ซัลวาดอร์ ดาลี : ศิลปินผู้ปลุกเสกความเหนือจริงแห่งจิตใจใส่งานศิลปะ
Faces

ซัลวาดอร์ ดาลี : ศิลปินผู้ปลุกเสกความเหนือจริงแห่งจิตใจใส่งานศิลปะ

Focus
  • ซัลวาดอร์ ดาลี ศิลปินผู้มากับหนวดที่ยาวเรียวจัดทรงโค้ง เขาเป็นหนึ่งในศิลปินที่โด่งดังและเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางบนแนวทางศิลปะเหนือจริง
  • ดาลี เกิดในวันที่ 11 พฤษภาคม ค.ศ.1904 และเสียชีวิตวันที่ 23 มกราคม ค.ศ.1989
  • หากคิดว่างานเหนือจริงของดาลีดูไกลตัว แนะนำว่าให้ค้นลูกอมที่อยู่ในกระเป๋าคุณ เพราะดาลีคือผู้ออกแบบ Chupa Chups ที่โด่งดังตั้งแต่ ค.ศ.1969 จนถึงปัจจุบัน

หากกล่าวถึงศิลปินผู้มีเอกลักษณ์ความเหนือจริงตั้งแต่หัวจดเท้า ตั้งแต่งานศิลปะถึงชีวิตจริงคงหนีไม่พ้น ซัลวาดอร์ ดาลี (Salva-dor Dali) ศิลปินผู้มากับหนวดยาวเรียวจัดทรงโค้งขึ้นด้านบนอย่างเป็นเอกลักษณ์ พร้อมรูปแบบการสร้างสรรค์งานศิลปะเหนือจริง (Surrealism) ที่โด่งดังและแทบจะเป็นภาพติดตาเวลานึกถึงงานศิลปะเหนือจริง ด้วยความที่ ดาลี มีอิทธิพลในกระแสวัฒนธรรมมวลชน (Pop Culture) จากการทำงานหลากหลายทั้งงานออกแบบ งานเขียน งานศิลปะประเภทจิตรกรรม ประติมากรรม ภาพถ่าย และภาพยนตร์ ประกอบกับภาพลักษณ์อันดูแปลกตาไม่ต่างจากงานสร้างสรรค์ จึงทำให้ชื่อของเขาดังกระหึ่มขึ้นในหลายวงการ และนั่นทำให้ดาลีเป็นอีกหนึ่งศิลปินที่ได้รับความนิยมต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน

ซัลวาดอร์ ดาลี
ตรา Chupa Chups ออกแบบโดย ซัลวาดอร์ ดาลี

เมื่อโลกจริงได้รู้จัก ศิลปะเหนือจริง

ถ้าจะกล่าวถึง ดาลี ก็มักจะพ่วงด้วยคำว่า ศิลปะแนวเหนือจริง อันเป็นรูปแบบทางศิลปะที่เป็นเอกลักษณ์อยู่ในแทบทุกชิ้นที่ได้รับความนิยมของดาลี งานศิลปะแนวเหนือจริงนี้เริ่มต้นมาจาก กีโยม อาปอลีแนร์ (Guillaume Apollinaire) กวีผู้บุกเบิกใช้คำว่า Surrealism ในงานสร้างสรรค์ โดยต่อมาเขาเขียนในหนังสือ Manifeste du surréalisme ออกเผยแพร่ในปี ค.ศ.1924 ว่าด้วยหลักแห่งแนวความคิดเหนือจริงและได้รับความนิยมในหมู่ศิลปินจนแทบเรียกได้ว่าเป็นตำราสำคัญของความรู้เกี่ยวกับศิลปะเหนือจริง

สำหรับการให้ความหมายของคำว่า ศิลปะเหนือจริง อิทธิพลหลักของรูปแบบศิลปะเหนือจริง มักจะอ้างอิงทั้งงานเขียนของ กีโยม อาปอลีแนร์ และทฤษฎีจิตวิเคราะห์ของ ซิกมันต์ ฟรอยด์ (Sigmund Freud) ควบคู่กัน ซึ่งสามารถอธิบายอย่างย่อได้ว่าเป็นการใช้ศิลปะในฐานะการสื่อสารกับจิตไร้สำนึก (Unconscious mind) โดยเป็นสภาวะทางห้วงความคิดที่ไม่ถูกกรองด้วยสติและความตระหนักหรือสามัญสำนึก ทำให้ศิลปะกับจิตนั้นสามารถสื่อสารสร้างสรรค์ได้อย่างอิสระ เสมือนการปลดปล่อยให้จิตได้ทำงานโดยการถ่ายทอดความรู้สึกนึกคิดส่วนลึกภายในออกมา จึงทำให้งานศิลปะดังกล่าวไม่อิงอยู่กับภาพของความสมจริงหรือตรรกะระเบียบคิดที่อยู่ในกรอบความปกติของสังคม งานศิลปะเหนือจริง จึงสามารถจำลองภูมิทัศน์ เรื่องราว ความเชื่อมโยงหรือไม่เชื่อมโยง เนื้อหา การท้าทายศีลธรรม และปมทางจิตใจออกมาได้อย่างอิสระ ซึ่งองค์ประกอบและหลักคิดเหล่านี้มักปรากฏในชิ้นงานของ ดาลี อยู่เสมอ

ซัลวาดอร์ ดาลี
ซัลวาดอร์ ดาลี

โลกเหนือจริงที่หล่อหลอมเป็น ดาลี

ในวันที่ 11 พฤษภาคม ค.ศ.1904 เป็นวันที่ดาลีถือกำเนิดในครอบครัวที่ถือว่ามีฐานะดีในเมืองฟิเกรัส (Figueres) ชายแดนสเปนติดกับฝรั่งเศส ดาลีเติบโตมากับความเชื่อที่ เหนือจริง ของครอบครัวที่ต่างเชื่อว่าดาลีเป็นทารกผู้เกิดมาทดแทนพี่ชายของเขาที่เสียชีวิตขณะอายุได้ 9 เดือน แม้แต่ชื่อของเขาบางท่อนยังมาจากชื่อของพี่ชายที่เสียชีวิตไปก่อนหน้านี้

ความเชื่อเรื่องจิตวิญญาณที่มาทดแทนกันของครอบครัว ดาลี นั้นเรียกว่าจริงจังถึงขั้นที่เชื่อว่า ดาลีเป็นเสมือนพี่ชายกลับชาติมาเกิดในร่างของเขา วัยเด็กดาลีมีจิตวิญญาณสองจิตอยู่ในร่างกายเดียวมาตั้งแต่เกิด และด้วยพื้นฐานความเชื่อของครอบครัวทำให้ดาลีสนใจเรื่องลี้ลับมาตั้งแต่วัยเยาว์ รวมถึงในวัยเด็กเขามักตั้งคำถามกับร่างและจิตของตนที่มีพี่ชายสิงสถิตอยู่ด้วย

Arlequin: Anamorphosis Suite (1972)

ในวัยเด็ก ดาลี มีความคำนึงถึงจิตพี่ชายว่าหากเน่าเสียในร่างของตนจะมีผลต่อร่างกายของตนจนมีมดแมลงไต่ขึ้นไปด้วย ทำให้ดาลีในวัยเด็กมักมีความคิดและบุคลิกที่แสดงถึงความสับสนแปลกแยกจนมีครั้งหนึ่งเขาถูกกลั่นแกล้งโดยการปาตั๊กแตนใส่ ทำให้หลังจากนั้นดาลีกลัวแมลงอย่างฝังใจ และเรื่องราววัยเด็กนี้น่าจะเป็นฐานรากจุดหนึ่งที่สร้างตัวตนของเขาขึ้นมาทั้งในความคิดและผลงานศิลปะที่เหนือจริงซึ่งมีกลิ่นอายความลี้ลับอยู่เสมอ

ซัลวาดอร์ ดาลี
Un Chien Andalou (1929)

เราสามารถเห็นแมลงในภาพวาดของเขาอย่าง Arlequin: Anamorphosis Suite (1972) หรือจากความกังวลของจิตชายที่จะเน่าเปื่อยในร่างจนปะทุก็มีฉากหนึ่งในภาพยนตร์ Un Chien Andalou (1929) ที่เขาร่วมสร้างกับ หลุยส์ บุนเยล (Luis Buñuel) ก็ปรากฏภาพมดไต่บนมือของมนุษย์ยั้วเยี้ย

The Metamorphosis of Nacisus (1937)

ในผลงาน The Metamorphosis of Nacisus (1937) ดาลี ดัดแปลงบทกวีโรมันว่าด้วย นาร์ซิสซัส ผู้ปฏิเสธความรักของนางไม้จนถูกสาปให้หลงรักเงาของตนเอง เงาที่ไม่สามารถตอบรับความรักที่ให้ไปได้จนนาร์ซิสซัสตัดสินใจฆ่าตัวตายและเลือดของเขาไหลซึมลงดินจนมีดอกไม้ผุดขึ้น ดอกไม้นั้นชื่อว่า ดอกนาร์ซิสซัส ในผลงานชิ้นนี้น่าสนใจเพิ่มขึ้นเมื่อดาลีแต่งบทกวีคู่กับภาพวาดโดยมีวรรคสุดท้ายว่า

เมื่อศีรษะแบะแยกออกจากกัน
เมื่อศีรษะแบะแยกออกจากกัน
เมื่อศีรษะระเบิดกระจาย
ดอกไม้จะผลิบาน
นาร์ซิสซัสคนใหม่
กาล่า
นาร์ซิสซัสของฉัน

ในงานเขียนของ โรเบิร์ต แรดฟอร์ด (Robert Radford) ได้เชื่อมโยงกับสิ่งที่ ซิกมันต์ ฟรอยด์ มีคำอธิบายเชิงจิตวิเคราะห์ว่าลำดับของการฝักใฝ่กามารมณ์ของมนุษย์ทุกคนจะเริ่มที่ร่างกายของตนเองก่อน ฟรอยด์เรียกขั้นแรกนี้ว่า ขั้นนาร์ซิสซัส และคิดว่าปัญหาทางจิตวิทยาสามารถเกิดขึ้นได้ถ้าหากบุคคลนั้น ๆ ไม่สามารถพัฒนาหลุดออกจากขั้นนี้ แรดฟอร์ดเขียนถึงการที่ ดาลี กล่าวว่า กาล่า กลายเป็น นาร์ซิสซัสของฉัน อาจหมายถึงดาลีที่อยู่ในฐานะประพันธกร และกาล่าในบทกวีได้รวมกันเป็นร่างเดียวคล้ายกับการหลอมรวมจิตวิญญาณสองดวงเป็นหนึ่งเดียวกัน และนั่นคือร่างนาร์ซิสซัสของดาลี โลกศิลปะของดาลีจึงเสมือนจิตที่ไหลวนผสมผสานสร้างความหมายหรือความเข้าใจอย่างอิสระในสภาวะกึ่งจริงกึ่งฝันและเส้นแบ่งเขตนั้นๆเลือนรางจนเป็นการสร้างงานที่เหนือจริง

Sleep (1937)

“ผมมักจินตนาการปีศาจในยามหลับว่ามีหัวใหญ่โต ลำตัวแคบยาวมีโลกของความจริงทำหน้าที่ค้ำประคองไว้ เมื่อไม้หัก เรารู้สึกถึงการพังถล่มลงมา”

ดาลีกล่าวถึงภาพที่โด่งดังของเขาอย่าง Sleep (1937) ซึ่งการหลับเป็นสัญลักษณ์ที่มีความสำคัญต่อศิลปินเหนือจริงในเชิงที่การนอนหลับเป็นการย้ายพื้นที่จิตไปสู่โลกจินตนาการ ความฝันและจิตไร้สำนึก โดยในภาพนี้ดาลีได้แสดงให้เห็นว่า ความฝัน เป็นสิ่งที่เข้มแข็งพอที่จะหลับถึงและเปราะบางพอที่จะพังถล่มลงมาเช่นกัน

การค้นหาและปลดปล่อยเบื้องลึกในตัวตนด้วยวิธีสร้างงานเหนือจริงจึงยังคงน่าสนใจและนำไปสู่คำถามสำคัญที่ชวนให้คำนึงถึงการจำลองอิสรภาพทางความคิดดังที่งานประเภทเหนือจริงนี้คำนึงถึงการปลดปล่อยจิตไร้สำนึกและปล่อยให้จิตที่เป็นอิสระปรากฏในผลงาน หากเสรีภาพคือภาพฝันอันกว้างไกลการสำรวจจิตใจภายในเพื่อปลดปล่อยกรอบคิดจากระเบียบที่คุ้นเคยหรือสิ่งที่สังคมถือว่าเป็นความปกติ ก็อาจเป็นอีกหนึ่งวิธีของการมองเห็นพรมแดนที่เรียกว่าเสรีภาพก็เป็นไปได้ ความเหนือจริงนี้จึงสามารถมองได้ว่าไม่ใช่จินตนาการเพ้อฝัน แต่เป็นการหลุดจากกรอบความคุ้นชินสู่การค้นหาความจริงภายใน

อ้างอิง

  • ดาลี (Dali). หนึ่งธิดา เขียน. สำนักพิมพ์ พิราบ. 2546

Author

อชิตพนธิ์ เพียรสุขประเสริฐ
มนุษย์ผู้ตกหลุมรักในการสร้างสรรค์ ภาพ เสียง แสง การเคลื่อนไหว นามธรรม และ การขีดเขียน