รักฉบับ โอ๊ต มณเฑียร ศิลปินผู้ตกหลุมรักหนังสือ และเรื่องสั้นอื่นๆ
Faces

รักฉบับ โอ๊ต มณเฑียร ศิลปินผู้ตกหลุมรักหนังสือ และเรื่องสั้นอื่นๆ

Focus
  • ศิลปินผู้ตกหลุมรักหนังสือ และเรื่องสั้นอื่นๆ เป็นหนังสือเล่มที่ 4 ของ โอ๊ต มณเฑียร ที่รวมเรื่องสั้นต่อยอดมาจากนิทรรศการสื่อผสมศิลปิน ผู้ตกหลุมรัก หนังสือจัดแสดงในหอสมุดแห่งชาติเมื่อปี 2562
  • โอ๊ต มณเฑียร เป็นศิลปิน ควบตำแหน่งนักเขียน มีงานออกสู่สาธารณะทั้งภาพวาด นิทรรศการ บทความในนิตยสาร พ็อกเก็ตบุ๊กท่องเที่ยวถ่ายทอดประสบการณ์ รวมทั้งหนังสือบทกวีประกอบภาพวาดที่พิมพ์เองจัดจำหน่ายเอง

14 กุมภาพันธ์ 2562 หนึ่งปีที่ผ่านมา โอ๊ต มณเฑียร ได้จัดนิทรรศการศิลปะสื่อผสม ศิลปินผู้ตกหลุมรักหนังสือ แสดงในพื้นที่หอสมุดแห่งชาติ เป็นการชุบชีวิตหอสมุดผ่านงานศิลปะที่ประกอบไปด้วยภาพวาด และเรื่องสั้นเล่มบาง ศิลปินผู้ตกหลุมรักหนังสือ เสียงเปียโน และความสนุกของการตามหาเลขทะเบียนหนังสือปริศนา ที่ชวนให้ผู้อ่านเดินตามไปค้นหาในมุมต่างๆ ของหอสมุดแห่งชาติอีกด้วย 

โอ๊ต มณเฑียร

นิทรรศการดังกล่าวสร้างความครึกครื้นให้แก่ผู้ชมทั้งสายศิลปะ และนักอ่านวรรณกรรมไม่น้อย โดยหนึ่งในผู้ได้ชมและประทับใจ คือ ดวงฤทัย เอสะนาชาตัง เจ้าของร้านหนังสือและ สำนักพิมพ์ก็องดิดบุ๊กส์ ซึ่งจากความประทับใจนี้เอง ดวงฤทัยจึงได้พูดคุยกับโอ๊ตเรื่องการขอตีพิมพ์หนังสือหลังจบจากนิทรรศการ ซึ่งทางโอ๊ตเองก็มีเรื่องสั้นอื่นๆ ที่เขียนเก็บไว้อีกมาก จึงเป็นที่มาของ ศิลปินผู้ตกหลุมรักหนังสือ และเรื่องสั้นอื่นๆ ผลงานด้านการเขียนล่าสุดของ โอ๊ต มณเฑียร

ทำไมศิลปินถึงมาตกหลุมรักหนังสือ

ตั้งแต่เด็กๆ มีหนังสือเป็นเพื่อนคล้ายกับเด็กอ้วนในเรื่อง คำสารภาพของนักจัดหนังสือกองดอง หนังสือที่ชอบส่วนใหญ่ก็เป็นวรรณกรรมเยาวชนอย่าง อยากให้เรื่องนี้ไม่มีโชคร้าย ของ เลโมนี สนิกเก็ต เจ้าชายน้อยของ อ็องตวน เดอ แซ็งแตกซูว์เปรี หรือ กรีบูย ของ จอร์ช ซองด์ เติบโตมากับการอ่านหนังสือพวกนี้ ในตอนเด็กหนังสือจึงเป็นเพื่อน เวลาที่ได้อ่านหนังสือเราจะไม่รู้สึกว่าอยู่คนเดียว

นอกจากการชอบอ่านยังชอบเขียน เพราะเวลาเขียนมักทำให้นึกย้อนกลับไปทบทวนอดีตของตัวเอง ทำให้เข้าใจว่าที่เป็นคนแบบนี้ทุกวันนี้โตมาอย่างไร มีบาดแผลอะไรซึ่งบางเรื่องถ้าไม่ทบทวนก็ก้าวข้ามมันไปไม่ได้  เช่น ในเรื่องนี้บาดแผลคือการไม่มีเพื่อนในวัยเด็ก เมื่อเขียน เมื่อทบทวนออกมาก็ทำให้เข้าใจตัวเองมากขึ้น และใช้การเขียนหนังสือช่วยเยียวยาบาดแผลนั้นไปในทีเดียว

โอ๊ต มณเฑียร

ศิลปินผู้ตกหลุมรักหนังสือ และเรื่องสั้นอื่นๆ ต่างจากหนังสือเล่มอื่นของโอ๊ตอย่างไร

ถ้านับงานเขียนที่ออกมาเป็นหนังสือ หรือลงนิตยสาร มักจะเป็นงานเชิงบทความ เช่นในเล่มแรก London Scene เล่าเรื่องราวตอนที่เรียนศิลปะอยู่ในลอนดอน เล่าตั้งแต่นิทรรศการที่ได้ดู ย่านค้าขาย ร้านหนังสือ สิ่งที่ได้พบตามที่ต่างๆ ส่วนเล่มต่อมาก็เกิดขึ้นในลอนดอนเหมือนกัน คือ London Museums ซึ่งเกิดขึ้นตอนเรียนต่อในด้านพิพิธภัณฑ์โดยตรง และจากการศึกษาพิพิธภัณฑ์ทั้งหลาย เล่มต่อมา Paris Souvenir ก็ยังเป็นการเขียนบทความในต่างประเทศ แต่เป็นปารีสซึ่งก็เขียนเรื่องศิลปะและท่องเที่ยวอยู่จนมาถึง Eros แตกต่างจาก 3 เล่มก่อนหน้า เพราะเป็นหนังสือรวมภาพวาดนู้ดผสมกับบทกวี เป็นการวาดภาพนู้ด 22 คนประกอบบทกวี 22 บท ตามไพ่ทาโรห์ 22 ใบ เล่มนี้มีวิธีอีกแบบที่ต่างจากคราวก่อนพอสมควร

ส่วน ศิลปินผู้ตกหลุมรักหนังสือและเรื่องสั้นอื่นๆ เป็นหนังสือรวมเรื่องสั้นที่มีธีมว่าด้วยความสัมพันธ์ในแบบต่างๆ ที่เกี่ยวกับหนังสือ เล่มนี้ชัดว่าเป็นเรื่องแต่งเล่มแรก ต่างจากเล่มอื่นๆ ที่เป็นบทความ ท่องเที่ยวถ่ายทอดประสบการณ์ บทกวี

ศิลปินผู้ตกหลุมรักหนังสือฉบับหนังสือต่างจากนิทรรศการอย่างไร

เรื่องสั้นเล่มนี้ว่าด้วยธีมความสัมพันธ์แบบต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับหนังสือ เช่น คนขายหนังสือ คนอ่านคนซื้อ นักเรียนที่เรียนเขียนหนังสือกับอาจารย์ผู้สอน เด็กผู้โดดเดี่ยวที่มีเพื่อนเป็นหนังสือ การสร้างเรื่องพวกนี้มีวิธีการเล่าแบบเรื่องสั้นจบในพล็อตของตัวเอง แต่ก็เชื่อมโยงกันด้วยธีมของเล่มด้วย เล่มนี้เป็นการดึงมาจากส่วนหนึ่งของงานนิทรรศการ ศิลปินผู้ตกหลุมรักหนังสือ ซึ่งในนิทรรศการจะมีบริบทรองรับนั่นคือ พื้นที่ของหอสมุดแห่งชาติ แต่พอจับแยกทำเป็นเล่มเดี่ยวๆ ที่คนอ่านจะนำไปอ่านที่บ้านหรือที่ไหนก็ตาม ทำให้พื้นที่การอ่านเปลี่ยนไป การมีเรื่องสั้นอื่นๆ ที่ธีมเดียวกันเชื่อมโยงกันทางความหมายความรู้สึกจึงเป็นการสร้างพื้นที่ทางเรื่องแต่งให้เรื่องสั้นเหล่านี้เป็นบริบทใหม่ขึ้นมา ซึ่งจุดนี้ทำให้ต่างจากงานนิทรรศการพอสมควร

โอ๊ต มณเฑียร

อะไรคือลายเซ็นต์ของ โอ๊ต มณเฑียร ที่จะเห็นได้จากงานเขียนและภาพวาด

ส่วนตัวเวลาวาดภาพมักจะมีภาพในหัวค่อนข้างชัดประมาณหนึ่ง แต่กับการเขียนจะเบลอกว่า อาจเรียกได้ว่ามันต้องดำดิ่งเขียนไปเรื่อยๆ บางทีแทบไม่มีภาพก่อนเขียน ความชัดเจนต่างๆ ของงานจะมาตอนกำลังเขียนก็มี คำจะค่อยๆ ถูกเขียนออกมาก่อนแล้วค่อยมาตัดแต่งแก้ไขเพิ่ม ความคล้ายกันของงานวาดกับงานเขียนคือจะเป็นคนชอบอ้างอิงของเก่า เช่น ในงานวาดก็เคยทำงานจากการตัดกระดาษหน้าแรกของหนังสือต่างๆ มาวาด ซึ่งหนังสือที่ถูกตัดหน้าแรกก็เป็นหนังสือเก่า ในการเขียนเรื่องก็ชอบเอาภาษาเก่าจากงานวรรณกรรมคลาสสิกมาผสม ทำให้ทั้งการวาดและการเขียนจะมีสไตล์บางอย่างที่คล้ายกันอยู่เหมือนกัน คือการชอบอ้างอิงบางอย่างจากของเก่า

ทำไมต้องเป็นเรื่องสั้น

ชอบลักษณะแบบเรื่องสั้น สมมุติถ้าเขียนเป็นนิยายเรื่องยาวก็คิดว่าคงใช้ลักษณะแบบขมวดเป็นพล็อตๆ จบเป็นบทไปเหมือนเรื่องสั้น ส่วนตัวชอบการเล่าเรื่องอย่าง ราโชมอน ของ ริวโนะสุเกะ อะคุตะงะวะ ที่มีการเล่าเป็นพล็อตหลายๆ พล็อตเกี่ยวโยงกันเป็นเรื่องยาว แต่ในทุกเรื่องก็มีจุดจบคล้ายบทสรุปบางปมในตัวบทเอง

คนอ่านจะได้เห็นอะไรในงานเขียนเล่มใหม่นี้

ความสัมพันธ์ คิดว่าความสัมพันธ์เป็นหนึ่งในองค์ประกอบหลักของการเขียนเรื่องแต่งเลย อย่างตัวละครในเรื่องแต่งจำเป็นต้องสัมพันธ์กับอะไรสักอย่าง คน สัตว์ สิ่งของ จึงจะเกิดเรื่องราว อย่างในรวมเรื่องสั้นเล่มนี้ทุกบทเป็นความสัมพันธ์ของคนกับหนังสือ ส่วนตัวมองว่าแม้ขณะที่เราอ่านหนังสืออยู่นั้น ความสัมพันธ์ระหว่างเรากับหนังสือก็ได้เกิดขึ้นแล้ว เรื่องแต่งพาคนอ่านออกไปเห็นโลกในสายตาของตัวละครที่ไม่ใช่ตัวเรา ไปเจอประสบการณ์ของคนอื่นๆ คิดว่าสิ่งนี้สำคัญในงานเรื่องแต่ง โดยเฉพาะในโลกสังคมออนไลน์ทุกวันนี้ที่ทำให้เรามักมองเห็นแต่ตัวเองมากขึ้น

เรื่องความสัมพันธ์นี้ แม้แต่งานศิลปะที่ทำมาหลายๆ ชิ้น อย่างที่เป็นเชิงนู้ด ส่วนตัวคิดว่าเป็นการวาดภาพที่แบบได้ถอดเกราะปลดเปลื้องตัวตนบางส่วนออก เชื่อว่าการที่แบบกล้าเปลือยมันเกิดจากความสัมพันธ์แบบหนึ่งที่มาพร้อมกับความเชื่อใจ ทำให้กล้าพูดคุยมากขึ้น เวลาวาดก็มักจะได้คุยเรื่องชีวิตกันแบบใกล้ชิดขึ้น ดังนั้นไม่ว่าจะบทกวี วาดภาพ เรื่องแต่ง ย่อมมีเรื่องของความสัมพันธ์เป็นส่วนประกอบเหมือนกันต่างเพียงว่าจะมองในมุมไหน อะไรสัมพันธ์กับอะไร เชื่อว่าความหมายของมนุษย์สำหรับเล่มนี้คือ การตกหลุมรัก การแสดงความสัมพันธ์กับสิ่งที่ตนรัก อาจจะเป็นหนังสือ คนรัก หรือกระทั่งคนรอบๆ ตัว

คนชื่อ โอ๊ต มณเฑียร โรแมนติกไหม

โรแมนติกมาก ป่วยเลย โรแมนติกเป็นการขับเคลื่อนด้วยอารมณ์และความสัมพันธ์ อยู่ระหว่างความคลุมเครือของอารมณ์ละมุนไปจนถึงความบ้าไม่สนตรรกะใดๆ ทำให้เห็นถึงจินตนาการและความโหยหาอะไรบางอย่าง

หนังสือรักโรแมนติกที่ชอบ

ลอนดอนกับความลับในรอยจูบ ของ อนุสรณ์ ติปยานนท์ ชอบเล่มนี้เพราะว่าด้วยความรัก ความสัมพันธ์ ความตาย ความโศกเศร้า แรงขับของมนุษย์ ภาษาสวยงามและเรื่องอ่านสนุก อ่านมาน่าจะประมาณ 7 รอบได้ ทุกวันนี้ยังชอบอยู่เลย อีกเล่มที่ชอบมากคือ ออร์แลนโด: ชีวประวัติ เขียนโดย เวอร์จิเนีย วูล์ฟ เล่มนี้ชอบที่แสดงถึงการตกหลุมรักโดยการปลดเรื่องเพศออก ซึ่งอาจเห็นได้น้อยในงานไทย แม้กระทั่งในนวนิยายวายหลายเล่มยังมีภาพจำของเพศอยู่ ถึงเรื่องเป็นเกย์รักกันแต่มีสถานะทางความสัมพันธ์ที่มีความเป็นชายและความเป็นหญิงในเชิงการสร้างจริตของตัวละคร นิยายวายบางเรื่องไม่ใช่เกย์เขียน จึงไม่แปลกที่มีมุมมองทางเพศแบบชายหญิงอยู่ เป็นมุมมองที่กำหนดชัดว่าฝั่งหนึ่งจะมีลักษณะแบบนี้ อีกฝั่งเป็นอีกแบบ เหมือนเป็นนวนิยายชายหญิงที่เอาตัวละครเกย์มาเคลือบ ซึ่งถ้ามีโอกาสได้เขียนนิยายสักเล่ม ก็คงเขียนนิยายเกย์ที่เป็นความสัมพันธ์แบบเกย์ไปเลยแบบที่ปลดภาพจำทางเพศชายหญิงออก

หลังจากออกหนังสือเล่มนี้แล้วมีผลงานอะไรให้ได้ติดตามอีกบ้าง

เดือนนี้ได้ไปทำโปรเจกต์กับ aday ในเล่ม Museum of Relationships เป็นเล่มที่สืบเนื่องมาจากเพจชื่อเดียวกันโดยให้ผู้คนส่งเรื่องราวความสัมพันธ์ของตนเองกับสิ่งอื่นๆ ซึ่งส่วนตัวได้ไปเลือก 50 เรื่องราวมารวบรวมเก็บไว้ใน “พิพิธสัมพันธ์” เล่มนี้ และเร็วๆ นี้กำลังจะทำสตูดิโอใหม่ที่ใช้สอนวาดภาพนู้ด รวมถึงต่อเติมสร้างห้องสมุดที่สตูดิโอส่วนตัวของตน ซึ่งก่อนจะสร้างต่อเติมก็จะมีการจัดนิทรรศการภาพวาดที่สตูดิโอส่วนตัวเร็ว ๆนี้

Fact File

  • ศิลปินผู้ตกหลุมรักหนังสือและเรื่องสั้นอื่นๆ: สำนักพิมพ์ ก็องดิดบุ๊กส์  ราคา 195 บาท
  • ติดตามผลงานของโอ๊ต มณเฑียร ได้ที่ FB: Oat Montien

Author

อชิตพนธิ์ เพียรสุขประเสริฐ
มนุษย์ผู้ตกหลุมรักในการสร้างสรรค์ ภาพ เสียง แสง การเคลื่อนไหว นามธรรม และ การขีดเขียน

Photographer

ชยพล ปาระชาติ
11 ปีกับช่างภาพประจำนิตยสารสาย interior ปัจจุบันเป็นช่างภาพฟรีแลนซ์ ที่ยังมุ่งมั่นอยากให้ทุกภาพออกมางดงามที่สุดในทุกครั้งที่กดชัตเตอร์