8 นิทรรศการไฮไลต์ โค้งสุดท้ายของงาน Bangkok Design Week 2021
- การจัดแสดงผลงานออกแบบและไอเดียสร้างสรรค์ของงาน Bangkok Design Week 2021 ภายใต้คอนเซปต์หลักคือ Resurgence of Possibilities ก้าวต่อไปสู่ความเป็นไปได้ใหม่
- ผลงานส่วนมากนำเสนอไอเดียการออกแบบในประเด็นสิ่งแวดล้อม ซึ่งมีส่วนช่วยให้ผู้ชมมองเห็นทางเลือกใหม่ ๆ ของงานดีไซน์เพื่อสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น
- นิทรรศการบางส่วนสามารถเข้าชมในรูปแบบออนไลน์ได้
โค้งสุดท้ายแล้ว สำหรับการจัดแสดงงาน Bangkok Design Week 2021 ที่กำลังจะสิ้นสุดลงในเดือนกรกฎาคมนี้ จากที่ Sarakadee Lite มีโอกาสได้ไปสำรวจย่านอารีย์-ประดิพัทธ์ และสามย่าน ก็พบว่ามีหลายนิทรรศการประจำเดือนนี้ที่น่าสนใจหยิบมาบอกต่อ โดยส่วนมากเป็นนิทรรศการที่หยิบประเด็นเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมมาเป็นหัวใจหลักในการจัดแสดง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องนวัตกรรม การจัดการขยะหรือพลังงานสะอาด ซึ่งแต่ละนิทรรศการล้วนมีความตั้งใจให้ผู้ชมขยับเข้าใกล้การตระหนักรู้เรื่องสิ่งแวดล้อม และเห็นถึงความเป็นไปได้ของทางเลือกใหม่ ๆ ของงานดีไซน์ที่ถูกเปลี่ยนจากแค่ไอเดียมาเป็นชิ้นงานที่เป็นรูปธรรมมากขึ้น
Hotel Interim
สถานที่ : Josh Hotel ซอยอารีย์
นิทรรศการแรกเราของพาแวะย่านที่ใครก็ขนานนามว่าสุดชิคกันก่อน หมุดแรกอยู่ที่ Josh Hotel ซอยอารีย์ 4 กับนิทรรศการที่ชื่อว่า Hotel Interim ฟังจากชื่องานหลายคนน่าจะเดาถูกว่าต้องเกี่ยวข้องกับโรงแรม และโรงแรมที่ว่านี้เหล่าผู้สร้างสรรค์อย่างสตูดิโอ Mæwtāy, Cloud-floor, SP/N, NOSEstory และ Decus ต่างสนใจมิติของโรงแรมย่านประดิพัทธ์เป็นพิเศษ ทั้งด้วยเรื่องสถาปัตยกรรมและประวัติศาสตร์ รวมถึงอีกมุมของย่านอารีย์ที่ไม่ค่อยมีใครนึกถึงนั่นก็คือภาพของโรงแรมขนาดเล็กที่ซ่อนอยู่ในย่านนี้อย่างเงียบเชียบ
Hotel Interim แก่นหลักพูดถึง “สภาวะระหว่างกาล” ของเรื่องราวในโรงแรมที่มีการเปลี่ยนผ่านไปมาอยู่ตลอด แต่ผู้คนส่วนมากในฐานะผู้ไปเยือนจะรับรู้แค่ภาพที่มีการจัดระเบียบเอาไว้อย่างดีแล้วโดยไม่ทันได้สังเกตเห็นถึงร่องรอยของความทรงจำที่เกิดขึ้นก่อนหน้า และอาจจะไม่ทันคิดด้วยซ้ำว่าตนเองก็ได้ทิ้งร่องรอยเอาไว้ก่อนจากไปเช่นกัน ซึ่งจุดเชื่อมระหว่างสภาวะเก่าใหม่นี้มีผู้ที่สังเกตเห็นการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดและคงเป็นใครไปไม่ได้นอกจาก “แม่บ้าน”
นิทรรศการนี้พาเราท่องไปในประสบการณ์ของแม่บ้านผ่านสื่อหลายแบบ ทำให้ได้เห็นรายละเอียดของงานที่ต้องสั่งสมประสบการณ์และเทคนิคเฉพาะตัวมากมายไม่ต่างจากอาชีพอื่น ๆ ไล่เรียงตั้งแต่การทำความสะอาด การจัดวาง ฝีมือการทำอาหารไปถึงการเก็บกวาดสิ่งของที่ผู้เข้าพักหลงลืมไว้ เหล่านี้ล้วนส่งเสียงสะท้อนและทำให้เกิดการตั้งคำถามถึงอาชีพงานบริการในยุคนี้และต่อ ๆ ไปมากยิ่งขึ้น
ลงทะเบียนเข้าชม : bit.ly/3ydeD7A
ชมแบบออนไลน์ : hotel-interim.com
Ari Around
สถานที่ : FEAST Ratchakru ซอยพหลโยธิน 5 (ก่อนถึงแยกอารีย์ 1)
จุดเริ่มต้นของ Ari Around เกิดจากการที่กลุ่มนักพัฒนาซึ่งอาศัยอยู่ในย่านอารีย์ อยากเห็นย่านนี้พัฒนาไปในทิศทางที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืน จึงรวมกลุ่มพัฒนาแพลตฟอร์ม Ari Around ขึ้นมาเป็นสื่อกลางในการสื่อสารและสร้างความเชื่อมโยงกันของผู้คนทั้งในย่านและนอกย่าน
ในช่วงแรก Ari Around มุ่งใช้แพลตฟอร์มในการชักชวนคนให้หันมาคัดแยกขยะ โดยมี AriCoin หรือเหรียญสะสมเป็นตัวกระตุ้นช่วยสร้างแรงจูงใจ เพราะทันทีที่นำขยะรีไซเคิลมาแลกจะได้รับ AriCoin สำหรับเก็บสะสม โดยสามารถนำไปใช้แลกรับสิทธิ์ได้ตามร้านค้าต่าง ๆ ที่เข้าร่วม เช่น การแลกส่วนลด หรือแลกรับของสมนาคุณจากทางร้าน ซึ่งตอนนี้ร้านค้าในย่านอารีย์เข้าร่วมโครงการแล้วราว 20 ร้านค้าด้วยกัน
สำหรับใครที่สนใจ สิ่งที่นำมาแลกรับ AriCoin ได้ในตอนนี้คือ ขวด PET หนังสือที่สามารถนำไปส่งต่อได้ และกระป๋องอะลูมิเนียม โดยในอนาคต Ari Around กำลังพัฒนาให้ในส่วนของร้านค้าสามารถนำ AriCoin ที่ได้รับไปทำประโยชน์ต่อได้ อาทิ การแลกเปลี่ยนทักษะระหว่างกัน นอกจากส่วนนี้ Ari Around ยังมุ่งเชื่อมโยงผู้คนและย่านให้เข้าถึงกันมากขึ้นด้วย AriTimes พื้นที่บอกเล่าเรื่องราวของย่านอารีย์ที่มีมากกว่าการเป็นย่านคาเฟ่ชิค ๆ แต่มีผู้คน ศิลปินและสตอรีประจำย่านที่น่าสนใจอีกมากมาย
แอปพลิเคชัน : apple.co/3dXqkru เฉพาะ IOS ระบบแอนดรอยด์อยู่ระหว่างการพัฒนา
เว็บไซต์ : www.ariaround.com
Common Air-rea
สถานที่ : สามย่านมิตรทาวน์ ชั้น G ฝั่งร้าน Tim Hortons
ตรงตามชื่อโครงการ Common Air-rea นั่นคือการเป็นพื้นที่ส่วนกลางในการให้ข้อมูลของงาน Bangkok Design Week แต่ที่แตกต่างจากพื้นที่ส่วนกลางทั่วไปคือความตั้งใจที่จะทำให้ผู้ชมมองเห็นถึงความเป็นไปได้ของการใช้พลังงานทางเลือก ซึ่งในที่นี้คือพลังงานแสงอาทิตย์จากแผงโซลาเซลล์ในพื้นที่สาธารณะ พ่วงมาด้วยการพัฒนาคุณภาพอากาศภายใน Pavillion เข้าไปอีกขั้นโดยอาศัยการออกแบบพื้นที่ทั้งทางกายภาพ และการใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยอีกแรง
จากด้านนอกออกแบบให้แวดล้อมไปด้วยต้นไม้ที่มีคุณสมบัติดักฝุ่น อาทิ ลำดวน แก้วมุกดา ทองอุไร พุดกุหลาบ และดอกแก้ว ก่อนจะกรองอีกชั้นด้วยม่านอากาศ และม่านกรองแสงพีวีซีที่ทางทีมตั้งใจให้แสงจากด้านนอกยังคงสามารถลอดผ่านเข้ามาภายในตัวอาคารได้เพื่อลดการใช้พลังงานไฟฟ้า ด้านในเสริมทัพฟื้นฟูอากาศให้บริสุทธิ์ด้วยเครื่องฟอกอากาศบริเวณที่นั่งอีก 8 พร้อมกับต้นไม้นานาชนิดที่ให้คุณสมบัติดักจับฝุ่น ฟอกอากาศและให้กลิ่นหอม อาทิ เศรษฐีรวยทรัพย์ เขียวหมื่นปี แก้วกาญจนา สนหอม มะลิและเตยหอม โดยระบบการใช้ไฟฟ้าภายใน Pavillion เป็นการผสมผสานทั้งจากพลังงานโซลาเซลล์และไฟฟ้ากระแสตรงที่จะเข้ามาช่วยเมื่อกระแสไฟฟ้าจากพลังงานโซลาเซลล์มีไม่เพียงพอ โดยจุดประสงค์หลักของพื้นที่นี้ก็เพื่อเป็นต้นแบบให้ผู้คนมองเห็นอย่างเป็นรูปธรรมถึงประโยชน์และศักยภาพในการนำโมเดลนี้ไปปรับใช้กับพื้นที่สาธารณะอื่น ๆ ต่อไปในอนาคต เช่น ป้ายรถเมล์ที่แม้จะเป็นกลางแจ้งแต่ก็อาจจะถูกเปลี่ยนเป็นจุดแวะพักเติมอากาศคุณภาพเข้าปอดคนกรุงก็เป็นได้
Plastic Sea
สถานที่ : CU Art 4C ชั้น 2
นิทรรศการที่ชวนให้ผู้ชมตระหนักถึงการใช้พลาสติกโดยศิลปิน วิทยา จันมา ซึ่งได้ใช้ข้อมูลปริมาณการเพิ่มขึ้นของขยะพลาสติกในทะเลจากฐานข้อมูลของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง มาจัดแสดงในรูปแบบ Interactive ซึ่งมี 2 อุปกรณ์คือ แท่นน้ำที่ฐานด้านล่างแสดงตัวเลขปี พ.ศ.และสัดส่วนจำนวนขยะประเภทนั้นๆ ที่พบในทะเล อีกอุปกรณ์คือแคปซูลขยะพลาสติกในชีวิตประจำวันอย่าง ถุงพลาสติก ฝา ขวดพลาสติก หลอด และโฟม โดยเมื่อนำแคปซูลขยะแต่ละชนิดหย่อนลงไป แท่นน้ำจะเกิดการหมุน ซึ่งยิ่งน้ำหมุนแรงและมีระดับกรวยสูงเท่าไหร่ แสดงว่าพบปริมาณพลาสติกชนิดนั้นมาก และทุก ๆ ครั้งที่แคปซูลใดถูกหย่อนลงไป ข้อมูลชุดใหม่ก็จะสุ่มแสดงขึ้นมา เป็นการกระตุ้นให้ผู้ชมอย่างเราได้ตระหนักถึงผลกระทบจากจำนวนพลาสติกเหล่านั้น และมองเห็นได้ชัดเจนยิ่งขึ้นถึงปัญหาขยะในทะเลที่มีปริมาณเพิ่มขึ้นทุก ๆ ปี
ลงทะเบียนเข้าชม : contact.cuart4c@gmail.com หรือ forms.gle/tvGUe37kQ7UEcaoV6
Incarnate กลายร่าง
สถานที่ : CU Art 4C ชั้น 3
เห็นชื่อศิลปิน วิชชุลดา ปัณฑรานุวงศ์ ศิลปินผู้ก่อตั้งแบรนด์ WISHULADA แล้ว ภาพผลงานศิลปะที่ชัดเจนในแนวทางการสร้างสรรค์จากวัสดุเหลือใช้ลอยมาทันที เพราะวิชชุลดาได้แปรงโฉมวัสดุเหลือใช้ออกมาเป็นผลงานศิลปะที่จับต้องได้อยู่เสมอ ๆ เช่นเดียวกับนิทรรศการล่าสุดนี้ที่มีจุดเริ่มต้นมาจากการเดินป่าที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ แล้วเกิดความรู้สึกสะเทือนใจจากผลกระทบของมนุษย์ที่เกิดกับสัตว์ป่า จึงเกิดแรงบันดาลใจในการออกแบบชุดต่าง ๆ ที่เมื่อสวมใส่แล้วช่วยสะท้อนให้เห็นถึงความรู้สึกของเหล่าสัตว์ ที่ต้องเผชิญกับความยากลำบากในชีวิตจากพฤติกรรมของมนุษย์ (ย้อนชมผลงาน วิชชุลดา ได้ที่นี่)
ลงทะเบียนเข้าชม : contact.cuart4c@gmail.com หรือ forms.gle/tvGUe37kQ7UEcaoV6
Medule
นิทรรศการออนไลน์ทาง Facebook : Shma Company Limited และ Thong-Ek Creative Neighborhood
Medule เป็นการนำเสนอไอเดียการออกแบบใหม่ ๆ เกี่ยวกับการใช้พื้นที่ โดยใช้ข้อมูลจากการเก็บข้อมูลตัวอย่างพฤติกรรมขณะกักตัวที่แบ่งออกเป็น 2 แบบคือ กิจกรรมในแนวตั้ง และกิจกรรมกึ่งนั่งกึ่งนอน รวมถึงข้อมูลสภาพแวดล้อม เช่น แสง อุณหภูมิ ขนาด และประเภทของวัสดุ เพื่อนำมาออกแบบสภาพแวดล้อมให้เหมาะสมควบคู่ไปด้วย ซึ่งนิทรรศการ Medule เป็นการทดลองว่า พื้นที่ที่เล็กลงจนเหลือเพียงแค่พอใช้สำหรับมนุษย์คนเดียว ก็สามารถตอบสนองความต้องการและสามารถทำกิจกรรมต่าง ๆ ได้อย่างครบถ้วนไม่ต่างจากพื้นที่ใช้สอยในรูปแบบเดิม
Come on , Calm on
นิทรรศการออนไลน์ทาง Facebook : Shma Company Limited และ Thong-Ek Creative Neighborhood
จากงานวิจัยของมหาวิทยาลัยเอ็กซิเตอร์ (University of Exeter) ที่รายงานว่าความเครียดสามารถลดลงได้ด้วยการมีปฏิสัมพันธ์กับธรรมชาติอย่างน้อยสัปดาห์ละ 2 ชั่วโมง ได้นำมาสู่แรงบันดาลใจในการดีไซน์พื้นที่ให้เป็น Therapeutic Garden หรือ การจัดสวนเพื่อการบำบัดและแบ่งเบาความเครียด โดยรูปแบบของการจัดสวน Come on, Calm on นี้มีจุดประสงค์เพื่อปรับสมดุลร่างกาย จิตใจ และจิตวิญญาณให้อยู่ในสภาพคงที่ ด้วยการใช้ธรรมชาติ 70 เปอร์เซ็นต์และ Hardscape หรือวัสดุ 30 เปอร์เซ็นต์ เพื่อให้ผู้เข้าชมเกิดความรู้สึกผ่อนคลายประสาทสัมผัสทั้งห้าและสามารถบรรเทาอาการเครียดสะสมจากวิถีชีวิตชาวเมืองและสถานการณ์ปัจจุบันได้
Taiwan Design Power
สถานที่ : โซน Design Innovation ชั้น 2 ห้อง MDIC อาคารส่วนหลัง TCDC กรุงเทพฯ (จัดแสดงถึงวันที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ.2564)
นิทรรศการที่รวบรวมกว่า 10 นวัตกรรมงานออกแบบส่งตรงจากไต้หวัน ซึ่งคัดเลือกมาจัดแสดงโดย Taiwan Design Research Institute (TDRI) ที่มีความมุ่งหวังในการผลักดันงานสร้างสรรค์และออกแบบให้สามารถเข้าไปอยู่ในวงการอุตสาหกรรมและผลิตออกมาในเชิงพาณิชย์ได้จริง โดยผลงานส่วนมากที่นำมาจัดแสดงมีการผลิตเพื่อออกจำหน่ายจริงแล้ว
กว่า 10 ชิ้นงานที่จัดแสดง แบ่งออกได้เป็น 2 หมวดหลักคือ นวัตกรรมงานออกแบบเกี่ยวกับการป้องกันเชื้อโควิด-19 และนวัตกรรมงานออกแบบเพื่อความยั่งยืน จากวัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะวัสดุรีไซเคิลหรือวัสดุธรรมชาติที่สามารถย่อยสลายเองได้ อาทิ FLOAT แก้วแยกชานมไข่มุกที่ผลิตจากแก้วรีไซเคิล แป้นพิมพ์จากขยะทางทะเล หรือชามเซรามิกที่วัสดุส่วนหนึ่งมาจากแผงกระจกโทรศัพท์มือถือ เป็นอีกสิ่งที่สะท้อนให้เห็นว่าการรีไซเคิลและงานออกแบบสร้างสรรค์สามารถจับมือไปด้วยกันได้จริง (ชมชิ้นงานฉบับเต็มได้ ที่นี่)
Face File
- นิทรรศการส่วนใหญ่จัดแสดงถึงวันที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ.2564 โดยสามารถนัดหมายล่วงหน้าและดูเงื่อนไขการเข้าชมได้ที่ช่องทางของแต่ละสถานที่จัดแสดงงาน
- ข้อมูลเพิ่มเติม www.bangkokdesignweek.com