มูราคามิ นักเขียนที่สร้างแรงบันดาลใจด้วยการวิ่งมาราธอน
Faces

มูราคามิ นักเขียนที่สร้างแรงบันดาลใจด้วยการวิ่งมาราธอน

Focus
  • ฮารุกิ มูราคามิ คือนักเขียนชาวญี่ปุ่น (เกิด พ.ศ.2492) ที่มีหนังสือหลากหลายประเภท และที่โด่งดังและเป็นเรงบันดาลใจให้หลายคนคือบันทึกการวิ่ง “What I Talk about when I Talk about Running”
  • มูราคามิ เริ่มวิ่งเมื่ออายุ 33 ปี เพื่อเปลี่ยนชีวิตตัวเองใหม่จากเจ้าของธุรกิจบาร์แจ๊ซสู่นักเขียนอาชีพ
  • เขาเข้าร่วมวิ่งในรายการใหญ่ๆ ของโลกเฉลี่ยปีละครั้ง ต่อเนื่องเป็นเวลา 30 ปี ไม่ว่าบอสตัสมาราธอน นิวยอร์กซิตีมาราธอน โตเกียวมาราธอน รวมถึงวิ่งจากกรุงเอเธนส์ไปยังหมู่บ้านริมทะเลที่ชื่อมาราธอน

12 มกราคม เป็นวันคล้ายวันเกิด ของ ฮารุกิ มูราคามิ นักเขียนชื่อดังชาวญี่ปุ่นที่แฟนคลับนักอ่านชาวไทยมักเรียกว่า “ลุงมู” หรือ “เฮียมู”

ไม่ใช่แค่งานเขียนของ ฮารุกิ มูราคามิ ที่ทรงอิทธิพลไปทั่วโลก แต่ความหลงใหลในการวิ่งของเขาก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าสร้างแรงบันดาลใจให้หลายคนเริ่มออกมาวิ่งมากขึ้น พร้อมจุดประกายให้นักเขียนและนักอ่านที่เป็นแฟนมูราคามิลุกออกมาวิ่ง หรือจะเรียกว่าเขาเป็นหนึ่งในอินฟลูเอนเซอร์ที่ทำให้การวิ่งมาราธอนกลายเป็นกีฬาสุดฮิตเลยก็ว่าได้ ทำไม การวิ่ง จึงสำคัญกับ มูราคามิ Sarakadee Lite ขอชวนไปหาคำตอบ

มูราคามิ

“สิ่งที่ผมรู้ทั้งหมดในการเขียนนิยาย ผมเรียนรู้จากการวิ่งเป็นประจำทุกวัน” มูราคามิ กล่าวไว้ในหนังสือชื่อ “What I Talk about when I Talk about Running” (นพดล เวชสวัสดิ์ แปลในฉบับภาษาไทยว่า “เกร็ดความคิดบนก้าววิ่ง”) ที่เขาเขียนบันทึกในช่วงที่ฝึกซ้อมวิ่งมาราธอนอย่างเอาจริงเอาจัง เพื่อเข้าร่วมรายการนิวยอร์กซิตี้มาราธอน ระยะทาง 42.195 กม. ในปี ค.ศ.2005 ขณะที่อายุ 50 ปี

สำหรับมูราคามิ เจ้าของผลงานชื่อดังอย่าง “Norwegian Wood” (ด้วยรัก ความตาย และหัวใจสลาย ในชื่อฉบับภาษาไทย) และ “South of the Border, West of the Sun” (การปรากฏตัวของหญิงสาวในคืนฝนตก) การวิ่งและการเขียนเป็นสิ่งที่สัมพันธ์กันเพราะการวิ่งมาราธอนช่วยให้เขายืนระยะการเขียนนวนิยายยาวๆ ได้ดีขึ้น เขากล่าวว่าตัวเขาไม่ใช่นักเขียนที่มีตาน้ำผุดเป็นน้ำพุซึ่งตักไปใช้มากแค่ไหนก็ไม่เหือดแห้ง

“ผมมองหา ไม่เห็นตาน้ำอยู่ใกล้ตัว ต้องคว้าสิ่วคว้าค้อนสกัดชั้นหิน ขุดหลุมให้ลึกก่อนจะพบสายแร่ความคิดสร้างสรรค์ในการเขียนนิยายผมต้องเคี่ยวตัวเองอย่างหนักทางกายภาพทุกคราวที่ผมเริ่มนิยายเรื่องใหม่ ผมจะขุดหลุมลึกอีกหลุม ขุดเจาะลงไปจนพบธารน้ำเบื้องล่างในทันทีที่สังเกตเห็นว่าแหล่งน้ำแห้งผาก ผมจะย้ายไปขุดอีกหลุมสำหรับคนที่พึ่งพาตาน้ำธรรมชาติ พรสวรรค์ติดตัวมาตั้งแต่เกิด เมื่อใดที่ตาน้ำแห้งผาก นักเขียนนิยายผู้นั้นมีปัญหาแล้ว” เขาเขียนไว้ในหนังสือที่บันทึกแต่ละบทเรียงตามลำดับเวลาที่ฝึกซ้อมวิ่งตั้งแต่เดือนสิงหาคม ค.ศ.2005 ไปจนถึงการวิ่งในรายการนิวยอร์กซิตีมาราธอน ในเดือนพฤศจิกายนปีเดียวกัน

มูราคามิ

มูราคามิเริ่มวิ่งเมื่ออายุ 33 ปี เพื่อเปลี่ยนชีวิตตัวเองใหม่จากเจ้าของธุรกิจบาร์แจ๊ซสู่นักเขียนอาชีพ และเลิกสูบบุหรี่ภายในเวลาไม่กี่เดือน เขาก็ 40 ปี ร่วมแข่งระยะ 15 กิโลเมตร และขยับเป็น 42 กิโลเมตร จนสามารถทำเวลาในการวิ่งมาราธอนราว 3 ชั่วโมง 40 กว่านาทีในช่วงวัย เขาเข้าร่วมวิ่งในรายการใหญ่ๆ ของโลกเฉลี่ยปีละครั้ง ต่อเนื่องเป็นเวลา 30 ปี ไม่ว่าบอสตัสมาราธอน นิวยอร์กซิตีมาราธอน โตเกียวมาราธอน รวมถึงวิ่งจากกรุงเอเธนส์ไปยังหมู่บ้านริมทะเลที่ชื่อมาราธอน เจ้าของตำนานกีฬาประเภทนี้ในประเทศกรีซ

พอหยุดพักงานเขียนประจำวันเขาก็สวมรองเท้าลงซ้อมวิ่งยามเย็นเป็นกิจวัตร ลุงมูเล่าในหนังสือว่าตัวเขาซ้อมวิ่งสัปดาห์ละ 60 กม.และในขั้น “เอาจริงเอาจัง” จะเพิ่มเป็น 70 กม. จนถึงขั้น “เคี่ยวกรำ” ที่นักวิ่งจะซ้อมวันละประมาณ 10 กม. เท่ากันทุกวันถ้าวันหนึ่งวิ่งไป 15 กม. วันถัดมาก็ลดลงเหลือ 5-6 กม. หรือ 15 รอบสนามบนลู่วิ่งมาตรฐาน และวันถัดมาก็อาจวิ่งเร็วเป็นชุดๆ ที่เรียกว่า Interval Running ถือว่าเป็นการฝึกแบบใช้ทั้งไม้แข็งและไม้นวมให้กับร่างกายเพื่อไม่ให้ลดทอนศักยภาพสูงสุดของตัวเอง

มูราคามิ

นอกเหนือจาก “การเคี่ยวกรำตนเอง ผลักดันให้เต็มขีดความสามารถของเพดานจำกัดของแต่ละคน นั่นเป็นหัวใจ” ที่เขาเขียนถึงการฝึกฝน การวิ่งยังช่วยบรรเทาความขุ่นเคืองในจิตใจด้วย “เวลาชั่วโมงหรือสองชั่วโมงที่ใช้ไปในการวิ่งจะเป็นการปกป้องห้วงเวลาเงียบสงัดส่วนตัว มีความสำคัญต่อสุขภาพจิตของผม”

ความมหัศจรรย์ของการวิ่งมาราธอนสำหรับมูราคามิ คือ แม้เขาจะวิ่งมาหลายสิบปีแต่ความรู้สึกของการวิ่ง 42.195 กิโลเมตรไม่เคยเปลี่ยนไปจากเดิมเลย ในระหว่างที่วิ่งระยะ 30 กิโลเมตรคิดว่าต้องทำเวลาได้ดี แต่เมื่อพ้น 35 กิโลเมตรเชื้อเพลิงเริ่มแห้งและเริ่มมองทุกอย่างรอบข้างด้วยความขุ่นเคืองใจ เมื่อใกล้ถึงเส้นชัยรู้สึกเหมือนรถน้ำมันหมด แต่เมื่อวิ่งจบและเวลาผ่านไประยะหนึ่ง เขาจะลืมความเจ็บปวดทุกข์ใจไปสิ้นและเริ่มตั้งเป้าว่าครั้งหน้าต้องทำเวลาได้ดีกว่าเดิม…สำหรับ มูราคามิ เขาไม่ได้วิ่งเพื่อยืดชีวิตตนเองให้ยืนยาว แต่เพื่อเติมเต็มความหมายให้ชีวิต

เครดิตภาพ : www.harukimurakami.com / Pinterest : GREGG SEGAL

หมายเหตุ : การอ้างคำพูดมูราคามิในบทความนี้เป็นสำนวนแปลของ นพดล เวชสวัสดิ์

ต้นเรื่อง : นิตยสารสารคดี มีนาคม พ.ศ.2555


Author

เกษศิรินทร์ ผลธรรมปาลิต
Feature Editor ประจำ Sarakadee Lite อดีต บรรณาธิการข่าวไลฟ์สไตล์ Nation ผู้นิยมคลุกวงในแวดวงศิลปวัฒนธรรมจนได้ขุดเรื่องซีฟๆ มาเล่าสู่กันฟังเสมอ