Sarawut Panhu ศิลปินผู้ปรุงงานจิตรกรรมไทยกับความป๊อปบนปกอัลบั้ม The Greng Jai Piece
Faces

Sarawut Panhu ศิลปินผู้ปรุงงานจิตรกรรมไทยกับความป๊อปบนปกอัลบั้ม The Greng Jai Piece

Focus
  • ปกเพลง Temple Fair ของ Phum Viphurit สร้างสรรค์โดย กอล์ฟ-สราวุฒิ ปานหนู หรือชื่อที่ใช้ในผลงาน Sarawut Panhu ศิลปินจิตรกรรมไทยร่วมสมัยชาวจังหวัดลพบุรีที่นำงานจิตรกรรมฝาผนังมาผสานความป๊อปได้จี๊ดใจ
  • อัลบั้ม The Greng Jai Piece คืออัลบั้มเต็มลำดับที่ 2 ของ ภูมิ วิภูริศ ที่มีการหยิบเครื่องดนตรีไทยอย่างฉิ่งและกลองเข้ามาผสมผสานอยู่ในเพลงเนื้อหาสากลได้อย่างกลมกล่อม
  • ปกเพลง Temple Fair ได้รับรางวัลยอดเยี่ยมสาขา Cover Art of The Year จากเวที T-Pop Of The Year หรือ TOTY Music Awards 2022

รางวัล Cover Art of The Year ถือเป็นอีกหนึ่งสาขาที่ได้รับความสนใจอย่างมากจากเวที T-Pop Of The Year หรือ TOTY Music Awards 2022 ที่จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 13 มีนาคม พ.ศ.2566 ณ โรงละครเคแบงก์สยามพิฆเนศ ซึ่งรางวัลนี้จัดอยู่ในประเภทยอดเยี่ยมที่ตัดสินโดยคณะกรรมการ 5 คนในวงการเพลงคือ ป๋าเต็ด-ยุทธนา บุญอ้อม, อนันต์ ลือประดิษฐ์, ดีเจวราฤทธิ์ มังคลานนท์, พรเทพ แซ่เฮง และ วรเชษฐ ไพศาขมาศ (เลเล่เล้) และสำหรับรางวัล Cover Art of The Year 2022 ได้แก่ปกเพลง Temple Fair ของ Phum Viphurit หรือ ภูมิ-วิภูริศ ศิริทิพย์ สร้างสรรค์โดย กอล์ฟ-สราวุฒิ ปานหนู หรือชื่อที่ใช้ในผลงาน Sarawut Panhu ศิลปินจิตรกรรมไทยร่วมสมัยชาวจังหวัดลพบุรีที่นำงานจิตรกรรมฝาผนังมาผสานความป๊อปได้จี๊ดใจมาก

The Greng Jai Piece ภูมิ วิภูริศ
Sarawut Panhu
Sarawut Panhu

Temple Fair คือชื่อผลงานเพลงที่อยู่ในอัลบั้ม The Greng Jai Piece อัลบั้มเต็มลำดับที่ 2 ของ ภูมิ วิภูริศ ที่มีการหยิบเครื่องดนตรีไทยอย่างฉิ่งและกลองเข้ามาผสมผสานอยู่ในเพลงเนื้อหาสากลได้อย่างกลมกล่อม ปกอัลบั้มจึงขาดไม่ได้ที่จะนำกลิ่นอายของจิตรกรรมไทยและงานวัดที่ส่งเสียงแห่งความคึกครื้นเติมชีวิตชีวาให้กับผู้คนยามค่ำคืนมานำเสนอเพื่อเพิ่มเติมอรรถรสในการฟัง

“ส่วนตัวผมไม่ได้ทำ Digital Paint แต่คุณภูมิเข้าใจผม ตอนที่คุยกันผมก็บอกเขาว่าผมทำงานวาด painting นะครับ เขาเลยบอกว่างั้นทำในแบบของผมเลย ผมเพนต์บนเฟรมผ้าใบด้วยสีอะคริลิค เริ่มจากเขาเล่าคอนเซปต์อัลบั้มให้ผมฟังและมีภาพในหัวมาอยู่ว่าต้องการบรรยากาศงานวัดตอนกลางคืน และมีสลอธเล่นกีตาร์ที่เป็นคาแรคเตอร์ของเขาอยู่ในนั้นด้วย ผมลองร่างให้เขาดู 2-3 แบบ เริ่มหาเรฟจากงานจิตรกรรมและเริ่มหาเรฟสี อยากให้ดูเข้าใจง่าย ผมเลยเริ่มใส่สีสะท้อนแสง ทำให้สีดูสว่างขึ้นเหมือนเป็นฉากตอนกลางคืน” 

กอล์ฟเล่าถึงการทำงานศิลปะในสไตล์ของเขาที่ส่วนใหญ่มักได้แรงบันดาลใจมาจากงานจิตรกรรมฝาผนังไทยประเพณีทั่วประเทศไทยที่เขาได้พบเห็นมา ทั้งจากวัด จากหนังสือรวมงานจิตรกรรม ผสมผสานกับผลงานป๊อปอาร์ต โปสเตอร์ อาร์ตเวิร์คบนแผ่นเสียงหรือสื่อโฆษณายุคก่อนๆ ที่เขาสะสมส่วนตัวและนำศิลปะทั้งสองรูปแบบมาปรับใช้จนเป็นซิกเนเจอร์ความไทยป๊อบของตัวเองที่ค่อนข้างชัดเจน

Sarawut Panhu
Sarawut Panhu

อาร์ตเวิร์คที่ปล่อยออกมาในนามอัลบั้ม The Greng Jai Piece ณ ตอนนี้มีทั้งหมด 4 ชิ้นที่กอล์ฟร่วมออกแบบ ชิ้นแรกคือภาพปกอัลบั้ม ต่อมาคือภาพคาแรคเตอร์สลอธเล่นกีตาร์ที่ปรากฏบนเสื้อยืดสำหรับเป็น Exclusive Merchandise ระหว่างไปโชว์ในประเทศต่างๆ ตามด้วยภาพสลอธกับเปลวไฟที่เป็นภาพโปรไฟล์ของ ภูมิ วิภูริศ ในตอนนี้ และล่าสุดคือภาพโปสเตอร์ Asia & Oceania Tour 2023 ที่กำลังจะเปิดฉากที่เมืองไทเปในเดือนเมษายน 2566 

Sarawut Panhu
Listn’t x H3F (2021)
Sarawut Panhu
โฟล์คข้างวัด 3 (จุติครั้งที่ 3) (2022)

แม้ The Greng Jai Piece จะเป็นผลงานปกอัลบั้มแรกที่กอล์ฟได้มีส่วนร่วมในการออกแบบ แต่ผลงานที่หยิบยกความเป็นไทยมาผสมกลิ่นอายความป๊อปและถือเป็นบันไดก้าวแรกที่ทำให้เขาเริ่มเจอสไตล์งานและลายเส้นของตัวเองที่ชัดขึ้นคือโปสเตอร์โปรเจคต์คืนกลางคืน : Listn’t x H3F (2021) ต่อมาด้วยงานโฟล์คข้างวัด 3 (จุติครั้งที่ 3) (2022) โดยทั้ง 2 งานถ่ายทอดด้วยเทคนิคสีอะคริลิคบนเฟรมผ้าใบเช่นเดียวกัน รวมถึงเป็นผลงานที่มีส่วนทำให้เขากลายเป็นที่รู้จักจากคนที่ติดตามมากขึ้น

ปัจจุบันกอล์ฟยังคงปักหลักทำงานศิลปะอยู่ที่จังหวัดลพบุรีโดยเปิดสตูดิโอทำงานศิลปะร่วมกับเพื่อนอีก 3 คนในชื่อ LAG Studio ที่ย่อมาจาก Lopburi Art Gallery อดีตร้านกาแฟและพื้นที่แสดงงานศิลปะที่ต้องปิดตัวลงในช่วงโควิด-19 สำหรับตอนนี้กอล์ฟกำลังมุ่งเส้นทางศิลปินและทำงานศิลปะแบบเต็มตัว โดยมีจุดมุ่งหมายเพียงแค่อยากทำด้วยความสุขและสนุกกับการทดลองไปเรื่อยๆ แบบไม่เร่งรีบ

Sarawut Panhu
เปิดโลก (2019)

“ตอนที่ได้รางวัล Cover Art of The Year ผมรู้สึกตื่นเต้นมาก มันน่าจะเป็นอีกวงการหนึ่งเลยนะครับ ในงานมีแต่ศิลปินนักร้องที่อยู่ตรงนั้น ส่วนตัวผมอยู่ในวงการศิลปะเลยตื่นเต้นมากๆ ผมคิดว่ารางวัลนี้มีความสำคัญมากๆ แง่หนึ่งคือสามารถเป็นโปรไฟล์ให้กับศิลปินคนหนึ่งได้ และในอีกมุมมองหนึ่งสำหรับผมคือการทำให้ศิลปินกล้าออกจากเซฟโซนมากขึ้น อย่างศิลปินเราก็จะรู้จักกันในกลุ่ม แต่สิ่งนี้จะทำให้งานศิลปะได้กระจายออกไปสู่วงกว้างมากยิ่งขึ้น ทำให้ผลงานศิลปะขยับไปอยู่ในวงการเพลงหรือวงการต่างๆ ได้ และทำให้คนที่อาจจะไม่ได้ลึกซึ้งในทางศิลปะ เริ่มเสพงานศิลปะได้จากสื่อต่างๆ ที่เข้าถึงง่ายด้วย”

ระหว่างนี้กอล์ฟกำลังอยู่ในช่วงเตรียมผลงานชุดใหม่ที่ตั้งใจสร้างสรรค์ขึ้นเพื่อจัดแสดงเดี่ยวที่กรุงเทพฯ ในอนาคตอันใกล้ ถ่ายทอดแรงบันดาลใจผ่านคาแรกเตอร์แทนตัวที่ชื่อว่า Mr.UM 

Mr.UM (ยัดเยียด)
Mr.UM City (ชีวิตในตึกสีเขียว)

“ผลงานชุดใหม่ผมตั้งชื่อไว้ว่า Mr.UM City ครับ ตอนนี้วาดเสร็จไปแล้ว 2 ชิ้น เป็นชิ้นทดลอง Mr.UM คือคาแรกเตอร์ของผม ในงานจิตรกรรมไทยจะเรียกว่า ตัวกาก โดย Mr.UM เป็นตัวชาวบ้านที่มีหน้าซ้อนกัน 3 หน้า ชุดนี้พูดถึงเรื่องเมืองที่ไม่ได้มีความตายตัว แต่เป็นแรงบันดาลใจต่างๆ ที่ผมเจอ ผมจะเอามาใส่ในเมืองของ Mr.UM ที่เป็นเมืองในจินตนาการของผม รูปแบบผลงานก็จะเป็นงานจิตรกรรมที่ใช้สีและรูปทรงที่มีความร่วมสมัยมากขึ้น มีความป๊อปขึ้นหรืออาจจะมีงานปั้นและภาพพิมพ์เข้ามาด้วย” กอล์ฟกล่าวทิ้งท้ายถึงผลงานชุดใหม่ซึ่งเราก็หวังว่าจะได้ชมกันแบบเต็มๆ ในเร็วๆ นี้  

Fact File


Author

สุกฤตา โชติรัตน์
มนุษย์ผู้ค้นพบพลังงานพิเศษจากประโยคในหนังสือ อาหารจานโปรดและเพลงที่ฟัง อยากเลี้ยงแมวและตั้งใจว่าจะออกไปมองท้องฟ้าบ่อยๆ