จาก โชติ แพร่พันธุ์ ถึง ยาขอบ : การเดินทางของนักเขียน ผู้ชนะสิบทิศ
- ยาขอบ เป็นนามปากกาของ โชติ แพร่พันธุ์ นักเขียนอมตะที่มีผลงานตีพิมพ์และได้รับความนิยมถึงปัจจุบันโดยนักอ่านมักรู้จักในฐานะผู้แต่ง ผู้ชนะสิบทิศ
- ยาขอบเป็นนักเขียนผู้มีอุดมคติอยู่ 3 ข้อ หนึ่ง คือ มีชีวิตเพื่อวันนี้ มีหวังใหม่เสมอสำหรับวันพรุ่งนี้ สอง มีความซื่อสัตย์ กตัญญูกตเวทีต่อผู้มีพระคุณและสาม เพื่อน คือสิ่งสำคัญที่สุดในชีวิต
ยาขอบ เป็นนามปากกาของ โชติ แพร่พันธุ์ นักเขียนอมตะที่มีผลงานตีพิมพ์และได้รับความนิยมถึงปัจจุบันโดยนักอ่านมักรู้จักในฐานะผู้แต่ง ผู้ชนะสิบทิศ งานดัดแปลงพงศาวดารพม่าสู่วรรณกรรมไทยที่ได้รับความนิยมจนได้ผลิตต่อยอดมาในสื่อภาพยนตร์ ละครวิทยุ-โทรทัศน์
นอกจากพงศาวดารพม่ายาขอบยังได้เขียนเล่าเรื่องพงศาวดารจีนที่ได้รับความนิยมสูงในไทยเช่นกันอย่าง สามก๊ก โดยยาขอบเขียนด้วยรูปแบบการเรียบเรียงที่ถือว่าใหม่มากในยุคนั้น นั่นก็คือการเล่าเรื่องตามขนบ “วณิพก” เป็นการเล่าโดยเสมือนนักเล่าพเนจรที่ตระเวนเล่าเรื่องเพื่อแลกเรื่องเล่ากับเงินของผู้ฟังใน สามก๊กฉบับวณิพก ของยาขอบจึงเป็นการเล่าทีละมุมมองของตัวละครในโลกสามก๊กในลักษณะจบเป็นตอนสามารถอ่านแยกทีละบทอย่างเข้าใจได้ไม่ต้องอ่านร้อยเป็นเรื่องยาวอย่างต่อเนื่อง
นอกจากงานดัดแปลงยาขอบยังมีงานเขียนอีกหลายประเภททั้งเรื่องสั้นเช่น มุมมืด
กามวาสี เพื่อนแพง ฯลฯ บทความหลากหลายแบบเนื่องจากเขาเป็นนักหนังสือพิมพ์ ซึ่งปัจจุบันก็ยังมีบทความที่ตีพิมพ์ออกมารวมเล่มขายอยู่เช่น
สินในหมึก บทความว่าด้วยการเขียนงานของยาขอบเอง
ยาขอบไม่ได้เป็นนักเขียนที่ผลิตงานอย่างสม่ำเสมอเท่านั้นแต่เขายังสามารถพลิกความสามารถด้านการเขียนได้หลายแบบไม่ว่าจะงานแปล งานเชิงจดหมาย เขียนข่าวเขียนโฆษณา รวมถึงการดัดแปลง ผู้ชนะสิบทิศ ในรูปแบบบทละครโดยทุกงานสามารถคงลักษณะเด่นของเขาไว้ได้ นั่นก็คือการเลือกใช้สำนวนที่ไพเราะรื่นหู ผสมกับโวหารที่แหลมคม แต่ก็ยังเรียบเรียงมาในภาษาใกล้เคียงกับที่คนทั่วไปในสังคมจนทำให้เข้าถึงใจผู้อ่านได้ง่าย ยาขอบเองเคยเสนอแนวคิดเกี่ยวกับการเขียนเรื่องแต่งไว้ว่า
“…การเขียนเหมือนเรียงความ อาจห่วงไวยากรณ์หรือหลักเกณฑ์ตามวิสัยผู้รู้ทางอักษรศาสตร์ การเขียนเรื่องอ่านเล่นต่างกับการเขียนทางวิชาการ เป็นการแสดงออกของอารมณ์ เพราะฉะนั้นปล่อยให้ถ้อยคำ สำนวนจงเป็นไปตามธรรมดาของสามัญมนุษย์ เขียนอย่างไรจิตใจเราถึงจะคิดคำนึงตามธรรมดา อย่าเป็นห่วงไวยากรณ์หรืออื่นใด เมื่อเราเขียนเรื่องอ่านเล่น เราเป็นเจ้าเป็นใหญ่อยู่กับหน้าที่ของเราไม่ต้องแยแสต่อกฎเกณฑ์ใด…ในคราวแต่งเรื่อง จงโยนความรู้ทางอักษรศาสตร์ไป เก็บไว้แต่อารมณ์ของคนธรรมดา”
บุตรลับของเจ้าเมืองที่ถูกเลี้ยงดูด้วยความโกรธ
ยาขอบ เป็นนามปากกาของ โชติ แพร่พันธุ์ ซึ่งเป็นบุตรชายคนเดียวของ เจ้าอินแปงเจ้าเมืองแพร่ ที่ลักลอบมีความสัมพันธ์ได้เสียกันกับ จ้อย ต้นห้องที่อาศัยอยู่ภายในวังดำรงสถิต การกำเนิดของเขาในวันที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2450 นี้จึงเป็นความลับหลังจากตั้งครรภ์นั้นจ้อยแม่ของโชติก็ได้หลบหนีออกจากวังดำรงสถิต ไปอาศัยอยู่กับคุณนายจันทร์ผู้ดูแลโรงเลี้ยงเด็กของพระวิมาดาเธอฯจนคลอดลูก ณ ที่แห่งนี้ แม้ภายหลังคลอดเจ้าอินแปงได้ติดต่อมาขอรับบุตรของตนและได้สั่งไว้ว่าถ้าคลอดเป็นบุตรชายให้ใช้ชื่อ “อินทรเดช”แต่จ้อยปฏิเสธทั้งการขอรับไปเลี้ยงและปฏิเสธชื่อที่เสนอรับสั่งจ้อยจึงตั้งชื่อทารกน้อยคนนี้เองว่า “โชติ”
แม้อาจเรียกได้ว่าโชคไม่ค่อยเข้าข้างเด็กชายที่ชื่อโชตินี้เท่าไร ด้วยความไม่พอใจของจ้อยที่มีต่อเจ้าอินแปง โชติในวัยเด็กจึงถูกเลี้ยงด้วยความรู้สึกโกรธเจ้าอินแปง ตามคำบอกเล่าของ นายประจวบ กาญจนลาภ เพื่อนสนิทของโชติซึ่งได้เขียนในหนังสือ “ยาขอบ” สิบทิศ ชีวิตและงานของโชติ แพร่พันธุ์ ได้เล่าไว้ช่วงหนึ่งถึงทารกโชติว่าถูกเลี้ยงดั่งเป็นลูกปิศาจ จ้อยไม่ยอมแม้จะให้ลูกดื่มนมของตนเอง
ถึงแม้มีเชื้อสายของเจ้าเมืองแพร่แต่ด้วยชะตากรรมดังกล่าวทำให้เขาไม่ได้เป็นเจ้าเป็นนายกว่าจะมีนามสกุลก็ปาเข้าไปเมื่อสมัยอายุครบเกณฑ์ที่จะต้องเข้าโรงเรียนทำให้จำเป็นที่จะต้องมีนามสกุล จ้อยจึงนำบุตรชายไปขอประทานนามสกุลจาก สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ที่เมื่อรับรู้ที่มาที่ไปจึงได้ประทานนามสกุล “แพร่พันธุ์” นี้มา
ยาขอบนามปากกาที่ล้อมาจาก Jacob
ก้าวสำคัญที่ทำให้โชติมาเป็นนักเขียนคือระหว่างที่โชติว่างงานอยู่นั้นได้รับคำชักชวนของ นายเฉวียง เศวตะทัต เจ้าของและบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ ธงไทยรายสัปดาห์ ได้ชวนโชติมาทำงานเป็นนักข่าวของหนังสือพิมพ์ธงไทย เพียงงานชิ้นแรกโชติก็เจองานหินเลยนั่นคือการไปสืบสวนคดีฆาตกรรมนายมุ้ย ที่บางปลาสร้างจังหวัดชลบุรีโดยเหตุที่โชติต้องไปทำข่าวนี้ก็เพราะนักข่าวเดิมของหนังสือพิมพ์ธงไทยที่เคยประจำอยู่จังหวัดชลบุรีก็ถูกฆาตกรรมไปก่อนหน้าโชติจึงต้องลงมารับงานแทนในพื้นที่ที่อันตรายเต็มไปด้วยเหล่านักเลงและฆาตกร
ในพื้นที่อันตรายนี้โชติสามารถทำข่าวเสนอคดีฆาตกรรมนายมุ้ยจนสำเร็จและสามารถสร้างรูปแบบการเขียนข่าวแบบใหม่จนได้รับคำชมว่า เป็นการปฏิวัติการเขียนข่าวในเมืองไทย ซึ่งรูปแบบใหม่ที่ว่าคือ การแบ่งเนื้อข่าวออกเป็นตอนย่อย ๆ โดยแต่ละตอนมีหัวข่าวนำ พร้อมบทเกริ่นนำก่อนเข้าเนื้อข่าวที่สรุปข่าวทั้งหมดทำให้ผู้อ่านสามารถเข้าใจเรื่องทั้งหมดได้อย่างกระชับ
การบรรยายรายละเอียดข่าวโดยแบ่งเป็นตอน ๆ ทำให้ข่าวที่เดิมทีเคยเขียนรวดเดียวจบ เป็นเหมือนนิยายฉบับย่อที่มีความตื่นเต้นมีชีวิตชีวาซึ่งวิธีการเขียนแบบแบ่งตอนเช่นนี้เป็นที่มาของการเกิด สามก๊กฉบับวณิพก ที่เล่าเรื่องตัวละครสามก๊กทีละตัว แบ่งเป็นตอน ๆ หากอ่านไล่ไปครบทุกตัวก็จะสามารถปะติดปะต่อเรื่องราวจนเข้าใจได้ หรือหากจะอ่านแบ่งตอนก็เป็นเรื่องจบในตอนเหมือนตอนที่เขาเขียนข่าว
โชติทำงานเป็นนักข่าวจนหนังสือพิมพ์ธงไทยปิดไป แม้การยุตินี้จะทำให้โชติว่างงานอยู่พักหนึ่งแต่การทำงานที่ผ่านมาก็ทำให้เขามีทักษะการเขียนติดตัวอยู่และยังทำให้มีโอกาสรู้จักคนในวงการต่าง ๆ กว้างขวางขึ้น โชติย้ายจากนักข่าวไปทำงานเขียนโฆษณาอยู่พักหนึ่งจนได้รับคำชักชวนจาก กุหลาบ สายประดิษฐ์ ซึ่งในเวลานั้นได้จัดตั้งคณะสุภาพบุรุษตีพิมพ์หนังสือพิมพ์ของกลุ่มในชื่อ สุภาพบุรุษรายปักษ์ (ตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อพ.ศ.2472) ให้มาเขียนเรื่องตลกประจำฉบับ
ปกติแล้วสุภาพบุรุษรายปักษ์ จะมีเรื่องตลกพิมพ์อยู่ในทุกเล่ม แต่วันหนึ่งนักเขียนเรื่องตลกประจำฉบับมีเหตุให้ไม่สามารถส่งต้นฉบับได้ตรงกำหนด จึงทำให้โชติ แพร่พันธุ์ ได้มารับหน้าที่แทน พร้อมกันนั้นกุหลาบยังตั้งนามปากกาใหม่ให้โชติโดยมีความคิดมาจากการล้อเลียนนักเขียนตลกคนหนึ่งของอังกฤษนาม J.W.Jacob ที่เขียนให้กับหนังสือพิมพ์ STRANDทำให้จาก เจ.ดับเบิลยู.จาค็อบ กุหลาบจึงมาล้อเป็นคำไทยๆ ตั้งนามปากกา ยาขอบ ให้โชติใช้ตั้งแต่นั้นมา และหลังจากการทำงานร่วมกันมาในที่สุด ยาขอบก็ได้เข้าร่วมเป็นหนึ่งนักเขียนในคณะสุภาพบุรุษ
ผู้ชนะสิบทิศกับชีวิตที่ต้องสู้ทุกทิศของยาขอบ
หลังจากการเข้าร่วมคณะสุภาพบุรุษต่อมาในช่วงประมาณปลายพ.ศ.2473 คณะสุภาพบุรุษได้ออกหนังสือพิมพ์รายวันเพิ่มอีกหัวหนึ่งซึ่งจะเน้นพิมพ์เรื่องเบา ๆ ในชื่อ สุริยา โดยมีโชติเป็นบรรณาธิการ ในสมัยนั้นหนังสือพิมพ์ไทยกำลังนิยมกระแสนิยายอิงประวัติศาสตร์และพงศาวดารตีพิมพ์เป็นตอน ๆ ลงในทุกฉบับ ซึ่งการแต่งเรื่องจากพงศาวดารในช่วงนั้นถือเป็นเรื่องแปลกใหม่น่าตื่นเต้น เช่น นเรศวรมหาราช โดย พานจันทร์ ยอดทหารหาญ โดย กุหลาบ สายประดิษฐ์และนั่นทำให้โชติในฐานะตำแหน่งบรรณาธิการสุริยาก็ไม่พลาดกระแสนี้จึงแต่งเรื่องยอดขุนพลออกมาเป็นเรื่องแรกด้วยแรงสนับสนุนของกุหลาบที่แนะนำให้ยาขอบไปศึกษาสังเกตวิธีการเล่าการเชื่อมโยงเรื่องราวมาเขียนแต่ง กุหลาบมอบหนังสือสามทหารเสือ หรือ The Three Musketeers ของ Alexandre Dumasนวนิยายอิงประวัติศาสตร์ของฝรั่งเศสที่มีรูปแบบการเล่าเป็นตอน ๆ เช่นเดียวกันกับการเขียนของยาขอบ
หลังจากที่ ยอดขุนพล ตีพิมพ์ โชติได้เรียกงานเขียนประเภทนี้ว่า “นิยายปลอมพงศาวดาร” เนื่องจากเขาใช้ข้อมูลพงศาวดารของพม่าเพียง 8 บรรทัดไปเขียนแต่งขยายเป็นนิยายมหากาพย์เรื่องยาวตีพิมพ์ลงอย่างต่อเนื่องจนหนังสือพิมพ์สุริยาปิดตัวลงก่อนแต่นิยายก็ยังไม่จบ ในเวลานั้นกุหลาบได้ทำหนังสือพิมพ์ประชาชาติ (พ.ศ.2475)จึงได้ให้ยาขอบเขียนเรื่องยอดขุนพลลงพิมพ์ต่อแต่เปลี่ยนชื่อใหม่จาก ยอดขุนพล เป็น ผู้ชนะสิบทิศ(มาลัย ชูพินิจ เป็นคนตั้งชื่อ) และด้วยความที่หนังสือพิมพ์ประชาชาติถือเป็นสิ่งพิมพ์รายวันที่มีผู้นิยมอ่านจำนวนมาก เลยทำให้นามปากกา ยาขอบ เป็นที่รู้จัก มีแฟนนักอ่านอย่างกว้างขวาง ความดังของ ผู้ชนะสิบทิศ ทำให้มีคนขับรถมาเพื่อขอซื้อเฉพาะหน้าที่พิมพ์นิยายเรื่องนี้แยกจากหนังสือพิมพ์ไปอ่านก่อนเลยทีเดียว
โชติ เขียนผู้ชนะสิบทิศตีพิมพ์เป็นตอนอยู่นาน 3-4 ปี เหมือนทุกอย่างกำลังไปได้สวย แต่อยู่ ๆ เขาก็หยุดเขียนพร้อมลาออกจากหนังสือพิมพ์ประชาชาติ หลังจากลาออกเขาได้ไปทำงานในหน้าที่เขียนบทภาพยนตร์กับ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธ์ยุคล โดยมีค่าจ้างเป็นเงินเดือนเดือนละ 100 บาทซึ่งถือว่าเป็นค่าจ้างที่สูงมากในสมัยนั้นอีกทั้งยังได้เขียนเรื่องใน หนังสือพิมพ์สยามนิกร โดยมีเงื่อนไขเรียกค่าเขียนเดือนละ 80 บาทรวมกับเงินเดือนอีก 60 บาททำให้โชติคือนักเขียนที่มีค่าตัวสูงมากในยุคนั้น แต่ภายหลังการเขียนบทภาพยนตร์ไม่ถึงปี โชติก็เลิกไปและมาทำงานเขียนให้กับสยามนิกรที่เดียวแต่มาด้วยเงื่อนไขการขึ้นเงินเดือนเป็น 200 บาทบวกกับค่าเขียนเรื่องพิเศษสัปดาห์ละครั้ง ครั้งละ 35 บาททำให้โชติมีเงินเดือนเฉลี่ยอยู่ที่ 400 บาทเลยทีเดียว
โชติถือว่าเป็นนักเขียนที่มีความเป็นอยู่ดีมาก ๆ เมื่อเทียบกับคำกล่าวสุดอมตะที่ว่าเป็นนักเขียนต้องไส้แห้ง แต่ด้วยความเป็นหนุ่มเจ้าสำราญ กลับกลายเป็นว่าโชติสร้างหนี้สินกับภัตตาคารและสโมสรอยู่จำนวนมากทำให้เขาต้องกลับมาเขียนผู้ชนะสิบทิศอีกครั้งเพื่อมาจ่ายหนี้ที่เขามีอยู่ ประกอบกับหนังสือพิมพ์สยามนิกรถูกสั่งปิดทำให้รายได้หลักของโชติหายวับไป
แต่แล้วนวนิยายผู้ชนะสิบทิศแหละที่กลับมาช่วยชีวิตให้กลับมาโชติช่วงอีกครั้ง หลังจากเขาได้พบกับเจ้าของโรงพิมพ์อักษรนิติผู้มั่งคั่ง ชลอ รังควร ซึ่งเป็นแฟนคลับตัวยงของผู้ชนะสิบทิศ เธอได้ชวนโชติที่ว่างงานและไม่มีที่อยู่อาศัยเป็นหลักแหล่งไปอยู่ที่โรงพิมพ์พร้อมให้การสนับสนุนทั้งเงินและที่อยู่เหมือนเป็นลูกหลานตนเอง เพื่อให้นามปากกา ยาขอบได้ใช้เวลาเขียนผู้ชนะสิบทิศให้จบ
ตอนอวสาน
หากสังเกตเรื่องราวชีวิตของ โชติ แพร่พันธุ์ หรือ ยาขอบ จะได้เห็นว่าชีวิตของเขาผูกอยู่กับผู้คนที่สนับสนุนช่วยเหลือนำพาเขาเดินทางผจญภัยไปในชะตาที่มีคนสนับสนุนเขาที่ถือว่าสำคัญมากอย่าง กุหลาบ สายประดิษฐ์ หรือ ชลอ รังควร แท้จริงคงมีมิตรของเขาอีกมากมายเขาได้ถือว่า เพื่อน จึงเป็นหนึ่งในสิ่งที่สำคัญที่สุดของเขาในอุดมคติ3ประการ ได้แก่ 1.มีชีวิตเพื่อวันนี้ มีหวังใหม่เสมอสำหรับวันพรุ่งนี้ 2.มีความซื่อสัตย์ กตัญญูกตเวทีต่อผู้มีพระคุณ 3. เพื่อน คือ สิ่งสำคัญที่สุดในชีวิต
สุดท้ายโชติได้มอบลิขสิทธิ์ ผู้ชนะสิบทิศ ให้กับ ชลอ รังควร ส่วนอีกหนึ่งงานสำคัญอย่าง สามก๊กฉบับวณิพก เขาได้มอบลิขสิทธิ์ให้กับนายเทียน เหลียวรักวงศ์ เพื่อนรุ่นพี่ผู้ที่เขาถือว่ามีพระคุณกับเขาอย่างมาก สิ่งนี้จึงย้ำว่าในชีวิตคนคนหนึ่งเกี่ยวพันกับคนอีกมากมาย ในงานเขียนนามปากกา ยาขอบ เองก็อาจไม่สำเร็จลงได้ด้วยตัวของเขาคนเดียว ตลอดชีวิต โชติ แพร่พันธุ์ มีมือของมิตรจากทุก ๆ ทิศที่ค่อย ๆ ผลักดันเขาให้กลายเป็น ยาขอบ และเขาเองก็ตอบแทนโดยการมอบงานเขียนที่ดีและตั้งใจกลับไป…หากอุปมาชีวิตของยาขอบเป็นนวนิยาย ผู้ชนะสิบทิศ เขาเองก็เต็มไปด้วยมิตรร่วมรบทุกทิศด้วยเช่นกัน
อ้างอิง
- นักเขียนไทยใน “วงวรรณกรรม”. อาจิณ จันทรัมพร. สำนักพิมพ์ดอกหญ้า. 2550
- ชีวประวัติและการประเมินคุณค่าผลงานวรรณกรรมเรื่องสำคัญ ๆ ของ “ยาขอบ” (โชติ แพร่พันธุ์). ผ่องพรรณ (สิมศิริ) ลวนานนท์.จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. 2520
- https://www.samkok911.com/2013/12/tk-performers-ebook-pdf.html
- http://www.thaiwriter.org/writers/chot_prapan/chot.htm