ทิม เบอร์ตัน และหนังฝันร้ายที่กลายเป็นตำนานในค่ำคืนคริสต์มาส
Faces

ทิม เบอร์ตัน และหนังฝันร้ายที่กลายเป็นตำนานในค่ำคืนคริสต์มาส

Focus
  • ทิม เบอร์ตัน ชื่อนี้คือเบอร์ต้นที่อยู่ในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ระดับโลก แต่ความพิเศษของหนังทิม เบอร์ตันคือ สไตล์งานศิลปะ Expressionism ที่ถูกถ่ายทอดลงไปในหนังไม่ต่างจากงานศิลปะ
  • หากพูดถึงเจ้าพ่อหนังประจำเทศกาลคริสต์มาส แน่นอนว่าชื่อของ ทิม เบอร์ตัน ต้องเป็นหนึ่งในนั้น โดยชิ้นมาสเตอร์พีช ได้แก่ The Nightmare before Christmas

หากพูดถึงเจ้าพ่อหนังคริสต์มาส แน่นอนว่าชื่อของ  ทิม เบอร์ตัน (Tim Burton) ต้องเป็นหนึ่งในนั้น เขามักมาพร้อมกับเหล่าตัวละครรูปลักษณ์ประหลาด เอกลักษณ์การออกแบบฉากและมุมกล้องให้ดูบิดเบี้ยว สไตล์งานศิลปะ Expressionism ที่แตกต่างจากหนังทำเงินทั่วไปอย่างชัดเจนมาก และมากกว่านั้นคือ เนื้อเรื่องที่ว่าด้วยตัวละครที่มีความแปลกแยกไปจากตัวละครอย่างที่หนังทั่วๆ ไปควรจะเป็น…เพราะนี้ล่ะคือสไตล์หนังฉบับ ทิม เบอร์ตัน

ทิม เบอร์ตัน
ภาพ : www.facebook.com/TimBurtonArt

เมื่อความแตกต่าง แปลกแยกไปจากความคุ้นชินปกติคือสไตล์ของเขา คริสต์มาสที่ปะยี่ห้อ ทิม เบอร์ตัน จึงไม่ใช่สีลูกกวาดหวานแหววแต่อย่างใด ไม่ว่าจะเป็น ชายมือกรรไกรผู้แสนเปลี่ยวเหงา Edward Scissorhands (ฉายปี ค.ศ.1990) บุรุษรัตติกาล Batman Returns (ฉายปี ค.ศ. 1992) และ ฝันร้ายก่อนค่ำคืนคริสต์มาส The Nightmare before Christmas (ฉายปี ค.ศ.1993)

ทั้งสามเรื่องนี้เหตุการณ์ในเรื่องเกิดขึ้นในวันคริสต์มาสทั้งสิ้นและสามารถทลายสถิติของ Box office จนเป็นอีกตำนานคริสต์มาสเลยก็ว่าได้ แต่คริสต์มาสของทิม เบอร์ตัน ที่ไม่ได้บอกเล่าในฐานะเทศกาลแห่งความสุข ทว่าลึกๆ แล้วเขากลับอาศัยค่ำคืนแห่งความสุข บอกเล่าความระทม และความคาดหวังของเหล่าตัวละครที่สังคมต่างก็มองว่าคือผู้แปลกประหลาด

ทิม เบอร์ตัน

“Edward Scisorhand” ชายมือกรรไกรผู้แสนเปลี่ยวเหงา

คริสต์มาสและหิมะในฐานะความทรงจำ นับเป็นเรื่องแรกของไตรภาคคริสต์มาสของทิม เบอร์ตัน ที่จะทำให้ลืมเทศกาลเฉลิมฉลองแลกของขวัญไปได้เลย เพราะหนังเรื่องนี้แม้จะมีฉากหลังอยู่ในช่วงคริสต์มาส แต่ทิม เบอร์ตัน กลับสร้างโศกนาฏกรรมความรักหนุ่มสาวขึ้นมาแทนเสียงหัวเราะ และทำให้ทั้งโลกต้องจารึกชื่อของ เอ็ดเวิร์ด มือกรรไกรไว้แทนซานต้า

ผมฟูฟ่องเหมือนโดนไฟช๊อต สวมชุดหนังดำเงาทั้งชุด มือทั้งสองข้างเป็นกรรไกร ทั้งหมดนี้คือร่างกายของ “เอ็ดเวิร์ด” เด็กหนุ่มที่ถือกำเนิดจากจักรกลโรงงานของนักวิทยาศาสตร์ชราสติเฟื่อง เหตุการณ์ทำให้เอ็ดเวิร์ดตกอยู่ในฐานะมนุษย์ประดิษฐ์ที่สร้างไม่เสร็จ และมีมือกรรไกร อีกทั้งยังตกเป็นตัวประหลาดที่ถูกสังคมหวาดระแวง (แม้เขาจะพยายามพิสูจน์ว่าไม่ใช่)

จุดเปลี่ยนสำคัญของเรื่องอยู่ที่เหตุการณ์ที่เมื่อเอ็ดเวิร์ดไปสร้างบาดแผลให้กับเด็กชายคนของครอบครัวที่รับเอ็ดเวิร์ดมาอุปถัมภ์ แผลนั้นยิ่งทำให้สังคมมองเอ็ดเวิร์ดว่าเป็นปีศาจเนรคุณทันทีและขับไล่เอ็ดเวิร์ดกลับไป ณ คฤหาสน์ร้างที่เขาจากมา ในค่ำคืนของวันคริสต์มาส ทั้งๆ ที่ก่อนวันคริส์มาสเพียงไม่กี่ชั่วโมงคือเวลาที่มีความสุขที่สุดของเอ็ดเวิร์ด ขณะกำลังสลักน้ำแข็งเพื่อแต่งบ้านให้ครอบครัวที่เหลืออยู่ของเขา

และนั่นจึงทำให้ในค่ำคืนคริสต์มาสของทุกปี เอ็ดเวิร์ดจะใช้มือกรรไกรแหลมคมของเขาขูดน้ำแข็งก้อนใหญ่ให้กลายเป็นเกล็ดน้ำแข็งลอยลมออกมาเป็นหิมะปกคลุมเมือง เพื่อรำลึกถึงความทรงจำในค่ำคืนคริสต์มาสที่มีทั้งความเศร้าและความรักอยู่ในนั้น

ทิม เบอร์ตัน

“BATMAN Returns” กับเหตุจลาจลวันคริสต์มาส

นี่คือตำนานแบทแมนที่ใครๆ ต่างก็บอกว่า Dark ทั้งด้วยเนื้อหา และการออกแบบภาพโทนมืดหม่น เต็มไปด้วยความรุนแรง ในภาคนี้แบทแมนต้องเจอศัตรูตัวร้ายสุดโหดทั้ง มนุษย์เพนกวิน และ นางแมวป่าแคทวูแมน ที่ออกมาทำลายความสงบในวันคริสต์มาสของชาวเมืองก็อตแธ่ม

ก็อตแธ่มเมืองที่แฟนหนังแบทแมนรู้กันดีว่าเต็มไปด้วย มาเฟีย เหล่าร้าย การคอรัปชั่น แถมระบบความยุติธรรมยังมีปัญหา จนเกิดอัศวินรัตติกาลอย่างแบทแมนขึ้นมา ในภาคนี้น่าสนใจที่หนังเลือกจะเล่าเรื่องของแบทแมน เพนกวิน แคทวูแมน เท่าๆ กัน และทั้งสามกำลังจะเล่าความอลวนในค่ำคืนวันคริสต์มาสของก็อตแธ่มร่วมกัน

สำหรับ มนุษย์เพนกวิน เขาคือเด็กรูปร่างผิดปกติที่พ่อแม่ตัดสินใจเอามาทิ้งในท่อระบายน้ำ และเติบโตขึ้นมาในท่อโสโครกนั่น ความฝันของเขาคือการมี “ชื่อ” แบบคนทั่วไป รวมทั้งอยากพบพ่อแม่แบบครอบครัวอื่น อยากเดินบนถนนร่วมกับชาวเมืองอย่างไม่เป็นตัวประหลาด และวันคริสต์มาสนี้เขาจะมาทวงความเป็นมนุษย์ของเขากับชาวเมืองก็อตแธ่ม

ทิม เบอร์ตัน

แคทวูแมน เธอคือเลขาสาวที่ถูกเจ้านายข่มเหงจนถึงขั้นพลัดตกตึก เพราะเธอรู้ความลับบริษัท หลังจากเธอรอดมาได้ เธอก็พร้อมที่จะทวงคืนความยุติธรรม เธอกลับมาในชุดหนังรูปทรงคล้ายแมวในช่วงวันคริสต์มาส วันที่ชาวเมืองต้องการอยู่กับ ครอบครัว วันที่ไม่ว่าชายหนุ่มหรือหญิงสาวอยากพาคนรักไปเดท วันที่เมืองควรเงียบสงบเรียบร้อย แต่นั้นไม่ใช่สำหรับแคทวูแมนหญิงสาวผู้ถูกกดขี่

แน่นอนว่าหนังแบทแมน แบทแมนย่อมต้องสยบเหล่าร้าย แคทวูแมน ไม่ได้ถูกมองในฐานะเหยื่อ แต่แบทแมนมองเห็นเธอเป็นอาชญากรที่ออกมาก่อความไม่สงบในวันคริสต์มาส เพนกวินก็เช่นกัน สุดท้ายฮีโร่อย่างแบทแมนต้องเป็นพระเอก แบทแมนต้องเรียกคืนความสุขในวันคริสต์มาสให้ชาวเมือง

ทิม เบอร์ตัน

“The Nightmare before Christmas” เพราะคริสต์มาสของเราต่างกัน

แม้ไม่ใช่การกำกับของทิม เบอร์ตัน แต่ The Nightmare before Christmas ก็เป็นมาสเตอร์พีชเมื่อเราเอ่ยถึง ทิม เบอร์ตัน The Nightmare before Christmas เป็นโปรเจ็คต์ที่ทิม เบอร์ตัน มีส่วนในการทำงานทั้งเขียนเรื่องและสร้างตัวละคร (กำกับโดย Henry Selick) และทำให้เรื่องนี้แทบจะเข้ามาแทนตำนานคลาสสิกของซานต้าเลยก็ว่าได้

The Nightmare before Christmas ได้เล่าถึงโลกที่มีภพภูมิต่างๆ ที่ไม่ใช่นรก โลก สวรรค์ แต่เป็น โลก คริสต์มาส และฮาโลวีน หนังเล่าเรื่องของ แจ็ค ราชันฟักทองผู้นำในการจัดงานฮาโลวีน โลกของแจ็คเต็มไปด้วยผีสางที่คอยปฏิบัติการส่งความสยองของวันฮาโลวีน แจ็คได้ไปพบโลกของวันคริสต์มาสที่เต็มไปด้วยไฟประดับ เอลฟ์ ซานต้า กวางเรนเดียร์ ของขวัญ และความสนุกสนานต่างจากโลกสีทึมๆ ของแจ็ค แจ็คเกิดไอเดียอยากเป็นคนจัดงานคริสต์มาสให้กับโลกมนุษย์บ้าง แน่นอนว่านั่นย่อมนำไปสู่นิยามใหม่ของค่ำคืนคริสต์มาสที่ซานตาคลอสจะเปลี่ยนจากชายแก่ร่างท้วมเป็นโครงกระดูกในสูทสีดำผู้สุภาพอ่อนโยน

แจ็คพยายามอธิบายเพื่อนผีในโลกของแจ็คให้เข้าใจคำว่าคริสต์มาส และสั่งการให้สร้างของขวัญชิ้นพิเศษ เช่น กบ หัวกะโหลก ของเน่าผูกโบว์ จัดเต็มด้วยกวางเรนเดียร์จากกระดูกกวาง และแม้ซอลลี่ผีสาวที่เป็นเหมือนแฟรงเกนสไตล์เวอร์ชั่นตุ๊กตาผ้าคอยห้ามปราม แต่แจ็คไม่เชื่อว่าตนจะสร้างความสุขในวันคริสต์มาสไม่ได้ สุดท้ายแจ็คก็เหาะไปแจกของขวัญ แต่ผิดคาด ไม่มีใครไม่กลัวโครงกระดูกเหาะได้ มนุษย์พยายามกำจัดแจ็ค แต่เพราะแจ็คเป็นผี แจ็คจะตายซ้ำซ้อนไม่ได้ จุดจบของแจ็คจึงไม่โดดเดี่ยวนัก เพราะมีซอลลี่เคียงข้างในโลกที่มีแต่เราและเหล่าผองผี

แม้ฟังดูโรแมนติกพาฝัน แต่สุดท้ายสไตล์เรื่องของทิม เบอร์ตันก็ยังคงสะกิดให้เราเห็นว่า ตัวประหลาดมัน ผิดปกติ และยากที่จะยอมรับ

Fact File

สนใจเบื้องหลังการทำงานภาพยนตร์และแนวคิดของทิม เบอร์ตัน สามารถคลิกชมนิทรรศการออนไลน์ของ MoMA ได้ที่ https://www.moma.org/interactives/exhibitions/2009/timburton/


Author

อชิตพนธิ์ เพียรสุขประเสริฐ
มนุษย์ผู้ตกหลุมรักในการสร้างสรรค์ ภาพ เสียง แสง การเคลื่อนไหว นามธรรม และ การขีดเขียน