8 มรดกทางสถาปัตยกรรม ไม้สักเมืองแพร่ ที่ยังคงเหลืออยู่
Lite

8 มรดกทางสถาปัตยกรรม ไม้สักเมืองแพร่ ที่ยังคงเหลืออยู่

Focus
  • แพร่ ถือเป็นเมืองแห่งวัฒนธรรมไม้สัก เพราะเป็นแหล่งไม้สักสำคัญของประเทศไทยมาตั้งแต่สมัยอาณาจักรล้านนา
  • แพร่ยังเป็นเมืองเกิดของโรงเรียนฝึกสอนด้านการทำป่าไม้ เริ่มจากโรงเรียนป่าไม้ ระดับประกาศนียบัตรในปี พ.ศ. 2478 จนขยายการศึกษามาถึงระดับปริญญา ยกฐานะเป็นคณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ในปัจจุบัน
  • บ้านไม้สักอายุร้อยกว่าปีของเมืองแพร่ถือป็นหลักฐานของภูมิปัญญาสุดยอดของคนโบราณ ไม่มีการตอกตะปู แต่เชื่อมต่อด้วยการทำร่องไม้วางให้ลงล็อก

การรื้อถอน อาคารบอมเบย์เบอร์มา เรือนไม้ 2 ชั้น อายุ 127 ปี ในปี พ.ศ.2563 ถือเป็นการทุบหลักฐานทางประวัติศาสตร์มรดกทางสถาปัตยกรรม ไม้สักเมืองแพร่ ซึ่งจังหวัดแพร่นั้นได้ชื่อว่าเป็น “เมืองแห่งไม้สัก” อีกทั้งประวัติศาสตร์การทำไม้สมัยใหม่ในสยามก็ได้เริ่มต้นขึ้นที่แพร่

ครั้งนั้น รัฐบาลสยาม ได้เปิดสัมปทานป่าไม้ให้กับบริษัทต่างชาติรายใหญ่อย่าง บริษัทบอมเบย์เบอร์มา และ บริษัทอีสต์เอเชียติก ซึ่งเป็นสถานที่กำเนิดโรงเรียนป่าไม้แห่งแรกของสยาม เพื่อสอนวิชาการจัดการป่าไม้อย่างเป็นกิจจะลักษณะ

ดังนั้นอาคารไม้ต่างๆ ในจังหวัดแพร่จึงไม่ได้มีคุณค่าแค่ความงามของงานช่าง แต่ยังเป็นหลักฐานของยุคสมัยที่สะท้อนถึงวัฒนธรรมไม้สักของเมืองแพร่ ไม่ว่าจะเป็นลักษณะเด่นของบ้านที่มีเสาไม้สักขนาดใหญ่ ไม้กระดานแผ่นโต สืบเนื่องจากการสร้างบ้านสมัยก่อน เพื่อสร้างอาคารหรือเครื่องเรือนตกแต่งบ้านนั้นจะตัดเฉพาะไม้สักยืนต้นอายุเป็น 100 ปี ซึ่งมีวงปีหรือเนื้อไม้ที่แข็งแรงทนทาน เป็นหนึ่งในเหตุผลที่ทำให้ ไม้สัก เป็นทรัพยากรมูลค่าสูงและได้รับความนิยม

Sarakadee Lite ชวนปักหมุด 8 มรดกทางสถาปัตยกรรมและวัฒนธรรม ไม้สักเมืองแพร่ ที่ยังเหลืออยู่ มาเต็มทั้งความงามด้านสถาปัตยกรรมและเรื่องราวทางประวัติศาสตร์

บ้านวงศ์บุรี

History: เรือนไม้สักโบราณสีชมพูกุหลาบขนาดย่อม สถาปัตยกรรมแบบยุโรปประยุกต์ หรือ สถาปัตยกรรมเรือนขนมปังขิงตามความนิยมในสมัยรัชกาล 5 สร้างเมื่อ พ.ศ.2450 อดีตเป็นคุ้มของเจ้าพรหมหรือหลวงพงษ์พิบูลย์และเจ้าสุนันตา วงศ์บุรี จึงได้ชื่อเรียกว่า บ้านวงศ์บุรีสร้างโดยช่างชาวจีนเมืองกวางตุ้งเมื่อร้อยกว่าปีก่อนเป็นสถานที่ใช้ถ่ายทำภาพยนตร์และละครย้อนยุคหลายเรื่อง

A Must: ความงามของสีบ้านเป็นชมพูกุหลาบหลังคาสองชั้นทรงปั้นหยา เพดานสูง และลวดลายไม้แกะสลักอันวิจิตรบรรจง ประดับตามหน้าจั่ว ระเบียง และการจัดสรรห้องใช้สอย ห้องนอน ห้องนั่งเล่นห้องอาหาร และยังมีหลักฐานประวัติศาสตร์เป็นเอกสารสำคัญยุคซื้อ-ขายทาสของไทยให้ชม

Check In: ถนนคำลือ (ถนนหลังจวนผู้ว่า สี่แยกพระนอนเหนือ) อำเภอเมืองแพร่

พิพิธภัณฑ์ไม้สัก

History: เดิมเป็นอาคารที่ทำการของบริษัทอีสต์เอเชียติก จำกัด (สัญชาติเดนมาร์ก หนึ่งในผู้ได้รับสัมปทานจัดการป่าไม้ในยุคแรก ๆ บนแผ่นดินสยามเมื่อสิ้นสุดสัญญาสัมปทานในปีพ.ศ.2478 ก็ได้มอบพื้นที่ 6ไร่ พร้อมอาคารสร้างด้วยไม้สักหลายหลังคืนให้กับรัฐบาลสยาม ซึ่งรัฐบาลสยามได้รื้อถอนอาคารที่ทรุดโทรมทิ้งไปและเหลือไว้เพียง 3 หลัง ใช้เป็นสถานศึกษา โรงเรียนการป่าไม้ แห่งแรกและแห่งเดียวของสยามประเทศก่อนจะปรับปรุงมาเป็น ศูนย์อบรมและพิพิธภัณฑ์ไม้สัก เปิดให้บุคคลทั่วไปเข้าชมฟรี

A Must: อาคารเก่าของอีสต์เอเชียติก 3 หลัง รวมถึงอาคารไม้ที่เคยเป็นโรงเรียนการป่าไม้แห่งแรกของสยาม และอาคารสำนักงานของบริษัทค้าไม้ในยุคเริ่มแรกที่ต่างชาติได้เข้ามาการจัดการป่าไม้และจัดแสดงหลักฐานและประวัติต่างๆของเมืองแห่งไม้สัก

Check In: ถนนคุ้มเดิม ตำบลในเวียง อำเภอเมืองแพร่

คุ้มวิชัยราชา

History: ข้อมูลหลักฐานประวัติศาสตร์คาดได้เพียงว่าบ้านหลังนี้น่าจะสร้างขึ้นระหว่างปี พ.ศ. 2434-2438 และเคยเป็นบ้านของพระวิชัยราชา ซึ่งเป็นบุคคลมีชื่อว่าเป็นผู้ช่วยให้ฝ่ายรัฐสยามรอดพ้นจากศัตรูในช่วง กลุ่มกบฏเงี้ยว ที่เข้าทำการปล้นยึดเมืองแพร่

A Must: เรือนไม้สักทรงมะนิลา อายุเก่าแก่เกินร้อยปี แต่โครงสร้างยังแข็งแรง และการออกแบบที่เหมาะเจาะสวยงาม เสาที่รับน้ำหนักไม่ได้ใหญ่โตอลังการ แต่เป็นเสาใหญ่ขนาดแปดคูณแปดนิ้ว ภูมิปัญญาช่างชาวเมืองแพร่แท้ๆสมัยก่อนโดดเด่นด้วยลายฉลุที่อ่อนช้อยทั้งที่จั่วบ้าน บังลม ระเบียงตลอดจนไม้ช่องลมเหนือบานประตูและหน้าต่าง

Check In: ถนนวิชัยราชา ตำบลในเวียง อำเภอเมืองแพร่

คุ้มเจ้าหลวง

History: เรือนไม้สัก ที่เรียกว่า คุ้มเจ้าหลวงหลังนี้ เป็นที่พำนักและที่ทำการของเจ้าผู้ครองนครแพร่องค์สุดท้าย สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2435 ตรงกับสมัยรัชกาลที่ 5 ลักษณะอาคารครึ่งตึกครึ่งไม้สองชั้น ตัวเรือนทาสีครีม ขลิบสีเขียวอ่อน ประดับด้วยไม้สักฉลุ เป็นสถาปัตยกรรมไทยผสมยุโรปตามความนิยมในสมัยนั้น

A Must: นอกจากจะเป็นเรือนไม้สักขนาดมหึมามีบันไดทางขึ้นสามทาง ประตูหน้าต่างรวม72 บาน ในทางสถาปัตยกรรม คุ้มเจ้าหลวงยังเป็นบ้านที่ไม่มีเสาเข็ม แต่ใช้ท่อนซุงจากต้นสักรองรับเสาทั้งหลัง และชั้นใต้ดินของคุ้มเจ้าหลวง อดีตเป็นที่คุมขังทาส ปัจจุบันถูกแปลงเป็นพิพิธภัณฑ์ เล่าเรื่องราวประวัติศาสตร์ในฟีลสถานที่จริง ความมืด อากาศอับชื้น บรรยากาศแห่งอดีตยังคงอยู่ให้สัมผัส พร้อมนิทรรศการถาวรเป็นภาพถ่ายวิธีลงโทษทาสในอดีตและที่หน้าคุ้มเจ้าหลวงมีรูปปั้นเจ้าหลวงพิริยเทพวงศ์ เจ้าเมืองนครแพร่องค์สุดท้ายตั้งอยู่

Check In: ถนนคุ้มเดิม ตำบลในเวียง อำเภอเมืองแพร่

ไม้สักเมืองแพร่

วัดจอมสวรรค์

History: วัดจอมสวรรค์เป็นมรดกงานสถาปัตยกรรมแบบพม่า

A Must: ศาลาการเปรียญไม้สักยกพื้นสูง มีหลังคาซ้อนชั้นลดหลั่นกัน ประดับด้วยไม้แกะสลัก ในวัดนี้ยังมี “หลวงพ่อสาน” พระพุทธรูปแบบพม่าปางมารวิชัย สร้างด้วยไม้ไผ่สานแล้วลงรักปิดทองอย่างประณีต ประดิษฐานอยู่ที่กุฏิเจ้าอาวาสเปิดให้ชมทุกวัน

Check In: ตำบลทุ่งกวาว อำเภอเมืองแพร่

ไม้สักเมืองแพร่

บ้านพักมิชชันนารี

History: บ้านพักของมิชชันนารี 2 หลัง หรือที่ชาวแพร่เรียก เรือนฝรั่ง อายุนับร้อยกว่าปี เป็นที่พักของกลุ่มผู้สอนศาสนาชาวอเมริกันคณะมิชชันลาวในสังกัดเพรสไบทีเรียนอเมริกัน สหรัฐอเมริกาที่ได้เข้ามาตั้งศูนย์เผยแผ่ศาสนาที่ จ.แพร่ เมื่อ พ.ศ.2436 (ค.ศ.1893) พร้อมกับการจัดตั้งโรงพยาบาล โบสถ์คริสต์และโรงเรียน (ปัจจุบันคือโรงเรียนเจริญราษฎร์)

A Must: เรือนมิชชันนารี ที่ จ.แพร่ มีจำนวน 2 หลังเป็นเรือนไม้สักโบราณชั้นเดียวยกสูงเรือนหลังแรกอยู่ในบริเวณ โรงพยาบาลแพร่คริสเตียน ยังคงมีโครงสร้างแข็งแรง แม้สภาพจะทรุดโทรมไปบ้าง

เรือนมิชชันนารีหลังที่ 2เป็นเรือนไม้สักชั้นเดียวใต้ถุนสูงแต่มีขนาดใหญ่จำนวนห้อง 10 ห้องและมีห้องใต้หลังคา การออกแบบโครงสร้างที่ได้อิทธิพลมาจากยุโรปหลังคาทรงจั่วมุงด้วยกระเบื้องว่าว ตกแต่งช่องลมประตูด้วยลายฉลุขนมปังขิง ลูกบิดกลอนประตูเป็นเหล็กหล่อจากยุโรป บ้านหลังนี้เคยใช้เป็นที่หลบภัยสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2

Check In: เรือนมิชชันนารีหลังที่ 1 อยู่ในบริเวณโรงพยาบาลแพร่คริสเตียน หลังที่ 2 อยู่ในความดูแลของ กศน.จังหวัดแพร่ ตั้งอยู่ในโรงเรียนเจริญราษฎร์ ถนนยันตรกิจโกศล

ภาพ : กศน.จังหวัดแพร่

ไม้สักเมืองแพร่

บ้านเจ้าหนานไชยวงศ์

History: สร้างประมาณปี พ.ศ.2450 โดยเจ้าบุรีรัตน์ ผู้มีอาชีพทำไม้ ในเมืองแพร่

A Must: บ้านหลังนี้เป็นสถาปัตยกรรมแบบขนมปังขิงสร้างจากไม้สักทองทั้งหลังทาด้วยสีครีมน้ำตาลหลังคาเป็นทรงมะนิลามุงด้วยไม้แป้นเกล็ดมีการประดับประดาลวดลายฉลุสวยงาม

Check In: พระร่วงซอย 1 ถนนรอบเวียง ตำบลในเวียง อำเภอเมืองแพร่

ภาพ : TAT views online

ไม้สักเมืองแพร่

เสาชิงช้ากรุงเทพฯ

History: มรดกไม้สักจากเมืองแพร่ ยังมีให้เห็นที่ เสาชิงช้า สถานที่ประกอบพิธีกรรมทางศาสนาพราหมณ์ตั้งแต่สมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ที่ย่านเสาชิงช้า ของกรุงเทพฯเมื่อปี พ.ศ. 2547 กทม.จัดหาเสาไม้สักขนาดใหญ่ที่จะมาใช้บูรณะแทนไม้เก่า ได้มาจากผืนป่าสักที่แพร่นั่นเอง

A Must: เสาไม้สัก 6 ต้นที่ลักษณะลำต้น “เปลาตรง” คือ ลำต้นตรงเสมอกันไม่มีร่องรอยการงอกกิ่งก้านใบ ความสูง 26 เมตร ขนาดรอบวงเกือบ 400 ซม.

Fact File

  • แพร่ เป็นเมืองที่มีเจ้าปกครองขึ้นอยู่กับอาณาจักรล้านนามากว่าร้อยปี พื้นที่เมืองนี้มีทรัพยากรอย่างไม้สักอุดมสมบูรณ์ จึงเป็นที่หมายปองของจักรวรรดิอังกฤษซึ่งเข้ามายึดพม่าเป็นเมืองขึ้นแต่สิทธินั้นถูกกีดกันจากกษัตริย์สยาม เมื่อแพร่ได้ถูกผนวกเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรสยามในปีพ.ศ.2442สมัยรัชกาลที่ 5จากพระราชบัญญัติผนวกมณฑลพายัพ (หัวเมืองทางเหนือ)เป็นส่วนหนึ่งของสยาม โดยใช้กุศโลบายแต่งงานสร้างเครือญาติ ระหว่างเชื้อพระวงศ์กับเหล่าทายาทผู้ครองเมือง แม้มีการต่อสู้ขัดขืนจากผู้ครองนครแพร่ รวมถึงเจ้าพิริยเทพวงษ์ ผู้ครองนครแพร่องค์ที่ 22และเป็นองค์สุดท้าย ซึ่งต่อมาก็พ่ายแพ้และแพร่ก็เป็นหัวเมืองทางเหนือขึ้นตรงต่อราชอาณาจักรสยามในที่สุด
  • แพร่ ถือเป็นเมืองแห่งวัฒนธรรมไม้สัก เพราะเป็นแหล่งไม้สักสำคัญของประเทศไทยมาตั้งแต่สมัยอาณาจักรล้านนา และปัจจุบันภายใต้การจัดการป่าไม้สมัยใหม่ พื้นที่ที่อยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติแม่ยม มีไม้สักทองต้นสูงใหญ่ขึ้นหนาแน่นตามริมฝั่งแม่น้ำยม และยังคงรักษาความอุดมสมบูรณ์ไว้ได้ถึงปัจจุบัน หลังจากที่โครงการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นถูกคัดค้านและระงับการสร้างไป
  • เมื่อมีป่าไม้ ก็ต้องมีการจัดการป่าไม้ แพร่กลายเป็นเมืองเกิดของโรงเรียนฝึกสอนด้านการทำป่าไม้ เริ่มจากโรงเรียนป่าไม้ ระดับประกาศนียบัตรในปี พ.ศ.2478 จนขยายการศึกษามาถึงระดับปริญญา ยกฐานะเป็นคณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ในปัจจุบัน
  • อาคารไม้ต่างๆในจังหวัดแพร่ เป็นหลักฐานของยุคสมัย ที่สะท้อนถึงวัฒนธรรมไม้สักเมืองแพร่โดยเฉพาะบ้านไม้สักของชนชั้นปกครอง ที่เรียกว่า คุ้ม ลักษณะเด่นของบ้าน มีเสาไม้สักขนาดใหญ่ ไม้กระดานแผ่นโต สืบเนื่องจากการสร้างบ้านสมัยก่อน มีหลักการพื้นฐานในการใช้ไม้สักมาสร้างอาคารหรือเครื่องเรือนตกแต่งบ้านนั้น จะตัดเฉพาะไม้สักยืนต้นอายุเป็น 100 ปีรอให้เส้นรอบวงของต้นสัก 225 เซนติเมตร จึงจะนำแก่นไม้มาใช้ประโยชน์เป็นท่อนซุงหรือเครื่องเรือนต่างๆได้
  • บ้านไม้สักอายุร้อยกว่าปีเหล่านี้ เป็นหลักฐานของภูมิปัญญาสุดยอดของคนโบราณ ไม่มีการตอกตะปู แต่เชื่อมต่อด้วยการทำร่องไม้วางให้ลงล็อก

Author

ทศพร กลิ่นหอม
นักเขียนสายบันเทิง สังคม ท่องเที่ยว และไลฟ์สไตล์ เคยประจำการอยู่ที่ เมเนจเจอร์ออนไลน์ นสพ.กรุงเทพธุรกิจ และรายการ ET Thailand ปัจจุบันรับจ้างทั่วไป