โชทาโร อิชิโนโมริ: ราชามังงะผู้เปลี่ยนคนธรรมดาให้กลายเป็นยอดมนุษย์ ไอ้มดแดง
Faces

โชทาโร อิชิโนโมริ: ราชามังงะผู้เปลี่ยนคนธรรมดาให้กลายเป็นยอดมนุษย์ ไอ้มดแดง

Focus
  • โชทาโร อิชิโนโมริ (Shotaro Ishinomori) ได้รับยกย่องให้เป็นราชาแห่งมังงะ ผู้ซึ่งกินเนสส์บุคส์ยกให้เป็นนักเขียนการ์ตูนที่มีผลงานตีพิมพ์มากที่สุดในโลก
  • ผลงานยอดนิยมของอิชิโนโมริที่โด่งดังไปทั่วโลก ได้แก่ คาเมนไรเดอร์ หรือ ไอ้มดแดง ที่มาของวลีสร้างกำลังใจ “สู้เขา ทาเคชิ!”
  • โชทาโร อิชิโนโมริ ได้สร้างพิพิธภัณฑ์มังงะขึ้นจัดแสดงงานต้นฉบับภาพมังงะของเขาที่เมืองบ้านเกิด ส่วนบ้านเกิดของเขาก็เปิดเป็นพิพิธภัณฑ์ที่ถ่ายทอดแรงบันดาลใจในวัยเยาว์ของเขาเช่นกัน

หลังความพ้ายแพ้ในสงครามโลกครั้งที่ 2 ญี่ปุ่นเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่พร้อมการพัฒนาประเทศอย่างก้าวกระโดด ส่งให้ชื่อของญี่ปุ่นกลับมาผงาดบนเวทีโลกอีกครั้งในเวลาไม่นาน ทั้งยังกลายเป็นประเทศมหาอำนาจทางวัฒนธรรม โดยหนึ่งในวัฒนธรรมญี่ปุ่นหลังสงครามที่ตีตลาดโลกได้อย่างรวดเร็วก็คือ มังงะ การ์ตูนช่องที่มีเอกลักษณ์เฉพาะญี่ปุ่น โดยหนึ่งในนักวาดการ์ตูนชื่อดังที่เป็นตำนานของวงการมังงะยุคบุกเบิกได้แก่ โชทาโร อิชิโนโมริ (Shotaro Ishinomori) ผู้ให้กำเนิดนักสู้แบบฉบับยอดมนุษย์ คาเมนไรเดอร์ (Kamen Rider) หรือ ไอ้มดแดง ที่มาของวลีปลุกใจสุดคลาสสิก “สู้เขา ทาเคชิ!” 

โชทาโร  อิชิโนโมริ
ภาพ : ishimoripro.com

โชทาโร อิชิโนโมริ(ค.ศ.1938-1998) เป็นนักเขียนมังงะผู้สร้างตัวละครใหม่ในแนวยอดมนุษย์ที่เกิดจากคนธรรมดา รวมทั้งสร้างขบวนการนักสู้ที่คอยกำจัดความชั่วร้าย จากผลงานการวาดและเขียนมังงะกว่า 770 เรื่องตลอดอาชีพของเขาซึ่งมากที่สุดในโลก ณ ขณะนั้น ทำให้เขาได้รับยกย่องให้เป็น ราชาแห่งมังงะ ซึ่งไม่ได้จำกัดจินตนาการอยู่ในการ์ตูนช่อง แต่ลายเส้นมังงะของอิชิโนโมริยังออกมาโลดแล่นเป็นคนจริงทางจอโทรทัศน์ที่แบบ Live Action และเรื่องที่กลายเป็นตำนานและซิกเนเจอร์เมื่อเอ่ยชื่อ โชทาโร อิชิโนโมริคือ คาเมนไรเดอร์ กำเนิดไอ้มดแดง ซูเปอร์ฮีโรฉบับญี่ปุ่นที่เด็กญี่ปุ่นรวมทั้งเด็กไทยตั้งยุค ค.ศ. 1970 เป็นต้นมาต่างก็ใฝ่ฝันว่าอยากจะเป็น อยากจะเก่ง อยากจะปกป้องความดีและความยุติธรรมเหมือน ไอ้มดแดง

โชทาโร  อิชิโนโมริ
ภาพ : ishimoripro.com

นักเขียนมังงะดาวรุ่งจากชั้นมัธยม

แม้อิชิโนโมริจะเป็นราชาแห่งมังงะ แต่ถ้ากล่าวถึงคนที่เป็นปรมาจารย์ผู้ให้กำเนิดมังงะญี่ปุ่นจริงๆ คือ เทสึกะ โอซามุ (Tezuka Osamu) ผู้ให้กำเนิดเจ้าหนูอะตอม (Astro Boy) บิดาแห่งมังงะญี่ปุ่นยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 และแน่นอนว่าอิชิโนโมริก็มีจุดเริ่มต้นในวงการมังงะจากการเป็นผู้ช่วยเทสึกะ โอซามุ

อิชิโนโมริเกิดใน ค.ศ.1938 ที่โตเมะ (Tome) เมืองอิชิโมริ (Ishimori) จังหวัดมิยางิ (Miyagi) ประเทศญี่ปุ่น และได้เริ่มเขียนการ์ตูนมังงะตั้งแต่ยังเป็นนักเรียนมัธยมต้นซึ่งความสามารถของเขาไม่ได้จำกัดอยู่แค่ในรั้วโรงเรียนเท่านั้น อิชิโนโมริได้พยายามส่งผลงานเข้าประกวดและส่งไปลงตามนิตยสารการ์ตูนต่างๆ ในท้องถิ่น ในช่วงมัธยมปลายเขาได้ส่งผลงานไปยังนิตยสารการ์ตูนชื่อดัง Manga Shonen ซึ่งผลงานของเขาก็ไปสะดุดตาอันแหลมคมของโอซามุพร้อมทั้งยังชวนเขามาเป็นผู้ช่วยในการวาดมังงะเรื่อง Astro Boy แน่นอนว่าอิชิโนโมริรับปากทำงานนี้ทันทีควบคู่ไปกับการเรียนมัธยมปลาย กระทั้งเรียนจบมัธยมเขาจึงตัดสินใจย้ายมาปักหลังทำงานเขียนการ์ตูนอย่างจริงจังที่กรุงโตเกียว

ไอ้มดแดง

ค.ศ. 1959  อิชิโนโมริได้รับเชิญจากโอซามุให้ร่วมทีมวางแผนและผลิตมังงะเรื่องยาว Saiyuki ให้กับบริษัทโตเอ (Toei Company) ต่อมาในปี ค.ศ.1964  อิชิโนโมริ ได้สร้างสรรค์ผลงานมังงะเรื่อง Cyborg 009 กำเนิดตัวละครยอดมนุษย์ตระกูลพาวเวอร์เรนเจอร์ทีมแรกของญี่ปุ่นซึ่งต่อมาได้เป็นแอนิเมชันคลาสสิกอีกเรื่องเมื่อนึกถึงอิชิโนโมริ (นำกลับมาฉายใน Netflix)

โชทาโร  อิชิโนโมริ

กำนิดไอ้มดแดง

เมษายน ค.ศ. 1971 อิชิโนโมริเขียนมังงะเรื่อง คาเมนไรเดอร์ ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสารมังงะรายสัปดาห์ Bokura Magazine ชื่อชุด Kamen Rider Kodansha ไม่นานคาแรกเตอร์ของคาเมนไรเดอร์ก็ได้รับความนิยมอย่างมากจนถูกสร้างเป็นภาพยนตร์และละครซีรีส์ พร้อมกันนั้นก็ยังมีการสร้างตัวละครยอดมนุษย์อื่นๆ ต่อเนื่องอีกเกือบ 30 คาแรกเตอร์จนถึงปัจจุบัน ส่วนคาเมนไรเดอร์ฉบับละครซีรีส์ออกฉายทางโทรทัศน์ไทยครั้งแรกในเดือนกันยายน ค.ศ. 1971  พระเอกของเรื่องชื่อ ฮอนโก ทาเคชิ ถูกเรียกชื่อไทยว่า “ไอ้มดแดง” ผู้มาพร้อมกับวลีปลุกใจสุดคลาสสิก “สู้เขา ทาเคชิ”

สำหรับคาเมนไรเดอร์รุ่นบุกเบิกเป็นซูเปอร์ฮีโร่ที่เปลี่ยนจากคนธรรมดาให้กลายเป็นยอดมนุษย์ด้วยเครื่องแต่งกายและเทคโนโลยีที่ช่วยให้คนธรรมดามีพละกำลังเพิ่มขึ้น พร้อมทั้งมีการหยิบเอาศิลปะการต่อสู้ป้องกันตัวของญี่ปุ่นมาผสมผสานกลายเป็นท่าไม้ตายต่อสู้กับเหล่าร้ายและสัตว์ประหลาดผู้รุกรานสังคม ท่าเด็ดของคาเมนไรเดอร์ที่ใช้จัดการคู่ต่อสู้คือ ไรเดอร์คิก หรือ สกายคิก ซึ่งพระเอกหมุนหัวเข็มขัดและได้พลังกระโดดลอยตัวเตะคู่ต่อสู้ได้รวดเร็วในชั่วพริบตา

ไอ้มดแดง
Cyborg 009 (ภาพ shimoripro.com)

นอกจากไอ้มดแดงแล้วผลงานเด่นของอิชิโนโมริยังรวมถึง Cyborg 009 , กัมบาเระ โรโบคอน, หุ่นเหล็กหมายเลข 17,  และ ขบวนการ 5 จอมพิฆาต โกเรนเจอร์ ฯลฯ ด้วยผลงานมังงะที่มากถึง 770 เรื่องนี่เองจึงทำให้อิชิโนโมริได้รับฉายา “ราชาแห่งมังงะ” อีกทั้งนิตยสารกินเนสส์บุคส์ปี 2008 ยังมอบรางวัล “นักเขียนการ์ตูนที่มีผลงานตีพิมพ์มากที่สุดในโลก” ให้กับเขาด้วย

อิชิโนโมริ โชทาโร  เสียชีวิตด้วยภาวะหัวใจล้มเหลวใน ค.ศ.1998  แต่แม้ว่าตัวของเขาจะจากไป ทว่าผลงานเหล่ายอดมนุษย์ที่สร้างจากคนธรรมดาของอิชิโนโมริยังทำหน้าที่ส่งต่อพลังใจให้ผู้ชมโดยเฉพาะในเหตุการณ์ภัยพิบัติครั้งใหญ่เมื่อปี 2011 ไอ้มดแดงของอิชิโนโมริได้กลายมาเป็นสัญลักษณ์ฮีโร่ปลุกปลอบใจ เพราะในวันที่เจอภัยพิบัติครั้งใหญ่รูปปั้น “ไอ้มดแดง” ตัวเอกในซีรีส์เรื่อง คาเมนไรเดอร์ ซึ่งตั้งอยู่บนถนนสายมังงะกลับยืนตระหง่านท่ามกลางซากปรักพังหลังเกิดภัยพิบัติแผ่นดินไหวและคลื่นสึนามิ กลายเป็นภาพเปี่ยมพลังที่ถูกส่งต่อเช่นเดียวกับภาพศิลปะตอนคาเมนไรเดอร์อุ้มเด็กน้อยบนฉากหลังภัยพิบัตินั้น ที่ถูกใช้ปลุกปลอบกำลังใจชาวญี่ปุ่นด้วย  

ไอ้มดแดง

พิพิธภัณฑ์แด่ราชามังงะ

ที่ญี่ปุ่นนั้นนักเขียนการ์ตูนได้รับการยกย่องไม่ต่างจากศิลปินระดับชาติคนหนึ่ง โดยในแต่ละจังหวัดบ้านเกิดของศิลปินก็มักจะมีพิพิธภัณฑ์ที่เล่าเรื่องของศิลปินนักวาดการ์ตูนคนนั้นๆ ซึ่งในที่สุดได้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวดังดึงดูดแฟนคลับจากทั่วโลกให้เดินทางมาเที่ยวชุมชนเล็กๆ เหล่านี้ได้อย่างไม่น่าเชื่อ

และสำหรับใครที่สนใจตามรอยราชามังงะโชทาโร สามารถเลือกได้ 2 พิพิธภัณฑ์ เริ่มจาก พิพิธภัณฑ์มังงะอิชิโนโมริ (Ishinomori Manga Museum) เมืองอิชิโนมากิ จังหวัดมิยางิจังหวัดบ้านเกิดของเขา ตัวอาคารพิพิธภัณฑ์เป็นรูปไข่สีขาว แนวคิดการออกแบบเป็นของ โชทาโร อิชิโนโมริ เริ่มเปิดบริการเมื่อ ค.ศ. 1995

ไอ้มดแดง
Ishinomori Manga Museum (ภาพ : www.japan-guide.com)

อิชิโนโมริเองเคยได้กล่าวถึงความตั้งใจในการสร้างสร้างพิพิธภัณฑ์มังงะแห่งนี้ว่าเขาอยากให้เป็นมินิธีมปาร์ค แสดงงานเขียนต้นฉบับมังงะ และอยากให้ที่นี่เป็นพื้นที่ของศิลปินมังงะรุ่นต่อๆ ไปได้มาแสดงงาน ทำกิจกรรมทางศิลปะ สุดท้ายคือการให้พิพิธภัณฑ์ในเมืองเกิดของเขาได้เป็นศูนย์กลางเผยแพร่วัฒนธรรมมังงะญี่ปุ่นให้กับเด็กๆ และชาวโลก

พิพิธภัณฑ์มังงะอิชิโนโมริตั้งอยู่ตรงกลางปากแม่น้ำ  Kyukitakamigawa เส้นทางผ่านของคลื่นยักษ์สึนามิเมื่อปี 2011 และนั่นจึงส่งผลให้คอลเลคชันงานวาดต้นฉบับมังงะและฟิกเกอร์ตัวการ์ตูนที่อิชิโนโมริสร้างสรรค์เสียหายเป็นจำนวนมาก แม้โครงสร้างอาคารยังคงอยู่ในสภาพแข็งแร็งและดูเหมือนไม่มีอะไรเสียหายก็ตาม หลังเหตุการณ์ภัยพิบัติในครั้งนั้นทำให้พิพิธภัณฑ์ต้องปิดทำการเพื่อบูรณะหลายส่วนจนสามารถเปิดบริการได้อีกครั้งในอีกสองปีต่อมา

ไอ้มดแดง
ภาพความเสียหายของเมืองในเหตุการณ์สึนามิ แต่พิพิธภัณฑ์ยังคงอยู่
(ภาพ : www.japan-guide.com)

นอกจากพิพิธภัณฑ์แล้วในเมืองนี้ยังมีถนนสายมังงะ พร้อมมีรูปปั้นของตัวละครดังจากมังงะของอิชิโนโมริ ทั้งคาเมนไรเดอร์และ Cyborg 009 ตั้งเรียงรายทักทายผู้มาเยือน ตั้งแต่สถานีรถไฟเจอาร์อิชิโนมากิ ( JR Ishinomaki Station) ไปสิ้นสุดที่ อาคารพิพิธภัณฑ์มังงะของอิชิโนมาริ  ไม่ว่าจะป็นร้านอาหาร ม้านั่ง ตู้ไปรษณีย์ และฝาปิดท่อระบายน้ำบนถนนก็เป็นตัวการ์ตูนดังจากคอลเล็คชันของอิชิโนโมริทั้งสิ้น

โชทาโร  อิชิโนโมริ
The Shotaro Ishinomori Memorial Museum

พิพิธภัณฑ์แห่งที่สองเพื่อรำลึกถึงโชทาโรตั้งอยู่ที่เมืองโทเมะ เมืองเล็กๆ ในจังหวัดมิยางิ ที่เป็นบ้านเกิดอันแท้จริงของเขาพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ชื่อ พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นรำลึกโชทาโร อิชิโนโมริ (The Shotaro Ishinomori Memorial Museum)

ที่นี่นักท่องเที่ยวะจะต้องเดินเข้าไปในตรอกอิชิโนโมริ ค่อยๆ ย้อนรอยไปชมบ้านเกิดซึ่งเป็นบ้านเก่าหลังเดิมของศิลปินมังงะคนนี้  ส่วนในพิพิธภัณฑ์จัดแสดงงานศิลปะเพื่อเล่าถึงชีวิตและผลงานของอิชิโนมาริ ไฮไลต์คือ ห้องพักของโชทาโรอิชิโนโมริ จำลองห้องพักที่ศิลปินเคยอยู่ จัดวางเครื่องใช้ส่วนตัวและอุปกรณ์บนโต๊ะทำงาน เพื่อให้ผู้มาเยี่ยมชมได้สัมผัสบรรยากาศที่ศิลปินใช้สร้างสรรค์งาน 

โชทาโร  อิชิโนโมริ
ภาพ: The Shotaro Ishinomori Memorial Museum

ด้านโซนนิทรรศการถาวรโดดเด่นด้วยรูปปั้นของ โชทาโร อิชิโนโมริ วัยเด็กที่ยืนส่งจดหมายลงตู่ไปรษณีย์สีแดง รำลึกอดีตสมัยที่อิชิโนโมริ ยังเป็นนักเรียนมัธยมต้น และเริ่มเขียนมังงะหย่อนลงตู้ไปรษณีย์เพื่อไปลงในหนังสือพิมพ์โรงเรียนและท้องถิ่น และเมื่อได้ลงตีพิมพ์ เขาก็วาดส่งต่อเนื่องเรื่อยๆ จนมาเข้าตาโอซามุในขณะที่เขายังเป็นเพียงนักเรียนมัธยมปลาย ซึ่งนี่แม้จะเป็นจุดเล็กๆ แต่กลับเป็นตู้ไปรษณีย์ที่สร้างแรงบันดาลที่ยิ่งใหญ่มากๆ ให้กับผู้มีฝันอยากจะเป็นนักวาดการ์ตูนมังงะ เป็นจุดที่ย้ำให้รู้ว่ายอดมนุษย์ฉบับอิชิโนโมรินั้นสร้างจากคนธรรมดาได้จริง

อ้างอิง


Author

ทศพร กลิ่นหอม
นักเขียนสายบันเทิง สังคม ท่องเที่ยว และไลฟ์สไตล์ เคยประจำการอยู่ที่ เมเนจเจอร์ออนไลน์ นสพ.กรุงเทพธุรกิจ และรายการ ET Thailand ปัจจุบันรับจ้างทั่วไป