Portraits by Sakwut โปรเจกต์ดิจิทัลอาร์ตของศิลปินภาพเหมือน ศักดิ์วุฒิ วิเศษมณี ที่เต็มไปด้วยความท้าทาย แรงกดดัน และความคาดหวัง
- ศักดิ์วุฒิ วิเศษมณีศิลปินภาพเหมือนชั้นนำของประเทศตอบรับกระแสมาแรงของดิจิทัลอาร์ตและตลาด NFT ด้วยโปรเจกต์ Portraits by Sakwut กับการเปิดจองภาพวาดดิจิทัลพอร์ตเทรตจำนวนจำกัด 33 ภาพ
- เจ้าของภาพจะได้รับภาพที่สร้างสรรค์บนแท็บเล็ตก่อนจะนำไปพิมพ์บนผืนผ้าใบขนาด 80×60 เซนติเมตรพร้อมลายเซ็นของศิลปิน
- เจ้าของภาพยังได้ครอบครองไฟล์ภาพต้นฉบับสำหรับการซื้อขายในตลาด NFT
ในแวดวงผู้ชื่นชอบจิตรกรรมภาพเหมือนบุคคลหรือพอร์ตเทรต (Portrait) ผลงานภาพเหมือนของศิลปินเบอร์ต้นของไทยอย่าง ศักดิ์วุฒิ วิเศษมณี ย่อมอยู่ในท็อปลิสต์ของงานศิลปะที่ต้องสะสมด้วยฝีแปรงและลายเส้นเฉียบขาดอันเป็นเอกลักษณ์และแฝงอารมณ์แบบดรามาติก (Dramatic) ซึ่งราคาแต่ละภาพนั้นแตะระดับหลักแสนหรือหลักล้าน หรือหากใครอยากมีภาพพอร์ตเทรตของตนเองจากการสร้างสรรค์ของศักดิ์วุฒิอาจต้องรอคิวยาวนานนับปีเลยทีเดียว
เนื่องจากกระแสมาแรงของดิจิทัลอาร์ตและตลาด NFT ในโลกศิลปะสมัยใหม่ ศิลปินรุ่นใหญ่อย่าง ศักดิ์วุฒิ จึงไม่ปล่อยให้ตัวเองตกเทรนด์และติดอยู่แต่ในกรอบการสร้างสรรค์แบบเดิม เขาจึงท้าทายตัวเองด้วยการวางพู่กันและผืนผ้าใบชั่วคราวและหันมาจับปากกาดิจิทัลวาดภาพลงบนไอแพดในโปรเจกต์ที่ชื่อว่า Portraits by Sakwut โดยผู้สนใจที่อยากมีภาพพอร์ตเทรตของตนเองจะได้รับภาพที่สร้างสรรค์บนแท็บเล็ตก่อนจะนำไปพิมพ์บนผืนผ้าใบขนาด 80×60 เซนติเมตรพร้อมลายเซ็นของศิลปินและเข้ากรอบรูปที่จัดทำเป็นพิเศษประดับด้วยโลโก้ Sakwut นอกจากนี้เจ้าของภาพยังจะได้ครอบครองไฟล์ภาพต้นฉบับสำหรับการซื้อขายในตลาด NFT
การสร้างสรรค์จำกัดจำนวนเพียง33 ภาพในราคาภาพละ 199,000 บาทโดยสามารถจองสิทธิ์ได้ที่ portraitsbysakwut.io ครั้งนี้ถือเป็นลอตที่ 2 จึงเรียกว่า “Portraits by Sakwut 2nd DROP” หลังจากเปิดตัวครั้งแรกเมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2565 ในจำนวน 33 ภาพเท่ากันและจองหมดภายในเวลาอันรวดเร็ว
“การทำงานศิลปะไม่ได้มีสูตรตายตัวว่ายิ่งแก่จะต้องปล่อยวาง ศิลปินอย่าง ลูเซียน ฟรอยด์ (Lucian Freud) เป็นตัวอย่างของคนที่ยิ่งแก่ยิ่งเจ๋งและเขียนรูปได้เจ๋งมากจนตาย ผมต้องการแก่แบบนี้ เราต้องการความตื่นเต้น หาสิ่งเร้า หาแรงกระตุ้น ยังอยากอยู่ในกระแสเพื่อที่คนจะได้ไม่ลืม เราต้องมีชื่ออยู่ในทุกแพลตฟอร์ม” ศักดิ์วุฒิในวัยย่าง 60 ปีกล่าวถึงแรงกระตุ้นในการสร้างสรรค์โปรเจกต์ดิจิทัลอาร์ตครั้งนี้
ศักดิ์วุฒิกล่าวว่าโปรเจกต์นี้เกิดจากการชักชวนของ ตั๋น-จารุต วงศ์คำจันทรา ซึ่งเป็นเพื่อนตั้งแต่สมัยเรียนด้วยกันที่คณะจิตรกรรมฯ มหาวิทยาลัยศิลปากร และปัจจุบันเป็นผู้อำนวยการ ฮอฟ อาร์ต สเปซ และตัวศิลปินเองคิดว่าเป็นเรื่องใหม่ในอาชีพที่ท้าทายและน่าลองทำ นอกจากนี้ทางทีมยังเสริมทัพด้วย ธนวัฒน์ เลิศวัฒนารักษ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท เจ เวนเจอร์ส จำกัด (J Ventures) ผู้พัฒนา JNFT Marketplace ซึ่งเป็นแพลตฟอร์ม NFT สัญชาติไทย และ พิริยะ วัชจิตพันธ์ ผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท พิกเซลเพ้นท์ จำกัด (Pixel Paint) และ The Art Auction Center เพื่อเปิดให้ผู้สนใจได้เป็นเจ้าของผลงานของศักดิ์วุฒิทั้งในรูปแบบ Digital และ Physical
“รสนิยมและความชอบของคนสมัยนี้ก็เปลี่ยนไป คนสะสมงานยุคใหม่อยากมีผลงานศิลปินในยุคของเขาและมีกำลังพอที่จะซื้อได้ อย่างงานของศิลปินระดับ Old Masters นักสะสมรุ่นใหม่ก็อาจจะกังวลว่างานชิ้นนี้ปลอมหรือเปล่า เปรียบเหมือนกับเราจะซื้อพระเครื่องชั้นยอดก็ต้องมีเซียนพระมาช่วยดู แต่งานสมัยใหม่มีโค้ด (Code) มีประวัติความเป็นมาชัดเจนไม่ต้องกลัวปัญหาเรื่องนี้และผู้ซื้อก็ร่วมสมัยและทันเหตุการณ์กับศิลปิน” ศักดิ์วุฒิให้สัมภาษณ์ที่บ้านและสตูดิโอของเขาในย่านลำลูกกาที่เต็มไปด้วยผลงานจิตรกรรมและประติมากรรมที่สร้างสรรค์มาตลอดกว่า 40 ปี
อย่างไรก็ตามเมื่อต้องหันมาจับปากกาดิจิทัลแทนพู่กันและวาดลงบนแท็บเล็ตแทนผืนผ้าใบ ศักดิ์วุฒิยอมรับว่าไม่ใช่เรื่องง่าย
“ผมไม่เคยวาดบนไอแพดมาก่อนเลยก็ต้องให้คนมาสอนการใช้โปรแกรม (โปรแกรม Procreate) และพบว่าเราไม่สามารถคุมเทคนิคได้ 100% กระจกมีแสงสะท้อนและเขียนแบบวางแนวราบไม่ได้ก็ต้องตั้งไอแพดบนขาหยั่งวาดรูป การเขียนรูปที่ขนาดเล็กกว่าภาพจริงที่จะนำไปพิมพ์นั้นยากกว่าการเขียนบนผืนผ้าใบซึ่งไซซ์เล็กสุดที่ผมมักวาดคือ 1.30×1 เมตร ถึงแม้เส้นที่วาดด้วยไอแพดจะมีความคมกว่าการใช้พู่กันหรือชาร์โคลแต่ผมก็ยังคงอารมณ์เส้นที่มีความขูดขีด ไม่เป๊ะซึ่งเป็นคาแรกเตอร์เฉพาะตัว”
ความคาดหวังจากผู้ซื้อผลงาน ความกดดันตัวเองที่ต้องทำงานให้ดีที่สุดและปัญหาเรื่องสายตาเป็นสิ่งที่ศักดิ์วุฒิกำลังเผชิญอยู่กับการทำงานโปรเจกต์นี้
“ผมมีปัญหาเรื่องเลนส์ตาคอร์เนียเสื่อมซึ่งเป็นกรรมพันธุ์ ไม่มีอาการเจ็บปวดแต่ถ้าเครียดมาก ๆ แล้วตาจะเบลอ ผมแพ้แสงจากไอแพดทำให้เครียดไม่รู้ตัวและตาจะพร่าเบลอทำให้ทำงานได้ไม่ต่อเนื่อง ตอนลองวาดเล่น ๆ แรก ๆ ก็สนุกแต่เมื่อมีโจทย์จริงจังเพราะคนที่ว่าจ้างเขาก็คาดหวังว่าภาพจะเหมือนทำให้มีความกดดัน เราก็คาดหวังกับตัวเองด้วยว่าเขาควรจะได้อะไรกลับไป คนซื้อเขาคาดหวังที่จะเห็นว่านี่คือศักดิ์วุฒิ เราต้องทำให้ดีกับสิ่งที่เราเรียกราคาไป เราเองก็วิจารณ์คนอื่นไว้เยอะว่าพอแก่แล้วงานไม่ดี เราก็จะปล่อยผ่านไม่ได้และเมื่อไรที่เราเซ็นชื่อนั่นคือพอใจแล้ว”
จากความตั้งใจเดิมของการทำโปรเจกต์นี้คือแบ่งงานเป็นทั้งหมด 3 ลอต ลอตละ 33 ภาพ รวมทั้งหมด 99 ภาพ แต่ด้วยปัญหาทางสายตาที่เพิ่มมากขึ้นและศักดิ์วุฒิตัดสินใจว่าจะไม่ผ่าตัดทำให้เขายอมรับว่าอาจจะทำได้แค่2 ลอตเท่านั้น
“ตอนนี้วาดได้ 10 กว่ารูป ผมคิดว่าอาจทำได้แค่ 2 ลอตเพราะตาผมไม่น่าจะไหว จากที่ปรึกษาจักษุแพทย์การเปลี่ยนเลนส์ตาต้องใช้ตาของคนอื่นซึ่งผลมี 3 ทางคือ ดีขึ้น เลวลงและเท่าเดิม ตอนนี้ก็เลยมี 2 อย่างว่าทำใจหรือจะทำอะไรก็รีบทำ ผมชอบทำงานมากกว่าเพราะงานคือชีวิตและศิลปินหล่อเลี้ยงชีวิตด้วยกิเลสจึงทำงาน ผมยังอยากสร้างหอศิลป์แบบศักดิ์วุฒิและตายจากไป”
หนึ่งในผู้ที่จองผลงานดิจิทัลพอร์ตเทรตของศักดิ์วุฒิคือนักแสดงสาว เบลล่า ราณี แคมเปน และในสตูดิโอเรามีโอกาสได้เห็นภาพถ่ายของเบลล่าภาพหนึ่งที่อัดออกมาเป็น 3 แผ่นขนาดราว ๆ A3 โดยแต่ละแผ่นมีน้ำหนักสีที่ต่างกันจากอ่อนไปเข้มเพื่อให้เห็นรายละเอียดแต่ละจุดได้ชัดเจน
“คนยิ่งสวยยิ่งเขียนยาก และหากเป็นที่รู้จักก็ยิ่งยากขึ้นไปอีก คนสวยเพราะทุกอย่างสมส่วน ตา จมูกอยู่ในที่ที่เหมาะสมของมันแล้ว หากเราขยับนิดเดียวก็จะไม่เหมือนเลยและคนที่เห็นก็จะรู้ทันที การเขียนรูปคนที่สมบูรณ์แบบจึงเขียนยากมาก ผู้หญิงเขียนยากกว่าผู้ชายอย่างรูปเบลล่านี่ผมเขียนมาเป็นสัปดาห์แล้วยังไม่เสร็จเลย รูปที่เขียนยากที่สุดสำหรับผมคือรูปของสมเด็จ (สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง) มีรูปหนึ่งผมเขียนมาเป็น 10 ปีแล้วยังไม่เสร็จเพราะยังไม่พอใจและมีจุดให้แก้ไขตลอด”
เมื่อมีคนจองสิทธิ์ภาพดิจิทัลพอร์ตเทรต ทางทีมงานของศักดิ์วุฒิจะติดต่อให้ส่งภาพถ่ายมาหลาย ๆ มุมและศิลปินจะเป็นผู้เลือกว่าจะวาดรูปไหนถึงจะเหมาะสม
“หลายคนมักจะส่งรูปยิ้มซึ่งผมคิดว่ารูปแบบนี้เหมาะจะเป็นภาพประกอบมากกว่านำมาเขียนเป็นพอร์ตเทรต บางภาพเมื่อเป็นรูปถ่ายออกมาดีแต่หากนำไปเขียนจะไม่สวย รูปเขียนเราต้องดูดีที่สุด”
ตลอดเส้นทางหลายสิบปีในวงการศิลปะ ศักดิ์วุฒิกล่าวว่าเขาไม่เคยคิดที่จะวาดรูปแบบอื่นเลยนอกจากภาพพอร์ตเทรต
“การเรียนจิตรกรรมหากเขียนภาพวิวแล้วได้เกรด A ก็จะเฉย ๆ นะ แต่หากใครเขียนภาพเหมือนแล้วได้ A นี่คนในวงการจะยอมรับว่าเก่ง เช่น อาจารย์จักรพันธุ์ (จักรพันธุ์ โปษยกฤต) ท่านถือว่าเป็นเทพเลย เพราะภาพเหมือนมันจับผิดได้ชัดเจน ผมจึงอยากเก่งและอยากให้คนยอมรับ ตั้งแต่ตอนเรียนมัธยมที่โรงเรียนบดินทรเดชาผมชอบเขียนภาพล้อคนและก็ไม่เคยคิดว่าจะได้เรียนที่คณะจิตรกรรมฯเพราะเป็นเด็กสายวิทย์ แต่ผมเชื่อว่าบุญกรรมมีจริงจึงทำให้ได้มาเป็นศิลปิน”
แม้จะเป็นศิลปินชั้นนำของประเทศที่ใครก็ปรารถนาจะมีภาพพอร์ตเทรตจากฝีมือของศักดิ์วุฒิไว้ครอบครอง เขากล่าวว่าการดำรงชีพด้วยการเป็นศิลปินเขียนภาพเหมือนไม่ใช่เรื่องง่าย
“จริง ๆ แล้วผมไม่ชอบงานที่ว่าจ้างเพราะมีแต่ความคาดหวัง เราควรซื้องานศิลปินเพราะเนื้องานของเขามากกว่าหรือเปล่า ไม่ใช่ว่าเมื่อผมเขียนพอร์ตเทรตดาราหรือภาพคนอื่นที่ไม่ใช่ญาติของตัวเองแล้วไม่เอา ไม่ซื้อ เพราะคิดว่าจะเอารูปเหมือนคนอื่นไปติดบ้านตัวเองทำไม คนสะสมงานผมก็ยังเป็นเจนเนอเรชันเก่าแต่เปลี่ยนกลุ่มใหม่ กลุ่มเดิมที่เคยเก็บงานเราเขาก็ดีใจที่มูลค่างานของเราเพิ่มขึ้น แต่ก็ไม่อยากซื้อในราคาใหม่ แต่ก็ต้องเข้าใจว่าเราขายงานในราคาแบบพระสมเด็จก็เหมือนกับว่าพุทธคุณที่เราให้ต้องมากขึ้นด้วย” ศักดิ์วุฒิกล่าวทิ้งท้าย
ภาพ: สมัชชา อภัยสุวรรณ
Fact File
- ผลงาน “Portraits by Sakwut 2nd DROP” โดย ศักดิ์วุฒิ วิเศษมณี จำกัดจำนวน 33 ภาพในราคาภาพละ 199,000 บาท เปิดให้จองสิทธิ์ได้แล้ววันนี้
- รายละเอียดเพิ่มเติมที่เว็บไซต์ portraitsbysakwut.io หรือ โทรศัพท์ 09-5421-6554 หรือ Line id: @pixelpaint