แด่ A little letter from someone somewhere นิทรรศการในฝันของ SUNTUR
Faces

แด่ A little letter from someone somewhere นิทรรศการในฝันของ SUNTUR

Focus
  • A little letter from someone somewhere นิทรรศการครั้งใหม่ล่าสุดของ SUNTUR ที่จัดแสดงผลงานพร้อมซาวด์ประกอบจาก 26 ศิลปินที่มาร่วมตีความสร้างสรรค์บทเพลงจากภาพวาดในนิทรรศการนี้
  • นอกจาก Painting And Sound ยังมีในส่วนของระลึกที่ต่อยอดมาจากภาพวาด เช่น กลิ่นจากภาพที่ได้จากการตีความของแบรนด์ Everyday Karmakamet

หากเอ่ยชื่อ SUNTUR ขึ้นมาในนาทีนี้ แน่นอนว่างานวาดสไตล์มินิมัลเป็นสิ่งแรกสุดที่เรานึกถึง ด้วยสไตล์การวาดที่ชัดเจนอันมีอิทธิพลมาจากความชอบส่วนตัวของ SUNTUR หรือ ซันเต๋อ-ยศนันท์ วุฒิกรสมบัติกุล ซึ่งนอกจากงานภาพประกอบที่โลดแล่นอยู่บนปกหนังสือ พ็อกเก็ตบุ๊ก กระเป๋าผ้า เคสโทรศัพท์ไปจนถึงของพรีเมียมแบรนด์ต่าง ๆ แล้ว อีกพาร์ตหนึ่งในฐานะศิลปิน หลังจากที่เขาตัดสินใจไปใช้ชีวิตที่นิวยอร์กเมื่อราว 2 ปีก่อน ซันเต๋อก็ได้ลงมือวาดและพาผลงานของเขากลับมาจัดแสดงเป็น Zero Decibel A Solo Exhibition นิทรรศการเดี่ยวที่ประเทศไทยครั้งแรกในชีวิต 

ตุลาคมนี้ นิทรรศการครั้งใหม่ของเขากำลังจะกลับมาในชื่อ A little letter from someone somewhere ที่ JWD Art Space วันที่ 24 ตุลาคม-24 พฤศจิกายน 2563 นิทรรศการภาพบวกเสียงที่เขาว่าเหนื่อยที่สุด เพราะทั้งคิดโปรเจกต์เอง ลงทุนเอง หาสถานที่เอง ชวนศิลปินเอง แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็เป็นโปรเจกต์ในฝันที่เขาเองก็อยากให้เกิดขึ้นมากที่สุดเช่นกัน

“เราเริ่มวาดโปรเจกต์นี้เมื่อปี 2018 ตั้งแต่ยังไม่กลับจากนิวยอร์กเลย จริง ๆ งานนี้เราจะทำนานแล้ว แต่ต้องเลื่อนด้วยงานไม่พร้อมบ้าง เจอโควิด-19 บ้าง ก็เลยเลื่อนมาถึงเดือนตุลาคม 2563 ในงานจะมี 25 ภาพที่จัดแสดง คอนเซ็ปต์จริง ๆ ของนิทรรศการนี้คือเมสเสจที่ส่งจากคนหนึ่งไปถึงอีกคนหนึ่ง ซึ่งมีทั้งเมสเสจจากตัวเราเอง จากเพื่อน จากที่เราไปเจอมาบนอินเทอร์เน็ต หรือเรื่องราวที่เข้ามาในชีวิตเรา แล้วเราดึงคำเหล่านั้นมาสร้างเป็นภาพ” 

“แกนหลักของนิทรรศการนี้คือเมสเสจที่เราอยากส่งต่อ เราคิดชื่ออยู่นานเหมือนกัน แต่ไปสะดุดกับคำว่า A little letter เหมือนเป็นการเล่นคำ little letter แล้วก็ someone somewhere เพราะว่างานของเราส่วนใหญ่จะมีคาแรกเตอร์ตัวเล็ก ๆ เราก็เลยเปรียบจดหมายฉบับเล็กกับคาแรกเตอร์ตัวเล็ก ๆ ที่เราวาดลงไปในงาน เลยได้ออกมาเป็นชื่อนี้”

ซันเต๋อเล่าถึงที่มาของนิทรรศการที่เขายังคงสร้างสรรค์ภาพทั้งหมดด้วยสีอะคริลิกแบบที่ชอบ ก่อนที่บทสนทนาจะดำเนินต่อ

“เหมือนตอนนั้นเราเจออะไรมาก็วาดเก็บไว้ แล้วพอมีสถานที่จัดแสดงแน่นอนแล้ว ก็เหมือนเรามีกำหนดวันที่จะทำ หลังจากนั้นโปรเจกต์ก็รันเร็วขึ้น เพราะก่อนหน้านี้เรารู้แค่ว่าจะจัดแสดงแหละ แต่ไม่รู้ว่าเมื่อไรก็วาดเก็บไว้ แต่พอได้จัดแสดงที่ JWD ก็เหมือนเป็นการบังคับว่า โอเค โปรเจกต์นี้มันจะเป็นรูปเป็นร่างจริง ๆ แล้วนะ”

ซึ่งการกลับมาครั้งนี้เขาไม่ได้มาแค่ภาพ แต่มีสิ่งที่เพิ่มดีกรีความตื่นเต้นให้แฟน ๆ ของ SUNTUR เข้าไปคูณสิบนั่นคือการเพิ่มมิติของงานด้วยการชักชวน 26 นักร้องนักดนตรีมาสร้างสรรค์ซาวด์ประกอบให้กับภาพของเขา ซึ่งแต่ละรายชื่อที่ปรากฏอยู่ในโปสเตอร์งานก็ทำให้แฟน ๆ อดตื่นเต้นไปด้วยไม่ใช่น้อย 

“จริง ๆ เราอยากทำภาพกับเพลงมานานแล้ว แต่เราก็รู้สึกว่าเรายังไม่พร้อม ด้วยอายุหรืออะไรแบบนี้ ช่วงก่อนหน้านี้ก็คิดว่าศิลปินที่เราอยากให้เขามาทำด้วย เขาจะยอมทำไหม แต่ปีนี้เรารู้สึกว่าพร้อมแล้ว เลยลองชวนศิลปินมาทำซาวด์ประกอบให้”

ภาพ : fear less smile more

สิ่งทำให้รู้สึกว่าพร้อมแล้วคืออะไร

ด้วยสไตล์งานครั้งนี้ เรารู้สึกว่างานเราเป็นงานเล่าเรื่อง มันไม่ใช่งานสกิลที่ โห… วาดได้ไง คือเราก็ไม่ได้วาดเก่ง แต่เราว่าจุดแข็งของงานเซตนี้คือสตอรี่ที่เหมาะจะเอาไปทำเป็นเพลงได้ ไม่รู้ทำไม เราก็อายุ 31 ปีแล้ว อยากทำโปรเจกต์ที่อยู่ในฝันมานานให้เป็นจริงสักทีเลยเริ่มติดต่อศิลปิน

ทำไมถึงอยากทำงานภาพคู่กับเพลง

เรารู้สึกว่าภาพอย่างเดียวจริง ๆ มันก็ทำหน้าที่ของมันได้ แต่พอถูกนำไปทำเป็นซาวด์ที่อินสไปร์มาจากภาพต่อไปอีกด้วยศิลปินเก่ง ๆ จะทำให้คนที่มาดูงานมองภาพได้นานขึ้น ลึกขึ้นแล้วก็รู้สึกว่าเพลิดเพลินกับการมองภาพ เราอยากให้คนที่มาดูงานใช้เวลากับเอกซิบิชันได้นานที่สุด คือเราว่าศิลปินทุกคนคิดแบบนี้ เราก็เลยคิดว่าจะดึงความสนใจของคนที่มาดูงานอย่างไร อย่างน้อยให้คิดว่าเรื่องของภาพมันเล่าอย่างไร เลยคิดว่าภาพกับเพลงมันน่าจะไปด้วยกันได้

เลือก 26 ศิลปินนี้อย่างไร

เราเลือกศิลปินจากภาพก่อน เราทำภาพเสร็จก่อนแล้วก็มาเลือกดูว่าภาพนี้เหมาะกับศิลปินวงไหน เหมาะกับใคร หรือบางภาพที่เราเลือกไม่ได้ก็จะส่งไปให้ศิลปินเลือก ประมานว่ามี 3 ภาพที่เราคิดว่าเหมาะกับเขา ก็จะส่งไปให้เขาเลือกว่า เขาอยากทำรูปไหนหรืออินสไปร์จากรูปไหนได้ เพลงที่ออกมามีหลากหลายมาก ทั้งเป็นซาวด์เฉย ๆ หรือแบบมีเนื้อร้อง เราไม่มีโจทย์ให้เขาเลย แล้วก็ไม่มีการแก้งาน คือเหมือนชวนมาโชว์งานด้วยกันมากกว่า เราแค่ส่งรูปไปให้ เขาอินสไปร์อย่างไร เราแล้วแต่เลย

การทำงานกับศิลปินเป็นอย่างไรบ้าง

หลัก ๆ เราจะรับผิดชอบเรื่องภาพ เราทำภาพของเราให้ดีที่สุด เรื่องราวทั้งหมดของภาพก็จบที่เราแหละ ศิลปินเขามีหน้าที่เอาไปอินสไปร์เป็นซาวด์ต่อ ศิลปินบางคนก็อาจจะตีความมาไม่เหมือนเราเลย อย่าง Stoondio เขาได้ภาพที่มีเด็กกับหมาไป เขาไปตีความออกมาเป็นเพลงที่เล่าจากหมามาถึงคน มันเลยทำให้รู้สึกว่าการทำโปรเจกต์นี้เปิดโลกเรามาก เพราะว่าคนมีไอเดียเยอะมาก อย่างเพลงที่ Stoondio ทำมาก็เซอร์ไพรส์แบบ เออ มันจริงนะ เขาพูดในเรื่องของอายุคนกับหมาที่ไม่เท่ากัน หมามันอยู่ได้ไม่นานนะ อะไรแบบนี้

ซันเต๋อเองมีวิธีคิดงานแบบไหน

คิดงานส่วนใหญ่ก็จะมีบางรูปที่เป็นภาพที่อยู่ในหัว คิดจนนอนไม่หลับแบบอยากวาดรูปนี้ จะมีรูปหนึ่งที่เป็นรูปผู้หญิงผู้ชายจับมือกันแล้วปิดตาเดินไปในความมืด อันนั้นก็เป็นภาพที่อยู่ ๆ ก็ขึ้นมาในหัวเรา แต่ละภาพมันมีที่มาหลากหลาย บางอันเห็นภาพที่ชอบ หรือบางอัน เราได้มาจากคำที่เอามาตีความทำเป็นภาพต่อ บางอันก็เป็นเรื่องจากเพื่อนหรือคนรู้จักที่นั่งคุยกัน เราก็เอาเรื่องที่เราคุยมาคิดเป็นภาพ

เราไม่ได้มีวิธีการทำงานเป๊ะ ๆ ขนาดนั้น ส่วนใหญ่จะชอบคิดก่อนนอน สมมติเราได้คีย์เวิร์ดมา เช่นคำว่า ขอรอได้ไหม เราก็ไปนึกว่าถ้าเราจะพูดเรื่องการรอที่ไม่รู้ว่าเขาจะมาหรือเปล่า จะนึกถึงอะไร เรานึกถึงป้ายรถเมล์ แล้วในภาพก็จะเป็นป้ายรถเมล์ที่ไปอยู่ในสถานที่ที่ไม่น่ามีรถเมล์ผ่านมาอะไรทำนองนี้

ภาพ : everything you did,I’m proud

ส่วนใหญ่ภาพของซันเต๋อจะมีสถานที่กับคน

ใช่ ทุกอันคือ Someone กับ Somewhere เป็นอย่างนั้นเลยแหละทุกรูป จะมีสถานที่แล้วก็จะมีคน มันอาจจะไม่ได้เป็นคนขนาดนั้นแต่เป็น Object ที่เราใช้เล่าเรื่อง ประมานนั้น

ได้แรงบันดาลใจจากการไปที่ใดที่หนึ่งหรือเปล่า

ก็ด้วยครับ หรือบางทีเราดูยูทูบดูหนัง แล้วเราเห็นซีนที่สวยมาก ๆ เราก็อินสไปร์จากสิ่งเหล่านั้นได้

นิทรรศการนี้มีภาพส่วนหนึ่งวาดที่ไทย อีกส่วนวาดที่นิวยอร์ก ทำให้อารมณ์ของภาพออกมาต่างกันไหม

ต่างนะ พอไปดูแล้วมันต่าง จะรู้เลยว่าช่วงเวลาที่เราวาด เรารู้สึกอย่างไร แต่เรารู้อยู่คนเดียว เพราะเราก็ไม่ได้อยากบอกใครว่าอันนี้วาดตอนที่แฮปปี้มากเลยนะ มันอาจจะไม่ต้องบอก คือเรารู้สึกว่างานมันสื่อสารได้ในตัวของมันเอง แต่พอเราที่เป็นคนวาดไปมองก็จะรู้ว่าช่วงนั้นคงเศร้าเนอะ ด้วยสีที่ใช้ดูเศร้า

SUNTUR

หลายคนบอกว่าภาพของซันเต๋อดูเหงา

จริง ๆ นิทรรศการ Zero Decibel ที่จัดครั้งก่อนพูดเรื่องความเงียบ แล้วมีหลายคนถามว่าทำไมงานถึงดูเหงาจัง เราก็ไม่รู้เหมือนกัน บางงานก็แฮปปี้แล้วนะ แต่คนมาดูก็จะบอกว่ามันเหงา แล้วแต่คนมอง เราอาจจะเป็นคนที่ชอบเสพความเศร้า แต่จริง ๆ ไม่ได้เศร้านะ หมายความว่า ชอบดูหนังเศร้า หนังซึ้งหรือหนังที่ให้อารมณ์อะไรสักอย่างกับเรา ฟังเพลงจะไม่ค่อยชอบเพลงมีความสุข คือฟังเพลงยิ่งเศร้า เราจะรู้สึกว่า เขาทำได้อย่างไร เขาเขียนคำอย่างไรให้มันเศร้า เขาหยิบประเด็นไหนมา เราอาจจะชอบเสพอะไรอย่างนั้น งานมันเลยออกมาดูเหงา เรารู้สึกว่างานศิลปะที่ดีต้องทำให้คนรู้สึกอะไรสักอย่าง เศร้าก็ได้ มีความสุขก็ได้

ตั้งใจไว้ไหมว่าจะจัดนิทรรศการทุกกี่ปี

ไม่ได้ตั้งเลย ไม่ได้คิดว่าจะทำทุกปีนะ อันนี้น่าจะเกือบ ๆ 3 ปีจากนิทรรศการที่แล้ว เราก็รู้สึกว่ามันถึงเวลาที่จะทำแล้ว ไม่ได้บังคับว่าจบจากงานนั้นแล้วจะต้องมีใหม่เลย เพราะอันนี้ก็ใช้เวลามา 2 ปีกว่า ค่อย ๆ ทำ มีเวลาก็ทำเพราะว่าเราก็มีงานอื่นที่ต้องรับผิดชอบ มีงานภาพประกอบ ส่วนนิทรรศการจะเป็นเหมือนงานปลุกไฟ ไม่ให้ไฟมันมอดไป

ที่ว่า “ปลุกไฟ” เพราะมีอิสระกว่างานภาพประกอบหรือเปล่า

จริง ๆ เราชอบทำงานตามโจทย์นะ เรารู้สึกว่าเราสามารถพลิกแพลงได้ ถ้าไม่มีโจทย์มันจะกว้างเกินไป บางคนอาจจะชอบทำงานนอกกรอบ เราอยากให้มีกรอบให้เราแล้วเดี๋ยวเราจะทำให้มันไม่เหมือนเดิม ส่วนใหญ่จะชอบแบบนั้น ดูสนุก แต่ว่ากับนิทรรศการมันมีกรอบไหม ก็มีกรอบแต่เป็นสิ่งที่เราตั้งขึ้นมาเอง ว่าเราอยากจะเล่าเรื่องนี้

SUNTUR

ภาพไหนที่เอฟเฟกต์กับซันเต๋อที่สุด

ภาพนกคาบปลาเอฟเฟกต์ที่สุด ภาพนั้นคือเหมือนเราใช้ชีวิตอิสระที่นิวยอร์กนานแล้ว รู้สึกว่าถึงเวลาที่เราจะกลับไปดูแลคนที่บ้านได้แล้ว ก็เลยออกมาเป็นภาพนกบินอยู่บนท้องฟ้ากว้าง ๆ แบบกำลังจะกลับบ้านแล้ว ภาพนี้เป็นเหมือนเครื่องบันทึกไว้เลยว่าครั้งหนึ่งเราเคยอยู่นิวยอร์กแล้วเรามีความคิดแบบนี้ จนวันนี้เราขนงานที่เราวาดกลับมาที่ไทย แล้วก็มาขายมันเพื่อเลี้ยงคนในครอบครัว มันก็เลยตอบโจทย์ว่าเราชอบรูปนั้น เพราะมันมีที่มาที่ไปจากตัวเราจริง ๆ

คาดหวังกับนิทรรศการนี้ไว้อย่างไรบ้าง

อยากทำให้ดี เราก็หวังว่ามันจะออกมาดี เพราะเราก็ทำเต็มที่หวังให้คนที่มาดูอย่างน้อยก็รู้สึกเพลิดเพลินหรือได้อะไรกลับไปจากการมาดูเอกซิบิชันของเรา อันนี้เป็นโปรเจกต์ในฝันเลย คืออยากทำภาพกับเพลงที่คนมาดูงานแล้วใส่หูฟัง มองรูป อยากทำกับศิลปินในฝันหลาย ๆ คน คนอื่นเราไม่รู้นะ แต่ความฝันของเราคือคนมาดูงานที่เราวาดแล้วประทับใจ และรู้สึกว่าได้อะไรกลับไป

SUNTUR
ภาพ : let’s get lost

หมายเหตุถึง A little letter from someone somewhere

ในเย็นของวันที่เราสนทนากับซันเต๋อ เป็นวันแรกที่ อิ้งค์ วรันธร หนึ่งในเกสต์ของนิทรรศการนี้ ปล่อยเพลง Let’s get lost. เพลงประกอบแรกของนิทรรศการลงบนยูทูบซึ่งซันเต๋อเล่าว่าทุกคนจะสามารถฟังเพลงและชมภาพแบบออนไลน์จากยูทูบของแต่ละศิลปินที่จะทยอยปล่อยออกมาได้ แต่เหตุผลที่เขาอยากให้ไปชมงานจริงมากกว่า เพราะภาพถ่ายอาจเก็บอารมณ์บางอย่างออกมาไม่ได้แบบร้อยเปอร์เซ็นต์และถึงภาพจะดูมีองค์ประกอบน้อยแต่มีรายละเอียดเยอะมากที่อาจมองไม่เห็นจากภาพถ่าย

นอกจากการไปชมนิทรรศการที่เสมือนการเปิดจดหมายน้อย 25 ฉบับจากประสบการณ์ของซันเต๋อแล้ว เขายังหยิบคอนเซ็ปต์จดหมายออกมาให้ผู้ชมมีส่วนร่วม ด้วยการเปิดตู้จดหมายให้ผู้ชมได้หย่อนจดหมายถึงตัวเองในอีก 10 ปีข้างหน้า โดยที่เขาตั้งใจจะเก็บจดหมายทั้งหมดไว้และเอาไปส่งให้แต่ละคนเมื่อผ่านไปอีก 10 ปีจริง ๆ 

SUNTUR

“มีคนถามเหมือนกันว่า 10 ปีนานไปไหม แต่เราว่าไหน ๆ ทำแล้วก็ให้นานไปเลย เพราะ 5 ปีเราอาจจะยังไม่เปลี่ยนขนาดนั้น คือยังพอมองเห็นภาพตัวเอง แต่ถ้าพูดถึงอีก 10 ปี เราไม่รู้แล้วว่าอายุเท่านั้นเราจะเป็นอย่างไร เราไม่เห็นภาพ เลยตัดสินใจว่า 10 ปีดีกว่า แล้วจะเอาไปส่งให้ ถ้าเรายังอยู่ (หัวเราะ)”

ไม่เท่านั้น อีกหนึ่งมิติที่มาจากภาพวาดของซันเต๋อคือของที่ระลึกจากนิทรรศการ ที่เขาเปรยมาแล้วว่ามีการคอลแลบส์กับแบรนด์กระเป๋าอย่าง Madmatter, Arty&Fern Eyewear และที่พิเศษคือ Everyday Karmakamet แบรนด์เครื่องหอมและไลฟ์สไตล์ที่จะตีความภาพวาดออกมาเป็นกลิ่นผ่านโปรดักต์อย่างเทียนหอม หรือรูมสเปรย์ที่จำหน่ายเฉพาะในงานนี้ ซึ่งเราก็ลุ้นอยู่เหมือนกันว่าเขาจะเลือกภาพไหนและตีความออกมาเป็นกลิ่นแบบใดบ้าง

ระหว่างที่รอการมาถึงของนิทรรศการ อย่าลืมเตรียมความพร้อมด้วยการหยิบหูฟังและโทรศัพท์สำหรับสแกน QR Code เพื่อฟังซาวด์ประกอบใส่กระเป๋าเอาไว้ และสำหรับใครที่อยากเขียนจดหมายถึงตัวเองในอีก 10 ปีข้างหน้า ก็สามารถไปเขียนที่งาน หรือเตรียมจดหมายจากที่บ้านไปเองได้ ที่สำคัญคืออย่าลืมติดแสตมป์ 5 บาท เขียนที่อยู่และอีเมลสำหรับส่งจดหมายเอาไว้ แล้วนำไปหย่อนที่ตู้จดหมายในงานได้เลย แล้ว A little letter จากนิทรรศการที่เราเขียนในวันนี้จะเดินทางมาถึงเราในอีก 10 ปีต่อไป 

Fact File

  • A little letter from someone somewhere Paintings and Sounds Exhibition By Suntur And Pongsit Kampee / Thanachai Ujjin / Atom / Stamp / Polycat / Lula / Funky Wah Wah / Somkiat / The Darkest Romance / Ink Waruntorn / Mints / Zweed n’Roll / Gongkan & Brother / Nawapol Thamrongrattanarit / Another Day Another Render / Singto Numchok / Mon Monik / Nap a Lean / Safeplanet / Wanyai / Boss Kuno / Stoondio / The 10th Saturday / Q Flure / Salaporr / เขียนไขและวานิช
  • จัดแสดง 24 ตุลาคม – 24 พฤศจิกายน 2563 (เข้าชมฟรี)
  • JWD Art Space ซอยจุฬาลงกรณ์ 16 เวลา 10.00-19.00 น. (ปิดวันจันทร์)

ขอบคุณสถานที่ถ่ายภาพ : โรงแรม ดิ โอกุระ เพรสทีจ กรุงเทพฯ โทร. 02-687-9000 www.facebook.com/TheOkuraPrestigeBangkok


Author

สุกฤตา โชติรัตน์
มนุษย์ผู้ค้นพบพลังงานพิเศษจากประโยคในหนังสือ อาหารจานโปรดและเพลงที่ฟัง อยากเลี้ยงแมวและตั้งใจว่าจะออกไปมองท้องฟ้าบ่อยๆ

Photographer

ชยพล ปาระชาติ
11 ปีกับช่างภาพประจำนิตยสารสาย interior ปัจจุบันเป็นช่างภาพฟรีแลนซ์ ที่ยังมุ่งมั่นอยากให้ทุกภาพออกมางดงามที่สุดในทุกครั้งที่กดชัตเตอร์