ศิลปะญี่ปุ่นโบราณ ใน 4 ทศวรรษของ รอล์ฟ วอน บูเรน แห่ง Lotus Arts de Vivre
- รอล์ฟ วอน บูเรน นักสะสมงานศิลปะและผู้ก่อตั้งแบรนด์จิวเวลรีและของตกแต่งบ้าน Lotus Arts de Vivre ได้นำศิลปะโบราณของญี่ปุ่นในคอลเลกชันส่วนตัวมาจัดแสดงในนิทรรศการชื่อ “The Spirit of the Cherry Blossom” Masterpiece Exhibition
- ชุดเกราะซามูไรในศตวรรษที่ 18 หน้ากากโนห์อายุกว่า 120 ปี และภาชนะเคลือบแล็กเกอร์จากสำนักช่างโซฮิโกะ แห่งเกียวโตที่มีชื่อเสียงและเก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก คือไฮไลต์บางส่วนของงานศิลปะที่รอล์ฟสะสมไว้ตลอดระยะเวลากว่า 4 ทศวรรษ
หลังจากนำคอลเลกชันผ้าโบราณจากนานาชาติในผลงานสะสมส่วนตัวมาจัดแสดงเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564 รอล์ฟ วอน บูเรน (Rolf von Bueren) นักสะสมงานศิลปะและผู้ก่อตั้งแบรนด์จิวเวลรีและของตกแต่งบ้าน โลตัส อาร์ต เดอ วีฟร์ (Lotus Arts de Vivre) ได้นำอีกหนึ่งคอลเลกชันของเขาที่สะท้อนวัฒนธรรมและศิลปะของญี่ปุ่นจำนวนกว่า 200 ชิ้นมาจัดแสดงในนิทรรศการล่าสุด The Spirit of the Cherry Blossom Masterpiece Exhibition
ชุดเกราะซามูไรในศตวรรษที่ 18 ที่มีตราประทับของราชวงศ์อิมพีเรียลซึ่งได้รับอนุญาตให้ใช้กับตระกูลโมริ (Mori Samurai) หน้ากากโนห์ที่มีอายุกว่า 120 ปี ภาชนะเคลือบแล็กเกอร์จากสำนักโซฮิโกะ (Zohiko) แห่งเกียวโตที่มีชื่อเสียงและเก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก เสื้อคลุมของนักดับเพลิงในสมัยเมจิที่ทอด้วยผ้าฝ้ายอย่างแน่นหนาเพื่อใช้ชุบน้ำก่อนสวมใส่ในการปฏิบัติภารกิจ และเสื้อคลุมผ้าลินินของนักแสวงบุญในสมัยเมจิที่มีตราประทับสีแดงของวัดต่าง ๆ ที่เดินทางไปจาริกแสวงบุญ เหล่านี้คือบางส่วนของสมบัติล้ำค่าที่รอล์ฟได้รวบรวมและเก็บรักษาไว้ตลอดระยะเวลากว่า 4 ทศวรรษ และนำมาจัดแสดงที่ Lotus Arts de Vivre – Theatre of Indulgence Gallery ถนนพระราม 3 กรุงเทพฯ ตั้งแต่วันนี้จนถึงวันที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564
“ประเทศญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีวัฒนธรรมเป็นเอกลักษณ์มาก ๆ แม้ผู้คนจะใส่เสื้อผ้าแบบตะวันตก แต่มีวัฒนธรรมของตัวเองที่สกัดออกมาเด่นชัด หลายอย่างเขาอาจจะรับมาจากจีนแต่ได้นำมาปรับและพัฒนาจนเป็นตัวของตัวเองและสมบูรณ์แบบมาก ๆ เรียกว่า Very Chinese but Super Japanese อย่างเช่นงานแล็กเกอร์ที่เป็นศิลปะเก่าแก่ของจีนทางญี่ปุ่นก็นำมาพัฒนาจนมีลักษณะและเทคนิคเฉพาะตัวและเป็นศิลปะชั้นสูง” รอล์ฟ ชาวเยอรมันในวัย 80 ปี ผู้ลงหลักปักฐานที่เมืองไทยมาเกือบ 6 ทศวรรษ กล่าวช้า ๆ เป็นภาษาไทยถึงความประทับใจต่อศิลปะและวัฒนธรรมของญี่ปุ่น
รอล์ฟเป็นที่รู้จักในวงการนักสะสมของเก่าว่าเป็นผู้ที่มีผ้าโบราณหายากในคอลเลกชันนับพันผืน เขามีความเชี่ยวชาญเรื่องผ้าเพราะในวัย 22 ปีได้เดินทางมาประเทศไทยในฐานะตัวแทนของบริษัทเฮิสต์ ซึ่งเป็นบริษัทเคมีภัณฑ์รายใหญ่ของประเทศเยอรมนีเพื่อขายสีย้อมผ้าให้แก่โรงงานย้อมและทอผ้า หลังจากนั้นได้ตัดสินใจตั้งรกรากที่เมืองไทยและก่อตั้งบริษัทของตัวเองเพื่อนำเข้าเครื่องจักรผลิตผ้าและย้อมสีผ้าก่อนที่จะหันมาปลุกปั้นแบรนด์จิวเวลรีและของตกแต่งบ้าน Lotus Arts de Vivre จนมีชื่อเสียง
ผ้าทอของญี่ปุ่นเป็นงานศิลปะแขนงแรกที่ทำให้เขาเริ่มสนใจในศิลปะและวัฒนธรรมของญี่ปุ่นและเก็บสะสมเรื่อยมาจนขยายไปถึงผลงานศิลปะ เครื่องเรือนและเครื่องประดับ
“ผมรู้เรื่องผ้าและแน่นอนว่าคนทั่วโลกที่ศึกษาเรื่องผ้าต้องศึกษาเรื่องผ้าญี่ปุ่น ที่ญี่ปุ่นมีผ้าที่ทอด้วยเทคนิคชั้นสูงและยากที่สุดในโลก ซึ่งในโลกนี้มีแค่ 3 แห่งที่ทำได้คือที่แคชเมียร์ซึ่งใช้เป็นผ้าคลุมไหล่สำหรับชนชั้นสูง ที่จีนใช้สำหรับจักรพรรดิ์และที่ญี่ปุ่นถือเป็นงานศิลปะชั้นเยี่ยม เส้นพุ่งอาจใช้ 4 เส้นและมีการผูกกับสีใหม่ซึ่งเทคนิคการผูกนี่ก็เป็นศิลปะแล้วเพราะต้องไม่ให้เห็นว่ามีการผูก ผ้าต้องไม่หนาและลายหน้าหลังต้องเหมือนกัน”
ในนิทรรศการจัดแสดงชุดกิโมโนผ้าไหมสีขาวปักลายอย่างวิจิตรที่คาดว่าสร้างสรรค์ในช่วง ค.ศ.1920-1940 และเสื้อคลุมของนักแสวงบุญ (ประมาณ ค.ศ.1880-1910) ที่มีตราประทับสีแดงของวัดต่าง ๆ ที่เดินทางไปจาริกแสวงบุญด้วยการเดินเท้านับพันกิโลเมตร นอกจากนี้ยังมีเสื้อคลุมของนักดับเพลิง (ประมาณ ค.ศ.1860-1890) ที่จัดแสดงโดยพลิกด้านในเสื้อออกมาโชว์ให้เห็นลวดลายที่เชื่อว่าเป็นสัญลักษณ์เพื่อปกป้องคุ้มครองจากภยันตราย ในขณะที่ด้านนอกของเสื้อคลุมไม่มีลวดลายใด เสื้อคลุมนี้ถักทอจากผ้าฝ้ายอย่างแน่นหนาและมีน้ำหนักถึง 2 กิโลกรัมโดยนักดับเพลิงจะนำเสื้อคลุมไปจุ่มน้ำให้ชุ่มก่อนปฏิบัติงานผจญเพลิงเนื่องจากในสมัยเมจิบ้านเรือนในยุคนั้นสร้างจากไม้และอยู่ติดกันจึงก่อให้เกิดเหตุการณ์ไฟไหม้บ่อยครั้ง
“คนญี่ปุ่นมักไม่แสดงความร่ำรวยอย่างโจ่งแจ้ง ผมเคยเห็นเสื้อโค้ตตัวหนึ่งซึ่งภายนอกดูธรรมดามากแต่ขายที่ราคา 80,000 เหรียญสหรัฐ (ราว 2.6 ล้านบาท) แต่เมื่อพลิกด้านในดูจะเห็นลวดลายวาดสีทองอย่างงดงาม”
นอกจากผ้าแล้ว งานศิลปะประเภทแล็กเกอร์เป็นงานที่รอล์ฟชื่นชอบมากและสะสมไว้เป็นจำนวนมากไม่ว่าจะเป็นโต๊ะ จาน ชาม ถาด กาน้ำชาและแจกันที่มีอายุตั้งแต่ 70-250 ปี
“ผมชอบงานแล็กเกอร์ของญี่ปุ่นมากเป็นงานที่ซับซ้อนและละเอียดอ่อนจึงใช้เวลานานในการผลิต ช่างฝีมือจะนำยางของต้นรักหรือต้นอูรุชิ (Urushi) มาทาบนวัสดุหลาย ๆ ชั้นเพื่อเคลือบผิวไม้ให้คงทน การทาแล็กเกอร์แต่ละชั้นนั้นต้องรอให้แล็กเกอร์แห้งสนิทและขัดให้เงาก่อนที่จะทาซ้ำ ดังนั้นกว่าจะได้ความหนาตามต้องการจึงต้องอาศัยเวลานานหลายเดือนหรือเป็นปี ส่วนลวดลายมักสะท้อนปรัชญาของการเปลี่ยนผ่านของฤดูกาล เมื่อ 30 ปีก่อนตามภัตตาคารใหญ่ ๆ ในญี่ปุ่นจะมีห้องเก็บของขนาดใหญ่ไว้เก็บภาชนะที่จะแบ่งแยกชัดเจนเลยว่าภาชนะชุดไหนใช้เสิร์ฟในฤดูกาลไหน”
รอล์ฟชี้ให้ดูถาดแล็กเกอร์ที่มีลวดลายดอกไม้และผสม 2 เทคนิคคือแบบมากิเอะ (Maki-e) โดยการโรยผงทองบนภาพที่ช่างฝีมือวาดไว้บนภาชนะที่เคลือบแล็กเกอร์ขณะยังไม่แห้งทำให้ผงทองเกาะติดอยู่บนภาพที่วาดจนเป็นลายนูนเด่นขึ้นมาอย่างงดงาม และยังตกแต่งด้วยเทคนิคราเด็น (Raden) คือการนำเปลือกหอย เช่น หอยมุกหรือหอยเป๋าฮื้อมาฝนจนเหลือแต่เปลือกด้านในที่มีสีรุ้งและทำเป็นผงละเอียดพ่นบนพื้นผิวทำให้เกิดประกายแวววาวสวยงาม
รอล์ฟพาเราไปชมห้องที่เขาใช้เก็บผ้าและงานแล็กเกอร์โดยเปิดแอร์ 24 ชั่วโมงเพื่อควบคุมอุณหภูมิและควบคุมความชื้นที่เหมาะสม ภายในห้องยังมีชิ้นงานแล็กเกอร์จำนวนมากที่ยังไม่เคยนำมาจัดแสดงและเก็บอย่างเป็นระเบียบพร้อมหมายเลขกำกับ นอกจากนี้ยังมีผ้าโบราณอีกจำนวนมากที่ม้วนเก็บไว้ซึ่งเขากล่าวว่าส่วนใหญ่ได้มาจากวัดซึ่งเป็นแหล่งขุมทรัพย์ที่มักมีของล้ำค่าซุกซ่อนอยู่ ทั้งนี้ผลงานที่เขาสะสมส่วนใหญ่ได้มาจากการประมูลและการไปชมงานแฟร์ขายของเก่าในประเทศต่าง ๆ
“ผมอายุ 80 ปีแล้วก็พอจะรู้ว่าอันไหนดี แต่ถึงจะ 80 ก็ยังมีซื้อผิด ต้องใจเย็น ๆ และแน่นอนต้องมีความรู้ด้วยและมีที่ปรึกษาที่ดี ผมมีเอเจนต์ที่ญี่ปุ่นที่รู้จักกันมานานและเชื่อถือได้คอยหาของเก่าให้ เขาจะไปตามงานประมูลต่าง ๆ และจะเลือกงานที่น่าสนใจส่งมาให้ผมดูว่าสนใจหรือไม่และจะประมูลที่ราคาเท่าไร”
ในนิทรรศการยังจัดแสดงพัดญี่ปุ่นอายุร่วม 100 ปีในกรอบโบราณ ในอดีตเหล่าขุนนางและซามูไรจะต้องพกพัดติดตัวไปทุกหนแห่งเพื่อแสดงชนชั้นทางสังคม
“ผมเก็บสะสมพัดไว้จำนวนหนึ่ง เมื่อ 15 ปีก่อนผมเคยถามคนขายในร้านขายของเก่าร้านหนึ่งว่ามีพัดเก่าขายหรือไม่ เขาก็ให้ลูกน้องไปขนมาเป็นร้อย ๆ อัน ขายราคา 5 เหรียญสหรัฐต่ออัน วันนั้นผมซื้อมา 50 อัน แต่อีก 2 วันถัดมาพอจะไปซื้อเพิ่มราคาขายขึ้นไปถึง 80 เหรียญต่ออัน ผมก็ต้องยอมจ่าย ตอนนี้ 200 เหรียญก็ยังซื้อไม่ได้ เรียกว่าหาซื้อไม่ได้แล้วดีกว่า”
“ของทุกชิ้นผมดูแลเก็บรักษาอย่างดีไม่ให้เสียหาย การบรรจุหีบห่อของทางญี่ปุ่นเขาดีมากเมื่อส่งมาแทบไม่เสียหายเลย และผมดีใจว่าช่างไทยของ Lotus Arts de Vivre เองก็ซ่อมได้เกือบทุกอย่าง”
ในการจัดนิทรรศการ ลักขณา คุณาวิชยานนท์ ที่ปรึกษาด้านศิลปะและภัณฑารักษ์อิสระของ Lotus Arts de Vivre อีกทั้งยังดำรงตำแหน่งรักษาการผู้อำนวยการหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ได้ร่วมในการปรับปรุงโกดังเก่าให้เป็นพื้นที่จัดแสดงที่เหมาะสมและแบ่งนิทรรศการเป็น 3 โซนตามผลงานที่รอล์ฟได้คัดเลือกมานำเสนอ
“เราดูภาพรวมก่อนว่าออบเจกต์ที่จะนำมาเสนอประกอบด้วยอะไรบ้างซึ่งมีหลากหลายมาก มีทั้งชุดเกราะซามูไร ฉากกั้น เฟอร์นิเจอร์ ภาชนะแล็กเกอร์ เซรามิก ภาพเขียน และผลงานของ Lotus Arts de Vivre เองที่ได้รับแรงบันดาลใจจากศิลปะญี่ปุ่น เราพยายามสะท้อนให้เห็นวิถีชีวิตตั้งแต่ยุคซามูไร ยุคขุนนางผ่านเครื่องใช้ไม้สอยที่เป็นงานศิลปะชิ้นเยี่ยมและไลฟ์สไตล์ของชนชั้นสูงเช่นการไปดูละครโนห์ รวมไปถึงศิลปะการแต่งกายผ่านงานวิจิตรอย่างชุดกิโมโนและปรัชญาความว่างและความเรียบง่ายจากชุดนักบวช และท้ายสุดสะท้อนเรื่องการเข้าใจธรรมชาติและความเปลี่ยนแปลงด้วยปรัชญาวะบิ-ซะบิ” ลักขณากล่าวถึงคอนเซปต์หลักในการจัดแสดงนิทรรศการ
โซนวิถีชีวิตขุนนางและชนชั้นสูงชาวญี่ปุ่นจัดแสดงชิ้นงานล้ำค่า อาทิ ชุดเกราะซามูไร หน้ากากโนห์ ฉากกั้นญี่ปุ่นอายุราว 200 ปีที่ยังคงความสมบูรณ์ แจกันไม้สักแกะสลัก ภาชนะเคลือบแล็กเกอร์ กาสาเกโบราณ เพื่อบอกเล่าเรื่องราว ประเพณี ศิลปะ วัฒนธรรม และสะท้อนวิถีชีวิตของขุนนางและชนชั้นสูงผ่านศาสตร์และศิลป์ของการใช้ชีวิต อาทิ การจัดดอกไม้อิเคบานะ พิธีชงชา ละครโนห์ และการใช้ภาชนะเคลือบแล็กเกอร์สุดประณีต
ถัดมาเป็นโซนศิลปะการแต่งกายและแฟชั่นโดยนำเสนอ ชุดกิโมโนโบราณ เสื้อคลุมของนักดับเพลิง ผ้าคลุมนักแสวงบุญจากสมัยเมจิ และคอลเลกชันกระเป๋าและเครื่องประดับแล็กเกอร์ที่ Lotus Arts de Vivre ได้รังสรรค์ขึ้นใหม่โดยช่างฝีมือชั้นสูงซึ่งได้รับแรงบันดาลใจจากศิลปะและปรัชญาแบบญี่ปุ่น อาทิ ต่างหูที่ดัดแปลงมาจากกิ๊บประดับผมของเกอิชาและเพิ่มความหรูหราด้วยการประดับเพชรเจียระไน พัดโบราณที่นำมาปรับเปลี่ยนดีไซน์ให้เป็นสร้อยคอ และสร้อยคอที่ประดับด้วยหวีแล็กเกอร์ญี่ปุ่นโบราณ
วะบิ-ซะบิ : ความสวยงามในความไม่ยั่งยืนและความไม่สมบูรณ์แบบ เป็นโซนที่แสดงแนวคิดที่ยอมรับและยกย่องความงามในความไม่สมบูรณ์แบบ ไม่เที่ยงตรง ไม่สมดุล และเรียบง่าย ผ่านงานเซรามิกรูปทรงแปลกตาของศิลปินชื่อดัง อาทิ มาสุโอะ อิเคดะ (Masuo Ikeda) ฮิเดกิ อะรากามะ (Hideki Arakama) และ นากาชิมะ คะซึโนริ (Nakashima Katsunori)
“เราใช้งานเครื่องปั้นดินเผาที่บางชิ้นมีรูปทรงไม่สมมาตร หรือบางชิ้นที่เป็นแจกันก็มีปากแคบมากสำหรับปักดอกไม้ได้เพียงดอกเดียวมาสะท้อนแนวคิดเรื่องวะบิ-ซะบิ ที่เข้าใจเรื่องการเปลี่ยนแปลงและยอมรับในความไม่สมบูรณ์ คนญี่ปุ่นจึงให้ความสำคัญกับการเปลี่ยนแปลงของฤดูกาลและถ่ายทอดลงในผลงานศิลปะเพราะน่าจะเป็นภาพชัดของการยอมรับเรื่องความไม่จีรังและการชื่นชมกับความสวยงามในช่วงเวลานั้น ๆ” ลักขณากล่าว
Fact File
- นิทรรศการ “The Spirit of The Cherry Blossom” Masterpiece Exhibition จัดแสดงที่Lotus Arts de Vivre – Theatre of Indulgence Gallery ถนนพระราม 3 กรุงเทพฯ ตั้งแต่วันนี้ จนถึงวันที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564 โดยนัดหมายล่วงหน้าที่ E-mail:concierge@lotusartsdevivre.com หรือโทรศัพท์ 08-9667-6077
- ชมคอลเลกชันทั้งหมดแบบออนไลน์ได้ที่ https://www.lotusartsdevivre.com/