ลูกอีสาน : ซีไรต์เรื่องแรกของไทย มหากาพย์สัจนิยมแห่งอาหารท้องทุ่งอีสาน
- 26 มิถุนายน พ.ศ. 2471 เป็นวันเกิดของ คำพูน บุญทวี นักเขียนรางวัลซีไรต์คนแรกของประเทศไทย พ.ศ. 2522 จากผลงานนิยายเรื่อง ลูกอีสาน
- คำพูน บุญทวี ได้รับการยกย่องเป็น ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ เมื่อปี 2544 ก่อนที่จะเสียชีวิตเมื่อปี 2546 ขณะอายุ 74 ปี
- ลูกอีสาน ได้รับการยกย่องว่าเป็นงานวรรณกรรมแนวสัจนิยม ที่่เสนอภาพให้ความรู้สึกเหมือนจริง คุณค่าของวรรณกรรมแนวนี้ถือเป็นการบันทึกหลักฐานด้านวิถีชีวิต สังคม และวัฒนธรรมของผู้คนที่เกิดขึ้นในเรื่องด้วย
ลูกอีสาน คือวรรณกรรมสุดคลาสสิกเล่มหนึ่งของไทย ที่ได้รับการคัดเลือกให้เป็นหนึ่งในหนังสือ 100 เล่มที่คนไทยควรอ่าน เนื้อหาในเล่มไม่ได้เพื่อความบันเทิงเท่านั้น แต่ยังเป็นเหมือนบันทึกทางประวัติศาสตร์เกี่ยวกับชีวิตลูกอีสานในยุคก่อน และนั่นก็ส่งให้ คำพูน บุญทวี ผู้เขียนลูกอีสาน สามารถคว้ารางวัลซีไรต์คนแรกของประเทศไทย เมื่อปี พ.ศ. 2522 และได้รับการยกย่องให้เป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ พ.ศ. 2544
สัจนิยมแห่งท้องทุ่งอีสาน
คำพูน บุญทวี เกิดเมื่อวันที่ 26 มิถุนายน พ.ศ.2471 (เสียชีวิต พ.ศ. 2546 ขณะอายุ 74 ปี) ผลงานของคำพูน บุญทวี เน้นเรื่องราวสะท้อนวิถีชีวิต วัฒนธรรม ประเพณีของท้องถิ่นอีสานอย่างรอบด้าน และมีเสน่ห์ในแบบเฉพาะตัว นิยายเรื่องอื่นๆ ที่ได้รับความนิยม รวมถึง นายฮ้อยทมิฬ, คำสารภาพของขี้คุก, ดอกฟ้ากับหมาคุก ด้านงานรวมเรื่องสั้นที่ขึ้นชื่อคือ หอมกลิ่นบาทา นอกจากนี้คำพูนยังมีงานเขียนแนวสารคดีเรื่อง ไปยิงเสือโคร่ง และ ลูกลำน้ำโขง
คำพูน บุญทวี เดิมชื่อ “คูน บุญทวี” เกิดที่บ้านทรายมูล ตำบลทรายมูล จังหวัดยโสธร (แต่เดิมขึ้นกับอุบลราชธานี) จบมัธยมศึกษาตอนปลายที่โรงเรียนปรีชาบัณฑิต หลังจบชั้นมัธยมเขาเข้ามาเผชิญชีวิตในเมืองหลวงอยู่พักใหญ่ เคยเป็นทั้ง กรรมกรรับจ้างเข็นถังน้ำมันที่ท่าเรือคลองเตย คนถีบสามล้อ คนเลี้ยงม้าแข่งในคอกม้าของขุนนางอยู่พักใหญ่ เมื่อชีวิตในกรุงเทพฯ ไม่ประสบความสำเร็จ คำพูนจึงล่องใต้ไปเป็นคุณครูและสร้างครอบครัวที่นั่น และอาชีพสุดท้ายก่อนจะผันตัวเองมาเป็นนักเขียนเต็มตัวคือ รับราชการเป็นผู้คุมในเรือนจำประจำปักษ์ใต้ คำพูน เริ่มเขียนหนังสือตั้งแต่ พ.ศ.2514
นิยายเรื่อง “ลูกอีสาน” ได้รับการยกย่องว่าเป็นงานวรรณกรรมแนวสัจนิยม ที่่เสนอภาพให้ความรู้สึกเหมือนจริง คุณค่าของวรรณกรรมแนวนี้ยังถือเป็นการบันทึกหลักฐานด้านวิถีชีวิต สังคม และวัฒนธรรมของผู้คนที่เกิดขึ้นในฉากหลังของเรื่องราวนั้น และลูกอีสานก็ได้บันทึกชีวิตคนอีสานยุคก่อนไว้ได้อย่างชัดเจน
ลูกอีสานตีพิมพ์ครั้งแรกลงเป็นตอนๆ ในนิตยสาร ฟ้าเมืองไทย (พ.ศ.2518-2519) และได้รับความนิยมอย่างมากในยุคสังคมไทยเพรียกหาประชาธิปไตยที่แท้จริง หลังเกิดวิกฤติทางการเมือง และปรากฏการณ์การต่อสู้ของภาคประชาชนยุค 14 ตุลาคม 2516 และ 6 ตุลาคม 2519 เพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมในสังคม และการปลดแอกสังคมออกจากมายาภาพความอุดมสมบูรณ์ที่ชีวิตคนเมืองใหญ่มี แต่ทิ้งให้ชาวชนบทของประเทศอยู่อย่างแร้นแค้น
ลูกอีสานได้รับการตีพิมพ์รวมเล่มครั้งแรก พ.ศ.2519 โดยสำนักพิมพ์บรรณกิจ เรื่องราวใน “ลูกอีสาน” เป็นนิยาย 36 ตอน ที่ย้อนยุคฉากชนบทอีสานกลับไปจากปีที่ตีพิมพ์เผยแพร่ครั้งแรกเกือบ 50 ปี คำพูนได้เล่าถึงวิถีชีวิตของคนในหมู่บ้านทางภาคอีสาน ที่มีสภาพแห้งแล้ง การทำมาหากินในสภาพที่แร้นแค้น แต่แฝงด้วยมุมมองของเด็กน้อยที่เห็นโลกเป็นความสนุก การผจญภัย การต่อสู้ด้วยความหวังผ่านสายตา เด็กชายคูน ตัวละครเอกของเรื่อง และพ่อแม่กับพี่น้องอีก 2 คน ของเขา
โดยนอกจากภาพสะท้อนของความแร้นแค้น หรือความยากจนแล้ว นิยาย “ลูกอีสาน” ยังได้ทำให้ผู้อ่านได้รู้จัก วัฒนธรรม ประเพณี อาหารการกิน และลักษณะนิสัยของคนอีสานมากขึ้นด้วย
วรรณกรรม ลูกอีสาน ได้รับเลือกให้เป็น 1 ใน 100 หนังสือที่คนไทยควรอ่าน พร้อมแปลเป็นภาษาต่างประเทศหลายภาษา และถูกดัดแปลงเป็นภาพยนตร์เมื่อ พ.ศ. 2525 กำกับโดย วิจิตร คุณาวุฒิ ซึ่ง คำพูน บุญทวี ได้ร่วมแสดงในบท “ลุงกา” ด้วย
วัฒนธรรมอาหารอีสานในลูกอีสาน
ความโดดเด่นของ ลูกอีสาน นิยายรางวัลซีไรต์เล่มแรกของไทยของ คำพูน บุญทวี นักเขียนและศิลปินแห่งชาติ ยังอยู่การนำเสนอเป็นบันทึกทางวัฒนธรรม โดยเฉพาะ ลาบ แจ่ว และ ปลาร้า ที่มีทั้งสูตรการปรุง การเก็บรักษา และการกินแบบง่ายๆ เฉพาะถิ่น บทวิจารณ์ โดย นพพร ประชากุล เขาได้ยกนิยายเรื่อง ลูกอีสาน เป็นตัวอย่างงานวรรณกรรมแนวสัจนิยม ซึ่งมุ่งให้ภาพที่เหมือนจริง สะท้อนอย่างซื่่อตรง เป็นหลักฐานทางสังคมและวัฒนธรรมอีกด้วย
เรื่องราวทั้ง 36 บท ของ “ลูกอีสาน” เล่าถึงวิถีชีวิตของคนในหมู่บ้านทางภาคอีสานย้อนยุคกลับไป 50 ปีจากลูกอีสานเผยแพร่ครั้งแรก ซึ่งนั่นตรงกับช่วงเวลาที่ชนบทอีสานอยู่ในสภาพที่แร้นแค้น แต่ในมุมมองของเด็กน้อยกลับเห็นโลกแห่งความแร้นแค้นเป็นความสนุก การผจญภัย และการต่อสู้ชีวิตด้วยความหวังผ่านสายตาของ เด็กชายคูน ตัวละครเอกของเรื่อง และพ่อแม่กับพี่น้องอีก 2 คนของเขา
คำพูน ได้เขียนรายละเอียดสูตรการทำอาหารแบบอีสานไว้ในหลายตอน รวมถึง ตอนที่ 3 ชื่อตอน “ลาบปลาร้า” และตอนที่ 24 ชื่อตอน “ทำปลาร้า” ตัวอย่างเนื้อความในตอน ลาบปลาร้า เขียนว่า …
“พอสายๆ คูนก็ลงไปช่วยแม่ทำแจ่วปลาร้าห่อให้พ่อเอาไปกินเวลาไปทำงาน และแม่ก็ได้สอนวิธีทำปลาร้าให้แก่คูน คูนถามแม่ว่าทำไมผ้าปิดไหต้องห่อขี้เถ้าด้วย แม่ตอบว่าเพราะแมลงวันเกลียดและกลัวขี้เถ้ามาก ว่าแล้วก็ล้วงเอาปลาร้าตัวเท่านิ้วก้อยขึ้นมาวางลงบนเขียง แล้วแม่ก็ให้คูนสับปลาร้าเบาๆ พอละเอียดแล้วก็นำตะไคร้กับหัวข่าอ่อนที่ฝานไว้รอแล้ว สักครู่ก็นำหัวหอมแห้งกับพริกสดโรยลงไป แล้วสับได้สิบนาทีแม่ก็บอกว่าให้หยุดแล้วนำไปตักข้าวคั่วลงไปอีกแล้วสับอีกพอคูนสับจนได้ที่แม่ก็ให้หยุด แล้วหยิบพร้าไปจากคูนขูดลาบวางลงบนใบตองลนไฟอ่อนๆ ก็ได้ปลาร้าแล้ว” (จาก ลูกอีสาน ตอนที่ 3)
นอกจากผู้อ่านจะได้รู้จัก วิธีการประกอบอาหารในแบบพื้้นบ้านอีสานแล้ว วรรณกรรมเรื่องนี้ยัง ทำให้เห็นมิติทางมานุษยวิทยาของอาหารในแง่มุมที่ว่า อาหารเป็นตัวกำหนดวงจรชีวิตของคน อีกทั้งความสัมพันธ์ของคนในครอบครัวและในสังคมก็ถูกเชื่อมไว้ด้วยอาหาร วรรณกรรมเรื่องนี้ยังทำให้เห็นพิธีกรรมที่เกี่ยวข้องกับอาหารตามความเชื่อของคนอีสาน วิธีการกว่าจะได้อาหารมา และอาหารเองก็ถือเป็นรางวัลตอบแทนของการต่อสู้กับความแร้นแค้นอย่างไม่ย่อท้อของลูกอีสาน ดังที่ นพพร ประชากุล ได้เขียนไว้ใน นิตยสารสารคดี ฉบับมีนาคม 2540 ว่า
“ลูกอีสาน ของคำพูน บุญทวี คือมหากาพย์สัจนิยมแห่งอาหารการกินโดยแท้ ภาพของอาหารในนวนิยายแนวบันทึกวัฒนธรรมเล่มนี้ มิใช่ความสมบูรณ์พูนสุขหรือการปรุงแต่งอย่างประณีต หากเป็นอาหารการกินในสังคมชนบทอันแร้นแค้นที่ผู้คนต้องดิ้นรนเพื่อความอยู่รอด”
ถอดสูตร “ลาบปลาร้า” หรือ “แจ่วปลาร้า” ของบักคูน
วัตถุดิบ
1.ปลาร้า 1 ตัวเท่านิ้วก้อย
2.หอมแดง
3.ตะไคร้สด
4.ข่าอ่อน
5.พริกสด
6.ข้าวคั่ว
7.ใบตอง (สำหรับห่อ)
วิธีทำ
1.เตรียมเครื่องปรุง ซอยตะไคร้ ข่าอ่อน หอมแดง และพริกสดเตรียมไว้
2.สับปลาร้าให้ละเอียด
3.นำตะไคร้ ข่าอ่อน หอมแดง และพริกสดคลุกเข้ากับเนื้อปลาร้าสับและสับให้ละเอียด พร้อมข้าวคั่วให้เป็นเนื้อเดียวกัน
6.นำเนื้อปลาร้าสับละเอียดใส่บนใบตองสดห่อและนำไปลนไฟ หรือย่างไฟอ่อนๆ จนสุก ยิ่งเป็นเตาถ่านจะหอมมาก
ต้นเรื่อง : นิตยสารสารคดี มีนาคม 2540 และ มิถุนายน 2554 มี.ค.2540