หนังกลางแปลง กับเรื่องเบื้องหลัง “คนปรุงหนัง” ที่ต้องปรุงทั้งหนัง บรรยากาศ และผู้ชมให้กลมกล่อม
Faces

หนังกลางแปลง กับเรื่องเบื้องหลัง “คนปรุงหนัง” ที่ต้องปรุงทั้งหนัง บรรยากาศ และผู้ชมให้กลมกล่อม

Focus
  • หนังกลางแปลง มหรสพที่อยู่คู่กับประวัติศาสตร์วงการภาพยนตร์ไทยมานานกว่าศตวรรษนับได้ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5
  • ประวัติศาสตร์หนังกลางแปลงเริ่มจากข่าวสารราชการ หนังขายยา หนังล้อมผ้า ไปจนถึงหนังประจำงานบุญและงานวัด

หนังกลางแปลง ชื่อนี้คือมหรสพที่อยู่คู่กับประวัติศาสตร์วงการภาพยนตร์ไทยมานานกว่าศตวรรษนับได้ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5เป็นต้นมา แต่ด้วยมรสุมต่าง ๆ ที่พัดผ่านเข้ามาซ้ำ ๆ ทำให้ธุรกิจหนังกลางแปลงเรียกได้ว่าโซซัดโซเซจนแทบจะล้มหายตายจากสังคมบันเทิงไทยอยู่หลายครั้ง ไม่ว่าจะเป็นการเกิดขึ้นของโรงภาพยนตร์ วิดีโอ วีซีดี ไปจนถึงเทคโนโลยีการสตรีมมิ่ง การเปลี่ยนผ่านจากยุคฟิล์มไปสู่ดิจิทัล รวมทั้งโรคระบาดครั้งใหญ่ที่กำลังเขย่าธุรกิจทั่วโลกอย่างโควิด-19 ทั้งหมดล้วนทำให้หน่วยหนังกลางแปลงมืออาชีพที่ยึด “อาชีพหนังกลางแปลง” เลี้ยงปากท้องต้องกลับมาตั้งคำถามต่ออนาคตของหนังกลางแปลงซ้ำแล้วซ้ำเล่าว่าสุดท้ายแล้ว หนังกลางแปลงจะยังเป็นมหรสพที่คอยขับเคลื่อนอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยอย่างในอดีตได้อีกหรือ Sarakadee Lite ชวนไปร่วมหาคำตอบพร้อมรู้จัก “คนปรุงหนัง” ที่ไม่ได้ทำหน้าที่แค่เป็นหน่วยฉายหนัง ทว่าต้องปรุงทั้งหนัง บรรยากาศ และผู้ชมให้กลายเป็นรสชาติที่กลมกล่อมพร้อมเสิร์ฟ

ว่ากันว่า “หนังกลางแปลงฆ่าไม่ตาย”

หากย้อนกลับไปในยุคที่โทรทัศน์ โรงภาพยนตร์ และสตรีมมิ่งยังไม่เฟื่องฟู ช่วงหัวค่ำเมื่อมีการประกาศว่าจะมีการฉายหนังกลางแปลง ผู้ชมจะเริ่มเตรียมตัวออกจากบ้าน พกม้วนเสื่อผืนเก่าออกไปจับจองที่นั่ง มาก่อนนั่งหลัง ส่วนใครมาช้าก็จะได้ที่นั่ง VIP คอตั้งอยู่หน้าจอ แต่ที่มาถึงก่อนผู้ชมจริง ๆ คือบรรดาพ่อค้าแม่ขายซึ่งมาจับจองทำเลขายอาหารเครื่องดื่มซึ่งตามธรรมเนียมแล้วจะเปิดร้านอยู่เป็นเพื่อนคนดูกันถึงโต้รุ่ง หนังไม่เลิกฉายไม่ปิดร้านกลับบ้าน

ตัดมาที่ปัจจุบันภาพเหล่านี้เป็นสิ่งที่หาได้ยากโดยเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพฯ จอฉายหนังขนาดใหญ่ค่อย ๆ หายไปจากหน้าสังคม เสียงโฆษกที่คอยประกาศชื่อหนังไม่อาจดังสู้เสียงโฆษณาหนังตามจอบิลบอร์ด แต่…ในความคุ้นชินของคนเมืองหลวงว่าหนังกลางแปลงได้ตายลงไปแล้วจากอุตสาหกรรมความบันเทิงไทย ทว่าความจริงหนังกลางแปลงไม่เคยหายไปไหน หนังกลางแปลงในพื้นที่กรุงเทพฯ ยังคงซ่อนเร้นอยู่ตามซอกหลืบของศาลเจ้า งานแก้บน ส่วนในต่างจังหวัดโดยเฉพาะในพื้นที่ที่คนหนังกลางแปลงเรียกว่า “พื้นที่สีชมพู” หนังกลางแปลงกลับเป็นความบันเทิงยืนหนึ่งที่ยัง ฆ่าไม่ตาย เหมือนดังที่ นิมิตร สัตยากุล ผู้ก่อตั้ง สมาคมหนังกลางแปลง กล่าวไว้ว่า

“หลายคนมองว่าหนังกลางแปลงมันไม่มีอยู่จริง แม้มันจะมียุคที่ตกลงไปบ้างแต่ความโหยหาของคนดูก็จะทำให้หนังกลางแปลงกลับมาได้ เช่นครั้งหนึ่งหนังกลางแปลงเคยถูกวิดีโอ วีซีดีตีแบบแทบจะไม่เหลือ แต่ตอนนี้วิดีโอ วีซีดีหายไปก่อนเรา สำหรับคนกรุงเทพฯ อาจจะไม่คุ้นเคยกับหนังกลางแปลงเท่ากับการดูหนังในโรงภาพยนตร์ แต่ก็ยังมีหน่วยหนังกลางแปลงในพื้นที่กรุงเทพฯ อยู่หลายหน่วย ส่วนในต่างจังหวัดหนังกลางแปลงก็ยังมีอยู่ ใครจะว่าหนังกลางแปลงล้าสมัย ไม่มีคนดูแล้ว แต่สำหรับผม หนังกลางแปลงมันฆ่าไม่ตาย”

นิมิตร สัตยากุล ผู้ก่อตั้ง สมาคมหนังกลางแปลง

นิมิตรฉายภาพประวัติศาสตร์หนังกลางแปลงให้ชัดขึ้นจากจุดเริ่มคือ หนังขายยา ซึ่งบริษัทห้างร้านต่าง ๆ จะออกตระเวนไปฉายหนังพร้อมขายสินค้าในพื้นที่ต่างจังหวัด เมื่อฉายหนังไปได้สักครึ่งเรื่องก็พักโฆษณา มีโฆษกออกมาขายยา ขายสินค้าที่เป็นสปอนเซอร์จัดหนังฉาย ต่อมาจึงเริ่มเกิดธุรกิจหน่วยหนังกลางแปลง กลายเป็น หนังล้อมผ้า ปิดวิกเก็บเงินคนที่เข้ามาดูหนัง เป็นรูปแบบโรงหนังชั่วคราวทำจากสังกะสีหรือมีผ้าล้อมไว้สมชื่อ ต่อมาเมื่อหนังกลางแปลงได้รับความนิยมมากขึ้นก็เริ่มเป็นระบบ เจ้าภาพงาน ผู้ชมไม่ต้องจ่ายเงิน แต่มีเจ้าภาพจ่ายเงินเหมาหนังกลางแปลงไปฉาย เช่น งานทอดกฐิน งานผ้าป่า งานบวช งานวัด งานศพ ไปจนถึงงานแก้บนต่าง ๆ

เบื้องหลังการติดตั้งจอหนัง

นิมิตรเล่าว่าในยุคที่หนังกลางแปลงรุ่งเรืองสุด ๆ ผู้ชมจะนัดกันรวมกลุ่มเดินทางไปดูหนัง แต่ละหมู่บ้านก็จะขนคนมาเต็มคันรถกระบะ เมื่อไปถึงคนจะไม่ได้ดูหนังกันในทันที แต่จะพากันไปซื้ออาหารที่พ่อค้าแม่ค้านำมาขาย จากนั้นจึงปูเสื่อจับจองที่นั่ง โดยทำเลทองคือบริเวณรอบเครื่องฉายที่จะได้เห็นม้วนฟิล์มกำลังทำงาน เห็นสีหน้าคนพากย์ เห็นแอคชั่นของโฆษก ซึ่งบรรยากาศที่คึกคักและมีเสน่ห์เฉพาะตัวแบบนี้นี่เองที่ทำให้โรงภาพยนตร์ไม่สามารถทดแทนความสนุกและอรรถรสฉบับหนังกลางแปลงได้ ไม่นับรวมความผูกพันระหว่างคนฉายหนังกับผู้ชม โดยแต่ละหน่วยหนังก็จะมีฐานแฟนคลับประจำแตกต่างกันไป และทั้งหมดก็ทำให้หนังกลางแปลงเป็นมากกว่าการทำหน้าที่ฉายหนังให้คนดู แต่ยังสร้างองค์ประกอบต่าง ๆ ที่ทำให้ใคร ๆ ต่างก็โหยหาบรรยากาศของหนังกลางแปลง

หนังกลางแปลง
จอหนังและเครื่องเสียงพร้อมไปฉายทั่วประเทศ

ไม่ง่ายที่จะเป็น “นักปรุงหนังมืออาชีพ”

ด้วยความที่นิมิตรคลุกคลีกับหนังกลางแปลงมาตั้งแต่วัยเด็ก และสืบทอดกิจการหนังกลางแปลงในชื่อขุนแผนภาพยนตร์ ต่อจากรุ่นพ่อ ทำให้นิมิตรทันที่จะเห็นการเปลี่ยนผ่านของหนังกลางแปลงจากยุครุ่งเรืองที่สุดไปสู่ยุคที่เหลือหนังกลางแปลงมืออาชีพในไทยจริง ๆ ไม่กี่สิบหน่วยฉายหนัง นิมิตรเล่าว่า ยุคที่คนหนังกลางแปลงล้มหายตายจากไปครั้งใหญ่คือการเปลี่ยนระบบจากฟิล์มสู่ดิจิทัล และเมื่อผ่านช่วงเปลี่ยนผ่านครั้งใหญ่มาได้ระยะหนึ่ง กลับกลายเป็นว่าการพัฒนาของเทคโนโลยีที่ตามมาทีหลังทำให้มีหน่วยฉายหนังกลางแปลงหน้าใหม่เกิดขึ้นเยอะมาก เพราะนอกจากอุปกรณ์ฉายจะหาได้ง่ายขึ้นแล้ว ขั้นตอนการฉายยังไม่ซับซ้อนเท่าการฉายด้วยเครื่องกรอฟิล์ม อีกทั้งยังใช้ต้นทุนไม่สูงเท่าเมื่อก่อน อย่างไรก็ดีนิมิตรย้ำว่าหนังกลางแปลงไม่ใช่อาชีพที่ทุกคนจะทำได้และเรียกได้เต็มปากว่าเป็น “นักฉายหนัง” เพราะนักฉายหนังกลางแปลงมืออาชีพต้องอาศัยประสบการณ์ในการปรุงบรรยากาศของหนังที่ไม่มีสอนในตำรา

หนังกลางแปลง
เปลี่ยนจากฟิล์มสู่ดิจิทัล

“หนังกลางแปลงเหมือนร้านอาหาร คนฉายหนังก็ไม่ต่างจากคนปรุงอาหาร เราอาจจะมีเงินลงทุนสร้างร้านสวยงามแต่หากทำอาหารไม่อร่อยคนไม่หาไม่มาดูก็จบ ในมุมมองของผมมีเงินอย่างเดียวซื้อธุรกิจหนังกลางแปลงไม่ได้ หนังกลางแปลงไม่เหมือนธุรกิจอื่น แค่ในจังหวัดเดียวกันแต่ต่างอำเภอก็ดูหนังคนละแบบกันแล้ว หรืออย่างภาคกลาง ภาคอีสาน ก็ไม่สามารถฉายหนังด้วยบรรยากาศเดียวกันได้ หรืออย่างหนังรักบางเรื่องอาจประสบความสำเร็จในกรุงเทพฯ แต่อาจจะฉายกลางแปลงแล้วไม่มีคนดู อันนี้เรื่องจริง”

หนังกลางแปลง
บรรยากาศกรุงเทพกลางแปลง การฉายหนังกลางแปลงครั้งแรกที่ลานคนเมือง

ด้วยวัฒนธรรมการฉายหนังกลางแปลงในแต่ละพื้นที่ที่ไม่เหมือนกัน รสนิยมของคนดูในแต่ละเขตมีลักษณะเฉพาะตัว การฉายหนังให้ได้รับความนิยมจึงต้องอาศัยการสังเกต สะสมประสบการณ์ว่าคนจังหวัดนี้ชอบดูหนังประเภทใด ชอบเพลงแนวไหน ชอบความดังเครื่องเสียงระดับไหน บางครั้งถึงขั้นต้องรู้ว่าหมู่บ้านที่ไปฉายผู้ใหญ่บ้านชื่ออะไร ไปจังหวัดนี้ อำเภอนี้ เขาพูดสำเนียงไหน เพื่อให้คนดูรู้สึกว่าผู้ฉายหนังใกล้ชิดกับเขา สำคัญหากผิดพลาดเพียงครั้งเดียวก็อาจไม่มีการจ้างฉายหนังอีกเป็นครั้งที่สอง

นิมิตรยกตัวอย่างการปรุงหนังในภาคอีสานซึ่งเป็นพื้นที่ที่หนังกลายแปลงยังคงได้รับความนิยมสูง มีหน่วยฉายหนังกลางแปลงกระจายอยู่ตามจังหวัดต่าง ๆ เยอะมากโดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดสุรินทร์ บุรีรัมย์ และศรีสะเกษ ซึ่งกลุ่มฉายหนังเรียกพื้นที่ดังกล่าวว่า “พื้นที่สีชมพู” หมายถึงพื้นที่ที่หนังกลางแปลงได้รับความนิยมมากที่สุด โดยบรรยากาศหนังกลางแปลงในพื้นที่อีสานนั้นมักจะพ่วงดนตรี หมอลำ และดีเจเข้าไปด้วย เป็นที่ทราบกันดีในวงคนฉายหนังว่าในเขตอีสานจะฉายหนังค่อนข้างดึก พอเริ่มพลบค่ำราว 18.00 น.จะต้องมีหมอลำ ดีเจสร้างความสนุกสนานเป็นการเรียกน้ำย่อยก่อนหนังฉายจริง ดังนั้นหากหน่วยหนังใดที่จัดเพลงได้สนุก เครื่องเสียงดี หน่วยหนังนั้นก็จะได้รับความนิยมไปด้วย โดยหน่วยหนังที่ได้รับความนิยมมากที่สุดและเป็นเบอร์หนึ่งในภาคอีสานแน่นอนว่าต้องเป็น นันทวันภาพยนตร์ การันตีความสนุกด้วย ดีเจซาบะ       

อาหารการกินที่มาพร้อมกับหนังกลางแปลง
หนังกลางแปลง

ในขณะที่ภาคกลางนั้นความชอบในหน่วยฉายหนังขึ้นอยู่กับโฆษก การโฆษณาหนังต้องสร้างความตื่นเต้น ต้องทำให้คนอยากติดตาม และก็มีแฟนคลับกลางแปลงบางส่วนที่ติดตามโฆษกมากกว่าการดูลิสต์หนังที่จะฉายเสียอีก หรืออย่างในสุพรรณบุรีซึ่งเป็นจังหวัดที่มีหน่วยกลางแปลงเยอะเป็นอันดับต้น ๆ ของไทย ก็นิยมจัดฉายหนังกลางแปลงในงานศพ ดังนั้นคนปรุงหนังก็ต้องเลือกหนังที่เข้ากับกาลเทศะด้วยเช่นกัน

ในเรื่องการปรุงบรรยากาศของหนังนั้นนิมิตรย้ำว่าแค่ในจังหวัดเดียวกันแต่ต่างอำเภอก็มีความชอบดูหนังที่ต่างกัน อย่างในพื้นที่กาญจนบุรีที่เป็นต้นกำเนิดขุนแผนภาพยนตร์ นิมิตรก็ต้องอ่านให้ขาดว่าผู้ชมในแต่ละอำเภอมีความชอบต่างกันอย่างสิ้นเชิงหากไปอำเภอเมืองจะฉายหนังแนวไซ-ไฟ (sci-fi) หรือหนังที่มีความซับซ้อน มี CG เยอะได้ แต่หากจะไปอำเภอพนมทวน ผู้ฉายต้องหาหนังที่เข้าใจง่าย เนื้อหาไม่ซับซ้อนเกินไป เป็นต้น

นอกจากหนัง เพลง โฆษก ที่ต้องเลือกให้เหมาะกับกลุ่มคนดูแล้ วอีกสิ่งที่จะขาดไม่ได้คือเครื่องเสียง บางพื้นที่อาจจะชอบฟังเพลงลูกทุ่งเครื่องเสียงเบา ๆ แต่บางที่อาจจะชอบฟังเครื่องเสียงหนัก ๆ เปิดดัง ๆ ที่เรียกว่าดังจนฝาโอ่งสะเทือนหรือหลังคาปลิวกันไปข้าง ซึ่งนั่นก็ทำให้ผู้ฉายหนังต้องลงทุนเรื่องเครื่องเสียงเพิ่มเข้าไปด้วย

สำหรับนิมิตรมองว่าการเข้าใจคนดูเป็นสิ่งที่สอนกันได้ยาก ต้องอาศัยประสบการณ์จากการสังเกตซึ่งนี่เป็นจุดที่ทำให้หนังกลางแปลงแตกต่างจากการดูหนังในโรงภาพยนตร์อย่างมาก ผู้ที่คร่ำหวอดในวงการฉายหนังกลางแปลงนั้นจะต้องเข้าใจพฤติกรรมของคนดู หากคนดูไม่ม้วนเสื่อกลับบ้านตั้งแต่หนังเรื่องแรกแปลว่าผ่าน เพราะการฉายหนังในแต่ละครั้งจะฉายยาวตั้งแต่3-5 เรื่อง และคนที่มาดูจะนั่งจนเก็บจอในรุ่งเช้า แต่ถ้าคนดูม้วนเสื่อกลับตั้งแต่หนังเรื่องแรกก็อาจจะไม่มีครั้งต่อไปสำหรับหน่วยหนังกลางแปลงหน่วยนี้แล้วในพื้นที่นั้นๆ

หนังกลางแปลง
ติดตั้งจอหนังพร้อมเครื่องเสียง

หนังกลางแปลงไทย ยังขับเคลื่อนวงการภาพยนตร์ไทยจริงหรือ

อย่างที่หลายคนทราบว่าหนังกลางแปลงผ่านมรสุมมาหลายยุคสมัย หน่วยฉายหนังก็ไม่ต่างอะไรกับเรือลำเล็กที่ลอยคออยู่กลางทะเลในคืนพายุเข้า ความเสียหายที่เกิดขึ้นทำให้แม้แต่หนังกลางแปลงที่เคยเฟื่องฟูก็ต้องเข้าสู่ช่วงขาลงในที่สุด โดยมรสุมที่ส่งผลกระทบรุนแรงและก่อให้เกิดจุดพลิกผันของอาชีพคนฉายหนังคือการเปลี่ยนจากฟิล์มไปดิจิทัล ด้วยในยุคสมัยที่เทคโนโลยียังไม่พัฒนามากนักทำให้ค่าใช้จ่ายของอุปกรณ์ฉายแบบดิจิทัลนั้นค่อนข้างสูง ซึ่งในช่วงนั้นถือเป็นขาลงของหนังกลางแปลงอย่างที่สุด การลงทุนกับเงินจำนวนมากเป็นสิ่งที่ดูสูญเปล่า เพราะไม่มีอะไรการันตีได้เลยว่าคนดูจะกลับมา แต่เมื่อแก้ปัญหาเรื่องการปรับตัวสู่ยุคจิทัลได้แล้ววงการหนังกลางแปลงก็ประสบปัญหาเรื่องลิขสิทธิ์อย่างต่อเนื่อง และจุดนี้เองที่ทำให้มีคนล้มเลิกกิจการไปจนเกือบทั้งวงการเพราะไม่สามารถไปต่อกับอาชีพนี้ได้ ถึงแม้หนังกลางแปลงจะอยู่คู่กับหน้าบันเทิงไทยในฐานะผู้ขับเคลื่อนวงการภาพยนตร์มาช้านานก็ตาม

หนังกลางแปลง
นิมิตร สัตยากุล คลุกคลีกับหนังกลางแปลงแต่เด็ก

“ผมฉายหนังมาตั้งแต่เด็ก พ่อผมเองที่เป็นผู้ก่อตั้งขุนแผนภาพยนตร์บอกเสมอว่าอย่าทิ้งหนังกลางแปลง ตอนที่เจอมรสุมหนัก ๆ ทางออกจึงเป็นการแก้ปัญหา เช่น พยายามหาเทคโนโลยีมาใช้แทนเครื่องฉายดิจิทัลที่ราคาสูง ไปเฟ้นหาภาพยนตร์จากเทศกาลฉายหนังในต่างประเทศทั้งงานที่ฮ่องกงบ้าง คานส์บ้าง ซื้อลิขสิทธิ์ภาพยนตร์มาเพื่อฉายสำหรับหนังกลางแปลง และก็ลงทุนทำหนังเองเลยเพราะเรารู้ดีอยู่แล้วว่าคนดูหนังกลางแปลงต้องการอะไร คนดู หนังกลางแปลง เป็นคนละกลุ่มกับคนที่ดูหนังในโรงภาพยนตร์อยู่แล้ว เขาดูหนังคนละเรื่อง เราก็สร้างหนังป้อนให้หนังกลางแปลงเสียเลย”

ด้วยความรักในหนังกลางแปลง ต้องการให้คนหนังกลางแปลงมีพื้นที่ ให้สปอตไลต์ของอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยฉายลงมาที่หนังกลางแปลงบ้าง ล่าสุดนิมิตรยังได้จัดตั้ง สมาคมหนังกลางแปลง มีหน่วยฉายหนังจากทั่วประเทศเป็นสมาชิกเพื่อยืนยันตัวตนในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยและช่วยเหลือหน่วยฉายหนังด้วยการรณรงค์เรื่องลิขสิทธิ์ รวมถึงเข้าไปกระจายความรู้ด้านเทคโนโลยีและการฉายหนัง ซึ่งการดิ้นรนทุกวิถีทางเหล่านี้ก็เพื่อให้หนังกลางแปลงยังคงไปต่อได้ทั้งยังเป็นการฟื้นฟูและสร้างกลุ่มฐานคนทำหนังกลางแปลงให้เพิ่มขึ้นอีกด้วย

หนังกลางแปลง

“ใครจะพูดอย่างไรว่าหนังกลางแปลงมันล้าสมัยหนังกลางแปลงมันไม่มีคนดูแล้วหนังกลางแปลงมันไม่มีอยู่จริงหนังกลางแปลงมันต้องล่มสลายแต่ทฤษฎีของผมกลับตรงกันข้าม สำหรับผมหนังกลางแปลง never die…หนังกลางแปลงไม่มีวันตาย”

นอกจากหนังกลางแปลงจะไม่มีวันตายแล้ว นิมิตรยังย้ำว่าวงการหนังกลางแปลงจะยังทำหน้าที่ขับเคลื่อนอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยอยู่เช่นเดิม เพราะด้วยรสนิยมของคนดูหนังในโรงภาพยนตร์กับ หนังกลางแปลง นั้นชัดเจนว่าแตกต่างกัน หนังกลางแปลงมีกลุ่มผู้ชมที่กว้างและหลากหลาย หนังบางเรื่องอาจไม่ประสบความสำเร็จในโรงภาพยนตร์ แต่กลับโด่งดังเป็นเรื่องยอดนิยมของวงหนังกลางแปลง ซึ่งการที่อุตสาหกรรมภาพยนตร์มีทางเลือกของผู้ชมที่มากกว่าในโรงภาพยนตร์ แน่นอนว่าความหลากหลายของหนังก็จะตามมา ต่อยอดให้ผู้ผลิตกล้าที่จะลงทุนสร้างหนังให้มีความหลากหลายมากขึ้น ซึ่งนั่นแหละคือเสน่ห์ของหนังกลางแปลง…มหรสพที่ผู้ชมจะได้ตกหลุมรักกับบรรยากาศของการฉายหนัง เสียงพากษ์ เสียงประชันหนัง หรือได้รู้จักหนังสักเรื่องที่ผู้ชมอาจจะไม่เคยรู้มาก่อนเลยว่าเคยมีอยู่ในสารบบภาพยนตร์มาก่อนเลยก็ได้


Author

ณิชมน อินทร์สุข
นักเดินทาง (มือสมัครเล่น) ที่ชอบบันทึกสิ่งที่เห็นผ่านรูปภาพและตัวอักษร ตอนนี้กำลังอยู่ในช่วงศึกษาศาสตร์ของกลิ่น

Photographer

วรวุฒิ วิชาธร
คลุกคลีอยู่ในวงการนิตยสารมากว่า 15 ปี ทั้งงานแฟชั่น ไลฟ์สไตล์ ศิลปวัฒนธรรม ท่องเที่ยว ปัจจุบันยังคงสนุกกับการสร้างสรรค์ผลงานถ่ายภาพในฐานะ "ช่างภาพอิสระ"
ชัชวาล จักษุวงค์
เคยเป็นนักรีวิว gadget มานานหลายปี ตอนนี้หันมาเอาดีด้านงานถ่ายภาพ ถนัดงานด้านการบันทึกภาพวิถีชีวิตผู้คนและสายการเดินทางท่องเที่ยว