มหา’ลัย เหมืองแร่ ภาพยนตร์ที่ว่าด้วยชีวิตคนเหมืองของ อาจินต์ ปัญจพรรค์
Lite

มหา’ลัย เหมืองแร่ ภาพยนตร์ที่ว่าด้วยชีวิตคนเหมืองของ อาจินต์ ปัญจพรรค์

Focus
  • 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2548 ภาพยนตร์ มหา’ลัย เหมืองแร่ (The Tin mine) เข้าฉายเป็นวันแรก ภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นผลงานการกำกับและเขียนบทของ เก้ง-จิระ มะลิกุล ดัดแปลงจากหนังสือ เหมืองแร่ ของ อาจินต์ ปัญจพรรค์ 
  • อาจินต์ ปัญจพรรค์ นักเขียนผู้มีชีวิตวัยหนุ่มต้องพลิกผัน จากนิสิตปี 2 คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สู่กรรมกรเหมืองแร่ที่ต้องทำงานอย่างหนักตลอด 4 ปี 
  • สามารถชมภาพยนตร์ มหา’ลัย เหมืองแร่ (The Tin mine) ย้อนหลังได้ทาง Netflix 

26 พฤษภาคม พ.ศ. 2548 ภาพยนตร์ มหา’ลัย เหมืองแร่ (The Tin mine) เข้าฉายเป็นวันแรก ภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นผลงานการกำกับและเขียนบทของ เก้ง-จิระ มะลิกุล ดัดแปลงจากหนังสือที่ถูกยกให้เป็น 100 หนังสือที่คนไทยควรอ่านอย่าง เหมืองแร่ ของ อาจินต์ ปัญจพรรค์ นักเขียนผู้ชีวิตวัยหนุ่มสุดพลิกผัน จากนิสิตปี 2 คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สู่กรรมกรเหมืองแร่ที่ทำงานอย่างหนักตลอด 4 ปี จนเส้นโลหิตคอแตก

อาจินต์ เริ่มทำงานในเหมืองแร่ตั้งแต่ ตุลาคม พ.ศ.2492 พอย่างเข้าตุลาคม พ.ศ. 2496 เขาก็กลับจากเหมืองแร่และเริ่มต้นเขียนหนังสือเป็นอาชีพ อาจินต์ฝันอยากเขียนหนังสือตั้งแต่เด็กตามแบบอย่างของพ่อคือ ขุนปัญจพรรคพิบูล ซึ่งเป็นทั้งนายอำเภอ และนักอ่าน ส่วนพี่สาว ชอุ่ม ปัญจพรรค์ ก็เป็นนักเขียนและบรรณาธิการหนังสือเช่นกัน ด้านเหตุผลที่เขาต้องไปทำงานเหมืองแร่ในฐานะ กรรมกร นานถึง 4 ปี เพราะเหตุผลข้อเดียวคือ “คุณพ่อสั่งให้ทำ”

“ตอนนั้น อิศรา อมันตกุล กำลังดัง เสนีย์ เสาวพงศ์ กำลังดัง พี่อ่านของเขาหมด เกิดความรู้สึกอยากเป็นนักเขียน คิดว่าเออ…มาเขียนหนังสือดีกว่าวะ มันโก้มีสง่าในตัวหนังสือนะ เขียนหนังสือดีกว่าอย่าเรียนเลย พ่อก็เตือนว่าเรียนจบเป็นวิศวกรก็เขียนได้ พี่ชายก็ว่าเรียนจบแล้วเรามีข้อมูลพื้นฐานดีกว่า เราบอกไม่เอา! ต้องเริ่มเขียนกันเดี๋ยวนี้ แหกรั้วออกมาเลย มาหาชีวิตเอาเอง มาอด…

“ไม่มีงานทำเที่ยวเดินท้องแห้งอยู่ ขนาดจำนำปากกาเพื่อไปซื้อข้าว ซื้อเหล้ากันตามประสา เดี๋ยวเดียวก็หมด คุณพ่อก็บอกว่าไม่ได้แล้ว พาพี่ไปปักษ์ใต้ไปยัดไว้ในโรงตีเหล็กของเหมืองแร่ บอกนี่ไง! งาน ไม่อยากเรียน แต่อยากทำงานก็หางานให้ทำ…4 ปีที่นั่น ไกลเมือง ไกลอำเภอ ก็มั่วสุมอยู่กับชาวบ้าน ไม่คิดหรอกว่าเขาจะกลับมาเป็นตัวละครของเรา ยังไม่ได้จับปากกา เอาแต่งาน ทำงานอย่างหนัก ไม่กลัวฟ้ากลัวฝน ไม่กลัวโคลนเลน”

มหา’ลัย เหมืองแร่

อาจินต์ เคยให้สัมภาษณ์กับนิตยสารสารคดีถึงชีวิตที่พลิกผัน จากนักเขียนที่เคยฝันไว้ กลับต้องไปทำงานเป็นกรรมกรอยู่ในเหมืองแร่ อาจินต์บอกว่าเขาไม่ต้องปรับตัว แต่ปรับร่างกาย เพราะงานเหมืองเป็นงานที่ใช้แรงงาน ถึงขั้นที่เขาต้องบ้วนน้ำลายออกมาเป็นเลือดก็ยังมีเพื่อแลกกับเงินค่าแรงวันละ 6 บาท แม้คุณชอุ่มพี่สาวจะไปรับมาเรียนต่อ แต่คุณพ่อก็ยืนยันว่ากลับไม่ได้

หลังจากเหมืองแห่งแรกเลิกกิจการเพราะขาดทุน คุณพ่อก็พาไปฝากอีกเหมืองหนึ่งซึ่งอยู่กลางป่า และได้เงินเดือนเพิ่มขึ้นมาเป็นเดือนละ 500 บาท แลกมากับชีวิตที่กร้านขึ้น และอดทนขึ้น ต่อเมื่อถามว่าเหมืองแร่ให้อะไรกับผู้ชายชื่อ อาจินต์ ปัญจพรรค์ เขาตอบได้อย่างชัดเจนเลยว่า

“รู้จักหิว รู้จักอด ฝนตก 7 วัน สะพานหัก เราเหมือนถูกปล่อยเกาะในที่ซึ่งไม่มีข้าว คือข้ามลำธารไปไม่ได้ เงินเดือนยังมาไม่ถึง มันฝึกให้ไม่หยิบหย่ง เพราะต้องอยู่กับของสกปรก น้ำมันเครื่อง โคลนเลน เลือด… คมเหล็กบาดเนื้อ ไม่มียา ต้องเอาน้ำมันขี้โล้ป้ายแผล มันคือความหมายที่แท้จริงของคำว่าอดทน เป็นจุดที่ลึกที่สุดของประสบการณ์ มันยิ่งกว่าเรื่อง ร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว ของ มาร์เกซ นะ”

มหา’ลัย เหมืองแร่

หลังจากเหมืองแร่ล้มละลาย ภูเก็ต พังงา ไม่มีแร่ให้ขุดแล้ว กรรมกรเหมืองแร่ต่างก็ต้องโบกมือลา มหา’ลัย เหมืองแร่ ของพวกเขา อาจินต์กลับมาเริ่มต้นอาชีพงานเขียนอย่างจริงจัง ไม่นานงานเขียนชุด “เหมืองแร่” ก็ถูกผลิตออกมาตีพิมพ์เป็นตอน ๆ ซึ่งเหตุผลที่เขาเลือกเขียนเรื่องเหมืองแร่ก็เพราะเขาบอกว่า “คนในเหมืองแร่ไม่มีใครเขียน” อาจินต์ไม่ได้ใช้เหมืองแร่เป็นเพียงฉาก แต่ทุกชีวิตและเรื่องราวในหนังสือเกิดขึ้นในเหมืองแร่ 

“มันเป็นเลือดเนื้อ เป็นลมหายใจของเราเลย”

ต้นเรื่อง : นิตยสาร สารคดี ฉบับมกราคม 2532

ขอบคุณภาพ : หอภาพยนตร์ fapot.or.th