เส้นทาง Illustrator ของ Sundae Kids ผู้มีหัวใจอยู่ที่เรื่องราว จากคอมมิกสู่ Graphic Novel
Faces

เส้นทาง Illustrator ของ Sundae Kids ผู้มีหัวใจอยู่ที่เรื่องราว จากคอมมิกสู่ Graphic Novel

Focus
  • Sundae Kids คือผลประกอบการของ 2 Illustrators อย่างโป๊ยเซียน-ปราชญา มหาเปารยะ และ กวิน เทียนวุฒิชัย ที่ริเริ่มเปิดเพจอัพเดตผลงานในนาม Sundae Kids มาตั้งแต่ช่วงก่อนเรียนจบ เพื่อหวังให้สิ่งนี้กลายเป็นงานประจำในแบบฉบับของตัวเอง
  • ปัจจุบัน Sundae Kids ก้าวเข้าสู่ปีที่ 6 กับผลงานที่ยังคงโดดเด่นในการสื่อสารเรื่องราว โดยเฉพาะภาพคอมมิกที่เร็ว ๆ นี้ได้ขยับขยายสู่ Graphic Novel ออกมาให้แฟน ๆ ได้ติดตามอ่านกัน

6 ปีมาแล้วที่ Sundae Kids ก้าวเข้าสู่วงการ Illustrator อย่างเป็นทางการ จากการริเริ่มเปิดเพจเฟซบุ๊กอัปเดตภาพผลงานลงสู่โลกออนไลน์ ระหว่างเลื่อนผ่านหน้าฟีด เราว่าไม่มากก็น้อยต้องเคยเห็นภาพคอมมิกสีหวานที่บรรจุโมเมนต์ชวนใจละลาย คาแรกเตอร์หนุ่มสาวกับบทสนทนาเรื่องราวความรักความสัมพันธ์ที่เชื้อเชิญเราให้หยุดดูไปพร้อมกับอมยิ้มได้เสมอ สำหรับใครที่ติดตามอยู่ก็มักจะเห็นปราดเดียวแล้วรู้ว่านี่คือผลงานของ Sundae Kids ซึ่งมีให้เห็นในสื่อที่หลากหลายตั้งแต่ภาพคอมมิก แอนิเมชัน ภาพประกอบหนังสือไปจนถึงการร่วมงานกับแบรนด์ดังมากมาย

โป๊ยเซียน-ปราชญา มหาเปารยะ

Sundae Kids เป็นผลประกอบการของ 2 Illustrator จากรั้วคณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยอย่าง โป๊ยเซียน-ปราชญา มหาเปารยะ และ กวิน เทียนวุฒิชัย ทั้งสองตัดสินใจเลือกปูเส้นทางของตัวเองตั้งแต่ช่วงเรียนมหาวิทยาลัย ชั้นปีที่ 4 ด้วยเส้นทาง Illustrator ในแบบฉบับลายเส้นของตัวเอง เส้นทางนั้นของพวกเขาจะเป็นอย่างไร Sarakadee Lite ขอถือโอกาสชวนพวกเขาพูดคุยถึงเรื่องราวที่ผ่านมากัน

สนใจศิลปะกันตั้งแต่เมื่อไร

กวิน : พ่อเราเป็นสถาปนิก พอโตมาเราก็ไม่ค่อยเก่งวิชาการอย่างวิชาคณิต ฟิสิกส์ ชีวะ แล้วคุณแม่จะชอบบอกว่าทำงานบริษัทพ่อมีข้อดีแบบนั้นแบบนี้นะ ไม่ต้องใช้ต้นทุนเยอะ ใช้เวลากับความคิดมากกว่า จริง ๆ เราก็จะเรียนสถาปัตย์ แต่พอได้ไปติววาดรูปคอร์สสถาปัตย์ อยู่ดี ๆ เขาก็บังคับให้เราเรียนดรอว์อิ้งก่อน ทั้งที่จริง ๆ ไม่ต้องเรียนก็ได้ แล้วพอเข้าไปเรียน คนที่ติวด้วยกันเขาก็จะออกแนวสายอาร์ต ซึ่งเขาได้เปิดโลกให้เราว่ามีศิลปะสาขาอื่น ๆ อยู่อีกมาก พอได้รู้จักจากตรงนั้น เราก็เลยเปลี่ยนสายมาเรียนศิลปกรรม

โป๊ยเซียน : เราชอบวาดรูปเล่นตั้งแต่เด็กแล้ว ตั้งแต่ก่อนเข้าอนุบาลคือถ้าไม่เล่นของเล่นก็จะชอบวาดรูป ที่บ้านเราค่อนข้างเปิดด้วยคืออยากเรียนอะไรก็ได้ พี่สาวเราสองคนก็จะเรียนเกี่ยวกับศิลปะเยอะ เรามีคนในครอบครัวที่ทำงานศิลปะเลยซึมซับมาแล้วก็วาดสนุก ๆ เราค่อนข้างรู้ตัวเร็วว่าเราอยากเรียนอะไร ช่วงม.4 ก็เริ่มคิดแล้วว่าถ้าอยากวาดรูปเป็นอาชีพ เราต้องเข้าคณะอะไร มันมีกราฟิกดีไซน์อยู่ แต่ตอนนั้นเรายังไม่รู้จัก เขาเขียนชื่อสาขาว่า เรขศิลป์ เราก็ไม่รู้ว่าคืออะไร ไม่เคยได้ยินมาก่อน ตอนนั้นก็เริ่มหาว่ามีคณะอะไร ศิลปะแบบไหนบ้างที่เราสามารถเรียนและทำเป็นอาชีพได้ เรารีเสิร์ชเยอะ ดูภาพศิลปะเยอะ เลยได้รู้จักมากขึ้นจากตอนนั้นแล้วก็สนใจมากขึ้นเรื่อย ๆ จนได้เข้าคณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ก็ได้เห็นอีกว่าจริง ๆ ยังมีอะไรเยอะกว่าที่เรารู้

Sundae Kids

จุดเริ่มต้น Sundae Kids 

โป๊ยเซียน : เราเริ่มเปิดเพจตั้งแต่ช่วงทำธีสิสตอนปี 4 ที่รีบทำก่อนเพราะเผื่อว่าถ้าเวิร์กเราจะได้ทำเป็นงานต่อได้เลย จริง ๆ กวินเป็นคนแพลนไว้ เพราะรู้ว่าเราอยู่กับอะไรที่ไม่ชอบไม่ได้เลย ถ้าอยู่เอเจนซีเราก็น่าจะอาการหนัก เพราะเราทำหลากหลายสไตล์ไม่ค่อยได้ ถ้าทำของตัวเอง เราก็จะกำหนดได้ว่าจะเป็นแบบไหน ตอนนี้ลูกค้าที่เข้ามาส่วนหนึ่งเขาก็อยากได้สไตล์งานของเราอยู่แล้วด้วย ซึ่งเราสามารถเจอกันครึ่งทางได้ เป้าหมายแรกคือเราอยากทำสิ่งนี้ให้เป็นงาน เราต้องการทำอะไรที่เป็นของเราเอง เลยตั้งเป้าไว้ว่า Sundae Kids จะเป็นอะไรที่เราจะทำในสิ่งที่อยากทำจริง ๆ ไม่ต้องขึ้นอยู่กับคนอื่น

ทำไมต้อง Sundae Kids 

กวิน : ช่วงปี 4 จำได้ว่าเราอยู่เชียงใหม่กันกับเพื่อน เราบอกไปว่าจะทำสิ่งนี้ขึ้นมา อยากให้ช่วยกันคิดชื่อหน่อย ทุกคนก็คิดมาเป็นคำ ๆ แล้วเราก็เหมือนเอามาจับเป็นคู่กันเพราะโป๊ยเซียนเขาก็ไม่อยากใช้ชื่อจริง เพราะรู้สึกว่าคำยาก ไป ๆ มา ๆ ก็เลยเป็น Sundae Kids 

โป๊ยเซียน : การตั้งชื่อเป็นส่วนที่ยากที่สุด (หัวเราะ) ตอนแรกก็คิดจากความหมาย แต่สุดท้ายเป็นชื่อนี้ เพราะพอฟังแล้วรู้สึกติดหูและดูเข้ากับสไตล์งานที่เราทำด้วย 

sundae kids

Sundae Kids ที่เริ่มต้นมาด้วยความเชื่อมั่น

โป๊ยเซียน : ตอนเริ่มทำคือความเชื่อล้วน ๆ เลย (หัวเราะ) เราอยากลองดูให้ถึงที่สุด อยู่ด้วยความเชื่อซึ่งก็ Struggle มาเป็นปีเหมือนกันที่ไม่มีเงินเข้าเลย ไม่มีงานเลยจริง ๆ แต่เราก็คิดว่าเอาให้ถึงที่สุด สุดท้ายถ้าไม่ได้จริง ๆ เราก็อาจจะต้องไปหางานประจำ เหี่ยวแห้งเลยช่วงปีแรก อันนี้คือเรียนจบแล้วนะ ตอนนั้นกวินไปทำงานประจำอยู่ เราก็พยายามนั่งวาดรูป อัปลงเพจ แต่ก็ยังไม่มีใครจ้างเพราะเราเพิ่งเปิดเพจมา ยังไม่มีใครรู้จักเท่าไร

กวิน : ระหว่างที่เรียน เราไปฝึกงานประจำมา 3 ที่ซึ่งเราก็รู้ตัวเองนะว่าไม่ชอบทำงานประจำ แต่ตอนเรียนจบเพื่อนทุกคนได้งาน ไปทำกราฟิกเฮาส์ โปรดักชัน เอเจนซีต่าง ๆ ตอนนั้นถึงเราไม่ชอบงานประจำ แต่เราก็ยังอยากมีงานประจำเพราะคนอื่นเขามีกัน แต่สุดท้ายเราก็ไปทำอยู่แป๊บเดียวแล้วออกมา ช่วงนั้นก่อนจะออกก็เคยบอกแม่ว่า จะออกมาแล้วทำอะไรประมาณนี้นะ แม่ก็จะพูดว่า ไม่เอา ไม่เวิร์ก แค่นี้แหละ เดือด ตอนนั้นเราก็คิดว่า…เดี๋ยวรู้กัน

ใช้เวลานานไหมกว่าครอบครัวจะยอมรับ

กวิน : สักพักหนึ่งเหมือนกัน แต่เขาก็พูดนะ ว่ามันเกินกว่าที่แม่คาดหมายไว้

โป๊ยเซียน : ผ่านปีแรกมา ปีที่สองเราก็เริ่มมีงาน เริ่มอยู่ตัวกันมากขึ้นแล้ว

Sundae Kids

คนเริ่มรู้จัก Sundae Kids จากอะไร

โป๊ยเซียน : คิดว่าเป็นการแชร์ต่อกันไป เพราะว่างานแรก ๆ ที่เราทำก็ไม่ได้เป็นงานใหญ่ งานภาพประกอบนิตยสารนิด ๆ หน่อย ๆ คนน่าจะรู้จักจากที่แชร์ต่อกันไป ช่วงแรกส่วนใหญ่ที่ติดตามจะมีแต่คนที่เรารู้จัก คนในคณะ รุ่นพี่รุ่นน้อง พอเริ่มแชร์กันเยอะ ก็น่าจะรู้จักกันจากตรงนั้น 

สไตล์งานช่วงแรกเป็นแบบไหน

โป๊ยเซียน : ตอนแรกมี Comic กับ Illustration ด้วย ลองทำหลาย ๆ อย่าง แต่มีช่วงหนึ่งที่เราตัดสินใจมาทาง Comic เลยเพราะเราอยากเน้นเนื้อเรื่อง เราคิดว่า Illustration ของเราพอไปเทียบกับหลาย ๆ คน สกิลเขาโหดแล้วก็หลากหลายมาก เราเลยหาจุดเด่นอื่นที่คิดว่าน่าจะสู้เขาได้ เลยเน้นไปทางภาพที่เล่าเรื่อง

แบ่งหน้าที่กันอย่างไร

โป๊ยเซียน : เราจะแยกกันคิดก่อนว่างานนี้ เราจะทำไปทางไหนได้บ้าง คิดกันมาให้ได้ 2-3 ไอเดีย แล้วมาดูกันว่าไอเดียไหนที่เวิร์ก จริง ๆ ขั้นตอนในการคิดแต่ละงานค่อนข้างเยอะ 

กวิน : หลังจากนั้นเราจะเป็นคนร่างก่อนว่าคนต้องอยู่มุมไหน ทำท่าทางอย่างไร แล้วโป๊ยเซียนจะเป็นคนวาดงานจริง พอเสร็จแล้วจะโยนกลับมาให้เราลงสี แล้วก็ส่งไปให้เขาเก็บรายละเอียดอีกที

โป๊ยเซียน : โยนกันไปโยนกันมา (หัวเราะ) สุดท้ายเราก็จะมานั่งอ่าน นั่งดูอีกทีว่าชอบหรือยัง คอมมิกบางอันที่เสร็จแล้วมาดูอีกทีเรายังไม่ชอบ ดองไว้อยู่ก็มีเหมือนกันนะ

สไตล์การวาดแบบ Sundae Kids

กวิน : เราปรับกันมาเยอะ ตอนแรกเขาวาดหลายสไตล์มากกว่านี้ แต่เราเป็นคนไกด์เขาว่าเหมือนยังไม่ค่อยใช่ ให้ทดลองวาดเพิ่มดู ช่วงนั้นเขาก็ลองหลากหลายทั้งสีน้ำ สีไม้ เหมือนเราก็ช่วยดูอันไหนที่รู้สึกใช่ก็เก็บไว้ แล้วก็พัฒนากันจนเคาะว่าเป็นแบบนี้แหละ ใช่แล้ว

โป๊ยเซียน : แต่หลังจากที่เลือกแล้ว เราก็ยังมีการปรับเปลี่ยนเรื่อย ๆ นะ บางครั้งก็เปลี่ยนไปโดยที่เราไม่รู้ตัว ขึ้นอยู่กับอะไรที่มีอิทธิพลกับเราในช่วงนั้น เราชอบงานสไตล์แบบไหน เวลาวาดมันก็จะมาอยู่ในลายเส้นเรา 

กวิน : เป็นการพัฒนามากกว่า เช่นสมัยก่อนที่เขาวาด รูปทรงอาจจะคล้ายคนจริง แต่ตอนนี้ด้วยสัดส่วนก็จะคล้ายการ์ตูนมากขึ้น ซึ่งทำให้สีที่เราเลือกใช้ต้องเปลี่ยนไปด้วย

โป๊ยเซียน : กวินจะเป็นคนลงสีทั้งหมด พอสไตล์ที่เราวาดเปลี่ยน กวินก็ต้องคอยเปลี่ยนสีตามเรื่อย ๆ เพราะว่าสีในตอนนั้นมันใช้ไม่ได้กับสไตล์นี้แล้ว แต่มันก็ไม่ได้เปลี่ยนสไตล์ไปเลยแบบทันทีนะ อยู่ ๆ เราก็วาดเอง เหมือนตอนเด็ก ๆ ที่เราอ่านการ์ตูนญี่ปุ่นหลาย ๆ เล่ม แล้วพอกลับไปเทียบเล่มที่หนึ่งกับเล่มที่สิบ ก็มีนักเขียนหลายคนมากที่เรารู้สึกว่าทำไมหน้าการ์ตูนเปลี่ยนไปแล้ว ตอนนั้นเราก็ไม่เข้าใจ แต่ตอนนี้เราก็เข้าใจแล้วว่าที่เป็นแบบนั้น มันขึ้นอยู่กับอะไรที่เราได้รับหรือความชอบในช่วงนั้นด้วย แล้วเราก็ยังเชื่อว่ามันก็จะค่อย ๆ เปลี่ยนไปเรื่อย ๆ อีก

ในงานหนึ่งชิ้นจะมีตัวตนของทั้งสองคนอยู่อย่างไรบ้าง

โป๊ยเซียน : จริง ๆ คอมมิกจะค่อนข้างมีความเป็นเราสูง บางเรื่องก็จะเป็นโมเมนต์ที่เราชอบ หรือเจออะไรแล้วมาตีความผ่านความเป็นเรา มันเป็นเรื่องที่ถ้าเราเล่าจะเล่าแบบนี้ เป็นมุมมองของเรื่องนั้นที่ผ่านสายตาเราออกมา

กวิน : งานส่วนใหญ่ ถ้าเป็นเนื้อเรื่องจะมีความเป็นโป๊ยเซียนประมาณ 80 เปอร์เซ็นต์ มีนิดหน่อยที่ดูเป็นเรา แต่จริง ๆ แล้วคือเราตั้งใจทำเพื่อจะซัปพอร์ตเขาอยู่แล้วตั้งแต่แรก ยกเว้นสีที่เราจะเป็นคนดูเพราะว่าตั้งแต่ตอนเรียนเราไม่ค่อยชอบเขาลงสี 

โป๊ยเซียน : (หัวเราะ) เราจะมีพาเลตต์สีอยู่ในหัวแค่หนึ่งหรือสองอันที่ใช้ซ้ำ ๆ กวินเลยจะเป็นคนลงสีให้ เราก็จะปล่อยเขาไปเลย มารอดูทีหลังว่าชอบหรือยัง 

กวิน : แต่เราไม่ได้พยายามว่าจะต้องเป็นสีที่เราชอบนะ ปกติเราจะทำเป็นตัวเลือกไว้สัก 5 อัน แล้วก็จะถามเขาว่าชอบอันไหน ให้เขาเลือกอันที่ชอบมามากกว่า 

ทำไมถึงเน้นมาทางคอมมิก

โป๊ยเซียน : จริง ๆ พวกเราชอบเรื่องราวอยู่แล้ว เราชอบอ่านการ์ตูน ดูแอนิเมชัน ชอบดูจิบลิ จริง ๆ พวกเราอยากทำแอนิเมชันกันมานานแล้ว แต่ก็ยังคิดว่าสเกลมันใหญ่เกินไปที่เราสองคนจะทำได้ในเวลาที่ไม่เยอะมาก เราเลยคิดว่างั้นลองลดการเล่าเรื่องลงมาให้สเกลเล็กลง ตั้งแต่คอมมิก Graphic Novel อะไรแบบนี้ เราก็พยายามเล่าเรื่องในสเกลต่าง ๆ กันดู เพราะในแต่ละสื่อมันจะมีวิธีการเล่าที่แตกต่างกัน

เราชอบคิดจังหวะคอมมิก ชอบตอนคิดเรื่อง คิดมู้ดของมัน ข้อดีของคอมมิกคือเราเล่าได้แค่ในหน้าเดียว แค่ 2-4 ช่อง คนที่ดูต้องเข้าใจได้เลยว่าเราอยากจะพูดอะไร ด้วยน้ำเสียงแบบไหน มันคล้ายวิธีการคิด Ad มาก ๆ ดูทีเดียวต้องเข้าใจเลย คล้ายกับการเอาเรื่องหนึ่งมาย่อยให้เป็นช็อต เราว่าคอมมิกเหมาะกับสมัยนี้ตรงที่พอเลื่อนแล้วเห็น บางคนอาจจะใช้เวลาดูแค่ 2-3 วินาที แล้วก็เลื่อนผ่านไป ซึ่งถ้าเราทำให้มันน่าสนใจในเวลาที่เขาใช้ดู 2-3 ช่องได้ก็ถือว่าประสบความสำเร็จ 

กวิน : ตอนเรียนวิชาที่โป๊ยเซียนเก่งและทำได้ดีจะมีอยู่ 2 วิชาคือ Advertising กับ Illustration ซึ่ง Advertising จริง ๆ ก็คือการเล่าเรื่องที่ต้องสื่อสารให้คนเข้าใจใน 1 ภาพ หรือบางทีโฆษณาที่ต้องมีเนื้อเรื่องนิดหนึ่งเขาจะทำได้ดี เราก็เลยมองว่าไหน ๆ เขาทำได้ดีแล้วก็ลองเอามาผนวกกันดู 

แอนิเมชันชิ้นแรกเริ่มมาจากอะไร

โป๊ยเซียน : จริง ๆ แล้วมันเริ่มมาจากที่เราลองทำเป็น GIF ก่อน เพราะว่าง่ายและเร็ว ช่วงนั้นก็ทดลองทำบ่อยเหมือนกัน แต่แอนิเมชันอันแรกจริง ๆ เลย น่าจะเป็นงานของลูกค้า แล้วพอเราได้ทำกับแบรนด์แล้ว คนก็เริ่มเห็นว่าเราทำได้ ซึ่งจริง ๆ แล้วไม่ว่าจะเป็นสื่อแบบไหนพวกเราเปิดกว้างมากเลย ถ้าลูกค้าอยากทำอะไรแปลก ๆ ก็ได้ ซึ่ง Illustration อยู่ได้เกือบทุกอย่าง

สิ่งที่ชอบในแอนิเมชัน

กวิน : เราชอบแอนิเมชันตรงที่เวลาเราเป็นคนขยับจะรู้สึกเหมือนเป็นพระเจ้า อย่างคอมมิก สมมติเป็นรูปคนหยิบแก้วก็จะขึ้นอยู่กับคนอ่านคิดจินตนาการในช่วงเวลาระหว่างนั้นว่าเขาขยับแก้วอย่างไร เรากำหนดได้ทุกเสี้ยววินาที เช่นให้คนที่เดินเศร้าอยู่ไหล่ตก เราสามารถเขียนรายละเอียดเหล่านั้นได้ คุมจังหวะได้เองทั้งหมด แต่ก็ถือเป็นความรับผิดชอบที่ยิ่งใหญ่

โป๊ยเซียน : คอมมิกจะมี Gap ระหว่างช่อง ที่คนอ่านคิดจินตนาการได้ว่าขยับเร็วหรือช้า สามารถตีความไปได้เยอะกว่า แต่แอนิเมชันเหมือนเราบังคับเองได้หมด ตอนที่ทำแอนิเมชันเราจะเป็นฝ่ายแรงงาน อันไหนที่ทำแบบเฟรมบายเฟรม ก็คือจะต้องวาดเยอะมาก ตอนทำคือเหนื่อยเลย แต่เราชอบตอนที่เสร็จออกมาแล้ว แอนิเมชันเป็นงานที่ดูกี่ทีก็เหมือนเติมความฝันเราได้นิดหนึ่งอย่างน้อยก็ได้ทำแอนิเมชันแล้ว

มีแพลนทำแอนิเมชันเป็นของ Sundae Kids เองหรือยัง

กวิน : จริง ๆ ทำแล้วแต่ยังไม่เสร็จ เราเริ่มทำไปน่าจะเป็นปีได้แล้ว 

โป๊ยเซียน : พอเราทำก็จะมีงานเข้ามา เราเลยยังไม่ได้ทำต่อ เลยใช้เวลานาน เราเลยยังไม่กล้าพูดว่าจะเสร็จออกมาเมื่อไร

เราจะได้เห็นนิทรรศการจาก Sundae Kids อีกเมื่อไร

โป๊ยเซียน : อาจจะยังไม่ใช่เร็ว ๆ นี้ เพราะเวลาที่พวกเราทำนิทรรศการจะค่อนข้างใส่สุด เหมือนเราต้องมีช่วงที่แทบจะต้องใช้เวลาทั้งหมดในการทำนิทรรศการ สำหรับเราถ้าจะทำนิทรรศการอีกครั้ง เราก็อยากทำให้ดีกว่าครั้งที่แล้ว นิทรรศการล่าสุด (‘THIS IS FOR YOU’ An Exhibition by Sundae Kids ปี 2019) เราก็ทำใหม่ทุกอย่าง ครั้งนั้นดีที่เรามีเวลาแพลน มีเวลาได้คิดอย่างเต็มที่

การจะเป็นศิลปินที่ประสบความสำเร็จในไทยถือว่ายากไหม

กวิน : ยาก อันนี้พูดถึงตัวเลขเลยนะ อย่างเราไม่ได้ถึงกับเป็นศิลปินเต็มตัว แต่คนที่ทำศิลปะแบบ Contemporary Art เต็มตัวในเอเชีย ส่วนมากจะต้องมีต้นทุนอยู่แล้วจากที่เขารีเสิร์ชกัน ซึ่งก็แปลว่ามันอาจจะไม่ใช่ความฝันขนาดนั้น ต่างประเทศก็จะมีอาร์ตแกลเลอรีสำหรับศิลปะค่อนข้างหลายแขนง ที่อาจจะไม่ใช่แค่แขนงหลัก แขนงย่อยที่คนเสพน้อยก็ยังมีที่ทางของมันได้ สำหรับเราคิดว่าต้อง Half/Half กับสิ่งที่เราอยากทำแล้วก็สิ่งที่สังคมต้องการอยู่ในทุกวันนี้ 

โป๊ยเซียน : เราว่ายากมากในประเทศเรา จนถึงตอนนี้แม้ว่าจะมี Illustrator หรือศิลปินเยอะขึ้นมาก ๆ แต่เราก็ยังไม่ได้รู้สึกว่ามีการให้ความสำคัญกับศิลปะมากขึ้นขนาดนั้น จริงอยู่ที่อาจจะมีร้านที่เกี่ยวกับอาร์ตเยอะขึ้น มีนิทรรศการมากขึ้น แต่โครงสร้างใหญ่ ๆ แล้วยังไม่ได้ให้ค่าของศิลปะหรือศิลปินขนาดนั้น หลายประเทศเขาให้ความสนใจและความสำคัญ เหมือนเขาก็จะทรีตเราเป็นอาชีพหนึ่งเลย ไม่ได้คิดว่าเราทำงานแค่เป็นจ็อบอะไรแบบนั้น ในไทยสำหรับเราคิดว่าตอนนี้ Pure Art เลยจริง ๆ อาจจะยาก เราต้องมีการตลาดด้วย เหมือนต้องทำแบรนดิ้งให้ตัวเองได้ด้วย

คิดว่าอะไรคือสิ่งที่ทำให้ประสบความสำเร็จในเส้นทางนี้

กวิน : จริง ๆ เราไม่ใช่อาร์ทิสต์ขนาดนั้น เราคือ Illustrator ซึ่งอยู่ในซับเซตของดีไซเนอร์ 

โป๊ยเซียน : เราคือนักออกแบบ ซึ่งก็ต้องตีโจทย์ด้วยว่าเราควรทำอะไรในช่วงไหน เราว่าข้อดีคือเราไม่ได้เข้าถึงยาก อันนี้ก็เป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่เราเลือกจะเล่าเรื่อง สไตล์ของภาพมันเปลี่ยนไปทุกยุค ในปีหนึ่งสไตล์ที่คนนิยมกันอาจจะเปลี่ยนไปหลายสไตล์มาก แต่เรื่องราวมันคลาสสิก เหมือนตอนเราย้อนไปดูหนังเก่า ๆ ถ้าเรื่องมันดี แก่นของมันก็คือเรื่องแล้ว 

กวิน : เหมือนว่ากฎข้อหนึ่งที่จะตัดสินว่างานนี้ดีหรือไม่ดี มันคล้ายกับฟีดแบ็กที่คนดูแล้วเขาคิดอย่างไรกับภาพนี้ มันมีผลต่อสังคมมากแค่ไหนด้วย เราต้องดูว่าสังคมพร้อมรับอะไรในตอนนั้น ถ้าจะพูดว่าเราทำงานเพื่อหล่อเลี้ยงจิตวิญญานตัวเอง จะมีคนทำแบบนั้นเราว่าก็ได้ แต่ว่าก็ต้องบาลานซ์

Neighbor – Graphic Novel by Sundae Kids

ผลงานของ Sundae Kids ที่จะมีให้ติดตามในช่วงนี้

กวิน : ช่วงนี้ที่กำลังจะออกมาเป็น Graphic Novel แบบที่เราทำให้สั้นกว่าที่เคยทำ จริง ๆ เราคิดไว้หลายเรื่อง เกี่ยวกับความรักก็มี แต่จริง ๆ ก็มีหลากหลาย แต่งไว้ 3-4 เรื่องแล้ว

โป๊ยเซียน : เริ่มโปรเจกต์นี้มา 2-3 เดือน เราเคยทำ Graphic Novel ไปแล้วเรื่องหนึ่ง เรื่องนั้นจะยาวเป็น 10 ตอนเลย ตอนละหลายหน้า แต่ครั้งนี้เราจะทำให้มันสั้นลง เป็นตอนเดียวแต่จะพยายามทำให้บ่อยขึ้น อย่างที่บอกว่าเราอยากเล่าเรื่อง ซึ่งเราเล่าในสไตล์คอมมิกมาเยอะแล้ว เลยอยากลองให้ยาวขึ้นไปอีกหน่อย ซึ่งจะลงให้อ่านฟรีทางออนไลน์ในเฟซบุ๊ก หรือเว็บไซต์ readsundaekids.com/

อันนี้เป็นโปรเจกต์อยากทำของเราเอง อยากเขียนเรื่องอะไรก็เดี๋ยวจะมาหมด อาจจะมีเรื่องที่ไม่ใช่ในสไตล์ที่เราวาดปกติด้วย พยายามจะทำออกมาให้ได้หนึ่งเรื่องในหนึ่งหรือสองเดือน เพราะว่าจากเรื่องล่าสุดที่เราทำก็ผ่านมาหลายปีแล้ว ก็ตั้งใจจะทำออกมาเรื่อย ๆ อย่างจริงจัง 

Sundae Kids

แพลนในอนาคตของ Sundae Kids

กวิน : สำหรับเรา เราแพลนแค่ทีละสเต็ป แบบสั้น ๆ แล้วก็ค่อย ๆ ทำตามแพลนไป เพราะเรารู้สึกว่าทุกอย่างมันเปลี่ยน ปีหรือ 2 ปีก็เปลี่ยนแล้ว ถึงตอนนั้นเราอาจจะไม่ได้คิดแบบนี้แล้วก็ได้ แต่ที่คิดไว้ก็อยากมีงานกับต่างชาติมากขึ้น 

โป๊ยเซียน : ถามว่าตอนนี้เป็นไปตามที่ตั้งใจหรือยัง ก็ทีละขั้นนะ แต่ที่สุดแล้วยังมีหลาย ๆ อย่างที่เรายังอยากทำ เช่น แอนิเมชันของตัวเอง อยากโตไปมากกว่านี้ อยากร่วมงานกับหลายแบรนด์มากกว่านี้ อยากโตไปให้มากกว่าในไทยและได้ลองตลาดอื่น ๆ ให้มากขึ้น

Fact File

  • ติดตามผลงานของ Sundae Kids ได้ทาง Facebook, Instagram และ Twitter
  • ติดตามโปรเจกต์ Graphic Novel ได้ทาง readsundaekids.com/

Author

สุกฤตา โชติรัตน์
มนุษย์ผู้ค้นพบพลังงานพิเศษจากประโยคในหนังสือ อาหารจานโปรดและเพลงที่ฟัง อยากเลี้ยงแมวและตั้งใจว่าจะออกไปมองท้องฟ้าบ่อยๆ

Photographer

ชัชวาล จักษุวงค์
เคยเป็นนักรีวิว gadget มานานหลายปี ตอนนี้หันมาเอาดีด้านงานถ่ายภาพ ถนัดงานด้านการบันทึกภาพวิถีชีวิตผู้คนและสายการเดินทางท่องเที่ยว