ธรรมชาติและโลกนิทาน ของ เบียทริกซ์ พอตเตอร์ The Tale of Peter Rabbit
Faces

ธรรมชาติและโลกนิทาน ของ เบียทริกซ์ พอตเตอร์ The Tale of Peter Rabbit

Focus
  • เบียทริกซ์ พอตเตอร์ (Beatrix Potter) เป็นนักเขียนหญิงและนักวาดภาพนิทานเด็กชาวอังกฤษ ผู้ให้กำเนิดตัวละคร ปีเตอร์ แรบบิท (Peter Rabbit) ในนิทานคลาสสิกของเด็กๆ ทั่วโลกเรื่อง The Tale of Peter Rabbit
  • The Tale of Peter Rabbit มีจุดเริ่มจากภาพวาดในกระดาษจดหมายที่เบียทริกซ์เขียนขึ้นในปี พ.ศ. 2436 และได้รับการรวมเล่มตีพิมพ์เป็นนิทานในอีก 9 ปีต่อมา
  • ห้องเรียนธรรมชาติและพื้นฐานด้านการศึกษาในยุควิคตอเรียนมีผลอย่างมากต่อความคิดและงานวาดภาพของ เบียทริกซ์ พอตเตอร์ ผู้ซึ่งใช้ครอบครัวกระต่ายและเหล่าสรรพสัตว์มาเป็นตัวเอกในนิทาน

เบียทริกซ์ พอตเตอร์ (Beatrix Potter) เป็นนักเขียนหญิงและนักวาดภาพนิทานเด็กชาวอังกฤษ ผู้ให้กำเนิดตัวละคร ปีเตอร์ แรบบิท (Peter Rabbit) ในนิทานคลาสสิกเรื่อง The Tale of Peter Rabbit ซึ่งมีจุดเริ่มจากภาพวาดในกระดาษจดหมายที่เธอเขียนขึ้นในปี พ.ศ. 2436 และได้รับการรวมเล่มตีพิมพ์ในอีก 9 ปีต่อมา ส่วนปัจจุบันคาแรกเตอร์กระต่าย Peter Rabbit ได้แตกไลน์ออกมาเป็นผลิตภัณฑ์มากมาย รวมทั้งนำไปสร้างเป็นการ์ตูน และหนังสือเรื่องใหม่ที่ยังคงเน้นโลกของสรรพสัตว์

ปีเตอร์ แรบบิทและเรื่องราวครอบครัวของเขาไม่ได้เป็นเพียงนิทานที่ครองใจเด็กทั่วโลกมากว่า 100 ปี แต่นี่คือมรดกชิ้นสำคัญทีเกิดขึ้นจากการวางรากฐานการศึกษาให้แก่เด็กๆ ในสมัยวิคตอเรียน ทั้งยังเป็นต้นแบบของนิทานสมัยใหม่ในศตวรรษที่ 20 ที่ใช้โลกของสรรพสัตว์ ลักษณะนิสัยของสัตว์แต่ละชนิดมาแทนสังคมมนุษย์

เบียทริกซ์ พอตเตอร์
เด็กหญิงเบียร์ทริกซ์ในวัยเด็กแลเพื่อนของเธอ (ภาพ: Victoria and Albert Museum )

เด็กหญิงในห้องเรียนธรรมชาติ

เบียทริกซ์ พอตเตอร์ เกิดในชนชั้นผู้ดีของอังกฤษ ในยุคสมัยนั้นตรงกับยุควิคตอเรียน ครอบครัวผู้ดีมีอันจะกินมักจะส่งเด็กชายไปเรียนโรงเรียนประจำ ส่วนเด็กผู้หญิงก็จ้างครูมาสอนที่บ้าน เด็กหญิงเบียทริกซ์ พอตเตอร์ก็เช่นกัน นอกจากเธอจะมีครูมาสอนวิชาการและวิชาวาดรูปให้ถึงบ้านแล้ว การที่ครอบครัวของเธอเป็นเจ้าของที่ดินติดเนินเขาในเขต Lake District ทางตะวันตกเฉียงเหนือของอังกฤษซึ่งอยู่ติดกับชายแดนประเทศสก็อตแลนด์ ทำให้เขต Lake District กลายเป็นทั้งบ้านพักตากอากาศในช่วงฤดูร้อน และกลายเป็นห้องเรียนธรรมชาติขนาดใหญ่ของเด็กหญิงเบียทริกซ์

เบียทริกซ์ พอตเตอร์
ภาพวาดกระต่าย Peter Piper กำลังนอนใกล้เตาผิง (ภาพ: Victoria and Albert Museum )

ที่ Lake District เด็กหญิงเบียทริกซ์ไม่มีเพื่อนเล่นวัยเดียวกัน เธอมีแค่สัตว์เลี้ยงและสัตว์ป่าตัวน้อยๆ ในธรรมชาติเป็นเพื่อนเล่น และแล้วเบียทริกซ์เริ่มเลี้ยงกระต่ายตัวแรกตอนเธออายุ 10 ขวบ เธอตั้งชื่อว่า เบนจามิน เบาน์เซอร์ (Benjamin Bouncer) เมื่อเบนจามินลาโลกไป เธอก็มีกระต่ายตัวที่สอง และเรียกกระต่ายของเธอว่า ปีเตอร์ ไพเพอร์ (Peter Piper)

เบียทริกซ์ พอตเตอร์
กระต่ายปีเตอร์ผู้ชอบกินแครอท (ภาพจากปกนิทาน The Tale of Peter Rabbit )

เจ้าปีเตอร์ ไพเพอร์ เป็นกระต่ายป่าพันธุ์หูยาวที่อยู่ตามชนบทอังกฤษ ซึ่งต่อมาเจ้าปีเตอร์ตัวนี้ก็ได้กลายมาต้นแบบ ตัวละคร ปีเตอร์ กระต่ายน้อยแสนซนในนิทานสุดอมตะ “The Tale of Peter Rabbit”

การไม่ได้เข้าโรงเรียนและอยู่ท่ามกลางธรรมชาติ บวกกับการได้รับอิสระจากพ่อแม่ให้เดินลัดเลาะไปตามสายน้ำลำธาร และสถานที่รอบๆ บ้านทั้งที่ Lake District และ บ้านของคุณปู่คุณย่าที่ แคมฟิลด์ เพลซ (Camfield Place) แคว้นเฮิร์ตฟอร์ดเชียร์ (Hertfordshire) ทำให้เบียทริกซ์ชอบที่จะสังเกตธรรมชาติรอบตัว และเมื่อเธอได้มาคลุกคลีกับกระต่าย เธอก็เริ่มสังเกตและจดจำอริยาบถของกระต่าย พร้อมสเก็ตช์ภาพลายเส้นเลียนแบบการเคลื่อนไหวของมัน

นิสัยชอบวาดภาพลายเส้นด้วยดินสอของเบียทริกซ์นี่เอง ส่งผลให้เธอได้วาดภาพประกอบนิทานที่เธอแต่งเองในเวลาต่อมา โดยเบียทริกซ์ได้นำภาพสัตว์ต่างๆที่เธอวาดไว้ มาสร้างเป็นตัวละคร แต่งเป็นเรื่องสอนใจสนุกๆ ไว้อ่านเล่น ในแนวคล้ายๆ กับนิทานอีสป ที่เด็กในอังกฤษและยุโรปสมัยนั้นได้ยินได้ฟังกันมา

เบียทริกซ์ พอตเตอร์
แคมฟิลด์ เพลซ (ภาพจาก : househistree.com )

เบียทริกซ์ กับตำแหน่งนักวิจัย “เห็ด” และ “รา”

อีกหนึ่งสิ่งที่เบียทริกซ์เรียนรู้จากห้องเรียนในธรรมชาติและฝึกฝนด้วยตนเองจนกลายเป็น ผู้เชี่ยวชาญ ก็คือเรื่อง “เห็ด” และ “รา” แต่ด้วยความเป็นผู้หญิงและไม่ได้เข้าโรงเรียนเรียนด้านนี้โดยเฉพาะ ทำให้ความรู้เรื่องเห็ด รา ที่เธอค้นพบไม่ได้รับการยอมรับ แม้จะมีญาติผู้ใหญ่อย่าง เซอร์เฮนรี่ เอนฟิลด์ รอสโก นักเคมีที่เป็นคุณลุงของเธอช่วยส่งเสริม หรือแม้คุณลุงจะพยายามฝากเธอเข้าเรียนในสถาบันอุทยานพฤกษศาสตร์หลวงที่กรุงลอนดอน แต่สุดท้ายเธอก็ไม่ได้เรียน และไม่มีใครสนใจเธอ เหตุเพียงเพราะเธอเป็น ผู้หญิง และผู้หญิงยุคนั้นก็ไม่ออกไปเรียนในโรงเรียนกันหรอก

ภาพวาดเห็ดของเบียทริกซ์ (ภาพ: Victoria and Albert Museum )

จากการเฝ้าสังเกตและวาดภาพลายเส้นเห็ดต่างๆ ที่เธอเห็นในป่า พร้อมทั้งใส่ใจศึกษาข้อมูลทางวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับเห็ดราอย่างจริงจัง เบียทริกซ์เป็นผู้ตั้งสมมุติฐานว่า “ไลเคนเป็นสิ่งมีชีวิตที่มีความสัมพันธ์แบบเกื้อกูลระหว่างรากับสาหร่าย”

ตอนช่วงอายุ 30 เบียทริกซ์เริ่มมีงานวิจัยเกี่ยวกับเห็ดรา แต่งานวิจัยของเธอก็ถูกเมินจากสมาคม Linnean Society of London ที่สนับสนุนการวิจัยด้านวิทยาศาสตร์ในยุคนั้น จนเวลาผ่านไปกว่า 100 ปี เมื่อปี ค.ศ.1997 ทางสมาคมจึงได้ประกาศขออภัยในความผิดพลาด และยอมรับ เบียทริกซ์ พอตเตอร์ ในฐานะนักราวิทยา (Mycologist and scientific artist) ปัจจุบันต้นฉบับภาพเห็ดราหลายร้อยภาพ ของเบียทริกซ์ พอตเตอร์ ซึ่งเป็นภาพวาดลายเส้นลงสีน้ำอย่างละเอียดสวยงามเหมือนจริงราวภาพถ่าย ถูกเก็บรักษาไว้ใน  Armitt Library and Museum เมืองแอมเบิลไซด์ (Ambleside) เขต Lake District

ภาพวาดเห็ดของเบียทริกซ์ (ภาพ: Victoria and Albert Museum )

วิคตอเรียน ยุคแห่งความเฟื่องฟูของนิทานและจินตนาการ

ความคิดความอ่านของ เบียทริกซ์ พอตเตอร์ เป็นผลโดยตรงของการหล่อหลอมด้านการศึกษาของยุคสมัยวิคตอเรียน  ของสหราชอาณาจักร (ค.ศ. 1837-1901) ซึ่งเป็นยุคสมัยสมเด็จพระราชินาถวิคตอเรียครองบัลลังก์จักรวรรดิอังกฤษ และมีเมืองขึ้น อาณานิคมทุกทวีปทั่วโลก ทั้งยังเป็นยุคเฟื่องฟูของศิลปวัฒนธรรมและเทคโนโลยีของอังกฤษที่เป็นผลพวงของการปฏิวัติอุตสาหกรรม

สมัยวิคตอเรียน ถือได้ว่าเป็นยุคแรกของสังคมอังกฤษที่เริ่มให้ความสำคัญกับการศึกษาและช่วงชีวิตวัยเด็ก  อันเป็นอิทธิพลจากการขึ้นครองราชย์ของเจ้าหญิงวิคตอเรียตั้งแต่อายุน้อย และการที่พระองค์ทรงมีพระราชโอรสและพระราชธิดาถึง ถึง 9 พระองค์ กับพระสวามีสุดที่รัก “เจ้าชายอัลเบิร์ต”

เบียทริกซ์วาดรูปธรรมชาติประกอบภาพถ่ายครอบครัว ( ภาพ : Victoria and Albert Museum )

ยุควิคตอเรียนถือได้ว่าเป็นยุครุ่งเรืองของการสร้างจินตนาการเพื่อความบันเทิงของเด็กๆ โดยราวปี ค.ศ.1880 หรือ14 ปี หลังจากเบียทริกซ์เกิด สังคมอังกฤษมีค่านิยมและกฏหมายที่ต้องส่งเด็กชายไปโรงเรียน โดยมี “โรงเรียนประจำ” สำหรับผู้มีอันจะกินเปิดสอนเด็กแบบต้องกินนอนอยู่โรงเรียน ซึ่งต่อมาได้กลายเป็นต้นแบบโรงเรียนประจำ (Boarding School) นอกจากนี้ยังมี “โรงเรียนวัด” หรือ โรงเรียนตามโบสถ์ของศาสนาคริสต์ (Church School) ที่เปิดสอนความรู้ให้กับเด็กทั่วไป และเมื่ออังกฤษแผ่ขยายการปกครองไปค่อนโลก บวกกับผลพวงจากการปฏิวัติอุตสาหกรรมที่ทำให้สามารถผลิตสิ่งพิมพ์ได้จำนวนมาก นิทานของอังกฤษจึงได้กลายเป็นนิทานของสากลไปด้วย

นอกจากนี้นิทานเด็กในยุควิคตอเรียนยังได้กลายเป็นต้นแบบนิทานในยุคสมัยใหม่ศตวรรษที่ 20   คือมีทั้งการสอดแทรกคติคำสอนต่างๆ ไว้ในนิทาน และนิยมที่ใช้ตัวละครเอกเป็นสัตว์ อย่าง Black Beauty, Treasure Island และนิทานสอนใจบวกกับการผจญภัยในโลกจินตนาการสุดพิสดารอย่าง Alice’s Adventures in Wonderland เรื่องราวของสาวน้อยอลิซ เขียนโดย ลิวอิส แครอล ตีพิมพ์ครั้งแรกในเดือนพฤศจิกายนปี ค.ศ. 1865 เป็นเวลา 8 เดือนก่อนเบียทริกซ์ พ็อตเตอร์ ลืมตาดูโลก

งานออกแบบปกของเบียทริกซ์ (ภาพ : Victoria and Albert Museum )

ทำไม “The Tale of Peter Rabbit” จึงครองใจเด็กทั่วโลก

The Tale of Peter Rabbitครองใจเด็กทั่วโลกด้วยความเรียบง่ายของเนื้อเรื่อง ไม่ต้องมีอะไรซับซ้อน เป็นเพียงการเล่าเรื่องราวสั้นๆ ของกระต่ายน้อยชื่อ ปีเตอร์ หรือ Peter Rabbit และครอบครัวของเขาที่แสนวุ่นวาย ซุกซน และชอบแอบไปกินแครอทในสวนของนายแมคเกรกเกอร์ (Mr. McGregor) ผู้ได้ฉายาว่า “ลุงแม็กใจร้าย” เพราะเกือบจะจับPeter Rabbitไปทำเป็นขนมพายซะแล้ว

ปกแรกของ The Tale of Peter Rabbit

ความเป็นสากลของตัวละครครอบครัวกระต่ายน้อยปีเตอร์ เป็นเสมือนภาพจำลองของเด็กๆ ที่ใช้ชีวิตอยู่ท่ามกลางธรรมชาติ ตัวละคร Peter Rabbit เป็นตัวแทนเด็กน้อยซุกซน ที่มีแม่คอยพร่ำบ่นไม่ต่างจากชีวิตเด็กๆ ทั่วไปบนโลกนี้ที่มีความเบื่อหน่ายยามแม่บ่น และนั่นจึงทำให้เด็กทั่วโลกที่แม้จะต่างภาษาสามารถเข้าใจเรื่องนี้ได้อย่างสนุกสนาน บวกกับภาพประกอบสีน้ำสวยงาม ผลงานการวาดภาพประกอบโดยเบียทริกซ์ พ็อตเตอร์

แต่ก่อนที่ต้นฉบับ The Tale of Peter Rabbit จะได้ตีพิมพ์ เบียทริกซ์ พ็อตเตอร์ก็ต้องใช้เวลาพิสูจน์ตัวเองอยู่นาน แถมถูกปฏิเสธจากสำนักพิมพ์ถึง 6 แห่ง จนต้องมาพิมพ์เองและเผยแพร่เองไปก่อน หลังจากนั้นหนึ่งปีจึงมีนายทุนใจกล้านำมาพิมพ์เพิ่มเป็นหลักหมื่นเล่ม

คุณแม่ผู้มักใส่ใจกับลูกๆ กระต่าย

การเดินทางของ นิาน “The Tale of Peter Rabbit” เริ่มต้นจาก เบียทริกซ์ พ็อตเตอร์ ในวัยสาว เธอชอบเขียนเรื่องและภาพประกอบสีน้ำ โดยเรื่องราวของกระต่ายปีเตอร์ ถูกส่งเป็นเรื่องสั้นๆ ทางจดหมายไปให้เด็กชาย 5 ขวบ ลูกของครูพี่เลี้ยงเก่าแก่ของเธอในปี ค.ศ. 1893 และครูพี่เลี้ยงซึ่งเห็นแววของลูกศิษย์มาแต่เล็กแต่น้อย ก็เขียนจดหมายกลับมาเพื่อกระตุ้นให้เบียทริกซ์เขียนนิทานจบจบเรื่องสมบูรณ์เพื่อตีพิมพ์เผยแพร่ สำหรับสถานที่ที่เธอใช้เขียน The Tale of Peter Rabbit ก็คือ Camfield Place บ้านที่เธอรักมากเพราะเป็นที่ที่มีความทรงจำในวัยเด็กและหว่างเธอและธรรมชาติอันแสนงดงาม

เบียทริกซ์ พ็อตเตอร์ใช้ภาพวาดต้นฉบับเดิมของเธอจากจดหมายที่มีสัตว์ต่างๆ และเขียนเพิ่มเติมจนได้นิทานสอนใจว่าด้วยครอบครัวกระต่ายน้อย จากนั้นก็ส่งงานไปเสนอสำนักพิมพ์ถึง 6 แห่ง แต่กลับถูกปฏิเสธทั้งหมดด้วยเหตุว่า “ภาพประกอบไม่ดึงดูดพอ”

The Tale of Peter Rabbit

ในปี ค.ศ. 1901 จักรพรรดินีวิคตอเรียเสด็จสวรรคต สิ้นสุดยุควิคตอเรียน แต่สำหรับ เบียทริกซ์ พอตเตอร์ นี่กลับเป็นปีที่เริ่มต้นสู่อาชีพนักเล่านิทานอย่างจริงจัง เมื่อเธอเอาภาพประกอบที่ถูกตำหนินั้นมาแก้ไข ลงสีน้ำและวาดเพิ่มเติมให้ดึงดูด พร้อมตั้งชื่อเรื่องว่า “The Tale of Peter Rabbits” และจัดพิมพ์เอง 250 เล่ม ซึ่งก็ได้รับเสียงตอบรับจากเด็กๆ กลุ่มเป้าหมายดีเกินคาด

หนึ่งปีผ่านไป สำนักพิมพ์ Frederick Wane & Co ขอเข้ามาเป็นนายทุนผู้จัดพิมพ์และทำการจัดจำหน่าย โดยฉบับตีพิมพ์ครั้งแรกมีจำนวนมากถึง 28,000 เล่ม และครอบครัวกระต่ายก็ขายหมดเกลี้ยงภายในปีเดียวกัน

The Tale of Peter Rabbit
ภาพวาดการศึกษาผึ้งและแมลงของเบียทริกซ์ (ภาพ: Victoria & Albert Museum )

โรงเรียนธรรมชาติของเบียทริกซ์

“โชคดีเหลือเกินที่ฉันไม่เคยถูกส่งเข้าโรงเรียน ไม่อย่างนั้นฉันคงถูกโรงเรียนขัดเอาธรรมชาติและความสร้างสรรค์ออกหมดจนไม่เหลืออะไรเลย”

เบียร์ทริกซ์เคยกล่าวไว้ และเราก็ได้เห็นว่าเธอเก็บเกี่ยวความสวยงามของธรรมชาติมาใส่ไว้ในนิทานของเธอผ่านสรรพสัตว์น้อยใหญ่ที่เธอวาด และธรรมชาติก็ไม่ได้อยู่กับเบียทริกซ์แค่ในวัยเด็กเท่านั้น ชีวิตรักอันน่าเศร้าของเธอเป็นอีกเหตุผลที่ทำให้เธอหมกตัวอยู่ในอ้อมกอดของธรรมชาติ

เบียทริกซ์ แหกค่านิยมของตระกูลผู้ดี ด้วยการหมั้นหมายกับ นอร์แมน วอร์น เจ้าของสำนักพิมพ์ Frederick Wane & Co ซึ่งถือว่าอยู่ในฐานะทางเศรษฐกิจและสังคมที่ต่ำกว่าเธอ ในสังคมอังกฤษสมัยนั้นถือว่าวอร์นเป็นแค่ “นักธุรกิจ”  ไม่ใช่ “สุภาพบุรุษ” ชาติตระกูลดีมีมรดกตกทอดแต่อย่างใด

The Tale of Peter Rabbit
แสตมป์ที่รวมตัวเอกจากนิทาน

แต่เรื่องก็ยังไม่น่าเศร้าเท่าเหตุการณ์ต่อมา เมื่อวอร์นเสียชีวิตด้วยโรคโลหิตจาง ก่อนที่ทั้งคู่จะได้แต่งงานกัน ความเสียใจนั้นทำให้เบียทริกซ์ยิ่งฝังตัวกับธรรมชาติ และใช้เวลากว่า 20 ปีหลังจากนั้นสร้างนิทานเด็กพร้อมวาดภาพประกอบสีสันสวยงามกว่า 20 เรื่อง เธอใช้ตัวละครเอกเป็นสัตว์อย่าง “กระรอกน้อยนัตคิน”  (The Tale of Sqirrel Nutkin) ตีพิมพ์ครั้งแรกปี 1903  “แม่เป็ดเจอไมมา”  (The Tale of Jemima Pudle-Duck Nutkin) ตีพิมพ์ครั้งแรกปี 1908

ผลตอบแทนจากค่าลิขสิทธิ์เรื่องและตัวละคร ที่ถูกเอาไปทำของเล่นเด็กหรือตัวตุ๊กตา  ทำให้สาวโสดหม้ายขันหมากอย่างเธอ เลี้ยงดูตัวเองได้ ต่อมาในปี ค.ศ. 1905  เพียง 3 ปีหลังจาก The Tale of Peter Rabbit กลายเป็นนิทานที่ใครๆ ก็ต้องอ่าน และติดอันดับขายดีตลอดกาล เบียทริกซ์ก็ตัดสินใจลงทุนซื้อบ้านและที่ดินในฟาร์มที่ชื่อ ฮิลล์ ทอป ฟาร์ม (Hill Top Farm) และใช้ชีวิตอยู่ที่นั่น

เบียทริกซ์ในวัย 47 ปี ในฐานะนักเขียนและสาวโสดเขียนนิทานและเลี้ยงแกะในฟาร์มแบบปล่อยที่ฮิลล์ ทอป ฟาร์ม และในปีนั้นเองเธอได้แต่งงานกับวิลเลียม ฮิลลิส (William Heelis) นักกฏหมายในท้องถิ่น โดยเหตุผลของความรักครั้งนี้คือการเป็นคู่คิดและเข้าใจวิถีชีวิตอิงธรรมชาติเหมือนกัน

The Tale of Peter Rabbit
ภาพร่างที่ถูกเก็บไว้ในพิพิธภัณฑ์ Victoria and Albert Museum

Lake District ดินแดนที่เปี่ยมไปด้วยความฝันและจินตนาการ

Lake District บ้านพักตากอากาศในช่วงฤดูร้อนของครอบครัวพอตเตอร์ เป็นอีกสถานที่หนึ่งที่มีอิทธิพลทางความคิดต่อเบียทริกซ์ โดยเฉพาะในช่วงวัยเด็กที่เธอมักจะมาวิ่งเล่นที่กลางโรงเรียนธรรมชาติที่นี่ โดยหลังจากที่เธอมีเงินจากการขายลิขสิทธิ์นิทาน เบียทริกซ์ก็ได้กว้านซื้อทุ่งหญ้าอันกว้างใหญ่รอบบ้าน และมีเจตนาให้ธรรมชาติเป็นครูกับชนรุ่นหลัง เช่นเดียวกับที่เธอเติบโตมา

แนวคิดซื้อที่ดินมาอนุรักษ์เป็นพื้นที่เรียนรู้กับธรรมชาตินี้ เป็นเรื่องแปลกใหม่ในสมัยวิคตอเรียน ซึ่งจักรวรรดิอังกฤษและชาวโลกกำลังพุ่งสุดตัวไปกับความเจริญก้าวหน้าของเทคโนโลยีเครื่องจักรกับสังคมอุตสาหกรรมที่มาแทนที่กสิกรรมดั้งเดิม

The Tale of Peter Rabbit

เบียทริกซ์เสียชีวิตโดยไม่มีทายาทในวัย 77 ปี และเธอได้เขียนพินัยกรรมอุทิศที่ดินทั้งหมดของเธอใน Lake District ให้อยู่ในความดูแลของ องค์กรพิทักษ์ที่ดินและเขตประวัติศาสตร์ของชาติแห่งอังกฤษ (National Trust) โดยบรรยากาศของ Lake District นั้นเป็นทุ่งหญ้าสลับกับเนินเขา

ปัจจุบันทั้งตัวบ้าน ทุ่ง และธรรมชาติได้รับการอนุรักษ์ไว้ตามเจตจำนงของเจ้าของเดิมทุกประการ ส่วนปัจจุบันได้เปิดเป็นพื้นที่อนุรักษ์และเปิดให้นักท่องเที่ยวเยี่ยมชม นอกจากธรรมชาติสวยงามแล้วที่นี่ยังมีการทำฟาร์มเลี้ยงสัตว์แบบดั้งเดิมด้วยวิธีธรรมชาติอย่างที่เบียร์ทริกซ์เคยทำ นั่นคือการปล่อยฝูงแกะหากินเองในเขตทุ่งหญ้าและไม่มีคอกกักขังพวกมันไว้

ที่ Lake District เป็นภาพการใช้ชีวิตของเบียร์ทริกซ์ แต่สำหรับต้นฉบับภาพวาดประกอบ งานเขียน ทั้งนิทานและภาพวาดทางวิทยาศาสตร์ของเธอถูกเก็บไว้ใน Beatrix Potter Gallery สถานที่แสดงงานถาวรที่เปลี่ยนตึกเก่าสมัยศตวรรษที่ 17 ซึ่งเป็นสำนักงานกฏหมายเดิมของสามีเธอให้เป็นแกลเลอรี ท่ามกลางบรรยากาศชนบทอังกฤษ และอยู่ในความดูแลของ National Trust เช่นกัน

ปัจจุบัน Beatrix Potter Gallery เปิดรับนักท่องเที่ยวให้เข้าเยี่ยมชมผลงานต้นฉบับและอุปกรณ์ต่างๆ ที่เธอใช้สร้างสรรค์ผลงาน  และอีกส่วนหนึ่งจัดแสดงที่ Hill Top Farm บ้านสวนสไตล์อิงลิชคอตเทจที่เบียทริกซ์ ใช้ชีวิตสร้างงานจนลมหายใจสุดท้าย และเป็นต้นกำเนิดนิทานคลาสสิกของโลก…The Tale of Peter Rabbit

อ้างอิง


Author

ทศพร กลิ่นหอม
นักเขียนสายบันเทิง สังคม ท่องเที่ยว และไลฟ์สไตล์ เคยประจำการอยู่ที่ เมเนจเจอร์ออนไลน์ นสพ.กรุงเทพธุรกิจ และรายการ ET Thailand ปัจจุบันรับจ้างทั่วไป