5 แอนิเมะอาหาร พร้อมเสิร์ฟประวัติศาสตร์ความอร่อย และเขย่าความเป็นเชฟในตัวคุณ
- Bartender หรือ Bartender Glass of God เป็นแอนิเมะที่ว่าด้วยเครื่องดื่มค็อกเทลและคนหลังบาร์ที่เชื่อมโยงรสชาติสปิริต สู่คำว่า Spirit ของคนดื่มที่ล้วนเจอะเจอเรื่องราวชีวิตที่แตกต่างกัน
- Deaimon Recipe for Happiness เรื่องวุ่นๆ ของวัยรุ่นร้านขนมหวานกับเรื่องราวของชีวิตที่ต้องก้าวข้ามพ้นปมในใจและการค้นหาแนวทางตัวเอง ฉากหลังเป็นร้านขนมหวาน และประวัติศาสตร์ขนมหวานญี่ปุ่น
แอนิเมชันและมังงะนั้นไม่ได้มีแค่ความบันเทิงหรือจำกัดแค่เป็นสื่อของเด็กและเยาวชน แต่มังงะ แอนิเมชัน ยังสามารถสร้างแรงบันดาลใจ รวมทั้งสอดแทรกความรู้ไม่ต่างจากหนังสืออ้างอิงดีๆ เล่มหนึ่งเดียว เช่นเดียวกับ แอนิเมะอาหาร ในฟากฝั่งญี่ปุ่นที่มักจะสอดแทรกความอร่อย เทคนิคการทำอาหาร ประวัติศาสตร์อาหารการกิน ไปจนถึงส่งต่อแรงบันดาลใจปลุกไฟในสายอาชีพเชฟ ที่สำคัญยังเสิร์ฟรสชาติชีวิตลงไปในจานอาหารและเครื่องดื่มนั้นๆ เช่นเดียวกับ 5 แอนิเมะอาหาร ที่ส่งต่อทั้งประวัติศาสตร์ความอร่อย แรงบันดาลใจ และเขย่าความเป็นเชฟในตัวคุณ
01 Isekai Nonbiri Nouka หรือ Farming Life in Another World (ชีวิตเกษตรตามใจในต่างโลก)
เรื่องย่อ : มาจิโอะ ฮิราคุ หนุ่มวัย 39 ที่เสียชีวิตจากโรคร้าย หลังจากป่วยเรื้อรังมาตั้งแต่วัยต้น 30 ผลพวงจากการทำงานหามรุ่งหามค่ำ เมื่อพระเจ้าให้โอกาสเขาฟื้นคืนชีพอีกครั้ง พร้อมกับให้พรตามคำขอสุดท้ายที่เขาอยากใช้ชีวิตแบบสโลว์ไลฟ์เป็นเกษตรกรพร้อมร่างกายแข็งแรงไม่เจ็บไม่ป่วย ฮิราคุตื่นมาใน (ต่าง) โลกซึ่งมีผืนดิน ผืนป่า สิ่งมีชีวิตต่างโลก ทั้งสัตว์หน้าตาเป็นสุนัขสองตัวที่โผล่มาออกลูกในฟาร์มของฮิราคุ และกลายเป็นผู้ช่วยในสวน เป็นดินแดนแฟนตาซีที่แม้จะเป็นตามใจฝัน แต่การผจญภัยยังไม่สิ้นสุด เขาต้องเริ่มต้นเรียนรู้ใหม่ทั้งสภาพดินฟ้าอากาศ วิธีการปลูกและการรับมือกับศัตรูพืชในร่างกระต่ายยักษ์ และการอยู่ร่วมกับสิ่งมีชีวิตอื่นๆ อย่างแวมไพร์ นางฟ้า และเหล่าภูตด้วย
ข้อมูลภาพยนตร์ : แอนิเมะอาหาร แนวคอมเมดีผสมผสานแฟนตาซี 12 ตอนจบ พูดถึงวิถีเกษตรสโลว์ไลฟ์ และชีวิตต่างโลก (หรืออิเซไค) และการกลับชาติมาเกิด
ต้นเรื่อง : สร้างจาดไลต์โนเวล (light novel) เรื่อง Isekai Nonbiri Nouka ภาพโดย Yasuyuki Tsurugi ต้นฉบับมังงะ เขียนโดย Kinosuke Naito
แรงบันดาลใจเกี่ยวกับอาหาร : แอนิเมะซีรีส์เรื่องนี้เป็นบันเทิงแบบมีสาระ เปิดหลักสูตร 101 ของคนฝันอยากเป็นชาวสวนวิถียั่งยืน ชวนให้ลุกไปขุดดินยกร่องลงเมล็ดพันธุ์ และการผจญภัยกับงานเกษตรที่ต้องรู้จัก ดิน น้ำ ฟ้า(อากาศ) และแน่นอนการตั้งรับกับศัตรูพืชสวน ซึ่งในแอนิเมะนำเสนอในร่างของเจ้ากระต่ายยักษ์ ท้าทายความแกร่งของพระเอกที่ต้องเรียนรู้ความมหัศจรรย์ของธรรมชาติ ฟาร์มไลฟ์ ชีวิตดีๆ (ในอีกโลก) อาหารสดจากฟาร์มสู่โต๊ะอาหาร (farm to table) อาหารปลอดภัยไร้สารเคมี การเรียนรู้ปลูกผักตามสภาพดินฟ้าอากาศและการต่อสู้กับกระต่ายยักษ์ ศัตรูพืชสวน ก่อนจะได้อาหารขึ้นโต๊ะแต่ละมื้อไม่ใช่เรื่องง่ายเลยนะทุกคน
เมนูไฮไลต์ : มะเขือเทศท้อแดงฉ่ำ มันฝรั่ง กะหล่ำปลี ถั่วต่างๆ รวมถึงถั่วแระญี่ปุ่น (เอดามาเมะ) แค่ต้มเกลือก็อร่อย อาหารสดเน้นรสชาติวัตถุดิบแท้ๆ ปลอดสารเคมี อาหารจานเด็ดอย่างข้าวแกงกะหรี่ที่ได้เครื่องปรุงมาจากเครื่องเทศปลูกเอง รสชาติที่เหมาะกับการต่อสู้กับสภาพอากาศในฤดูหนาว หรือเมนูสตูผัก อาหารง่ายๆ ทำให้อร่อยได้ด้วยวัตถุดิบออร์แกนิก ภาพวาดสีสดใสเรียกน้ำย่อยของฟูดดีสาย raw food และ green salad กระฉูดเลยเชียวละ หรือสายกินเนื้อมีเมนูสตูกระต่าย (ป่า) เมนูซีฟูดหม้อไฟหรือซีฟูดนาเบะเพิ่มเติมจากหม้อไฟผักรวม และเครื่องดื่มที่เป็นซิกเนเจอร์บนโต๊ะอาหารญี่ปุ่นอย่างชาเขียว มีเรื่องราวของต้นชาใบชาแบบกระชับเป็นความรู้ย่อยง่ายไปด้วย
ช่องทางรับชม : ฉบับแอนิเมะซีรีส์ รับชมได้ทางแอปพลิเคชัน Bilibili
02 Kiyo in Kyoto : From the Maiko House (แม่ครัวแห่งบ้านไมโกะ)
เรื่องย่อ : คิโยะและซุมิเระสองสาวน้อยคู่ซี้จากจังหวัดอาโอโมริ มาเข้าคอร์สไมโกะ (นางระบำเกอิชาฝึกหัด) ที่สำนักฝึกหัดเกอิชาหรือบ้านไมโกะในเมืองเกียวโต แต่คิโยะไม่ผ่านทักษะพื้นฐาน และส่อแววเด่นด้านการทำอาหารมากกว่า คิโยะจึงถูกจ้างให้เป็นแม่ครัวคนใหม่ของบ้านไมโกะแทนซึ่งสาวน้อยมีความสุขกับหน้าที่นี้มาก ทั้งการสร้างสรรค์เมนูคลาสสิกต่างๆ และได้ดูแลเพื่อนๆ โดยเฉพาะ ซุมิเระ ด้วยเมนูอาหารที่เต็มไปด้วยเรื่องราวและความใส่ใจ
ข้อมูลภาพยนตร์ : แอนิเมะอาหาร 12 ตอนจบใช้ชื่อ Kiyo in Kyoto : From the Maiko House แม่ครัวแห่งบ้านไมโกะ เนื้อเรื่องดัดแปลงจากมังงะ และนำเสนอเมนูที่โดดเด่นเป็นอินโฟกราฟิกชัดเจนให้ดูกันทุกตอน นอกจากแอนิเมะยังมีซีรีส์คนแสดงจริง (live action) ใช้ชื่อเรื่อง The Makanai : Cooking for the Maiko House แม่ครัววัยใสแห่งบ้านไมโกะ ฉายทางเน็ตฟลิกซ์เมื่อปี 2566
ต้นเรื่อง : จากมังงะเรื่อง Kiyo in Kyoto : From the Maiko House เขียนและวาดภาพโดย Aiko Koyama ตีพิมพ์ครั้งแรกเป็นตอนๆ รายสัปดาห์เมื่อเดือนธันวาคมปี 2559 และมีฉบับรวมเล่ม 22 เล่ม วางแผงเมื่อต้นปี 2566 และมีฉบับแปลภาษาไทย ชื่อเรื่องแม่ครัววัยใสแห่งบ้านไมโกะ ตีพิมพ์และจัดจำหน่ายโดยสำนักพิมพ์สยามอินเตอร์คอมิกส์
แรงบันดาลใจเกี่ยวกับอาหาร : โฮมเมดคุกกิง ทำครัวเพื่อคนที่เรารัก เรื่องเล่าผ่านมุมมองของคิโยะ ทั้งที่มาของอาหารจานต่างๆ และความคิดเบื้องหลังการสร้างสรรค์เมนูอาหารประจำวันที่ไม่ใช่แค่เรื่องวัตถุดิบหรือรสชาติ แต่เป็นเรื่องของโอกาสและการจัดสรรเมนูที่เหมาะกับคนที่เธอใส่ใจด้วย
เมนูไฮไลต์ : ต้อนรับเทศกาลปีใหม่ด้วยเมนูที่คิโยะจังแนะนำไว้ในซีรีส์ คือ อะมาซาเกะ (Amazake) แปลตรงตัวว่า สาเกหวาน หวานปานน้ำตาล เมนูเครื่องดื่มน้ำข้าวหมากเป็นเครื่องดื่มข้นดื่มอุ่นๆ ที่ศาลเจ้าชินโตในญี่ปุ่นเตรียมมาแจกฟรีสำหรับผู้มาไหว้ขอพรที่ศาลเจ้า แจกความอุ่นในวันที่ 1 มกราคม วันแรกของปีตามปฏิทินสากล ในซีรีส์ให้ข้อมูลการทำเมนูอะมาซาเกะดัดแปลงไปได้หลายสูตรโดยมีส่วนผสมหลักคือ ข้าวโคจิหมักเป็นหัวเชื้อสำหรับหมักเหล้าข้าวหรือสาเก เครื่องดื่มขึ้นชื่อของญี่ปุ่น ถ้าหมักเองข้าวหุงใส่ข้าวโคจิและน้ำเปล่า หมักไว้ในอุณหภูมิ 55-60 องศาเซลเซียส ราว 8-12 ชั่วโมง เอนไซม์ในข้าวจะเปลี่ยนแป้งเป็นน้ำตาลทำให้ข้าวหมักมีรสหวาน แต่ไม่มีแอลกอฮอล์ เพราะไม่ใส่ยีสต์ตัวเปลี่ยนน้ำตาลเป็นแอลกอฮอล์ แต่มีรสกลิ่นแอลกอฮอล์บางเบามากๆ เกิดจากปฏิกิริยาการหมักตามธรรมชาติจากนั้นนำข้าวหมักผสมน้ำร้อนและขูดขิงสดเติมลงไป เพิ่มความอุ่นให้กับร่างกาย (เมนูดื่มเย็นได้)
สำหรับเมนูนี้นอกจากเป็นเครื่องดื่มต้อนรับปีใหม่ในศาลเจ้า เมนูนี้เป็นเมนูประจำบ้านช่วงหน้าหนาว ความหอมของข้าวหมักช่วยและความอุ่นช่วยจรรโลงทั้งกระเพาะอาหารและความรู้สึกผ่อนคลาย ใน Kiyo in Kyoto : From the Maiko House คิโยะจังทำเมนูนี้ให้ซุมิเระคลายเครียดจากอาการกระวนกระวายนอนไม่หลับจากการนอนบนหมอนแข็งๆ คืนแรกของการฝึกเป็นนางระบำเกอิชาตามประเพณีที่บ้านไมโกะในเกียวโตนั่นเอง
ช่องทางรับชม : ฉบับแอนิเมะซีรีส์รับชมได้ทางแอปพลิเคชัน Bilibili ฉบับการ์ตูนเล่มหรือมังงะแปลภาษาไทยโดยสำนักพิมพ์สยามอินเตอร์คอมิกส์ (มีฉบับ E-book จำหน่ายทาง www.mebmarket.com) ซีรีส์คนแสดงจริง (live action) ฉายทาง Netflix
03 Deaimon : Recipe for Happiness เรื่องวุ่นๆ ของวัยรุ่นร้านขนมหวาน
เรื่องย่อ : นาโกมุ วางความฝันที่จะเป็นนักดนตรี แต่กลับต้องหวนคืนบ้านเกิดที่เกียวโตเมื่อพ่อของเขาป่วยหนักจนทำให้เขาต้องสืบทอดกิจการร้านขนมหวาน เรียวคุโช พร้อมกับภารกิจพ่อบุญธรรมของ อิตสึกะ เด็กผู้หญิงที่ครอบครัวเขารับอุปการะไว้ในคืนวันหิมะตกหนักหลังจากพ่อแม่ของเด็กหญิงแยกทางกันและทิ้งเธอไว้
ต้นเรื่อง : มังงะเรื่อง Deaimon เขียนเรื่องและวาดภาพประกอบโดย ริน อาซาโน (Rin Asano) เริ่มตีพิมพ์ตอนแรกในนิตยสารรายสัปดาห์เมื่อ ค.ศ. 2016 ต่อมาพิมพ์รวมเล่มทั้งหมด 12 เล่ม
ข้อมูลภาพยนตร์ : แอนิเมะอาหาร แนวดรามา 12 ตอนจบ เรื่องราวการก้าวข้ามพ้นปมในใจ และการค้นหาแนวทางตัวเองของเด็กวัยรุ่นสองคนที่โชคชะตาพาพวกเขามาใช้ชีวิตในร้านขนมหวาน
แรงบันดาลใจเกี่ยวกับอาหาร : เรื่องราวของชีวิตที่ต้องก้าวข้ามพ้นปมในใจและการค้นหาแนวทางตัวเอง ฉากหลังเป็นร้านขนมหวาน แอนิเมะชวนหิว และเนื้อหาเยียวยาจิตใจกับคติประจำใจของเด็กหญิงอิตสึกะที่มุ่งมั่นการทำ “ขนมที่ใครๆ ชอบกินจะต้องทำให้คนที่กินรู้สึกแฮปปี้ขึ้นมาให้ได้” เมื่อเธอกลายเป็นหนึ่งในสมาชิกครอบครัวของร้านขนมหวานเรียวคุโชแล้ว และแอนิเมะเรื่องนี้มีประวัติศาสตร์หรือเรื่องราวเบื้องหลังของแต่ละเมนู ขนมแต่ละชิ้นอิงกับฤดูกาล ธรรมเนียม และความเชื่อที่เคารพและชื่นชมธรรมชาติเหมือนดังที่ตัวละครบอกว่า “ขนมญี่ปุ่นนี่น่าสนใจมากเลยใช่ไหมคะ”
ไฮไลต์เมนู : แทบทุกตอนจะได้เห็นกระบวนการทำขนมหวานญี่ปุ่นหรือ วากาชิ ทั้งหน้าตา สรรพคุณ รสชาติ และความดีงามของขนมแต่ละชิ้น ส่วนผสมหลักๆ จะมีแค่แป้ง น้ำตาล ถั่วขาว ถั่วแดง แต่มีส่วนผสมแต่งแต้มหน้าตาสีสันสวยงาม มีซากุระมันจู (หมั่นโถวดอกซากุระ) สีชมพูอ่อนเหมือนดอกซากุระ โยโมงิโจโยมันจู (หมั่นโถวไส้เผือกกวนใส่ใบโยโมจิ) ที่นาโกมุบรรยายว่าหอมกลิ่นใบโยโมงิ เป็นอาทิ และการเล่าเกร็ดเบื้องหลังขนมหวานเหล่านั้น เช่น โบตะโมจิ (แป้งข้าวเหนียวห่อถั่วกวน) เป็นขนมแห่งฤดูใบไม้ผลิเป็นอาทิ ชื่อ โบตะ มาจากดอกโบตั๋นที่บานในช่วงนั้น ซึกิงิดังโงะ ขนมทำขึ้นช่วงเทศกาลไหว้พระจันทร์ซึ่งทางภูมิภาคคันโตทำเป็นรูปพระจันทร์ แต่ทางภูมิภาคคันไซถือเอาแรงบันดาลใจจากตรงช่วงเก็บเกี่ยวหัวเผือก ธรรมเนียมทำขนมซึกิงิดังโงะจึงปั้นส่วนแป้งข้าวเจ้าเป็นรูปร่างเรียวป่องกลางเหมือนหัวเผือกชวนให้หิวตามด้วย
ช่องทางรับชม : แอปพลิเคชัน BiliBili
04 Yakitate! Japan (แชมป์เปี้ยนขนมปังสูตรดังเขย่าโลก)
เรื่องย่อ : คาซุมะ อาซึมะ ผู้หลงใหลการทำขนมปังมาตั้งแต่เด็ก ฝันอยากพัฒนาขนมปังที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะของญี่ปุ่น หรือ เจปัง เพื่อสู้กับเจ้าของสูตรขนมปังดั้งเดิมระดับโลกอย่าง ฝรั่งเศส อังกฤษ และเยอรมนี อาซึมะจึงฝึกฝนตัวเองและได้ร่วมงานกับร้านเบเกอรีระดับตำนานของญี่ปุ่นอย่าง ปันเทเซีย (PanTaSia)ที่ๆเขาได้พบเพื่อนพ้องนักอบขนมปังที่เต็มไปด้วยพรสวรรค์ ภารกิจการพัฒนา เจปัง ขนมปังชั้นยอด ได้เริ่มขึ้น พร้อมการเข้าแข่งขันเวทีอบขนมปังต่างๆ
ต้นเรื่อง : สร้างจากมังงะ เรื่องและภาพโดย ทาคาซิ ฮาชิกุจิ ฉบับภาษาไทย ชื่อเรื่อง แชมเปี้ยนเจปัง สูตรดังเขย่าโลก จัดพิมพ์โดย สำนักพิมพ์บงกช
ข้อมูลภาพยนตร์ : 69 ตอนจบ (เฉลี่ยตอนละ 24 นาที) ฉบับอนิเมะซีรีส์ฉายในญี่ปุ่นตั้งแต่ปี 2004-2006 ในไทยเคยฉายทางช่อง itv (ก่อนจะเปลี่ยนเป็นไทยพีบีเอส) และมีจัดจำหน่ายในรูปแบบแผ่นวีซีดีและดีวีดีในชื่อ แชมเปี้ยนเจปัง สูตรดังเขย่าโลก
แรงบันดาลใจเกี่ยวกับอาหาร : ประวัติศาสตร์อาหารสำคัญของโลกอย่างขนมปัง ถูกถ่ายทอดผ่านเรื่องราวของอาซุมะ เด็กน้อยผู้มีความฝันและมุ่งมั่นกับภารกิจพัฒนาขนมปังสูตรเอกลักษณ์ของญี่ปุ่นที่มีความอร่อยระดับโลก ในแอนิเมะใส่รายละเอียดของการทำขนมปังทั้งส่วนผสม การทดลองรสชาติที่ใช่ การเล่าเรื่องที่ผสมผสานคอมเมดี้และข้อมูลขนมปังแน่นๆ กับดราม่าเรื่องใหญ่ความสัมพันธ์ระหว่างผู้คนที่เล่าด้วยท่าทีที่ชวนหัวเราะน้ำตาไหล เกร็ดเล็กเกร็ดน้อยของอาหาร และวัฒนธรรมการกินแบบทลายกำแพงวัฒนธรรม อาทิ การคิดค้นขนมปังที่จะกินกับถั่วหมักนัตโตะและมิโซะ โดยแอนิเมะเล่าตั้งแต่จุดเริ่มต้นของเด็กชายอาซุมะจนถึงวันที่เขาได้เป็นแชมเปี้ยนและได้ขนมปัง เจปัง สมใจ
ไฮไลต์เมนู : ขนมปังมิโตะนัตโตะ ขนมปังนมถั่วเหลืองปิ้งที่ใช้นมถั่วเหลืองแทนนมวัวเป็นส่วนผสมในการทำขนมปังซึ่งเป็นวัตถุดิบเดียวกันกับการทำนัตโตะหรือถั่วหมักและมิโซะซุป, ครัวซองต์เจปัง พิเศษด้วยเลเยอร์ที่บาง 300 กว่าชั้น เป็นครัวซองต์สูตรรีดแป้งบางสุดแค่ 1 มิลลิเมตร ก่อนจะพับเป็นรูปทรงพระจันทร์เสี้ยวได้ถึง 324 ชั้น รสชาตินุ่มเหนียวถูกใจกรรมการ, โชกุปัง ขนมปังไวท์เบรดเนื้อนิ่ม, ซูชิ เมลอน เจปัง ขนมปังแบบบันท้อปปิงด้วยคุ้กกี้ผสมน้ำตาล รูปทรงแตกลายเหมือนเมลอนโดยสูตรของอาซุมะคุงที่หน้าตาเหมือนซูซิหรือข้าวปั้น, อันปัง ขนมปังไส้ถั่วแดง
โอโกฉิ วาฟฟู เจปัง มัง หรือ เทโนเบะ มัง (Tenobe Man) คือเจปังซาลาเปาแบบญี่ปุ่น เนื้อนุ่มเด้ง ไม่แข็งปั๋ง เป็นสูตรเจปังซาลาเปาของอาซึมะ ที่ใช้เทคนิคมือนวดซาลาเปา และความฉ่่ำจากการผสมเหล้าโอกูจิหรือเหล้าหมักมันม่วง ทำให้ดึงรสชาติของไส้ซาลาเปาที่มีเนื้อสัตว์ผสมอยู่ออกมาชัดขึ้น, โทมิระ เจ-ปัง ทาร์ตโลควอท (Loquat Tart) ทำมาจาก ปี่แป๋ หรือ โลควอทอบแห้ง ผลไม้สีเหลืองกลมคล้ายพุทราลูกเล็ก มาจากทางใต้ของญี่ปุ่น, โกปัง หรือ เจปังเต้าเจี๊ยว ทั้งสูตรใส่เนื้อปูย่าง และ โกปังสูตรใช้แป้งสาลีจากข้าวออแกนิกผสมโกฐจุฬาลัมพาป่า และเต้าเจี้ยวโน ที่หมักด้วยถั่วเหลืองอินทรีย์และน้ำแร่จากภูเขาปลอดสารปนเปื้อน เป็นเมนูฟินาเล่ในอนิเมะตอนที่ 69 ซึ่งในต้นฉบับมังงะไม่มี
ช่องทางรับชม : YouTube MuseThailand
05 Bartender หรือ Bartender Glass of God
เรื่องย่อ : เรียว ซาซากุระ บาร์เทนเดอร์ที่ถูกกล่าวขวัญว่าเป็น บาร์เทนเดอร์ขั้นเทพ ณ อีเดน ฮอลล์ บาร์ลับแห่งหนึ่งในซอกเล็กๆ ของย่านกินซ่า เมืองโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น บาร์นี้ไม่มีผู้คนพลุกพล่าน เพราะมีเพียงบางคนเท่านั้นที่จะค้นพบบาร์ลับแห่งนี้เช่น และลูกค้าก็มักจะมาในหลากหลายภูมิหลังและปมในชีวิต ได้มาพบพานแลกเปลี่ยนเรื่องราวและความรู้เรื่องเครื่องดื่มคอกเทล พร้อมดื่มมค็อกเทลสูตรที่ซาซากุระวินิจฉัยและชงให้เหมาะกับแต่ละคน ซึ่งเขาถือว่าเป็นแก้วของเทพเจ้า (glass of gods) มันกลายเป็นเครื่องดื่มฮีลใจ สู่การคลี่คลายปมของชีวิตอีกต่างหาก จ
ข้อมูลภาพยนตร์ : แอนิเมะซีรีส์ 11 ตอนจบ เวอร์ชั่นออกฉายเมื่อปี 2006 (ฉลองวาระ 200 ปี กำเนิดเครื่องดื่มประเภทค็อกเทล)ที่ยังคงฉายในสตรีมมิงต่างๆ ทั่วโลก และในปี 2024 จะมีเวอร์ชั่นใหม่ที่ใช้ชื่อภาษาอังกฤษว่า Bartender Glass of God เพิ่มมิติงานภาพสดใหม่ เตรียมออนแอร์ครั้งแรกในเดือนเมษายน 2024 รวมทั้งมีเวอร์ชันคนแสดงจริง ในชื่อ Bartender เป็นซีรีส์สร้างโดยอาซาฮีทีวี นำแสดงโดย มาซากิ ไอบะ สมาชิกวงบอยแบนด์ Arashi ออนแอร์ครั้งแรกเมื่อปี 2011
ต้นเรื่อง : มังงะ เรื่องโดย โจ อารากิ (Jou Araki) และภาพวาดโดย เคนจิ นางาโมโตะ ( Kenji Nagatomo) ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสาร ซูเปอร์จัม ช่วงปี พ.ศ. 2547-255
แรงบันดาลใจเกี่ยวกับเครื่องดื่ม : ณ อีเดน ฮอลล์ (Eden Hall) บาร์ลับในย่านกินซ่ายุค 2000s ย่านธุรกิจใหญ่ใจกลางเมืองหลวงญี่ปุ่น (บาร์อีเดน ฮอลล์ เป็นเรื่องแต่ง ไม่ได้เป็นสถานที่จริง ไม่มีในกูเกิลแมพจ้า) ถูกนำเสนอให้เป็น “บาร์ฮีลใจ” ของเหล่าคนเมืองหลวง ที่หลงทางอยู่ในชีวิตจริง มันเป็นมากกว่าแค่แหล่งขายเครื่องดื่มหลังเลิกงาน แต่ที่นี่ถูกใส่ความหมายให้เป็น “แหล่งพักใจ” ที่ผู้คนวางใจไว้ใน “มือ” ของนักชงเครื่องดื่ม บาร์พักใจและเป็นที่จรรโลงจิตวิญญานของผู้คนอย่างแท้จริง ความหมายของบาร์เทนเดอร์ (Bartender) ที่บอกไว้ในเรื่องนี้คือ “บาร์” (Bar) หมายถึง จุดพัก “เทนเดอร์” (Tender) หมายถึง ใจดี นุ่มนวลและหนึ่งในจรรยาบรรณอาชีพ ยังต้องระลึกถึงคำเตือนการดื่มแอลกอฮอล์เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ดังคำกล่าวของ พระเอกในเรื่องที่เปรียบเปรยงานบาร์เทนเดอรของเขาว่า อาชีพนี้ไม่ต่างกับอาชีพหมอรักษาคนไข้ ที่ขายสิ่งที่อาจเป็น “ยาดีหรือยาพิษ” สำหรับลูกค้าของพวกเขาได้ ซึ่งเรื่องราวผูกความสัมพันธ์ระหว่าง บาร์เทนเดอร์ กับลูกค้าหลากหลายอาชีพและปมในใจ ผ่านเครื่องดื่มคอกเทล เป็นการผสมผสานระหว่าง ความรู้เกี่ยวกับที่มาเมนูเครื่องดื่มแต่ละแก้วและการตามหารสชาติเฉพาะตัว ส่วนผสมหลักที่มี สปิริตส์ (Spirits) สุราหรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ได้จากการกลั่น อาทิ จิน รัม เตกีลา บรั่นดี และวิสกี้ พ้องกับคำว่า spirit สื่อความหมายไปถึงการค้นหาจิตวิญญานของการดำรงอยู่ในฐานะตัวตนปัจเจกในสังคมเมือง นอกจากจะเป็นการผูกเรื่องราวของเครื่องดื่มกับเรื่องราวชีวิตคนแล้ว มังงะและอนิเมะเรื่องนี้ยังเป็นการเล่า “แบรนด์สตอรี่” และ โปรดักท์ เพลสเมนต์ แบบเนียนๆ อีกต่างหาก
เมนูไฮไลต์ : ในทุกตอนผูกธีมเรื่องราวของชีวิตลูกค้าคนสำคัญกับเมนูเครื่องดื่ม ที่เชื่อมโยง รสชาติและ โสตสัมผัส เกี่ยวโยงเป็นทั้งความทรงจำ ทั้งจากส่วนผสม รสชาติและวิธีการชง บวกด้วยเรื่องราวกำเนิดของเมนูคลาสสิกเหล่านี้ จนถึงความสัมพันธ์เฉพาะตัวของคนดื่มที่มีต่อเมนูนั้นๆ รวมถึงวิสกี้แห่งความทรงจำในตอนที่เล่าถึงการก้าวข้ามกำแพงของคนรุ่นเก่าและรุ่นใหม่ผ่านเมนูค็อกเทลที่ชื่อ “นิโคลาสกา” ( Nikolaschka ) ซึ่งมีเบสหลักเป็น Kaku หรือ Kakubin วิสกี้ที่ถูกพัฒนาขึ้นจากโรงงานผลิตวิสกี้ Suntory ตอนนี้เป็นทั้งเรื่องราวเปรียบเปรยการเดินทางของแบรนด์ที่เป็นมากกว่าแค่สินค้าเมดอินเจแปน แต่ยังถ่ายทอดแนวคิดของการทำงานระหว่างรุ่นสู่รุ่นของครอบครัวธุรกิจโรงแรมที่ต้องปรับตัวจากแนวเรียวกังดั้งเดิมมาเป็นโรงแรมแบบสากลด้วย
หรืออย่างเมนู “คอกเทลบิฌู หรือ บิจู” (ชื่อมาจากภาษาฝรั่งเศส Bijou แปลตรงตัวว่า อัญมณี) ได้เล่าเชื่อมโยงกับชีวิตรักที่กำลังคลอนแคลนของคนคู่หนึ่ง และเป็นเมนูสร้างสรรค์โดย เฮนรี จอห์นสัน ผู้ได้รับฉายาว่าเป็น บิดาแห่งวิชาชีพบาร์เทนเดอร์ ส่วนเมนู “ชาเย็นลองไอส์แลนด์” (Long Island Tea) ที่ชื่อมีคำว่า “ชา” แต่ไม่มีส่วนผสมของชาเลย เพียงแค่หน้าตาสีสันที่เป็นสีอำพันอ่อนๆ เหมือนชาเย็นเท่านั้น และเป็นเมนูที่ดีกรีแอลกอฮอล์สูงกว่าเบียร์ถึง 4 เท่าเลย การนำเสนอเมนูในอแนิเมะมีทั้งเมนูคลาสสิก และเมนูที่เกิดจากการสร้างสรรค์ที่เป็นการคอลแลประหว่างชีวิตของคนดื่มและการฮีลใจของบาร์เทนเดอร์นั่นเอง
ช่องทางรับชม : BiliBili และ Apple TV นอกจากนี้ฉบับอนิเมะรีเมค เตรียมกำหนดออกฉายในญี่ปุ่น เมษายน 2024
อ้างอิง