ไฮไลต์ Bangkok Design Week 2024
- Bangkok Design Week 2024 มากับคอนเซปต์ Livable Scape คนยิ่งทำ เมืองยิ่งดี ขยายพื้นที่ไปกว่า 15 ย่านกับกว่า 500 โปรแกรม
- ด้วยคอนเซปต์งานของปีนี้ทำให้งานออกแบบเล็กหรือใหญ่ล้วนใส่ไอเดียมาเพื่อผู้คน การใช้ชีวิตในเมืองและการขับเคลื่อนให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองที่น่าอยู่มากยิ่งขึ้น
บอกเลยว่าฉ่ำมาก! สำหรับ Bangkok Design Week 2024 หรือ เทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ ซึ่งปีนี้ขยายพื้นที่ไปกว่า 15 ย่านกับ 500 กว่าโปรแกรมให้ทุกคนได้ออกเดินทางไปทัวร์ย่านต่างๆ กันตลอด 9 วันเต็ม ระหว่างวันที่ 28 มกราคม – 4 กุมภาพันธ์ 2567 โดยที่ความน่าสนใจของปีนี้คือเขามากับคอนเซปต์ Livable Scape คนยิ่งทำ เมืองยิ่งดี ทำให้ไม่ว่าจะเป็นงานออกแบบเล็กหรือใหญ่ล้วนใส่ไอเดียมาเพื่อผู้คน การใช้ชีวิตในเมืองและการขับเคลื่อนให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองที่น่าอยู่มากยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะด้วยกิจกรรม งานออกแบบเชิงทดลองหรือการสร้างประสบการณ์ให้ผู้ชมได้คอนเนคกับเรื่องราวและของดีประจำย่าน และนี่คือไฮไลต์ที่เราขอปักพิกัดเอาไว้ สำหรับใครที่ยังลังเลว่าควรเริ่มจากจุดไหนดีสามารถเปิดเป็นคู่มือไปตามรอยกันได้เลย
Bikable Bangkok
ศิลปิน : Conscious
พิกัด : หน้าไปรษณีย์กลาง บางรัก / ย่านเจริญกรุงตลาดน้อย
วีร์ วีรพร นักออกแบบกราฟิกแห่งสตูดิโอ Conscious ผู้ใช้จักรยานบนท้องถนนเมืองกรุงมากว่า 10 ปี และสนใจเป็นพิเศษกับการใช้งานกราฟิกในพื้นที่สาธารณะ ในฐานะที่เขาเองเป็นทั้งผู้ใช้งานจริง เป็นนักดีไซน์รวมถึงเป็นหนึ่งในอาสาสมัครทำงานร่วมกับ กทม. ในกลุ่ม Bicycle Users หรือกลุ่มผู้ใช้จักรยานเป็นพาหนะในชีวิตประจำวัน งานนี้เขาจึงปล่อยไอเดียไปกับ ระบบป้ายนำทางจักรยาน ที่ตัวเขาเองมองว่าน่าจะเป็นอีกสิ่งจำเป็นในการพัฒนาไปพร้อมกับเส้นทางจักรยาน เพื่อให้นักปั่นสามารถทราบข้อมูลเส้นทางของแต่ละพื้นที่เป็นระยะ ไม่ว่าจะเป็นเส้นทางเชื่อมต่อระหว่างย่านหรือสภาพท้องถนนที่ไม่เหมือนกันในแต่ละพื้นที่
นอกจากนี้โปรเจคต์ Bikable Bangkok ยังพัฒนาจุดจอดจักรยานเพิ่มเติม โดยดีไซน์ให้สามารถล็อกได้มากกว่าหนึ่งจุดและสามารถใช้งานได้ทั้งจักรยานขนาดเล็กและใหญ่ในจุดเดียวกัน โดยในเบื้องต้นทดลองใช้กับพื้นที่ภายในเทศกาลก่อน ใครได้ไปลองแล้วสามารถให้ฟีดแบ็กกับศิลปินเพื่อพัฒนาต่อยอดในสเต็ปต่อไปได้เลย
พื้นที่พักใจ
ศิลปิน : Vichitr
พิกัด : ชั้น 1 The Corner House Bangkok
ผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งทอภายในอย่างแบรนด์ Vichitr ที่คร่ำหวอดในวงการผ้าสำหรับใช้ภายในบ้านมากว่า 40 ปี ขอก้าวออกจากสิ่งคุ้นเคย นำผ้าม่านออกจากข้อจำกัดโดยตีความประโยชน์ของผ้าม่านดูใหม่จากการใช้งานในบ้านหรือสำนักงาน มาสู่การเติมเต็มพื้นที่ว่างเปล่านอกสถานที่กันบ้าง
กมลพร สุนทรสีมะ ครีเอทีฟของแบรนด์กล่าวว่า พื้นที่พักใจ เป็นการนำผ้าม่าน 2 คอลเลกชันยอดฮิตของแบรนด์นั่นคือ The Siamese Legendary และ The Bangkoker ที่ใส่เอกลักษณ์ของกรุงเทพฯ เอาไว้ มาล้อมเป็นสเปซเล็กๆ พร้อมกับใส่ข้อความฮีลใจลงไป โดยหวังว่าพื้นที่นี้จะสามารถโอบกอดกายใจให้กับผู้คนที่ต้องการนั่งพักหายใจและปลอบประโลมตัวเองในเวลาชั่วครู่ระหว่างวัน
ห้องไหมพรมยักษ์ Knitscape
ศิลปิน : BigKnit
พิกัด : ชั้น 1 The Corner House Bangkok
อีกหนึ่งผลงานที่นำเรื่องของผ้ามาเจอกับพื้นที่ว่างเปล่าเพื่อให้เกิดสเปซที่อุ่นกายอุ่นใจ สำหรับ BigKnit ที่มี ไนส์ ตันศรีสกุล เป็นผู้อยู่เบื้องหลัง เลือกนำผ้าเหลือจากอุตสาหกรรมผ้ายืดมา Upcycle ใหม่ด้วยการเย็บและยัดใย Polyester เกิดเป็นไหมพรมเส้นยักษ์ ที่ไนส์นำมาออกแบบและถักขึ้นรูปเป็นไหมพรมผืนใหญ่และลูกบอลยักษ์เพื่อเติมเต็ม Common Space ด้วยความนุ่มนิ่ม โดยที่ไหมพรมทั้งหมดสามารถนำกลับมาใช้ซ้ำหรือแยกชิ้นส่วนต่อไปได้อีก
The Openscape
ศิลปิน : SPACE Studio และ Lamitak Thailand
พิกัด : ชั้น 4 The Corner House Bangkok
เมื่อนิทรรศการเป็นมากกว่านิทรรศการ และการออกแบบสามารถสร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้คนและสถานที่ได้ The Openscape จึงครองพื้นที่ชั้น 4 ของ The Corner House ด้วย 2 โซนหลัก เริ่มจากอินสตอลเรชันที่เต็มไปด้วยประตูชวนให้ค้นหาและกระตุ้นความอยากรู้อยากเห็นของผู้ชม โดยที่ส่วนกลางของชิ้นงานได้ซ่อนห้องว่างเอาไว้ ห้องนี้สัมพันธ์กับสภาพแวดล้อมโดยในตอนกลางวันจะเกิดเอฟเฟกต์ทำให้ห้องเปลี่ยนเป็นสีรุ้งและตอนกลางคืนที่จะให้ผลลัพธ์ที่ต่างออกไป สามารถเดินชมได้ทั้งสองช่วงเวลา ข้างกันมาพร้อมกับกิจกรรมเล็กๆ อย่าง Which Tak AreYou? ชวนทำเข็มกลัดบ่งบอกตัวตนจากแผ่นลามิเนตของ Lamitak ที่แบ่งสีและลวดลายตามบุคลิกภาพของตัวตนที่แต่ละคนอยากนำเสนอ
หนังสือนิทานงิ้ว
ศิลปิน : กลุ่ม Satarana และ Siradasue
สถานที่ : โรงเจบุญสมาคม ย่านเยาวราช-ทรงวาด
สำหรับย่านเยาวราช – ทรงวาด ทางกลุ่ม Satarana เลือกตั้งต้นจากพิกัดโรงเจบุญสมาคม โรงเจเก่าแก่สมัยรัชกาลที่ 5 ที่โดดเด่นด้วยสถาปัตยกรรมของช่างฝีมือชาวจีน หนึ่งในจุดศูนย์รวมของคนในชุมชนเกือบทุกเทศกาลไม่ว่าจะกินเจหรือเทศกาลตรุษจีนที่กำลังจะมาถึง และด้วยความที่มีโรงงิ้วเก่าแก่อยู่ด้วย ศิลปินจึงหยิบเอาเสน่ห์และแง่มุมที่ไม่ค่อยมีใครเห็นของการแสดงงิ้วมานำเสนอผ่านมุมมองร่วมสมัยได้ผลลัพธ์เป็น หนังสือนิทานงิ้ว ออกแบบโดย Siradasue หรือ โบว์- ศิรดา สื่อไพศาล นักวาดและนักเขียนเว็บตูนที่นำเสนอฉากหลังย่านตลาดน้อย-ทรงวาดลงในผลงานเรื่องดังของเธออย่าง ‘Moonlight Serenade คืนแสงจันทร์บรรเลงฝัน’ มาตั้งแต่ปี 2022
หนังสือนิทานงิ้วที่นำมาจัดแสดง อ้างอิงต้นฉบับจากบทงิ้วเรื่อง เปาบุ้นจิ้น ตอน พิพากษาคดีเป่าเหมียน ของคณะแชลั่งเง็กเล่าชุน ซึ่งเขียนด้วยมือทุกบรรทัดไม่ว่าจะเป็นบทพูดหรือบทกำกับท่าทางการแสดง ซึ่งหากใครอยากเห็นว่าบทละครงิ้วเป็นอย่างไรข้างกันมีภาพถ่ายเปรียบเทียบไว้ให้ดูด้วย
นอกจากที่นี่ภายในย่านเยาวราช-ทรงวาด ยังมีผลงานรวมแล้วกว่า 15 จุดครบทั้งเวิร์กช็อปและนิทรรศการ โดยระหว่างทางมีสตรีตอาร์ตจาก 5 ศิลปินทั้งศิลปินในชุมชนและศิลปินจาก Bangkok Illustration Fair จัดแสดงอยู่ด้วย โดยที่แต่ละภาพดึงเอกลักษณ์มาจากร้านค้าเก่าแก่ในชุมชน
คืนชีพขยะดอกไม้
ศิลปิน : Capyper
พิกัด : ชั้น 2 ตลาดยอดพิมาน ปากคลองตลาด
ประเด็นสิ่งแวดล้อมและการจัดการขยะแทรกซึมอยู่ในทุกมิติ ไม่เว้นแม้แต่ตลาดดอกไม้ที่สร้างขยะจำนวนไม่น้อย ทีม Capyper ที่เชี่ยวชาญในงานกระดาษจึงเลือกนำความถนัดของตัวเองมาผนวกกับปัญหาที่พบเจอในชุมชน นำดอกไม้สดที่เหลือทิ้งจากการตัดแต่งมาคิดหาวิธีสร้างมูลค่าใหม่ ด้วยการทดลองทำกระดาษจากดอกไม้และกระดาษรีไซเคิล จนสามารถต่อยอดเป็นของที่ระลึกอย่างที่คั่นหนังสือ การจัดแสดงอินสตอลเรชันขนาดใหญ่และเวิร์กช็อปประกอบชิ้นงานจากกระดาษดอกไม้ ซึ่งล้วนจุดประกายชวนคิดถึงการจัดการขยะตั้งแต่จุดเริ่มต้นว่าจะสามารถทำให้เกิดการหมุนเวียนต่อไปอย่างไรได้อีกบ้าง
Collective Blooms
ศิลปิน : 27 June Studio
พิกัด : ไปรษณียาคาร
27 June Studio กลับมาสร้างสีสันให้กับย่านปากคลองอีกครั้ง คราวนี้มากับคอนเซปต์ใหญ่อย่าง ‘I Flower You’ ชวนทุกคนนิยามความหมายของดอกไม้ตามแบบฉบับของตัวเอง พร้อมกับการออกแบบกิจกรรม Collective Blooms ให้ทุกคนสนุกกับการเดินสำรวจย่านปากคลองตลาดมากขึ้น
กิจกรรมที่ว่าทุกคนจะต้องเปิด Collective Blooms Webapp (สแกนได้ที่บริเวณงาน) ควบคู่ไปด้วยเพื่อนำทางและตามหาเมล็ดดอกไม้ดิจิทัลตามจุดต่างๆ เราแนะนำให้เริ่มจุดแรกจาก MRT สนามไชย ทางออก 4 ลัดเลาะปากคลองตลาด ตลาดยอดพิมาน สวนสมเด็จพระปกเกล้าและปิดท้ายด้วยไปรสนียาคาร ซึ่งเป็นจุดที่ทุกคนสามารถนำเมล็ดดอกไม้ที่สแกนสะสมไปแลกรับเมล็ดดอกไม้เวอร์ชันกระดาษมาระบายสีตกแต่งได้เอง โดยที่เราสามารถทำให้เมล็ดดอกไม้ของเราเติบโตและเบ่งบานลงบนผนังของไปรสนียาคารได้ ห้ามพลาดเลยกิจกรรมนี้ สามารถเข้าร่วมได้ตั้งแต่เวลา 18:00-22:00 น.
Breathtaking
ศิลปิน : Studio Thalamus
พิกัด : ป้อมมหากาฬ
Studio Thalamus ขยายปัญหาฝุ่น PM 2.5 ที่เราต่างกำลังเผชิญออกมาให้เห็นเป็นรูปธรรมชัดเจนขึ้นผ่านผลงานอินสตอลเรชันและการออกแบบ Interactive Experience แปลงค่าฝุ่นแบบเรียลไทม์อ้างอิงจากระบบเซ็นเซอร์และเว็บแสดงดัชนีคุณภาพอากาศออกมาเป็นผลลัพธ์ที่แสดงผลผ่านลูกโป่งซึ่งเปรียบได้กับถุงลมของปอดและสีสันที่บ่งบอกถึงปริมาณฝุ่น เปรียบเทียบในแต่ละประเทศสลับกันไป เพื่อชวนตระหนักถึงเรื่องใกล้ตัวอย่างคุณภาพอากาศในสถานที่ที่เรากำลังอาศัยอยู่
Experience Scape
ศิลปิน : รวมศิลปิน
พิกัด : ประปาแม้นศรี (หลังเก่า) ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร สวนรมณีนาถ ป้อมมหากาฬ
ย่านพระนครมาแรงเหมือนเคย หากปีที่แล้วใครเช็คอินกับพิกัดไฮไลต์อย่างประปาแม้นศรีไปแล้ว ก็ไม่ควรพลาดที่จะกลับมา แถมปีนี้มี Projection Mapping ในสถานที่สำคัญหลายจุด โดยเฉพาะป้อมมหากาฬที่มากับผลงานของ 8 กลุ่มศิลปินด้วยกัน ในคอนเซปต์ Living in a Color ผสมผสานทั้งเรื่องราวเชิงประวัติศาสตร์ในอดีต การเปลี่ยนแปลงและสีสันแห่งความร่วมสมัยมาร้อยเรียงกัน นำทีมโดย The Motion House และศิลปินไลน์อัพพิเศษอย่าง From Object To Studio , 2 NERDS , Summer & Co Studio ศิลปินจากประเทศไทย Sembilan Matahari และ Arafura Media Design จากอินโดนีเซีย ร่วมด้วยผลงานจากนักศึกษาวิทยาลัยนวัตกรรมสื่อสารสังคม มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ที่มาเสริมทัพสร้างประสบการณ์ใหม่ลงบนพื้นผิวสถาปัตยกรรม สามารถเริ่มชมได้ตั้งแต่เวลา 19:00-22:00 น.
ไทยแทร่
ศิลปิน : รวมศิลปิน
พิกัด : ประปาแม้นศรี (หลังเก่า)
เปลี่ยนพื้นที่ชั้นสองของตึกเก่าในเวิ้งประปาแม้นศรีเป็นนิทรรศการไทยแทร่ นำเสนอความเป็นไทยแท้ๆ ในมุมมองร่วมสมัยจากหลากหลายศิลปิน นำคำว่า “ไทย” ที่สื่อถึงรัฐชาติไทย กับคำว่า “แทร่” ซึ่งเป็นคำที่เพี้ยนมาจากคำว่า “ของแท้” ที่มักจะปรากฎในโลกอินเตอร์เน็ตในรูปแบบศัพท์สแลงที่สื่อถึงความเจ๋งความเก่งหรือการยอมรับถึงความเป็นของแท้ที่สนุกมาก เป็นการนำเสนอความเป็นไทยจากเลนส์ของคนรุ่นใหม่ เพื่อสะท้อนถึงการเปลี่ยนแปลงภายในสังคมไทยที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ในขณะนี้
Regenerative Commodities
ศิลปิน : Ctrl+R Collective (รวมศิลปิน)
พิกัด : Slowcombo
เราดีใจที่ได้เห็นประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อม การจัดการขยะในเมือง และการดีไซน์ที่เอื้อต่อสิ่งแวดล้อมถูกหยิบขึ้นมาพูดอย่างจริงจังในงานนี้ และพิกัดที่นำเรื่องปัญหาสิ่งแวดล้อมฉบับคนเมืองมาพูดคุยได้ออกแบบเป็นนิทรรศการ เวิร์คช็อป มื้ออาหารได้อย่างครบถ้วนมากๆ ก็คือที่ Slowcombo สามย่านโดยมีกลุ่ม Ctrl+R Collective เป็นผู้จัดงานนำเรื่องปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ดูยากมาเชื่อมโยงให้เป็นเนื้อเดียวกับไลฟ์สไตล์ ตั้งแต่เลี้ยงหนอนแมลงวัน ไปจนถึงการจัดการขยะอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ งานทดลองเปลี่ยนขยะครัวเรือนเป็นงานศิลปะ งานออกแบบแก้วจากขยะ งานจัดดอกไม้ที่ตั้งใจลดขยะ ตัวเลือกวัสดุก่อสร้างจากการเลี้ยงเห็ด ความพิเศษคือมีมื้ออาหารที่รวมเชฟดังด้านสิ่งแวดล้อมและการกำจัดขยะในร้านให้เป็นศูนย์มาโชว์เคสให้เห็นว่าเรื่องสิ่งแวดล้อมกับไลฟ์สไตล์ไปด้วยกันได้จริงๆ
อัณฑะเหมียวครองเมือง
ศิลปิน : จรจัดสรร (รวมศิลปิน)
พิกัด : หอศิลปะและการออกแบบ วิทยาลัยเพาะช่าง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์
“นุด! บ้านเธอมีแมวยัง” ประโยคนี้อาจจะทำให้ใจฟูสำหรับทาสแมวที่อยากมีแมวสักตัวไว้คอยเป็นเพื่อน แต่สำหรับเหล่า “แมวจร” ที่ต้องอยู่ตามท้องถนนหรือศูนย์พักพิงและกำลังรอบ้านหลังสุดท้ายที่อบอุ่น คำนี้สะท้อนปัญหาเรื่องแมวจรจัดในเมืองได้เจ็บปวดมาก เพราะปัจจุบันเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพมหานครมีตัวเลขแมวจรจัดไม่ต่ำกว่า 90,000 ตัว (ประมาณการปี 2565) และมีเพียงน้อยนิดเท่านั้นที่สามารถหาบ้านหลังสุดท้ายของชีวิตได้ ใน Bangkok Design Week 2024 นี้ปัญหาแมวจรจึงถูกยกขึ้นมาพูดอีกครั้งโดยความร่วมมือระหว่าง จรจัดสรร และหอศิลปะและการออกแบบ วิทยาลัยเพาะช่าง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ จัดนิทรรศการ อัณฑะเหมียวครองเมือง เป็นแกลเลอรีกึ่งคาเฟ่แมว ที่มีแมวจริงและเสียงสะท้อนของแมวจรซ่อนอยู่ในนิทรรศการ
นอกจากความน่ารักของแมวจรแล้วในนิทรรศการยังจำลองคอนโดแมวไซส์ใหญ่ให้มนุษย์ได้ขึ้นไปเล่นกับน้องแมว รวมทั้งผลงานศิลปะ “อัณฑะเหมียว” ที่ออกแบบโดยศิลปิน ดารา นักศึกษา ใครถูกใจชิ้นไหนสามารถประมูลกลับบ้านได้เลย โดยเงินจากการประมูลจะนำไปสมทบทุนในการจัดการปัญหาแมวจรกับทางจรจัดสรร
Made in Hua Lamphong
ศิลปิน : RTUS-BANGKOK ริทัศน์บางกอก (รวมศิลปิน)
พิกัด : ย่านหัวลำโพง
หลังจากที่โปรเจ็กต์ Made in Charoenkrung นำคนรุ่นเก๋ามาเจอกับคนรุ่นใหม่ในงาน Bangkok Design Week ตั้งแต่ 2021 ปีนี้ Bangkok Design Week 2024 ได้ส่งต่อโปรเจ็กต์งานดีไซน์ที่เป็นการเจอกันระหว่างคนรุ่นเก๋ากับดีไซนเนอร์รุ่นใหม่สู่ย่าน หัวลำโพงในชื่อ Made in Hua Lamphong ภายใต้ความร่วมมือระหว่าง สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (CEA) และ RTUS-BANGKOK ริทัศน์บางกอก ส่งต่อหัวลำโพงสู่พื้นที่สร้างสรรค์แห่งใหม่ของกรุงเทพฯ Made in Hua Lamphong นำศิลปินนักออกแบบรุ่นใหม่มาร่วมกันใส่ไอเดียออกแบบให้กับร้านค้าเก่าแก่ที่อยู่คู่กับย่านหัวลำโพงมานานหลายปีและส่งต่อธุรกิจจากรุ่นสู่รุ่น ให้ร้านเก่าที่มีความเก๋าอยู่แล้วได้เข้ามาอยู่ในใจคนรุ่นใหม่และเข้ากับบริบทของยุคสมัยที่เปลี่ยนไป เป็นการรีแบรนด์ธุรกิจประจำย่านเหล่านี้ให้มีความทันสมัย แต่ยังคงความเก๋า เอกลักษณ์ดั้งเดิมของทางร้านไว้ ซึ่งในปีนี้มีร้านค้าเก่าแก่ประจำย่านที่เข้าร่วมทั้งหมด 6 ร้านค้า ส่วนนักออกแบบรุ่นใหม่มีทั้งหมด 5 ดีไซเนอร์/สตูดิโอ ได้แก่ ศิลป์เมือง x ease studio, บ้านอิตาลี x COTH Studio, โหราศาสตร์น่ำเอี๊ยง x Ek Thongprasert, โรงงานกระดาษชัยกิจ x Likaybidery, เบ๊โอชา x witti Studio และ ขนมผักกาดอาม่าชอเค็ง x witti Studio
Fact File
• Bangkok Design Week 2024 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 28 มกราคม – 4 กุมภาพันธ์ 2567
• ภายในพื้นที่จัดงานมีบริการรับส่งด้วย Go Go Bus! รถบัสชานสูงพลังงานไฟฟ้า 100% เปิดให้บริการตั้งแต่เวลา 09:00 – 21:00 น. ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ทาง LINE OA ของงาน Bangkok Design Week