เบื้องหลังความลี้ลับ แดนสาป ภาพยนตร์ Thai Muslim Horror ที่จะพาไปเหยียบพื้นที่ต่างศรัทธา
Faces

เบื้องหลังความลี้ลับ แดนสาป ภาพยนตร์ Thai Muslim Horror ที่จะพาไปเหยียบพื้นที่ต่างศรัทธา

Focus
  • The Cursed Land แดนสาป งานกำกับภาพยนตร์บันเทิงเรื่องยาวเรื่องแรกของ ภาณุ อารี หลังจากที่เขาเคยทำหนังสั้นและภาพยนตร์สารคดีเรื่องยาวถ่ายทอดมุมมองชีวิตชาวมุสลิม
  • The Cursed Land แดนสาป คือหนึ่งใน 20 โปรเจกต์ทั่วเอเชียที่ได้รับเลือกใน Hong Kong-Asia Film Financing Forum เปิดฉายใน 7 เทศกาลหนังทั่วโลก

เรื่องราวที่ฝังลึกจากความโกรธแค้นอาฆาตจนกลายเป็นอาถรรพ์ กับบางเรื่องที่เป็นความลับและบางเรื่องที่ยังไม่ถูกสะสางทิ้งค้างอยู่ในใจ นี่เป็นพื้นหลังของภาพยนตร์ The Cursed Land แดนสาป งานกำกับภาพยนตร์บันเทิงเรื่องยาวเรื่องแรกของ ภาณุ อารี หลังจากที่เขาเคยทำหนังสั้นและภาพยนตร์สารคดีเรื่องยาวถ่ายทอดมุมมองชีวิตชาวมุสลิมอย่าง Baby Arabia ภาพยนตร์สารคดีตามติดวงดนตรีเบบี้อาราเบีย และมูอัลลัฟ (The Convert) เรื่องของคู่แต่งงานข้ามศาสนา

The Cursed Land แดนสาป เล่าถึงการเริ่มต้นชีวิตใหม่หลังการสูญเสียภรรยาและแม่ของ มิตร ชายวัย 40 ปี (แสดงโดย อนันดา เอเวอร์ริงแฮม) และ เมย์ ลูกสาววัยรุ่น (แสดงโดย เจนนิษฐ์ โอ่ประเสริฐ) ซึ่งต่อมากลายเป็นการเผชิญความลี้ลับ ความบ้าคลั่ง และความทุกข์ระทมในอดีตทั้งระยะใกล้และระยะไกล 

แดนสาป

เหตุเกิดขึ้นราว ค.ศ. 2000 บ้านใหม่ของมิตรกับเมย์เป็นอาคารไม้เก่าในย่านหนองจอก มีนบุรี แหล่งชุมชนมุสลิมเก่าแก่ชานกรุงเทพฯ ณ ที่แห่งนี้เต็มไปด้วยเรื่องราวในอดีตที่ย้อนกลับไปได้ราว 200 ปี การแบกอดีตที่บอบช้ำของมิตรกับการเผชิญอดีตอันลี้ลับกับประวัติศาสตร์ของผู้คนและพื้นที่แห่งนี้ได้กลายเป็นความสะพรึงที่ท้าทายความเชื่อและการดิ้นรนเพื่ออยู่รอดในความต่างด้วยการทำความเข้าใจ

แดนสาป

การเข้ามาอยู่ใหม่ของคนนอกศาสนาและนอกชุมชนพาเอาความเชื่อของเขามาด้วย เมื่อมิตรและลูกสาวเผชิญกับเรื่องลี้ลับและเรื่องเล่าเกี่ยวกับวิญญาณร้ายที่ถูกกักขัง ทางออกของพวกเขาคือการสร้างศาลพระภูมิตามความเชื่อเรื่องการเคารพวิญญาณและการมีเจ้าที่คุ้มครอง แต่กลับไม่เป็นผล เมื่อชีวิตวิกฤติถึงขั้นเกิดอาการหลอนหนักหน่วง มิตรและเมย์ยอมให้ ฮีม (แสดงโดย บรอนต์ ปาลาเร่) พนักงานในโรงงานเดียวกับเขาและชายมุสลิมผู้แปลกแยกแม้กระทั่งกับเพื่อนบ้านในชุมชนมุสลิมหนองจอกเข้ามาช่วยเหลือในภาวะจำยอมและไม่มีความเชื่อศรัทธาใดๆ มิตรยอมให้ฮีมพาเขาและลูกสาวเดินทางลงมายังดินแดนสามจังหวัดภาคใต้เพื่อพบกับหญิงชราที่ถูกเรียกว่า ไซหนับ (แสดงโดย สีดา พัวพิมล) หรือเทียบได้กับหมอผีซึ่งจะเป็นผู้ช่วยแก้อาถรรพ์ที่เกิดกับมิตรได้

แดนสาป

ความเป็นมนุษย์ที่จิตอ่อนแอถูกครอบงำด้วยด้านมืดต่างๆ นานา ทั้งด้านมืดที่จะผลักดันพฤติกรรมเลวร้ายไปจนถึงความลี้ลับดำมืดเหนือการควบคุมหรือสิ่งที่เรียกว่าเหนือธรรมชาติ นำพาให้ตัวละครเดินทางจากชายขอบกรุงเทพฯ ไปจนถึงอีกชายขอบในป่าลึกแดนใต้สุดของสยาม ทั้งยังย้อนรอยอดีต 200 กว่าปีก่อนที่ไปเกี่ยวพันกับ การ์ดี (แสดงโดย ฟิรเดาส์ คารีม) และ หมัด (แสดงโดย ฮาน ซาลินี) ชายมุสลิมพื้นเพมลายูที่พลัดถิ่นมาตามเส้นทางทาสและแรงงาน โยงไปสู่บางเรื่องที่เป็นความลับ และเรื่องที่ยังไม่ถูกสะสางทิ้งค้างอยู่ในใจ

สำหรับ ภาณุ อารี เขาคร่ำหวอดในวงการภาพยนตร์มากว่า 30 ปี ในสายงานฝ่ายจัดซื้อลิขสิทธิ์ภาพยนตร์ต่างประเทศนำเข้าฉายในโรงภาพยนตร์ไทย และปัจจุบันเป็นหนึ่งในผู้บริหารค่าย เนรมิตรหนังฟิล์ม ที่พาหนังไทยกลับมาคึกคักในโรงภาพยนตร์อีกครั้งในช่วงฝ่าวิกฤติโควิด

Sarakadee Lite ชวนไปพูดคุยกับ ภาณุ อารี ผู้กำกับภาพยนตร์ ในฐานะตัวแทนผู้สร้าง The Cursed Land แดนสาป ที่มี ก้อง ฤทธิ์ดี เป็นผู้เขียนบท และ นนทรีย์ นิมิบุตร เป็นผู้ควบคุมงานสร้าง มาทำความรู้จักกับความเชื่อเรื่องลี้ลับ ยันต์ หมอผี ศาล วิญญาณชั่วร้าย และเรื่องการอยู่ร่วมกันในพื้นที่เดียวกันของคนต่างพื้นเพ

ภาณุ อารี

แนวคิดของ แดนสาป ที่อาจจะเรียกได้ว่าเป็นความลี้ลับฉบับใหม่

เริ่มต้นเป็น original idea ที่ผมกับก้อง (คนเขียนบท) คิดอยากทำกัน ต่อจากประเด็นที่เราเคยทำมาในงานสารคดีเรื่องก่อนๆ เราสนใจเรื่อง Identity ของมุสลิมในกรุงเทพฯ ที่ไม่ได้อยู่ในพื้นที่ที่มีประชากรมุสลิมเยอะอย่างสามจังหวัดภาคใต้ เหมือนเป็นการสำรวจตัวตนของมุสลิม เรื่องแรกที่ทำคือ The Convert เกี่ยวกับความรักระหว่างผู้หญิงพุทธกับผู้ชายมุสลิม แล้วก็ Baby Arabia แล้วก็หนังสั้นอีกสองสามเรื่อง

พอทำสารคดีมาแล้วก็อยากทำหนังที่เป็นฟิกชันบ้าง และมีความเป็นหนังคอมเมอร์เชียลด้วย  เป็นเพราะว่าเราทำงานบริษัทหนังก็รู้ว่าธุรกิจหนังตอนนี้หนังประเภทไหนเป็นที่นิยมมากที่สุด และในขณะเดียวกันมันก็เซฟที่สุดในแง่ของการผลิต เพราะว่าทุนไม่ได้สูงมากก็คือหนัง horror นี่ละครับ ก็เลยคิดว่าเราอยากทำหนังมุสลิม horror ก่อนหน้านี้มันก็มีแค่หนังจากประเทศมาเลเซีย หรืออินโดนีเซีย ก็เลยคิดว่าเราอยากทำ โดยเฉพาะอย่างเรื่อง ญิน เป็นสิ่งมีชีวิตอีกประเภทหนึ่ง คนก็อาจจะเข้าใจว่ามันคือผีหรือเปล่า

คิดไปคิดมานึกได้ก็มีเรื่องหนึ่งที่คล้ายๆ urban legend คือเป็นเรื่องที่ทุกคนเล่าๆ กัน แต่ผมรู้สึกแปลกใจเหมือนกันที่ไม่ค่อยมีคนหยิบมาเล่าเป็นหนัง คือเรื่องราวคนนับถือพุทธที่ย้ายบ้านมาอยู่บ้านใหม่ในพื้นที่ของมุสลิม หรือที่เก่าเคยเป็นชุมชนมุสลิม โดยเฉพาะบ้านที่สร้างทับสุสานมุสลิม แล้วก็ประสบเหตุเหนือธรรมชาติต่างๆ มันเป็นเรื่องที่คลาสสิกมากพอๆ กับเรื่องผีอื่นๆ เราทำงานในบริษัทหนังเราก็เห็นเทรนด์อยู่แล้วว่าคนนิยมหนังแนวก็เลยตัดสินใจลองพัฒนาโปรเจกต์นี้ดู

เรียกได้ไหมว่าแดนสาปเป็นหนังผีลี้ลับอิงความเชื่อทางศาสนา

ใช่ครับ มันจะคล้ายๆ หนังบ้านผีอย่าง The Conjuring ในขณะเดียวกันมันก็ยังมีปมประเด็นศาสนาและประวัติศาสตร์บางอย่างที่เกี่ยวข้องกัน ความแตกต่างอยู่ที่รายละเอียด ในขณะที่โครงร่างเราพยายามยึดโยงกับความเป็นหนังสยองขวัญโดยทั่วไปแบบตัวละครเข้าบ้านผีเจอสิ่งลี้ลับจะแก้ปัญหากันยังไง

ย้อนไปเกือบ 20 ปีที่แล้ว มูเตลู หนังผีอินโดนีเซียมาดังในบ้านเรา และ 4-5 ปีที่แล้วก็มีเรื่อง Satan’s Slaves ใช่ไหม อันนั้นในจีน หรือประเทศมุสลิมเซนเซอร์อาจจะมองว่าเรื่องผีมันมอมเมา แต่พอหนังดังขึ้นมาหนังผีมันไปมากกว่าแค่ความเชื่อมอมเมาผู้คน มันก็เปลี่ยนมุมมองของคน ตอนหลังๆ จะเห็นว่าเทรนด์หนังสยองขวัญมันฮิตและมันก็เล่าเรื่องที่เราอยากเล่าได้ด้วย

อะไรคือเหตุผลที่ทำให้หนังผีได้รับความนิยมไม่ว่าจะเป็นศาสนาใด

สาเหตุหนึ่งที่หนังผีได้รับความนิยม โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศที่เขาเป็นมุสลิมในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ส่วนหนึ่งเราต้องยอมรับว่าศาสนาอิสลามเข้ามาเผยแผ่ในแถบนี้หลังจากวัฒนธรรมฮินดู วัฒนธรรมพุทธ เติบโตมาก่อนแล้ว อย่างในอินโดนีเซียก็เคยเป็นวัฒนธรรมความเชื่อแบบฮินดูมาก่อน มันก็เลยมีการผสมผสานความเชื่อทางศาสนาบวกกับเรื่องพิธีกรรมทางไสยศาสตร์ที่จะอ้างอิงถึงแนวคิดฮินดูและเทวนิยมเข้าไปด้วย หนังพวกนี้จึงสามารถได้รับความนิยม พอมาในเมืองไทยเราก็รู้สึกว่าคนในภูมิภาคเราไม่ใช่เฉพาะไทย อย่างกัมพูชาหนังอินโดนีเซียเรื่อง Satan’s Slaves ก็ทำรายได้อันดับ 1 ในการฉายโรงนะ คงมีความรู้สึกเหมือนกัน ความเชื่อเรื่องสิ่งลี้ลับ พิธีกรรม สิ่งที่แตกต่างคือศาสนาแค่นั้น พิธีกรรมไล่ผีก็จะแตกต่างกัน ทางพุทธเราใช้พระไล่ผี ที่อินโดฯ สายมุสลิมจะเป็นอิหม่าม ข้อแตกต่างเพียงแค่นั้นเอง

สำหรับ แดนสาป พื้นฐานก็คือหนังบ้านผี (Haunted House) แหละ แต่ผีที่ตัวเอกพยายามปราบดันไม่ใช่ผีที่อยู่ในระบบเดียวกันกับที่เราคุ้นเคย เขาพยายามหาพระสงฆ์ หรือพราหมณ์มาช่วยปราบแล้วไม่ได้ ก็ต้องไปหาคนในพื้นที่ตรงนั้น คนที่เหมาะสมมาปราบคือหมอผีที่เป็นมุสลิม แต่ว่าประเด็นหลักของเราอาจจะไม่ได้เน้นความหลอนแบบหนังผีตุ้งแฮ่ๆ เพราะคุยกับก้อง-ฤทธิ์ดี คนเขียนบท ตั้งแต่ต้นแล้วว่าอยากทำหนังแบบนี้ แต่จะเป็นแอนตี้ขนบของความเป็นหนังสยองขวัญนิดหนึ่ง อาจจะมีความเป็นจิตวิทยามากขึ้น และมีเรื่องที่จะขยายความเข้าใจของคนที่อาจจะไม่ใช่มุสลิมคือเรื่องญิน

แดนสาป

ในหลักศาสนาของมุสลิม ญิน เป็นผีหรือเป็นใคร

ญิน คือสิ่งมีชีวิตประเภทหนึ่งที่ไม่ใช่มนุษย์ แต่เป็นสิ่งที่พระเจ้าสร้างขึ้นมาให้มันมาอยู่กับเรา มีทั้งญินที่ไม่ดีและญินที่ดี หน้าที่ญินมีหลากหลาย แต่มันไม่ใช่วิญญาณที่เกิดจากคนตายแล้วไป เพราะอิสลามไม่เชื่ออย่างนั้น เขาเชื่อว่ามนุษย์ถูกสร้างโดยพระเจ้าพอตายก็คือจบ ดังนั้นญินเลยกลายเป็นสิ่งที่เรียกว่าเป็นสปีชีส์หนึ่ง เพียงแต่ฟอร์มหรือรูปร่างของมันเราอาจจะไม่ได้เห็นชัดเจนแบบโครงร่างของมนุษย์ ญินอาจปรากฏในหลายรูปแบบ อาจจะเป็นเงาที่ปรากฏในบ้าน อาจจะโผล่มาเป็นสัตว บางทีอาจเป็นตะขาบอะไรแบบนี้ หรืออาจเป็นรูปร่างคน และมีญินที่ช่วยปกป้องบ้าน บางคนไปบ้านมุสลิมแล้วเจอเหตุการณ์ประหลาดเหมือนมีคนอยู่ คนไทยอาจจะเรียกว่าผีบ้านผีเรือน แต่ว่าคอนเซปต์จะต่างกันตรงที่ว่าผีบ้านผีเรือนอาจจะเป็นวิญญาณจากคนตาย แต่ญินในความเชื่อของอิสลามถูกสร้างมาพร้อมกับมนุษย์อยู่แล้วและจะคอยอยู่ข้างๆ เรา ถ้าเป็นญินที่ดีก็คอยปกป้อง ญินส่วนใหญ่จะต้องเชื่อฟังพระเจ้า เพราะพระเจ้าสร้างมา แต่ญินที่ชั่วร้ายอาจจะไม่ได้เชื่อพระเจ้า อาจจะทำสิ่งที่เป็นโทษกับมนุษย์ เช่น ล่อลวงคนที่มีจิตใจอ่อนแอ มันก็เลยเข้ากับคอนเซ็ปต์ของหนังแดนสาปเรื่องนี้ พอตัวละครมีปัญหาเขาก็จะโดนญินเข้ามาครอบงำ ญินจะเข้าไปครอบงำคนที่มีความทุกข์ ที่มีปมบางอย่าง แล้วก็ต้องปราบ ซึ่งก็เป็นวิธีเล่าตามสูตรหนังสยองขวัญ นี่แหละเป็นความยากเวลาที่มาทำเป็นหนัง

แดนสาป

อะไรคือความท้าทายที่สุดสำหรับการกำกับภาพยนตร์บันเทิงเรื่องยาวเรื่องแรก

ความท้าทายที่สุด คือการทำหนังที่มันเป็นสูตรเดิมๆ ให้มีความพิเศษออกไป เราทำหนังสยอง แต่ไม่ได้ขายความสยองอย่างเดียวก็กลัวว่าคนจะมาดูหนังเราไหม แต่สุดท้ายพอคุยไปคุยมาเราก็มาคิดว่ามันอาจจะเป็นครั้งเดียวและอาจจะไม่ได้ทำอีกเลยก็ได้ เราจะลองปฏิเสธขนมแบบเดิมๆ ดู  เช่นการใส่ทั้งเรื่องญินและก็อยากเล่าเรื่องประวัติศาสตร์ที่มันเลือนๆ ไป ไม่ค่อยมีใครพูดถึง ประวัติตรงนี้เกี่ยวกับมุสลิมในไทยที่หนองจอก เดิมเคยเป็นเชลยที่มาจากปัตตานีและนราธิวาส แม้เรื่องนี้เป็นสิ่งที่ไม่มีหลักฐาน พิสูจน์ไม่ได้ เป็นแค่เรื่องเล่าปากเปล่า แต่จุดที่ชัดเจนคือคนเหล่านี้ถูกเทครัวมาจากทางใต้ เราก็เลยพยายามเชื่อมโยงกับพื้นที่ คือเรื่องผีที่ตามหลอกหลอนก็เหมือนประวัติศาสตร์ที่ไม่ได้รับการยอมรับ คือยิ่งเรากดทับมัน ไม่พูดถึงมัน มันก็จะตามหลอกหลอนเรา และมันก็จะคล้ายๆ กับสถานการณ์ในภาคใต้ การที่เราไม่ยอมรับว่าที่มา ต้นตอของปัญหามันคืออะไร และมันจะหลอกหลอนเราไปเรื่อยๆ ผ่านภาพข่าวความรุนแรงต่างๆ เราจึงเล่าเรื่องนี้สอดแทรกเข้าไปในหนังสยองขวัญ อย่างน้อยที่สุดเราก็หวังว่าคนดูจบแล้วอาจจะอยากรู้จัก (พื้นที่และเรื่องราว) หนองจอกก็ได้

แดนสาป

ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้ทุนสร้างจากไหน

ความตั้งใจแรกว่าอยากทำหนังไทยหนังผีที่เป็นมุสลิม (Thai muslim horror) เพราะมันไม่ค่อยมี และตั้งต้นหาทุนทำหนังด้วยการส่งหนังไปประกวดตามเทศกาลต่างๆ ที่เขามีตลาดลงทุนให้หนังอย่าง HAF ที่ฮ่องกง เทศกาลหนังปูชอน (Bucheon International Fantastic Film Festival) ที่เกาหลีใต้ และเทศกาลหนังอูดิเนเซที่อิตาลี และชูจุดขายว่าเป็นหนัง Thai muslim horror ซึ่งเป็นสิ่งแตกต่างจากหนังผีเรื่องอื่นๆ โชคดีตรงที่ว่าโปรเจ็กต์นี้มันพัฒนาตอนที่เรามาทำงานกับ เนรมิตหนังฟิล์ม ทางทีมลองคุยกับผู้บริหารดูก็เลยได้ทุนหลักจากที่นี่และเพิ่มเติมบางส่วนจากการขอทุนตามเทศกาลหนัง ในสัดส่วนที่เป็นผู้ร่วมทุน (co-investment) ซึ่งก็มาจากการส่งไปประกวดและได้ดีลส่งต่อไปถึงคนซื้อหนัง ซื้อสิทธิการจัดจำหน่ายและคนสนใจลงทุนที่มาจากต่างประเทศด้วย

แดนสาป
ภาณุ อารี

อยากให้พูดถึงเทรนด์หนังผีหนังสยองขวัญของไทยที่ยังเป็นหนังทำเงินอยู่ตลอด

วันนี้สิ่งหนึ่งที่มันต้องยอมรับว่าพัฒนาการของหนังสยองขวัญบ้านเรา หนึ่ง คือเทคนิคการผลิตเรายกระดับสูงขึ้น พอพูดถึงหนังผีไทยทุกคนจะชอบที่วิธีการเล่าเรื่อง วิธีการถ่ายทอดภาพ การตัดต่อ และเนื้อเรื่องจะยึดโยงกับความเป็นไปหรือไวยากรณ์ของหนังสยองขวัญที่มันเป็นสากลมากขึ้นกว่าเดิม อย่างกรณี ธี่หยด ก็จะรู้เลยว่าเราคงหาหนังผีที่เล่าเรื่องในลักษณะแบบนี้เมื่อสัก 10 กว่าปีที่แล้วไม่เจอแน่ๆ หรือ สัปเหร่อ เป็นหนังผีที่ยังมีวิธีการเล่าแบบไทยๆ อยู่มาก แต่การเล่าเรื่องจะมีความจริงจังขึ้นและมีประเด็นที่ทั่วโลกยึดโยงได้อย่างประเด็นชีวิตหลังความตาย การดีลกับความตาย ก็เลยคิดว่าสิ่งนี้แหละที่มันมีลักษณะเด่นของหนังผีไทยในช่วงเวลานี้ มันสอดคล้องกับที่ว่าในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาสิ่งที่เรียกว่า พรมแดนทางด้านวัฒนธรรม ค่อยๆ หายไป เมื่อก่อนเราอาจจะบอกว่านี่คือหนังผีอินโดฯ นี่คือหนังผีไทย จะมีแครักเตอร์ชัดเจน แต่ว่าหลังๆ โลกมันไม่มีพรมแดน กระแสความนิยมในวัฒนธรรมร่วมสมัยมันคล้ายๆ กัน หนังผีมันก็จะเล่าอะไรบางอย่างที่มันคล้ายๆ กัน เชื่อมโยงกัน แล้วมันจะเป็นการเล่นกับความรู้สึกเบสิกของมนุษย์อย่างความกลัว เล่นกับคนดูในลักษณะที่เป็นสากล เช่นผีค่อยๆ โผล่มา เป็นภาพที่เราไม่รู้ หรือเป็นอะไรบางอย่างนอกจอซึ่งมันคือขนบเดียวกันกับวิธีการเล่าหนังผีร่วมสมัยเขาทำกัน

Fact File

The Cursed Land  แดนสาป  คือหนึ่งใน 20 โปรเจกต์ทั่วเอเชียที่ได้รับเลือกใน Hong Kong-Asia Film Financing Forum เปิดฉายใน 7 เทศกาลหนังทั่วโลก ประกอบไปด้วย International Film Festival of Rotterdam (เนเธอร์แลนด์), Asian Film Festival Rome (อิตาลี), MIF Fest (มาเลเซีย), Ho Chi Minh City International Film Festival (เวียดนาม), Neuchatel International Fantastic Film Festival (สวิตเซอร์แลนด์), Bucheon International Fantastic Film Festival (เกาหลีใต้), New York Asia Film Festival (นิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา)


Author

ทศพร กลิ่นหอม
นักเขียนสายบันเทิง สังคม ท่องเที่ยว และไลฟ์สไตล์ เคยประจำการอยู่ที่ เมเนจเจอร์ออนไลน์ นสพ.กรุงเทพธุรกิจ และรายการ ET Thailand ปัจจุบันรับจ้างทั่วไป