รับมงคลปีใหม่ไทยกับ 9 ท่าน้ำวิถีไทย ใน Bangkok Water Festival 2022
Lite

รับมงคลปีใหม่ไทยกับ 9 ท่าน้ำวิถีไทย ใน Bangkok Water Festival 2022

Focus
  • กลับมาให้ร่วมสนุกอีกครั้งกับเทศกาลวัฒนธรรมระดับประเทศที่จัดมาอย่างต่อเนื่อง “เทศกาลวิถีน้ำ…วิถีไทย” (Water Festival) ซึ่งในปี พ.ศ.2565 นับเป็นครั้งที่ 7 และจัดภายใต้แนวคิด “สายน้ำ ยาม ฟ้าใส”
  • “Water Festival 2022 เทศกาลวิถีน้ำ ..วิถีไทย” จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 11-15 เมษายน พ.ศ.2565 ใน 4 ภาค 6 จังหวัดทั่วประเทศไทย ได้แก่ กรุงเทพฯ เชียงใหม่ อุดรธานี ลำพูน ขอนแก่น และภูเก็ต

กลับมาให้ร่วมสนุกอีกครั้งกับเทศกาลวัฒนธรรมระดับประเทศที่จัดมาอย่างต่อเนื่อง เทศกาลวิถีน้ำ…วิถีไทย (Water Festival) ซึ่งในปี พ.ศ.2565 นับเป็นครั้งที่ 7 และจัดภายใต้แนวคิด “สายน้ำ ยาม ฟ้าใส” เพื่อต้อนรับเทศกาลสงกรานต์ สำหรับปีนี้  Water Festival 2022 เทศกาลวิถีน้ำ ..วิถีไทย จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 11-15 เมษายน พ.ศ. 2565 ใน 4 ภาค 6 จังหวัดทั่วประเทศไทย ได้แก่ กรุงเทพฯ เชียงใหม่ อุดรธานี ลำพูน ขอนแก่น และภูเก็ตโดยแม่งานคือบริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด(มหาชน) และ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ต้องการ “บอกเล่าความเป็นไทยไปทั่วโลก” และตอกย้ำ “สงกรานต์ดีงาม” ผ่านการถ่ายทอดศิลปวัฒนธรรมและประเพณีอันเป็นเอกลักษณ์และหาชมได้ยาก

กิจกรรมในกรุงเทพฯ จะจัดขึ้นในบริเวณ 9 ท่าน้ำวิถีไทย ที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ที่ทอดยาวริมโค้งน้ำที่ยาวที่สุดของแม่น้ำเจ้าพระยาในคอนเซ็ปต์ 9 ท่าน้ำวิถีไทย ประกอบไปด้วยท่าน้ำของ 5 วัด ได้แก่ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม (วัดโพธิ์) วัดอรุณราชวราราม วัดกัลยาณมิตร วัดประยุรวงศาวาส วัดระฆังโฆสิตาราม และท่าเรือของ 4 โครงการสำคัญริมแม่น้ำเจ้าพระยา คือ เอเชียทีค เดอะ ริเวอร์ฟร้อนท์ ท่ามหาราช เดอะล้ง 1919 ริเวอร์ไซต์ เฮอริเทจ เดสติเนชั่น และ สุขสยาม ณ ไอคอนสยาม  พร้อมกับบริการเรือรับส่งฟรีไปยังทั้ง 9 ท่าน้ำระหว่างวันที่ 13-15 เมษายน พ.ศ.2565 ตั้งแต่เวลา 9.00 -17.00 น.ใครที่ต้องการนั่งเรือยามเย็นไปร่วมงานที่เอเชียทีค สามารถขึ้นเรือโดยสารของเอเชียทีคได้ที่ท่าเทียบเรือ สะพานตากสิน (ทุก ๆ  30นาที) Sarakadee Lite ขอชวนไปปักหมุดความพิเศษของทั้ง 9 ท่าน้ำวิถีไทย กัน

Water Festival 2022

“ท่าเตียน (วัดโพธิ์)”

อดีตแหล่งค้าส่งสินค้าที่ใหญ่ที่สุดของพระนคร

Story Behind: ท่าเตียนเป็นเมืองท่าเก่าแก่ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาและเมื่อรัชกาลที่ 1 ทรงย้ายพระบรมมหาราชวังจากกรุงธนบุรีซึ่งอยู่ทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยามายังฝั่งตะวันออกใกล้กับบริเวณท่าเตียนซึ่งเป็นย่านที่มีคนจีนและคนญวนอาศัยอยู่เป็นจำนวนมากตั้งแต่สมัยธนบุรีทำให้สถานที่ตั้งของท่าเตียนกลายเป็นพื้นที่ชั้นในของกรุงรัตนโกสินทร์และรายล้อมด้วยวัด วัง และตลาด

ท่าเตียนเป็นตลาดค้าส่งสินค้าอุปโภคบริโภคที่ใหญ่ที่สุดในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์และมีท่าเรือหลายท่าสำหรับขนถ่ายสินค้าจากทั่วประเทศและสินค้าที่บรรทุกมาจากเรือสำเภาจีน นอกจากนี้ยังมีท่าเรือโดยสารสำหรับเรือเมล์ที่ล่องไปยังจังหวัดต่างๆอีกหลายสาย แต่เมื่อการคมนาคมทางน้ำไม่ได้เป็นเส้นทางสายหลักสำหรับค้าขายและการเดินทางอีกต่อไป ท่าเตียนจึงถูกลดบทบาทการเป็นศูนย์กลางการค้าไปโดยปริยายและปัจจุบันกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ที่สามารถบอกเล่าเรื่องการก่อร่างสร้างเมืองกรุงเทพฯได้เป็นอย่างดี

บริเวณท่าเตียนยังเป็นที่ตั้งของวัดสำคัญคือ วัดโพธิ์ หรือ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร ซึ่งเป็นพระอารามหลวงชั้นเอกและวัดประจำรัชกาลที่ 1 เมื่อครั้งก่อตั้งราชธานีแห่งใหม่บริเวณฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา รัชกาลที่ 1 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้บูรณปฏิสังขรณ์วัดโพธาราม (ชื่อเดิมของวัดโพธิ์) ซึ่งเป็นวัดเก่าของเมืองบางกอกตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาและอยู่ทางทิศใต้ของพระบรมมหาราชวังแห่งใหม่ให้เป็นวัดหลวงและให้รวบรวมตำรายาและรูปปั้นท่าฤๅษีดัดตนเกี่ยวกับการบำบัดโรคภัยไว้เป็นแหล่งมรดกภูมิปัญญาไทย

วัดโพธิ์ได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์ครั้งใหญ่ในสมัยรัชกาลที่ 3 นานเกือบ 17 ปี โดยมีการสร้างรูปปั้นฤๅษีดัดตนเพิ่มและได้รวบรวมสรรพวิชาแขนงต่าง ๆ จารึกลงบนแผ่นศิลาประดับไว้ภายในบริเวณวัดทำให้วัดโพธิ์ได้รับการยกย่องว่าเป็นมหาวิทยาลัยเปิดแห่งแรกของประเทศไทย นอกจากนี้จารึกวัดโพธิ์จำนวน 1,440 แผ่น ยังได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นเอกสารมรดกความทรงจำแห่งโลกในระดับนานาชาติ โดยองค์การยูเนสโกเมื่อ พ.ศ.2554

Highlight: ร่วมขอพรให้ชีวิตร่มเย็นเป็นสุข ประสบความสำเร็จและมีโชคลาภด้วยการกราบสักการะพระพุทธเทวปฏิมากร พระประธานในพระอุโบสถ และพระพุทธไสยาสน์ภายในพระวิหารซึ่งเป็นพระนอนองค์ใหญ่สุดในกรุงเทพฯ รวมไปถึงปิดทองพระประจำวันเกิดและประพรมน้ำพระพุทธมนต์ 100 ปีวัดโพธิ์

ต้อนรับเทศกาลสงกรานต์กับอุโมงค์มงคลสายน้ำเพื่อความเป็นสิริมงคลและร่วมกิจกรรมเวิร์กชอปหลากหลาย อาทิ การจัดดอกไม้ถวายพระ การทำขนมมงคล การทำน้ำอบน้ำปรุง พร้อมชมการแสดงนาฎศิลป์ไทยร่วมสมัยและชาวชุมชนท่าเตียนยังนำของดีของเด็ดของย่านมาร่วมออกร้านด้วย

Water Festival 2022

“ท่าวัดอรุณฯ”

พระปรางค์วัดแจ้งแลนด์มาร์กของไทยดังไกลทั่วโลก

Story Behind: วัดอรุณฯ หรือ วัดอรุณราชวรารามเป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดราชวรมหาวิหาร ซึ่งตั้งอยู่ทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา วัดแห่งนี้สร้างตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาโดยแต่เดิมชาวบ้านเรียกว่า “วัดมะกอกนอก” เพราะตั้งอยู่นอกเขตชุมชนและลึกเข้ามาในคลองบางกอกใหญ่ แต่เหตุที่ต่อมาเป็นที่รู้จักในชื่อ “วัดแจ้ง”เพราะมีเรื่องเล่าว่าเมื่อหลังกรุงศรีอยุธยาเสียกรุงครั้งที่ 2 จนยากจะบูรณะ สมเด็จพระเจ้าตากสินซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งพระยาวชิรปราการเสด็จมาตามลำน้ำเจ้าพระยาจนถึงวัดมะกอกนอกในเวลารุ่งแจ้ง และพระองค์ได้เสด็จขึ้นฝั่งเพื่อไปนมัสการพระปรางค์ภายในวัด

ภายหลังพระเจ้าตากสินสถาปนากรุงธนบุรีจึงได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้บูรณะวัดแจ้ง ต่อมารัชกาลที่ 2 พระราชทานนามวัดใหม่ว่า “วัดอรุณราชธาราม” และในสมัยรัชกาลที่ 4 เปลี่ยนสร้อยท้ายชื่อเป็น “วัดอรุณราชวราราม” หมายถึง วัดแห่งรุ่งอรุณ และชาวต่างชาติรู้จักในชื่อ The Temple of Dawn

ช่วงรัชกาลที่ 1 ถึงรัชกาลที่ 5 มีการบูรณะวัดหลายครั้ง โดยเฉพาะในสมัยรัชกาลที่ 2 พระองค์โปรดเกล้าฯ ให้บูรณะพระปรางค์องค์เดิมให้สูงขึ้นจากเดิมซึ่งสูงประมาณ 16 เมตร เป็น 81 เมตร เพื่อให้เป็นพระธาตุประจำพระนคร แต่การก่อสร้างมาแล้วเสร็จในสมัยรัชกาลที่ 3 และกลายเป็นแลนด์มาร์กที่ทำให้คนทั่วโลกนึกถึงประเทศไทย

ลักษณะสถาปัตยกรรมของพระปรางค์วัดอรุณฯ เป็น “ปรางค์สมัยรัตนโกสินทร์แบบอิทธิพลขอมของอยุธยา” เพราะได้ดัดแปลงแก้ไขจากศิลปะอยุธยาซึ่งได้รับอิทธิพลจากขอมอีกทอดหนึ่ง จึงเป็นพระปรางค์ที่แตกต่างจากองค์อื่นในประเทศไทยตัวองค์พระปรางค์มีฐานกว้างแล้วค่อยเรียวเล็กไปจนถึงยอดแบบที่เรียกว่า ทรงจอมแห องค์พระปรางค์ประดับด้วยกระเบื้องเคลือบสีต่างๆ เปลือกหอย เครื่องถ้วยชามเบญจรงค์ที่ส่วนใหญ่นำเข้ามาจากประเทศจีน บางส่วนทำเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อยนำมาประกอบกันเป็นลายดอกไม้และใบไม้อันป็นลักษณะเด่นของศิลปะพระราชนิยมรัชกาลที่ 3 นอกจากนี้เรื่องราวไตรภูมิยังได้ถูกจำลองไว้ในสถาปัตยกรรมของพระปรางค์อีกด้วย

Highlight: เริ่มชีวิตรุ่งโรจน์ทุกคืนวันกับการกราบสักการะพระพุทธธรรมมิศรราชโลกธาตุดิลกพระประธานในพระอุโบสถซึ่งกล่าวกันว่ารัชกาลที่ 2 ทรงปั้นหุ่นพระพักตร์และที่ฐานของพระพุทธรูปยังเป็นที่ประดิษฐานพระบรมอัฐิของพระองค์อีกด้วย จากนั้นร่วมสรงน้ำพระพุทธรูป ถวายผ้าไตรจีวร ถวายสังฆทานและรดน้ำดำหัวเพื่อขอพรจากผู้สูงอายุนอกจากนี้ยังอุโมงค์มงคลสายน้ำเพื่อความเป็นสิริมงคล การสาธิตหล่อพระจากชุมชนบ้านช่างหล่อ การออกร้านของคนในชุมชน และเวทีแสดงนาฎศิลป์ไทย

Water Festival 2022

“ท่าวัดระฆังฯ”

ตำนานสมเด็จพระพุฒาจารย์โตและคาถาชินบัญชร

Story Behind: วัดระฆังฯ หรือ วัดระฆังโฆสิตาราม เป็นวัดเก่าแก่ที่สร้างตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาและเดิมชื่อว่า “วัดบางว้าใหญ่” ในสมัยธนบุรีเมื่อสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงสร้างพระราชวังแห่งใหม่ทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยาใกล้กับวัดบางหว้าใหญ่จึงโปรดเกล้าฯให้บูรณปฏิสังขรณ์วัดและยกให้เป็นพระอารามหลวงและยังเป็นที่ประชุมสังคายนาพระไตรปิฎกอีกด้วย

ส่วนชื่อวัดระฆังมาจากการขุดค้นพบระฆังลูกหนึ่งที่วัดในสมัยรัชกาลที่ 1 และพระองค์โปรดเกล้าฯ ให้นำไปไว้ที่วัดพระแก้วและทรงสร้างหอระฆังจตุรมุขพร้อมทั้งระฆังอีก 5 ลูกพระราชทานไว้ให้กับวัดแทนทำให้ประชาชนนิยมเรียกวัดแห่งนี้ว่าวัดระฆังตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

ภายในวัดมีสถาปัตยกรรมที่น่าสนใจมากมาย เช่น หอพระไตรปิฎก ซึ่งเดิมเป็นพระตำหนักและหอประทับนั่งของรัชกาลที่ 1 สมัยที่พระองค์ทรงพระยศเป็นพระราชวรินทร์ รับราชการในสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีและภายหลังได้รื้อไปปลูกไว้ที่วัด ส่วนพระอุโบสถเป็นที่ประดิษฐาน “พระประธานยิ้มรับฟ้า” เนื้อทองสำริดปางสมาธิซึ่งได้รับการยกย่องว่างดงามมากและจิตรกรรมฝาผนังที่วิจิตรด้วยฝีมือของช่างหลวงคือ พระวรรณวาดวิจิตร (ทอง จารุวิจิตร) จิตรกรเอกในสมัยรัชกาลที่ 6

นอกจากนี้ยังมีตำหนักแดงซึ่งป็นเรือนไม้สักฝาปะกนที่กรมพระราชวังบวรสถานพิมุขทรงยกถวายวัดเพื่อปลูกเป็นกุฏิสงฆ์และเชื่อกันว่าเดิมเป็นตำหนักสำหรับทรงกรรมฐานของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช วัดแห่งนี้ยังเป็นวัดที่พระมหาเถระชื่อดัง สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พฺรหฺมรํสี) หรือนามที่นิยมเรียกว่า “สมเด็จโต” “หลวงปู่โต” หรือ “สมเด็จวัดระฆัง” ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสรูปที่ 6 (พ.ศ. 2395-2415) ตั้งแต่ในแผ่นดินรัชกาลที่ 4 ถึงรัชกาลที่ 5 และคาถาชินบัญชรถือได้ว่าเป็นมรดกชิ้นสำคัญของสมเด็จพระพุฒาจารย์โตที่ปัจจุบันพุทธศาสนิกชนชาวไทยยังคงนิยมสวดมนต์คาถาชินบัญชรสืบต่อกันเรื่อยมา

Highlight: เสริมสิริมงคลด้วยการกราบสักการะพระประธานยิ้มรับฟ้าในพระอุโบสถและรูปหล่อสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พฺรหฺมรํสี) พร้อมกับสรงน้ำพระพุทธรูปและพระ 3 สมเด็จ คือ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พฺรหฺมรํสี)สมเด็จพระพุฒาจารย์ (ม.จ. ทัด เสนีวงศ์) และ สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ม.ร.ว. เจริญ อิศรางกูร) ซึ่งเป็นเจ้าอาวาสวัดระฆังฯรูปที่ 6, 7 และ 8 ตามลำดับ

กิจกรรมที่น่าสนใจอื่นๆประกอบด้วย สาธิตการทำขันลงหินโบราณจากชุมชนบ้านบุ การออกร้านค้าชุมขน การแสดงดนตรีและนาฎศิลป์จากสถานศึกษาในชุมชน การแสดงดนตรีร่วมสมัย และสนุกกับการถ่ายรูปกับงาน installation

Water Festival 2022

“ท่าวัดกัลยาฯ”

สถาปัตยกรรมพระราชนิยมรัชกาลที่ 3 ในชุมชนพหุวัฒนธรรม

Story Behind: วัดกัลยาฯ หรือ วัดกัลยาณมิตรเป็นพระอารามหลวงชั้นโท ชนิดวรมหาวิหาร ซึ่งตั้งอยู่ปากคลองบางกอกใหญ่ หรือที่เรียกว่าย่านกุฎีจีนอันเป็นชุมชนพหุวัฒนธรรมที่เก่าแก่แห่งหนึ่งของกรุงเทพฯโดยมีทั้งลูกหลานชาวไทย ชาวไทยเชื้อสายโปรตุเกส ชาวจีน ชาวมุสลิม ชาวลาวและชาวมอญอาศัยอยู่ร่วมกัน

วัดแห่งนี้สร้างในสมัยรัชกาลที่ 3 บริเวณที่ดินซึ่งเจ้าพระยานิกรบดินทร์ (โต กัลยาณมิตร) ได้อุทิศบ้านเดิมและซื้อที่ดินข้างเคียงและบ้านอีกหลายหลังซึ่งเดิมเรียกว่าหมู่บ้านกุฎีจีนเพื่อสร้างวัดขึ้นตามพระราชนิยมและน้อมเกล้าฯถวายรัชกาลที่ 3 พระองค์จึงพระราชทานนามว่า วัดกัลยาณมิตรเพื่อเป็นอนุสรณ์ยืนยันถึงน้ำพระทัยของพระองค์ที่ทรงมีต่อมิตรที่ดีอย่างเจ้าพระยานิกรบดินทร์ผู้ซึ่งถวายตัวเป็นข้าหลวงในรัชกาลที่ 3 ตั้งแต่ครั้งยังดำรงพระอิสริยยศเป็นพระเจ้าลูกยาเธอกรมหมื่นเจษฎาบดินทร นอกจากนี้ยังมีการสร้าง “พระพุทธไตรรัตนนายก”(หลวงพ่อโต) หรือที่คนจีนนับถือและเรียกว่า “ซำปอกง” เพื่อเป็นพระประธานในวิหารหลวงโดยมีพระราชประสงค์ให้เป็นพระพุทธรูปใหญ่อยู่ริมแม่น้ำเช่นเดียวกับที่วัดพนัญเชิงในกรุงเก่า

ทางด้านขวาของพระวิหารหลวงคือพระอุโบสถที่ก่อสร้างตามแบบพระราชนิยมในศิลปะจีน คือ ไม่มีช่อฟ้า ใบระกา และ หางหงส์ บริเวณหน้าบันตกแต่งด้วยปูนปั้นเป็นลวดลายดอกไม้ ประดับกระเบื้องเคลือบสลับสี และภายในประดิษฐานพระพุทธรูปประธานหล่อด้วยสำริดปางปาเลไลยก์ ภายในมีภาพจิตรกรรมฝาผนัง แสดงพุทธประวัติและวิถีชีวิตผู้คนในสมัยรัชกาลที่ 3

Highlight: สิ่งที่ไม่ควรพลาดเมื่อมาวัดกัลยาฯ คือกราบสักการะพระพุทธไตรรัตนนายก (หลวงพ่อโต) หรือที่คนจีนนับถือและเรียกว่า “ซำปอกง” พร้อมกับสรงน้ำพระพุทธรูปองค์ต่างๆเนื่องในวันปีใหม่ไทยชาวชุมชนวัดกัลยายังจัดเวิร์คชอปการทำหัวสิงโตและการแสดงเชิดสิงโตให้ได้ชมด้วย พร้อมเสริมทัพความสนุกด้วยการแสดงจากนักเรียนโรงเรียนวัดกัลยา การแสดงดนตรีและนาฎศิลป์จากสถานศึกษาในชุมชน และการออกร้านค้าของชุมชนชาวกุฎีจีน

9 ท่าน้ำวิถีไทย

“ท่าวัดประยุรฯ”

จากวัดประจำตระกูลสู่รางวัลระดับโลก

Story Behind: วัดประยุรฯ หรือ วัดประยุรวงศาวาส เป็นพระอารามหลวงชั้นโท ชนิดวรวิหาร ตั้งอยู่ใกล้กับเชิงสะพานพระพุทธยอดฟ้าฝั่งธนบุรี และก่อสร้างในสมัยรัชกาลที่ 3 โดยสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ (ดิศ บุนนาค) ขณะดำรงตำแหน่งเจ้าพระยาพระคลังบนที่ดินซึ่งเดิมเป็นสวนกาแฟ ณ ตำบลกุฎีจีน รัชกาลที่ 3 นอกจากจะทรงเป็นอัครศาสนูปถัมภกในการทำนุบำรุงพระศาสนาและบูรณปฏิสังขรณ์วัดจำนวนมากแล้ว ยังทรงชักชวนเหล่าพระบรมวงศานุวงศ์และเสนาบดีขุนนางชั้นผู้ใหญ่ให้ช่วยกันเกื้อกูลศาสนาด้วยจึงทำให้เกิดประเพณีนิยมการสร้างวัดในที่ดินของตนเพื่อใช้เป็นวัดประจำตระกูล เช่น เจ้าพระยาบดินทรเดชา(สิงห์)ต้นสกุลสิงหเสนี ได้บูรณปฏิสังขรณ์วัดสามปลื้มถวายเป็นพระอารามหลวง และได้รับพระราชทานชื่อว่า วัดจักรวรรดิราชาวาสในขณะที่เจ้าพระยานิกรบดินทร์ (โต )ต้นสกุลกัลยาณมิตรได้อุทิศที่ดินสร้างวัดกัลยาณมิตร ส่วนวัดประยุรวงศาวาสมีความหมายว่า “อารามแห่งวงศ์พระประยูรญาติ” สำหรับสกุลบุนนาค

สิ่งที่น่าสนใจในวัดคือ “พระบรมธาตุมหาเจดีย์” ซึ่งเป็นเจดีย์สีขาวทรงกลมขนาดใหญ่เส้นผ่านศูนย์กลาง 50 เมตร สูง 60 เมตร และสร้างในสมัยอยุธยาโดยใช้เทคนิคการสร้างเสาแกนกลางซึ่งมีความสูง 20 เมตร และหนัก 144 ตัน เพื่อเป็นหลักในการก่อสร้างเจดีย์ขนาดใหญ่อันเป็นรูปแบบสถาปัตยกรรมโบราณที่เหลืออยู่เพียงแห่งเดียวในประเทศไทย แกนกลางนี้เคยล้มเอียงไปทางฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาต่อมาจึงได้มีโครงการบูรณะเมื่อพ.ศ. 2549 และแล้วเสร็จใน พ.ศ. 2554 โดยใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาช่วยให้เสาแกนกลางกลับมาตั้งตรงโดยไม่ทำลายโครงสร้างเดิม

โครงการดังกล่าวได้รับรางวัลอนุรักษ์ศิลปสถาปัตยกรรมดีเด่นประเภทปูชนียสถานและวัดวาอารามจากสมาคมสถาปนิกสยามเมื่อ พ.ศ.2554 และเมื่อ พ.ศ.2556 ได้รับรางวัลยอดเยี่ยมอันดับ 1 ด้านการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกจากองค์การยูเนสโกซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่ประเทศไทยได้รับรางวัลนี้

ปูชนียสถานที่สำคัญอีกแห่งคือพระอุโบสถซึ่งเป็นรูปแบบสถาปัตยกรรมทรงไทยที่มีหน้าบันเป็นลายดอกพุดตาน พระประธานภายในพระอุโบสถคือ “พระพุทธธรรมวิเชษฐศาสดา” หล่อด้วยโลหะปางมารวิชัยโดยสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ ให้ช่างชาวไทยเป็นผู้หล่อและได้ว่าจ้างช่างลงรักปิดทองมาจากประเทศญี่ปุ่น

Highlight: เสริมบุญด้วยการกราบสักการะพระพุทธธรรมวิเชษฐศาสดาในพระอุโบสถและหลวงพ่อพุทธนาคน้อย และลอดพระบรมธาตุมหาเจดีย์ ปูชนียสถานที่สำคัญของวัดประยุร จากนั้นร่วมสรงน้ำพระบรมสารีริกธาตุ สรงน้ำพระพุทธรูปและทำพิธีบังสุกุลบรรพบุรุษ

กิจกรรมอื่นๆที่จัดขึ้นเพื่อต้อนรับเทศกาลสงกรานต์ประกอบด้วย การเดินลอดอุโมงค์มงคลสายน้ำเพื่อความเป็นสิริมงคล เวิร์กชอปการทำหมูกระดาษ  การแสดงดนตรีและนาฎศิลป์จากสถานศึกษาในชุมชน การออกร้านค้าชุมชน และจุดถ่ายรูปกับงาน installation

9 ท่าน้ำวิถีไทย

“ท่าเดอะ ล้ง 1919 ริเวอร์ไซด์ เฮอริเทจ เดสติเนชั่น”

จากท่าเรือกลไฟในสมัย ร.4 สู่แลนด์มาร์กด้านสุขภาพระดับโลก

Story Behind: ย้อนไป 172 ปีก่อน ราว พ.ศ.2393 ในสมัยรัชกาลที่ 4 เขตคลองสานคือที่อยู่ของพ่อค้าจากโพ้นทะเลที่เข้ามาค้าขายในไทยและสุดถนนเชียงใหม่คือที่ดินขนาด 6 ไร่ของพระยาพิศาลศุภผล (ชื่น) ต้นตระกูลพิศาลบุตรผู้เล็งเห็นความเจริญด้านการค้าโพ้นทะเลและได้ตัดสินใจสร้างท่าเรือกลไฟชื่อ “ฮวย จุ่ง ล้ง”ตรงข้ามวัดสำเพ็ง ต่อมาพระยาพิศาลศุภผลได้ตัดสินใจขายท่าเรือแห่งนี้ต่อให้นาย ตันลิบบ๊วยต้นตระกูลหวั่งหลีในปี พ.ศ. 2462 และได้มีการปรับเปลี่ยนพื้นที่เป็นอาคารสำนักงานโกดังเก็บสินค้า และเป็นที่อยู่อาศัยให้เช่าสำหรับคนงาน

สิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำล้งคือศาลเจ้าซึ่งประดิษฐาน “เจ้าแม่หม่าโจ้ว” เทพผู้คุ้มครองคนเรือให้พ้นภัยในท้องทะเลซึ่งชาวจีนนับถือเป็นอย่างมากและสิ่งที่น่าสนใจอย่างมากของที่นี่คือจิตรกรรมฝาผนังลวดลายจีนที่เพิ่งถูกค้นพบตอนอนุรักษ์อาคารครั้งใหญ่โดยภาพเขียนเหล่านี้ถูกซ่อนอยู่ใต้ชั้นสีที่ถูกทาทับไว้ก่อนหน้านี้หลายรุ่นต่อหลายรุ่น

ภายในปี 2565 นี้ บริษัท แอสเสทเวิรด์คอร์ป จำกัด (มหาชน) หรือ AWC จะพัฒนาพื้นที่ ล้ง 1919 ให้เป็นแลนด์มาร์กด้านสุขภาพระดับโลกในชื่อว่า“เดอะ ล้ง 1919 ริเวอร์ไซด์ เฮอริเทจ เดสติเนชั่น” โดยปัจจุบันและช่วงสงกรานต์ ประชาชนยังสามารถเข้าไปกราบสักการะ เจ้าแม่หม่าโจ้ว ศูนย์กลางความศรัทธาของชาวไทยเชื้อสายจีนในย่านคลองสานได้เช่นเดิม

Highlight: ผู้มีจิตศรัทธาสามารถสักการะเจ้าแม่หม่าโจ้ว เทพผู้คุ้มครองชาวเรือให้พ้นภัยจากการเดินทางทางทะเลโดยเจ้าแม่หม่าโจ้วประจำย่านคลองสานมีด้วยกัน 3 องค์ 3 ปาง แกะสลักจากไม้และอัญเชิญมาจากเมืองจีน ได้แก่ “ปางเด็กสาว” หรือ “จุ้ยบ้วยเนี้ย”ซึ่งชาวจีนนิยมมาขอพรเรื่องความรัก การมีบุตร และการเดินทางที่ราบรื่น องค์ต่อมาคือ “ปางผู้ใหญ่” หรือ “ให่ตั้งหม่า” ประทานพรด้านโชคลาภ เงินทอง การทำมาค้าขาย และสุดท้ายคือ “ปางเทพ” หรือ “เทียนโหวเซี่ยบ้อ” ให้พรเรื่องสุขภาพที่แข็งแรง ครอบครัวอบอุ่น เชื่อกันว่าจะรักษาทรัพย์ให้ลูกหลาน เมื่อครั้งที่ตระกูลหวั่งหลีตัดสินใจอนุรักษ์ซ่อมแซมอาคาร ฮวย จุ่ง ล้ง ครั้งใหญ่ได้มีการอัญเชิญเจ้าแม่หม่าโจ้วทั้ง 3 ปางประทับเกี้ยว 3 หลังมาประดิษฐานไว้ที่อาคารหลังกลางซึ่งหันหน้าสู่แม่น้ำเจ้าพระยา

ผู้เข้าร่วมงานจะได้สัมผัสกับบรรยากาศแบบไทย-จีนโบราณและร่วมชื่นชมคุณค่าของสถาปัตยกรรมและจิตรกรรมฝาผนังของอาคารในโครงการล้ง พร้อมอิ่มท้องกับเทศกาลอาหารที่รวมของอร่อยจากชุมชนคลองสานมาไว้ในที่เดียว

9 ท่าน้ำวิถีไทย

“ท่าเอเชียทีค เดอะ ริเวอร์ฟร้อนท์”

ย้อนรอยประวัติศาสตร์ท่าเรือขนส่งระหว่างประเทศแห่งแรกของสยาม

Story Behind: เอเชียทีค เดอะ ริเวอร์ฟร้อนท์ บนถนนเจริญกรุง เป็นโครงการที่ดัดแปลงท่าเรือเก่าและโกดังสินค้าของ บริษัท อีสท์ เอเชียติก ซึ่งเป็นท่าเรือขนส่งระหว่างประเทศแห่งแรกและใหญ่ที่สุดของสยามในสมัยรัชกาลที่ 5 ให้เป็นแหล่งชอปปิ้งริมแม่น้ำเจ้าพระยาภายใต้แนวคิด Heritage Alive เพื่อต่อยอดการอนุรักษ์พื้นที่ประวัติศาสตร์ทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคมให้มีชีวิตขึ้นอีกครั้ง

กลุ่มบริษัท AWC ได้พัฒนาพื้นที่กว่า 72 ไร่ ให้เป็นแลนด์มาร์กแห่งใหม่ของกรุงเทพฯ ในบรรยากาศย้อนยุคแบบโคโลเนียลในสมัยรัชกาลที่ 5 โดยยังคงอนุรักษ์รูปแบบสถาปัตยกรรมในอดีตของอาคารซึ่งเป็นท่าเรือขนถ่ายสินค้าที่ถือเป็นการเปิดประตูการค้าสากลระหว่างประเทศไทยและทวีปยุโรป นอกจากนี้ในช่วงสงครามมหาเอเชียบูรพา กองทัพญี่ปุ่นยังได้เข้ามายึดท่าเรือและคลังสินค้าแห่งนี้เพื่อใช้เป็นฐานกำลังและคลังแสง ในโครงการยังคงเก็บร่องรอยทางประวัติศาสตร์ของพื้นที่ไว้ให้ผู้มาเยือนได้เห็น อาทิ หลุมหลบภัยสมัยสงครามโลก รถรางโบราณ โรงเลื่อยเก่า เครนโรงเลื่อย ซุ้มโค้งโกดังอายุ 100 กว่าปี ท่าเรือโบราณ และเครนแยกของริมน้ำ

ส่วนแลนด์มาร์กที่สร้างขึ้นใหม่ของที่นี่คือ ชิงช้าสวรรค์ (Asiatique Sky) ความสูง 60 เมตรให้ได้นั่งชมทิวทัศน์ของกรุงเทพฯในมุมสูง พร้อมด้วยทางเดินเลียบริมแม่น้ำเจ้าพระยาระยะทาง 300 เมตร

Highlight: เปิดเทศกาลด้วยประเพณีแห่พระทางน้ำอันเป็นมงคล ในเช้าวันที่ 13 เมษายน 2565 เริ่มขบวนจากเอเชียทีคฯสู่ 5 พระอารามหลวงที่จัดงานเสริมสิริมงคลชีวิตต้อนรับปีใหม่ไทยด้วยการสรงน้ำพระพุทธรูปประจำวันเกิด 65 องค์จาก 6 พระอารามหลวง ได้แก่ วัดโพธิ์ วัดอรุณฯ วัดกัลยาฯวัดระฆังฯ วัดประยุรฯ และ วัดราชสิงขร ซึ่งอัญเชิญมาประดิษฐาน ณ ลานมงคลริมน้ำ

บริเวณท่าน้ำยังจัดแต่งในบรรยากาศย้อนยุคของงานวัดเพื่อต้อนรับเทศกาลสงกรานต์ ผู้เข้าร่วมงานสามารถสนุกสนานกับซุ้มเกมนานาชนิด ชมการแสดงศิลปวัฒนธรรมไทย และร่วมรำวงย้อนยุคแบบ social distancing

“ท่ามหาราช”

ปรับท่าเรือเก่าเป็นคอมมูนิตีริมเจ้าพระยา

Story Behind: ท่ามหาราชตั้งอยู่ที่ตรอกมหาธาตุ ถนนมหาราช ใกล้กับท่าพระจันทร์ เดิมเป็นท่าเรือและต่อมาได้มีการพัฒนาพื้นที่บริเวณดังกล่าวซึ่งมีเนื้อที่กว่า 10,000 ตารางเมตรให้เป็นคอมมูนิตีมอลล์ริมแม่น้ำเจ้าพระยาโดยบริษัท สุภัทรา เรียล เอสเตท จำกัด

ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น ถนนมหาราชเคยเป็นกำแพงพระราชวังหลวงด้านทิศตะวันตกและต่อมาได้เปลี่ยนเป็นอาคารพาณิชย์ ปัจจุบันทางโครงการได้ปรับพื้นที่ให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวแห่งใหม่ภายใต้แนวคิดRiverside Eatery, Urban Oasis, Art & Culture Market และเปิดเป็นถนนคนเดินริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาเพื่อให้นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติชื่นชมทัศนียภาพแม่น้ำเจ้าพระยาได้มากขึ้น โครงการท่ามหาราชอยู่ใกล้สถานที่สำคัญมากมายในระยะเดินได้ อาทิ ท่าพระจันทร์ซึ่งเป็นแหล่งเช่าพระเครื่อง วัดมหาธาตุฯ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร วัดพระแก้วและพระบรมมหาราชวัง สนามหลวง ศาลหลักเมือง และอยู่ตรงข้ามโรงพยาบาลศิริราช ท่าเรือวังหลัง อีกด้วย

Highlight: กิจกรรมที่ท่ามหาราชจัดภายใต้คอนเซ็ปต์ “ช็อป ชม ชิม ริมเจ้าพระยา เส้นทางสัญจรระหว่างฝั่งพระนครและฝั่งธนบุรี” พร้อมสนุกกับงานในรูปแบบงานวัด เล่นเกมชิงรางวัลต่างๆ และเลือกสรรสินค้าหลากหลายจากร้านค้าชุมชน

“ท่าสุขสยาม ณ ไอคอนสยาม”

เมกะโปรเจกต์ของภาคเอกชนและพื้นที่ชูคุณค่าศิลปวัฒนธรรมไทย

Story Behind: พื้นที่ 15,000 ตารางเมตร บนชั้นล่างสุดของไอคอนสยามเป็นเมืองมหัศจรรย์แห่งวิถีไทยชื่อว่า“สุขสยาม”เพื่อนำเสนอผลิตภัณฑ์และผลงานสร้างสรรค์จากภูมิปัญญาไทย งานศิลปวัฒนธรรม การแสดงประเพณีและวิถีชีวิตดั้งเดิมไว้ในพื้นที่เดียวกันในคอนเซ็ปต์ค้าปลีกรูปแบบใหม่ที่เรียกว่า Co-Creation หรือการร่วมกันรังสรรค์ โดยผนึกกำลังพันธมิตรทางธุรกิจกับ ศิลปิน วิสาหกิจท้องถิ่น ชุมชนวิถีไทย และผู้ประกอบการรายย่อยระดับท้องถิ่นจาก 77 จังหวัดทั่วไทย บรรยากาศของสุขสยามได้รับการตกแต่งให้สะท้อนรูปแบบวิถีชีวิตพื้นบ้านของแต่ละภูมิภาคอีกทั้งยังมีกิจกรรมและการแสดงศิลปวัฒนธรรมผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนจัดแสดงอยู่ตลอด

Highlight: สนุกแบบไทย 4 ภาคที่สุขสยามกับกิจกรรมหลากหลายในแต่ละวัน เริ่มจากวันที่ 8-20 เมษายน 2565 ร่วมสัมผัสเสน่ห์ความงามอัตลักษณ์ความเป็นไทยกับกิจกรรมวัฒนธรรมไทย 4 ภาค ส่วนวันที่ 11 เมษายน 2565 ร่วมพิธีเปิดงาน “สุขสยาม สายน้ำ ยาม ฟ้าใส” อย่างเป็นทางการ และระหว่างวันที่ 12-15 เมษายน 2565 พบกับขบวนแห่พระพุทธรูป 4 ภาคและการแสดง 4 ภาครอบเมืองสุขสยาม

Fact File

รายละเอียดเพิ่มเติม Water Festival 2022 และ 9 ท่าน้ำวิถีไทย : www.facebook.com/WaterFestivalThailand


Author

กองบรรณาธิการ
กองบรรณาธิการ Sarakadee Lite