บ้าน ๆ น่าน ๆ ห้องสมุดที่เป็นมากกว่าห้องเก็บหนังสือ แต่คือความรื่นรมย์ของชีวิต
- บ้าน ๆ น่าน ๆ ห้องสมุดและเกสต์โฮมที่มีทั้ง กาแฟ หนังสือ ที่พัก บุกเบิกโดยครูต้อมที่ให้คำนิยามหนึ่งว่าที่นี่คือห้องสมุดที่มองสู่อนาคต
- ขณะเดียวกันครูต้อมยังกล่าวอีกว่าห้องสมุดไม่ได้เกิดขึ้นได้ด้วยตัวเธอคนเดียว นั่นอาจเป็นเหตุผลที่เธอยังคงอยู่เบื้องหลังกิจกรรมอ่าน ๆ เขียน ๆ ในเมืองน่านเสมอ
“กาแฟ หนังสือ ที่พัก” คีย์เวิร์ดสามคำที่เรามักเห็นอยู่เสมอพร้อมกับชื่อ บ้าน ๆ น่าน ๆ และเมื่อมาถึงเราก็พบว่าที่แห่งนี้มี “กาแฟ หนังสือ ที่พัก” อย่างที่ว่าจริงๆ ส่วนรายละเอียดที่มากกว่านั้นเราคงต้องยกเวทีให้ ครูต้อม-ชโลมใจ ชยพันธนาการ ผู้เป็นเจ้าของบอกเล่าให้ทุกคนฟัง แต่ก่อนอื่นเธอกำลังง่วนอยู่กับการทำเครื่องดื่มหลังมุมกาแฟ ต่อเมื่อครบทุกแก้วที่แขกต้องการจึงมีเวลามาเปิดบทสนทนาย้อนเล่าให้เราฟังถึงพื้นที่อันเป็นทั้งห้องสมุด ร้านกาแฟ ที่พักและร้านหนังสืออิสระ (มาก) แห่งนี้
ย้อนกลับไปในปี พ.ศ. 2548 ครูต้อม ครูภาษาไทยนักกิจกรรมย้ายกลับมาสอนที่โรงเรียนสตรีศรีน่านในจังหวัดน่านบ้านเกิด ประจวบเหมาะกับเป็นปีที่เธอมีเหตุให้ต้องซื้อบ้านเก่าหลังนี้ แต่ ณ ตอนนั้นไอเดียในการทำห้องสมุดยังคงถูกซ่อนอยู่ในใจ ไม่ได้บอกเล่าให้ใครฟัง
“เป็นครูภาษาไทยที่ทำกิจกรรมเกี่ยวกับการขีดเขียนมานาน และตัวเองก็เขียนหนังสือบ้างตอนที่ยังไม่ได้ทำกิจกรรมกับเด็ก พอเราเขียนหนังสือและได้เผยแพร่มันมีความสุขมาก แต่กว่าครูจะพบความรู้สึกแบบนั้นก็มีอายุเกือบ 40 ปีแล้วในช่วงที่เรียนปริญญาโทจบและมีเวลาทำ ตอนนั้นเราก็คิดว่าถ้าเจอความรู้สึกนี้ตั้งแต่เรายังเด็กล่ะ มันน่าจะดีกว่านะ เลยชวนเด็ก ๆ ทำหนังสือและเราเป็นบรรณาธิการให้ เมื่อก่อนเราเป็นครูที่ทำกิจกรรมอยู่แล้ว ไปเข้าค่ายอนุรักษ์จะชวนเด็ก ๆ กลับมาจดบันทึกกัน ทำหนังสือทำมือกันในค่าย จากนั้นก็ชวนกันมาทำเป็นหนังสือรายเดือน ตั้งเป็นชมรมคนรักตัวอักษร เราทำมาเรื่อย ๆ เลยได้รู้จักกับเพื่อนฝูงที่เป็นนักเขียนนักกวี”
ครูต้อมเล่าถึงจุดเริ่มต้น ก่อนที่วันหนึ่งจะได้รับความเชื่อมั่นจากเพื่อนนักเขียนจนตัดสินใจเปิดห้องสมุดตามที่ตั้งใจขึ้นมา โดยที่ภายหลังค่อย ๆ ขยับขยายเพิ่มเติมเปิดเป็นที่พักจำนวน 4 ห้องในพื้นที่ตั้งอยู่ติดกัน และยังมีเครื่องดื่มให้ได้นั่งพักจิบกาแฟหรือเครื่องดื่มเย็นๆ ระหว่างอ่านหนังสือ พร้อมด้วยหนังสือจากเพื่อนนักเขียนทั่วสารทิศให้ได้หยิบจับซื้อติดกลับไป
“เราเป็นคนชอบอ่านหนังสือแบบมีบรรยากาศ มีความสวยงาม การอ่านหนังสือมันจะมีหลายแบบ ถ้าอ่านหนังสือที่จรรโลงใจ จรรโลงอารมณ์ก็จะชอบบรรยากาศที่ผ่อนคลาย มีต้นไม้ สบายๆ ไม่ชอบห้องสมุดที่แข็ง ๆ แบบที่เราเคยเจอตอนเด็กๆ เราไม่อยากเป็นห้องสมุดที่มองเห็นอดีต คนมา บ้าน ๆ น่าน ๆ แล้วอาจจะมองว่าที่นี่มีของเก่า แต่เก่าของเรา มันเป็นเก่าที่มองสู่อนาคต”
บรรยากาศของที่นี่จึงให้ความรู้สึกที่ปลอดโปร่งและสบาย ไม่ได้เคร่งขรึมและเงียบจนขยับตัวลำบาก พื้นที่ชั้นล่างนอกจากชั้นวางหนังสือจากทุกสารทิศยังมีสิ่งละอันพันละน้อย อาทิ โปสต์การ์ด เซรามิก ภาพเขียน แทรกอยู่ด้วยโต๊ะที่นั่งที่จัดวางอยู่อย่างสบายๆ ให้นั่งทอดหุ่ยจิบกาแฟ อ่านหนังสือ ขีดเขียนหรือหากสายตาล้าเข้าหน่อยก็หันไปมองสวนได้ ส่วนชั้นบนมีห้องเก็บหนังสือ ที่นั่ง เบาะนั่งและโถงระเบียงที่เรายังคงเห็นร่องรอยของกิจกรรม “ค่ายฝึกเขียน nan dialogue” วางอยู่ เราแอบถามถึงความเกี่ยวเนื่องด้วยคิดว่าเธออยู่เบื้องหลัง แต่เปล่าครูต้อมกล่าวว่า หัวแรงสำคัญของ น่าน ไดอะล็อก คือนักเขียนรุ่นใหญ่อย่าง หนึ่ง-วรพจน์ พันธุ์พงศ์ บรรณาธิการของสื่อสิ่งพิมพ์ฉบับนี้ที่บอกเล่าเรื่องราวของชาวเมืองน่านผ่านบทสนทนาและตัวอักษร พร้อมเรื่องเล่าจากผู้คนจังหวัดอื่นๆ ที่แวะเวียนเข้ามาทักทายบ้างในรูปแบบจดหมาย ซึ่งอันที่จริงครูต้อมที่ปัจจุบันให้นิยามตนเองหลังปล่อยมือจากอาชีพครูว่า “บรรณาริสต้า” ก็ยังคงมีส่วนปลุกปั้นกิจกรรมอ่าน ๆ เขียน ๆ เหล่านี้ร่วมด้วยอยู่เสมอ
กิจกรรมใหญ่งานหนึ่งที่เกิดขึ้นที่ บ้าน ๆ น่าน ๆ เป็นประจำทุกปี คือ Nan Poesie ซึ่งคำว่า poesie เป็นภาษาฝรั่งเศส แปลว่า บทกวี งานนี้จึงเป็นการชวนกวีมาจากทั่วสารทิศมาอ่านบทกวีกันแบบสด ๆ คราวต่อไปหากไม่มีอะไรผิดแผนเห็นว่าจะเกิดขึ้นราว ๆ เดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งระหว่างนั้นก็จะมีกิจกรรมแวะเวียนเข้ามา อย่างเช่น เสวนานักอ่านพบนักเขียน นิทรรศการภาพจนถึงภาคบันเทิงอย่างดนตรี
“ห้องสมุดไม่ได้เกิดจากครูเพียงคนเดียว จริงที่ครูเป็นเจ้าของสถานที่ เจ้าของไอเดีย แต่มันขับเคลื่อนได้ด้วยเพื่อน ๆ ที่อยู่ในแวดวงนักเขียนด้วย” ครูต้อมกล่าวทิ้งท้าย
Fact File
- บ้านๆ น่านๆ เลขที่ 14 ถนนมณเฑียร ตำบลในเวียง อำเภอเมือง จังหวัดน่าน (ใกล้กับวัดมณเฑียร) ห้องสมุดและกาแฟเปิดทำการ เฉพาะวันศุกร์-จันทร์ เวลา 8.00-17.00 น. ส่วนที่พักเปิดทำการทุกวัน
- โทร. 08-9859-5898
- Facebook : www.facebook.com/BanbanNannan
- Instagram : www.instagram.com/banbannannan
ภาพ : ไรวินทร์ วันทวีทรัพย์ (CEA)