โปรดเดินตามกระต่ายขาวถือนาฬิกาพก : ย้อนรอยความพิลึกพิลั่นและตรรกะพิศวงใน Alice in Wonderland
Lite

โปรดเดินตามกระต่ายขาวถือนาฬิกาพก : ย้อนรอยความพิลึกพิลั่นและตรรกะพิศวงใน Alice in Wonderland

Focus
  • Alice in Wonderland (1951)เวอร์ชันแอนิเมชันสีสดใสกำกับ โดย ไคลต์ เจอโรนิโม (Clyde Geronimo), วิลเฟรด แจ็กสัน(Wilfred Jackson) และ ฮามิลตัน ลุสเก(Hamilton Luske)
  • นอกจากภาพยนตร์แอนิเมชันแล้ว Alice in Wonderland ยังได้ถูกดัดแปลงเป็นภาพยนตร์อีกมากครั้งโดยนักสร้างภาพยนตร์เลื่องชื่อหลายคน อาทิ ทิม เบอร์ตัน (Tim Burton) และยาน สแวงก์มาเยอร์ (Jan Svankmajer)

ในโลกในทศวรรษ 50’s ภายใต้หมอกไอกลิ่นโศกและความสะเทือนใจหลังจบสงครามโลกครั้งที่ 2 นี่เป็นห้วงเวลาเริ่มต้นของสงครามเย็น ในราว ค.ศ. 1951 ประเทศมหาอำนาจฝ่ายโลกเสรีและสหภาพโซเวียตกำลังจ้องจะจัดระเบียบโลกใหม่ให้เป็นไปตามอุดมการณ์ของตน และปีเดียวกันนี้ภาพยนตร์แอนิเมชันสีสดเพลงไพเราะ Alice in Wonderland (1951)จากบริษัทผู้สร้างโลกแห่งจินตนาการชื่อดังแห่งยุค วอลต์ ดิสนีย์ ออกฉายสู่สายตาผู้ชม ดัดแปลงโครงเรื่องจาก Alice’s Adventures in Wonderland (1865) วรรณกรรมสุดพิลึกพิลั่นในโลกวันเดอร์แลนด์ของ ลูอิส แครอลล์ (Lewis Carroll) แก่นเรื่องเล่าเกี่ยวหญิงสาวนาม อลิซ ผู้เดินทาง ลี้ภัย ออกจากความเป็นจริงสู่โลกภายในจินตนาการพร้อมทั้งหาทาง หลบหนี การถูกควบคุมจากกรอบเกณฑ์ของผู้ใหญ่ไปสู่แดนมหัศจรรย์โดยมีกระต่ายขาวถือนาฬิกาพกนำทาง

Alice in Wonderland
อลิซ

ความจริงของอลิซ

“ถ้าฉันมีโลกของตัวเอง ทุกสิ่งทุกอย่างจะต้องเหลวไหล ไม่มีอะไรเป็นอย่างที่มันเป็น เพราะทุกสิ่งจะเป็นแบบที่มันไม่ได้เป็น”

หากดู Alice in Wonderland (1951) ในฐานะภาพยนตร์หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 อันแสดงให้เห็นถึงหายนะและความโหดร้ายที่นำมาสู่สงครามเย็น เป็นช่วงเวลาที่ประเทศมหาอำนาจมุ่งจัดระเบียบโลกให้เป็นไปตามอุดมคติของตน แอนิเมชัน Alice in Wonderland ที่ฉายในช่วงปีเดียวกันกลับแสดงให้เห็นถึงการอยากหลีกหนี “ประวัติศาสตร์” ของโลกจริงตั้งแต่ฉากแรกเปิดเรื่อง เป็นฉากที่อลิซกำลังนอนฟัง มากาเร็ต พี่สาวของเธอเล่าถึง ประวัติศาสตร์ จากหนังสือซึ่งไม่มีภาพ ขณะนั้นเด็กหญิงอลิซรู้สึกเบื่อกับการฟังโดยที่ไม่เห็นภาพ แม้พี่สาวของเธอจะบอกว่าหนังสือที่ดีไม่จำเป็นต้องมีภาพ แต่อลิซกลับรู้สึกว่าหนังสือเหล่านั้นไม่ใช่หนังสือสำหรับเธอ ในส่วนนี้ภาพยนตร์ทำให้เห็นถึงความไม่สนใจประวัติศาสตร์โลกฉบับจารึกในหนังสือ (ที่ใครเขียนก็ไม่รู้) ของอลิซ พร้อมกับการปฏิเสธความจริงบางอย่างที่ผู้ใหญ่คือพี่สาวและหนังสือเล่มนั้นกำลังบอกกล่าว เพราะสำหรับอลิซแล้วหนังสือคงเป็นเรื่องเหลวไหล เธอยอมรับว่า เธออยากสร้างโลกของเธอให้เหลวไหล

หากนำแนวคิดของอลิซมามองขนานไปกับบรรยากาศหลังสงคราม ที่ผู้คนจำนวนมากกำลังจมทะเลน้ำตา อลิซแสดงให้เห็นทั้งในภาพกว้างซึ่งคือการอยากออกไปจากโลกที่หมุนด้วยประวัติศาสตร์ของผู้ใหญ่ในฐานะผู้ที่เกิดก่อนด้วยการไม่ให้ความสำคัญกับประวัติศาสตร์ และมุ่งแสวงหาแนวคิดของตนเอง แยกตนเองออกจากประวัติศาสตร์ และในมุมที่แคบลงมาอลิซยังแสดงให้เห็นถึงการไม่ยอมรับคุณค่าของประวัติศาสตร์ที่ถูกเขียนขึ้นในเวลา ค.ศ.1951 ซึ่งสิ่งนี้ตรงกันข้ามวิธีการจัดระเบียบโลกใหม่ในยุคสงครามเย็นที่ย่อมต้องอาศัยการบอกเล่าประวัติศาสตร์เพื่อสร้างชาติซึ่งหนึ่งในความสำคัญของการสร้างชาตินั้นจำเป็นต้องกำหนดเรื่องเล่า ความทรงจำร่วม และจินตนาการเกี่ยวกับประเทศ โดยกำหนดความรู้ของประชาชนให้ใกล้เคียงกันเพื่อสร้างนิยามชาติขึ้น หนังสือประวัติศาสตร์ในช่วงสงครามเย็นจึงทำหน้าที่ทั้งรวบรวมเรื่องเล่าและสร้างนิยามของชาติเข้าด้วยกัน

หรือหากจะกล่าวแบบ เบน แอนเดอร์สัน (Ben Anderson) นักวิชาการผู้เขียน ชุมชนจินตกรรม (Imagined Communities) ก็สามารถอธิบาย “ชาติ” ในฐานะชุมชนจินตกรรมที่ทำให้ผู้คนที่ไม่รู้จักกันมีบางสิ่งยึดโยงรวมผู้คนเหล่านั้นให้ร่วมกันไว้ และเมื่ออลิซไม่เห็นคุณค่าของการกระทำแบบนี้เธอจึงรู้สึกอยากมี “โลก” ของตัวเองและทุกอย่างในโลกของเธอจะเหลวไหลไม่เป็น “ความจริง” และนั่นจึงไม่น่าแปลกใจที่เธอจะเลือกหนีจากโลกจริงด้วยการเดินตามกระต่ายขาวถือนาฬิกาพกลงไปในโพรงไม้พิสดารอย่างง่ายดาย เพื่อที่จะไปพบกับโลกใหม่อันสมจริงและความจริงอีกแบบในความหมายของเธอ

Alice in Wonderland
แมวเชสเชียร์

“ทุกคนที่นี้เป็นบ้า” แมวเชสเชียร์กล่าว

หลังจากการเดินตามกระต่ายขาวเข้าสู่โพรงไปโผล่ยังวันเดอร์แลนด์ สิ่งที่น่าสนใจไม่ใช่แค่เหล่าผู้คน สรรพสัตว์แสนพิลึกพิลั่น แต่คือวิธีการเรียนรู้ของอลิซในการทำความเข้าใจโลกของ วันเดอร์แลนด์ เริ่มต้นตั้งแต่ “ความยืดหยุ่น” เป็นทักษะทางความคิดที่อลิซฝึกในตอนที่เธอรู้ว่าสิ่งของในโลกนี้เมื่อกินเข้าไปแล้วจะทำให้ขนาดของร่างกายเปลี่ยนแปลงได้ ทั้งขยายใหญ่และหดเล็ก สิ่งนี้ให้ความรู้ในการยืดหยุ่นต่อสถานการณ์ต่างๆ ทั้งในมุมที่เธอเลือกเวลาเปลี่ยนขนาดร่างกาย และความยืดหยุ่นของจิตใจที่มีต่อสิ่งต่างๆ การระงับความน่ารำคาญ ความโกรธ การโมโหต่อสรรพสิ่ง รวมทั้งการยืดหยุ่นเพื่อรับฟังสรรพสิ่ง เช่นการฟังนิทานของสองพี่น้องนักเล่าผีเจาะปาก และการโอนอ่อนต่อตรรกะเพี้ยนๆ ของสรรพสัตว์ รวมถึงความไม่ต่อเนื่องของบทสนทนาที่น่ารำคาญในงานเลี้ยงน้ำชา การยืดหยุ่นต่อสถานการณ์ไม่เพียงทำให้ไม่เกิดศึกสงครามตบตีทำลายล้างระหว่างอลิซและตัวละครต่างๆ ในโลกใหม่เท่านั้น แต่ยังทำให้เธอรับฟังและพยายามเข้าใจสรรพสิ่ง รวมทั้งการยอมรับในความไม่สามารถไม่เข้าใจสิ่งนั้นๆ ได้เป็นอย่างดีอีกด้วย

ดูเหมือนว่า ความไม่เข้าใจ จะเป็นสิ่งที่สำคัญมากในดินแดนมหัศจรรย์ และแสดงให้เห็นว่าการมาของอลิซแตกต่างกับแนวคิดอาณานิคมในโลกจริงที่เขียนไว้ในประวัติศาสตร์ซึ่งพยายามเข้าถึงคนท้องถิ่นและจัดการความรู้ของท้องถิ่นให้เป็นสากล ซึ่งนี่เป็นแนวคิดเดียวกันกับการพยายามแทรกแซงการเมืองระหว่างสองขั้วมหาอำนาจในยามสงครามเย็นที่ต่างจำต้องโฆษณาชวนเชื่อระบบการปกครองและแทรกแซงแนวคิด อุดมการณ์ของตนลงสู่ท้องถิ่นเพื่อกำกับทิศทางความคิดและความเชื่อ

แต่แนวคิดอาณานิคมดังกล่าวไม่ใช่กฎระเบียบในโลกของอลิซ ดังนั้นในดินแดนมหัศจรรย์เธอจึงมักอยู่กับความไม่รู้มากกว่าความรู้เสมอ และเธอไม่ได้มีความต้องการเปลี่ยนแปลงท้องถิ่นของดินแดนมหัศจรรย์วันเดอร์แลนด์แต่อย่างใด เธอทำเพียงเข้าใจและจากไป แม้หลายครั้งเธอจะไม่สามารถเข้าใจตรรกะความพิสดารต่างๆ ที่ไม่มีตรรกะตายตัวได้ก็ตาม Alice in Wonderland จึงทำให้เห็นพื้นที่ความไม่รู้ และการไม่ถูกจัดระเบียบที่กำลังเกิดขึ้นและเป็นอยู่ในสังคมวันเดอร์แลนด์แห่งนี้ โดยเฉพาะจินตนาการพิลึกที่ไม่มีทางหาคำตอบในตรรกะใดๆ

Alice in Wonderland
งานเลี้ยงน้ำชาวันไม่เกิด ของ ช่างทำหมวกฟั่นเฟือน

อย่าง “งานเลี้ยงน้ำชาวันไม่เกิด” ของ ช่างทำหมวกฟั่นเฟือน (Mad Hatter) ที่ตั้งคำถามกับความสุขและการไม่อยู่ในระเบียบโลกสมัยใหม่ที่สร้างข้อจำกัดของชีวิตมากมายอย่าง “เวลา” ในฐานะเวลาแบบโลกสมัยใหม่อันเป็นผลพวงมาจากการปฏิวัติอุตสาหกรรมที่จัดระเบียบแรงงานและวิถีชีวิของผู้คนในสังคม ทำให้วัฒนธรรมต่างๆ เกิดขึ้นภายใต้กรอบของเวลา ซึ่งแนวคิดของยุค ปฏิวัติอุตสาหกรรม (industrial revolution) นี้แสดงออกผ่านสัญลักษณ์นาฬิกาพกของกระต่ายเนื่องด้วยในยุคปฏิวัติอุสาหกรรมในศตวรรษที่ 17 เป็นช่วงเวลาที่นาฬิกาพกกำลังได้รับความนิยม เป็นสัญลักษณ์ของการเข้าสู่โลกสมัยใหม่ เป็นการใช้ระเบียบเวลาเข้ามาจัดการชีวิตผู้คนให้มีกิจวัตรบนพื้นฐานเวลา แต่กระนั้นช่างทำหมวกฟั่นเฟือนก็มีเวลาที่ต่างจากกระต่ายขาวซึ่งถือนาฬิกาพกอยู่ตลอดเวลา

ช่างทำหมวกไม่สนใจเวลาใดๆ ขนาดจะฉลองวันไม่เกิดทั้งทียังเลือกวันที่มีจำนวนวันมากกว่าวันเกิดตนเองและเขาต้องการฉลองวันเกิดตนเองเกือบทุกวันอย่างไม่สนโลก ตรงข้ามกับกระต่ายที่ลุกลี้ลุกลนเกรงว่าเวลาจะสายในธุระของตน รวมทั้งกระต่ายยังเป็นแรงงานรับใช้ของราชินีโพธิ์แดงซึ่งแน่นอนว่าแรงงานย่อมอยู่ภายใต้กฎเกณฑ์ของเวลาในโลกสมัยใหม่แต่ช่างทำหมวกเป็นอิสรชนไม่อยู่ในอำนาจและกรอบเวลาของผู้อื่น

ความโกลาหลทางเหตุผลและตรรกะต่างๆ ของตัวละครในดินแดนมหัศจรรย์ สื่อถึงความออกนอกระเบียบไร้กฎเกณฑ์และหลายครั้งที่ผู้ชมก็ไม่สามารถเข้าใจความคิดของบางตัวละครได้ แม้แต่อลิซเองในช่วงท้ายเรื่องเธอก็เข้าใจแล้วว่า…เธอไม่สามารถเข้าใจทุกสิ่งแม้แต่ตนเอง เช่นภารกิจสุดท้ายที่เธอต้องปะทะกับ ราชินีโพธิ์แดง ผู้บ้าอำนาจที่จ้องจะจัดระเบียบโลกในดินแดนมหัศจรรย์ ไม่น่าเชื่อว่าสุดท้ายอลิซกลับรอดพ้นจากการถูกพิพากษาอย่างไม่เป็นธรรมจากศาลราชินีโพธิ์แดงด้วยปากคำของเหล่าตัวละครที่ไร้เหตุผลและไม่สนใจเหตุการณ์ใดๆ ของสังคม ในตอนท้ายอลิซแสดงถึงความว้าวุ่นใจอยู่บ้างเมื่อต้องเผชิญกับจุดตัดของความบ้าและเหตุผลโดยเฉพาะเมื่อพบกัน แมวเชสเชียร์ (Cheshire Cat) แมวประหลาดผู้สามารถเปลี่ยนแปลงตนเองและสรรพสิ่งได้

อลิซไม่สามารถขอคำปรึกษาที่ชัดเจนจากแมวเชสเชียร์ได้เลยเพราะเจ้าแมวเชื่อในความเป็นไปได้แต่บทเรียนที่เจ้าแมวพาอลิซไปเจอคือการพิจารณาว่า “เส้นทาง” ทั้งหมดในดินแดนมหัศจรรย์ว่าเป็นของใครกัน ราชินีโพธิ์แดงผู้มากอำนาจและเชื่อว่าเป็นเจ้าของดินแดนนี้ เหล่าสรรพสิ่งมหัศจรรย์ที่เป็นผู้อยู่อาศัยในดินแดน หรือทั้งหมดจะเป็นความคิดเพ้อฝันของอลิซเอง แต่ก็ไม่แน่ว่าทั้งหมดอาจไม่ได้เป็นของใครเลยว่าแต่…โลกนี้มันต้องมีเจ้าของด้วยหรือเปล่านะ

นี่คงเป็นคำถามหนึ่งที่สำคัญจากดินแดนมหัศจรรย์ เหตุผลของความไร้เหตุผล ความบ้าคลั่งและตรรกะพิสดารที่สุดท้ายแล้วมันมีเหตุผลหรือความบ้าบอสำหรับใครหรือเปล่าหากทุกคนคิดต่างกันมีใครเป็นเจ้าของเหตุผลแต่เพียงผู้เดียวด้วยหรือ และสุดท้ายมนุษย์เป็นผลผลิตจากอะไรกันแน่ กรอบวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ หรือความบ้าเพ้อฝัน ทั้งหมดอาจอยู่ในการไตร่ตรองจากคำถามที่หนอนผีเสื้อผู้สูบบารากุถามกับอลิซซ้ำๆ ว่า “คุณคือใคร” …ว่าแต่คำถามนี้ต้องตอบไหมนะ หรือจะเอาเวลาตอบไปงานเลี้ยงน้ำชาสุขสันต์วันไม่เกิดจะดีกว่า

ภาพ : © Disney. All rights reserved.

Fact File
• สามารถชม Alice in Wonderland (1951) ได้ที่ Disney+ Hotstar

อ้างอิง
• https://www.britannica.com/event/Cold-War
• https://www.britannica.com/event/World-War-II
• https://www.open.edu/openlearn/history-the-arts/history-science-technology-medicine/the-industrial-revolution-and-time


Author

อชิตพนธิ์ เพียรสุขประเสริฐ
มนุษย์ผู้ตกหลุมรักในการสร้างสรรค์ ภาพ เสียง แสง การเคลื่อนไหว นามธรรม และ การขีดเขียน