วงรีอาจิโต พาราลิมปิก เหนือประตูชัย Arc de Triomphe ฉลองปารีสจัดพาราลิมปิกฤดูร้อนครั้งแรก
- ปารีสเคยเป็นเจ้าภาพโอลิมปิกฤดูร้อนมาแล้วถึง 2 ครั้งคือ ค.ศ.1900 และ ค.ศ.1924 แต่ Paris 2024 นับเป็นครั้งแรกที่เมืองหลวงของฝรั่งเศสจะได้เป็นเจ้าภาพการแข่งขันพาราลิมปิกฤดูร้อน
- ในปารีส พาราลิมปิก 2024 จะมีนักกีฬาผู้พิการเข้าร่วมจำนวน 4,350 คน จาก 182 ประเทศโดยมีการแข่งขันทั้งสิ้น 22 ชนิดกีฬา ส่วนหมู่บ้านนักกีฬาซึ่งตั้งอยู่บริเวณ แซน-แซ็ง-เดอนี (Seine-Saint-Denis)
หลังจากโลโก้ รูป 5 ห่วงโอลิมปิก ได้ถูกติดตั้งที่หอไอเฟล ล่าสุดเมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2567 ทางเจ้าภาพฝรั่งเศสก็ได้นำสัญลักษณ์ วงรีอาจิโต (Agito) 3 สีของพาราลิมปิก ติดตั้งเหนือประตูชัย Arc de Triomphe นับถอยหลังไม่ถึง 1 เดือนที่มหกรรมกีฬาระดับโลกโอลิมปิกและพาราลิมปิก Paris 2024 จะถูกจัดขึ้น โดยโอลิมปิกจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 26 กรกฎาคม-11 สิงหาคม 2567 ต่อด้วยการแข่งขันกีฬา พาราลิมปิก ระหว่างวันที่ 28 สิงหาคม – 8 กันยายน 2567 ซึ่งปีนี้นับเป็นครั้งแรกที่การแข่งขันโอลิมปิกและพาราลิมปิกจะใช้ตราสัญลักษณ์เดียวกันโดยไม่แบ่งแยกองค์ประกอบหลักในการออกแบบ พร้อมกันนั้นทางเจ้าภาพก็ยังให้ความสำคัญกับพาราลิมปิกไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าโอลิมปิก
ที่ผ่านมาแม้ปารีสเคยเป็นเจ้าภาพโอลิมปิกฤดูร้อนมาแล้วถึง 2 ครั้งคือเมื่อ ค.ศ.1900 และ ค.ศ.1924 แต่นี่นับเป็นครั้งแรกที่เมืองหลวงของฝรั่งเศสจะได้เป็นเจ้าภาพการแข่งขันพาราลิมปิกฤดูร้อน ซึ่งมีการจัดการแข่งขันเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์เมื่อ ค.ศ.1960 ที่กรุงโรม ประเทศอิตาลี ทั้งนี้การแข่งขันกีฬานับเป็นหนึ่งในกิจกรรมที่สามารถแสดงศักยภาพของผู้พิการได้อย่างชัดเจนและเป็นรูปธรรม
ในปารีส พาราลิมปิก 2024 จะมีนักกีฬาผู้พิการเข้าร่วมจำนวน 4,350 คน จาก 182 ประเทศโดยมีการแข่งขันทั้งสิ้น 22 ชนิดกีฬา ส่วนหมู่บ้านนักกีฬาซึ่งตั้งอยู่บริเวณ แซน-แซ็ง-เดอนี (Seine-Saint-Denis) ได้รับการออกแบบให้เป็นอารยสถาปัตย์ 100% โดยการปรับสภาพแวดล้อมทางกายภาพ อาคารสถานที่ รวมถึงการคมนาคมขนส่ง สารสนเทศและการสื่อสาร และบริการต่าง ๆ ให้ผู้พิการสามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้อย่างเท่าเทียมกับคนทั่วไป
สำหรับ Arc de Triomphe เป็นประตูชัยที่ตั้งอยู่กลางจตุรัส เอ-ตวล (La Place de l’Étiole) และเป็นแลนด์มาร์กสำคัญของถนนช็องเซลีเซ (Les Champs-Élysées) เป็นประตูชัยรูปโค้งที่ จักรพรรดินโปเลียนที่ 1 (Napoléon Bonaparte) ทรงให้สร้างขึ้นเพื่อฉลองชัยชนะของทหารฝรั่งเศสในยุทธการเอาสเทอร์ลิทซ์ (La bataille d’Austerlitz) โดยพระองค์ได้มอบหมายให้ ฌ็อง ฟรองซัวร์ แตแครส ชาลแกร็ง (Jean-François-Thérèse Chalgrin) และ ฌ็อง อาร์คโนล์ เครย์มงด์ (Jean-Arnaud Reymond) เป็นสถาปนิกร่วมกันออกแบบในปี ค.ศ. 1806 แต่ทั้งสองคนมีความเห็นไม่ลงรอยกันในที่สุดจึงเหลือเพียง ฌ็อง ฟรองซัวร์ แตแครส ชาลแกร็ง ได้สานต่อโครงการนี้จนเสร็จสิ้น ประตูชัยนี้ได้รับแรงบันดาลใจมาจากประตูชัยแบบโรมันของจักรพรรดิติตุส (Titus) และเปิดอย่างเป็นทางการในสมัยของพระเจ้าหลุยส์-ฟิลิป (Louis-Philippe) ในปีค.ศ.1836
ประตูชัยมีความสูง 50 เมตร ยาว 45 เมตร และกว้าง 22 เมตร เป็นสถานที่ฝังศพของทหารนิรนามในสงครามโลกครั้งที่ 1 ทุก ๆ วันเปลวไฟที่แสดงความระลึกถึงต่อทหารในสงครามจะถูกจุดขึ้นในช่วงเวลาประมาณ 18.30 น. ส่วนบนดาดฟ้าเปิดให้ผู้สนใจสามารถขึ้นไปชมทิวทัศน์ของปารีสได้ซึ่งจะมองเห็นถนนสายใหญ่ที่เรียกว่า อะเวนู (Avenue) ถึง 12 สายมาบรรจบกันเป็นวงกลมที่บริเวณนี้ด้วย
ภาพ : Paris 2004