10 ภาพยนตร์ Netflix ปี 2021 ที่สร้างจากหนังสือและวรรณกรรม
- ตลอดปี 2021 แพลตฟอร์มสตรีมมิ่งอย่าง Netflix เตรียมภาพยนตร์ใหม่จากทั่วโลกเข้าฉายทุกสัปดาห์ พร้อมมอบความบันเทิงหลากแนว ทั้งภาพยนตร์คุณภาพจากผู้กำกั
บมือรางวัล หนังซอมบี้ หนังรัก หนังวัยรุ่นและหนังที่อิงเนื้อหามาจากวรรณกรรมที่อาจเป็นเล่มโปรดของคุณ - 10 ภาพยนตร์บน Netflix ที่เราหยิบยกมา ล้วนอิงเนื้อหามาจากหนังสือและวรรณกรรมขายดี อาทิ The White Tiger โดย Aravind Adiga นักเขียนชาวอินเดียที่ได้รับรางวัล Man Booker Prize นวนิยายดีเด่นปี 2008 และติดอันดับหนังสือขายดีบน The New York Times
อาการหลงทางอยู่ในหน้าเมนู Netflix เราว่าหลาย ๆ คนน่าจะเป็นกันอยู่บ่อย ๆ เลือกแล้วเลือกเล่าก็ยังลังเลว่าจะเริ่มดูเรื่องอะไรก่อนดี ยิ่งในปี 2021 ที่ Netflix เตรียมคอนเทนต์ใหม่มารอคิวฉายทุกสัปดาห์ด้วยแล้วยิ่งเพิ่มสิ่งที่น่าสนใจเข้าไปอีก ด้วยความที่ Sarakadee Lite อัปเดตความเคลื่อนไหวในหมวดวรรณกรรมที่น่าสนใจอย่างสม่ำเสมอ โอกาสนี้เราเลยขอแจกลิสต์ 10 ภาพยนตร์เรื่องใหม่บนแพลตฟอร์ม Netflix ที่จะได้ชมตลอดปี 2021 ซึ่งพิเศษตรงที่อิงเนื้อหามาจากหนังสือขายดีและวรรณกรรมส่วนจะมีเรื่องอะไรบ้างนั้น อ่านจบเตรียมเพิ่มเข้า My List รอชมกันได้เลย
The White Tiger (กำหนดฉาย 22 มกราคม 2021)
ภาพยนตร์จากอินเดียเรื่องนี้เป็นที่จับตามองตั้งแต่ประกาศสร้าง ตัวเรื่องเล่าเกี่ยวกับความสำเร็จของ Balram Halwai (รับบทโดย Adarsh Gourav) ชายชาวอินเดียที่เติบโตในฐานะพยัคฆ์ขาวผู้ต่อสู้กับความยากจน การแบ่งชนชั้นและการคอร์รัปชันจนสามารถสร้างตัวไปสู่การเป็นนักธุรกิจอันดับต้นของประเทศอินเดียได้
เรื่องราวเริ่มจากการที่ Balram ทำงานเป็นคนขับรถให้ Ashok (รับบทโดย Rajkummar Rao) และ Pinky (รับบทโดย Priyanka Chopra-Jonas) คู่รักที่เพิ่งกลับมาจากอเมริกา Balram พยายามทำให้ตัวเองเป็นคนสำคัญที่ขาดไม่ได้สำหรับเจ้านายผู้ร่ำรวยของเขา จนกระทั่งผ่านค่ำคืนแห่งการหักหลัง ทำให้เขารู้ถึงสิ่งสกปรกที่เจ้านายทั้งคู่ยอมทำเพื่อวางกลอุบายใส่เขาในการเอาตัวรอด ในช่วงที่เกือบจะสูญเสียทุกอย่างไป Balram ได้ต่อกรกับระบบที่ไม่เป็นธรรมจนสามารถก้าวข้ามไปสู่ความสำเร็จได้
The White Tiger ถ่ายทอดเรื่องราวมาจากหนังสือชื่อเดียวกันซึ่งติดอันดับขายดีของ The New York Times และได้รับรางวัล Man Booker Prize นวนิยายดีเด่นปี 2008 ซึ่ง Aravind Adiga เป็นนักเขียนชาวอินเดียคนที่ 4 ที่ได้รับรางวัลนี้ จากเนื้อหาที่ถ่ายทอดประเด็นทางสังคมอินเดียได้อย่างน่าติดตามโดยแบ่งสังคมออกเป็นด้านมืดและสว่างอย่างชัดเจน พร้อมทั้งสร้างกลวิธีการเขียนใหม่โดยเดินเรื่องในรูปแบบของอีเมลจาก Balram Halwai เขียนถึงเวิน เจียเป่า นายกรัฐมนตรีของจีนซึ่งมีกำหนดเดินทางมายังประเทศอินเดีย แน่นอนว่าขณะที่เขียนอีเมล Balram Halwai ได้ถีบตัวเองเป็นพยัคฆ์ขาวที่ขึ้นไปนั่งอยู่บนยอดพีระมิดเรียบร้อยแล้ว แค่ฉบับนิยายก็สนุกมาก เรื่องนี้มีฉบับแปลไทยในชื่อ The White Tiger : พยัคฆ์ขาวรำพัน โดย สำนักพิมพ์ เพิร์ล พับลิชชิ่ง
ตัวอย่างภาพยนตร์ : youtu.be/35jJNyFuYKQ
อ้างอิง : bit.ly/3sG0BJC
Penguin Bloom (กำหนดฉาย 27 มกราคม 2021)
Penguin Bloom ภาพยนตร์ที่สร้างจากเรื่องจริงของ Sam Bloom (รับบทโดย Naomi Watts) ซึ่งอิงมาจากเรื่องราวที่เขียนขึ้นโดย Cameron Bloom สามีของเธอและ Bradley Trevor Greive นักเขียนชาวออสเตรเลีย
เรื่องราวแห่งแรงบันดาลใจนี้บอกเล่าถึง แซม บลูม คุณแม่ยังสาวที่ชีวิตต้องพลิกผันหลังประสบอุบัติเหตุไม่คาดฝันจนทำให้เธอต้องกลายเป็นอัมพาต เธอรับตัวเองไม่ได้และตกอยู่ในภาวะซึมเศร้านานหลายเดือน จนเกิดคำถามกับตัวเองว่าเธอมีความหมายกับโลกและครอบครัวอย่างไร
กระทั่งลูกชายของเธอนำลูกนกที่บาดเจ็บกลับมาที่บ้าน แซมได้มองดูลูกนกสีดำ-ขาวที่เด็กๆ ตั้งชื่อว่า เพนกวิน ด้วยความเอ็นดูและเริ่มรู้สึกผูกพัน จนจิตใจของแซมเริ่มได้รับการเยียวยาในแบบที่คาเมรอน (รับบทโดย Andrew Lincoln) ผู้เป็นสามี ลูกชายทั้งสาม และแม่ของเธอ (รับบทโดย Jacki Weaver) หรือแม้แต่ตัวเธอเองยังต้องแปลกใจ
ตัวอย่างภาพยนตร์ : youtu.be/RItlVNaS_8Q
The Dig (กำหนดฉาย 29 มกราคม 2021)
The Dig กำกับโดย Simon Stone เรื่องราวดัดแปลงจากนวนิยายอิงประวัติศาสตร์ ตีพิมพ์ครั้งแรกปี 2007 ของ John Preston นักเขียนชาวอังกฤษThe Dig เล่าถึงช่วงสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งก่อตัวขึ้นในปี 1939 ผ่านตัวละครหลัก Edith Pretty (รับบทโดย Carey Mulligan) หญิงม่ายซึ่งยังคงอาศัยอยู่บนที่ดินเดิมหลังจากสามีของเธอเสียชีวิต
ด้วยความที่ Edith Pretty หลงใหลในสิ่งลึกลับและเกิดความสงสัยในบางสิ่งที่เธอตั้งข้อสันนิษฐาน เธอจึงได้ว่าจ้างทีมนักโบราณคดีอย่าง Basil Brown (รับบทโดย Ralph Fiennes) ให้มาขุดค้นเนินดินจำนวนหนึ่ง จากเหตุการณ์นี้ พวกเขาได้ค้นพบ Sutton Hoo สุสานในเรือจากร่องรอยของเรือที่ยาวกว่า 80 ฟุต โครงกระดูกและสมบัติจำนวนมากที่ถูกฝังช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 7-9 ซึ่งนับเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดอีกชิ้นหนึ่งของอังกฤษ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความรุ่งเรืองของอังกฤษในอดีต หลายการขุดค้นอาจต้องเจอความว่างเปล่า แต่สำหรับการขุดครั้งนี้กลับมีหลากเรื่องราวที่ไม่ใช่แค่สมบัติที่ถูกซุกซ่อนไว้ใต้ดิน
ตัวอย่างภาพยนตร์ : youtu.be/JZQz0rkNajo
อ้างอิง : on.natgeo.com/2KrbDkL
Moxie (กำหนดฉาย 3 มีนาคม 2021)
Moxie ดัดแปลงมาจากหนังสือชื่อเดียวกันที่เขียนขึ้นโดยนักเขียนวรรณกรรมร่วมสมัย Jennifer Mathieu สำหรับเวอร์ชันภาพยนตร์กำกับโดย Amy Poehler เล่าเรื่องราวชีวิตในโรงเรียนมัธยมปลายของ Vivian หญิงสาวขี้อายอายุ 16 ปี (รับบทโดย Hadley Robinson) ที่อาศัยอยู่ในเมืองเล็ก ๆ เธอเริ่มเบื่อหน่ายและสุดจะทนกับกฎระเบียบ การล่วงละเมิด รวมถึงคำพูดแย่ๆ จากนักเรียนชายร่วมชั้น
Vivian ได้รับแรงบันดาลใจจากแม่ของเธอซึ่งเป็นอดีตหญิงแกร่งหัวก้าวหน้า ที่จุดประกายให้เธอก่อการปฏิวัติเพื่อสิทธิสตรีที่โรงเรียน ด้วยการทำ Feminist Zine แบบไม่ระบุชื่อคนทำแจกจ่ายไปทั่วโรงเรียน ซึ่งเริ่มต้นเธอแค่พยายามระบายสิ่งที่อัดอั้นออกไป แต่กลับกลายเป็นว่าเธอได้รับการตอบรับและมิตรภาพจากเพื่อนผู้หญิงนับไม่ถ้วน ซึ่งมีส่วนในการปลุกกระแสเฟมินิสต์ขึ้นมา
อ้างอิง : https://www.jennifermathieu.com/my-books-moxie
Blonde (รอกำหนดฉาย)
ภาพยนตร์ดราม่าที่สร้างจาก Blonde (ปี 2000) นวนิยายลำดับที่ 29 ของ Joyce Carol Oates นักเขียนหญิงชาวอเมริกัน ผู้เข้ารอบสุดท้ายรางวัลพูลิตเซอร์ (Pulitzer Prizes) ของสหรัฐอเมริกามาแล้วถึง 5 ครั้ง รวมถึง Blonde นวนิยาย Best Seller ที่ได้เข้ารอบสุดท้ายรางวัลพูลิตเซอร์ ในสาขาบันเทิงคดี (Fiction) เมื่อปีค.ศ. 2001
Blonde เล่าเรื่องราวส่วนตัวของ Marilyn Monroe (รับบทโดย Ana de Armas) นักแสดงสาวผู้เป็น Sex Symbol ที่โด่งดังที่สุดในโลก โดยภาพยนตร์ได้นำเสนอเรื่องราวชีวิตของเธอในฐานะนางแบบ นักแสดง และนักร้องในช่วงยุค 50s และ 60s ผ่านการเล่าเรื่องยุคใหม่ของวัฒนธรรมคนดัง ด้วยฝีมือการเขียนบทและกำกับของ Andrew Dominik ซึ่งมีความตั้งใจอยากทำเรื่องนี้มานาน
Blonde ถือเป็นความแปลกใหม่ที่น่าตื่นเต้นของ Dominik ในการสร้างสรรค์ ทั้งในด้านการนำเสนอเรื่องราวด้วยภาพมากกว่าบทพูด รวมทั้งการมีตัวละครหญิงเป็นแกนหลักของเรื่อง ซึ่งหลังจาก Joyce Carol Oates ได้ชมดราฟต์การตัดต่อของเรื่องนี้ ก็ได้กล่าวในทวิตเตอร์ส่วนตัวว่าเธอค่อนข้างเซอร์ไพรส์ในการตีความที่มีความเฟมินิสต์ ซึ่งไม่แน่ว่าจะมีผู้กำกับชายคนไหนทำได้เท่านี้หรือเปล่า
อ้างอิง
Fear Street Trilogy (รอกำหนดฉาย)
Fear Street Trilogy คือภาพยนตร์สุดหลอน 3 ภาคที่ดัดแปลงมาจากซีรีส์หนังสือชุดหมวดวัยรุ่นสยองขวัญของ R.L. Stine หรือ Robert Lawrence Stine นักเขียนชาวอเมริกันเจ้าของผลงานนิยายสยองขวัญกว่าร้อยเล่ม หนึ่งในนั้นคือ “Goosebumps คืนอัศจรรย์ขนหัวลุก” ที่เคยนำมาดัดแปลงเป็นภาพยนตร์แล้วครั้งหนึ่งเมื่อปี 2015
สำหรับเรื่องราวของ Fear Street Trilogy เริ่มขึ้นในปี 1994 ที่วัยรุ่นกลุ่มหนึ่งพบว่า เหตุการณ์น่ากลัวที่ตามหลอกหลอนเมือง Shadyside บ้านเกิดของพวกเขามาหลายชั่วอายุคนอาจมีความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกัน และที่เลวร้ายคือพวกเขาอาจตกเป็นเป้าหมายต่อไป ภาพยนตร์เรื่องนี้แบ่งเป็น 3 ภาค ตามระยะเวลาของเรื่องราวที่เกิดขึ้นใน 3 ช่วงเวลาตั้งแต่ปี 1994 ปี 1978 ไล่ย้อนไปจนถึงปี 1666
Fear Street Trilogy ได้ Leigh Janiak มานั่งแท่นผู้กำกับ ซึ่งเธอเคยฝากผลงานแนวสยองขวัญเอาไว้มากมายเช่นการได้ร่วมกำกับ Scream: The TV Series (2015) นอกจากนั้นยังมี Gillian Jacobs จากซีรีส์ Love และ Sadie Sink จาก Stranger Things มาร่วมแสดงด้วย โดยทั้งสามเรื่องที่กล่าวมาสามารถดูได้ทาง Netflix เช่นกัน
อ้างอิง : bit.ly/3qvQhSK
The Last Letter from Your Lover (รอกำหนดฉาย)
หลังจาก JoJo Moyes นักเขียนชาวอังกฤษ เคยฝากผลงานเขียนอันโด่งดังเรื่อง Me Before You นำมาถ่ายทอดเป็นภาพยนตร์ผ่านสายตาผู้ชมมาแล้ว ล่าสุด The Last Letter from Your Lover นวนิยายอีกเรื่องจากปลายปากกาของเธอ ก็กำลังจะออกมาเป็นภาพอีกครั้งด้วยการกำกับของ Augustine Frizzell
The Last Letter from Your Lover จะพาไปติดตามชีวิตของ Ellie Haworth (รับบทโดย Felicity Jones) นักข่าวสาวผู้ทะเยอทะยาน หลังจากที่เธอได้พบจดหมายรักต้องห้ามที่เขียนขึ้นเมื่อปี 1965 เนื้อความในจดหมายทำให้เธออยากจะไขปริศนาสำคัญนั้นให้ได้
แต่ระหว่างนั้นก็ถูก Jennifer Stirling (รับบทโดย Shailene Woodley) ภรรยาเศรษฐีเจ้าของโรงงาน และนักข่าวสายการเงิน Anthony O’Hare (รับบทโดย Callum Turner) ขอให้เธอช่วยปกปิดเรื่องราวเหล่านั้นเอาไว้ แต่ในที่สุดความสงสัยของ Ellie ก็เริ่มคลี่คลายด้วยความช่วยเหลือของนักเก็บข้อมูล (รับบทโดย Nabhaan Rizwan) ที่ช่วยเธอตามหาจดหมายเพิ่มเติมจนได้คำตอบที่ต้องการ
Munich (รอกำหนดฉาย)
ภาพยนตร์ดราม่าใต้การกำกับของ Christian Schwochow ผู้กำกับภาพยนตร์ชาวเยอรมัน โดย Munich สร้างจากนวนิยายอิงประวัติศาสตร์ในชื่อเดียวกันของ Robert Harris นักเขียนชาวอังกฤษ เรื่องราวเกิดขึ้นในช่วงฤดูใบไม้ร่วงปี 1938 ขณะที่ยุโรปกำลังอยู่ในช่วงสงคราม สมัยที่ อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ (รับบทโดย Martin Wuttke) เตรียมบุกเชโกสโกวาเกีย และรัฐบาลของ Neville Chamberlain (รับบทโดย Jeremy Irons) พยายามหาทางออกอย่างสันติ
เรื่องราวทั้งหมดถูกเล่าผ่านสายตาของสองเพื่อนซี้สมัยเรียนมหาวิทยาลัย Hugh Legat (รับบทโดย George Mac Kay) ข้าราชการอังกฤษ และ Paul von Hartmann (รับบทโดย Jannis Niehwöhner) นักการทูตชาวเยอรมัน ซึ่งได้กลับมาเจอกันในงานเจรจาระหว่างประเทศที่มิวนิก เมื่อการเจรจาเริ่มต้นขึ้นทั้งคู่ก็พบว่าตัวเองตกอยู่ท่ามกลางอันตรายและความยุ่งเหยิงทางการเมือง เมื่อคนทั้งโลกต่างเฝ้าติดตามการหลีกเลี่ยงสงครามในครั้งนี้
There’s Someone Inside Your House (รอกำหนดฉาย)
There’s Someone Inside Your House ภาพยนตร์สยองขวัญฆาตกรรมสร้างจากนวนิยายชื่อเดียวกันของ Stephanie Perkins นักเขียนหญิงชาวอเมริกัน โดย There’s Someone Inside Your House ตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 2017 และติดอันดับหนังสือขายดีของ The New York Times ในทันที
อันที่จริง Stephanie Perkins เป็นที่จดจำในฐานะนักเขียนนิยายรักวัยรุ่น จากผลงาน Anna and the FrenchKiss แต่เธอกล่าวว่าตัวเธอเองก็ชื่นชอบในหนังสยองขวัญและติดตามดูหนังไล่ล่าแนว Slasher Films อยู่เรื่อย ๆ เลยคิดว่าถึงเวลาแล้วที่เธอจะลองเขียนในแนวทางที่ต่างจากเดิมที่เป็นภาพของนิยายรัก
There’s Someone inside YourHouse เล่าเรื่องของ Makani Young (รับบทโดย Sydney Park) ได้ย้ายจากฮาวายไปยังเมืองเล็กๆ ที่เงียบสงบอย่างเนแบรสกา เพื่อไปอยู่กับยายของเธอจนกระทั่งเรียนจบไฮสกูล แต่เมื่อเริ่มนับถอยหลังสู่การสำเร็จการศึกษา เพื่อนร่วมชั้นของเธอก็ถูกตามล่าโดยฆาตกรที่ตั้งใจจะเปิดเผยความลับที่มืดมนที่สุดของพวกเธอให้ทั้งเมืองได้รับรู้ เหยื่อที่น่ากลัวเหล่านั้นสวมใส่หน้ากากที่เหมือนมีชีวิต และด้วยอดีตอันลึกลับของเธอเอง Makani และเพื่อน ๆ จึงต้องช่วยกันตามหาตัวฆาตกรให้ได้ ก่อนที่พวกเธอจะต้องกลายเป็นเหยื่อเสียเอง
อ้างอิง : bit.ly/3nVLjgn
Yes Day (รอกำหนดฉาย)
หลังจากที่ Allison (รับบทโดย Jennifer Garner) และ Carlos (รับบทโดย Édgar Ramirez) ต้องรู้สึกผิดเพราะมักจะใช้คำว่า “ไม่” กับลูก ๆ และเพื่อนร่วมงานอยู่เสมอ พวกเขาจึงตัดสินใจว่าจะให้เวลาหนึ่งวันเต็มแก่ลูกๆ ทั้งสามคน ด้วยวันที่ชื่อว่า Yes Day โดยภายใน 24 ชั่วโมงนี้ เด็ก ๆ จะกำหนดเงื่อนไขให้พวกเขาต้องตกลงทำตามเท่านั้น โดยที่พวกเขาไม่รู้เลยว่าจะต้องพัวพันกับการผจญภัยอันยุ่งเหยิงในกรุงลอสแอนเจลิสที่จะทำให้ครอบครัวใกล้ชิดกันอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน
เรื่องราวความคอมเมดี้ของ Yes Day กำกับโดย Miguel Arteta อิงเรื่องราวมาจากหนังสือที่เขียนขึ้นโดย Amy Krouse Rosenthal และวาดภาพประกอบโดย Tom Lichtenheld ด้าน Jennifer Garner ผู้รับบทแม่เคยให้สัมภาษณ์ว่าเธอกับลูกๆ เองก็เป็นแฟนหนังสือเรื่องนี้และเริ่มมี Yes Day กับลูก ๆ ในช่วงวันคริสต์มาสเมื่อ 8-9 ปีก่อนเช่นกัน รวมทั้งเรื่องนี้เป็นการรับบทคอมเมดี้ครั้งแรกของ Édgar Ramirez ด้วย ซึ่งเขาเชื่อว่า Yes Day ไม่เพียงได้ประโยชน์กับเด็ก ๆ แต่ยังช่วยในการสานความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง โดยเฉพาะกับตัวเองด้วย