รีวิว 10 หนังสือ Shortlist ซีไรต์ ประเภทนวนิยาย ประจำปี 2564
Lite

รีวิว 10 หนังสือ Shortlist ซีไรต์ ประเภทนวนิยาย ประจำปี 2564

Focus
  • ซีไรต์ หรือ รางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน ประจำปี พ.ศ.2564 เป็นการประกวดประเภทนวนิยาย มีนักเขียนร่วมส่งผลงานเข้าประกวดทั้งสิ้น 60 เรื่อง
  • สำหรับการตัดสอนรอบสุดท้าย Shortlist มีการคัดเลือกผลงานเข้ารอบเหลือเพียง 10 เรื่อง และจะประกาศผลในวันที่ 10 มกราคม 2565

นักอ่านเตรียมตัวให้พร้อม 10 มกราคม 2565 เตรียมฟังผลการตัดสินอย่างเป็นทางการสำหรับ รางวัลซีไรต์ ประเภทนวนิยาย ประจำปี 2564 ที่จะเกิดขึ้น ณ ห้องเจ้าพระยา โรงแรมแมนดาริน โอเรียนเต็ล กรุงเทพฯ ในเวลา 14.00 น. ทั้งนี้ รางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน (S.E.A Write) ได้จัดต่อเนื่องเป็นปีที่ 42 โดยในครั้งนี้มีนวนิยายส่งเข้าร่วมประกวดทั้งสิ้น 60 เรื่อง จากนั้นมีการประกาศผลเข้ารอบแรก Longlist จำนวน 19 เรื่อง และรอบสุดท้าย Shortlist ซีไรต์ ซึ่งได้คัดเหลือเพียง 10 เรื่อง และก่อนที่จะไปฟังผลการตัดสิน Sarakadee Lite ชวนไปทำความรู้จักกับนวนิยายทั้ง 10 เรื่อง จาก 10 นักเขียนไทยที่เข้ารอบ Shortlist ซีไรต์ อย่างละเอียดกันอีกครั้ง

ซีไรต์

 24-7/1

ผู้เขียน : ภู กระดาษ

สํานักพิมพ์ : มติชน

 24-7/1 โดย ภู กระดาษ ถ่ายทอดแนวคิดประวัติศาสตร์เศรษฐกิจจากสํานักต่าง ๆ ทั้งลัทธิมาร์ก (มาร์กซิสต์) เสรีนิยม สํานักออสเตรีย แนวชุมเพเทอร์ แนวเคนส์ ผ่านเรื่องเล่าครอบครัวสมมติเล็ก ๆ ในหมู่บ้านหนึ่ง ซึ่งต่างได้รับผลกระทบจากวิกฤติจากทุนนิยมและเผด็จการ พร้อมกับตั้งคําถามว่าหลังจากนี้โลกจะเป็นอย่างไร เมื่อทุกคนเร่งทํางานทั้งวันทั้งคืน แต่ไม่มีสวัสดิการใด ๆ ที่เอื้อต่อการดํารงชีวิต

นักเขียนใช้เทคนิคการเขียนจากการประกอบสร้างข้อมูลทางประวัติศาสตร์ผ่านเรื่องเล่าท้องถิ่นของครอบครัววงศ์คําดี ครอบครัวชนชั้นกลาง แบ่งฉากชีวิตออกเป็น 3 ยุคสมัย ฉายให้เห็นพัฒนาการวิถีการผลิตที่เปลี่ยนแปลงจากยุคเสรีนิยมคลาสสิกและคอมมิวนิสต์ มาสู่ยุคเสรีนิยมใหม่พัฒนามาเป็นการฟื้นตัวและการปะทะกันระหว่างเสรีนิยมกับเผด็จการ และคอมมิวนิสต์อีกครั้งในปัจจุบัน

ในส่วนการเล่าเรื่อง นักเขียนใช้เทคนิคหลายมุมมองของเด็กรุ่นใหม่ที่ปะติดปะต่อเขียนประวัติครอบครัวที่พร่าเลือนร้อยเรียง สืบค้นเพื่อฉายภาพรากเหง้าของการกดขี่เริ่มต้นมาจากครอบครัว และลัทธิปิตาธิปไตย สร้างฐานอํานาจด้วยเลือดและเซ็กซ์เปลี่ยนผ่านยุคสมัย กระนั้นความเหลื่อมล้ำยังทวีความรุนแรงมากขึ้น

นอกจากนี้นักเขียนยังคืนความเป็นท้องถิ่น เลือกใช้ภาษาดั้งเดิม เสียดเย้ยด้วยน้ำเสียงขันขื่นอันเป็นรากเหง้าของชาวชนบทอีสาน อีกทั้งยังเลือกใช้ข้อมูล ตํานาน นิทาน และสัญลักษณ์ เพื่อขับเน้นเรื่องให้ชวนติดตามและไตร่ตรองหาคําตอบจากการตีความของนักอ่านต่อไปด้วยความหวัง

ซีไรต์

เกิดในฤดูหนาวที่แดดส่องถึง

ผู้เขียน : นทธี ศศิวิมล

สำนักพิมพ์ : แพรวสํานักพิมพ์

 เกิดในฤดูหนาวที่แดดส่องถึง นวนิยายที่ว่าด้วยการเกิดขึ้นของเหตุการณ์ในซีกโลกหนึ่งที่อาจมิได้เกี่ยวข้องกับแต่ละเหตุการณ์ในอีกซีกโลก ทว่ามันคือความทรงจําร่วมของช่วงเวลาที่ผู้คนบนโลกมีการรับรู้ร่วมกัน

ความสัมพันธ์ของผู้คนกลุ่มหนึ่ง ครอบครัวหนึ่ง หรือคนคู่หนึ่ง แน่นอนว่ายอมมิใช่เรื่องราวเดียวกัน แต่นั่นก็คือ “ความสัมพันธ์” ที่หากผู้ใดมีโอกาสได้มองย้อนกลับไปในความสัมพันธ์ของตนเอง ความทรงจําของแต่ละช่วงเวลายอมมีรสชาติไม่เหมือนกัน และเมื่อความทรงจํานั้นถูกนําเสนอออกมาเป็นนวนิยายเล่มหนึ่ง แน่นอนวามันคือความทรงจําที่ถูกกะเทาะเปลือก เปิดเปลือย และบางทีภายใต้ตัวหนังสือเหล่านั้น อาจเป็นการเยียวยาบาดแผลบางอย่างของผู้เขียน ไปพร้อม ๆ กับการกระตุ้นสัญชาตญาณการหลุดพ้นไปจากเงื่อนไขของการใช้ชีวิตในรูปแบบเดิม ๆ

เกิดในฤดูหนาวที่แดดส่องถึง เป็นนวนิยายที่มีกลวิธีเล่าเรื่องสะอาด ไม่ซับซ้อน แต่โดดเด่นและมีเสน่ห์ด้วยการนําเรื่องเล่าสองเรื่องมาผูกโยงให้ดําเนินเรื่องขนานกันไป โดยให้เรื่องหนึ่งดําเนินไปข้างหน้าแบบการก้าวย่างไปสู่แสงสว่างแห่งอนาคต ส่วนอีกเรื่องหนึ่งเป็นการเล่าเรื่องจากความทรงจําที่ย้อนกลับไปในอดีตอันเจ็บปวด มีการนําเสนอเรื่องความรัก ความสัมพันธ์ ความทุกข์ระทม ความแตกต่างทางชนชั้น ผ่านตัวหนังสือที่เต็มไปด้วยอารมณ์ ความรู้สึก และปมของความปรารถนาที่ซุกอยูภายใต้จิตใต้สํานึก

คุณค่าของนวนิยายเล่มนี้จึงอยูที่ภาษาในการนําเสนอที่ทําให้เราเห็นภาพ รับรู้ และมีอารมณ์ร่วมไปกับตัวละคร จนต้องย้อนกลับไปสู่ความทรงจําของตนเองในระหว่างทางของการอ่าน และอาจมีการตั้งคําถามต่อตนเองถึงความทรงจําเหล่านั้นว่า สิ่งที่เกิดขึ้นกับเราในอดีตนั้นมันคือความจริง หรือเป็นเพียงแค่ความรู้สึกกันแน่

แม้ว่าเรื่องราวของความรักอาจมิใช่เรื่องยิ่งใหญ่สําหรับบางคน แต่สําหรับหนังสือเล่มนี้ การถ่ายทอดถึงความรักความสัมพันธ์ มีนัยสําคัญมากกว่านั้น เกิดในฤดูหนาวที่แดดส่องถึงจึงอบอุ่นไปถึงหัวใจทุกครั้งที่หยิบขึ้นมาอ่าน

ซีไรต์

ดําดิ่งสู่เบื้องบน

ผู้เขียน : วัฒน์ ยวงแก้ว

สำนักพิมพ์ : ผจญภัยสํานักพิมพ์

นวนิยายชื่อแปลกที่โดดเด่นและสดใหม่ทั้งด้านเนื้อหาและกลวิธีการนําเสนอ ดําดิ่งสู่เบื้องบน เล่าเรื่องราวการทับซ้อนแห่ง ‘ตัวตน’ ของตัวละครที่อุดมไปด้วยความประหลาดพิสดารผ่านน้ำเสียงอันหลากหลาย ใช้กลเม็ดการประพันธ์แบบสหบท แบ่งเรื่องราวแต่ละบทออกเป็น 3 ส่วนเรียงขนานกันอย่างชวนพินิจเทียบเคียง

ส่วนแรก ‘ตัวตน’ เล่าเรื่องราวของชายหนุ่มที่ย้ายเข้ามาอาศัย ณ หอพักย่านมหาวิทยาลัย และได้ผูกสัมพันธ์กับสตรีและเด็กชายที่ใต้ชายคาเดียวกันจนเกิดเป็น ‘ครอบครัว’ ในความหมายใหม่

ส่วนที่สอง ‘เวลา’ ย้อนเล่าประวัติศาสตร์แห่งถิ่นที่บรรพบุรุษท่ามกลางสวนยางพาราของเด็กหนุ่มวัย12 ปีที่อาศัยอยู่กับบิดาและแม่เลี้ยง สืบทอดสายเลือดแห่งตราบาปและความวิปริตอาฆาตแค้นที่ย้อนไปถึงสมัยพุทธกาล

ส่วนสุดท้าย ‘ที่อาศัย’ กับภาพหลอนของตึกแถวร้างสองฝั่งข้าง กับผู้อยู่อาศัยนิรนาม ตามคําถ่ายทอดของตัวละคร ‘ผู้เล่าเรื่อง’ บรรยายถึงพฤติกรรมสยองขวัญอันไร้ชีวิตและปราศจากคําอธิบายของสมาชิกในแต่ละคูหา

ด้านลีลาการประพันธ์ของผู้เขียนไหลเลื่อนจากแนว ‘สัจนิยม’ ในส่วนแรก สู่แนว ‘สัจนิยมมหัศจรรย์’ ในส่วนที่สอง ไปสู่ความ ‘มหัศจรรย์’ โดยสมบูรณ์ในส่วนสุดท้าย ใช้บุรุษและเสียงเล่าที่หลากหลาย ทั้งสรรพนาม ‘คุณ’ ‘ผม’ ‘นักเล่าเรื่อง’ ‘เสียง’ และ ‘ตัวอักษรเขียน’ มาสร้างมิติชั้นของเนื้อเรื่องแต่ละส่วนได้อยางลุ่มลึกและแพรวพราว ผูกโยงเรื่องราวที่เหมือนจะไม่ได้สัมพันธ์กันโดยตรงด้วยชุดสัญลักษณ์ ทั้งเสียงร้องจากแมวของชเรอดิงเงอร์ หน้ากากยอดมนุษย์และพระโมคคัลลานะ สะท้อนการหลอนเลือนระหว่างตัวตนบนใบหน้ากับหน้ากากของผู้สวมใส่ได้อย่างแยบยลจนสร้างความน่าสะพรึง

เดฟั่น

ผู้เขียน : ศิริวร แก้วกาญจน์

สำนักพิมพ์ : ผจญภัยสํานักพิมพ์

เดฟั่น ของ ศิริวร แก้วกาญจน์ คือเรื่องราวของตระกูลคนเฆี่ยนเสือจากไทรบุรี ที่เดินทางสู่ชายแเดนภาคใต้ของประเทศแถบทะเลอันดามัน เมื่อครั้งบรรพบุรุษรุ่นปู่ทวดที่เริ่มตั้งรกรากบนพื้นที่ป่าอุดมสมบูรณ์ราว 112 ปี ก่อน โดยเรียกชื่อชุมชนเล็ก ๆ ตามสภาพดินฟ้าอากาศว่า‘หมู่บ้านฝนแสนห่า’ จากรุ่นสู่รุ่นจนถึง ‘เดฟั่น’ชั้นเหลน ที่กลายเป็น ‘หมู่บ้านกระสุนแสนห่า’ อย่างน่าหดหู่

ในด้านกลวิธีการเล่าเรื่อง ผู้เขียนใช้รูปแบบสัจนิยมมหัศจรรย์เล่าตํานานลัทธิบูชาวีรบุรุษ นําเรื่องเล่ามาเชื่อมโยงเข้ากับประวัติศาสตร์ เหตุการณ์บ้านเมืองแต่ละยุคสมัยได้อย่างแม่นยํา แหลมคม และกลมกลืน ซึ่งระหว่างทางมีเหตุการณ์ต่าง ๆ เกิดขึ้นมากมาย เหมือนเป็นการปะชุนปะติดปะต่อและทบทวนประวัติศาสตร์มิให้หลงลืมหรือถูกบิดเบือนจนบิดเบี้ยว

“เดฟั่นจําไม่ได้” วลีที่กล่าวซ้ำ ๆ ตลอดการเดินทางของนวนิยายเรื่องนี้ นัยหนึ่งคือ การสูญเสียความทรงจําของเดฟั่น เพราะถูกกระทําซํ้า ๆ ทั้งร่างกายจิตใจจาก ‘ทางการ’ หรืออํานาจรัฐ ที่แฝงตัวเข้าไปในหมู่บ้าน สร้างความแตกแยกแล้วทําลายด้วยการยัดเยียดข้อหาร้ายแรง และเดฟั่นก็เปรียบเสมือนตัวแทนชาวบ้านผู้ถูกกระทํานั้นด้วย

อีกนัยหนึ่งนวนิยายเรื่องนี้ถือเป็นการยั่วล้อประวัติศาสตร์ที่มักถูกทําให้ลืมหรือบิดเบือนจากผู้กุมอํานาจจนประวัติศาสตร์ชํารุดแหว่งวิ่นไม่มีที่สิ้นสุดสําหรับชั้นเชิงวรรณศิลป์ นอกจากเสน่ห์แพรวพราวในรูปแบบเรื่องเล่าที่เชื่อมโยงประวัติศาสตร์ได้อย่างไหลลื่นแล้ว ความโดดเด่นอีกด้านดูเหมือนว่าผู้เขียนจงใจแบ่งซอยเรื่องราวเป็นบทสั้น ๆ ตัดย่อหน้าฉับ ๆ ด้วยรูปประโยคคมคาย ภาษากระชับ ขับเน้นความเข้มข้น ฉายภาพเหตุการณ์อันเป็นโศกนาฏกรรม และเห็นความสะเทือนใจอย่างทรงพลัง

ภูเขานํ้าตา

ผู้เขียน : อนุสรณ์ มาราสา

สํานักพิมพ์ : บลูเบิร์ด

ภูเขานํ้าตา นําเสนอประเด็นความขัดแย้งระหว่างมนุษย์กับความเชื่อ วัฒนธรรม ความเป็นปัจเจก และทุนนิยม การผูกติดตัวเองอยู่กับความเชื่อหรือค่านิยม หรือแม้แต่ความพยายามจะขบถ ล้วนต่างกลายเป็นสิ่งที่รัดตรึงกลายเป็นกรอบขังตนเอง และนํามาซึ่งความเจ็บปวด

นวนิยายให้ภาพสภาวะการถูกหลอกหลอนจากกรอบของสังคมวัฒนธรรมผ่านการพรรณนาความฝัน ความกึ่งหลับกึ่งตื่น ความเป็นความตาย การอุปลักษณ์ และการใช้สัญลักษณ์ในรูปของสัตว์ ภูตผีปีศาจชวนให้คิดย้อนทวนไปว่าใครเป็นผู้กำหนดกฎเกณฑ์ของสังคมวัฒนธรรม มนุษย์เป็นผู้เลือกกระทําเองหรือโชคชะตากำหนด และสุดท้ายจะดําเนินชีวิตไปอย่างไร เนื้อหามีความเป็นสากลและร่วมสมัยกับสังคมที่ระบบทุนนิยมเข้ามามีผลกระทบต่อวัฒนธรรมและชุมชน และไม่ประสานกัน

กลวิธีการเล่าเรื่องย้อนไปยังอดีตสลับกับปัจจุบันทําให้เห็นภาพจุดเริ่มต้นและบั้นปลายของตัวละครชัดเจน พร้อมกับเผยให้เห็นเส้นทางชีวิตมนุษย์ที่มีเหตุการณ์เกิดขึ้นมากมาย มีความสุขทุกข์ หวาดกลัว ต่อสู้ดิ้นรน ความสํานึกผิด และความหวังของการมีชีวิต ผสมผสานรูปแบบการประพันธ์ที่หลากหลาย หยิบยืมตํานาน ความเชื่อทางศาสนามาประกอบสอดรับกับโครงเรื่องทําให้มีสีสันเชิญชวนให้อ่าน

ซีไรต์

รอยสนธยา

ผู้เขียน : ทรงศีล ทิวสมบุญ

สำนักพิมพ์ : SongsinThings

รอยสนธยา ของ ทรงศีล ทิวสมบุญ เล่าถึงการคลี่คลายปริศนาและบาดแผลในใจจากเรื่องร้ายในอดีตของตัวละครเอกผู้กำลังย่างเข้าสู่วัยกลางคน ผ่านเรื่องลึกลับสยองขวัญซ่อนเงื่อนในโรงเรียนแห่งหนึ่งโดยมีคําว่า‘รอยสนธยา’เป็นทั้งชื่อเรื่องและฉากที่กำหนดบรรยากาศของเรื่อง ทั้งยังมีความลึกซึ้งที่สามารถตีความได้หลายระดับ ตั้งแต่เรื่องเล่าสยดสยองสะเทือนขวัญ ความทรงจําบาดแผลของปัจเจก การวิพากษ์อํานาจและความรุนแรงในครอบครัวรวมทั้งสถาบันการศึกษา ไปจนถึงอุปมานิทัศน์ของประวัติศาสตร์และการเมือง โดยที่เยาวชนต้องตกเป็นเหยื่อและเป้าหมายของความรุนแรงในทุกระดับ

เนื้อหาของนวนิยายเล่าผ่านเรื่องราวในอดีตจากมุมมองของกลุ่มตัวละครเอกในสมัยที่ยังเป็นนักเรียนอาชีวศึกษา เสียงของ ‘นักเรียนอาชีวะ’ ในเรื่องจึงเป็นเสียงของคนใน ที่ถ่ายทอดความหวั่นไหวของวัยรุ่นกลุ่มนี้ที่มีต่อแรงกดดันจากตนเองครอบครัว เพื่อน โรงเรียนและโลกภายนอก ซึ่งเป็นเสียงที่ไม่ค่อยมีโอกาสเปล่งออกมาในวรรณกรรมและสื่อหลักเพื่อบอกเล่าเรื่องราวของพวกเขามากนัก

รอยสนธยา เล่าเรื่องผ่านกลวิธีอันประณีต มีท่วงทํานองการดําเนินเรื่องที่สามารถเร้าผัสสะของผู้อ่านได้อย่างเข้มข้นด้วยคํา จังหวะ และลีลาเฉพาะตัว นวนิยายเรื่องนี้จึงสามารถกระตุ้นทั้งอารมณ์สะเทือนใจ จินตนาการกึ่งจริงกึ่งฝัน และความครุ่นคิดในเชิงวิพากษ์ได้ด้วยความสอดประสานของศิลปะที่ใช้ในการประพันธ์

Shortlist ซีไรต์

วรรณกรรมที่แท้จริงน่ะ ต้องใช้คอมพิวเตอร์เขียนเท่านั้นไม่รู้เหรอ

ผู้เขียน : ร เรือในมหาสมุท

สำนักพิมพ์ : บริษัท พะโล้ พับลิชชิ่ง จํากัด

“วรรณกรรมที่แท้จริงน่ะ ต้องใช้คอมพิวเตอร์เขียนเท่านั้นไม่รู้เหรอ” นวนิยายที่กำลังตั้งคําถามต่ออํานาจวิเศษหนึ่งซึ่งทําให้มนุษย์รู้สึกเหนือกว่าสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ นั่นก็คืออํานาจในจินตนาการและการสร้างสรรค์ศิลปะ

ท่ามกลางความเฟื่องฟูของวรรณกรรมภายใต้ลัทธิบริโภคนิยม ผู้เขียนได้สร้างจินตนาการถึงโลกอนาคตที่มนุษย์เสพวรรณกรรมซึ่งสรรค์สร้างโดยปัญญาประดิษฐ์ ผ่านการประมวลผลรูปแบบและโครงสร้างความสนุกสนานที่มนุษย์ชื่นชอบ แต่ก็ไม่ทิ้งคุณค่าวรรณศิลป์ที่กรรมการตัดสินรางวัลวรรณกรรมชื่นชม ทว่าหากปัญญาประดิษฐ์สร้างสรรค์วรรณกรรมได้เช่นนั้นแล้วคําถามที่ตามมาคือวรรณกรรมยังคงเป็นศิลปะอยู่หรือไม่ และใครคือ ‘ผู้แต่ง’กันแน่ระหว่างมนุษย์ผู้กำหนดโปรแกรมและป้อนข้อมูลกับปัญญาประดิษฐ์ผู้ประมวลผล ซึ่งนั่นเป็นจุดที่ทำให้มนุษย์หันกลับมาทบทวนและตั้งคําถามว่ามนุษย์ยังจะสามารถอหังการในความเป็นมนุษย์อยู่ได้อีกหรือไม่ในเมื่อคุณสมบัติวิเศษสุดของมนุษย์ถูกมอบให้อยู่ในมือของสิ่งซึ่งไม่ใช่มนุษย์เสียแล้ว

ในโลกอนาคตนั้น คู่เปรียบของมนุษย์ไม่ใช่สิ่งมีชีวิตอีกต่อไปหากแต่เป็นปัญญาประดิษฐ์ผู้ไร้ชีวิตที่กำลังพัฒนาและสงสัยว่าตนนั้นจะวิวัฒน์ไปถึงขั้นสูงสุดแห่งคุณสมบัติของความเป็นมนุษย์ได้หรือไม่ นั่นคือการมีความคิด ความรัก ความเห็นอกเห็นใจ ห่วงใยและปรารถนาดีต่อกัน

อีกความสนุกของเรื่องนี้คือการฝังคําถามยิ่งใหญ่ไว้ในนวนิยายแนวเบาสมอง ถือเป็นกลวิธีสร้างความขัดแย้งที่คมคาย เป็นการย้อนกลับไปท้าทายต่อภาพจําเกี่ยวกับนวนิยายแนวเบาสมองว่าไม่จําเป็นต้อง ‘เบาสมอง’เสมอไปและ…‘แท้ที่จริงแล้ว เรื่องเบาสมองน่ะมีพลังสร้างสรรค์อยู่ตั้งมากมาย ไม่รู้เหรอ’

Shortlist ซีไรต์

วายัง อมฤต

ผู้เขียน : อนุสรณ์ ติปยานนท์

สํานักพิมพ์ : Din-Dan Book

วายัง อมฤต เรื่องเล่าซ้อนเรื่องเล่าที่เหมือนกับการเชิดหนัง ‘วายัง กุลิต’ แม้จะเป็นความพร่าเลือนแต่ยังรับรู้ได้ถึงพลังของการต่อสู้เบื้องหลังเงานั้น แม้กาลเวลาจะผ่านไปเพียงใด พลังของการต่อสู้ยังคงอยู่ โดยที่ผู้เขียนได้กำหนดแก่นเรื่องที่มีทั้งอํานาจ มิตรภาพและความตาย ประกอบเข้ากับฉากเหตุการณ์หลัง 2475 ตรงกับช่วงเวลาที่อินโดนีเซีย ประเทศเพื่อนบ้าน ตกอยู่ท่ามกลางห้วงสงครามมหาเอเชียบูรพา ทําให้เกิดกองโจรใต้ดินของชาวชวาที่ทำหน้าที่ต่อต้านและขับไล่ชาวญี่ปุ่น พร้อมทั้งพยายามปลดแอกจากชาวดัตช์ เจ้าของอาณานิคมในดินแดนแถบนี้

เรื่องเริ่มจากตัวละคร ‘กรมพระฯ’ เจ้านายชั้นสูงของสยามที่ลี้ภัยไปอยู่ในชวาซึ่งได้ว่าจ้างให้ ‘นายไฮน์ริช เบิล’ ชาวเยอรมันนักแปลและล่าม 8 ภาษา แปลบันทึกความทรงจําเกี่ยวกับ2475 ก่อนที่จะร้อยเรื่องเข้าไปเกี่ยวข้องกับตัวละครที่ชื่อ ‘บุหลัน’หรือ‘บุหรง’ และ ‘ศรี อรพินโท’ หัวหน้ากองโจร ผู้สร้างวีรกรรมกอบกู้ชาติ แม้ว่าท้ายที่สุดแล้วจะประสบกับความพ่ายแพ้ แต่ก็สะท้อนมุมมองระหว่างความจริงกับอุดมคติ ความจริงกับความลวง ความตายและการสืบต่ออุดมการณ์

ผู้เขียนสร้างตัวละครที่ไม่มีจริงนํามาแต่งให้สอดรับกับเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ เสกชีวิตให้โลดแล่นด้วยลีลาภาษาตรงกับยุคสมัย ย้ำเตือนว่า แม้ความตายจะพรากชีวิตไปแต่อุดมการณ์แห่งการต่อสู้แบบธรรมะย่อมชนะอธรรมยังคงอยู่ เสมือนการคงอยู่ภายใต้เงามืดของหนังวายังกุลิต

Shortlist ซีไรต์

สุสานสยาม

ผู้เขียน : ปราปต์

สำนักพิมพ์ : แพรวสํานักพิมพ์

สุสานสยาม นำเสนอภาพสังคมไทยในยุคแห่งความล่มสลาย เปรียบเสมือนสุสานหลังเกิดสงครามมนุษยชาติครั้งใหญ่ณ สุสานสยามคนส่วนน้อยใช้ชีวิตอย่างสุขสบายอยู่ภายในกำแพงที่แบ่งแยกกีดกันคนสามัญธรรมดาให้ห่างไกลไม่ปะปน ขณะที่โลกนอกกำแพงหม่นมัวไม่น่าอยู่ แต่จําต้องอาศัยและเป็นที่พักพิงสําหรับสามัญชนคนส่วนใหญ่สังคมใน สุสานสยาม ดํารงอยู่ภายใต้โครงสร้างความเหลื่อมลํ้าซึ่งถูกปกปิดไว้

หลายเรื่องราวและเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในนวนิยายสะกิดให้ผู้อ่านย้อนคิดถึงสิ่งที่เกิดขึ้นในสังคมไทยร่วมสมัย โดยเฉพาะเรื่องราวของตัวละครหนุ่มสาวในวัยเรียนที่เปล่งเสียงต่อต้านกลไกเชิงอุดมการณ์ของฝ่ายผู้มีอํานาจ เป็นภาพที่ซ้อนทับอย่างชัดเจนกับเยาวชนคนรุ่นใหม่ในสังคมไทยปัจจุบัน

สุสานสยาม มิได้นําเสนอเรื่องราวเหล่านี้ด้วยท่วงทํานองธรรมดา หากใช้ลีลาเสียดสี เปี่ยมรสชาติด้วยภาษาสยามบริสุทธิ์ที่ผู้แต่งบรรจงประดิษฐ์ขึ้นอย่างละเอียดลออ ทั้งการกำหนดกฎเกณฑ์ของระดับของภาษาที่ใช้ในการสื่อสารกับคนต่างกลุ่มต่างชนชั้น ไปจนถึงการถอดเสียงศัพท์ภาษาต่างประเทศเป็นเสียงไทยด้วยศัพท์ไทยเพื่ออนุรักษ์ภาษาสยามแท้ ซึ่งลีลาภาษาสยามนี้ส่งให้ผู้เขียนได้แสดงความสามารถทางภาษาอย่างเต็มที่ผสมผสานกับกลวิธีสําคัญคือการดําเนินเรื่องตัดสลับเหตุการณ์ไปมา ทิ้งปริศนาเป็นระยะเพื่อเฉลยในภายหลัง สร้างความตื่นเต้นสงสัยใคร่รู้ตามขนบเรื่องลึกลับสืบสวนสอบสวนที่เป็นเอกลักษณ์ของปราปต์

Shortlist ซีไรต์

อาณาเขต

ผู้เขียน : นิธิ นิธิวีรกุล

สำนักพิมพ์ : สํานักพิมพ์สมมติ

อาณาเขต นวนิยายที่มีเนื้อหาร่วมสมัย ชวนตั้งคําถามกับสิ่งที่อยูรอบตัว ไม่ว่าจะเป็น ความจริง บทบาทของรัฐ ตัวตน ความเป็นนักเขียน ความเป็นมนุษย์ผ่านการเล่าเรื่องราวการสืบหาผู้ที่เป็นต้นเหตุการแพร่ระบาดของเชื้อกาฬโรค ทิ้งปมชวนให้ผู้อ่านร่วมแสวงหาความจริงว่าใครเป็นคนแพร่เชื้อ และเราควรจะเชื่ออะไร หรือใคร

นวนิยายท้าทายบรรทัดฐานทางสังคมและศีลธรรมของมนุษย์ทั้งให้ภาพสังคมที่ผู้คนรู้สึกโดดเดี่ยว ข้อมูลสับสนปนเป ความไว้เนื้อเชื่อใจลดลงทั้งระหว่างบุคคลกับบุคคล บุคคลกับรัฐ ผู้ที่ต้องเข้ามาแก้ไขสถานการณ์ ผู้เขียนเชิญชวนให้คิดต่อว่ามนุษย์ควรกำหนดเส้นทางชีวิตของตัวเอง หรือดําเนินตามกรอบที่สังคมวางไว้ ให้แง่มุมเกี่ยวกับการแสวงหา การรับรู้ความจริงและตัวตนของมนุษย์ที่อาจมีมากกว่าหนึ่งมิติ ทั้งยังแทรกการวิพากษ์การให้คุณค่าเฉพาะกับบางสิ่ง ท้าทายความคิดของผู้อ่านให้กลับไปทบทวนบทบาทของตนเอง การตระหนักรู้เกี่ยวกับตัวตน ผู้คน และสังคม

ผู้เขียนยังได้ผูกเรื่องเกี่ยวกับการแสวงหาความจริงและความคลุมเครือของตัวตน ตั้งแต่คํานําเรื่องไปจนจบเรื่องอย่างมีเอกภาพ โดดเด่นด้วยการวางโครงเรื่องสอดรับกับกลวิธีการแต่ง ใช้กลวิธีการเล่าเรื่องซับซ้อน แหวกขนบการเขียน เล่าเรื่องซ้อนเรื่องในหลายระดับ เล่าความทรงจํา สับเปลี่ยนผู้เล่า ผสมผสานรูปแบบงานเขียนหลากหลายเข้าไว้ด้วยกัน

Fact File

  • ติดตามความเคลื่อนไหวของซีไรต์ได้ที่ www.seawrite.com

Author

กองบรรณาธิการ
กองบรรณาธิการ Sarakadee Lite