เปิดลายแทง 5 ย่าน กับ 9 ไฮไลต์ Bangkok Design Week 2022
Lite

เปิดลายแทง 5 ย่าน กับ 9 ไฮไลต์ Bangkok Design Week 2022

Focus
  • เทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ 2565 หรือ Bangkok Design Week 2022 เริ่มขึ้นแล้ว พร้อมความพิเศษตลอด 9 วัน ตั้งแต่ 5-13 กุมภาพันธ์ 2565
  • Bangkok Design Week 2022 กลับมาพร้อมคอนเซปต์ “Co With Creation คิด สร้าง ทางรอด” ในการชวนเหล่านักออกแบบมาร่วมหาไอเดียสร้างสรรค์ในการอยู่ร่วมกับสถานการณ์โควิด-19

เทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ 2565 หรือ Bangkok Design Week 2022 กำลังเริ่มขึ้นแล้ว พร้อมความพิเศษตลอด 9 วัน ตั้งแต่ 5-13 กุมภาพันธ์นี้ โดยในปีนี้ขยับขยายพื้นที่กระจายสีสันของงานออกแบบสู่ 5 ย่านซึ่งแน่นอนว่าต้องมีย่านหลักของงานในทุก ๆ ปีอย่าง ย่านเจริญกรุง-ตลาดน้อย ตามมาด้วย สามย่าน ทองหล่อ-เอกมัย อารีย์-ประดิพัทธ์ และการเปิดตัวย่านสร้างสรรค์ใหม่อย่าง พระนคร ที่อัดแน่นไปด้วยพื้นที่ต้นทุนทางวัฒนธรรม

Bangkok Design Week 2022

ปีนี้ Bangkok Design Week 2022 กลับมาพร้อมคอนเซปต์ที่ชื่อว่า “Co With Creation คิด สร้าง ทางรอด” ในการชวนเหล่านักออกแบบมาร่วมหาไอเดียสร้างสรรค์ในการอยู่ร่วมกับสถานการณ์โควิด-19 จนถึงทุกสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในหลากหลายแง่มุม แบ่งออกได้เป็น 5 ประเด็นใหญ่ ๆ นั่นคือ Co with Space งานออกแบบพื้นที่ Co with Mental Health งานออกแบบที่ช่วยบรรเทาความสาหัสของจิตใจจากช่วงโควิด-19 Co with Eco งานออกแบบเพื่อชะลอเวลาของวิกฤติสิ่งแวดล้อม Co with Culture งานออกแบบที่หยิบวัฒนธรรมมาสร้างสรรค์และนำเสนอมุมใหม่ สุดท้ายที่ขาดไม่ได้คือ Co with Future งานออกแบบที่ทำงานร่วมกับเทคโนโลยีเพื่ออนาคต ไม่รอช้า Sarakadee Lite ขอพาทุกคนออกทัวร์พร้อมกันเลยว่าในปีนี้มีไฮไลต์จุดไหนที่ไม่ควรพลาดบ้าง

Bangkok Design Week 2022

01 CO WITH GARDEN

ศิลปิน : CEA x Kernel Design

สถานที่ : บริเวณหน้าอาคารไปรษณีย์กลาง

เวลาจัดแสดง : 11:00-22:00 น.

ช่วงนี้บริเวณหน้าอาคารไปรษณีย์กลางดูสดชื่นขึ้นทันตาด้วยสีสันของดอกไม้ที่ CEA และ Kernel Design ทดลองพัฒนาต้นแบบพื้นที่สีเขียวขึ้นเพื่อให้ผู้คนยังสามารถออกมาเอ็นจอยและใช้เวลากับพื้นที่สาธารณะนอกบ้านได้อย่างสบายใจ เป็นพื้นที่สาธารณะแบบเปิดที่มีอากาศไหลเวียน ไม่แออัด

พื้นที่ขนาดรวม 800 เมตรบริเวณด้านหน้าอาคารไปรษณีย์กลางจึงถูกแต่งแต้มด้วยสวนสีเขียวและพืชพรรณดอกไม้โดยอาศัยการตีความในการออกแบบสวนแห่งนี้จากพื้นที่ต่าง ๆ ในบ้าน เลือกพืชพรรณจากธีมการใช้สอยของห้องแต่ละห้อง อาทิ ธีมห้องนอนจะตกแต่งด้วยดอกไม้ที่ให้กลิ่นหอม มีคุณสมบัติดักฝุ่น และดอกไม้สีฟ้าที่ช่วยให้หลับสบาย ธีมห้องนั่งเล่นเป็นดอกไม้สีสันสดใสเพื่อรอต้อนรับแขก ธีมห้องทำงานเป็นดอกไม้โทนสีเหลือง ที่ช่วยในการจดจ่อ จุดนี้นอกจากจะเป็นสปอตถ่ายรูปที่ดูมีสีสันและสดชื่น ผู้ที่มาชมยังสามารถนำไปต่อยอดปรับใช้กับพื้นที่ส่วนตัวตามรูปแบบการใช้ชีวิตของตัวเองได้อีกด้วย โดยในอนาคตจะมีการอัพโหลดแปลนพิมพ์เขียวเกี่ยวกับการดีไซน์นี้ให้ติดตามทางเว็บไซต์ของ CEA สำหรับผู้ที่สนใจรอติดตามการอัพเดตและลองเข้าไปศึกษากันดูได้เลย

Bangkok Design Week 2022

02 ผ้าป่า Design Week

ศิลปิน : DOTS x QUALY

สถานที่ : TCDC Creative Space ชั้น 5

เวลาจัดแสดง : 11:00-21:00 น.

เคยสงสัยไหมว่า พิธีการทางศาสนายังจำเป็นกับคนยุคปัจจุบันอยู่หรือเปล่า? เช่นเดียวกันคำถามนี้ทำให้ DOTS x QUALY เริ่มต้นงานออกแบบเชิงทดลองโดยหยิบกิมมิคของการใส่ซองผ้าป่าหรือการส่งต่อ มาผสานเข้ากับแนวคิด Circular Economy ไปจนถึงเรื่องของการ Upcycling ทั้งยังพ่วงเรื่องของเทคโนโลยีเข้ามาในการสร้างสรรค์แพลตฟอร์มเพื่อให้เราแน่ใจได้ว่าจุดหมายของการบริจาคสิ่งต่าง ๆ ของเราไปจบที่ไหน เป็นการแบ่งปันการบริจาคแก่องค์กรใด เช่น การอัพเดตยอดบริจาคแบบเรียลไทม์ผ่านเว็บไซต์ www.attanona.com

ไอเดียสร้างสรรค์ที่น่าสนใจของงานนี้คือนอกจากการบริจาคด้วยจำนวนเงินคู่กันไปก็ยังเปิดรับการบริจาคขยะรีไซเคิลประเภทพลาสติกและแก้ว เพื่อนำไปสู่กระบวนการ Recycled – Upcycling ต่อ ผลลัพธ์ที่เห็นเป็นรูปธรรมของวงจร Circular Design นี้คือของที่ระลึกภายในงานอย่าง พระเครื่อง (ผู้เข้าชมจะได้รับเมื่อบริจาคเงินจำนวน 100 บาท หรือขยะรีไซเคิล 1 กิโลกรัม) ที่ผลิตขึ้นจากขยะรีไซเคิล อาทิ ขวด PET ฝาขวดน้ำ ถุงนมหรือถุงฟอยล์ ซึ่ง DOTS x QUALY ตั้งใจสร้างสรรค์ของที่ระลึกนี้ขึ้นมาเพื่อเป็นสัญลักษณ์ของการแบ่งปันและการมีสติโดยเฉพาะกับในการใช้ทรัพยากร ซึ่งทำให้ผู้ชมสามารถเห็นผลลัพธ์ของการจัดการทรัพยากรหมุนเวียนได้อย่างชัดเจนเป็นรูปธรรมมากขึ้น คล้ายกับวงจรการเวียนว่ายตายเกิด

Bangkok Design Week 2022

03 PS±D Co WE ARE IN THE SAME GAME

ศิลปิน : Practical School of Design

สถานที่ : TCDC Resorce Center ชั้น 4

เวลาจัดแสดง : 11:00-21:00 น.

ในช่วงโควิด-19 แน่นอนว่าผลกระทบได้สะเทือนไปถึงทุกวงการ โดยเฉพาะในด้านกำลังใจที่ต้องอาศัยแรงฮึบกันหลายต่อหลายครั้ง สำหรับ We Are In The Same Game เป็นแคมเปญโดย Practical School of Design ที่ชวนนักออกแบบและศิลปินจากทั่วเอเชียมาส่งกำลังใจให้เหล่านักกีฬาในช่วงที่โอลิมปิกได้เลื่อนการจัดการแข่งขันครั้งที่ 32 หรือ โอลิมปิก 2020 ออกมาร่วมปี

นักออกแบบและศิลปินจากประเทศจีน อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้และไทยกว่า 200 คนเลยร่วมกันส่งผลงานจากหลากเทคนิคเพื่อจัดแสดงในแคมเปญนี้ โดยก่อนหน้านิทรรศการ We Are In The Same Game เคยจัดแสดงที่ต่างประเทศมาแล้วหลายครั้ง สำหรับการจัดแสดงที่ประเทศไทยมีผลงานจากศิลปินชาวไทยเข้าร่วมกว่า 100 คน ซึ่งนอกจากผลงานจะเป็นการส่งเสียงเชียร์ถึงนักกีฬายังตั้งใจต่อยอดกำลังใจให้ทุกคนก้าวผ่านช่วงเวลายาก ๆ ไปได้ด้วย

สามารถชมผลงานแบบออนไลน์ได้ทาง https://weareinthesamegame.com/th

04 จักรวาลใจ Mental-Verse

ศิลปิน : Eyedropper Fill

สถานที่ : Rivercity ชั้น 2

เวลาจัดแสดง : 11:00-20:00 น. แต่ละวันแบ่งเป็น 4 รอบเข้าชม 11:30 , 13:30 , 15:30 และ 17:30 น. (จำกัดรอบละ 30 คน)

หากยังจำกันได้ ปีที่แล้ว Eyedropper Fill เคยจัดนิทรรศการ AramArom ในรูปแบบ Interactive Installation Art เพื่อชวนทุกคนสำรวจจิตใจของตัวเองโดยมีสื่อกลางอย่างศิลปะเป็นจุดเชื่อมโยง ปีนี้ Eyedropper Fill ยังคงสร้างสรรค์ผลงานเกี่ยวกับจิตใจ แต่เป็นการชวนทุกคนเชื่อมใจเขาถึงใจเรา ด้วยการพาไปสำรวจโลกซึมเศร้า ผ่านภาพยนตร์ความยาวประมาณหนึ่งชั่วโมงครึ่ง (Trigger Warning : ภาพยนตร์มีเนื้อหาที่พูดถึงการฆ่าตัวตายและทำร้ายร่างกาย ไม่เหมาะสำหรับผู้ชมที่มีภาวะซึมเศร้ารุนแรงหรือเซนซิทีฟต่อเนื้อหาที่กระทบต่อจิตใจ)

ดีไซน์ของห้องจัดฉาย ได้แรงบันดาลใจมาจากห้องนอนซึ่งเปรียบเสมือนพื้นที่ซึ่งเป็นทั้งจุดเริ่มต้นและจุดจบของแต่ละวัน เป็นพื้นที่ที่เรื่องราวในจิตใจเกิดขึ้นได้อย่างมหาศาล สำหรับเนื้อหาสารคดีแบ่งออกเป็น 3 พาร์ทจากบุคคล 3 เจนเนอเรชันซึ่งต่างผ่านเหตุการณ์และมีบริบทแวดล้อมที่ต่างกัน ภาพยนตร์จักรวาลใจจึงมีจุดประสงค์สำคัญคือการจุดประกายให้เกิดการรับฟังอย่างเข้าใจ ไปจนถึงการมองเห็นบริบททางสังคมที่แวดล้อมอยู่รอบตัวบุคคล แต่สิ่งสำคัญที่สุดในการเข้าชมนิทรรศการนี้คือการประเมินความรู้สึกของตนเองไปพร้อมกันด้วย ซึ่งหากชมแล้วรู้สึกรับไม่ไหว ผู้ชมสามารถที่จะหยุดแล้วเดินออกมาได้ทุกช่วง

Bangkok Design Week 2022

05 The Standard Presents Jaime Hayon

ศิลปิน : ไฮเม่ ฮายอน (Jaime Hayon)

สถานที่ : อาคารชัยพัฒนศิลป์

เวลาจัดแสดง : 11:00-21:00 น.

สำหรับต้นปีที่ผ่านมาหลายคนน่าจะได้ยินการพูดถึง The Standard แบรนด์โรงแรมไลฟ์สไตล์สัญชาติอเมริกันที่นำแสงแดดของชายหาดไมอามีมาไว้ที่ทะเลหัวหิน กับการเปิดตัวครั้งแรกในไทยบนจุดหมายใหม่อย่างหัวหิน (เปิดตัว 1 ธันวาคม พ.ศ.2564) และขยายสู่กรุงเทพฯ ซึ่งกำลังจะเปิดบริการในเดือนพฤษภาคมปีนี้ โดยการออกแบบสร้างความสดใสสำหรับ The Standard, Bangkok Mahanakhon ได้ ไฮเม่ ฮายอน (Jaime Hayon) ศิลปินชาวสเปนมาดีไซน์การตกแต่งภายในให้

สำหรับนิทรรศการครั้งนี้  ไฮเม่ ฮายอน ได้มาร่วมจัดแสดงผลงานในรูปแบบ Shadow Theatre โดยรวบรวมผลงานภาพวาดที่เคยสร้างสรรค์ในช่วงก่อนหน้ามานำเสนอในรูปแบบ 3 มิติ ได้แรงบันดาลใจมาจากโรงละครสัตว์ ผสมผสานกลิ่นอายวัฒนธรรมแบบไทย ผลลัพธ์จึงเป็น Installation Art ที่ได้แรงบันดาลใจมาจากหนังตะลุงวัฒนธรรมท้องถิ่นของภาคใต้ ซึ่งโดยภาพรวมเป็นการนำเสนอวัฒนธรรมล้อไปกับดีไซน์และ Culture เฉพาะตัวแบบของ The Standard อย่างโทนสีขาวแดง บรรยากาศไนท์ไลฟ์และความเป็นแฟชั่นผสานกับเสียงดนตรี

Bangkok Design Week 2022

06 AriCoin Kindness Exchange

ศิลปิน : Ari Around

สถานที่ : 6 จุดย่านอารีย์-ประดิพัทธ์

หลังจากเปิดตัวพร้อม Bangkok Design Week ปีที่แล้ว Ari Around ยังคงเดินหน้าพัฒนาแพลตฟอร์มเพื่อส่งเสริมการพัฒนาย่านอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะเรื่องสิ่งแวดล้อมอย่างการจัดการขยะโดยมีสื่อกลางอย่างการแลกเปลี่ยนเหรียญอารีย์ หรือ AriCoin ผ่านแอปพลิเคชัน Ari Around มาเป็นตัวกระตุ้นสร้างแรงจูงใจ ซึ่งปีนี้มาพร้อมกับสิทธิพิเศษจากร้านค้าทั่วย่านให้ได้ทดลองใช้เหรียญ AriCoin กัน (สามารถดูรายละเอียดการแลกเหรียญได้ที่ Facebook : Ari Around)

ปีที่แล้วมีจุดหลักของ Ari Around อยู่ที่ FEAST Ratchakru ปีนี้ก็เช่นเคย แต่เพิ่มมาอีก 5 จุดทั่วย่านคือ Yellow Lane cafe, The Yard Hostel, The Hub, Ari Around Drop off Station SPK และโครงการ Somewhere ที่นอกจากจะสามารถนำขยะรีไซเคิลไปแลกรับ AriCoin ได้แล้ว ปีนี้ที่ FEAST Ratchakru ยังเพิ่มการรับขยะเปียกจากเศษอาหารเข้ามาด้วย รวมถึงในแต่ละจุดยังมาพร้อมกิจกรรมพิเศษให้สนุกร่วมกัน อาทิ Yellow Lane cafe กับการจัดแสดง Ari-Artcycle นิทรรศการหมุนขยะเป็นศิลปะ เพื่อสร้างมูลค่าใหม่ให้ขยะกลับมามีคุณค่าอีกครั้งได้ จุดนี้เข้าชมได้ตั้งแต่ 09:00-17:00 น.

07 Co with 360 องศา Movies

ศิลปิน :  ฮอเก้ แบนเดร่า (Jorge Bandera) , FRACTAL TIME โดย จูเลียส (Julius Horsthuis) และ ไทเลอร์ เจมส์ (Tyler James)

สถานที่ : Faamai Dome ข้างอุทยาน 100 ปี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เวลาจัดแสดง : 17:00-21:00 น.

อย่างที่กล่าวไปว่าปีนี้มากับคอนเซปต์ที่พูดถึงการผสมผสานงานออกแบบกับ 5 ประเด็นหลัก หนึ่งในนั้นคือเรื่องของเทคโนโลยีและโลกอนาคต โดยเฉพาะโลก Metaverse ที่เริ่มเข้ามามีบทบาท สำหรับสามย่านบริเวณ Faamai Dome จะมีการจัดฉาย 2 ภาพยนตร์ที่นำเสนอประเด็นเกี่ยวเนื่องกับโลกเสมือน นั่นคือ Desconexion โดย ฮอเก้ แบนเดร่า (Jorge Bandera) ศิลปินจากโคลอมเบีย และ Fractal Time โดย จูเลียส (Julius Horsthuis) ศิลปินดิจิทัลอาร์ตจากอัมสเตอดัม นอกจากนั้นบริเวณด้านนอกโดม จะมีการจัดฉายผลงานสองชิ้นที่พูดถึงการใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับสถานการณ์โควิดและการเผชิญกับการเปลี่ยนแปลง โดยศิลปิน ไทเลอร์ เจมส์ (Tyler James) ไปควบคู่กันด้วย

ลงทะเบียนเข้าชมและสำรองที่นั่งสำหรับภาพยนตร์ล่วงหน้าได้ทาง bit.ly/3rBlS9b

Bangkok Design Week 2022

08 New World x Old Town Part2

ศิลปิน :  รวมศิลปิน

สถานที่ : นิวเวิลด์

เวลาจัดแสดง : 17.00-21.00 น.

หากยังจำกันได้กลางปี 2563 ย่านบางลำพูกลายเป็นทอล์คออฟเดอะทาวน์ทั้งฝั่งพระนครและฝั่งธนบุรีอีกครั้ง กับการกลับมาเปิดให้เข้าชมภายในอาคาร “นิวเวิลด์” ห้างสรรพสินค้าที่เคยรุ่งเรืองที่สุดแห่งยุคผ่านนิทรรศการ ARCH SU FEST: 2020 | New World x Old Town ซึ่งครั้งนั้นเป็นการนำความทรงจำของห้างนิวเวิลด์จากมุมมองของคนในชุมชนย่านบางลำพูมาสู่ความรับรู้ของผู้คนภายนอก และมาปีนี้นิวเวิลด์กำลังจะเฉิดฉายอีกครั้งผ่านนิทรรศการ New World x Old Town Part2 ปฏิบัติการสร้างสรรค์และออกแบบมุมมองโดย คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร, ประชาคมบางลำพู และ เกสรลำพู, เสน่ห์บางลำพู, HUI Team Design, Saturate, คณะดุริยางคศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร, กลุ่มแสงปลากบ, L&E Lighting & Equipment PCL – Thailand Lightspace-TH  และ Mosaic Eins

ภาพจาก : Urban Ally

สำหรับด้านในนิวเวิลด์ แบ่งออกเป็นงานศิลปะอินสตอลเลชั่นผสมแสงสีและดนตรี 9 ชิ้น เล่าเรื่องราวประวัติศาสตร์บางตอนของบางลำพูและนิวเวิลด์ เริ่มจากของขึ้นชื่อของย่านที่มีทั้งแต่ชุดนักเรียน ธงชาติ สังฆภัณฑ์ ไปจนถึงอาหารการกิน ต่อด้วยการบันทึกเสียงของย่านที่ประกอบด้วยชีวิตในแง่มุมต่างๆ มาเรียบเรียงใหม่ รวมไปถึงความหลากหลายของย่านที่ประกอบด้วยคนหลากหลายเชื้อชาติ การเกิดขึ้นของถนนข้าวสารที่ทำให้ย่านค้าขายที่กำลังจะตายกลับมามีชีวิตอีกครั้ง เช่นเดียวกับสีทองของวัดวังที่เคยเป็นสีที่ดึงดูดผู้คนและเศรษฐกิจให้เติบโตบนย่านบางลำพู

บุคคลทั่วไปลงทะเบียนผ่าน EVENTBRIGHT https://shorturl.asia/5Vpzn (ผู้ลงทะเบียนต้องแสดงหลักฐานการจองจากอีเมล์ยืนยันทางอีเมล์ที่กรอกไว้บริเวณทางเข้างาน) ส่วนชาวบางลำพู (ผู้อยู่อาศัย/ทำงานในพื้นที่ 7 ชุมชน และย่านบางลำพู) ลงทะเบียนหน้างาน รอบละ 15 คน

09 Future Paradise

ศิลปิน :  The Design and Objects Association (D&O)

สถานที่ : โรงพิมพ์บำรุงนุกูลกิจ

เวลาจัดแสดง : 11.00-20.00 น.

ด้วยความแข็งแรงของประวัติศาสตร์และความโดดเด่นของสถาปัตยกรรม ทำให้ โรงพิมพ์บำรุงนุกูลกิจ โรงพิมพ์เก่าแก่ในสมัยรัชกาลที่ 5 คือจุดหมายไฮไลต์ของย่านพระนคร ในอดีตโรงพิมพ์ใกล้เสาชิงช้าแห่งนี้ถือเป็นโรงพิมพ์สุดทันสมัย มีเครื่องจักรขนาดใหญ่ และมีพนักงานผู้ชำนาญการพิมพ์ไม่ต่ำกว่า 70-80 คน ผลงานพิมพ์ส่วนใหญ่เป็นหนังสืองานศพ หนังสือแบบเรียน รวมทั้งหนังสือของหลวง เช่น ราชกิจจานุเบกษา เป็นต้น และผลงานที่สำคัญสุด คือ การพิมพ์หนังสือโดยเสด็จพระราชกุศลในงานต่างๆ

ในแง่มุมความโดดเด่นด้านสถาปัตยกรรม โรงพิมพ์บำรุงนุกูลกิจ เป็นอาคารก่ออิฐถือปูนโครงสร้างอาคารเป็นแบบผนังรับน้ำหนักผสมโครงสร้างเหล็กและไม้ หลังคาทรงปั้นหยา มุงด้วยกระเบื้องซีเมนต์รูปว่าว สันนิษฐานว่าออกแบบและควบคุมการก่อสร้างโดยช่างชาวยุโรป ทั้งนี้รูปแบบสถาปัตยกรรมของตัวอาคารเป็นแบบผสมผสาน (Eclectic style) ระหว่างสถาปัตยกรรมแบบคลาสสิกและวิกตอเรียน ประดับลวดลายปูนปั้นแบบฝรั่ง ลายหินอ่อนชนิดฉาบปูนผสมสีฝุ่น และงานไม้ฉลุลายที่ใช้ประดับตกแต่งภายนอกอาคาร กรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานเมื่อวันที่ 17 มีนาคม พ.ศ.2542

สำหรับ โรงพิมพ์บำรุงนุกูลกิจ ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของป๊อปอัพคาเฟ่ Craftsman ซึ่งจะเปิดให้บริการถึงเดือนกันยายนปีนี้ และในงาน Bangkok Design Week ก็มีนิทรรศการขนาดย่อม “หนังสือจากโรงพิมพ์ : Publishing and the Published” บอกเล่าประวัติศาสตร์โรงพิมพ์ผ่านหนังสือเก่าอายุนับร้อยปีที่เคยตีพิมพ์จากโรงพิมพ์บำรุงนุกูลกิจมาร่วมจัดแสดงและเก็บรักษาไว้ในสำนักหอสมุดกลาง มหาวิทยาลัย ศิลปากร ส่วนยามค่ำคืนมีการจัดไลต์ติ้งภายนอกอาคาร ออกแบบแสง โดย Fos Lighting Design Studio ที่บอกเล่าที่มาแสงว่า “เราจะหยุดนิ่ง และปล่อยให้ …งานสถาปัตยกรรมนำแสงไฟ”

อีกนิทรรศการไฮไลต์ที่ห้ามพลาดคือ Future Paradise โดยนักออกแบบชาวไทยจากกลุ่ม The Design and Objects Association (D&O) ซึ่งได้ชวนกันมาขบคิดถึงเฟอร์นิเจอร์ในยุคอนาคต ซึ่งภาพแรกหลายคนอาจจะมองภาพความล้ำของเทคโนโลยีและวัสดุ ทว่าเมื่อแต่ละแบรนด์ได้ตกตะกอนความคิด อนาคตของพวกเขาแม้จะมีดีไซน์ล้ำขนาดไหนก็ยังโหยหาอดีตและรากเหง้าตัวตน นั่นจึงทำให้ผู้ชมได้เห็นการผสมผสานระหว่างวัสดุร่วมสมัยและเทคนิคหัตถกรรมท้องถิ่น และวัสดุในท้องถิ่นที่สวยเท่ได้อย่างน่าทึ่ง ซึ่งนี่ก็คือลายซ็นต์ของแบรนด์เฟอร์นิเจอร์ไทย

Fact File


Author

สุกฤตา โชติรัตน์
มนุษย์ผู้ค้นพบพลังงานพิเศษจากประโยคในหนังสือ อาหารจานโปรดและเพลงที่ฟัง อยากเลี้ยงแมวและตั้งใจว่าจะออกไปมองท้องฟ้าบ่อยๆ

Photographer

ชัชวาล จักษุวงค์
เคยเป็นนักรีวิว gadget มานานหลายปี ตอนนี้หันมาเอาดีด้านงานถ่ายภาพ ถนัดงานด้านการบันทึกภาพวิถีชีวิตผู้คนและสายการเดินทางท่องเที่ยว