แสงสุริยา ผ้าห่มฟ้าระบำ และบทสนทนากับ อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล
- A Conversation with the Sun เป็นผลงานศิลปะล่าสุดของศิลปินนักทำภาพยนตร์ เจ้ย–อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล
- นิทรรศการนี้ศิลปินทำงานร่วมกับ ดั๊กยูนิต (Duck unit) และ พัทน์ ภัทรนุธาพร โดยมุ่งเน้นคำถามเกี่ยวกับความทรงจำ ปัญญาประดิษฐ์ และการไร้หรือลดตัวตนผ่านงานศิลปะจัดแสดงที่ BANGKOK CITYCITY GALLERY ตั้งแต่วันนี้ถึง 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2565
A Conversation with the Sun นิทรรศการภาพเคลื่อนไหวจัดวางครั้งใหม่โดย อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล ร่วมกับ ดั๊กยูนิต (Duck unit) และ พัทน์ ภัทรนุธาพร ที่ครั้งนี้ศิลปินนักทำภาพยนตร์อันลือลั่นอย่าง เจ้ย-อภิชาติพงศ์ ได้นำเสนองานศิลปะภาพเคลื่อนไหวจัดวางที่ผสานระหว่างงานศิลปะภาพยนตร์ การเคลื่อนไหวของวัตถุจัดแสดง และโครงสร้างรวมถึงการฉายภาพเคลื่อนไหวจากเทคโนโลยี กลไกและโปรแกรม เล่าย้อนถึงจุดเริ่มต้นที่อภิชาติพงศ์มีความสนใจใน AI และความสนใจต่อดวงอาทิตย์จนกลายเป็นบทสนทนาระหว่างกันที่นำมาเล่าในนิทรรศการครั้งนี้
บทที่ 1 : สนทนากับ อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล
Q : ที่มาของ A Conversation with the Sun
A : บางทีพี่ก็ไม่รู้นะว่าเวลาทำงานพี่ต้องการอะไร แต่ว่าวันนี้เองมั้งที่มานั่งดูแล้วมันเหมือนกับงานชิ้นนี้เหมือนเป็นแพลตฟอร์มในการมองภาพในการมองความทรงจำ เหมือนเป็นเศษเสี้ยวมาประกอบร่างกันเป็นสิ่งใหม่แล้วก็ทำให้เรารู้สึกว่าไม่ต้องการเนื้อหาไม่ต้องการความทรงจำมันเป็นแค่ภาพ เหมือนกับเป็นการสร้างสิ่งที่คอยเตือนใจว่าตัวเราไม่ได้มีอยู่จริง เพราะเวลาที่เราไปยึดว่ามีอดีตหรือมีอย่างนั้นอย่างนี้มันเหมือนกับว่าเราเอาตัวเองเข้าไปใส่ไว้ว่า “นี่คือภาพของเรา” “นี่คือเรื่องที่เกิดขึ้น” การรวบรวมภาพพวกนี้กับการแรนดอมที่เกิดขึ้นมันเหมือนกับเป็นภาพคนอื่น เป็นธรรมชาติ เหมือนเวลาเรามองต้นไม้ที่ไม่เอาตัวตนเข้าไปจับ เพราะฉะนั้นนี่อาจจะเป็นเหตุผลที่พยายามสร้างมันขึ้นมาเป็นแพลตฟอร์มสำหรับตัวเอง
การเข้าใจการสร้างภาพในแง่ของเทคโนโลยี เช่นบางครั้งเราจะมีการตั้งแง่เหมือนในสมัยก่อนที่พอมีกล้องถ่ายรูปศิลปินที่เป็นจิตรกรก็จะคิดว่ากล้องถ่ายรูปมันไม่ใช่ศิลปะ หรือคนทำหนังสมัยก่อนที่พอมีหนังสีขึ้นมาก็จะคิดว่ามันไม่ใช่ภาพยนตร์ที่ดีหรืออะไรแบบนี้ มันจะเป็นการต่อต้านหรือความกลัวหรือการด้อยค่าสิ่งที่เทคโนโลยีทำ ส่วนนี่เป็นการค้นหาส่วนตัวเฉย ๆ โดยเฉพาะงานในห้องใหญ่ที่ภาพทั้งหลายมันไม่มีความทรงจำแปะอยู่พอมันฉายไปมันก็เกิดเรื่องราวแบบใหม่ ๆ จนเรามองไปเรื่อย ๆ เราก็เห็นมันเป็นแค่แสงและสีเมื่อเราไม่เอาความทรงจำหรือไม่ได้ใช้ปัญญา (Intellect) กับมัน สำหรับคนอื่นพี่ไม่รู้นะแต่สำหรับพี่มันทำงานอย่างนี้กับเรา
Q : งานชุดนี้ประกอบไปด้วยอะไรบ้าง
A: จริง ๆ มันไม่ใช่โชว์นี้อย่างเดียวแต่ว่ามันเป็นกิจกรรมทั้งหมดที่เกิดขึ้น ตั้งแต่ภาพที่ทำกับ AI หนังสือที่แต่งโดย AI แต่กำกับโดยเรา ทั้งมวลมันจะเป็นเรื่องของการลดความทรงจำหรือลดแนวความคิดของเราที่ไปจับกับชิ้นงานซึ่งแน่นอนว่ามันเป็นไปไม่ได้แต่ว่าสุดท้ายมันเป็นเหมือนคำถามที่การทำงานจะเป็นการตอบคำถามว่าเป็นไปได้ไหมที่คนเราจะไม่บันทึก จะไม่ใช้ข้อมูลมาสร้างภาพให้เกิดอะไรขึ้นกับภาพนั้น ไม่ว่าอะไรก็ตาม กับอะไรคือภาพยนตร์ อะไรคือศิลปะ และอะไรคือตัวเรา…อภิชาติพงศ์
Q : การกำกับร่วมกับ AI แบ่งการทำงานกันอย่างไร
A : ตอนนี้มีหลายแพลตฟอร์มเช่นที่เราเลือกใช้จะเป็นการสั่งด้วยตัวหนังสือ ให้มันคิดจินตนาการบทสนทนาระหว่างเรากับดวงอาทิตย์มันก็จะทำออกมาแล้วเราก็สามารถจะตัดแต่ง แต่ทุกครั้งมันจะออกมาไม่เหมือนเดิม เพราะทุกครั้งมันจะเข้าถึง (Access) ข้อมูลไม่ได้คัดลอก (Copy) บางทีวิศวกรจะเปรียบว่าเหมือนเป็นความฝันของมนุษย์เรามันเป็นการรวบรวมข้อมูลมากลั่นกรอง อัปแพลตฟอร์มหนึ่งที่ใช้จะเป็นการเปลี่ยนตัวหนังสือเป็นภาพเช่น การคีย์คำเข้าไปว่าเป็นผ้ามีสีแบบนั้นแบบนี้แล้วจะถูกประมวลผลออกมาเป็นภาพ
ปัญญาประดิษฐ์เป็นแค่ส่วนหนึ่งเพราะเราก็เวียนว่ายอยู่ในโลกของข้อมูลและโลกของภาพซึ่งก็เป็นข้อมูลในชีวิตประจำวันตั้งแต่เรามีคอมพิวเตอร์เช่นการค้นหารูปใน Google ค้นหารูปหมาก็เป็นการใช้อัลกอริทึมแล้ว สำหรับเรา AI ไม่ใช่เรื่องของฝีแปรงอะไรอีกแล้ว มันเป็นเรื่องของข้อมูล ความทรงจำ ซึ่งเป็นเรื่องที่เราหลงใหลอยู่แล้ว มันเป็นไปได้ไหมที่เราจะไม่มีความทรงจำ? เป็นการสำรวจสิ่งที่เกิดขึ้นหรือความจริงซึ่งจริง ๆ แล้วมันอาจไม่มีความเป็นจริงมันขึ้นอยู่กับมุมมองของแต่ละคน สิ่งที่เกิดขึ้น ความจริงของคนในภาคอีสาน ความจริงของคนเสื้อแดง หรือว่าของสลิ่มของอะไรก็ตามมันมีหลายข้อมูลมาก แต่มันเกิดขึ้นจากการมีข้อมูล ความคิด การกรั่นกรองข้อมูลที่ได้ ไม่ว่าจะเป็นโฆษณาชวนเชื่อหรืออะไรก็ตาม จนถึงจุดหนึ่งที่เราเดินทางไปประเทศโคลอมเบียเพื่อไปถ่ายทำ Memoria (2021) เราต้องสลัดตรงนี้ทิ้งเราต้องฟังต้องดูโดยพยายามไม่ใช้ความคิดเดิมที่ไม่ว่าอีสาน เผด็จการหรืออะไรก็ตามแต่ มันทำให้เกิดการปล่อยอิสระว่าแท้แล้วมนุษย์เราก็เป็นแค่ก้อนที่ถูกข้อมูลเข้ามาปั้น อย่างโชว์ที่แล้วที่จัดแสดงที่มูลนิธิ 100 ต้นสน (100 Tonson Foundation) เรากลับมาแล้วรู้สึกว่าอยากกลับไปหาว่าอีสานไปถึงไหนแล้วและความทรงจำเก่ามันเหลืออะไรบ้างที่กระเพื่อมมาถึงปัจจุบัน พอมาโชว์นี้ A Conversation with the Sun เราคิดถึงเรื่องตัวตนเหมือนกันแต่เป็นอีกตัวตนหนึ่งเช่น ถ้าไม่มีชุดข้อมูลพวกนั้นละ แล้วมาร่วมกับ ดั๊กยูนิต และพัทน์ที่เราเคลื่อนไปเหมือนสมองก้อนเดียวจะเป็นอย่างไร
Q: หนังสือที่ทำงานกับ AI ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของนิทรรศการนี้เกิดขึ้นจากอะไร
A : เริ่มจากการที่พัทธ์ (พัทน์ ภัทรนุธาพร) แนะนำให้เรารู้จักกับ AI ในส่วนของการใส่ตัวหนังสือ เพื่อที่เราจะได้ตัวหนังสือกลับมา เช่น เราคุยกับซัลบาโด ดาลี (Salvador Dalí) ซึ่งบทสนทนามันสวยมากเป็นสิ่งที่ AI จินตนาการขึ้นมา เราคิดถึงเรื่องของการเชื่อมโยงกับธรรมชาติโดยที่เราก็เป็นธรรมชาติเราไม่ใช่เราเป็นส่วนหนึ่งของภูเขาต้นไม้ คือมันเป็นไปไม่ได้เลยที่ AI จะแต่งหนังสือมาอย่างนี้ แต่มันต้องเข้าไปกำกับซึ่งมันก็ค่อนข้างจะน้อย ในหนังสือที่แต่งโดย AI เล่มนี้เป็นบทสนทนาระหว่างเรากับดวงอาทิตย์ จริง ๆ แล้ว AI มันคือมนุษย์นั่นแหละการที่มันได้แพลตฟอร์มข้อมูลมาแล้วก็ฝันขึ้นมามันไม่ใช่การคัดลอก พวกวิศวกรเขาเรียกว่าการฝันหรือการหลอนเมื่อเทียบกับสมองมนุษย์ เรามองว่ามันคือการทำงานของมนุษย์ไม่ได้เป็นเส้นแบ่งระหว่างมนุษย์กับเครื่องจักร
Q: A Conversation with the Sun เราจะคุยกับดวงอาทิตย์ได้อย่างไร
A : นั่นไง ตอนแรกเราก็สงสัยมากถ้าคิดว่ามันเป็นวิทยาศาสตร์มันก็เป็นแก๊สอะไรขึ้นมาอะไรแบบนี้ใช่ไหม แล้วมันมีในแบบจินตนาการของมนุษย์ เป็นอุปมาอุปมัย หรือที่เป็นกษัตริย์ แต่ที่เราประทับใจคือ AI มันเข้าใจมาก ๆ เหมือนมีตัวตน แม้แต่การพูดถึงรู้สึกไม่สบาย หรือรู้สึกเหงา เขาก็อธิบายว่าทำไมถึงเหงาแบบแทนตัวว่า “ฉัน” เขาตอบว่าฉันร้อนเกินไปไม่มีใครกล้าเข้าใกล้ ฉันโดดเดี่ยวเกินไปเห็นสรรพสิ่งอาณาจักรล่มสลายอาณาจักรเกิด ฉันไม่มีเพื่อนที่แท้จริง…เขาพูดได้น่าสนใจ พี่รู้สึกว่า AI สะท้อนความเข้าใจว่าความเป็นตัวตนมันไม่มีอยู่จริงมันเป็นแค่ชื่อเฉย ๆ แต่พื้นฐานของมนุษย์มันเหมือนกันมากมีความโกรธ เกลียด อิจฉา รัก ชื่อมันเป็นภาพลวงความเป็น “ฉัน”
Q : จุดเริ่มต้นของการทำงานในแต่ละครั้งเริ่มมาอย่างไร มีจุดเชื่อมทางความคิดกันหรือเปล่า
A : อย่างช่วงนี้เราอ่านกฤษณมูรติเยอะ เขาเกิดที่อินเดียแล้วไปโตที่อังกฤษก็จะเป็นปรัชญาที่เราใช้ถามตัวเองตลอดว่าเป็นไปได้ไหมที่จะไม่บันทึก เป็นไปได้ไหมที่จะมีชีวิตที่ไม่มีเวลามาเกี่ยวหมายถึง อดีต ความทรงจำ อนาคต พวกนี้เกิดจากเวลาทั้งนั้นเลย แล้วปัจจุบันขณะคืออะไร แรงขับเคลื่อนงานคือพวกนี้ พอเป็นเนื้องานจริง ๆ จะเป็นธรรมชาติคือปรับกันไปเรื่อย ๆ นิทรรศการนี้ก็เกิดจากการถูกกระตุ้นด้วยคำถามแบบนี้นี่แหละ อย่างที่ทำอยู่เป็น VR (Virtual Reality) ก็ไม่มีเป้าหมายเหมือนกันคือสื่อสารกับวิศกรและพวกที่ทำงานคอมพิวเตอร์ คนทำดนตรี มันเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงของเราเองการดูและการหายไปของบางอย่างเช่นภาษาที่มันสูญหายไปคิดไว้แค่นี้แล้วเราค่อย ๆ เติมมันไป แล้วอีกโปรเจ็กต์ทำกับนักดนตรีที่อเมริกาใกล้เดดไลน์แล้วแต่เรายังคิดอยู่เลยว่าจะเกี่ยวกับช่วงตอนเช้าพระอาทิตย์จะขึ้นแล้วคิดต่อว่าจะเกิดอะไรขึ้นแค่นี้ คือจะคิดแบบยังไม่มีเป้าหมายก่อนคิดแบบจุดไฟแล้วก็ไปเรื่อย ๆ เรายังไม่รู้ว่ามันจะเป็นอะไรเลย
Q : พอทำงานผ่านเวลานานทั้งประสบการณ์และอายุมีอะไรเปลี่ยนไปไหม
A : มันเคลียร์ขึ้น โดยที่เป้าหมายมันน้อยลงแต่ขั้นตอนกระบวนการสำคัญมากขึ้น เพราะแต่ก่อนจะเป็นแบบฉันรู้ ๆ แล้วลองพิสูจน์ตัวเอง แต่ตอนนี้ฉันไม่รู้เลยแล้วมาทดลองเหมือนกับว่าศิลปะหรือภาพยนตร์มันไม่ใช่ส่วนประกอบข้างนอกแต่เป็นส่วนหนึ่งของการมีชีวิตอยู่
Q: ในยุคที่ภาพยนตร์ส่วนหนึ่งฉายโรงแล้วลงสตรีมมิ่งเร็วขึ้นแต่ Memoria (2021) กลับสวนทางคิดอย่างไรบ้าง
A : พี่ไม่ได้ต่อต้านเลย อย่างล่าสุดเพิ่งดู Dune ทางสตรีมมิ่ง แต่งานตัวเองเรารู้ว่าเรามีองค์ประกอบอะไรบางอย่างในหนังที่อยากให้คนได้สัมผัมมันอยู่ในจอภาพยนตร์เท่านั้นอยากให้คนไปดูร่วมกันยังคิดอะไรโรแมนติกแบบนั้นอยู่ อย่าง Memoria เป็นแค่ที่อเมริกาที่เดียวที่ยังไม่ตัดสินใจสตรีมตอนนี้และประสบความสำเร็จมากมีคนดูเยอะมีความเข้าใจมากขึ้น การเปิดหนังไปทีละที่อย่างนี้ทำให้ทางผู้จัดจำหน่ายต้องทำงานอย่างหนักที่จะต้องโปรโมตและเปิดตัวหนังหลายครั้งไปเรื่อย ๆ พี่ว่ามันเหมือนทัวร์คอนเสิร์ตนะ จริง ๆ เหมือนเป็นการรีแอ็กชันด้วยกับช่วงโควิด-19 แบบโรงหนังยังมีชีวิตอยู่นะอะไรแบบนี้ ส่วนแบบสตรีมมิ่งบางที่ก็มีบ้างแล้วนะ บลูเรย์ (Bluray) ก็กำลังจะออก
Q : การทำงานในช่วงโลกเต็มไปด้วยการระบาดของโควิด-19 เป็นอย่างไรบ้าง
A : พอมีโอกาสไม่ทำอะไรช่วงโควิด-19 ก็รู้สึกว่าการไม่ทำอะไรก็สวยงามของมัน เหมือนการไม่มีเป้าไม่รู้ว่างานจะเสร็จเมื่อไรหรือจะด้านการมีปฏิสัมพันธ์กับมนุษย์คนอื่น ด้านดิจิทัล ด้านอารมณ์ มันเข้าใจถึงการดิ้นรนของตนเอง สถานการณ์โควิด-19 มันทำให้เข้าใจว่าพื้นฐานของชีวิตมนุษย์ต้องการอะไร พอทุกคนต้องอยู่ในสถานการณ์เดียวกัน แน่นอนด้านการเงินคนละสถานการณ์แต่ว่าทุกคนทำให้รู้สึกว่าอยู่บนเรือลำเดียวกัน มันเป็นเหตุผลหนึ่งด้วยมั้งที่นักศึกษาหรือใครต้องออกไปนอกถนนเพราะรู้สึกว่าเป็นหนึ่งเดียวกัน การที่ประสบภัยเดียวกันไม่ใช่ภัยจากโควิด-19 นะ แต่เป็นภัยจากเผด็จการทางความคิด
บทที่ 2 : ทัศนาแสงสุริยากับผ้าห่มฟ้าระบำในนิทรรศการ A Conversation with the Sun
ในห้องนิทรรศการของ BANGKOK CITYCITY GALLERY แสดงงาน A Conversation with the Sun ในความมืดประกอบไปด้วยเครื่องฉายภาพเคลื่อนไหว 2 จอและลำโพงติดอยู่บนเพดาน โดยภาพที่ฉายเข้าฝาผนังด้านในจะถูกผ้าสีขาวขนาดใหญ่ที่ขึงไว้กับสายและกลไกแฉลบโฉบบดบังแสงจากเครื่องฉายบ้างปล่อยให้ฉายทับซ้อนบ้างโดยผ้าผืนนี้ที่โยงสายเข้ากับกลไกที่มีโปรแกรมเคลื่อนไหวอย่างไม่ซ้ำเสมือนผ้าห่มคลุมภาพเคลื่อนไหวที่ฉายด้วยท่วงท่าร่ายรำระบำไหวอย่างไม่จำกัดแบบแผน และแสงจากเครื่องฉายที่เล่นภาพยนตร์กระจัดกระจายเหมือนฝันมีทั้งทิวทัศน์ ใบหน้ามนุษย์ กิริยาท่าทางของมนุษย์และธรรมชาติสลับฉายด้วยโปรแกรมลำดับทำให้เกิดการทับซ้อนกันบ้างเหลื่อมกันบ้างของสองภาพประกอบราวกับความฝันที่ไม่จำกัดเนื้อหา นิทรรศการนี้จึงยากที่จะระบุเวลาของชิ้นงานในห้องจากการที่แต่ละสิ่งที่แสดงอยู่นั้นมีลำดับที่แตกต่างกันอยู่ตลอดเวลาหากแสงจากเครื่องฉายเป็นแสงสุริยาและผ้าขนาดใหญ่เป็นผ้าที่กำลังท้าทายการห่มฟ้า
A Conversation with the Sun จึงแสดงให้เห็นถึงการเผชิญหน้ากับความกึ่งฝันที่ล่องลอยในเชิงเรื่องเล่าแต่เป็นความชัดเจนตรงที่ภาพฝันที่เราเห็นยากจะบอกว่าเป็นสมบัติทางความคิดของใคร ศิลปินผู้ร่วมสร้างสรรค์โปรแกรม เหตุการณ์ที่ถูกถ่ายทอดโลกและเราที่กำลังอยู่ในห้วงที่ถูกท้าทายว่าจะจำภาพเคลื่อนไหวบนเวลาที่ไม่เป็นลำดับอย่างไร ประกอบกับการร่ายรำของผ้าโยงจักรกลที่กำลังร่ายรำไปมาท้าทายการจดจำรูปแบบในกาลเวลาที่เรากำลังรับชม ทั้งเวลาที่จะจำเกี่ยวกับเรื่องราวของนิทรรศการ เวลาชมงาน และเมื่อเดินออกมาปะทะกับโลกภายนอกที่มีแสงเปลี่ยนไปอาทิตย์ขึ้นและลงการปะทะกับกาลเวลาโลกอีกครั้ง
หลังดูนิทรรศการนี้จึงน่าพิศวงและชวนขบคิดเป็นอย่างยิ่งว่าความคิดความทรงจำของเรา เราเป็นส่วนหนึ่งของอะไรได้บ้างและเราเป็นอะไรนอกเหนือจากความทรงจำของเราหรือไม่อย่างไรคำถามนี้สามารถคิดได้ในเวลาอนันต์แบบเดียวกับโปรแกรมที่ฉายภาพเคลื่อนไหวของนิทรรศการที่เล่นลำดับประมวลผลไปเรื่อย ๆ อย่างไม่รู้จุดเริ่มจุดจบ
Fact File
- A Conversation with the Sun โดย อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล ร่วมกับ ดั๊กยูนิต (Duck unit) และ พัทน์ ภัทรนุธาพร จัดแสดงที่ BANGKOK CITYCITY GALLERY กรุงเทพฯในวันที่ 28 พฤษภาคมถึง 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2565