สุพิชชา โตวิวิชญ์ : สถาปนิกผู้ร่วมฟื้นชุมชน ด้วยสกิลของคนออกแบบบ้าน
- ผศ. ดร.สุพิชชา โตวิวิชญ์ ดีกรีด้านออกแบบสถาปัตยกรรมและด้านวางแผนการพัฒนาจากอังกฤษ ผู้อยู่เบื้องหลังงานศิลปะชุมชนที่คึกคักที่สุดในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาอย่าง New World x OldTown
- จากวิทยานิพนธ์ ป.โท เรื่องสถาปัตย์ในสลัม ที่ ผศ. ดร.สุพิชชา มองสลัมเหมือนมุมมองสถาปนิกทั่วไปในแง่ที่เน้นแต่ตัววัตถุ พื้นผิว วัสดุกับองค์ประกอบ แต่ไม่เห็นผู้คนที่อาศัยอยู่ในนั้น ปัจจุบันเธอหันมาสนใจในสาขาพัฒนาสังคมชุมชน และลุยงานภาคสนามทางด้านสถาปัตย์กับชุมชนและท้องถิ่น
ในช่วงกลางเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ระหว่างที่กรุงเทพฯ กำลังเริ่มจะฟื้นตัวจากพิษไข้ไวรัส ณ มุมหนึ่งอันเงียบเหงาของสี่แยกบางลำพู ที่ปกติคึกคักด้วยพ่อค้าแม่ขายและนักท่องเที่ยวต่างประเทศอย่างหนาแน่นกลับมีกลุ่มคนมุงด้านหน้าอาคารร้างขนาดมหึมาที่เคยเป็นศูนย์กลางของย่านนี้ พวกเขาคอยมุดเข้ามุดออก ทำให้อดีตห้างสรรพสินค้าใหญ่ดูคล้ายกำลังถูกปลุกให้ตื่น หลังจากหลับใหลชั่วคราวไปเกือบสองทศวรรษ
New World x OldTown คือชื่อกิจกรรมที่จัดโดยกลุ่มนักศึกษาคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ซึ่งสามารถเปิดประตูเหล็กที่ถูกปิดตายมาหลายปีของอดีตห้างดังอย่าง นิวเวิลด์บางลำพู ขึ้นมาได้ จากตอนแรกกะเกณฑ์ว่าจะเป็นโครงการที่มุ่งเน้นให้คนในย่านค้าขายเก่าแก่ของเกาะรัตนโกสินทร์แห่งนี้มาทบทวนข้อมูลประวัติศาสตร์ชุมชนกลับกลายเป็นปรากฏการณ์เล็ก ๆ ที่ดึงเอาผู้คนนับร้อยนับพันมาเข้าร่วม ทั้งที่เพิ่งประชาสัมพันธ์ไปในระยะเวลาอันสั้น
ด้วยผลของการได้รับความสนใจเป็นอย่างมากตามโซเชียลมีเดียประกอบกับความน่าสนใจของพื้นที่ ที่ดึงดูดทั้งคนรุ่นใหม่ที่เกิดไม่ทันได้สัมผัส และคนรุ่นเก่าที่อยากรื้อฟื้นความทรงจำกับสิ่งที่ถูกปิดซ่อนด้านในของอาคารมานาน ผลก็คือความเหน็ดเหนื่อยของทีมงานวัยหนุ่มสาวจากรั้วศิลปากรที่พากันวิ่งวุ่นไปมาตลอดเกือบสองสัปดาห์ในวันงาน
หากเข้าชมอย่างเผินๆ ก็จะไม่สังเกตว่ามีอาจารย์สตรีท่านหนึ่งที่ดูลุยงานกลมกลืน ไม่ต่างจากลูกศิษย์ของเธอที่อยู่รายล้อม ผศ. ดร.สุพิชชา โตวิวิชญ์ ดอกเตอร์สาวที่มีดีกรีทั้งด้านออกแบบสถาปัตยกรรมและด้านวางแผนการพัฒนาจากอังกฤษผู้นี้ลุยทุกขั้นตอนไปพร้อมกับลูกทีมของเธอ แม้กระทั่งวันที่ต้องวิดน้ำออกหลังจากฝนตกลงมาท่วมพื้นที่การจัดการ
“New World x OldTown” ไม่ใช่โครงการแรกที่ สุพิชชา หรือที่ลูกศิษย์ของเธอเรียกว่า อาจารย์หน่อง ลงพื้นที่กับชุมชนในการประยุกต์เอาทักษะการออกแบบและการจัดการด้านสถาปัตยกรรมกับชุมชนมาใช้ แต่นับเป็นโครงการที่เปิดให้เธอได้เป็นที่รู้จักของคนทั่วไปและคนที่สนใจงานการพัฒนาและอนุรักษ์เมืองมากขึ้นได้อย่างดีทีเดียว
Sarakadee Lite ชวนมาทำความรู้จักกับตัวตนของหัวหน้าทีมไฟแรง ตลอดจนเบื้องหลังของโครงการ และร่วมถอดองค์ความรู้จากโครงงานล่าสุดที่เธอเพิ่งคืนพื้นที่ไป
จากออกแบบบ้าน มาสู่ออกแบบเมืองและชุมชน
“หน่อง(ชื่อเล่น) จบทั้งตรีและโทที่ศิลปากร ด้านสถาปัตยกรรมโดยตรงเลยค่ะ แต่ตอนทำ วิทยานิพนธ์ ป.โท จับเรื่องสถาปัตย์ในสลัม ซึ่งก็ทำแบบไร้เดียงสามาก มองเหมือนสถาปนิกทั่วไป ที่เน้นแต่ตัววัตถุ เห็นแต่พื้นผิว วัสดุกับองค์ประกอบ แต่ไม่เห็นผู้คนที่อาศัยอยู่ในนั้น ไม่ได้รู้สึกถึงความต่างของผู้คนในสลัม หรือชุมชน”
แต่นั่นก็กลายเป็นจุดเริ่มของความสนใจของสุพิชชาต่อโลกการออกแบบในแนวที่ไม่เป็นทางการ ของผู้คนในสลัม ก็หันไปเรียนต่อโทที่อังกฤษอีกใบ ด้าน Development Practice ภายใต้ร่มของวิทยาลัยด้านสถาปัตย์ที่ Oxford Brooks University จนไปต่อจบปริญญาเอก ที่ University College of London คณะ Development Planning Unit ซึ่งศึกษาการใช้องค์ความรู้หลากหลายสาขาสำหรับงานการพัฒนาสังคมชุมชน
“ตอนเรียนช่วงแรกก็ยากลำบากมากสำหรับคนจบสถาปนิกอย่างเราหลังจากจบก็กลับมาเป็นอาจารย์ ควบคู่กับทำงานวิจัยและงานภาคสนามทางด้านสถาปัตย์กับชุมชนและท้องถิ่น”
จูงเด็กสร้างบ้านมาตกตะกอนความคิด ณ ชุมชน
“New World x OldTown” ไม่ใช่งานแรกของสุพิชชาที่ทำกับชุมชนบางลำพู เมื่อ 3 ปีก่อน เธอกับนักศึกษาเคยทำโครงการ และแฟนเพจที่ชื่อ Barefood :Banglamphu Street Kitchen Story ซึ่งแม้จะไม่ได้มีเนื้อหาเชื่อมกันโดยตรงกับงานครั้งนี้ แต่ทีมคนทำหลักมีความเกี่ยวข้องกัน
“ในหลักสูตรบัณฑิตศึกษา สาขาวิชาสถาปัตยกรรมพื้นถิ่น มีวิชาอนุรักษ์และพัฒนาชุมชนที่สอนอยู่ ซึ่งการเรียนการสอนจะมีให้ นักศึกษาหัดทำโครงการจุดประกาย เชิง Catalyst Project เมื่อ 3 ปีก่อน บางลำพูมีข่าวจะถูกจัดระเบียบ ตัวเองและนักศึกษาสนใจใน Street Food ของย่านบางลำพูอยู่แล้ว เลยลงมาเก็บข้อมูลของตัวอาหารข้างทางในย่านนี้
“ส่วนตัวไม่เคยวิจัยย่านบางลำพูมาก่อน ไม่ได้รู้จักพื้นที่เลย นักศึกษาเองก็เช่นกัน แต่พอได้ลงพื้นที่ ก็พบว่ามีมรดกทางวัฒนธรรมอาหารสูงมาก แม้หน้าตาดูเป็นอาหารรถเข็น อาหารตามสั่ง ราคาถูก จากข้อมูลที่เก็บ ทำให้ทราบว่าความพิถีพิถันในทางการทำอาหารยังอยู่ วัตถุดิบหลายอย่างเป็นอะไรที่ไม่ใช่หากินได้ง่าย ๆ ทำให้เรารู้สึกว่าเป็นย่านที่น่าสนใจ แม้ว่าในทางสถาปัตยกรรมที่เป็นแค่ตึกแถวธรรมดา อาจจะไม่ได้ดูน่าสนใจมากนักหากมองการอนุรักษ์เป็นแค่เรื่องความงามของอาคาร”
แล้วสุพิชชากับทีมก็พักจากบางลำพูไป 2-3 ปี ไปทำพื้นที่อื่นบ้าง อย่าง คลองบางหลวง ท่าเตียน ปากคลองตลาด ซึ่งก็ล้วนแต่จุดประกายทีมงานเองแต่พอปีที่แล้วมีข้อมูลออกมาว่าเจ้าของผืนที่ดินของตัวห้างนิวเวิลด์เองกำลังได้สิทธิจัดการพื้นที่กลับมาเต็มรูปแบบ และกำลังศึกษาความเป็นไปได้ของการใช้สอยพื้นที่ ซึ่งเผอิญเจ้าของเป็นเพื่อนกับเธอพอดี การแลกเปลี่ยนข้อมูลกันเพื่อประโยชน์การฟื้นฟูจึงเกิดขึ้นในฐานะที่เคยมาลงพื้นที่นี้มาก่อน และตระหนักถึงศักยภาพที่สูงของย่าน
New World with New Way: Old Town through Old Objects
สำหรับผู้เชี่ยวชาญด้านสถาปัตยกรรมเพื่อชุมชนและท้องถิ่น และเคยจับนำโครงการวิจัยมานำเสนอด้วยกลวิธีที่สร้างสรรค์มาหลายครั้งแล้วอย่างสุพิชชา จากที่มีโอกาสได้เข้ามาในพื้นที่ของอดีตห้างนิวเวิลด์ควบคู่กับรู้จักมักคุ้นกับเจ้าของที่ดินเป็นการส่วนตัว แนวคิดในการทำกิจกรรมบางอย่างที่ไม่ธรรมดาก็เลยวิ่งเข้ามาในหัวของเธอ
“คุยไปคุยมา ก็เลยเสนอว่ามาทดลองอะไรกันดีกว่า เป็นอะไรที่ไม่เป็นทางการ จะเรียกว่านิทรรศการก็ไม่เชิง แค่อยากแสดงให้เห็นว่าห้างนี้เคยเป็นอะไรกับคนในชุมชนบ้าง ถือโอกาสไปผนวกกับกิจกรรมของคณะสถาปัตย์ที่ได้ทุนโครงการบริการวิชาการสู่ชุมชนจากคณะมาสนับสนุนส่วนหนึ่ง ให้นักศึกษาระดับปริญญาตรี ลองใช้ไซต์ (site) นี้สร้างสรรค์งานต่างๆคือให้นักศึกษาทำ Sketch Design คิดจินตนาการการปรับปรุงอาคารนิวเวิลด์ให้กลับมามีชีวิตอีกครั้ง ต่อมาก็คิดว่า แสดงแต่งานนักศึกษาอย่างเดียวก็คงน่าเบื่อ เลยคิดถึงการเล่าเรื่องย่านด้วย”
ด้วยความพยายามที่จะสรรหาวิธีนำเสนอข้อมูลดิบเกี่ยวกับย่านบางลำพู โชคดีที่สุพิชชาได้ตัวช่วยอย่างงานวิจัยของกลุ่มเยาวชนชมรมเกสรลำพูที่ได้ทำไว้ก่อนหน้า ซึ่งได้ทำการสัมภาษณ์ผู้เฒ่าคนเก่าคนสำคัญตามจุดต่าง ๆ ทั่วบางลำพูไว้บ้างแล้ว จึงเป็นที่มาส่วนหนึ่งของมุมแสดง 20 object x 20กลุ่มคน โดยไล่เรียง Object ที่เป็นของดีผลิตภัณฑ์เด่นจากแต่ละจุดของบางลำพู ที่จัดได้ว่าเป็นศูนย์การค้ายุคโบราณแห่งแรก ๆ ของเมืองหลวง ไม่ว่าจะเป็น ชุดนักเรียน เครื่องสังฆภัณฑ์ ของไหว้เจ้า อุปกรณ์เย็บปักถักร้อย และที่ขาดไม่ได้อย่างอาหารการกิน
“ทีมเราจากม. ศิลปากร ในฐานะคนนอกชุมชน จะให้เล่าประวัติศาสตร์ชุมชนอย่างไรก็ไม่ดีเท่าคนในชุมชนเล่าเรื่องราวของพื้นที่ตนเอง โชคดีที่ได้มาพบน้อง ๆ จากเกสรลำพู ซึ่งมีความสนใจร่วมกัน แถมยังมาช่วยเป็นไกด์ให้กับผู้ที่เข้ามาชมอีกด้วย”
แต่ทีมนักศึกษาทั้งจากปัจจุบันและอดีตก็มีส่วนร่วมสำคัญ ในการนำทักษะการออกแบบที่ถนัดมาปรุงแต่งการนำเสนอ และการสร้างบรรยากาศของพื้นที่ให้น่าสนใจขึ้น ตัวอย่างเช่น Lighting Installation จากฝีมือของศิษย์เก่าที่จับเอาภาพปลามาโยงกับเรื่องราวที่ว่าเคยมีบ่อปลายักษ์ช่วงห้างปิดร้างมาก่อน ซึ่งเป็นเทคนิคที่ประหยัด และครอบคลุมพื้นที่อาคารขนาดใหญ่ได้
“จุดประสงค์หลักของโครงการนี้คือเก็บรวบรวมความทรงจำ ให้ผู้คนมาแลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับสถานที่ แต่ถ้าพื้นที่รกร้าง ว่างเปล่า ไม่มีอะไรน่ารื่นรมย์ ที่จะส่งเสริมให้เกิดจินตนาการ คงไม่สนุกนัก เราจึงเลือกใช้การออกแบบเป็นเครื่องมือและตัวช่วยในการสร้างบรรยากาศ กระตุ้นให้เกิดจินตนาการและความทรงจำ ช่วยให้การรื้อฟื้นเรื่องราวน่ารื่นรมย์ขึ้น”
อนุรักษ์เพื่ออนาคต อนาคตของงานอนุรักษ์
จากกระแสตอบรับอย่างท่วมท้น ผู้คนจำนวนมากต่างหมายปองที่จะถูกคัดเลือกให้เข้าไปชมภายในห้างร้างที่เคยมีข่าวมากมายซึ่งหลายต่อหลายคนถามต่อว่า หลัง “New World x OldTown”แล้วสุพิชชาและทีมจะทำอะไรต่อ
“ก็ยังอยากทำอะไรที่สัมผัสเข้าหาชุมชนอยู่ค่ะ แต่ยังคิดไม่ออก (หัวเราะ) การนำนักศึกษาออกมาสัมผัสโลกจริงเชิงสร้างสรรค์แบบนี้ แม้ไม่ได้เกี่ยวกับการออกแบบอาคารโดยตรงแต่ทำให้พวกเขาเข้าใจมนุษย์ในฐานะผู้อยู่อาศัยและผู้ใช้สอยอาคารที่สถาปนิกออกแบบมากขึ้น และทำให้เห็นว่าชุมชนคือกลุ่มคนที่มีความต้องการหลากหลายเวลานักศึกษาจะไปออกแบบอะไรก็จะได้ตระหนักว่ามันกระทบคนในชุมชนในมิติต่างๆมายมาย”
อย่างไรก็ตาม ทางทีมของสุพิชชาเองมีเวลาเตรียมงานนี้ไม่กี่เดือน โดยเริ่มเมื่อปลายปี และวางไว้ว่าจะจัดช่วงมีนาคม แต่ก็มาติดสถานการณ์โรคระบาดเสียก่อน ตัวเธอยอมรับว่าสิ่งที่เห็นที่แสดงก็มาจากการด้นสดเสียเยอะ
“เราเริ่มจากความไม่รู้จริง ๆ ว่าคนในชุมชนมองอาคารนี้อย่างไรเป็นแต่แง่มุมลบตามภาพข่าวที่เราเคยเสพมาหรือเปล่าเลยเริ่มแบบเกร็งๆ กล้าๆกลัว ๆ กระทั่งในกระบวนการต่าง ๆ ตั้งแต่การเตรียมงานจนถึงวันงาน เราเองก็ได้เรียนรู้และมีความเข้าใจต่ออาคารและย่านมากขึ้นเรื่อย ๆ ว่าห้างนิวเวิลด์สำหรับคนในย่านคือความมีชีวิตชีวา คือความสุขในชีวิตประจำวันและนี่คือความสนุกของคนจัดงาน มันทำให้เรารู้สิ่งที่เราไม่เคยรู้มาก่อน แต่ละวันของงานก็ไม่เหมือนกัน ผู้คนหลั่งไหลเอาความทรงจำใหม่ ๆ ของเขามาเติมให้เรา ด้วยตัวห้างที่ไม่ได้เก่าแก่พอที่จะไปถูกบันทึกไว้ในหอจดหมายเหตุ หรือเอกสารสำคัญทางประวัติศาสตร์ใดๆการใช้การจัดงานนี้เป็นเครื่องมือในการรวบรวมเรื่องราว เลยทำให้เราได้ข้อมูลจากความทรงจำของผู้คนในย่านจำนวนมากมายได้”
ณ ตอนนี้ แม้ว่ากิจกรรมดังกล่าวจะจบลงไปแล้ว แต่แฟนเพจ บางลำพู everyday ยังคงลงข่าวความเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่อง ทั้งด้านที่เกี่ยวข้องกับสมาชิกชุมชนเอง และแง่มุมสำหรับคนภายนอก หลังจากความสำเร็จที่ได้จากการยอมแง้มประตูที่ปิดตายของอดีตห้างในตำนานในครั้งนี้ไปแล้ว คงได้แต่รอว่าเจ้าของพื้นที่ ฝ่ายที่เกี่ยวข้อง และผู้คนในย่านเก่าแก่แห่งนี้ จะนำข้อมูลที่ผุดโผล่อย่างท่วมท้นไปใช้ให้เป็นประโยชน์ต่อ บางลำพู ใน Next Day และช่วงลำดับเวลาต่อไปอย่างไร ซึ่งคงพ้นจากหน้าที่ของสุพิชชาและทีมงานของเธอไป
ขอบคุณภาพ : Buncha Lekkong, ผศ. ดร.สุพิชชา โตวิวิชญ์, บางลำพู everyday