โอรังซิแย / ออแฆนายู ล้อมวงจิบชาแล้วตั้งคำถามถึงความเป็นมลายูและไทย กับ ปรัชญ์ พิมานแมน
- นิทรรศการศิลปะ โอรังซิแย / ออแฆนายู เป็นการตั้งคำถามถึงตัวตน ระหว่างความเป็น “มลายู” กับความเป็น “ไทย” ของศิลปินในสามจังหวัดชายแดนใต้ ปรัชญ์ พิมานแมน
- โอรังซิแย / ออแฆนายู ประกอบด้วย 3 ส่วน ได้แก่ งานจัดแสดงภาพยนตร์ทดลอง งานจัดวางเสียงสัมภาษณ์ผู้คนประกอบข้อความ และประติมากรรมจัดวางแก้วชา
- มาแกแต เป็นเหมือนคำชวนว่า “มากินน้ำชากันเถอะ” ถูกนำมาตั้งเป็น ชื่อภาพยนตร์แนวทดลองจัดแสดงในนิทรรศการ เป็นส่วนหนึ่งของการสื่อสาร สะท้อนวิถีชีวิตและวัฒนธรรมร่วมของชาวไทยมุสลิมในจังหวัดชายแดนใต้
พ่อเป็นคนนราธิวาส แม่เป็นคนกรุงเทพฯ ส่วน ปรัชญ์ พิมานแมน คือศิลปินที่เติบโตในจังหวัดนราธิวาส คุ้นเคยกับวัฒนธรรมใน 2 ภูมิภาคทั้งไทยภาคกลางและไทยในดินแดนที่มีภาษาถิ่นเป็น “ภาษามลายู” แต่การที่เขาพูดภาษามลายูไม่ชำนาญและพูดไทยกลางติดสำเนียงท้องถิ่นชายแดนใต้ ทำให้เขาเกิดคำถามเรื่องตัวตนและอัตลักษณ์ทั้งความเป็นมลายูและความเป็นไทย ปรัชญ์เริ่มตั้งคำถามถึงตัวตนของการเป็นคน “ใน” ความเป็นอื่น และการนิยามอัตลักษณ์ที่เกี่ยวข้องกับภาษา รวมทั้งวิถีการใช้ชีวิตในพื้นที่หนึ่งๆ
“คำถามว่าเราเป็นคนนราธิวาสเติบโตที่นั่น แต่ด้วยความที่ว่าเราพูดภาษามลายูไม่ชำนาญ หรือพูดได้ไม่คล่อง เราจะยังเป็นคนในของพื้นที่ที่เราใช้ชีวิตอยู่ไหม”
นี่เป็นสารตั้งต้นที่ ปรัชญ์ พิมานแมน นำมาสู่การสื่อสารกับชุมชนและการค้นหาคำตอบให้ตัวเอง ผ่านงานนิทรรศการงานศิลปะชุด โอรังซิแย / ออแฆนายู นิทรรศการจัดวางสื่อผสมภายใน 1 ห้องนิทรรศการ ซึ่งประกอบด้วย 3 ส่วน ได้แก่ ภาพยนตร์ทดลองเรื่อง “มาแกแต” งานศิลปะจัดวางเสียงสัมภาษณ์ผู้คนประกอบข้อความ (Voice and Text) และประติมากรรมจัดวางแก้วชา ที่ใช้รูปแบบร้านชา มีใบชาหน้าตาเหมือนกัน แต่ในรายละเอียดช่างมีความต่าง เช่นเดียวกับวัฒนธรรมการดื่มชาอย่าง “ชาชัก” ที่มองเผินๆ ในแต่ละร้านก็คือ ชาชัก เหมือนกัน แต่รสชาติ ส่วนผสม และประเภทของใบชาที่ใช้มีมิติที่มากกว่านั้น
Sarakadee Lite ได้มีโอกาสสนทนากับ ปรัชญ์ พิมานแมน ในโอกาสที่เขาเดินทางจากแกลเลอรี De’ Lapae Art Space Narathiwat ในจังหวัดนราธิวาส ซึ่งเขามีส่วนร่วมก่อตั้งมาสื่อสารและตั้งคำถามที่ใจกลางกรุงเทพฯ พร้อมนำภาพ เสียงผู้คน และกลิ่นใบชา มานำเสนอเป็นงานศิลปะ ถามหาอัตลักษณ์ความเป็นมลายู ความเป็นไทย ความเป็นคนในความเป็นอื่น และการเป็นคนของพื้นที่นั้นๆ
จุดเริ่มต้นการทำงานนิทรรศการชุด โอรังซิแย / ออแฆนายู
งานนี้ผมทำร่วมกับภัณฑารักษ์ คือ พี่ปู-เพ็ญวดี นพเกตุ มานนท์ ผมเคยทำงานร่วมกันมา 4 ปีก่อนหน้านี้ จากงานชื่อBERSAMA Voicing & DIY Festival ที่ เดอ ลาแปอาร์ต สเปซ (De’ Lapae Art Space) จังหวัดนราธิวาส ซึ่งพูดถึงความเป็นชายขอบ ความเป็นคนอื่น ความเป็นสังคมชุมชนหรือบริบทของพื้นที่ตรงนั้น และต่อยอดมาสู่งานชุด โอรังซิแย/ออแฆนายู ครั้งนี้
มันตั้งต้นจาก ผมเป็นคนทำพื้นที่ศิลปะ ชื่อเดอลาแป อาร์ต สเปซ (De’ Lapae Art Space) ที่นราธิวาส และได้ทำงานกับชุมชน แล้วก็อยากจะพูดกับชุมชนและตัวเอง ให้เห็นมุมมองในแบบอื่่นๆเรื่องอะไรที่เราอยากจะสื่อสารออกไป นิทรรศการ โอรังซิแย / ออแฆนายูจึงเป็นการพูดถึงตัวตนของตัวเอง เราเป็นคนนราธิวาสใช่ไหม เติบโตที่นั่น แต่ด้วยความที่ว่าเราพูดภาษามลายูไม่ชำนาญ หรือพูดได้ไม่คล่อง มันก็จะมีความรู้สึกว่าเราอาจจะไม่ใช่คนในพื้นที่ ไม่ได้กลมกลืนกับคนในพื้นที่ร้อยเปอร์เซ็นต์งานมันก็เป็นการตั้งคำถามว่า มลายูคืออะไรกันแน่ ตั้งคำถามจากตัวเราเองก่อน และเป็นการสื่อสารกับคนในพื้นที่ด้วยว่า ภาพรวมหลายคนหลายความคิด
ในนิทรรศการมีงาน 3 ส่วน คือภาพยนตร์ทดลอง เสียงคนพูดผ่านลำโพง และประติมากรรมจัดวางแก้วชา โดยภาพยนตร์ที่ชื่อว่า “มาแกแต” พูดถึงวงน้ำชา ร้านน้ำชา การพบปะของคนที่นั่นที่ร้านชา คำว่า “มาแกแต” เป็นคำพูดชักชวนว่า “มากินน้ำชากันเถอะ”ในหนังเรื่องนี้ (ที่ฉายวนบนจอ) ผมเล่าเรื่องตัวเองไปกินน้ำชา และฉายให้เห็นสภาพของความเป็นเมือง ชุมชน พื้นที่ของนราธิวาส
ร้านชา มันคือการเจอคน พบปะผู้คน การเล่าเรื่องสังคมการเมือง หรือรวมถึงสภาพสังคม ณ เวลานั้น ซึ่งตัวจังหวัดนราธิวาสเองมันไม่ใช่ศูนย์กลาง หรือไม่ใช่เมืองหลัก เป็นเมืองรองของภูมิภาคที่ใช้ภาษามลายู เราเรียกมันว่าเป็นภูมิภาค (ปาตานี) และมันก็จะมีวิถีผู้คนที่แตกต่างจากกรุงเทพฯ ด้วย
ถ้าเทียบนราธิวาสเป็นเมืองรอง เมืองหลักของมลายูคือที่ไหน
เราเรียกพื้นที่ตรงนั้นว่าภูมิภาคปัตตานี (ปาตานี) ถ้าในความหมายเชิงความขัดแย้งมันอาจจะดูแข็งแรงมาก แต่เราต้องยอมรับว่าประวัติศาสตร์ในพื้นที่แห่งนั้นมีผลสำคัญและก็มีความเชื่อมโยงที่สำคัญที่เราก็สามารถเรียกว่านั่นคือ “ภูมิภาค” ที่รวม 3 จังหวัด คือ ยะลา ปัตตานี นราธิวาส มันไม่สามารถแบ่งได้ว่าเป็นจังหวัดไหน เพราะว่าวัฒนธรรมใกล้เคียงกัน ภาษาเหมือนกัน แล้วก็ผู้คนมีลักษณะใกล้เคียงกัน อันนี้พูดถึงกายภาพนะ เราไม่ได้พูดถึงความรุนแรงของความขัดแย้งใดๆ ทั้งสิ้น
ความหมายของ โอรังซิแย / ออแฆนายู คืออะไร
ในภูมิภาค(ปาตานี) มันมีความพิเศษ เพราะว่าคนตรงนั้นเขาเรียกว่า ไม่ไทยร้อยเปอร์เซ็นต์ ใกล้มาเลย์ พูดมลายู แต่ไม่ใช่มาเลย์ร้อยเปอร์เซ็นต์เหมือนกัน เพราะมีเส้นเขตแดนไทย-มาเลเซียแบ่งเขตแดนจากความเป็นรัฐสมัยใหม่อยู่ ซึ่งตรงนี้ชื่องานมันก็มีความหมายเกี่ยวกับความไม่ร้อยเปอร์เซ็นต์ตรงนี้ คำว่า โอรังซิแย เป็นภาษามลายูกลางของมาเลเซีย แปลว่า “คนไทย” หรือ คนสยาม มาจาก 2 คำคือ โอรัง คือ คน และซิแย คือ สยาม เป็นคำมลายูที่ใช้เรียกคนไทย และ โอรังซิแยหรือโอรังสยาม แปลว่า คนสยาม เป็นคำเรียกติดปาก ถึงวันเวลาจะผ่านไปอย่างไรคนที่ใช้ภาษามลายูก็ยังเรียกคนกรุงเทพฯ (คนไทย) ว่าเป็นคนสยามอยู่ดี แล้วคนใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ จะใช้คำว่า (ออแฆ) ซิแย เรียกคนที่พูดมลายูไม่ได้ หรือคนไทยที่พูดภาษาไทยกลาง ต่อให้เป็นคนในท้องถิ่นถ้าไม่ได้พูดมลายูกับเขา เขาก็จะทักว่า “อ้อ เนี่ย แกแจ๊ะซิแย (พูดภาษาไทย-สยามสินะ) ทำไมถึงพูดภาษาซิแยล่ะ เป็นคนไทยเหรอ ก็จะถูกเหมารวมให้เป็นอื่นในพื้นที่ไปอีก
ส่วนคำว่า ออแฆนายู แปลว่า “คนมลายู” เป็นคำที่คนมลายูแถบนี้เรียกตัวเอง ออแฆนายูเป็นคำมลายูที่พูดกันเฉพาะที่ ไม่ใช่มลายูกลาง คือมลายู 3 จังหวัด กับมลายูมาเลย์ มันก็เหมือนภาษาอีสานในไทยกับภาษาลาวในฝั่งลาวที่จะไม่เหมือนกัน มลายูปัตตานีก็มีสำเนียงเหน่อกว่ามลายูมาเลย์ คนมาเลย์ก็จะเรียกเราว่าคนบ้านนอกของมาเลย์ ในแง่นี้เราก็เป็นอื่นในมาเลย์เหมือนกัน แล้วก็เป็นอื่นในประเทศไทยด้วย เพราะว่าบางคนที่ภาคใต้พูดไทยกลางไม่ได้อย่างการที่ผมเกิดกรุงเทพฯ แต่เราใช้ชีวิตทั้งชีวิตที่นราธิวาสมันก็มีคำถามว่ามันเพียงพอแล้วหรือเปล่าที่จะบอกว่าเราก็เป็นคนที่นี่เหมือนกัน
อะไรที่ทำให้สนใจการตั้งคำถามเรื่องอัตลักษณ์
คำถามนี้มีมาตั้งแต่เด็กนะ ผมเกิดคำถามว่ามันจำเป็นไหมที่เราต้องพูดภาษามลายู ถ้าเราพูดภาษาไทยกลางเป็นหลักมันก็ยังจำเป็นระดับหนึ่งที่ต้องใช้มลายูถ้าเราต้องการสื่อสารกับคนอื่นในพื้นที่ได้ใช่ไหม และเพื่อให้เราเข้ากับสภาพแวดล้อมได้ ซึ่งผมก็พูดมลายูได้ เพียงแต่ว่าความคุ้นชินในการสื่อสารด้วยภาษามลายูมันอาจจะไม่เต็มร้อย แต่มันก็คลี่คลายไปในตอนที่เราโตขึ้นที่ว่ามาทั้งหมดมันจะเป็นเรื่องราวตอนเด็กๆ และช่วงวัยรุ่น พอเราโตขึ้นคำถามมันยังอยู่ เราเพียงต้องการค้นหาว่า ความหมายของการเป็นมลายูประกอบไปด้วยอะไรบ้าง และมีความสำคัญในมุมมองไหนบ้างในสังคมปัจจุบัน
ทำไมเลือกสื่อที่เป็นภาพเคลื่อนไหวและเสียงมาจัดวางในงานนิทรรศการชุดนี้
ผมต้องการให้ห้องมันสร้างบรรยากาศและความรู้สึกไปในทิศทางเดียวกันคือ มีความเบลอ ไม่ต้องการเล่าอะไรให้ชัดหรือสื่อสารว่ากำลังจะโยงถึงเรื่องอะไร เรามองแค่เพียงว่าเสียงคือความเป็นจริงที่คนพูด กับเสียงของหนังที่เป็นบรรยากาศมันเป็นเหมือนแบ็กกราวนด์ของเรื่องราวที่เกิดขึ้นไปด้วยกัน ทั้งโต้แย้งกันกลายๆ ว่า เออเนี่ย พื้นที่ตรงนั้นนะมีสภาพแวดล้อมอย่างนี้ ผู้คนเฟรนด์ลีนะ อารมณ์ดีนิสัยดี เป็นเมืองที่สวยงาม มันเดินไปคู่กันมันก็เป็นเรื่องที่ถูกแฝงอยู่ ที่เกิดขึ้นอย่างเงียบๆ ในพื้นที่ตรงนั้น
มันก็ธรรมดาที่เมืองต้องมีเรื่องราว แล้วความรู้สึกในบรรยากาศที่สร้างขึ้นมา คือ เสียงที่มันตีกัน มันเป็นสิ่งที่น่าสนใจของผมในการทำงาน ก็เลยใช้มีเดียม (medium) 2 อย่าง (เสียงกับภาพบนจอ) มาสื่อสารถึงเรื่องราวเหล่านี้ มาสร้างบรรยากาศ เพื่อให้เกิดความไม่ชัดเจน แต่จริงๆ มันก็ชัดเจนมากนะ ในแง่ของคำพูดกับตัวหนัง ที่นำความรู้สึกหรือบรรยากาศของห้องจัดแสดงให้ “ผู้คน” ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการตีความผลงานชิ้นนี้ เหมือนการให้ผู้ชมได้ก้าวไปอยู่ในบรรยากาศตรงนั้น
นอกจากนี้เสียงคนที่ได้ยินจากลำโพงเป็นเสียงตอบคำถามจากการที่ผมได้ถามนักกิจกรรมและคนในพื้นที่ว่า “นิยามของคำว่ามลายูคืออะไร” แล้ว “อะไรคือความเป็นมลายู” และ “คุณต้องการอะไรในความเป็นมลายู” ถ้าลองฟังเสียงตอบคำถามและดูตัวข้อความที่เขียนไว้บนพื้นหลัง โดยข้อความเหล่านั้นผมก็เอามาจากคำที่เขาพูดนั่นแหละมาเขียนบนผนัง และทำให้เห็นภาพว่ามลายูเป็นโลก 2 ใบ คือ World Malayu (มลายูในพื้นที่อื่นๆ ของโลก) กับ มลายูในสยามในภูมิภาค (ปาตานี) ถ้ามองผ่านแว่นของคนกลุ่มหนึ่งแล้วความเป็นมลายูมันบอกจากภาษาพูดก็ได้ หรือในแว่นของคนอีกกลุ่มหนึ่งความเป็นมลายูมันอาจจะเป็นศาสนาก็ได้ แต่ก็มันก็มีข้อขัดแย้งว่า คนพูดภาษามลายู ไม่ได้แปลว่า ต้องเป็นศาสนาอิสลามร้อยเปอร์เซ็นต์ก็ได้นะ ถ้าเราค้นหาเพิ่มเติมไปอีก มันก็จะมีความจริงอย่างนี้ผุดขึ้นมา ความเป็นมลายูมันก็อาจจะเป็นรูปลักษณ์ที่บ่งบอกว่ามีลักษณะทางกายภาพที่ใกล้เคียงกัน อย่างหน้าตาของผมเป็นคนผิว (เข้ม) แดง ตัวไม่ได้สูงมาก แต่มันไม่ได้จำกัดแค่เรื่องนี้อย่างเดียว
ชากับอัตลักษณ์เกี่ยวเนื่องกันอย่างไร
สำหรับแก้วชา 5 ใบที่นำมาจัดแสดงนี้ใส่ใบชาต่างกัน แต่มองผ่านๆ มันเหมือนกันชาที่ใช้หลักๆ เลยก็จะเป็น “ชามาเลย์” ถ้าพูดถึงตัว Teh Tarik หรือ ชาชัก มันเป็นวิธีการชงชา คือ ชาชัก บางคนก็เอา Teh Tarik มาเป็นชื่อชา ชาแต่ละตัวของแต่ละร้านก็จะมีลักษณะแตกต่างกัน บางตัวมีกลิ่นหอม บางตัวให้ความเข้ม บางตัวให้สีสัน บางตัวก็จะเป็นเพิ่มรสชาติให้มันออกหวานๆ หน่อย ขึ้นอยู่ที่ว่าชาแต่ละตัวที่เราหยิบมาชง สูตรชาของร้านเราจะเป็นอย่างไร ซึ่งในงานนิทรรศการนี้ ผมก็ได้ทำสูตร ชา “แบดัร” (ออกเสียง“แบดัท”) เป็นการเอาชื่อของผมมาตั้งเป็นชื่อสูตรชา
คำว่า “แบ” คือ “พี่” ในภาษามลายู ส่วน “ดัร” คือชื่อของผมในภาษาอาหรับ ก็เหมือนเราอยากจะทำสูตรชาของเราขึ้นมา เราต้องการใส่ส่วนผสมอะไรในชาตัวนั้น ใส่รูปร่างเข้าไป ใส่ใจคำพูดหน่อย เพิ่มความไว้วางใจบ้าง หรือว่ามันมีเส้นแบ่งระหว่างผู้คนอยู่ มีสีสันอะไรอยู่บ้าง บางทีมิตรภาพในความแตกต่างก็อาจจะมีรสชาติที่กลมกล่อม ก็เลยออกมาเป็นชา 5 ตัว ที่ตัวนี้ให้สีนะ ตัวนี้ให้รสชาตินี้ ตัวนี้ให้อะไร เราใส่อะไรเข้าไป สุดท้ายแล้วก็ต้องแคร์คนอื่นบ้างในบางครั้งหรือไม่ หรือเราควรจะเป็นเรา ในแบบของเรา
สำหรับการจัดวางแก้วชามันลิงก์กับตัวหนังทดลองชื่อเรื่อง “มาแกแต” ที่ฉายบนจอ เหมือนกำลังพาผู้ชมไปนั่งกินน้ำชา แล้วร้านน้ำชาร้านหนึ่งมีผู้คนมากมายในร้านน้ำชานั้นและก็ตรงจุดจัดวางเสียงจะได้ยินจากลำโพงเสียงที่เปล่งออกไปเป็นวง และจะวนอยู่อย่างนั้น พร้อมกับอ่านข้อความที่เขียนไว้บนกำแพงและฟังเสียงประกอบ ซึ่งงานแต่ละชิ้นในนิทรรศการแม้จะเป็นสื่อต่างชนิดกัน แต่เป็นเรื่องราวเชื่อมโยงกันทั้งงานประติมากรรมแก้วชาใส่ชาที่มีกลิ่นต่างกัน มันก็เกิดจากชา 5 ตัว ที่ในหนังพูดถึง ชาแต่ละตัวที่อยู่ในร้านน้ำชา อาจจะเป็นชาที่ไม่ใช่มาเลย์ หรือมลายูก็ได้ อาจจะเป็นชาอินเดีย ชาศรีลังกา ชาจีน ชาไทย รวมกัน 5 ตัว แต่สุดท้ายแล้ว เขาก็เลือกมองข้ามความแตกต่างไปเสพปลายทาง คือ รสชาติที่มันมีอยู่ มันอาจจะคล้ายๆ กับผู้คนที่มีหลากหลายที่มา แต่ในเมื่อเขามีความเป็นพื้นที่ มีความเป็นชาอยู่ อย่างไรมันก็คือ “ชา” เหมือนตัวตนเราถึงเราอาจจะเป็นคนที่นั่น ผมเติบโตที่นั่นเพียงแต่พูดภาษามลายูไม่ได้เพราะเราอาจจะเติบโตมาในสังคมที่เดินคู่ขนานกัน แต่ก็ไม่ใช่ทั้งหมด แต่สิ่งนี้ทำให้เห็นถึงความเป็นยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไป เพียงแต่เราจะใช้อะไรเพื่อตัดสิน และรักษาความเป็นมลายูให้คงอยู่ได้อย่างไร
สังคมคู่ขนานที่กล่าวมาคืออะไร
เช่นเด็กบางโรงเรียนก็พูดภาษามลายู แต่บางโรงเรียนตามนโยบายรัฐสมัยใหม่ห้ามพูดภาษามลายูในโรงเรียน แล้วเราอยู่ในโรงเรียนแบบนั้น กลุ่มเพื่อนเราก็เลยเป็นอย่างนั้นมา ทำให้เราพูดภาษาไทย ไม่ได้พูดภาษามลายูเลย และก็ส่งผลให้เราพยายามค้นหาว่าเรา จะต้องกลมกลืนกับเขาเพียงเฉพาะภาษาหรือเปล่า หรือมีเรื่องอื่นที่เราให้ความสนใจ
ตรงงานเสียง เป็นเสียงที่ผมไปสัมภาษณ์นักกิจกรรม คนในชุมชน หรือกลุ่มคนที่อยู่ในพื้นที่ถามคำถามเดียวกันว่า “มลายูคืออะไร”และเขาก็จะตอบหลากหลายความคิด คือมลายูมันมี 2 โลกนะ โลกหนึ่งมันคือเวิลด์มลายู (World Malayu) มลายูที่อยู่ในอินโดนีเซีย มาเลเซีย โอกินาวา (ญี่ปุ่น) กัมพูชา และหมู่เกาะต่างๆ (วัฒนธรรมที่ใกล้เคียงกัน) และโลกสองคือ มลายูในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ ที่เราเรียกว่าภูมิภาค (ปาตานี)
ชาวมลายูเป็นชนชาติที่ล่องเรือไปมาหาสู่กัน วัฒนธรรมมีความใกล้เคียงกัน ชาวมลายูที่โอกินาว่า ประเทศญี่ปุ่น ก็อาจจะมีอะไรบางอย่างที่ใกล้เคียงกับความเป็นมลายูที่กัมพูชา หรือแม้แต่กระทั่ง มลายูอันดามัน ก็มีถิ่นที่อยู่มีภาษาใกล้เคียงกัน มีรากความรู้สึกที่เป็นมลายูเหมือนกัน เพียงแต่ว่าอาศัยอยู่ต่างที่กัน ส่วนมลายูในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ เป็นมลายูที่เขากำหนดตัวเองขึ้นมาใหม่ ภาษามลายูที่มันคลี่คลายผ่านช่วงเวลา พอเราเรียนภาษาไทย มันก็จะมีคำไทยผสมผสานอยู่ในภาษามลายูนั้นไปด้วย เพราะภาษามลายูในพื้นที่นี้เป็นภาษาพูดที่ใช้สื่อสารกัน
สิ่งที่อยากบอกผ่าน หนังทดลอง “มาแกแต”
ในหนังทดลอง “มาแกแต” มันมีตอนที่ผมถูกแซวว่าพูดมลายูไม่ได้ ซึ่งมันก็เป็นส่วนหนึ่งที่ผลักดันให้เราหาคำตอบ ว่าการพูดภาษาไม่ชัดมันสำคัญกับตัวตนของเราแค่ไหน ผลสุดท้ายเราก็ตอบได้ว่า กลุ่มนั้นที่เขามองเรา เขากำลังมองเราด้วยทัศนคติแบบไหนอยู่ คล้ายการสวมแว่นที่มองเห็นเพียงแค่ว่าภาษาคือเชื้อชาติหรือเปล่า หรือว่าเขาสวมแว่นแบบเปิดรับ ไม่ได้สนใจการพูดมลายูชัดหรือไม่ชัดหรอก ถึงคุณไม่พูดมลายู คุณก็เป็นคนที่นี่ได้เหมือนกัน สุดท้ายมันก็อยู่ที่ว่าเขาสวมแว่นหรือใช้ทัศนคติอะไรมองเรา ณ ตอนนั้น
เกี่ยวกับศิลปิน
ปรัชญ์ พิมานแมน สนใจในบทบาทของความเป็นศิลปิน และบทบาทของนักสร้างสรรค์ที่มีต่อเมืองที่เขาเติบโต เขาเรียนจบปริญญาโทและกำลังศึกษาต่อระดับปริญญาเอกที่คณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร และเคยผ่านงานศึกษาด้านประติมากรรรมไม้ และจัดแสดงผลงานที่ The Art Students League of New York เมืองนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ด้วยความสนใจงานศิลปะร่วมกับชุมชน ปรัชญ์ พิมานแมน จึงได้ร่วมก่อตั้งและเป็นผู้อำนวยการพื้นที่สร้างสรรค์ เดอลาแป อาร์ท สเปซ นราธิวาส (De’ Lapae Art Space Narathiwat ) ที่จังหวัดนราธิวาส เป็นหนึ่งในพื้นที่งานศิลปะและการสร้างสรรค์แห่งใหม่ใน 3 จังหวัดชายแดนใต้และก่อตั้งกลุ่มศิลปินในการจัดแสดงผลงาน “Assalamualaikum ขอความสันติสุขจงประสบแด่ท่าน” กับเพื่อนร่วมรุ่น ทั้ง 5 คนในปี พ.ศ. 2555 และนิทรรศการ “อัตตะวิถีใต้” ในปีเดียวกัน ส่วนในปี พ.ศ. 2560 และ พ.ศ. 2561 ปรัชญ์ได้รับเชิญเข้าร่วมจัดแสดงนิทรรศการ “PATANI SEMASA”ที่ MAIIAM Contemporary Art Museum จ.เชียงใหม่ ”และที่ ILham Gallery เมืองกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย
Fact File
- โอรังซิแย / ออแฆนายู โดย ปรัชญ์ พิมานแมน จัดแสดงตั้งแต่วันนี้ถึง 30 มกราคม พ.ศ. 2565 ที่ชั้น 2 Art4C, Gallery and Creative Learning Space ถนนพระราม 4 กรุงเทพฯ (เข้าชมฟรี)