ปวินท์ ระมิงค์วงศ์ : เมื่อคลื่นสร้างสรรค์รุกคืบพะเยาใน Phayao Art & Creative Festival
- Phayao Art & Creative Festival เทศกาลศิลปะแบบจัดเต็มครั้งแรกในพะเยา เริ่มเปิดให้เข้าชมตั้งแต่วันที่ 7 สิงหาคม ถึงวันที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2564 ภายใต้คอนเซ็ปต์ Next Normal is Creative Normal
- ปวินท์ ระมิงค์วงศ์ อาจารย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา คืออีกบุคคลสำคัญที่อยู่เบื้องหลังซีนศิลปะในพะเยามานับ 10 ปี
“ผมเชื่อว่าศิลปะใน พะเยา มีโอกาสเติบโตมาก โดยเฉพาะช่วงนี้น้อง ๆ หลายคนที่ทำงานด้านครีเอทีฟพากันย้ายกลับมาอยู่บ้านเกิด นับเป็นโอกาสดีที่จะช่วยขับเคลื่อนความอาร์ตและความครีเอทีฟในเมืองนี้ให้เป็นไปอย่างที่ควรเป็น ไม่ใช่พะเยาที่เหมือนเชียงใหม่ หรือพะเยาที่เหมือนเชียงราย แต่เป็นพะเยาที่มีความครีเอทีฟในแบบพะเยาจริงๆ”
ปวินท์ ระมิงค์วงศ์ หรือ อาจารย์โป้ง ที่นักศึกษาสาขาศิลปะและการออกแบบ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา ต่างคุ้นเคย เอ่ยปากถึงความฝันที่มีต่อพะเยา เมืองที่รักและบ้านหลังที่สองของเขา ซึ่งความฝันนั้นเองที่เป็นเชื้อเพลิงขับเคลื่อนให้เขาลุกขึ้นมาผลักดันซีนศิลปะและความสร้างสรรค์ในเมืองที่แสนเงียบเชียบแห่งนี้มากว่า10 ปี และความพยายามนั้นก็เริ่มเห็นเป็นรูปธรรมกับกิจกรรม Phayao Art & Creative Festival หรือ เทศกาลศิลปะและการสร้างสรรค์พะเยา ที่ถูกจัดขึ้นเป็นครั้งแรกในเมืองที่หลายคนคิดว่าเป็นเพียงเมืองทางผ่านที่แทบจะไม่เคยได้ยินข่าวคราวความเคลื่อนไหวด้านศิลปะมาก่อนเลย
“เสียดาย” คำสั้น ๆ ที่จุดประกายพื้นที่ศิลปะใน พะเยา
ในกลางปี 2564 ยามที่กิจกรรมทางสังคมต่าง ๆ ถูกระงับจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งเรียกได้ว่าเข้าขั้นวิกฤติสำหรับประเทศไทย ไม่ต้องเอ่ยถึงอีเวนต์ต่าง ๆ แม้แต่การรวมตัวกันก็เป็นเรื่องยาก ทว่าในเมืองสงบเงียบอย่าง พะเยา กลับมีกิจกรรมน่าสนใจดึงดูดให้แวดวงศิลปะต้องหันมอง ด้วยการรวมตัวของศิลปินและเหล่าครีเอทีฟ “คนพะเยา” ร่วมกันจัดเทศกาลศิลปะและการสร้างสรรค์ Phayao Art & Creative Festival ขึ้นเป็นครั้งแรก โดยมีโต้โผใหญ่เป็นตัวพ่อด้านศิลปะของจังหวัดอย่างอาจารย์โป้ง ที่ทุ่มทั้งตัวและทั้งใจปั้นงานนี้ให้เกิดขึ้นจริง
หากจะย้อนไปยังจุดเริ่มต้นของการจัดงานเทศกาลศิลปะและการสร้างสรรค์พะเยา คงต้องย้อนไปยังการวางรากฐานของการแสดงออกด้านศิลปะในจังหวัดพะเยา ซึ่งอาจารย์โป้งเล่าว่าเกิดจากคำว่า เสียดาย จนกลายมาเป็น แรงผลักดัน
“ตั้งแต่ย้ายมาอยู่ที่นี่เมื่อ 10 กว่าปีที่แล้ว ผมก็เริ่มทำแกลเลอรีไปด้วย เพราะเราสอนศิลปะ ได้เห็นผลงานศิลปะของนักศึกษาจำนวนมากที่พอส่งปุ๊บก็หมดคุณค่าทันที เพราะเขาไม่เอากลับไป ทิ้งไว้จนเราไม่มีที่เก็บและต้องจ้างคนมาขนไปทิ้ง ทั้งที่งานแต่ละชิ้นมีคุณค่าในตัวเอง ทั้งด้วยระยะเวลาในการสร้างสรรค์ ด้วยเทคนิค ด้วยวิธีคิด ทำให้รู้สึกเสียดายมาก ผมเลยดัดแปลงบ้านไม้หลังเก่าที่เช่าอยู่ ให้เป็นพื้นที่ที่สามารถจัดแสดงงาน”
อาจารย์โป้งเริ่มต้นพื้นที่ศิลปะจาก อย่าเห็นแก่ตัวสถาน จนมาถึง PYE Space ซึ่งแม้จะต้องเผชิญกับบททดสอบที่ทำให้เปิดแล้วปิดตัวมาถึง 4 ครั้ง แต่แกลเลอรีสำหรับงานอาร์ตของอาจารย์ชาวเชียงใหม่ที่เลือกเมืองพะเยาเป็นบ้านหลังที่สอง ก็ยังคงฝ่าฝนฝ่าหนาว เดินหน้าเปิดพื้นที่ให้กับการสนับสนุนงานศิลปะเท่าที่กำลังจะไหวมาจนถึงทุกวันนี้ ทั้งยังก่อเกิดโปรเจกต์สร้างสรรค์อย่าง พะเยารามา ๒๕๑๖-๒๕๖๔ ที่ใช้งานศิลปะปลุกโรงหนังเก่ากลางเมืองให้กลับมามีสีสัน และย้อนอดีตความทรงจำเกี่ยวกับความบันเทิงในเมืองพะเยา ตามด้วย กรรมศิลป์ เปลี่ยนอดีตโรงหนังเมืองทองรามาให้เป็นเวทีปล่อยของสำหรับนักศึกษา ก่อนจะขยับมาสู่งานใหญ่ในเทศกาลศิลปะและการสร้างสรรค์ซึ่งถือเป็นงานเทศกาลด้านศิลปะความสร้างสรรค์อย่างเป็นทางการครั้งแรกในพะเยา (ไม่นับรวมเทศกาลวัฒนธรรมพื้นบ้านดั้งเดิมที่จัดประจำทุกปี)
จากอาร์ตสเปซสู่ครั้งแรกของเทศกาลศิลปะและการสร้างสรรค์
“โปรเจกต์พะเยารามา ๒๕๑๖-๒๕๖๔ จุดประกายให้เราคิดว่าพะเยาควรจะมีพื้นที่ให้พ่อแม่พาลูกไปใช้เวลากับศิลปะบ้างเพราะคนมาดูงานส่วนใหญ่มากันเป็นครอบครัว พอจบงานนั้นเขาก็ไม่รู้จะพาลูกไปดูศิลปะหรือทำกิจกรรมเชิงสร้างสรรค์ที่ไหนอีก หลังจากงานกรรมศิลป์ที่เมืองทองรามาจบลงเราจึงวางแผนต่อทันทีว่าอยากจะมีพื้นที่ทางศิลปะให้เด็ก ๆ ในพะเยาได้ไปใช้เวลา ผมเลยเข้าไปคุยกับเจ้าของตลาดพะเยาอาเขตว่าจะขอใช้พื้นที่ในการจัดแสดงงานศิลปะ ที่ตัดสินใจเลือกที่นี่เพราะโลเคชันอยู่กลางเมือง และอีกอย่างคือผมสอนวิชาศิลปะชุมชน ก็ชอบมาเก็บข้อมูลในตลาดอยู่แล้ว นักศึกษาบางกลุ่มที่เรียนกับผมก็เลือกชุมชนตลาดในการเก็บข้อมูล ซึ่งหลายกลุ่มได้ข้อมูลที่ดีมาก มีเรื่องเล่าเยอะมาก เราเลยสนใจตลาด ในฐานะที่เป็นแหล่งรวมวิถีชีวิตของชาวพะเยาอย่างหนึ่ง”
เมื่อคิดจะเปลี่ยนชั้นสองของตลาดเก่าแก่ที่ร้างราผู้คนไปนับ 10 ปีให้เป็นอาร์ตสเปซ อาจารย์ศิลปะไฟแรงก็เดินหน้าอย่างค่อยเป็นค่อยไปตามแต่ทุนและเวลาส่วนตัวจะเอื้ออำนวย
“ตอนแรกมืดแปดด้าน เพราะเราไม่มีทุน ไม่รู้ว่าจะขอแรงสนับสนุนจากไหน อีกอย่างพะเยาเป็นเมืองที่ทำอะไรแบบนี้ยากมาก ยิ่งในช่วงที่เศรษฐกิจแย่ยิ่งยากเข้าไปใหญ่ เลยคิดว่าจะค่อย ๆ ทำไปทีละนิดตามกำลังทรัพย์และเวลาที่เรามี จนได้คุยกับ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) (Creative Economy Agency (Public Organization): CEA) ซึ่งเคยมาสำรวจข้อมูลของเมืองรองเมื่อสองปีที่แล้ว เขาอยากให้มีโปรเจกต์พัฒนาเศรษฐกิจแบบสร้างสรรค์เหมือนที่เจริญกรุงเป็นเส้นทางท่องเที่ยวผสมศิลปะ แต่ในมุมมองของเราคือ พะเยามีความน่ารักในแบบของตัวเอง คงจะเหมือนที่กรุงเทพฯ ไม่ได้ ซึ่งเราก็วางเส้นทางไว้คร่าว ๆ แล้วคิดว่าจะนำงานศิลปะไปติดตั้งให้เข้ากับบริบท พอ CEA ติดต่อมาอีกทีว่ามีงบประมาณปีนี้ เลยเกิดงานครั้งนี้ขึ้น พร้อมกับทำ AR(T)CADE ให้เป็นอาร์ตสเปซแห่งแรกของพะเยาด้วย”
ถึงจะมีเวลาในการเตรียมพร้อมไม่มากนัก แต่ เทศกาลศิลปะและการสร้างสรรค์พะเยา ครั้งแรกนี้ก็ถูกเนรมิตขึ้นอย่างน่าชม โดยมี AR(T)CADE ชั้น 2 ของตลาดพะเยาอาเขต ตลาดเก่าแก่กลางใจเมืองเป็นจุดจัดแสดงนิทรรศการหลัก และขยายไปยังแกลเลอรีและคาเฟ่ใกล้เคียงอย่างร้านนิทานบ้านต้นไม้, ร้านฉ่ำจิตร Cafe & Creative Space, ร้านคอนเทนเนอร์ และร้านเลคแลนด์คาเฟ่ โดยมีไฮไลต์เป็นนิทรรศการผลงานของศิลปินรุ่นใหม่และนิทรรศการแสดงผลงานออกแบบของกลุ่มนักออกแบบชาวพะเยา ร่วมด้วยการฉายภาพยนตร์สั้นจุลนิพนธ์ของนักศึกษาเอกภาพยนตร์ คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร มหาวิทยาลัยศิลปากรรวมถึงผลงานของนักศึกษาจากสาขาวิชาศิลปะและการออกแบบ มหาวิทยาลัยพะเยา
และที่ไม่ควรพลาดคือนิทรรศการจาก พิพิธภัณฑ์สามัญชน (Museum of Popular History) ซึ่งนำวัตถุและของที่ระลึกเกี่ยวกับการต่อสู้ทางการเมืองของภาคประชาชนแต่ละกลุ่มมาจัดแสดงที่ PYE Space นอกจากนี้ทุกวันเสาร์และอาทิตย์ภายในงานยังมีกิจกรรมเวิร์กช็อปและเสวนาที่น่าสนใจให้ได้เข้าร่วมด้วย
ฝันที่เป็นจริงของอาจารย์ศิลปะ
หากจะบอกว่าการเกิดขึ้นของ AR(T)CADE และ เทศกาลศิลปะและการสร้างสรรค์พะเยา คือความฝันที่เป็นจริงของอาจารย์ปวินท์ ก็คงไม่ใช่การกล่าวเกินจริงนัก เพราะกว่า 10 ปีที่ผ่านมาเขาทุ่มเทสนับสนุนด้านศิลปะในเมืองพะเยามาอย่างชนิดที่เรียกได้ว่าเทหมดหน้าตัก ถึงขนาดที่ยอมควักเงินส่วนตัวพร้อมพายานพาหนะคู่กายไปจำนำเพื่อให้เกิดโปรเจกต์พะเยารามา ๒๕๑๖-๒๕๖๔ มาแล้ว แต่เหนือสิ่งอื่นใดคือการได้เห็นเด็กและเยาวชนในจังหวัดมีพื้นที่ให้ไปใช้เวลา ไปทำความรู้จักและเข้าใจเกี่ยวกับศิลปะมากขึ้น
“ความคาดหวังของผมในการจัดงานเทศกาลศิลปะและการสร้างสรรค์พะเยา อย่างแรกคือมีพื้นที่ทางศิลปะเกิดขึ้นในพะเยา ซึ่งก็คือ AR(T)CADE ผมเชื่อว่าพอมีสเปชแล้วจะมีจุดศูนย์กลางในการขับเคลื่อนศิลปะและความสร้างสรรค์ในเมืองนี้ ที่สำคัญคือผมอยากให้ลูกศิษย์ของผมได้เห็นภาพว่างานศิลปะมีคนดูนะ อาชีพศิลปินก็เป็นอีกอาชีพหนึ่งที่สามารถเลี้ยงชีพได้ และพื้นที่ศิลปะนี้ยังกระตุ้นความตั้งใจในการทำงานของเด็ก ๆ แทนที่จะทำงานเพื่อส่งอาจารย์อย่างเดียว ก็ตั้งใจทำงานเพราะอยากแสดงความมีตัวตนในโลกศิลปะของตัวเอง หลายคนพอเขาแสดงงานแล้วขายได้ก็มาบอกว่า ‘อาจารย์เดี๋ยวเซตหน้าผมจะมาโชว์ที่แกลเลอรีอีกนะ’ ได้ยินแบบนี้แล้วเราก็มีความสุข รู้สึกว่าประสบความสำเร็จในฐานะอาจารย์สอนศิลปะแล้ว
“อีกหนึ่งความคาดหวังคือ ความสนใจจากหน่วยงานราชการ สำหรับเทศบาลเมืองพะเยาเอง เราได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีมาตลอด แต่หน่วยงานสำคัญอย่างสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดที่พยายามประสานงานมา 10 ปี กลับไม่ได้รับความสนใจเลย เพราะเขามองวัฒนธรรมเพียงแค่ความดั้งเดิม เหมือนแช่แข็งวัฒนธรรมไว้แค่การใส่ชุดพื้นเมืองหรืออะไรแบบนั้น ซึ่งเราก็เข้าใจ ไม่ได้หวังให้สนับสนุนเรื่องงบประมาณ แค่อยากให้เห็นว่าสิ่งที่เราทำอยู่ก็คือวัฒนธรรมเหมือนกัน” นั่นคือความหวังที่เขาอยากให้เป็นจริง
ในภาพใหญ่อาจารย์โป้งมองว่ากิจกรรมทางศิลปะและการสร้างสรรค์ รวมถึงพื้นที่ทางศิลปะที่เกิดขึ้นนี้ จะผลักดันให้เกิดแรงกระเพื่อมทางเศรษฐกิจการท่องเที่ยวได้ และในอนาคตพะเยาจะไม่ได้มีแค่กว๊านพะเยา พะเยาจะไม่ได้มีแค่วัดพระเจ้าตนหลวง พะเยาจะไม่ได้มีแค่วัดอนาลโย แต่พะเยาจะมีอีกเส้นทางหนึ่งที่ผู้คนสามารถไปเที่ยวและใช้เวลาอยู่ในพื้นที่นี้ได้ แม้ตัวเขาจะไม่ได้หวังถึงรายได้ส่วนตัว อย่างที่บอกว่า “ตั้งแต่ผมทำมายังไม่มีใครทำอะไรแบบนี้ออกมาแข่งเลย เพราะถ้ามองในเชิงธุรกิจ แน่นอนว่าเจ๊ง” แต่กำไรที่จะได้คือเมล็ดพันธุ์ทางศิลปะที่จะงอกงามให้เห็นในจังหวัดที่เขารักแม้พะเยาจะไม่ใช่จังหวัดบ้านเกิดก็ตาม
ขอบคุณภาพบางส่วนจาก : Phayao Art & Creative Festival
Fact File
- Phayao Art & Creative Festival เริ่มเปิดให้เข้าชมตั้งแต่วันที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2564 ที่ผ่านมา และจะจัดยาวจนจนถึงวันที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2564 ภายใต้คอนเซ็ปต์ Next Normal is Creative Normal ความธรรมดาแสนครีเอทีฟที่กำลังจะกลายเป็นบริบทใหม่ในจังหวัดพะเยา สามารถติดตามความเคลื่อนไหวและอัพเดทกิจกรรมแต่ละวันได้ทาง www.facebook.com/phayaoartsandcreativefestival
- ปวินท์ ระมิงค์วงศ์ : อาจารย์ประจำสาขาศิลปะและการออกแบบ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา และเจ้าของแกลเลอรี PYE Space ผู้อยู่เบื้องหลังโปรเจกต์งานอาร์ตในจังหวัดพะเยา อย่าง ‘พะเยารามา ๒๕๑๖-๒๕๖๔’ และ ‘กรรมศิลป์’ ทั้งยังผลักดันให้เกิดพื้นที่ทางศิลปะ AR(T)CADE รวมถึงเทศกาลศิลปะและการสร้างสรรค์พะเยา