120 ปี ชาตกาล หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล ผ่านนิทรรศการ Virtual Tour
Faces

120 ปี ชาตกาล หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล ผ่านนิทรรศการ Virtual Tour

Focus
  • 24 ตุลาคม 2566 ตรงกับวันครบรอบ 120 ปีชาตกาล ศาสตราจารย์ หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล ได้รับยกย่องจาก UNESCO ให้เป็น “นักการศึกษาดีเด่นของโลก”
  • หม่อมหลวงปิ่นได้สร้าง “ห้องสมุดเสียง” เป็นที่เก็บแถบบันทึกเสียงที่ใช้บันทึกพระราชดารัส พระบรมราโชวาท คำปราศรัยของบุคคลสำคัญ ถือเป็นห้องสมุดเสียงแห่งแรกของประเทศไทย

24 ตุลาคม 2566 ตรงกับวันครบรอบ 120 ปี ชาตกาล ศาสตราจารย์ หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล อีกบุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์การศึกษาไทยที่ได้รับยกย่องจาก UNESCO ให้เป็น “นักการศึกษาดีเด่นของโลก” ทั้งยังเป็นผู้ก่อตั้งห้องสมุดเสียงแห่งแรกในไทย เป็นผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยศิลปากร ณ พระราชวังสนามจันทร์ และยังเป็นผู้ทำปฎิทินล้านปีในยุคที่ยังไม่มีคอมพิวเตอร์ช่วยคำนวณ

หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล

Sarakadee Lite ชวนไปรู้จัก ศาสตราจารย์ หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล ผ่านนิทรรศการ Virtual Tour แบบ 360 องศาที่จัดทำข้อมูลได้ละเอียดมาก แถมยังออกแบบห้องนิทรรศการไม่ต่างจากการเดินเข้าแกลเลอรีของจริงที่ใส่ดีไซน์จัดเต็ม ออกแบบโดยสำนักหอสมุดกลาง มหาวิทยาลัยศิลปากร

หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล
หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล
หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล

ศาสตราจารย์หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล เป็นอาจารย์ใหญ่โรงเรียนมัธยมหอวัง โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา อธิบดีกรมสามัญศึกษา อธิบดีกรมวิชาการ อธิบดีกรมการฝึกหัดครู ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการถึง 4 สมัย ผลงานสาคัญ ได้แก่ จัดตั้งโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา พญาไท ซึ่งเป็นโรงเรียนมัธยมสหศึกษาแห่งแรกในประเทศไทย จัดตั้งโรงเรียนประถมสาธิต วิทยาลัยวิชาการศึกษา โรงเรียนฝึกหัดครูชั้นสูง ถนนประสานมิตร (ปัจจุบันคือมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร) จัดตั้งมหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตพระราชวังสนามจันทร์ และจัดตั้งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่

หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล

ในด้านนวัตกรรมทางการศึกษา หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล ได้สร้าง “ห้องสมุดเสียง” เป็นที่เก็บแถบบันทึกเสียงที่ใช้บันทึกพระราชดารัส พระบรมราโชวาท คำปราศรัยของบุคคลสำคัญ ตัวอย่างเสียงภาษาต่าง ๆ และข้อมูลเสียงอีกหลาย ๆ ประเภท ถือเป็นห้องสมุดเสียงแห่งแรกของประเทศไทยที่เก็บบันทึกประวัติศาสตร์ผ่านเสียง นอกจากนี้ยังได้ออกแบบและประดิษฐ์ “ปฏิทินสุริยคติระบบจูเลียนและเกรกอเรียน” หรือที่รู้จักกันทั่วไปว่า “ปฏิทินล้านปี” ซึ่งเป็นสิ่งที่ยากมากในยุคที่ยังไม่มีคอมพิวเตอร์ช่วยคำนวณ

ผลงานด้านวรรณกรรม ท่านเป็นนักเรียนมหาดเล็กรับใช้รุ่นแรกในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้อยู่ใกล้ชิดเบื้องพระยุคลบาท ทำให้ได้มีโอกาสเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ มากมายจากพระองค์ท่าน โดยเฉพาะเกี่ยวกับวรรณกรรม ท่านจึงปราดเปรื่องในเชิงวรรณศิลป์ สามารถแต่งหนังสือได้แทบทุกประเภท ท่านได้รับการยกย่องเป็นศิลปินแห่งชาติ ด้านวรรณกรรม เมื่อปี พ.ศ. 2530 และรางวัลอาเซียน สาขาวรรณกรรม เมื่อปี 2535

ท่านยังได้รับการยกย่องในฐานะปูชนียบุคคลด้านการศึกษาไม่เฉพาะจากภายในประเทศเท่านั้น แม้แต่ในองค์กรระดับโลกคือ องค์การการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเนสโก ก็ยกย่องท่านเป็นนักการศึกษาดีเด่นของโลก

Fact File


Author

กองบรรณาธิการ
กองบรรณาธิการ Sarakadee Lite