สมพร รอดบุญ : คิวเรเตอร์รุ่นบุกเบิก ผู้นำทัพศิลปินไทยร่วมสมัยบุกเวทีศิลปะโลก
Faces

สมพร รอดบุญ : คิวเรเตอร์รุ่นบุกเบิก ผู้นำทัพศิลปินไทยร่วมสมัยบุกเวทีศิลปะโลก

Focus
  • คิวเรเตอร์ (Curator) หรือที่ภาษาไทยเรียกว่า ภัณฑารักษ์ เป็นคำที่เริ่มเป็นที่คุ้นหูในแวดวงศิลปะร่วมสมัยในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา
  • ผู้ช่วยศาสตราจารย์ สมพร รอดบุญ เป็นหนึ่งในคิวเรเตอร์รุ่นบุกเบิก ผู้นำทัพศิลปินไทยบุกเวทีศิลปะนานาชาติตั้งแต่ช่วงยุคปลาย 90s และสร้างชื่อให้ศิลปินเหล่านี้กลายเป็นเบอร์ท็อปของประเทศไทยรวมทั้งเป็นที่รู้จักของวงการศิลปะโลกในเวลาต่อมา

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ สมพร รอดบุญ เป็นหนึ่งใน คิวเรเตอร์ หรือ ภัณฑารักษ์ รุ่นบุกเบิก ผู้นำทัพศิลปินไทยบุกเวทีศิลปะนานาชาติตั้งแต่ช่วงยุคปลาย 90s และสร้างชื่อให้ศิลปินเหล่านี้กลายเป็นเบอร์ท็อปของประเทศไทยรวมทั้งเป็นที่รู้จักของวงการศิลปะโลกในเวลาต่อมา อาทิ มณเฑียร บุญมา, ฤกษ์ฤทธิ์ ตีระวนิช, อารยา ราษฎร์จำเริญสุข, ชาติชาย ปุยเปีย และนที อุตฤทธิ์

“คิวเรเตอร์ คือ ผู้ดำเนินการจัดการนิทรรศการซึ่งต้องทำทุกอย่างเกี่ยวกับนิทรรศการ ต้องดูแลและควบคุมการติดตั้งนิทรรศการในทุกๆด้านแบบ 360 องศา ต้องมีความรู้ความเข้าใจในประเภทของศิลปะและเทคนิคต่างๆ ต้องเข้าใจการทำงานของศิลปิน ต้องอ่านงานและอ่านพื้นที่งานให้เป็น จึงจะรู้ว่าจะวางงานให้เหมาะกับพื้นที่อย่างไร ถ้าเป็นนิทรรศการแบบกลุ่มต้องดูว่าจะวางงานใครตรงไหนไม่ให้ข่มกัน และสามารถแสดงความเป็นเอกลักษณ์ของศิลปินแต่ละคนได้อย่างชัดเจน นอกจากนี้ยังต้องมีเป้าหมายว่าคนดูจะได้อะไร เห็นอะไรและเข้าใจอะไรจากนิทรรศการที่จัดขึ้น”

สมพร รอดบุญ

อาจารย์สมพร หรือที่คนในวงการศิลปะเรียกว่า “อาจารย์หนู” กล่าวถึงบทบาทหน้าที่ของคิวเรเตอร์ ซึ่งอาจารย์สมพรไม่ได้เป็นคิวเรเตอร์โดยอาชีพ หรือเรียนด้านภัณฑารักษ์มาโดยตรง แต่เริ่มเข้ามาทำหน้าที่นี้เมื่อราว 40 ปีก่อนขณะเป็นอาจารย์ประจำที่คณะจิตรกรรมฯ มหาวิทยาลัยศิลปากร

จุดเริ่มต้นเกิดจากความร่วมมือระหว่างองค์กรทางวัฒนธรรมต่างๆ เช่น สถาบันเกอเธ่ (ประเทศไทย) และ เจแปนฟาวน์เดชั่น กรุงเทพฯ รวมถึงสถานทูตออสเตรเลีย ที่อาจารย์สมพรมักได้รับการติดต่อให้ช่วยดำเนินการจัดนิทรรศการต่างๆของศิลปินจากประเทศดังกล่าวที่มาแสดงในประเทศไทย

“เริ่มจากทางองค์กรต่างๆ เขามีคอนเซ็ปต์งาน มีรายชื่อศิลปินของเขาที่จะนำมาแสดงงานในบ้านเรา และมองเห็นว่าเราน่าจะจัดการเรื่องนี้ได้จึงให้ช่วยจัดนิทรรศการ ติดตั้งผลงาน จัดการบรรยาย เขียนบทความเผยแพร่ว่าเป็นงานใครและมีความสำคัญอย่างไร หลังจากนั้นเริ่มได้รับเชิญให้ไปบรรยายเกี่ยวกับศิลปะร่วมสมัยของไทยตามที่ต่างๆ เช่น ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย และเริ่มเข้าร่วมโครงการ Residency ที่แคนเบอร์รา และซิดนีย์ ทำให้มีโอกาสนำงานภาพพิมพ์และงานบนกระดาษของศิลปินไทยไปแสดงด้วย พร้อมกันนั้นก็ได้คัดเลือกศิลปินไทยไปแสดงในงาน Melbourne International Arts Festival ที่จัดเป็นครั้งแรกที่เมืองเมลเบิร์น ประเทศออสเตรเลีย ในปี ค.ศ.1991 ศิลปินในกลุ่มนี้ได้แก่ มณเฑียร บุญมา, สุทัศน์ ปิ่นฤทัย, วิจิตร อภิชาติเกรียงไกร และ ธงชัย ศรีสุขประเสริฐ เป็นต้น” อาจารย์สมพรกล่าวถึงจุดเริ่มต้นของบทบาทคิวเรเตอร์เมื่อหลายสิบปีที่ผ่านมา

สมพร รอดบุญ

ส่วนเทศกาลศิลปะระดับนานาชาติที่อาจารย์สมพรได้รับหน้าที่เป็นผู้ประสานงานและคิวเรเตอร์ร่วมในการนำผลงานของศิลปินไทยไปให้ชาวต่างชาติได้รู้จักมากขึ้นคือ เทศกาล Asia Pacific Triennial of Contemporary Art ครั้งที่ 1, 2 และ 3 ในปีค.ศ.1993, ค.ศ.1996 และ ค.ศ.1999 ที่เมืองบริสเบน ประเทศออสเตรเลีย โดยมีศิลปินไทย อาทิ. ประสงค์ ลือเมือง, ชาติชาย ปุยเปีย, วสันต์ สิทธิเขตต์, พินรี สัณฑ์พิทักษ์ และ นที อุตฤทธิ์ รวมไปถึงเทศกาล Fukuoka Asian Art Triennale ที่จัดเป็นครั้งแรกในปี ค.ศ.1990 ที่เมืองฟุกุโอกะ ประเทศญี่ปุ่น และทำให้งานของ ฤกษ์ฤทธิ์ ตีระวนิช, มณเฑียร บุญมา, มานิต ศรีวานิชภูมิ และมนตรี เติมสมบัติ ได้รับความสนใจเป็นอย่างมากถือเป็นก้าวแรกๆของศิลปินไทยร่วมสมัยในเวทีระดับโลก

“ในทัศนะส่วนตัวบทบาทของคิวเรเตอร์ไม่ใช่การโปรโมตตัวเอง แต่โปรโมตศิลปินและผลงานให้เป็นที่รู้จัก ในการจัดนิทรรศการมี 2 แบบ อย่างแรกคือทางผู้จัดงานมีคอนเซ็ปต์และศิลปินแล้วและคิวเรเตอร์ได้รับมอบหมายเข้าไปช่วยจัดการ อย่างที่สองคือคิวเรเตอร์วางคอนเซ็ปต์ เลือกศิลปินและผลงานเอง ปัญหาที่เจอบ่อยคือหลายคนไม่เข้าใจวิธีและวัตถุประสงค์ในการคัดสรรศิลปินและผลงานของคิวเรเตอร์ หาว่าทำไมถึงเลือกคนนี้ ไม่เลือกคนนั้น โดยหลักการจะดูว่างานของใครเหมาะสมกับแนวคิดของนิทรรศการและมีคุณภาพหรือไม่ ไม่ใช่ว่ารักใครชอบใครก็เลือกคนนั้น ส่วนสไตล์การจัดนิทรรศการของตนเองจะเน้นความเรียบง่ายและดูสบาย

สมพร รอดบุญ

“อีกข้อที่สำคัญในการจัดนิทรรศการแต่ละครั้งคือ คิวเรเตอร์ต้องคุมงานเองทุกขั้นตอน อ่านงานให้ออก หมายถึงเข้าใจประเภทเทคนิค สาระหรือเนื้อหาในผลงาน ต้องเข้าใจพื้นที่และสภาพแวดล้อมให้ได้เช่นถ้าเป็นงานแสดงเดี่ยวจะจัดวางอย่างไร จะจัดตามลำดับปีของงานหรือตามเรื่องราวเนื้อหา หรือถ้าเป็นงานกลุ่มงานใครจะวางอยู่กับใครได้จึงจะส่งเสริมกัน ต้องคำนึงถึงการเว้นความห่างรวมทั้งขนาดของงานในการจัดวางของแต่ละชิ้นงานบนพื้นที่เพื่อให้เกิดความสมดุล การจัดไฟที่เหมาะสมที่เอื้อในเรื่องของ Mood and Tone บนแต่ละผนังควรให้มีสิ่งที่น่าสนใจในทุกห้อง มีมิติในการมอง คิวเรเตอร์ต้องดูแลการจัดนิทรรศการตั้งแต่ต้นจนจบไม่ใช่แค่รวบรวมศิลปินมาและนำงานมาติดตั้งเท่านั้น เราต้องแยกให้ออกระหว่างหน้าที่ของคิวเรเตอร์ กับโปรเจกต์เมเนเจอร์หรืออาร์ตเมเนเจอร์” อาจารย์สมพรผู้มีบทบาทในการร่วมก่อตั้งภาควิชาทฤษฎีศิลป์คณะจิตรกรรมฯ มหาวิทยาลัยศิลปากร อธิบาย

ด้วยพื้นฐานศิลปะที่แน่นทั้งภาคปฏิบัติจากการเรียนจบปริญญาตรีด้านภาพพิมพ์ที่มหาวิทยาลัยศิลปากร และภาคทฤษฎีเมื่อไปเรียนต่อระดับปริญญาโทและ Post Graduate ทางด้าน Art Education และ Art History ที่มหาวิทยาลัยอิลลินอยส์ สหรัฐอเมริกา ประกอบกับประสบการณ์การทำงานกับองค์กรศิลปะวัฒนธรรมระหว่างประเทศหลายแห่ง และทำงานร่วมกับคิวเรเตอร์ต่างประเทศ รวมทั้งการเข้ารับการฝึกอบรมและการจัดเวิร์กชอปทางด้านคิวเรเตอร์กับผู้เชี่ยวชาญต่างประเทศหลายครั้ง อาจารย์สมพรจึงมีมุมมองในศิลปะรอบด้านและมีผลงานทางวิชาการมากมาย

“ตอนเรียนปริญญาตรีเราไม่มีความรู้เรื่องการวิเคราะห์และวิจารณ์งานแบบถูกต้องตามหลักวิชาการ ที่มหาวิทยาลัยอิลลินอยส์เราได้เรียนเรื่องวิวัฒนาการศิลปะด้านต่างๆ และได้เรียนจากของจริงเพราะเขามีมิวเซียมให้เราดูงานจริงอย่างละเอียด ในการวิจารณ์ศิลปะจึงเป็นไปตามหลักการไม่ใช่วิจารณ์ไปเรื่อยเป็นแบบนามธรรม”

ถึงแม้ในวงการศิลปะร่วมสมัยในปัจจุบันจะมีคิวเรเตอร์ทั้งอาชีพและอิสระมากขึ้น แต่อาจารย์สมพรแสดงทัศนะว่าหลายนิทรรศการไม่ได้เป็นการ Curate งานอย่างแท้จริง

คิวเรเตอร์

“แค่หาคอนเซ็ปต์ หาสปอนเซอร์ หาศิลปินมาแสดงงานคงไม่เพียงพอ คิวเรเตอร์ต้องดูการจัดวางงานกับพื้นที่ พื้นที่สำคัญมากเพราะอาจต้องปรับเปลี่ยนตลอดเวลา ต้องคิดตลอดเพราะไม่ตายตัว เราต้องมีความยืดหยุ่นและแก้ปัญหาตลอดเวลา อีกทั้งคิวเรเตอร์ต้องมีความรู้ด้านอนุรักษ์ด้วย การเคลื่อนย้ายและติดตั้งงานทั้ง 2 และ 3 มิติจะมีวิธีการอย่างไรในการป้องกันงานไม่ให้เกิดความเสียหาย ในกรณีที่งานเกิดชำรุดจะแก้ไขอย่างไร การทำงานกับต่างประเทศมีประโยชน์มาก เช่น ช่างเทคนิคของญี่ปุ่นเนี้ยบมากในเรื่องนี้ทำให้เราได้เรียนรู้หลายเรื่อง อย่างงานที่มีกระจกต้องมีการจัดการอย่างไร หรือแม้แต่วิธีการกำจัดฝุ่น การเช็ดกระจกที่ถูกต้องควรทำอย่างไร”

ในส่วนของรายได้ของคิวเรเตอร์ อาจารย์สมพรกล่าวว่าส่วนตัวแล้วตอบไม่ได้แน่ชัดเพราะอาชีพหลักของตนคือสอนหนังสือ

“หากทำงานให้ต่างประเทศเขาก็มีเงินให้แต่ก็ไม่ได้มากมายอะไร เพียงแต่คิดว่าอยากเผยแพร่งานศิลปะของไทยไปในวงกว้าง อาชีพหลักเราคือครูและศิลปินส่วนใหญ่ที่ขอให้ช่วยทำนิทรรศการให้ก็เป็นลูกศิษย์เพราะฉะนั้นงานในประเทศจึงเป็นงานที่ช่วยกันมากกว่า หรือไม่ก็จัดขึ้นเองเพื่อส่งเสริมสนับสนุนศิลปินอย่างแท้จริง”

คิวเรเตอร์

อาจารย์สมพรย้ายมาอยู่ที่เชียงใหม่ได้ 20 ปี และเป็นหนึ่งในคณะกรรมการอำนวยการคณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ปัจจุบันอาจารย์สมพรในวัย 70 ปี ยังเป็นผู้ทรงคุณวุฒิที่ให้คำปรึกษาเกี่ยวกับผลงานศิลปะของไทยและเคยเป็นคณะกรรมการคัดสรรงานศิลปะไว้ในการสะสม (Acquisition Committee) ของหอศิลปะเอเชีย ฟุกุโอกะ ประเทศญี่ปุ่น และหอศิลป์แห่งชาติ ประเทศสิงคโปร์อยู่หลายปีรวมทั้งยังดำรงตำแหน่งผู้ทรงคุณวุฒิของคณะจิตรกรรมฯ มหาวิทยาลัยศิลปากร และ คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม

อาจารย์พยายามส่งเสริมศิลปินทางภาคเหนือ เช่น สนับสนุนกลุ่มศิลปินหญิงชื่อกาสะลอง และกลุ่มลาฟาม และเมื่อปี พ.ศ.2561 ได้จัดนิทรรศการชื่อ “เวลาและการดำรงอยู่: Time and Being” ที่หอศิลปวัฒนธรรมเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ โดย4 ศิลปินล้านนา ประกอบด้วย ทรงเดช ทิพย์ทอง, พรชัย ใจมา, ลิปิกร มาแก้ว และ อานันท์ ราชวังอินทร์ ในครั้งนั้นยังได้นำงานของถวัลย์ ดัชนี มาร่วมแสดงเพื่อสะท้อนรากเหง้าของสังคม วัฒนธรรม และวิถีชีวิตชาวเหนือที่สอดคล้องกับกาลเวลาในปัจจุบัน

“นิทรรศการที่ทำแล้วอิ่มเอมใจคือนิทรรศการ ‘ใต้ร่มพระบริบาล’ จัดที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลปถนนเจ้าฟ้าเมื่อปี พ.ศ.2560 เพื่อรำลึกถึงในหลวงรัชกาลที่ 9 ซึ่งได้รับความร่วมมือจากศิลปินกว่า 20 คนทั่วประเทศส่งงานมาร่วมแสดงและหลายคนบริจาคงานให้แก่ผู้สนับสนุนที่ให้ทุนในการจัดงาน ถือว่าตนเองเป็นคนโชคดีที่เวลาเชิญใครแล้วเขาสนอกสนใจและให้ความร่วมมืออย่างดีเสมอ”

คิวเรเตอร์

เมื่อถามถึงศิลปินรุ่นใหม่ที่น่าจับตามองและมีโอกาสเติบโตในเวทีโลก อาจารย์สมพรให้ความสนใจในงานของศิลปินรุ่นใหม่โดยเฉพาะอย่างยิ่งศิลปินหญิงหลายคนมีงานที่น่าสนใจมาก

“ในความเป็นจริงนั้นผู้ที่เป็นคิวเรเตอร์ย่อมมีสิทธิ์ในการวางแนวคิด เลือกศิลปินและผลงานศิลปะ แต่ละคนก็จะมีรูปแบบหรือสไตล์ในการจัดทำนิทรรศการของตนเอง แต่การจัดทำนิทรรศการของตัวเองในแต่ละครั้งนั้นต้องดูทั้งในรายละเอียดและภาพรวมของนิทรรศการด้วยเปรียบได้กับการสร้างงานศิลปะขึ้นชิ้นหนึ่งเหมือนกัน” อาจารย์สมพรกล่าวทิ้งท้าย

Fact File

  • ติดตามอ่านเรื่องราวของศิลปะไทยร่วมสมัย และอาชีพต่างๆ ผู้อยู่เบื้องหลังงานศิลปะ ได้ในนิตยสารสารคดี ฉบับ Thai Comtemporary Art ซื้อออนไลน์คลิก : https://shop.line.me/@sarakadeemag/product/319551319 หรือ Line : @ sarakadeemag

Author

เกษศิรินทร์ ผลธรรมปาลิต
Feature Editor ประจำ Sarakadee Lite อดีต บรรณาธิการข่าวไลฟ์สไตล์ Nation ผู้นิยมคลุกวงในแวดวงศิลปวัฒนธรรมจนได้ขุดเรื่องซีฟๆ มาเล่าสู่กันฟังเสมอ

Photographer

กรกฤษณ์ พิณศรีสุข
ครีเอทีฟ ช่างภาพ และนักเขียน ปัจจุบันอาศัยอยู่ที่เชียงใหม่