฯ มีหลายบ้านที่เปิดประตูต้อนรับนักชิมเพื่อแบ่งปันความอร่อยของอาหารสูตรพิเศษประจำตระกูล เช่น บ้านสกุลทองได้เปิดบ้านไม้เก่าแก่ของครอบครัวเพื่อนำเสนอ สำรับสามัญประจำบ้าน ที่บอกเล่าเรื่องราวของย่านกุฎีจีนริมแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งธนบุรีซึ่งเป็นชุมชนพหุวัฒนธรรมและความเป็นมาของตระกูลที่ผสมผสานระหว่างเชื้อสายจีนโปรตุเกสและไทย

สำรับสามัญประจำบ้าน

ส่วนร้าน TANA (ธนา) บริเวณท่าเตียนเป็นอีกหนึ่งร้านที่เปิดชั้นล่างของอาคารที่พักอาศัยเพื่อเสิร์ฟอาหารไทย-จีน จานโปรดของสมาชิกในครอบครัวด้วยการปรุงรสมือแม่และการเลือกใช้วัตถุดิบส่วนใหญ่จากชุมชนท่าเตียนซึ่งสามารถถ่ายทอดเรื่องราวในอดีตอันรุ่งโรจน์ของย่านนี้ในฐานะแหล่งค้าส่งสินค้าที่ใหญ่แห่งหนึ่งของพระนครในสมัยที่การคมนาคมทางน้ำยังเป็นเส้นทางสายหลัก

ร้านเต็กเฮง หมี่กรอบจีนหลี สมัยรัชกาลที่ 5 ในย่านตลาดพลูสืบทอดสูตรหมี่กรอบของต้นตระกูลที่มีชื่อเสียงมายาวนานตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ถึงขนาดที่ว่าพระองค์ท่านรับสั่งให้มหาดเล็กมาซื้อหมี่กรอบที่นี่เพื่อขึ้นโต๊ะเสวยและพระราชทานนามว่า “หมี่กรอบเสวยสวรรค์” โดยที่ตั้งของร้านในปัจจุบันยังคงตั้งอยู่ใกล้กับทำเลเดิมที่ก่อตั้งร้านครั้งแรกเมื่อ 130 กว่าปีที่แล้ว

เมนูคลายร้อนอย่างข้าวแช่ของร้าน ข้าวแช่บ้านพระนาง สืบทอดสูตรจากรุ่นคุณยายสู่รุ่นหลานซึ่งขั้นตอนการทำแต่ละอย่างต้องใช้ความละเมียดและความอดทนอย่างมาก ผู้ที่ชื่นชอบสำรับโบราณนี้ยังไม่ต้องรอเพียงฤดูร้อนถึงจะได้ลิ้มรสเพราะทางร้านเสิร์ฟข้าวแช่ให้ได้รับประทานตลอดทั้งปี

ร้าน Aksorn (อักษร) ของเชฟเดวิด ทอมป์สัน จะพาเราย้อนกลับไปลองลิ้มชิมรสอาหารไทยโบราณตามตำราอาหารไทยที่ตีพิมพ์ในช่วงระหว่างทศวรรษที่ 50-70 และจากความร่วมมือกับผู้เชี่ยวชาญด้านอาหารไทยที่ยอมเปิดเผยสูตรเด็ดเคล็ดลับประจำบ้านให้เป็นกรณีพิเศษ

Sarakadee Lite จึงขอพาไปเปิดบ้านแต่ละหลังเพื่อชิมอาหารสามัญประจำบ้านและสูตรเฉพาะของแต่ละครอบครัวซึ่งอาหารเหล่านี้ไม่เพียงแต่โอบอุ้มคนในบ้านให้อิ่มท้องและอิ่มใจ แต่ยังถ่ายทอดความเป็นมาของตระกูล ประวัติศาสตร์ของพื้นที่ สภาพแวดล้อมและสังคมของกรุงเทพฯในแต่ละยุคสมัยได้เป็นอย่างดี

สำรับสามัญประจำบ้าน

บ้านสกุลทอง

สำรับอาหารที่สะท้อนพหุวัฒนธรรมของชุมชนกุฎีจีน

Story Behind: สกุลทอง เป็น 1 ใน 17 ตระกูลดั้งเดิมในชุมชนกุฎีจีนซึ่งเป็นชุมชนเก่าแก่แห่งหนึ่งของกรุงเทพฯ ที่ตั้งบ้านเรือนอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งธนบุรีโดยมีประวัติศาสตร์ความเป็นมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา และเมื่อครั้งสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีตั้งเมืองธนบุรีเป็นราชธานีแห่งใหม่เมื่อ พ.ศ.2310 โปรดให้ชาวจีนและชาวฝรั่งเชื้อสายโปรตุเกสที่อพยพจากกรุงเก่าอยุธยามาตั้งถิ่นฐานในที่ดินพระราชทานบริเวณทางใต้ของคลองบางกอกใหญ่อันเป็นที่ตั้งของชุมชนกุฎีจีนในปัจจุบัน ย่านเก่าแก่แห่งนี้เป็นชุมชนพหุวัฒนธรรมโดยมีทั้งลูกหลานชาวไทย ชาวไทยเชื้อสายโปรตุเกส ชาวจีน ชาวมุสลิม ชาวลาวและชาวมอญและมีสถานที่สำคัญทางศาสนาภายในชุมชนที่แสดงให้เห็นถึงความหลากหลายในการนับถือศาสนา เช่น โบสถ์ซางตาครู้ส วัดกัลยาณมิตรวรมหาวิหาร มัสยิดบางหลวง และศาลเจ้าเกียนอันเกง

ประวีร์ สกุลทอง ทายาทรุ่นที่ 5 ของตระกูลสกุลทองได้เปิดบ้านไม้เก่าแก่ของครอบครัวเพื่อบอกเล่าเรื่องราวของสำรับอาหารคาวและหวานที่เป็นส่วนผสมของตำรับโปรตุเกส จีนและไทยตามความเป็นมาของตระกูลซึ่งบรรพบุรุษคือคุณเชียดนั้นเป็นชาวจีนแมนจูที่อพยพมาจากจีนแผ่นดินใหญ่ตั้งแต่สมัยปลายกรุงศรีอยุธยา ส่วนคุณชวดได้แต่งงานกับหญิงชาวโปรตุเกสที่อพยพจากกรุงศรีอยุธยามาตั้งถิ่นฐานในย่านกุฎีจีนในสมัยกรุงธนบุรี

ประวีร์แต่งงานกับ ขนิษฐา (นามสกุลเดิมคือ สมิตินันทน์) ซึ่งเรียนรู้การทำอาหารไทยชาววังมาจากคุณย่าและคุณอาผู้สืบทอดตำรับอาหารมาจากคุณชวดตุ้ม (วิจารณ์ธนากร สมิตินันทน์) โดยคุณชวดนั้นเคยเป็นนางห้องต้นเครื่องในวังสวนสุนันทา และเมื่อขนิษฐาได้เข้ามาเป็นสะใภ้ของตระกูลสกุลทองทำให้เธอได้เรียนรู้การทำอาหารแบบโปรตุเกสและจีนจากคุณย่าของประวีร์ด้วย ดังนั้นเมนูประจำบ้านของสกุลทองจึงมีความผสมผสานระหว่างตำรับโปรตุเกส จีน และไทย

สำรับสามัญประจำบ้าน

Home-cooked Signature: บ้านสกุลทองเปิดบ้านทุกวันเพื่อเสิร์ฟอาหารในสไตล์ไพรเวตคอร์สสำหรับมื้อกลางวันและมื้อเย็นในราคาคนละ 800 บาท (ขั้นต่ำ 4 คนและรองรับได้สูงสุด 40 คน) และเนื่องจากอาหารหลายเมนูต้องใช้เวลาเตรียมค่อนข้างนานจึงต้องจองล่วงหน้าอย่างน้อย 3 วัน โดยคอร์สอาหารสำหรับลูกค้าแต่ละคนประกอบด้วยชุดของว่างชาววัง เช่น จีบนกไส้ไก่ ช่อม่วงไส้ปลา หมูสร่ง และกระทงทองไส้สัพแหยก ต่อด้วยชุดอาหารจานหลัก เช่น ขนมจีนแกงไก่คั่ว (ขนมจีนโปรตุเกส) ต้มมะฝาด ต้มเค็มหมู และหมูซัลโม และปิดท้ายด้วยส้มฉุนเป็นขนมหวาน ส่วนน้ำเปล่าและน้ำกระเจี๊ยบมีให้เติมตลอด

เมนูโดดเด่นของที่นี่คืออาหารที่ได้รับอิทธิพลจากโปรตุเกสแต่ได้มีการปรับวัตถุดิบและปรุงรสให้เข้ากับรสนิยมการกินของครอบครัว เช่น ต้มมะฝาด ซึ่งคล้ายกับต้มจับฉ่ายของจีนโดยนำลูกผักชี ยี่หร่า รากผักชี และพริกไทยมาโขลกรวมกันให้ละเอียดและนำไปต้มกับกะหล่ำปลี หัวไชเท้า และก้านคะน้า ส่วนเนื้อสัตว์จะใช้หมูสามชั้น ไก่ หรือกระดูกหมูอ่อนตามแต่ลูกค้าเลือก จากนั้นปรุงรสด้วยน้ำส้มสายชู น้ำตาลและน้ำปลาและค่อยๆเคี่ยวโดยใช้เวลาเป็นวันจนกระทั่งเปื่อย เมนูนี้มีความใกล้เคียงกับสตูผักรวมและเนื้อสัตว์แบบโปรตุเกสที่เรียกว่า Cozido à portuguesa

หมูซัลโม เป็นอีกหนึ่งเมนูเด็ดของบ้านคือใช้สันในหมูและเอามีดปลายแหลมแทงเข้าไปในเนื้อหมูแล้วจึงยัดมันหมูที่หั่นเป็นเส้นเข้าไปข้างใน จากนั้นนำไปคลุกเคล้ากับเครื่องเทศแล้วนำไปทอดและนำน้ำมันที่ทอดมาเคี่ยวให้เป็นน้ำซอสเพื่อไว้ราดก่อนเสิร์ฟกินคู่กับผักต้มคือมันฝรั่ง แคร์รอต และถั่วลันเตา

สำรับสามัญประจำบ้าน

เมนูหมูต้มเค็มใช้เนื้อสันคอหมูคลุกกับพริกไทยและซีอิ๊วดำแล้วนำไปเคี่ยวจนเนื้อนุ่มจากนั้นเติมมันฝรั่งและมะเขือเทศและปรุงรสให้ออกรสเค็มปนหวาน ส่วนเมนู ขนมจีนไก่คั่ว หรือขนมจีนโปรตุเกส ขนิษฐากล่าวว่ามีการสันนิษฐานว่ามาจากสปาเกตตีไวต์ซอส แต่มีการปรับวัตถุดิบใช้ของที่หาได้ประจำถิ่น สมัยก่อนการหาเส้นสปาเกตตีหรือวัตถุดิบในการทำไวต์ซอสลำบาก จากไวต์ซอสจึงปรับให้เข้ากับรสชาติของคนไทยคือใช้เป็นพริกแกงแดงคั่วกับกะทิแทนและใส่ไก่สับ เลือดไก่ และตับไก่ ขนมจีนแทนเส้นสปาเกตตีและเสิร์ฟพร้อมกับพริกเหลืองผัดน้ำมัน และต้นหอมผักชีหั่นเพื่อตัดเลี่ยน

เมนูประจำบ้านของชุมชนกุฎีจีนคือ สัพแหยก ซึ่งดูแล้วมีความคล้ายกับไส้กระหรี่ปั๊บแต่ไม่ได้ใส่ผงกะหรี่และนิยมรับประทานคู่กับข้าวสวยร้อนๆหรือเป็นของว่างกินกับขนมปัง สำหรับบ้านสกุลทองนั้นขนิษฐานำมาทำเป็นไส้ของกระทงทองเพื่อเสิร์ฟเป็นอาหารว่าง วิธีการทำคือใช้มันฝรั่งหั่นเป็นทรงลูกเต๋าและเนื้อไก่สับผัดกับเครื่องเทศและใส่ขมิ้นจากนั้นปรุงรสให้เปรี้ยวนำและตามด้วยรสหวานและเค็ม ส่วนคำว่า สัพแหยก บ้างก็สันนิษฐานว่ามาจากคำว่า Subject ที่หมายความว่าคนในบังคับ บ้างก็ว่าเพี้ยนมาจากภาษาโปรตุเกสที่แปลว่าการสับเนื้อสัตว์

นอกจากไพรเวตคอร์สที่ต้องจองล่วงหน้าแล้ว บ้านสกุลทองยังเสิร์ฟสำรับของว่างสำหรับลูกค้าแบบวอล์กอินทุกวันศุกร์ เสาร์และอาทิตย์ในราคา 250 บาทต่อคน โดยใน 1 เซตประกอบด้วยจานของว่าง เช่น หมูสร่ง ถุงทอง กุ้งกระจกม้วนและมังกรคาบแก้ว และต่อด้วยเมนูหลัก เช่น สตูไก่กับขนมปัง ข้าวมันส้มตำ และข้าวหนุมานคลุกฝุ่น ตบท้ายด้วยซ่าหริ่มและทับทิมกรอบเป็นของหวาน

ที่ตั้ง : บ้านสกุลทอง ซอยกุฎีจีน 3 กรุงเทพฯ

ติดต่อ : โทร. 062-605-5665 หรือ Facebook: อาหารบ้านสกุลทอง-กุฎีจีน

สำรับสามัญประจำบ้าน

TANA (ธนา)

ความอบอุ่นของครอบครัวที่ส่งผ่านมื้ออาหารรสมือแม่

Story Behind:ครอบครัวธนาโรจน์ปิยทัช นำโดย ปาป๊า-ภูมิพัฒน์ และ หม่าม้า-ภัทร์ศรัณย์ ผนึกกำลังกับลูกทั้ง 3 คนคือ เอกอนงค์ อภิสฤษฎิ์ และ วิริทธิพล เพื่อร่วมกันปรับเปลี่ยนห้องแถว4 ชั้นขนาด 1 คูหาบริเวณท่าเตียนซึ่งชั้นบนเป็นที่อยู่อาศัยของครอบครัวและชั้นล่างเปิดเป็นร้านขายส่งสินค้าอุปโภคบริโภคในชื่อร้านธนาภัณฑ์และดำเนินกิจการมากว่า30ปี ให้กลายเป็นร้านอาหารขนาดย่อมในบรรยากาศอบอุ่น อาหารที่เสิร์ฟเป็นสไตล์ไทย-จีนจากฝีมือการปรุงอย่างพิถีพิถันของหม่าม้าที่นำเมนูโปรดของสมาชิกแต่ละคนในครอบครัวมาปรับหน้าตาให้สวยงามน่ารับประทานแต่ยังคงคอนเซ็ปต์แบบ Home-cooked ของรสมือแม่

ชื่อร้าน TANA (ธนา) มาจากนามสกุลของครอบครัวเพื่อสื่อให้เห็นถึงความสำคัญและความอบอุ่นของครอบครัวที่ส่งผ่านอาหารแต่ละจาน เมื่อเข้ามาในร้านจะสะดุดตากับป้ายไฟสีขาวเป็นภาษาจีนกลางคำว่า 家庭 (เจีย-ถิง) ที่แปลว่า ครอบครัว ประดับบนผนังปูนเปลือยด้านหนึ่งของร้านที่ยังเก็บร่องรอยความเป็นร้านค้าส่งในอดีตรวมไปถึงป้ายเก่าชื่อร้าน ธนาภัณฑ์ ที่ติดโดดเด่นอยู่กลางร้าน ในขณะที่ผนังอีกด้านขัดเรียบและทาสีใหม่เพื่อสื่อถึงการเปลี่ยนผ่านธุรกิจและการร่วมแรงร่วมใจของคนในครอบครัว

กรุงเทพฯ

สมาชิกแต่ละคนจัดสรรหน้าที่กันได้อย่างลงตัวโดยยกหน้าที่ในครัวให้อยู่ในมือของหม่าม้า ส่วนปาป๊าและลูกสาวคนโต เอกอนงค์ รับหน้าที่บริหารจัดการร้าน ทางด้านลูกชายคนกลาง อภิสฤษฎิ์ ผู้จบด้านกราฟิกดีไซน์เป็นคนออกแบบเมนูและโลโก้ของร้านซึ่งมาจากรูปเหรียญทรงกลมของจีน 2 เหรียญเกี่ยวกันเป็นสัญลักษณ์อินฟินิตีและลูกชายคนเล็ก วิริทธิพล รับหน้าที่ตกแต่งร้านให้บรรยากาศอบอุ่นเพื่อให้สอดคล้องกับคอนเซ็ปต์ของร้านซึ่งสื่อผ่านข้อความที่ติดประดับร้านว่า Taste of Local และ Bake with Heart, Cook with Love

หม่าม้า-ภัทร์ศรัณย์ เกิดและเติบโตมากับครอบครัวที่เปิดร้านอาหารไทย-จีน ชื่อ ส.โภชนา บริเวณตลาดคลอง 16 อ.บางน้ำเปรี้ยว จ.ฉะเชิงเทรา เธอจึงมีฝีมือในการทำอาหารและความสุขของเธอคือการอยู่ในครัวได้ทำอาหารอร่อยๆให้คนในครอบครัวได้อิ่มท้องและอิ่มใจ วัตถุดิบที่ใช้ส่วนใหญ่มาจากตลาดท่าเตียนซึ่งในอดีตเป็นย่านการค้าส่งของสด ของแห้ง ผักและผลไม้แห่งใหญ่ของพระนคร แม้ปัจจุบันตลาดจะซบเซาและย่านนี้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวแต่วัตถุดิบชั้นดีที่ครอบครัวธนาโรจน์ปิยทัชใช้ในการปรุงอาหารมาตลอดยังคงหาได้ที่ตลาดแห่งนี้ เช่น ปลาอินทรีเค็มจากร้านเจ๊จุก ไข่เค็มพอกด้วยดินทะเลออร์แกนิกจากร้านอี่ฮงไถ่ ข้าวหอมมะลิที่ส่งตรงจากเชียงรายซึ่งให้สัมผัสที่นุ่มและมีกลิ่นหอม และหอมเจียวสดใหม่จากร้านป้ามล

กรุงเทพฯ

Home-cooked Signature: เมนูหมูสับปลาเค็มส่วนใหญ่จะใช้กรรมวิธีการนึ่งแต่ลูกทั้งสามคนไม่ชอบเพราะยังมีกลิ่นคาวของปลาเค็มและมีความเลี่ยน หม่าม้าจึงเปลี่ยนวิธีโดยการนำปลาเค็มสับมาผสมกับหมูบดซึ่งเลือกส่วนที่มีมันน้อยและนำมาปั้นเป็นแผ่นกลมๆเหมือนไส้ของแฮมเบอร์เกอร์จากนั้นนำไปจี่กับกระทะ ส่วนปลาเค็มเลือกใช้ปลาอินทรีจากร้านเจ๊จุกในตลาดท่าเตียนที่มีความหอมและความเค็มในระดับที่หม่าม้าเรียกว่า “เค็มอร่อย” เมื่อนำเมนูนี้มาเสิร์ฟในร้าน (ราคา 150 บาท) จะท็อปแผ่นหมูสับปลาเค็มที่จี่จนหอมด้วยไข่ดาว 3 ฟองซึ่งไข่แดงกึ่งสุกกึ่งดิบกำลังดี และเคียงด้วยหอมเจียว ขิงสดซอย ขิงดองซอย กระเทียมเจียว และผักชีลาวซึ่งเป็นวัตถุดิบที่เธอชอบเป็นการส่วนตัวเพราะมีกลิ่นหอมที่เป็นเอกลักษณ์จึงมักนำมาประกอบในอาหารหลายเมนู

ข้าวหน้าหมูธนา (ราคา 150 บาท) มาจากการรวมจานโปรดของสมาชิกในครอบครัวมาอยู่ในชามเดียวกันคือ หมูผัดซีอิ๊ว กุนเชียงทอด และไข่ขยี้ซึ่งเป็นคำที่ลูกๆเรียกไข่ที่นำไปยีในกระทะเหมือน Scrambled Egg และเสิร์ฟพร้อมกับหอมเจียวและแตงโมดองโดยใช้ส่วนเปลือกสีขาวติดเนื้อแตงโมนิดหน่อยมาดองให้ได้รสเปรี้ยวหวานลงตัว

อีกเมนูเด็ดคือ หมี่กะทิ (ราคา 158 บาท) ซึ่งทำซอสเองจากผลบีตรูตและปรุงให้มีรสกลมกล่อมทั้งเปรี้ยว เค็มและหวานเนื่องจากปาป๊าไม่ชอบกลิ่นซอสเย็นตาโฟที่ทำมาจากเต้าหู้ยี้ เมื่อนำเส้นหมี่ผัดกับซอส ถั่วงอกและเต้าหู้หั่นเป็นทรงลูกเต๋าแล้วจึงท็อปด้วยกุ้งที่จี่ในกระทะจนสุกและหอม เสริมด้วยไข่ทอดที่หั่นเป็นเส้นฝอยและมะนาวผ่าซีกเพื่อเพิ่มรสเปรี้ยว

หมูตุ๋นสมุนไพร 18 ชนิด (ราคา 288 บาท) เป็นเมนูแนะนำที่ไม่ควรพลาดและเกิดจากการครีเอตร่วมกันระหว่างเมนูหมูตุ๋นของหม่าม้ากับการศึกษาเรื่องสมุนไพรจีนของปาป๊าเพื่อให้เป็นเมนูสุขภาพของครอบครัว ในหม้อซุปร้อนๆประกอบด้วยกระดูกหมูส่วนใบพายที่นำมาตุ๋นจนนุ่มกับสมุนไพรจีน 18 ชนิดที่ปาป๊าได้ปรึกษากับแพทย์แผนจีนแล้วว่าสามารถนำมาผสมร่วมกันได้ เช่น เก๋ากี้ ตังกุย ฮ่วยซัว และเง็กเต็ก และเติมด้วยเห็ดหอม ผักกาดขาว ผักชี เอ็นหมู และเบคอนรมควันซึ่งเป็นของโปรดของลูก

ที่ตั้ง : 117 ท่าเตียน ถนนมหาราช กรุงเทพฯ เปิดบริการ 11.00-20.00 น. (ปิดทุกวันจันทร์) แต่เนื่องจากสถานการณ์โควิดทางร้านยังไม่เปิดบริการให้นั่งรับประทานที่ร้าน อย่างไรก็ตามลูกค้าสามารถสั่งกลับบ้านหรือใช้บริการเดลิเวอรีได้

ติดต่อ :โทร.08-1581-8028 หรือ Facebook: tanabangkok

สำรับสามัญประจำ

เต็กเฮง หมี่กรอบจีนหลี สมัยรัชกาลที่ 5

ตำนานความอร่อยกว่า 130 ปีของหมี่กรอบย่านตลาดพลู

Story Behind: นอกจากกุยช่ายซึ่งเป็นของเด็ดของย่านตลาดพลูแล้ว อีกหนึ่งตำนานของชุมชนที่เป็นแหล่งของกินของอร่อยแห่งนี้คือร้าน เต็กเฮง หมี่กรอบจีนหลี สมัยรัชกาลที่ 5 บริเวณท่าน้ำตลาดพลูที่สืบทอดเมนูเด็ดของครอบครัวคือ หมี่กรอบ มาร่วม 130 ปี หมี่กรอบที่นี่มีเอกลักษณ์และรสชาติเฉพาะตัวและตำนานความอร่อยเลื่องลือตั้งแต่ในสมัยรัชกาลที่ 5 ถึงขนาดที่ว่าพระองค์ท่านรับสั่งให้มหาดเล็กมาซื้อหมี่กรอบที่นี่เพื่อขึ้นโต๊ะเสวย

ทายาทรุ่นที่ 5 ศรัณย์ วริทธิ์กุล เล่าว่าต้นตำรับหมี่กรอบคือเหล่ากง (ทวด) ซึ่งอพยพจากจีนแผ่นดินใหญ่มาตั้งรกรากที่เมืองไทยในสมัยรัชกาลที่ 5 และเลี้ยงชีพโดยผัดหมี่กรอบขายบริเวณท่าน้ำตลาดพลูใกล้กับที่ตั้งร้านในปัจจุบันเพราะเป็นจุดค้าขายทางเรือในสมัยนั้นกลิ่นหอมของหมี่กรอบเวลาผัดกับซอสสูตรเฉพาะและใส่กุ้ง ปูและไข่เป็นที่เลื่องลือว่าหอมไปทั่วคุ้งน้ำจนกระทั่งครั้งหนึ่งที่รัชกาลที่ 5 เสด็จประพาสทางชลมารคมาทางคลองบางหลวงและได้กลิ่นหอมนี้จึงรับสั่งให้มหาดเล็กไปซื้อมาตั้งเครื่องเสวย

สำรับสามัญประจำ

พระองค์ท่านโปรดเมนูนี้มากและภายหลังรับสั่งให้เหล่ากงหรือที่ชาวบ้านย่านตลาดพูลเรียกขานว่า เจ๊กหลี จีนหลี หรือแป๊ะหลีเข้าเฝ้าฯ โดยตรัสว่าอร่อยสมคำร่ำลือพระองค์ท่านพระราชทานนามเมนูนี้ว่า “หมี่กรอบเสวยสวรรค์” และยังพระราชทานเหรียญตราครุฑ เงินพดด้วง และภาพถ่ายพร้อมลายพระหัตถ์ให้แก่จีนหลีเพื่อเป็นของกำนัลแต่เป็นที่น่าเสียดายว่าสิ่งของพระราชทานเหล่านี้เสียหายไปกับกองเพลิงเมื่อครั้งเกิดไฟไหม้ใหญ่ที่ตลาดพลูใน พ.ศ.2501

จากเพิงเล็กๆบริเวณท่าน้ำขายแต่หมี่กรอบอันเป็นที่มาของชื่อที่ชาวบ้านเรียกว่า ร้านหมี่กรอบจีนหลี ธุรกิจเริ่มขยับขยายมาเป็นห้องเดี่ยวหลังคามุงจากพร้อมที่นั่งได้ 4 โต๊ะและมีเมนูเพิ่มเติมคือ ต้มยำกุ้ง ทอดมันปลากราย และไข่สอดไส้อีกทั้งยังเป็นร้านรุ่นแรกๆที่ได้รับป้ายเชลล์ชวนชิมการันตีความอร่อย ทางทายาทของจีนหลียังคงสืบทอดเมนูดั้งเดิมนี้ไว้ในจำนวนรายการอาหารไทย-จีนกว่า 100 เมนูในปัจจุบัน

ปัจจุบันร้านมีขนาด 6 ห้องแถวและมีการปรับปรุงเมื่อปลายปีพ.ศ.2564 โดยสามารถรองรับลูกค้าได้ถึง 130 คนพร้อมห้องส่วนตัวที่เหมาะกับกลุ่มย่อยจำนวนไม่เกิน 60 คน ที่ตั้งของร้านในปัจจุบันยังคงตั้งอยู่ใกล้กับทำเลเดิมที่ก่อตั้งร้านครั้งแรกเมื่อ 130 ปีที่แล้วโดยทางทายาทไม่มีแนวคิดที่จะขยายสาขาหรือทำธุรกิจแบบแฟรนไชส์แต่อย่างใดเพื่อให้ร้านแห่งนี้คงความเป็นประวัติศาสตร์ประจำย่านตลาดพลู

สำรับสามัญประจำ

Home-cooked Signature: แน่นอนว่าจานเด็ดที่ต้องไม่พลาดคือ หมี่กรอบจีนหลี (ราคา 200/300 บาท) ซึ่งหมี่กรอบของที่นี่จะมีความกรอบสมชื่อและเส้นไม่ฟูบานโดยคนโบราณเรียกว่า หมี่เส้นลวด และสีจะออกน้ำตาลไม่ใช่สีชมพูเหมือนที่เห็นกันโดยทั่วไป ศรัณย์กล่าวว่าเส้นหมี่ขาวที่ใช้นั้นเป็นเจ้าดั้งเดิมตั้งแต่สมัยที่เหล่ากงใช้และครอบครัวที่ทำเส้นหมี่นี้ทำให้เฉพาะร้านจีนหลีเพียงแห่งเดียวเท่านั้นจึงไม่สามารถหาซื้อที่อื่นได้ วิธีการทำคือทอดเส้นหมี่ให้เหลืองกรอบและใส่ซอสซึ่งเป็นสูตรลับและถ่ายทอดให้สมาชิกของครอบครัวเท่านั้น จากนั้นใส่กุ้งแม่น้ำ เนื้อปูม้า ไข่เป็ด และก่อนเสิร์ฟโรยหน้าด้วยผิวส้มซ่าและผักชี ในจานยังมีกระเทียมดองหั่น พริกชี้ฟ้าซอยและมะนาวผ่าซีกให้คลุกเคล้าเข้ากันพร้อมรับประทานกับใบกุยช่ายและถั่วงอกที่เสิร์ฟเคียงมาด้วย

นอกจากหมี่กรอบแบบแห้งแล้ว ที่นี่ยังมี หมี่กรอบน้ำ (ราคา 200/300 บาท) ซึ่งเป็นเมนูที่อากงหรือปู่ของศรัณย์เป็นผู้คิดค้นต่อยอดจากเมนูเดิมโดยใช้น้ำซุปที่ปรุงรสเปรี้ยวหวานอย่างลงตัวผสมกับความสดของกุ้งแม่น้ำและเนื้อปูม้าและท็อปด้วยไข่แบบสไตล์ออนเซ็น ส่วนเส้นหมี่กรอบของที่นี่ซึ่งคงความกรอบได้นานแม้ไม่ได้ใส่สารกันบูดเมื่อมาทำเป็นเมนูซุปจึงไม่ได้พองนิ่มในเวลารวดเร็ว

ต้มยำกุ้ง (ราคา 250/500 บาท) เป็นอีกหนึ่งเมนูดั้งเดิมโดยปรุงแบบน้ำข้นและเน้นรสชาติเผ็ดร้อน ทางร้านเลือกใช้กุ้งแม่น้ำสดที่หัวมีมันเพื่อให้ได้ความเข้มข้นและเข้ากันได้ดีกับเครื่องต้มยำที่เป็นสมุนไพรอย่างข่า ตะไคร้ และใบมะกรูดนอกจากนี้ยังมี ไข่สอดไส้ (ราคา 150 บาท) ที่ทางร้านสืบทอดตำรับของเหล่ากงโดยปรุงให้มีรสเค็มนำและหวานนิดๆส่วนไข่ที่ทอดมาจนเหลืองฟูนั้นสอดไส้ด้วยเนื้อปูและหมูสับ

ที่ตั้ง : ร้านเต็กเฮง หมี่กรอบจีนหลี สมัยรัชกาลที่ 5 อยู่บริเวณท่าน้ำตลาดพลู ถนนเทอดไท เขตธนบุรี กรุงเทพฯ เปิดบริการวันจันทร์-วันศุกร์ 10.00-14.00 น. และ 16.00-21.00 น. ส่วนวันเสาร์ วันอาทิตย์และวันนักขัตฤกษ์เปิด 10.00-21.00 น. (หยุดทุกวันจันทร์ที่ 3 ของเดือน)

ติดต่อ : โทร.0-2466-9170หรือ Facebook: tek.heng.meekrob

ข้าวแช่บ้านพระนาง

สำรับอาหารประจำบ้านจากรุ่นคุณยายสู่รุ่นหลาน    

ข้าวแช่เป็นเมนูประจำฤดูร้อนที่ต้องใช้ความละเมียดและความอดทนในการทำเครื่องเคียงต่างๆเป็นอย่างมากจึงเป็นเมนูที่มักหารับประทานได้เฉพาะฤดูกาล แต่ร้าน ข้าวแช่บ้านพระนางเสิร์ฟเมนูสดชื่นคลายร้อนนี้ตลอดทั้งปีโดยสูตรของสำรับอาหารโบราณนี้ตกทอดจากรุ่นคุณยายมาถึงรุ่นหลานที่นำเมนูโปรดของทุกคนในบ้านมาส่งต่อความอร่อยผ่านบริการฟู้ดเดลิเวอรี

อรวินท์ อมรวิวัฒน์ นำสูตรข้าวแช่ของครอบครัวที่คุณยาย สุจินต์ เลื่อนฉวี ทำให้ลูกหลานและเพื่อนๆรับประทานมาเป็นเวลาหลายสิบปีและถ่ายทอดรสมือให้คุณแม่ของเธอคือ สุชาดา รัตนวิจิตร ผู้ส่งไม้ต่อให้อรวินท์อีกทอดหนึ่งโดยเธอได้ปรับรสชาติให้มีความเข้มข้นขึ้นเล็กน้อยตามรสนิยมการกินของยุคสมัยนี้และได้เพื่อนสนิทตั้งแต่วัยเด็ก พัดชา ทิพทัส มาร่วมสืบสานตำนานความอร่อยของข้าวแช่บ้านพระนางซึ่งเปิดขายผ่านช่องทางออนไลน์มาเป็นเวลากว่า 10 ปี

คุณยายสุจินต์เป็นผู้ที่มีฝีมือในการทำอาหารเนื่องจากเป็นศิษย์เก่าของโรงเรียนการเรือนวังจันทรเกษม (เดิมชื่อโรงเรียนมัธยมวิสามัญการเรือนซึ่งเป็นโรงเรียนที่เปิดสอนวิชาการเรือนแห่งแรกของประเทศไทย ต่อมามีการเปลี่ยนชื่อหลายครั้งตามการย้ายสถานที่ตั้งและปัจจุบันคือมหาวิทยาลัยสวนดุสิต) ทำให้เธอบ่มเพาะความรู้และความสามารถเรื่องการเรือนสำหรับกุลสตรีเป็นอย่างดี ในช่วงฤดูร้อนคุณยายสุจินต์มักทำข้าวแช่ให้ลูกๆหลานๆและเพื่อนฝูงกินเป็นประจำซึ่งความอร่อยเป็นที่เลื่องลือว่าทุกคนต้องขอเพิ่มใส่ปิ่นโตเพื่อเอากลับไปกินที่บ้านต่อ

กรุงเทพฯ

คุณยายสุจินต์ยังเตรียมตนให้พร้อมเมื่อเข้าสู่บั้นปลายของชีวิตโดยเริ่มเขียนอัตชีวประวัติตั้งแต่เมื่ออายุ 86 ปี เพื่อเตรียมไว้สำหรับจัดพิมพ์ในงานศพของตนเองล่วงหน้าก่อนที่ท่านจะถึงแก่กรรมในวัย 92 ปี ในหนังสืออนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพเป็นกรณีพิเศษของคุณยายสุจินต์เมื่อ พ.ศ.2557 ท่านเขียนตอนหนึ่งว่าไว้ “ลูกสาวฉัน สุชาดา รับวิชานี้ไว้ทั้งหมด ฝีมือทำลูกกะปิและฝีมือโรยไข่ห่อพริกหยวกของสุชาดา ฉันยอมรับว่าอร่อยและสวยกว่าที่ฉันทำมาก” ในหนังสืองานศพนั้นสุชาดาและน้องสาว สุมามาลย์ เดชาติวงศ์ ณ อยุธยา ยังได้รวบรวมอาหารประจำบ้านซอยพระนางมาไว้ด้วยในท้ายเล่ม เช่น ข้าวแช่ ขนมจีนซาวน้ำ ขนมจีนน้ำยาไก่ ปลาแห้งแตงโม และข้าวคลุกกะปิ

ปัจจุบันสุชาดาในวัย 78 ปีส่งต่อความละเมียดของการทำข้าวแช่สู่ลูกสาวคือ อรวินท์ และกล่าวว่า “หลังจากลูกออกจากงานประจำที่ ก.ล.ต. (สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์) ​​​เขาเห็นแม่ทำก็ลองทำดูบ้างและเดี๋ยวนี้ทำได้สวยกว่าแม่อีกโดยเฉพาะพริกหยวกสอดไส้ซึ่งสไตล์บ้านเราคือหรุ่มไข่เป็นลายเหมือนผ้าลูกไม้ เขาชั่งตวงวัดและทำทุกอย่างเป็นระบบ”

ส่วนชื่อร้าน ข้าวแช่บ้านพระนาง มาจากที่ตั้งของบ้านที่คุณตาสุชาติและคุณยายสุจินต์ซื้อไว้อยู่ในซอยพระนาง บริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ บ้านหลังนี้เดิมเป็นเรือนหลังหนึ่งในวังของพระนางเธอลักษมีลาวัณในรัชกาลที่ 6 แต่เสียหายจากเหตุการณ์ไฟไหม้เมื่อ พ.ศ.2505 จึงต้องปลูกบ้านหลังใหม่บนที่ดินผืนเดิม ปัจจุบันสุชาดายังอาศัยอยู่ที่บ้านแห่งนี้และอรวินท์ใช้ครัวของที่นี่ในการทำอาหารส่งให้ลูกค้าของร้าน

กรุงเทพฯ

Home-cooked Signature:ข้าวแช่ฉบับคุณยายสุจินต์จะมาพร้อมเครื่องเคียงคือ พริกหยวกสอดไส้ ลูกกะปิ ลูกไข่เค็ม หอมแดงยัดไส้ ไชโป๊ผัดหวาน และหมูฝอยหวาน อรวินท์กล่าวว่า ลูกกะปิซึ่งถือเป็นพระเอกของสำรับข้าวแช่ทำยากและใช้เวลานานที่สุดโดยเธอยังทำตามสูตรดั้งเดิมของคุณยายเพียงแต่ปรับรสชาติให้มีความเค็มนำและหวานตาม ในการทำต้องใช้ปลาดุกย่างที่แกะก้างและครีบออกแล้วมาปั่นกับกะทิ หอมแดง กระเทียม ตะไคร้ กระชายและเกลือ จากนั้นนำไปกวนในกระทะนานกว่า 3 ชั่วโมงเมื่องวดและแห้งจึงนำไปปั้นเป็นลูกก่อนไปชุบไข่และทอด

พริกหยวกยัดไส้เมื่อผ่าเอาไส้ออกแล้วยังเหลือเม็ดพริกบ้างให้มีความเผ็ดซึ่งเป็นรสชาติที่ครอบครัวชอบจากนั้นยัดไส้หมูสับที่ปรุงรสด้วยรากผักชี กระเทียม พริกไทย น้ำปลาและนำไปนึ่ง การคุมอุณหภูมิของไฟสำคัญมากในการหรุ่มไข่ห่อพริกหยวกให้สวยงาม ส่วนหอมแดงยัดไส้ของบ้านพระนางมีเอกลักษณ์ที่เมื่อคว้านเนื้อออกแล้วจะเหลือหางของหัวหอมแดงไว้ยาวระดับหนึ่งก่อนที่จะยัดไส้หมูสับปรุงรสและนำไปชุบแป้งและทอด

ลูกไข่เค็มใช้ไข่เป็ดสดมาดองน้ำเกลือเองเพื่อให้ได้ไข่แดงที่สดและมันเมื่อนำไปชุบไข่และทอด ส่วนไชโป๊เลือกใช้ของคุณภาพดีมาผัดกับน้ำตาลมะพร้าวซึ่งใช้เวลาราว 3 ชั่วโมงจนกว่าไชโป๊จะแห้งและขึ้นมันเงา

สมัยคุณยายสุจินต์นิยมใช้ข้าวเสาไห้ แต่อรวินท์เปลี่ยนมาใช้ข้าวที่ให้รสสัมผัสที่นุ่มขึ้นตามความนิยมของยุคสมัยแต่ยังมีความเหนียวหนึบและเมื่อใส่น้ำร่ำลงไปแล้วเม็ดจะไม่แตกฟู ส่วนน้ำร่ำนั้นใช้อบควันเทียนและลอยด้วยดอกมะลิหรือดอกชมนาดที่ปลูกเองในบ้าน สำหรับผักที่เป็นเครื่องแนมมีมะม่วงดิบสลักเป็นรูปใบไม้ กระชายจักเป็นรูปดอกจำปี และต้นหอมจักให้ใบม้วนสวยงาม

กรุงเทพฯ

ขนมจีนซาวน้ำเป็นอีกหนึ่งเมนูประจำบ้านพระนางซึ่งคุณยายสุจินต์เขียนไว้ในหนังสือว่ามักจะทำเป็นประจำเมื่อลูก หลาน เหลน กว่า 30 คนมารวมตัวกันที่บ้าน ในการทำแจงลอนเพื่อกินกับเส้นขนมจีนจะใช้เนื้อปลากรายขูดและนวดให้เหนียวจากนั้นปั้นเป็นชิ้นก่อนจะนำไปลวกกับหางกะทิส่วนน้ำกะทิใช้หัวกะทิของกะทิคั้นสดตั้งไฟและคนจนแตกมัน

เครื่องเคียงอื่นๆประกอบด้วยสับปะรดหวานฉ่ำหั่นเป็นชิ้นเล็กๆ ขิงอ่อนซอย กระเทียมจีนซอยบาง กุ้งแห้งป่น น้ำปลาพริก และมะนาวซีก อรวินท์กล่าวว่าเมื่อทำกินกันในครอบครัวจะทำแบบบุฟเฟต์คือให้ตักขนมจีนและราดด้วยแจงลอนกับเครื่องเคียงต่างๆซึ่งบางครั้งแต่ละคนปรุงไม่ได้สัดส่วนที่พอดี ดังนั้นเมื่อนำเมนูมาขายเธอจึงคำนวณปริมาณสัดส่วนของเครื่องเคียงแต่ละอย่างเพื่อให้ได้รสชาติที่พอดีเมื่อนำมาคลุกเคล้ารวมกันสำหรับรับประทาน 1 ที่นอกจากนี้ยังนำน้ำตาลทรายมาเคี่ยวผสมกับน้ำปลาให้เป็นเหมือนซอสปรุงรสส่วนใครอยากเติมรสเปรี้ยวก็บีบมะนาวสดซีกเพิ่มได้

เมนูคลายร้อนของบ้านพระนางอีกอย่างคือ ปลาแห้งแตงโม โดยนำปลาช่อนไปปิ้งจนแห้งและนำเนื้อปลาไปตำจนละเอียด จากนั้นนำไปผัดจนเหลืองกรอบและพักไว้ให้เย็นจึงเติมน้ำตาลทรายและหอมเจียว เมื่อนำปลาแห้งไปโรยบนแตงโมชิ้นเย็นๆจะช่วยทำให้สดชื่นและคลายร้อนได้อย่างดี

ข้าวแช่ชุดใหญ่ราคา 300 บาท และชุดเล็กราคา 200 บาท ส่วนขนมจีนซาวน้ำราคา 130 บาทและปลาแห้งราคา 150 บาท (ไม่รวมแตงโม)

ติดต่อ : โทรสั่งล่วงหน้า 1-2 วันที่เบอร์ 092-926-9190, 090-969-5553 หรือ LineID: kaochaebaanpranang (คิดค่าจัดส่งตามระยะทาง)

รายละเอียดเพิ่มเติม: Facebook: kaochaebaanpranang

กรุงเทพฯ

Aksorn

ย้อนรอยตำรับอาหารไทยโบราณในช่วงทศวรรษที่ 50-70

Story Behind: เดวิด ทอมป์สัน (David Thompson) เป็นเชฟชาวออสเตรเลียผู้หลงใหลในอาหารไทยและศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับประวัติศาสตร์และตำรับอาหารไทยโบราณมากว่า 30 ปี อีกทั้งยังเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการนำอาหารไทยสู่เวทีโลกจากการเปิดร้าน Nahm ร้านอาหารไทยแบบไฟน์ไดนิงที่กรุงลอนดอนเมื่อ พ.ศ.2544 และเป็นร้านอาหารไทยร้านแรกที่ได้รับดาวมิชลิน 1 ดวง หลังจากเปิดให้บริการเพียง 6 เดือนเท่านั้น

หลังจากโบกมืออำลาจากร้าน Nahm ทั้งสาขาที่กรุงลอนดอนและที่โรงแรม COMO Metropolitan Bangkok เชฟเดวิดกลับมาอีกครั้งในรอบ 10 ปี กับร้านอาหารไทยแห่งใหม่ชื่อ Aksorn (อักษร) ตั้งอยู่บนชั้น 5 ของ เซ็นทรัล: ดิ ออริจินัล สโตร์บริเวณปากซอยเจริญกรุง38 กรุงเทพฯ โดยเปิดบริการเมื่อปลายปีพ.ศ.2563 และได้รับดาวมิชลิน 1 ดวงในปี พ.ศ.2565

อาคาร 5 ชั้นของ เซ็นทรัล: ดิ ออริจินัล สโตร์ เป็นอาคารแห่งแรกที่ผู้ก่อตั้งกลุ่มเซ็นทรัลซื้อไว้เมื่อปี พ.ศ. 2493 ซึ่งเป็นจุดกำเนิดร้านค้าปลีกแห่งแรกของเครือธุรกิจค้าปลีกเบอร์ต้นของประเทศไทยและได้มีการรีโนเวตครั้งใหญ่เพื่อปรับให้เป็นสาขาที่แตกต่างกับทุกสาขาของเซ็นทรัลอย่างสิ้นเชิงโดยประกอบไปด้วยร้านหนังสือ ห้องสมุดและศูนย์บริการค้นคว้าข้อมูลดิจิทัลเกี่ยวกับธุรกิจค้าปลีก พื้นที่จัดนิทรรศการและกิจกรรม คาเฟ่ บาร์แจ๊ส และร้านอาหาร Aksorn ที่นำเสนออาหารไทยยุค 50s ของเชฟเดวิดซึ่งได้รับการออกแบบให้มีกลิ่นอายของร้านอาหารในยุคนั้นโดยสตูดิโอ Tripster จากญี่ปุ่นเพื่อให้สอดคล้องกับประวัติศาสตร์ของพื้นที่

เชฟเดวิดนิยมสะสมหนังสืออาหารไทยโบราณและหนังสืองานศพที่มักพิมพ์ตำรับอาหารประจำบ้านเพื่อเป็นการระลึกถึงผู้วายชนม์และแจกจ่ายเป็นวิทยาทานแก่ผู้อ่านโดยเขามีหนังสือหมวดนี้ในคอลเล็กชันสะสมหลายร้อยเล่ม เมนูอาหารของร้าน Aksorn จึงนำเสนออาหารแบบดั้งเดิมตามตำราอาหารไทยโบราณที่ตีพิมพ์ในช่วงระหว่างทศวรรษที่ 50-70 จากคอลเล็กชันสะสมของเชฟเองแต่นำมาปรับวิธีการนำเสนอให้เป็นแบบคอร์สเมนู เมนูอาหารของร้านจะปรับเปลี่ยนเรื่อยๆตามตำราเล่มอื่นๆและจากการทำงานร่วมกับผู้เชี่ยวชาญด้านอาหารที่สืบทอดตำรับโบราณของครอบครัวเพื่อคงคุณค่า ความลุ่มลึกและความพิถีพิถันของการปรุงอาหารไทยสืบต่อไป

กรุงเทพฯ

Home-cooked Signature: เชฟเดวิดหยิบหนังสือชื่อ “หนังสือกับข้าวสอนลูกหลาน กับผลไม้ ของว่าง และขนม” โดยท่านผู้หญิงกลีบ มหิธร (พิมพ์เป็นอนุสรณ์ในการพระราชทานเพลิงศพของท่านผู้หญิงกลีบ มหิธร เมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2504) มาประเดิมเป็นคอร์สเมนูแรกเมื่อครั้งเปิดร้านโดยเสิร์ฟเป็นสำรับรวม 13 อย่างซึ่งมีเมนูที่หากินไม่ได้แล้วในปัจจุบัน เช่น หมูจ้างที่คล้ายๆพะโล้แห้ง ห่อหมกหมูใส่ถั่วลิสง และยำเกสรชมพู่มะเหมี่ยว

นับตั้งแต่เดือนกันยายน พ.ศ. 2564 จนถึงเดือนมีนาคม พ.ศ. 2565 ร้าน Aksorn ได้นำเสนอเมนูประจำบ้านของคุณนุชนันท์ โอสถานนท์ คอลัมนิสต์อาหาร ผู้เขียนตำราอาหาร และนักจัดรายการโทรทัศน์ผู้มีชื่อเสียง เธอกับคุณแม่ได้บันทึกสูตรอาหารโปรดของครอบครัวซึ่งหลายอย่างแทบจะไม่มีให้เห็นในปัจจุบันและถ่ายทอดบางส่วนให้เชฟของร้าน Aksorn เพื่อนำเสนอเป็นคอร์สเมนูพิเศษจำนวน 13 รายการ

เริ่มจากสำรับของว่างเสิร์ฟด้วยเมี่ยงหมากและซองหมูสับปลาเค็มทอดซึ่งมีลักษณะคล้ายเปาะเปี๊ยะ จานต่อมาเป็นเรไรหน้าปูซึ่งเป็นเมนูเส้นขนมจีนทำสดใหม่กับเนื้อปูนึ่งและราดด้วยซอสข้นที่ทำจากปู พริก หอมแดงทอด กระเทียม และถั่วเขียวย่างเคี่ยวในกะทิ ส่วนสำรับอาหารจานหลักประกอบด้วยยำยอดกระถิน แกงจืดหมูย่างหน่อไม้ไผ่ตง พริกขิงปลาสลิด แกงเขียวกุ้งกับฟักหวาน น้ำพริกนครบาล และหมึกต้มเค็มโดยเลือกใช้หมึกอายุน้อยเคี่ยวกับน้ำตาลปี๊บ กระเทียม น้ำปลา ขิง และพริกไทยดำ เป็นเวลากว่า 1 ชั่วโมงจนได้ต้มเค็มสีคล้ำแต่น่าลิ้มลอง

เมนูของหวานคือขนมทองพลุที่นำแป้งข้าวเจ้าจุ่มลงในน้ำตาลปี๊บปิ้ง มะพร้าวขูดสด และเมล็ดงาดำโดยเสิร์ฟมาพร้อมกับมะเฟืองลอยแก้วซึ่งใช้มะเฟืองสุกครึ่งหนึ่งนำไปหมักกับน้ำมะนาว เปลือกมะนาว และน้ำตาลทรายขาว จากนั้นปล่อยทิ้งไว้1-2 วันเพื่อให้ได้ผลฉ่ำน้ำที่ช่วยดับกระหายได้อย่างดี ปิดท้ายด้วยกระยาสารทกับกล้วยไข่ตีนเต่าโดยกระยาสารทนั้นใช้ข้าวตอกคั่ว แมคาเดเมีย และงานำไปรมควันด้วยเทียนไทยและโรยกลิ่นหอมของดอกมะลิก่อนนำไปเซตตัวด้วยน้ำตาลโตนดและคาราเมลมะพร้าวและเสิร์ฟพร้อมกล้วยไข่ตีนเต่าเรียวสุก

คอร์สเมนูจำนวน 13 รายการ ราคา 2,800++บาทต่อคนและในเดือนเมษายนทางร้านจะมีการปรับเปลี่ยนเมนูเพื่อเพิ่มประสบการณ์ใหม่กับการลิ้มรสอาหารโบราณจานอื่นๆ

ที่ตั้ง : เซ็นทรัล: ดิ ออริจินัล สโตร์ชั้น 5 ปากซอยเจริญกรุง38 กรุงเทพฯเปิดให้บริการเฉพาะมื้อเย็นในวันอังคาร-วันอาทิตย์ เวลา 18.00-23.00 น.

ติดต่อ :โทร.0-2116-8662 หรือ Facebook: aksornbangkok


Author

เกษศิรินทร์ ผลธรรมปาลิต
Feature Editor ประจำ Sarakadee Lite อดีต บรรณาธิการข่าวไลฟ์สไตล์ Nation ผู้นิยมคลุกวงในแวดวงศิลปวัฒนธรรมจนได้ขุดเรื่องซีฟๆ มาเล่าสู่กันฟังเสมอ

Photographer

ชัชวาล จักษุวงค์
เคยเป็นนักรีวิว gadget มานานหลายปี ตอนนี้หันมาเอาดีด้านงานถ่ายภาพ ถนัดงานด้านการบันทึกภาพวิถีชีวิตผู้คนและสายการเดินทางท่องเที่ยว
วิจิตต์ แซ่เฮ้ง
เป็นคนกรุงเทพฯ เกิดที่ฝั่งธนฯ เรียนชั้นมัธยมศึกษาที่โรงเรียนไตรมิตรวิทยาลัย ต่อระดับปริญญาตรีสาขาเทคโนโลยีทางการศึกษา คณะศึกษาศาสตร์ มศว ประสานมิตร เมื่อเรียนจบใหม่ ๆ ทำงานเป็นผู้ช่วยดีเจคลื่นกรีนเวฟพักหนึ่ง ก่อนมาเป็นนักเขียนและช่างภาพที่กองบรรณาธิการนิตยสาร ผู้หญิงวันนี้ จากนั้นย้ายมาเป็นช่างภาพสำนักพิมพ์สารคดีปี 2539 โดยถ่ายภาพในหนังสือชุด “เพื่อความเข้าใจในแผ่นดิน” ต่อมาถ่ายภาพลงนิตยสาร สารคดี มีผลงานเช่นเรื่อง หมอเทีย ปอเนาะ เป่าแก้ว กะหล่ำปลี โรคหัวใจ โทรเลข ยางพารา ฯลฯ