เวอร์จิเนีย วูล์ฟ กับชีวิตในห้องส่วนตัวของกระแสสำนึก
- เวอร์จิเนีย วูล์ฟ เป็นนักเขียนวรรณกรรมสมัยใหม่ที่มีแนวทางเฉพาะตัวอย่างวรรณกรรมกระแสสำนึก
- วูล์ฟเกิดเมื่อวันที่ 25 มกราคม ค.ศ.1882 และ เสียชีวิตเมื่อวันที่ 28 มีนาคม ค.ศ.1941
- ผลงานที่เป็นประจักษ์มีมากมายอย่างเช่น To the Lighthouse, The Waves, A Room Of One’s Own เป็นต้น
เวอร์จิเนีย วูล์ฟ (Virginia Woolf) ชื่อนี้คือผู้ตั้งคำถามกับขนบสตรีและงานวรรณกรรมที่เป็นแรงบันดาลใจให้หลายคนในการแหกขนบแหวกธรรมเนียม และไม่ว่าโลกหนังสือจะขยับเข้าสู่ดิจิทัลเพียงใด ชื่อของนักเขียนผู้นี้ก็ยังคงสะท้อนก้องให้ได้ยินกันอย่างต่อเนื่องทั้งในขบวนการเรียกร้องสิทธิสตรีและงานวิชาการเชิงวรรณกรรมสมัยใหม่ ไม่ว่าจะข้อถกเถียงสนับสนุนหรือตั้งคำถามแย้ง แต่ไม่ว่าอย่างไรการปรากฏขึ้นของการพูดถึงย่อมแสดงว่างานของวูล์ฟยังคงมีพลังในการขับเคลื่อนทางความคิดด้วยเอกลักษณ์ความไม่ยอมจำนนและทักษะในการรื้อและสร้างอักษรอันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว
เป็นที่น่าสนใจและแสดงให้เห็นถึงสภาพสังคมไปในทีเดียวสำหรับเรื่องราวของ วูล์ฟ จากเด็กหญิงที่เกิดในครอบครัวที่มีพ่อผู้เป็นนักวิชาการอย่าง เลสลี่ สตีเฟน (Leslie Stephen) บรรณาธิการหนังสือ Dictionary of National Biography ด้วยภูมิหลังนี้เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้สภาพแวดล้อมการเติบโตของวูล์ฟผูกพันอยู่กับห้องสมุดที่มีหนังสือหลากหลายประเภท และนั่นก็ทำให้วูล์ฟที่แม้จะถูกกีดกันจากระบบการศึกษาไม่ได้เข้าเรียนในสถาบันหลักอย่าง เคมบริดจ์ (Cambridge) ดังที่พี่ชายของวูล์ฟได้เรียน ด้วยเหตุของวัฒนธรรมขณะนั้นที่กดทับและการมองต่างระนาบในประเด็นทางเพศ ผู้หญิงไม่ได้เข้าเรียนในสถาบันหลักอย่างผู้ชาย วูล์ฟจึงได้รับการศึกษาจากครูที่จ้างมาสอนที่บ้าน ประกอบกับความกระตือรือร้นของวูล์ฟเอง วูล์ฟจึงศึกษาด้วยตนเองจากการอ่านหนังสืออันเป็นสภาพแวดล้อมหลักที่อยู่รอบตัว
การกดทับด้วยเรื่องเพศที่กลายมาเป็นกฎของสังคมนี้เป็นทั้งอุปสรรคแต่ในขณะเดียวกันก็มีนัยสำคัญต่อความรู้ของวูล์ฟ ในเชิงที่ทำให้เธอมีความคิดที่กว้างขวางออกนอกขนบและเกิดการต่อต้านจารีตอันกดทับมนุษย์อยู่ทั้งประเด็นด้านเพศและการพิสูจน์ทางความคิดที่มีต่องานวรรณกรรม โดยวูล์ฟได้เข้าเป็นสมาชิกของกลุ่มนักคิด นักเขียนแห่งอังกฤษอย่าง บลูมส์เบอรี (Bloomsbury) อันเป็นการรวมตัวของคนที่ทำงานทางความคิดที่หลากหลายทั้งนักเขียน นักเศรษฐศาสตร์ นักวิจารณ์และศิลปินที่รวมกันขับเคลื่อนทางความคิดและผลักดันขอบเขตทางการสร้างสรรค์งานศิลปะไปในทิศทางที่แปลกใหม่รวมทั้งข้อเสนอและแนวปฏิบัติทางสังคมเช่นประเด็นทางเพศและการต่อต้านสงคราม
“ผู้หญิงจะต้องมีเงินและห้องส่วนตัว หากเธอจะเขียนเรื่องแต่ง”
ประโยคสำคัญที่เชื่อมโยงกับงานเขียนเล่มนิยมของวูล์ฟอย่าง A Room Of One’s Own ที่แสดงออกทั้งการวิพากษ์บริบทความเป็นหญิงที่สังคมในสมัยนั้นซึ่งได้สร้างกรอบต่าง ๆ ให้เกิดขึ้นในตอนหนึ่งวูล์ฟได้อุปมาถึงสังคมที่ขีดเส้นแบ่งเพศไว้ว่าเหมือนการมีสมาคมวิชาการที่หวงสนามหญ้าไว้ใช้กันเองสำหรับผู้ชายโดยชี้ไปที่ทางกรวดว่าเป็นทางสำหรับผู้หญิงแม้ไม่ได้ยากลำบากในการเดินทางต่างกันนักแต่ความบางเบาทางเหตุผลดังนี้แหละที่ถูกใช้เป็นการขีดเส้นแบ่งแยกถนนทางเพศและนำมาสู่สายตาการมองที่ไม่เสมอกันระหว่างเพศ
ในงานเขียนชิ้นเดียวกันนี้วูล์ฟยังสร้างโลกที่เลือนรางขึ้นเพื่ออธิบายสิ่งที่ผู้หญิงเจอร่วมกันผ่านคำว่า “ดิฉัน” ที่ไม่เพียงการกล่าวถึงตัววูล์ฟเอง แต่งานเขียนนี้ยังได้เชื่อมถึงตัวละครที่มีจุดร่วมทางชื่อคือ “แมรี” โดยใช้การเรียก “ดิฉัน” อันเป็นศัพท์แทนเพศหญิงเชื่อมโยงปัญหาของตัวละครที่เคลื่อนไหวในโลกที่เลือนรางระหว่างเรื่องจริงกับเรื่องแต่ง
ใน A Room Of One’s Own วูล์ฟ ใช้การอุปมานี้เป็นการแสดงให้เห็นว่าปัญหาทางเพศไม่ใช่เรื่องปัจเจกแต่เป็นปัญหาสังคม กรอบวิธีคิด คำศัพท์ หรือจุดร่วมทางสำนึกต่าง ๆ ที่ประกอบ “กรอบของดิฉัน” ขึ้นมาทำให้ปัญหาทางเพศเป็นปัญหาทางโครงสร้างสังคมไปพร้อมกัน ประกอบกับท่าทีการเขียนเล่าเรื่องแบบไม่ชัดเจนระหว่างเรื่องแต่งกับเรื่องจริงอย่างสถานที่ที่จำลองขึ้นเช่น “อ๊อกบริดจ์” (เป็นการประกอบชื่อสถาบันการศึกษาอย่าง Oxford และ Cambridge เข้าด้วยกัน) วูล์ฟเล่าทีเล่นทีจริงโดยอิงกับสถานที่และเหตุการณ์ที่สมจริงเข้ากับการเล่าเชิงอุปมาทำให้เห็นมิติทางปัญหาและการจำลองปัญหาในเรื่องแต่งที่สามารถเชื่อมโยงกับความเป็นจริงได้อย่างแนบชิดกัน
ประกอบกับลีลาการเขียนอันเป็นเอกลักษณ์ของวูล์ฟอย่างวรรณกรรม กระแสสำนึก (Stream of Consciousness) ที่เน้นการเล่าภายในอย่างประสบการณ์ที่ตัวละครจดจำหรือการโยงความทรงจำของอดีตแทรกขึ้นมาผสมกับปัจจุบัน วูล์ฟยังมีความคิดเห็นต่องานสัจนิยมอีกว่าการเล่าตัวถึงละครผ่านวัตถุเช่นเครื่องใช้ เครื่องแต่งกายเป็นการบ่งบอกถึงความเป็นอยู่ของตัวละครไม่ใช่จิตใจ การเขียนเชิงกระแสสำนึกของวูล์ฟจึงมีน้ำหนักไปที่การถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึกและไม่จำเป็นต้องอยู่ในกรอบของทั้งกาลเวลาหรือการเรียบเรียงเล่าเรื่อง รวมทั้งขนบการใช้ภาษาที่ถูกรื้อและสร้างด้วยวิธีการเขียนที่อิงกับกระแสสำนึกมากกว่าการจัดเรียงเพื่อเล่าเรื่องตามขนบด้วยความคิดที่ว่ามนุษย์มีความสัมพันธ์กับภาษาที่เปลี่ยนแปลงได้ดังนั้นไม่เพียงการอธิบายให้เห็นความจริงเบื้องหน้าแต่เป็นการเชื่อมต่อเพื่อแสดงถึงจิตใจอันสามารถเป็นความจริงเบื้องในเช่นกัน
อ้างอิง
- นายคำ : ตำนานนักเขียนโลก. ชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์เขียน. สำนักพิมพ์ อ่าน.2560
- ห้องส่วนตัว. เวอร์จิเนีย วูล์ฟ เขียน. มาลินี แก้วเนตร แปล. สำนักพิมพ์ สยามปริทัศน์. 2559